ผู้เขียน หัวข้อ: “ช้างบรรณาการ” จากรัชกาลที่ 4 จบชีวิตที่ร้านขายเนื้อกรุงปารีส!?  (อ่าน 274 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
เครื่องราชบรรณาการจากสยามสมัยรัชกาลที่ 4 ส่งไปพระราชทานพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ถึงฝรั่งเศส ไม่ได้มีเพียงพระมหามงกุฎเท่านั้น แต่ยังมีช้างสยามอีก 2 เชือก ที่มีชีวิตอยู่ที่นั่นนานกว่า 10 ปี แต่อนิจจา ช้างทั้ง 2 เชือก ต้องเผชิญชะตากรรมน่ารันทด และจบชีวิตลงด้วยฝีมือทหารฝรั่งเศส ใน ค.ศ.1870 เกิดอะไรขึ้นกับของขวัญจากสยาม

ช้างบรรณาการจากสยามได้รับการต้อนรับที่ปารีสอย่างอบอุ่น พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ได้ทรงมอบให้หน่วยงานของสวนสัตว์กรุงปารีสเป็นผู้ดูแลเป็นอย่างดี จนพอจะคุ้นเคยกับสภาพภูมิอากาศแบบเมืองหนาว และมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางกับเด็กๆ ที่มาเยี่ยมเยียนสวนสัตว์อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เมื่อใดที่มีการโฆษณาหรือพูดถึงสวนสัตว์ Jardin des Plantes ช้างสยาม 2 เชือกนี้ก็จะเป็นดาวเด่นในใบโฆษณาเสมอ

ที่ปารีสพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ได้พระราชทานชื่อใหม่อันโก้หร่านให้ช้างบรรณาการคู่นี้ว่า คาสเตอร์ และพอลลุกซ์ (Castor & Pollux) ตามชื่อของพระโอรสแฝดของเทพธิดาลีด และเทพเจ้าซีอุส (Leda & Zeus) ทำให้ช้างทั้งคู่มีสถานภาพค่อนข้างมีเส้นสายกับทางราชสำนักและมีกิตติศัพท์พอควร

ช้างสยามทั้ง 2 เชือก ใช้ชีวิตอยู่ภายในสวนสัตว์กรุงปารีสจนมีอายุราว 14 ปี ก็เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองขึ้นปลายรัชกาลของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของช้างคู่นี้โดยตรง!?

ในปี ค.ศ. 1870-71 เกิดสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย ส่งผลให้ฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างยับเยิน พวกสาธารณรัฐนิยมในปารีสฉวยโอกาสทำการปฏิวัติล้มราชบัลลังก์ แล้วจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยโจมตีและประณามพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ว่าเป็นต้นเหตุของความพ่ายแพ้และอับจน ทรงถูกจับและเนรเทศออกนอกประเทศอย่างน่าเวทนา คุณความดีของราชวงศ์โบนาปาร์ตลบเลือนออกไปจากหัวใจของประชาชนจนหมดสิ้น

กรุงปารีสถูกปิดล้อมนานหลายเดือน เกิดยุคข้าวยากหมากแพง แต่ในปารีสเป็นที่อยู่ของทั้งคนรวยและคนจน คนจนต้องจับหนู และเอาหมาแมวที่ตนเลี้ยงไว้มากินกันตาย

แต่คนรวยที่อยู่ในปารีสก็ยังพอใช้เงินซื้อหาอาหารได้ แต่ที่ขาดแคลนคืออาหารชั้นดีที่คนมีฐานะต้องการในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของสังคมมีระดับปลายปี ค.ศ. 1870 ทางการจึงตัดสินใจชำแหละเนื้อของสัตว์ในสวนสัตว์อันเป็นแหล่งเนื้อชั้นดีแห่งเดียวที่เหลืออยู่ และกองกำลังป้องกันชาติตั้งกองกำลังดูแลสัตว์จากการถูกขโมยมาปีกว่า

แต่แล้วในที่สุด ช้างสยาม 2 เชือกสุดท้าย ซึ่งเป็นของขวัญจากพระเจ้ากรุงสยามก็ถูกสังเวยชีวิตเพื่อเอาใจคนมีฐานะ ถูกฆ่าและชำแหละที่ร้านขายเนื้อ เป็นเมนูอาหารชั้นเลิศ ณ ภัตตาคารหรูของปารีส เป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วยุโรปต้นปี ค.ศ. 1871

 
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘ช้างบรรณาการ’ จากรัชกาลที่ 4 จบชีวิตที่ร้านขายเนื้อกรุงปารีส จริงหรือ?” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2559

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กันยายน 2560