ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อเสนอผู้ว่าฯ กทม. แก้ระบบส่งต่อผู้ป่วย  (อ่าน 238 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“ระบบส่งต่อผู้ป่วยยังต้องปรับปรุง : ข้อเสนอต่อผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร” ทำไม? เราต้องให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุติยภูมิและแพทย์ที่ควรทำหน้าที่รักษาคนป่วยมานั่งทำงานธุรการคัดกรอง จัดส่งตัวผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยโรคร้ายที่โรงพยาบาลคุณไม่มีศักยภาพในการรักษา

“แพทย์คนหนึ่งกว่าจะจบมายากลำบากมาก ทำไมให้เขามานั่งทำหน้าที่คัดกรองใบนัดของคนป่วย ทางโรงพยาบาลน่าจะสามารถจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือพยาบาล (หากจำเป็น) มาทำงานนี้ได้ไม่ใช่หรือ”

ฉันเพิ่งเริ่มใช้ “สิทธิบัตรทอง” เมื่อต้นปี 2564 เพราะเงินเก็บส่วนตัวเริ่มร่อยหรอ ฉันไม่มีสิทธิประกันสังคม เนื่องจากลืมส่งเงินประกันตนเอง ตอนออกจากงาน ช่วงนั้น...พอรู้ว่าป่วยเป็นโรคร้าย ฉันก็ไม่มีจิตใจที่จะคิดเรื่องประกันสังคมหรือเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น

ช่วงแรกฉันสมัครเป็นคนไข้ทดลองของยารักษามะเร็งชื่อ Crizotinib ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี 2557 แต่แพ้ยาที่ทดลองเลยต้องถูกถอดออกจากโครงการทดลอง ช่วงรอยาใหม่ ฉันไม่ค่อยรู้ตัวเพราะโรคลุกลาม โรงพยาบาลเอกชนที่ญาติพยายามส่งตัวฉันไปแอดมิต ก็ไม่รู้จะรักษาฉันอย่างไร

ในระหว่างรอยา เราก็ยังไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาฯด้วย การรอคอยประสบความสำเร็จ พอได้ยาใหม่กินแล้วตอบสนองดี เป็นยาที่อาจารย์แพทย์ขอมาให้เรียกว่าแบบ Compassionate use และเริ่มกลับไปรักษาโรงพยาบาลจุฬาฯแบบเต็มตัวอีกครั้ง

แต่...ฉันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจิปาถะเอง เช่น เจาะเลือด ค่ายาอื่น เช่น ยาแก้ปวดของผู้ป่วยมะเร็ง ช่วงได้ยาใหม่ ฉันเดินไม่ได้เพราะมะเร็งลามไปที่เยื่อหุ้มสมอง ส่วนฉันนั่งรถเข็นรอ ช่วงปี 58 เราใช้เงินส่วนตัวเพื่อจ่ายค่ายาอื่นๆ พอฉันเริ่มมีความจำกลับมาฉันก็จำได้ว่า ฉันมีสวัสดิการ หลังเออร์ลี่รีไทร์

แต่ก็มีปัญหาว่าบริษัทต้นสังกัดเริ่มจนลง ฉันจึงได้เบิกเฉพาะค่าซีทีสแกน ตั้งแต่ปี 2559 และยาสำหรับไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้น แต่ก็หมดสัญญากันแล้ว

การพบแพทย์แต่ละครั้ง ฉันต้องมีผู้ช่วยเหลือสองคน คนหนึ่งขับรถ คนหนึ่งไปเป็นเพื่อนในการเจาะเลือด ซึ่งฉันก็ต้องจ่ายค่าเสียเวลาให้เขา

เพราะฉันมีค่าใช้จ่ายสารพัด ยกเว้นยาหลัก (มูลค่ามากกว่าสิบล้านบาท ได้กินฟรี) ค่ากินอยู่แต่ละวัน เงินเดือนแม่บ้าน (อันสูงตามอัตราจ้างงานที่เป็นธรรม) เพราะฉันช่วยตัวเองไม่ได้ เลยต้องจ้างคนมาอยู่ด้วย และทำอาหาร เพราะยา Alectinib ต้องทานพร้อมยาและอาหารร่วมกัน

แต่...ยานี้มีผลข้างเคียงแต่เล็กน้อยมาก แต่ถ้าถูกแสงแดด ผิวหนังก็จะแพ้เป็นผื่นแดง

เพราะเงินจะหมด ฉันจึงไปเข้าใช้สิทธิบัตรทอง เมื่อต้นปี 2564 ตอนแรก ฉันใช้บริการที่ศูนย์สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านฉัน ซึ่งให้ความสะดวกมาก เวลาฉันอ่านทวนว่ามีข้อมูลขาดตกบกพร่อง เช่น เบอร์โทรศัพท์ผิด ฉันสามารถขอแก้ไขได้ทันทีและคนป่วยที่ศูนย์ฯก็ไม่หนาแน่น

ถึงเดือนกันยายน (สิ้นปีงบประมาณ 64) ฉันต้องทำบัตรใหม่ ทีแรกทางศูนย์ฯก็ยังอำนวยความสะดวกดี แต่พอเดือนตุลาคม (เริ่มปีงบประมาณใหม่ 2565) ฉันทำเรื่องขอใบส่งตัวเพื่อทำการรักษาโรคมะเร็ง โรคไวรัสตับอักเสบบี แผนกผิวหนัง แผนกจิตเวช ล้วนมีใบนัดจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์...

คราวนี้โรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย ไม่ยอมรับใบส่งตัวที่ส่งโดยศูนย์ฯ เราจึงติดต่อ สปสช. และโรงพยาบาลจุฬาฯได้ใบ “Cancer Anywhere” ใช้ไปพลางก่อน

เดือนพฤศจิกายน ฉันให้หลานไปทำใบส่งตัวที่โรงพยาบาล...ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิของฉัน (อยู่ในสังกัดกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน) โดยนำบัตรนัดทั้งหมดที่โรงพยาบาลจุฬาฯให้มาไปด้วย เธอไปนั่งรอแพทย์นานมาก เพราะแพทย์ที่ควรทำหน้าที่รักษาโรค แต่กลับมานั่งทำเอกสารให้คนไข้ทีละคน

หลังจากรอไปสามชั่วโมง จึงมีคนมาพาหลานของฉันไปทำเอกสารใบส่งตัวกับหมอประกันสังคมแทน ตอนนั้นหลานดีใจและพอยื่นใบนัดของโรงพยาบาลจุฬาฯให้ หมอประกันสังคมก็ถามถึงสาเหตุที่ต้องไปหาหมอผิวหนังและจิตเวช แต่ไม่ได้เอกสารในทันทีเพราะหมอที่คัดกรองบอกว่า ต้องรอ “หมอใหญ่” อนุมัติ

...ต้องไปรับเจ็ดวันให้หลัง พอครบเจ็ดวันหลานก็กลับไปรับเอกสารจากโรงพยาบาลทุติยภูมิแห่งนั้น ถึงรู้ภายหลังว่า คุณหมอประกันสังคมไม่เข้าใจว่าทำไม “ผู้ป่วยมะเร็ง” อย่างฉันต้องไปหาหมอผิวหนังและหมอจิตเวช (เนื่องจากผลข้างเคียงจากอาการป่วย) จึงไม่ได้ออกใบนัดให้ ออกแต่ใบนัดโรคมะเร็งกับไวรัสตับอักเสบบี เท่านั้น

“โรงพยาบาลทุติยภูมิ” นี้ ไม่มีรถเมล์สาธารณะ มีแต่รถกระป๋องที่นานๆจะผ่านมาสักคัน คนจะไปโรงพยาบาลนี้ต้องไปด้วยรถแท็กซี่กับรถส่วนตัว แถมโรงพยาบาลมีที่จอดรถนิดเดียว และต้องไปจอดรถที่จอดรถเอกชน ซึ่งต้องเสียค่าบริการ พอฉันโทร.ไปหาเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่าเอกสารขาด จะขอเติมใบนัดหมอผิวหนังกับหมอจิตเวชจะได้ไหม เจ้าหน้าที่กลับตำหนิฉันว่า ทำไมไม่อ่านให้ครบถ้วน

...ถ้าอ่านครบถ้วน หากมีแก้ไขต้องรออีกเจ็ดวัน ฉันจึงตัดสินใจไม่ตามเรื่องใบนัดหมอผิวหนัง แต่ยังต้องขอใบนัดพบหมอจิตเวช เพราะต้องการยาช่วยให้นอนหลับและรักษาโรคซึมเศร้า

คราวนี้หลานต้องไปนั่งรอหน้าห้องหมอจิตเวช 3 ชั่วโมง แทนหมอสิทธิบัตรทอง เพื่อให้หมอเขียนใบนัดเพิ่มโรคจิตเวชให้ฉัน ยิ่งกว่านั้น “ใบส่งตัว” ทั้งหมดที่ฉันได้จาก “โรงพยาบาลทุติยภูมิ” นี้มีอายุเพียง 3 เดือนเท่านั้น

ฉันคิดว่าแพทย์โรงพยาบาลใดๆก็ตาม ไม่ควรมาทำเรื่องงานธุรการแบบนี้ เขาควรเอาเวลาอันมีค่าไปรักษาคน พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกฝนแล้วควรทราบดีอยู่แล้วว่า แพทย์ที่รักษาคนไข้จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลหลักอื่นๆ แต่ละคนย่อมต้องการนัดคนไข้ตามความจำเป็นเท่านั้น

ฉันคิดไม่ออกว่าใครจะคิด “คอร์รัปชัน” อะไรจากใบนัดคนไข้ได้ เงินก็ไม่ใช่เงินของโรงพยาบาลทุติยภูมินั้น แต่คือภาษีอากรที่เราทุกคนเสียให้รัฐต่างหาก

สรุป...ฉันขอเสนอแนะให้กระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนจากระบบการส่งตัวในกลุ่ม 4 จาก “โรงพยาบาลทุติยภูมิ” ไปเป็นกลุ่ม 5 คือ “โรงพยาบาลปฐมภูมิ” สามารถส่งตัวไปรักษา ณ โรงพยาบาลที่มีความสามารถในการรักษาโรคที่ซับซ้อนได้เอง เช่น โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย

การนำแพทย์ของโรงพยาบาลมาทำงานธุรการไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง แพทย์ได้รับการฝึกฝนให้วินิจฉัยโรคและรักษาคนไข้ ไม่ใช่มานั่งทำเอกสาร

“ผู้ป่วยมะเร็งส่วนมากอาการก็ไม่ดีอยู่แล้ว ยังต้องไปนั่งเสี่ยงติดเชื้อโรคต่างๆรวมทั้งโควิด ในสภาวการณ์แบบนี้ ไม่น่าจะให้ครั้งละสามเดือน เพราะขั้นตอนยุ่งยากและต้องรอ...ไม่ใช่ทำเสร็จอ่านทวนแล้วได้ใบเลย ทำไมต้องรอหมอใหญ่...เข้าใจว่า เขาหมายถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลเซ็นเอกสารอนุมัติอีก”

เสียงสะท้อนผ่านจดหมายจาก “ผู้ป่วย” รายนี้ ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ผอ.โรงพยาบาลควรมีหน้าที่บริหาร ให้คำปรึกษาแพทย์เรื่องการรักษา อยากให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนเรื่องนี้และอยากให้ผู้สมัครผู้ว่าฯกรุงเทพฯทุกคนเสนอนโยบายสาธารณสุข...ลดขั้นตอน ค่าใช้จ่าย เวลาของผู้ป่วยและญาติ.

ไทยรัฐฉบับพิมพ์
20 เม.ย. 2565