หมวดหมู่ทั่วไป > ห้องพักผ่อนรวม (Common Room)

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่2)

(1/1)

story:
ปัญหาประการแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2468 คือ การแก้ไขภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เกิดขึ้นด้วยจากความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีและระหว่างเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ขณะเดียวกัน แม้ว่าการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล (พ.ศ. 2467) แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงเตรียมพระองค์มาก่อน เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า รัชทายาทในรัชกาลที่ 6 ที่ประสูติตอนใกล้สวรรคตนั้นจะเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา และกฎมณเฑียรบาลก็เพิ่งประกาศขึ้นเพียงหนึ่งปีก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะเสด็จขึ้นครองราชย์

ในการแก้ปัญหาความไม่กลมเกลียวระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศานุวงศ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้น (the Supreme Council of the State of Siam/ SCS) ขึ้นเลียนแบบสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลที่ 5โดยทรงคาดหวังว่า การตั้งอภิรัฐมนตรีสภานี้จะช่วยทำให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวในกลุ่มพระราชวงศ์ชั้นสูง และสร้างความศรัทธาในพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนโดยเร็ว เพื่อที่จะอาศัยประชาชนเป็นฐานอำนาจในการรักษาราชบัลลังก์และกลุ่มพระราชวงศ์ชั้นสูง

โดยมุ่งหวังในเกิดความเชื่อมั่นในการปกครองแบบราชาธิปไตยและรัฐบาลภายใต้ราชาธิปไตย ด้วยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในอภิรัฐมนตรีสภาประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ห้าพระองค์ที่ล้วนมีประสบการณ์ในการบริหาราชการแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งห้าพระองค์นี้คือ ผู้ที่ไม่เป็นที่ทรงโปรดของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน ดังนั้น การแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นการเน้นให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากรัชกาลที่ผ่านมา

อภิรัฐมนตรีสภาสามพระองค์เป็นพระปิตุลาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ส่วนอีกสองพระองค์คือ พระภาดาที่มีศักดิ์เป็นพระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงดำรงอภิรัฐมนตรีสภาทรงตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของพระองค์ในการแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขี้นในรัชกาลก่อน แต่สิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำไปนั้น ไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป เพราะรัฐบาลไม่ได้สื่อสารให้สาธารณะได้ทราบถึงนโยบายต่างๆที่พระองค์ทรงดำเนินการเพื่อแก้ไขการใช้งบประมาณที่มากเกินไปของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน การณ์กลับกลายเป็นว่า พระบรมวงศานุวงศเหล่านี้กลับครองอำนาจไว้แต่เฉพาะพระองค์เอง ผูกขาดตำแหน่งเสนาบดีสำคัญ และแต่งตั้งพระโอรสและพระอนุชาให้ดำรงตำแหน่งทางการทหารและตำแหน่งในการบริหารราชการแผ่นดิน และเมื่อถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2469

หลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง 5 เดือน ตำแหน่งเสนาบดีเกือบทั้งหมดได้เปลี่ยนมาอยู่ในมือพระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางผู้ใหญ่ มีเสนาบดีเพียงสามคนในรัฐบาลชุดก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งกลับเข้าไปในรัฐบาลชุดใหม่ ในขณะที่การแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งเสนาบดีจำกัดอยู่ในแวดวงพระบรมวงศานุวงศ์ แม้ว่าจะเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลให้อำนาจการปกครองตกอยู่ในมือของคณะบุคคลที่เป็นเจ้านายเท่านั้น ซึ่งจะเรียกว่าเป็น “คณาธิปไตยของพวกเจ้า” (royal oligarchy) ก็ได้อย่างที่ปรากฏในวิกิพีเดีย หรือถ้าจะให้ตรงจริงๆ ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะใช้คำว่า “อภิชนาธิปไตย” (Aristocracy)

จากปัญหาที่เกิดขึ้นในรัชกาลก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารถนาที่จะแสดงให้เห็นว่า ในรัชกาลของพระองค์มีความแตกต่างเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากรัชกาลก่อน และบุคคลที่พระองค์ทรงเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงปรารถนาที่จะฟื้นฟูการปกครองตามแบบการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (Chulalongkorn-type government) ขณะเดียวกัน ในการทรงงานของพระองค์ก็แตกต่างไปจากรัชกาลก่อน พระองค์จะทรงอ่านเอกสารราชการทุกฉบับที่พระองค์ได้รับทูลเกล้าฯ ไม่ว่าจะจากเสนาบดีหรือการถวายฎีกาของราษฎรทุกคน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความอุตสาหะมานะและพยายามทำหน้าที่พระองค์อย่างดีที่สุด พระองค์จะทรงดึงประเด็นสำคัญจากความเห็นและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญมากมายและศึกษาความเห็นเหล่านั้น บันทึกประเด็นที่ดีในแต่ละความเห็น แต่เมื่อมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย พระองค์จะไม่ทรงไม่ค่อยสามารถดึงความเห็นที่ดีที่สุดและทิ้งความเห็นอื่นๆไป แต่จะทรงพึ่งคณะอภิรัฐมนตรีสภาในการชี้นำพระองค์ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

ตั้งแต่ต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่า หากจะรักษาซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และในสายตาของพระองค์ การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่คอยตรวจสอบการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ขณะเดียวกัน ในช่วงปี พ.ศ. 2469 พระองค์ได้ทรงทดลองให้ปรีวี เคาน์ซิล ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนกว่า 200 คนในขณะนั้นทำหน้าที่คล้ายกับองค์กรนิติบัญญัติ แต่จากที่มีจำนวนมากเกินไปทำให้เป็นอุปสรรคในการทำงาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 พระองค์ได้ตั้งปรีวี เคาน์ซิลที่มีจำนวน 40 คน คัดสรรจากพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง ทำให้ได้เสียงตอบรับที่ดีจากสื่อมวลชนและได้รับการคาดการณ์ว่า ปรีวี เคาน์ซิลนี้จะเป็นองค์กรที่แผ้วทางไปสู่การมีรัฐสภาหรือสภาแห่งชาติ

แต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ คณะปรีวี เคาน์ซิลนี้ยังคงไม่ได้มีความสำคัญมากนักและเป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรที่มีอำนาจหรือเป็นองค์กรนิติบัญญัติแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2469 จากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมการไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาบันทึกขนาดยาวเรื่อง “ปัญหาต่างๆในสยาม” (Problems of Siam) ไปยังที่ปรึกษากฎหมายชาวอเมริกัน ฟรานซิส บี. แซร์ (Francis B. Sayre) โดยพระองค์ได้ทรงตั้งคำถามเก้าข้อที่พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ขณะนั้น โดยในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 พระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาเรื่อง “ปัญหาบางประการของสยาม” (Problems of Siam) ดังความต่อไปนี้

วังสุโขทัย

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙

ดอกเตอร์แซร์ที่รัก

ข้าพเจ้าได้ส่งบันทึกเกี่ยวกับ ปัญหาบางประการของสยาม มาพร้อมกับจดหมายนี้และแบบสอบถามให้ท่านได้พิจารณา ข้าพเจ้าเกรงว่า ข้าพเจ้าค่อนข้างจะรีบเขียนบันทึกนี้เพื่อที่ข้าพเจ้าจะสามารส่งให้ท่านก่อนการสนทนาวันพรุ่งนี้ พรุ่งนี้ เราจะคุยกันในเบื้องต้นก่อนเมื่อเราสามารถหารือข้อสงสัยเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ ข้าพเจ้าอยากจะได้คำตอบของท่านเป็นหนังสือ เมื่อท่านได้พิจารณาอย่างเต็มที่แล้ว บันทึกนี้ไม่มีทางที่จะตอบปัญหาขอประเทศได้ทั้งหมด ข้าพเจ้าเพียงแต่จับประเด็นที่ข้าพเจ้าเห็นว่ามีความสำคัญ ถ้าท่านมีความเห็นอื่นๆนอกเหนือจากคำถามที่ตั้งขึ้นมา ข้าพเจ้าจะยินดีอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าหวังว่า ท่านจะได้รับการดูแลอย่างดีที่โรงแรมพญาไท

ด้วยความนับถือ

(M.R.) ประชาธิปก R.

(แหล่งอ้างอิง: B.J. Terwiel, Thailand's Political History: From the Fall of Ayutthaya to Recent Times ; Judith A. Stowe, Siam Becomes Thailand; Benjamin Batson, The End of the Absolute Monarchy in Siam)


โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
16 มิ.ย. 2565
https://www.posttoday.com/politic/columnist/685747

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version