ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่อง ขอให้แก้ปัญหาเรื่องพ.ร.บ.ที่ไม่เป็นธรรม  (อ่าน 2179 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและประธานวิปรัฐบาล
2 กรกฎาคม 2553
เรื่อง ขอให้แก้ปัญหาเรื่องพ.ร.บ.ที่ไม่เป็นธรรม
เรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี และนายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล
   เนื่องจากขณะนี้ ได้มีการนำเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... 6 ร่าง มีทั้งเสนอจากสส. 4 ร่าง จากภาคประชาชน 1 ร่าง และจากคณะรัฐมนตรีอีก 1 ร่าง
  สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกัน มีแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดของแต่ละร่าง แต่เนื้อหาที่คล้ายคลึงกันนั้น ต่างก็อ้างว่า เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุขให้ได้รับการช่วยเหลือและชดเชยโดยเร็ว เพื่อช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชน และช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการสาธารณสุขและประชาชนผู้รับบริการ
  แต่การร่างพ.ร.บ.นี้มีข้อบกพร่องดังนี้คือ
1.กระบวนการในการร่างพ.ร.บ.นี้มีปัญหาไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครบถ้วนทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ
2.เนื้อหาในพ.ร.บ.นี้ จะก่อให้เกิดปัญหากระทบในวงกว้าง ไม่เฉพาะที่มีผลต่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น แต่จะมีผลกระทบอันร้ายแรงต่อประชาชนทั่วไปไม่ว่าผู้ให้บริการหรือผู้รับบริการ วงการแพทย์และสาธารณสุข และผลกระทบต่อประเทศชาติอย่างแน่นอน
  ซึ่งจะขออธิบายรายละเอียดดังนี้คือ
1.   กระบวนการร่างกฎหมาย เกิดจากสส. ประชาชน 10.007 คนและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการประชาพิจารณ์เพียงเล็กน้อยจากกระทรวงสาธารณสุขเพียงไม่กี่ครั้ง และเมื่อถูกท้วงติงจากแพทยสภา (ซึ่งมีหน้าที่ตามพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ให้เป็นผู้ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้มีมาตรฐานและจริยธรรม) ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่แก้ไขตามที่ถูกท้วงติง
2.   เมื่อกระทรวงสาธารณสุขส่งร่างพ.ร.บ.นี้ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ตรวจตราแก้ไขร่างพ.ร.บ.นี้ให้เหมาะสมแต่เมื่อคณะกรรมการได้แก้ไขให้เหมาะสมและส่งเรื่องกลับคืนมายังกระทรวงสาธารณสุข แต่นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ยืนยันให้แก้กลับไปเหมือนเดิม ไม่ทำตามคำทักท้วงของคณะกรรมการกฤษฎีกา
3.   ผู้บริหารหรือผู้ดำเนินการโรงพยาบาลในสังกัดอื่นๆนอกกระทรวงสาธารณสุข เช่นโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม มหาดไทย เทศบาล สภากาชาดไทยและสถานพยาบาลเอกชนอีกเป็นส่วนมากหรือเกือบทั้งหมด ไม่เคยได้ทราบเรื่องพ.ร.บ.นี้ว่าจะกำหนดให้เก็บเงินจากสถานพยาบาลเหล่านี้ และมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ โดยที่ยังไม่เกิดความเสียหายใดๆ
4.   ประชาชนอีกหลายล้านคน ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการยังไม่ได้มีส่วนในการทำประชาพิจารณ์ ในเนื้อหาของพ.ร.บ.นี้ ที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง
ส่วนในเรื่องเนื้อหาในพ.ร.บ.นี้ ที่หลายคนเห็นว่าไม่เหมาะสมคือ
1.   อ้างว่าพ.ร.บ.นี้ จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการสาธารณสุข และช่วยลดการฟ้องร้องแพทย์ แต่ผลที่จะตามมาก็คือ เป็นการเพิ่มช่องทางการร้องเรียนและฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น จากเดิมเคยร้องเรียนสปสช. (ขอเงินชดเชยตามม.41) แพทยสภา ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลปกครอง และหัวหน้าส่วนราชการ(สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) แล้ว ก็จะมาร้องเรียนที่คณะกรรมการตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายนี้ได้อีก 1 ช่องทาง  เพราะประชาชนหวังจะได้ทั้งเงินช่วยเหลือ เงินชดเชย และยังไม่ตัดสิทธิ์การฟ้องศาลอีกด้วย
2.   เมื่อการฟ้องร้องมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ก็ย่อมต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ (ส่วนความเสียหายที่หลีกเลี่ยงได้นั้น บุคลากรทางการแพทย์ก็ย่อมหลีกเลี่ยงและระมัดระวังมิให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่อยู่แล้ว) แต่อาจจะทำให้เกิดผลเสียหายแก่ประชาชนมากขึ้น ตัวอย่างในกรณีนี้เกิดขึ้นแล้ว คือกรณีแพทย์ในโรงพยาบาลประจำอำเภอ(รพ.ชุมชน) งดผ่าตัดทุกชนิดหลังจากศาลตัดสินให้จำคุกแพทย์ 4 ปี ในความผิดฐานฉีดยาบล็อกหลังแล้วทำให้ผู้ป่วยตาย ซึ่งผลจากการที่ไม่ผ่าตัดนี้ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสที่จะได้รับการผ่าตัดรวดเร็ว ต้องไปรอคิวผ่าตัดในโรงพยาบาลจังหวัด
3.   ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นเด่นชัดให้เข้าใจง่าย ก็จะขอยกตัวอย่างดังนี้ ถ้ามีผู้ป่วยอาการหนักมาถึงห้องฉุกเฉิน(Emergency Room) ของโรงพยาบาล ถ้ารักษาอย่างดีที่สุดเต็มกำลังความสามารถของบุคลากรแล้ว ผู้ป่วยอาจจะมีโอกาสตาย 80 % มีโอกาสรอดชีวิต 20 % บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนก็ย่อมทุ่มเทให้กรรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตให้ได้แม้มีโอกาสแค่ 20 %แต่ถ้ามีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายนี้แล้ว แพทย์ก็คงไม่กล้าที่จะพยายามช่วยชีวิตผู้ป่วย เพราะเกรงว่าจะถูกฟ้องร้องถ้าผู้ป่วยตายตามอัตรา 80% แต่บุคลากรก็ คงจะรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอื่น (เหมือนที่ส่งผู้ป่วยจากรพ.ชุมชนไปผ่าตัดยังโรงพยาบาลจังหวัดในขณะนี้) ซึ่งผู้ป่วยอาจจะไปเสียชีวิตบนรถส่งต่อ  โรงพยาบาลก็คงไม่กล้าเสี่ยงที่จะเอารถโรงพยาบาลไปส่ง เพราะเกรงว่าจะต้องรับผิดชอบความตายบนรถ ในกรณีที่ยกตัวอย่างนี้ อาจจะสุดโต่ง (extreme) ไปหน่อย แต่ก็เพื่อเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า ในที่สุดแล้ว ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่ “เสียหาย” มากขึ้นกว่าเดิม เพราะบุคลากรก็มีความต้องการเหมือนมนุษย์คนอื่นๆคือ ต้องการความปลอดภัยของตนเองเช่นเดียวกัน
4.   การตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการมาตัดสินว่า การรักษาพยาบาลหรือการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขใด มีคุณภาพมาตรฐานหรือไม่ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการหรืออนุกรรมการนั้น มีผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์เป็นเสียงส่วนน้อย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำลายมาตรฐานทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดี ที่ประเทศไทยเคยมีอยู่
และถ้ากรรมการตัดสินว่าแพทย์ทำผิด แพทยสภาก็ต้องสอบสวนอีกตามหน้าที่ของแพทยสภา (ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. 2525 ) ว่าเป็นการผิดจริงหรือไม่ ถ้าผู้เสภาวิชาชีพโดยผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ล้วนๆได้ลฃงความเห็นว่าไม่ผิด และแพทย์เอาคำตัดสินนี้ไปเป็นพยานในการร้องศาลปกครองให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการ แล้วจะทำให้การฟ้องร้องมากขึ้นแน่นอน
และการตัดสินของคณะผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาชีพ จะสามารถลบล้างคำตัดสินของคณะกรรมการได้หรือไม่
หรือกฎหมายของบ้านเมืองจะไม่ต้องอาศัยความถูกต้องตามเหตุผลทางวิชาการที่นานาประเทศยอมรับ แต่ใช้ “ความเห็นหรือดุลพินิจ” (อารมณ์ความรู้สึก)ของผู้ที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขเลยมาตัดสิน?
บรรทัดฐานวิชาชีพแพทย์ไทยที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษแพทย์และพระบิดาแห่งวงการแพทย์ไทยย่อมล่มสลายแน่นอน
5.   การมีทั้งคณะอนุกรรมการตัดสินและคณะอนุกรรมการอุทธรณ์อยู่ในคณะกรรมการเดียวกัน เป็นการมอบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในคณะกรรมการเดียวกัน เป็นการผิดหลักการปกครองบ้านเมืองที่ดี ถ้าจะมีกรรมการอุทธรณ์ก็ต้องเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจเหนือคณะกรรมการนี้ ที่เป็นผู้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีอีกทีหนึ่ง เพราะพ.ร.บ.นี้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานคณะกรรมการ
6.   การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือและชดเชย อาศัยหลักการตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ การช่วยเหลือเบื้องต้นถือว่าไม่มีความผิดของเจ้าหน้าที่แต่ช่วยเหลือตามมนุษยธรรม ส่วนการชดเชยถือว่ามีความผิดเกิดขึ้น ในกรณีบุคลากรทางการแพทย์ถือว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อมีการจ่ายเงินแล้วผู้จ่ายเงินต้องมา “ไล่เบี้ย” เอากับผู้ทำผิดอย่างแน่นอน และในพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายนี้ไม่ได้เขียนไว้ที่มาตราใดเลยว่า “ห้ามไล่เบี้ย”
7.   พ.ร.บ.นี้ “ให้” สิทธิประชาชนทุกอย่างโดยอ้างว่าไม่ต้องการให้มีการฟ้องร้อง แต่ไม่มีมาตราใดเลยที่จะทำตามกฎมายรัฐธรรมนูญมาตรา 80(2)ที่จะคุ้มครองผู้ให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม  ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิ์ใดๆกำหนดไว้เลย มีแต่การลงโทษ  เสื่อมเสียชื่อเสียงไปก่อนแล้ว และไม่มีแม้แต่สิทธิ์ในการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการ ถ้าไม่พอใจคำสั่งมีทางออกทางเดียวคือต้องไปฟ้องศาลปกครองเอาเอง
8.   ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ซึ่งรวมแล้วพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.. ....นี้ จะทำให้เกิดผลเสียหายแก่ประชาชน ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ มีความเสียหายต่อมาตรฐานการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข อย่างแน่ชัด
ดิฉันในฐานะประชาชนผู้หนึ่ง ซึ่งก็เป็นทั้งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและเป็นประชาชนผู้ไปรับบริการทางการแพทย์เช่นเดียวกับประชาชนอื่นๆ ขอเรียนถามท่านนายกรัฐมนตรีและท่านประธานวิปรัฐบาลว่า ท่านจะช่วยแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มาตฐานทางการแพทย์ และประเทศชาตืดังกล่าวแล้วได้อย่างไร?
หรือท่านจะให้พวกเราไปฟ้องศาลปกครองว่ากระบวนการเสนอกฎหมายไม่ถูกต้อง?
หรือจะรอให้ประชาชนไปเดินขบวนก่อม็อบหน้าสภา ในวันที่ร่างพ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีการถอนออกมาทำประชาพิจารณ์และแก้ไขให้เหมาะสม เป็นธรรมแก่ประชาชนทุกคน  และบรรลุวัตถุประสงค์ตามกล่าวอ้างในเหตุผลที่มีการร่างพ.ร.บ.นี้
อนึ่ง มีกลุ่มแพทย์ได้เข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณธวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์อ้างว่าให้ไปรอแก้ในคณะกรรมาธิการ แต่ดิฉันคิดว่า พ.ร.บ.ที่มีข้อบกพร่องมากมายเช่นนี้ จะไม่สามารถแก้ไขให้เหมาะสมและยุติธรรมได้ดีเท่ากับการเอามาแก้ไขนอกสภาก่อน จากการฟังเสียงประชาชนให้รอบด้าน
ขอแสดงความนับถือ
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เลขที่ 5144
กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์พลเมือง (Citizens Rights Watch, Thailand)