ผู้เขียน หัวข้อ: กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรรู้อะไรอีกบ้าง‏  (อ่าน 1816 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด


เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๕ ได้อ่านพบแถลงการณ์ของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้ออกแถลงการณ์ว่ามีกลุ่มคนอ้างว่าเป็น “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”มีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อ จับตาการดำเนินงานของรัฐบาลรวมทั้งต้องการให้มีการเปิดโปงความไม่โปร่งใสของการบริหารจัดการส่วนกลางลงไปจนถึงในจังหวัดและสถานพยาบาล รวมทั้งการเสนอข้อเท็จจริงเพื่อแสดงว่าการบริการในระบบบัตรทองมีมาตรฐานและคุ้มค่า

  ผู้เขียนอ่านแล้วก็ดีใจที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เหมือนผู้เขียนในแง่ที่อยากจะเปิดโปงความไม่โปร่งใสของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 แต่กลุ่มคนเหล่านี้ เมื่อดูรายชื่อแล้ว พบว่ากลุ่มรักหลักประกันฯนี้ไม่ได้เป็นผู้มีความรู้ในเรื่องยา การรักษา หรือความรู้ใดในทางที่เกี่ยวกับวิชาการแพทย์เลย นอกจากเป็นประชาชนที่อาจจะต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยแล้วเท่านั้น และบางคนอาจจะอ้างว่ามีความรู้เกี่ยวกับการประกันสุขภาพเนื่องจากเคยไปเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในเรื่องเบี้ยประชุมต่างๆ  จนทำให้อยากสงวนตำแหน่งกรรมการและอนุกรรมการไว้สำหรับกลุ่มพวกที่เกี่ยวข้องกับตนเท่านั้น ถึงกับไปฟ้องศาลปกครองว่าการเลือกตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการหลักฯไม่ถูกต้อง

 ผู้เขียนก็เลยจะแลกเปลี่ยนข้อมูลความไม่โปร่งใสของการบริหารงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเลขาธิการของสปสช. เพื่อที่กลุ่มคนรักหลักประกันฯจะได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน

  อนึ่งการอ้างชื่อว่ามีกลุ่มคนที่จ้องจะ “ทำลายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “ โดยกลุ่มสผพท.ที่ผู้เขียนเป็นประธานอยู่ก็ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในกลุ่มจ้องทำลายระบบหลักประกันฯด้วย ก็เลยขออ้างสิทธิการพาดพิง อธิบายความจริงเกี่ยวกับเรื่องต่างๆทั้งหมด เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือนจากเหตุการณ์จริงดังต่อไปนี้คือ

๑. สผพท.ไม่ได้จ้องจะทำลายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เราต้องการ “ทำลายเหลือบในกรรมการและอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช.” ที่บริหารงานโดยผิดมติครม. ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ผิดประกาศของ สตง. ผิดระเบียบของสปสช.เอง และผิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๕ ตามที่ สตง.ได้ชี้ประเด็นความผิดแล้ว  ๗ ประเด็น และนายวิทยา บุรณศิริ ได้ตั้งกรรมการตรวจสอบแล้ว แต่ยังมีการบริหารที่ผิดพลาดอีกหลายประเด็นที่สตง.ยังไม่ได้ชี้มูลความผิด และกำลังรอการชี้แจงจากเลขาธิการสปสช.อยู่

ผู้เขียนขอถือโอกาสนี้ เรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เร่งรัดการสอบสวนให้กระจ่าง ไม่บิดเบือนลำเอียง และรีบแถลงให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบผลการสอบสวนโดยเร็ว

๒. การที่สปสช.บริหารงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวสำหรับประชาชนอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้โรงพยาบาลมีเงินที่จำเป็นในการใช้จ่ายเพื่อรักษาประชาชนไม่เพียงพอ โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนโรงพยาบาลบางแห่งไม่สามารถที่จะซื้อยามาจ่ายให้ประชาชนได้ เพราะบริษัทยาไม่ยอมส่งยาให้ เนื่องจากโรงพยาบาลมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถล้างหนี้ได้ ผลเสียหายจึงต้องตกอยู่กับประชาชนที่เจ็บป่วย และจะไม่มียาที่เหมาะสมมารักษา

๓. การอ้างว่าประชาชนเป็นผู้ผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายหลักประกันสุขภาพนั้น เป็นการพูดข้างเดียว แต่ความจริงที่นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ได้เปิดเผยไว้ในข้อเขียนใน แพทยสภาสารก็คือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ได้ไปเข้าพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อเสนอแนวทางในการจัดระบบหลักประกันสุขภาพและพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เป็นผู้เห็นด้วย และ “สั่ง”ให้พรรคไทยรักไทยรับหลักการพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และแต่งตั้งนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ มาเป็นเลขาธิการคนแรกของสปสช. และมีกลุ่มเอ็นจีโอและกลุ่มแพทย์ที่เป็นกลุ่มเดียวกับนพ.สงวน ฯ มาเป็นกรรมการบอร์ดหลายคน เช่น นายอัมมาร สยามวาลา นายจอน อึ้งภากรณ์ นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รวมทั้งกลุ่มนางยุพดี สิริสินสุข นางสุภัทรา นาคะผิว ฯ

 แต่เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกปฏิวัติ ต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการลบภาพพ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากความเกี่ยวข้องกับ ระบบหลักประกันสุขภาพฯแห่งชาติ ที่ประชาชนเรียกติดปากว่า “๓๐ บาทรักษาทุกโรค” นพ.มงคล ณ สงขลา จึงเลิกเก็บเงิน ๓๐ บาท และคนเหล่านี้ก็ยกยอปอปั้นว่า นพ.สงวน นิตยรัมภ์พงศ์ เป็น “บิดาแห่งหลักประกันสุขภาพไทย” ทั้งๆที่นพ.สงวน จะไม่สามารถทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นได้เลย ถ้าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะไม่เห็นด้วย เพราะว่ามันเป็นนโยบายประชานิยม ที่ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณฯและพรรคไทยรักไทยได้ชัยชนะแบบถล่มทะลายในการเลือกตั้งสมัยที่สอง

๔. ในช่วงแรกของการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เงินงบประมาณรายหัวที่จ่ายให้แก่โรงพยาบาลนั้น เป็นงบประมาณติดลบหรือขาดดุลอย่างมาก แต่เนื่องจากโรงพยาบาลยังมีเงินบำรุงหรืองบกองทุนสำรอง(เหมือนเงินคลังหลวง) เหลืออยู่หลายพันล้านบาท โรงพยาบาลจึงต้องเอาเงินทุนสำรองมาใช้จ่ายในการดูแลรักษาประชาชน แต่เมื่อนานเข้า เงินบำรุงนี้ก็หมดไป ทำให้ตัวเลขขาดดุลงบประมาณของโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยบริการหลักในระบบหลักประกันสุขภาพนั้นเห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น สปสช.ต้องของบประมาณรายหัวเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่สปสช.ก็ใช้ “อำนาจ” ในการเป็นผู้ “ถือเงินงบประมาณ” มาบริหารจัดการงบประมาณรายหัวเอง โดยเฉพาะแบ่งเงินไว้ทำ “Vertical Program” อีกหลาย (เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนเล็นส์แก้วตาเทียม การผ่าตัดหัวใจ ฯลฯ) ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสปสช.ยังหักเงินค่าบริหารในแต่ละโครงการอีกโครงการละ ๑๐% ทั้งๆที่เงินค่าบริหารสปสช.ก็มีอยู่แล้วต่างหากเป็นงบประมาณ ๑%ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว

นอกจากนั้นสปสช.ยังเอาเงินไปซื้อเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์  มาให้โรงพยาบาลโดยที่ไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.ตามกฎหมาย สปสช.ซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ราคาถูกแต่เอาไปขายให้รพ.ในราคาแพง (มีแพทย์ในกระทรวงสธ.ที่พร้อมจะให้ข้อมูลเรื่องนี้) สปสช. ค้ากำไรกับรพ.สธ. และยังเอาผลประโยชน์ที่ได้รับจากการซื้อยาและเวชภัณฑ์ ไปใช้อย่างผิดกฎหมายตามที่สตง.ได้ชี้ประเด็นความผิดแล้ว

ผลจากการที่สปสช.อ้างว่าซื้อเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ในราคาถูก แต่แพทย์ผู้ใช้เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์เหล่านั้น เช่น เสต็นท์ (ที่ใช้ขยายหลอดเลือดหัวใจ) หรือเล็นส์แก้วตาเทียม ที่ด้อยคุณภาพ ก็จะส่งผลเสียหายกับประชาชนผู้ได้รับสิ่งเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย และอื่นๆอีกมากมาย

๕. การอ้างว่าระบบหลักประกันสุขภาพรักษาได้ดีมีมาตรฐาน ประหยัดงบประมาณนั้น เป็นแค่การกล่าวอ้างลอยๆ ถ้าอยากรู้ความจริงก็จะเปิดโปงว่า นพ.สงวนฯเมื่อป่วยเป็นมะเร็งก็สั่งซื้อยาจากต่างประเทศมารักษา นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานองค์การเภสัชกรรมเป็นเบาหวาน ก็ไม่ใช้ยาที่ผลิตจากองค์การเภสัชกรรม แต่ซื้อยาของบริษัทต่างประเทศมารักษา ยาบางอย่างก็อาจจะใช้ยาสามัญได้ แต่ยาบางอย่างก็จำเป็นสำหรับการเจ็บป่วยที่รุนแรงที่ไม่สามารถใช้ยาสามัญได้

๖. งบประมาณในการรักษาประชาชนที่สปสช.จ่ายให้โรงพยาบาลนั้นไม่พอใช้ แต่โรงพยาบาลได้รับงบประมาณการรักษาจากสปส.(สำนักงานประกันสังคม) และงบประมาณในการรักษาจากระบบสวัสดิการข้าราชการได้ไม่ขาดทุน ทำให้รพ.ยังพอที่จะบริหารการเงินได้ และรพ.ใหญ่ที่รับผู้ป่วยประกันสังคมและผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการก็จะพอบริหารการเงินให้พออยู่ได้

   แต่เมื่อสปสช.ได้โอ้อวดว่าสปสช.สามารถบริหารจัดการการเงินผู้ป่วยในได้ดี สามารถประหยัดงบประมาณได้ดี ทำให้ระบบสวัสดิการข้าราชการหันมาใช้ระบบจ่ายเงินผู้ป่วยใน(นอนรักษาในโรงพยาบาล)แบบเดียวกับสปสช.คือDRG ในอัตราเดียวกัน ทำให้ตัวเลขการขาดดุลทางบัญชีของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขมีเพิ่มมากขึ้น (อ้างอิงจากหนังสือ “รายงานสถานะการเงินหน่วยบริการ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข” ISBN 978-616-11-04339-9) เนื่องจากไม่มีเงินจากระบบสวัสดิการข้าราชการที่สมดุลเหมือนเดิม เพื่อมาช่วยผ่อนภาระการขาดทุนของโรงพยาบาล

๗. การอ้างว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรักษาดีมีมาตรฐาน และคุ้มค่านั้น เป็นการกล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานมายืนยัน แต่ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่า ถ้าการรักษามีมาตรฐานจริง ทำไมพวกผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่สปสช.จึงไม่ใช้มาตรฐานการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีแต่ขอกลับไปใช้สิทธิเดิมของข้าราชการ และไม่ใช้ยาขององค์การเภสัช? และถ้ารพ.ได้รับเงินอย่างคุ้มค่า ทำไมรพ.เอกชนจึงทะยอยลาออกจากการทำงานรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และทำไมโรงพยาบาลรัฐบาล ทั้งรพ.มหาวิทยาลัย และรพ.เอกชน จึงอยากรักษาผู้ป่วยในระบบประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ รับรักษาผู้ป่วยที่จ่ายเงินเองหรือมีประกันสุขภาพเอกชน มากกว่ารับรักษาผู้ป่วยบัตรทอง  ไม่ใช่เพราะรังเกียจหรือแบ่งแยกชนชั้น คำตอบก็คงชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้ว

๘. การอ้างว่าถ้าการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมาตรฐานแล้วทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ดังนี้

๘.๑ อัตราตายของผู้ป่วยหลายๆโรคไม่ลดลง บางโรคกลับมีอัตราตายเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

๘.๒ มีการกล่าวหาและฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น  หาว่าไม่รักษาตามมาตรฐาน ทั้งๆที่หมอก็เป็นคนกลุ่มเดิมๆเป็นส่วนมาก ทำไมหมอจึงทำชุ่ยมากขึ้น? เพราะถูกบังคับให้ใช้ยาที่ไม่มีคุณภาพหรือเปล่า? ถูกบังคับด้วยปริมาณผู้ป่วยที่มากเกินกำลังที่จะตรวจรักษาตามมาตรฐานหรือไม่?

๘.๓ ทำไมประชาชนมาใช้บริการโรงพยาบาลมากขึ้น จากที่เคยมารับการรักษาปีละ ๑๐๐ ล้านครั้งในปีแรกๆของระบบหลักประกันสุขภาพ เพิ่มเป็นปีละ ๒๐๐ ล้านครั้ง แต่จำนวนแพทย์เพิ่มจาก ๗,๐๐๐ คนเศษ มาเป็นเพียง หมื่นคนเศษใน ๑๐ ปี ทั้งๆที่เพิ่มโรงเรียนแพทย์ รับนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้นมากมาย บังคับให้แพทย์ใช้ทุนสารพัด แต่แพทย์ส่วนหนึ่งก็ยังเลือกที่จะลาออกจากการเป็นแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข ที่จะอยู่รับใช้ประชาชน ทั้งนี้เพราะสาเหตุงานหนัก (ต้องรับผิดชอบตรวจรักษาผู้ป่วยวันละเป็นร้อยๆคน ยิ่งทำมากเท่าไรก็ยิ่งเสี่ยงต่อความผิดพลาดและความไม่พอใจของประชาชน และเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องมาก ได้รับค่าตอบแทนต่ำ กว่าภาคเอกชนอย่างมาก

แพทย์ที่ยังอยู่ตรวจรักษาประชาชนในกระทรวงสาธารณสุขจึงสมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่เสียสละและอดทนอย่างสูง สมควรได้รับการช่วยเหลือให้ได้มีภาระงานลดลง เพื่อสามารถรักษาคุณภาพมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของประชาชนให้มากขึ้น

๘.๔ การเรียกร้องให้มีการรักษาผู้ป่วยในกองทุนหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการให้เสมอภาคและเท่าเทียมกันนั้น จะเป็นการลดมาตรฐานการรักษาให้เลวลงเท่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสถิติในประเทศไทยว่า อัตราตายของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพสูงสุด ระบบประกันสังคมรองลงมา และระบบสวัสดิการข้าราชการมีอัตราตายต่ำสุด

 แล้วจะเรียกร้องให้ประชาชนได้รับการรักษาเหมือนสส.สว. รัฐมนตรี หรือไม่ เพราะมีข่าวว่าค่าเหมาจ่ายรายหัวในการรักษาสส. สว. และรัฐมนตรีจะเพิ่มมากมายมหาศาลจากที่เคยสูงกว่างบค่าหัวบัตรทองอยู่แล้ว? ถ้าเรียกร้องให้เสมอภาคและเท่าเทียมก็จริงก็คงจะดีมาก แต่รัฐบาลจะต้องไปกู้เงินมาอีกกี่แสนล้าน หรือประชาชนยินดีจะเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้มีเงินมาใช้นีระบบหลักประกันให้เพียงพอต่อการรักษามาตรฐานทางการแพทย์ที่ดี?

  ฉะนั้นจึงอยากจะบอกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ถ้าจะรักก็ต้องตรวจสอบว่าสปสช.และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้บริหารจัดการการเงินของระบบอย่างสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือมีการฉ้อฉลเพื่อประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้อง?

 และท้ายที่สุดแล้ว ขอเรียกร้องให้ปปช.ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเลขาธิการสปสช.ทุกปี เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบบริหารเงินงบประมาณแผ่นดินถึงปีละ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท

(เอกสารอ้างอิง แถลงการณ์ของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ และแผนภูมิกลุ่มก๊วนที่วางแผนล้มระบบหลักประกัน)

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
๑๑มกราคม ๒๕๕๕