ผู้เขียน หัวข้อ: ถอดความคิด ‘สังวรณ์ เชื้อเตจ๊ะ’ แพทย์แผนไทย ‘หมอตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนา’  (อ่าน 386 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
‘หมอตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนา’ นามแห่งวิชาชีพนี้ อาจไม่คุ้นหูนักสำหรับผู้คนในพื้นที่ห่างไกลจากแถบถิ่นดินแดนล้านนา ทว่า สำหรับชาวล้านนาแล้ว การรักษาโดยการตอกเส้นแบบภูมิปัญญาล้านนา เป็นที่รู้จักกันดี ทั้งในมวลหมู่วิชาชีพแพทย์แผนโบราณ หรือการนวดไทย รวมทั้งผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาด้วยแนวทางดังกล่าว

เนื่องด้วยการตอกเส้นนับเป็นหนี่งในภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมายาวนานมากกว่าพันปี มากด้วยเรื่องราวและตำนานเล่าขานที่สืบทอดต่อกันมานับแต่โบราณกาลผ่าน ‘มุขปาฐะ’ อีกทั้งเปี่ยมด้วยศรัทธาอันมั่นคง ยืนยงแรงกล้า

ด้วยว่าผู้ที่จักเป็นหมอตอกเส้นได้นั้น ในอดีต มีเพียงผู้สืบเชื้อสายในตระกูล หรือนักบวชเท่านั้น เพราะต้องถือศีล
ทั้งมากด้วยอาคมเพื่อป้องกันตนจากโรคภัยไข้เจ็บมิให้เข้าตัว ยามรักษาผู้อื่น
กระทั่งวันเวลาเคลื่อนผ่านสู่ห้วงแห่งปัจจุบัน ‘หมอตอกเส้น’ ก็ยังคงดำรงอยู่คู่แผ่นดินล้านนาสืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น

ดังเช่น ‘สังวรณ์ เชื้อเตจ๊ะ’ ผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์แผนไทย และเป็นหมอตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนา
ซึ่ง ‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษในครั้งนี้
ได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของหมอตอกเส้นได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเปี่ยมด้วยแรงศรัทธาและความขรึมขลังแห่งวิชาที่ต้องมี “ครู” คอยปกปักรักษา

ไม่ว่าการสืบทอดต่อกันมาของหมอตอกเส้น นับแต่รัชสมัยพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งหริภุญไชย สู่ภูมิปัญญาล้านนา สืบทอดยาวนานมากกว่า 1,300 ปี

การสืบทอด เรียนรู้วิชาจากรุ่นสู่รุ่นภายในสายตระกูล ต่อเนื่องถึงการเล่าเรียนเพื่อให้ได้ใบประกาศนียบัตร หรือใบ Certificate ทั้งมุ่งมั่นตั้งใจเรียนแพทย์แผนไทย

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเรียนการเป็นหมอตอกเส้น กับลูกศิษย์ในสายของ “พ่อครูดาว” ที่ได้รับการยอมรับอย่างยิ่งในภาคเหนือ ซึ่งแม้แต่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กระทรวงแรงงาน) ยังให้การยอมรับ รวมทั้งในเวลาต่อมากระทรวงสาธารณสุขก็ได้เข้ามากำกับดูแล จึงกล่าวได้ว่า การเป็นหมอตอกเส้น หรือการรักษาด้วยวิชาภูมิปัญญาโบราณที่สืบทอดต่อกันมานี้ เป็นที่สนใจของหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนส่งเสริมเช่นกัน

ขณะที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมก็ยังคงได้รับการสืบต่ออย่างมั่นคงแข็งแรง ไม่ว่าวัตรปฏิบัติ จารีตทำนองคลองธรรม การถือศีลบริสุทธิ์ รวมทั้งข้อห้าม ที่หมอตอกเส้นต้องยึดถือ ตามแต่ละสายครูบาอาจารย์ เช่นห้ามกิน ห้ามทำสิ่งใดบ้าง ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจไม่น้อย

ถ้อยความนับจากนี้ คือ คำบอกเล่าของ ‘สังวรณ์ เชื้อเตจ๊ะ’ แพทย์แผนไทย และเป็นหมอตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนา ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความศรัทธาในวิชาชีพ รวมทั้งการดำรงตนอยู่ในรีตรอยแห่งธรรม ตามคำที่ครูบาอาจารย์บอกสอน
เป็นศรัทธาที่ยืนยงมานับสหัสวรรษ ทว่า ก็ยังคงเปี่ยมมนต์ขลังแม้ในยุคสมัยใหม่ ความแม่นยำในการรักษา รวมทั้งคาถาอาคมและไม้มงคลอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการตอกเส้น จึงยังคงทำหน้าที่อย่างเปี่ยมประโยชน์ในการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้คนมาช้านาน

กว่าจะเป็น ‘หมอตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนา’ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

เริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำขอให้สังวรณ์ช่วยเล่าว่ามาเป็นหมอตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนานานแค่ไหนแล้ว
และเพราะเหตุใดจึงสนใจวิชาชีพนี้

แพทย์แผนไทยและหมอตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนารายนี้ตอบว่า เป็นหมอตอกเส้นมา 10 กว่าปีแล้ว
รวมทั้งเป็นหมอนวดแผนไทยด้วย สาเหตุที่สนใจวิชาชีพนี้เพราะทางบ้านทำวิชาชีพนี้อยู่
“ที่สนใจเพราะแม่ครับ แม่ผมจะรับสืบทอดมาจากทวด
คือย้อนกลับไป ตอนแม่ผมเกิดมาได้ไม่กี่ปี พ่อกับแม่ของแม่ซึ่งก็คือตากับยายผม ท่านเสียชีวิต ทิ้งแม่ไว้
ทวดก็รับแม่ไปเลี้ยง แต่ที่บ้านมีฐานะไม่ดีนัก ทวดก็มีอาชีพนวด สมัยก่อนนั้นก็นวดเพื่อแลกข้าว แลกอาหาร
เขายังไม่ค่อยใช้เงินกัน แล้วเมื่อโตขึ้น แม่ผมก็รับสืบทอดการนวดมาจากทวดครับ

ตอนนั้นเราเป็นเด็ก เราก็เห็นแม่นวด เวลาที่ชาวบ้านมีปัญหาสุขภาพอะไร ก็มาขอให้แม่นวดให้
ไม่ว่าปวดเมื่อย ปวดตัว เราเห็นมาตั้งแต่เด็ก แต่ตอนนั้น เรายังไม่ได้สนใจอะไรนัก
แต่พอโตขึ้นมา เห็นแม่นวดทุกวัน เราก็เริ่มซึมซับ และเห็นว่าเป็นสิ่งที่สามารถช่วยคนได้ แล้วเราก็ไปศึกษาเพิ่มเติม
ต้องไปเรียน เพราะด้วยระบบบ้านเรา ต้องมีใบ Certificate เพื่อให้เกิดการยอมรับใช่ไหมครับ
ผมก็ไปเรียนตามระบบ เรียนนวดก่อน เพื่อให้มีใบประกาศนียบัตร แล้วเมื่อมีปัญหาอะไรก็ให้แม่สอน
แม่ก็บอกสอนสิ่งต่างๆ และสอนตอกเส้นด้วย
คือ แม่ของผมนั้นก็เป็นหมอตอกเส้น และเป็นหมอย่ำขางด้วยครับ” ( หมายเหตุ : ข้อมูลจากสมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา ระบุว่าการย่ำขาง เป็นวิธีการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บแบบพื้นบ้านล้านนาอีกประเภทหนึ่ง โดยมากใช้สำหรับบำบัดหรือรักษาอาการเจ็บปวดตามร่างกาย โดยใช้เท้าชุบน้ำยา(น้ำไพลหรือน้ำมันงา) แล้วไปย่ำลงบนขางที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วจึงไปย่ำบนร่างกายหรืออวัยวะของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด พร้อมทั้งเสกคาถาอาคมกำกับด้วย ในอดีตหมอเมืองจะใช้เท้าย่ำรักษาส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งศีรษะด้วย แต่ต่อมามีการปรับเปลี่ยนเป็นใช้มือหรือลูกประคบนวดในส่วนของศีรษะแทน ส่วนอื่นๆ ของร่างกายยังคงใช้เท้าย่ำเหมือนเดิม หมอเมืองที่รักษาด้วยการย่ำขาง เรียกว่า หมอย่ำขาง )

มุ่งมั่นตั้งใจ เรียนแพทย์แผนไทย

สังวรณ์เล่าว่า ได้รับการสอนจากแม่เรื่อยมา รวมทั้งตนเองก็ไปเรียนเพื่อให้ได้ใบประกาศนียบัตรด้วย
“จากนั้นผมก็ไปเรียนแพทย์แผนไทย เรียนนวดครับผม” สังวรณ์ระบุ

ถามว่า ตระกูลของสังวรณ์ สืบเชื้อสายการนวดกันเรื่อยมา จากรุ่นสู่รุ่นเลยใช่หรือไม่ นับจากคุณทวด สู่คุณแม่
กระทั่งมาถึงสังวรณ์เอง
แพทย์แผนไทยรายนี้ยอมรับว่าใช่ และบอกถึงชื่อเรียกที่ถูกต้องของหมอตอกเส้นว่า
คำเรียกอย่างเป็นทางการคือ ‘หมอตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนา’

ถามเพิ่มเติมถึงรายละเอียดว่าการไปเรียนหมอตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนา ต้องคำนึงถึงอะไร หรือมีข้อห้าม ข้อควรระวังอะไรเป็นพิเศษบ้างหรือไม่

สังวรณ์ตอบว่า “เมื่อผมเรียนจากแม่ มีพื้นฐานเบื้องต้นแล้ว ก็ต้องไปเรียนเพิ่มเติม เพื่อให้มีประสบการณ์ เพื่อเรียนรู้ระบบวิชาชีพเราให้มากขึ้น ก็ไปเรียนจากลูกศิษย์ที่สืบสายมาจาก ‘พ่อครูดาว’ครับ"

สืบทอดวิชา หมอตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนา

สังวรณ์กล่าวว่า “ สำหรับ ‘พ่อครูดาว’ ที่เอ่ยถึงนี้ ผมขอเท้าความก่อนว่า ‘พ่อครูดาว’ ท่านนี้ ทางภาคเหนือเรายกย่องให้ท่านเป็น ‘พ่อครู’ ทางด้านการตอกเส้น เพราะว่าท่านเป็นผู้รื้อฟื้นการตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนาให้กลับคืนมาอีกครั้ง
จริงอยู่ ที่ว่าก่อนหน้านี้ การตอกเส้นก็มีมานานแล้ว แต่ว่าเกือบจะสูญหายไปแล้วครับ
แต่ว่า ‘พ่อครูดาว’ ท่านก็รื้อฟื้นขึ้นมาให้เป็นที่ยอมรับ ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
ผมก็ไปเรียนกับลูกศิษย์ของท่าน อยู่ที่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กระทรวงแรงงาน) ที่ อ.แม่ริม ที่ จ. เชียงใหม่
ในการเรียนครั้งนั้น เราก็มีการไปรับ ‘ขันธ์ครู’ กับพ่อครูดาว เขาเรียกว่า ‘รับขันธ์ครู’
( หมายเหตุ : บางแห่งเรียนขันครู ) รับขันธ์ตอกเส้น เวลาเรียนต้องมีขันธ์ครู เราก็ไปรับขันธ์ครูกับพ่อครูดาว จากนั้นก็เรียนแล้วก็สืบทอด ฝึกฝีมือของเราเรื่อยมาครับ” สังวรณ์ระบุ

ถามว่า เล่ากันสืบมาว่าการตอกเส้นล้านนา จะต้องมีครูบาอาจารย์ อย่างที่คุณเล่าว่ามี ‘พ่อครูดาว’ เป็นครูใช่หรือไม่
สังวรณ์ตอบว่า ใช่

รับ ‘ขันธ์ครู’ พ่อครูปกปักรักษา

เมื่อขอให้เล่าว่า การรับขันธ์ครูต้องมีอะไรบ้าง และเคยทราบมาว่า หมอตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนาต้องมีของ
มีคาถาอาคม จริงหรือไม่

สังวรณ์ตอบว่า “ใช่ครับ ขันธ์ครูจะมีหลายแบบ แต่ผมจะขอพูดถึงเฉพาะขันธ์ครูของการตอกเส้นล้านนาก็แล้วกันนะครับ
ขันธ์ครูคือจะมีขันธ์ดอกไม้ และขันธ์ครูเป็นขันธ์ 32 โดยขันธ์ครูในพิธีนี้จะเป็นขันธ์ใหญ่ที่เราจะตั้งไว้ที่บ้าน
แล้วก็จะมีเบี้ย ซึ่งก็แล้วแต่บางที่นะครับ ขันธ์ครูผมมีเบี้ย 32 ตัว มีหมาก มีพลูครับผม แล้วก็มีผ้าขาว ผ้าแดง
ข้าวเปลือก ข้าวสารอยู่ในขันธ์ครู แต่บางที่ก็อาจจะมีเหล้าด้วย แล้วแต่ว่าครูกำหนดมา แล้วเรารับมา
โดยทั่วไปก็จะมีหมากพลู ดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าขาว ผ้าแดงนี่มีอยู่แล้ว แล้วก็เบี้ยครับ แล้วก็หมาก เหล่านี้คือพื้นฐานเลยครับ ของพวกนี้ต้องมี” สังวรณ์บอกเล่ารายละเอียดของสิ่งที่ต้องมีในขันธ์ครู

ถามว่า ที่เขาเล่ากันว่าหมอตอกเส้นล้านนาต้องมีของ มีคาถาอาคมนั้นจริงไหม
สังวรณ์ตอบว่า “ใช่ครับ ต้องมีจริงๆ ครับ อย่างน้อยถ้าเราเป็นหมอตอกเส้น เราต้องมีคาถากำกับไม้ตอกเส้น และเพื่อป้องกันตัวเรา อย่างน้อยต้องมีคาถาป้องกัน

ต้องเป็นคนเรียนตอกเส้นจึงจะต้องท่องคาถานี้ได้ มีคาถากำกับไม้
เพราะจะเป็นความเชื่อทางล้านนา ว่าช่วยในการรักษาโรค และช่วยในเรื่องป้องกันตัวเรา ไม่ให้โรคภัยไข้เจ็บจากคนไข้เข้ามาสู่ตัวเรา เพราะบางทีคนไข้อาจจะไปรับของ หรือโดนผีทำ หรือว่าโดนของ โดนอะไรพวกนี้
ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านจะได้ปกป้องเรา” สังวรณ์ระบุ

ไม้ตอกเส้น ไม้มี ‘ครู’ และไม้ศักดิ์สิทธิ์

ถามถึงไม้ที่สังวรณ์ใช้ในการตอกเส้นล้านนา ว่ามีกี่ชุด และใช้อย่างไร
หมอตอกเส้นภูมิปัญญาล้านนารายนี้ตอบว่า “ในส่วนของไม้ เมื่อก่อนจะมีชุดเดียวครับ คือมีลิ่ม กับค้อน แค่นั้นครับ
อย่างของ ‘พ่อครูดาว’ ท่านก็มี signature เป็นสัญลักษณ์เลยครับ ท่านจะใช้ ‘งาช้าง’ ครับ
เพราะฉะนั้น ในการตอกเส้นล้านนา ถ้าพูดถึง ‘พ่อครูดาว’ ก็จะนึกถึงภาพว่า ‘พ่อครูดาว’ ใช้ ‘งาช้าง’ ตอกเส้น เป็นสัญลักษณ์ของท่านเลยครับ
แล้วก็มีหมอตอกเส้นคนอื่นๆ ที่มีการใช้ไม้มะขาม ไม้มะขามมีความหมายถึงความเกรงขาม มีความหมายถึงการอยู่ยงคงกระพัน ป้องกันตัวเรา ไม่ให้ถูกภูติผีอะไรทำอันตรายได้ ส่วนไม้ฟ้าผ่านี่ก็จะถือว่าช่วย ‘ถาก’
คำนี้ ในภาษากลางหมายถึงการ ‘ปัดเป่า’ สิ่งไม่ดีที่อยู่ในตัวคนไข้ออกไป
ดังนั้น ถ้าได้ใช้ไม้ฟ้าผ่าจะดีมากครับ แต่ถ้าไม่มีก็ใช้ไม้เนื้อแข็งได้
แล้วก็นำไม้ไปทำพิธีรับขันธ์ครู ตอนทำพิธีเราก็นำไม้ไปวางด้วย ไปร่วมพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลครับ
แล้วพ่อครูดาวก็จะให้คาถา ให้พรใส่ไม้ ไส่ลิ่มและฆ้อน แล้วก็จะมีการไหว้ครูทุกปี ส่วนใหญ่ทางเหนือเราจะไหว้ครูช่วงสงกรานต์ เรียกว่าไปดำหัวท่านครับ”สังวรณ์บอกเล่าอย่างเห็นภาพ

ดำเนินชีวิตตามครรลองจารีตของ ‘ผู้มีคาถาอาคม’

ถามว่า เมื่อครั้งที่สังวรณ์ไปเรียนกับพ่อครูดาวแล้วท่านให้คาถาอาคม ไว้ป้องกันตัว
แล้วในส่วนของวัตรปฏิบัติตน จะต้องมีข้อห้ามอะไรหรือไม่ หรือต้องถือศีลอะไรบ้าง มีอะไรที่ห้ามทำหรือมีข้อห้ามอะไรบ้างสำหรับผู้ที่เป็นหมอตอกเส้นล้านนา

สังวรณ์ตอบว่า “มีครับ หมอตอกเส้นทั่วไป ถ้าทำได้นะครับ คือต้องถือศีลห้า เป็นศีลที่บริสุทธิ์
ส่วนการถือคาถาทางเหนือเราก็มีข้อห้ามครับ

ข้อ 1. ห้ามกิน ‘ผักปลัง’ ผมไม่แน่ใจว่าผักปลัง ภาษากลางเรียกอะไร เป็นผักที่เมื่อสุกมาแล้ว มันเหมือนเลือดน่ะครับ พื้นบ้านเราก็เอายอดมันมาทานได้ แต่ผักนี้ มันมีลักษณะลื่นๆ คนสมัยก่อน ถ้าคนคลอดลูกไม่ได้ คลอดลูกลำบาก เขาจะใช้ยาผักปลังนี่ไปช่วยหล่อลื่น เขาก็ถือว่าเป็นของต่ำ คนที่ถือคาถาอาคมจะกินไม่ได้ เพราะทำให้คาถาเสื่อม
( หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนจาก https://www.technologychaoban.com ระบุว่า “ผักปลัง” เป็นผักเก่าแก่ที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ คนเมื่อก่อนใช้ประโยชน์จากผักปลังหลายอย่าง นอกจากจะใช้เป็นอาหารแล้ว ยังใช้เป็นยา เรียกว่าสมุนไพร หรือยาพื้นบ้านก็คงได้ มีหลายครั้งที่ผักปลังเป็นที่รังเกียจกับผู้คน ถึงขั้นไม่ยอมแตะ ยิ่งให้กินนั้นอย่าพูดให้ได้ยินเลย เขามีเหตุผลและความเชื่อต่อกันมา โดยเฉพาะผู้ที่ “เล่นของ” หมายถึงไสยศาสตร์ ที่มีการใช้คาถาอาคม เครื่องรางของขลัง เชื่อกันว่าถ้าไปกินผักปลังแล้ว ของจะเสื่อม เป็นความเชื่อที่ปลูกฝังกันมา ในแวดวงคนเล่นของ สันนิษฐานพอได้ว่า เพราะผักปลังนั้น หมอไทยโบราณ ท่านใช้เป็นน้ำยาหล่อลื่น ทั้งกินทั้งทา สำหรับหญิงมีครรภ์ ตอนจะคลอด ก็ตำคั้นเอาน้ำเมือกผักปลัง เป็นน้ำมัน น้ำยาทาช่องคลอด ให้คลอดเด็กออกมาง่ายๆ มันจะลื่นไหลคล่อง เพราะมีน้ำมันหล่อลื่น พวกเล่นของเขาจึงถือว่า ผักปลังเป็นของไม่เป็นมงคล)

ข้อ 2. ฟักแฟง ก็กินไม่ได้ กินแล้วทำให้คาถาอาคมเสื่อม กินแล้วทำให้อ่อนแรง
เขาห้ามต่อๆ กันมา ที่สำคัญก็คือต้องถือศีลบริสุทธิ์

ข้อ 3. ถ้าลึกลงไป บางที่ บางอาจารย์ ท่านก็ห้ามไปทานข้าวบ้านที่จัดงานศพ ทานไม่ได้เลย ก็แล้วแต่บางอาจารย์บางท่านครับ เช่น บางอาจารย์ก็ห้ามลอดราวตากผ้าของผู้หญิง
ห้ามเอาเสื้อผ้าไปซักรวมกับของผู้หญิง ต้องแยกซัก เป็นต้นครับ แล้วแต่อาจารย์แต่ละที่”
สังวรณ์ระบุถึงข้อห้ามที่เชื่อสืบต่อกันมา

ต้องมีอาการอย่างไร จึงเหมาะรักษาด้วยการตอกเส้น

ถามว่า ผู้ที่สนใจอยากใช้บริการหมอตอกเส้น ต้องมีอาการอย่างใด และอยู่ในวัยไหนจึงใช้บริการได้
สังวรณ์ตอบว่า “ใช้บริการได้ทุกวัยครับ
ไม่ว่าอาการอย่างพวกออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) ผู้ที่มีอาการปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ หรือแม้แต่อัมพฤกษ์ อัมพาต ปวดร้าว ชาแขน ปวดหลัง ปวดเอว ไม่มีแรง โดยเฉพาะคนแก่ ผู้สูงอายุที่เดินไกลๆ แล้วปวดขาไม่มีแรง
การตอกเส้นจะไปช่วยกระตุ้นเส้น ทำให้มีเรี่ยวมีแรง แข็งแรง เดินได้ดี
แต่ก็มีข้อห้าม ข้อควรระวัง อย่างผู้ที่กระดูกเปราะบาง แตกหักง่าย ก็ควรระวังครับ
หรือพวกเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ก็ต้องระวัง
เหตุที่ห้ามผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือให้ระวังเป็นพิเศษในการรักษาด้วยการตอกเส้น เพราะผู้ที่เป็นเบาหวาน ถ้าเป็นมานาน เส้นเลือดจะแข็ง มันเปราะแตกง่าย ถ้าเราทำอาจจะช้ำได้ง่าย แล้วคนเป็นเบาหวาน เขาจะมีการรับความรู้สึกช้า เมื่อเราตอกเส้นไป คนไข้อาจจะบอกไม่รู้สึก ไม่แรง แล้วถ้าเราทำตามใจลูกค้า ทำแรงเกินไป การรับความรู้สึกของผู้ป่วยเบาหวานจะไม่ดีเท่าคนปกติ ก็อาจเป็นอันตรายได้ครับ” สังวรณ์บอกเล่าถึงข้อควรระวัง

จากรัชสมัยพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งหริภุญไชย
สู่ภูมิปัญญาล้านนา สืบทอดนับพันปี

เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวิชาชีพหมอตอกเส้นล้านนาว่าเป็นมาอย่างไร
สังวรณ์บอกเล่าได้อย่างน่าสนใจยิ่ง โดยระบุว่า “ตามความเชื่อหรือการบอกเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับการตอกเส้น
เชื่อกันว่า มีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีแล้วครับ เมื่อประมาณ 1,300 กว่าปีก่อน
พระนางจามเทวีมาจากเมืองละโว้ หรือลพบุรี มาปกครองเมืองที่ลำพูน ( หมายเหตุ : คือหริภุญชัยในสมัยนั้น )
พระนางจามเทวีท่านก็นำพาช่าง พาหมอยามาด้วย
มีหมอยาประมาณ 500 คน มีโหราศาสตร์ 500 คน ก็ตามพระนางจามเทวีมาด้วย

ท่านก็มาสร้างบ้านแปงเมืองที่ลำพูน คนสมัยนั้น เขาก็รักษากันตามภูมิปัญญา
เมื่อมีอาการเจ็บป่วยอะไรก็ไปรักษากับหมอพื้นบ้าน หรือว่าหมอเมือง
แล้วการถ่ายทอดความรู้ถ่ายทอดวิชาในสมัยก่อน เขาก็ถ่ายทอดให้เฉพาะกับลูกหลาน ให้กับคนในตระกูลเท่านั้น ไม่ถ่ายทอดให้กับคนข้างนอก เก็บไว้เป็นของสืบทอดในตระกูลตนเอง
แต่ถ้ามีใครสนใจจริงๆ แล้วครูบาอาจารย์ท่านดูแล้วเห็นว่าคนนี้สนใจจริง มีความสามารถ ไปต่อได้ ท่านก็จะอนุโลมหรือเมตตาถ่ายทอดวิชาให้ แต่ส่วนใหญ่คนที่เรียนสมัยก่อนต้องเคยบวชเรียนมาก่อนครับ เพราะคนที่บวชเรียนมาแล้ว มีศีล ถือคาถาแล้วศักดิ์สิทธิ์มากกว่า ก็สืบทอดกันมาเรื่อยๆ กระทั่งถึงปัจจุบันครับ

ปัจจุบันนี้ ยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็เกิดมีโรงเรียนสอน มีการสอนในโรงเรียนต่างๆ เช่น ของกรมแรงงาน หรือของเอกชน และปัจจุบันนี้ก็มีกระทรวงสาธารณสุขเข้ามากำกับดูแลเรื่องการตอกเส้นด้วย

มีการกำกับดูแลเรื่องการตอกเส้น ใครจะตอกเส้นในร้านนวดเพื่อสุขภาพ จะต้องไปเรียน รับใบประกาศนียบัตร โดยต้องเรียนให้ครบ 150 ชั่วโมงมาก่อน เหมือนนวดไทยครับ ใครจะนวดในร้านเพื่อสุขภาพ ก็จะต้องมีใบประกาศนียบัตรมาก่อนเช่นกัน
ส่วนหมอพื้นบ้านเราก็ยังมีอยู่ ยังรักษาคนป่วย ไม่คิดเงิน ไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ก็ทำได้เฉพาะผู้ที่มีขันธ์ครูครับ” สังวรณ์ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภูมิปัญญาการตอกเส้นล้านนาที่สืบทอดมานานนับพันปี กระทั่งปัจจุบัน

ถามว่า ในแถบล้านนา มีหมอตอกเส้นทุกจังหวัดเลยหรือไม่
สังวรณ์ตอบว่า “ตอนนี้แพร่หลายมากครับ ไม่ว่าที่ จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่ จ.เชียงรายก็มีหมดแล้ว แต่ว่าถ้ามีเยอะ ก็จะมีที่เชียงใหม่และลำพูนครับ เพราะหมอคนเก่าๆ แก่ๆ ส่วนมากจะอยู่ที่ลำพูนกับเชียงใหม่ครับ” สังวรณ์ระบุ

ถามว่า ถ้ามีผู้สนใจอยากตอกเส้นกับสังวรณ์ จะสามารถพบหรือติดต่อได้ที่ไหน
สังวรณ์ตอบว่า “สามารถติดต่อที่คลินิกได้เลยครับ เพราะผมเปิดคลินิคอยู่ชื่อว่า
‘นวคลินิก’ เป็นคลินิกการแพทย์แผนไทย ชื่อเต็มคือ ‘นวคลินิกการแพทย์แผนไทยสาขานวดไทย’
แต่ถ้าในเฟซบุ๊ค จะใช้ชื่อว่า ‘นวคลินิกนวดรักษา’ ติดต่อผ่านเฟซบุ๊คก็ได้ครับ
สถานที่ตั้งคลินิก อยู่ จ.เชียงใหม่ การเคหะหนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่ ถนนมหิดล ครับ” สังวรณ์ระบุทิ้งท้าย
…
นับเป็นบทสนทนาที่ไม่เพียงฉายภาพให้เห็นถึงภูมิปัญญาโบราณ ความเชื่อ ความศรัทธา ที่สืบต่อกันมา
ทั้งได้รับการรับรองว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแท้จริง รวมทั้งการบอกเล่าถึงตำนาน เรื่องราว ความศรัทธาของภูมิปัญญาการตอกเส้นล้านนาที่ยังยืนยง แม้ผ่านการเวลามาแล้วมากกว่าพันปี
และจะยังคงอยู่ต่อไปอีกตราบนานเท่านาน

Text By รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล

27 พ.ค. 2565  ผู้จัดการออนไลน์