ผู้เขียน หัวข้อ: สธ. แจงจำกัดความเร็วรถพยาบาล ยกสถิติ 4 ปี เกิดอุบัติเหตุ 110 ครั้ง  (อ่าน 234 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
รองปลัด สธ. เผยสถิติปี 2559 - 2562 รถฉุกเฉิน เกิดอุบัติเหตุ 110 ครั้ง มีคนเจ็บ-ตาย 318 ราย พบมาจากการขับรถเร็ว ฝ่าไฟแดง ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย พร้อมแจงหลักส่งต่อผู้ป่วย ต้องไม่อยู่ในภาวะวิกฤติ...

จากกรณีมีรายงานว่า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้บริหารระดับกระทรวงได้ กำชับให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล วางมาตรการความปลอดภัยของผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ขณะนำส่งผู้ป่วย โดยมอบนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ทำประกันภัยรถพยาบาล ชั้น 1 ภาคสมัครใจ และเพิ่มวงเงินประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารหากเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร เป็นคนละ 2 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังจำกัดความเร็วของรถพยาบาล ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) ในรถต้องมีผู้โดยสารรวมพนักงานขับทั้งหมดไม่เกิน 7 คน ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย รถพยาบาลทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์ GPS และกล้องวงจรปิดบันทึกภาพ ห้ามขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงทุกกรณีด้วย

วันที่ 19 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลรถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ขณะปฏิบัติการนำส่งผู้ป่วยที่เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง พบว่าส่วนใหญ่สาเหตุมาจากการขับรถเร็ว ฝ่าสัญญาณไฟจราจร ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

โดยข้อมูลในปี 2559 - 2562 เกิดอุบัติเหตุ 110 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 318 ราย เป็นพยาบาลและบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 129 ราย เสียชีวิต 4 ราย พิการ 2 ราย ผู้ป่วยบาดเจ็บ 58 ราย เสียชีวิต 3 ราย คู่กรณีเสียชีวิต 14 ราย ส่วนใหญ่เกิดขณะส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลถึงร้อยละ 80

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลและความคุ้มครองอุบัติเหตุทางถนน ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์

นายแพทย์ประพนธ์ เผยต่อว่า ต้องขอทำความเข้าใจว่า หลักการส่งต่อระหว่างสถานพยาบาลนั้น คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย และมาตรฐานในการรักษาพยาบาลเป็นสำคัญ แพทย์เจ้าของไข้จะทำการประเมินแล้วว่า ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพคงที่ ไม่อยู่ในภาวะวิกฤติ คาดว่าจะไม่ทรุดลงรุนแรงขณะนำส่งถึงโรงพยาบาลปลายทาง และการเปิดไซเรนหรือไฟฉุกเฉินเป็นการแจ้งให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทราบว่าภายในรถมีผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม รถพยาบาลยังคงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก และใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด หากใช้ความเร็วสูง แรงปะทะขณะเกิดอุบัติเหตุจะรุนแรง ทำให้เกิดโอกาสการเสียชีวิตได้มาก

สำหรับการให้หยุดรถพยาบาลในจุดที่ปลอดภัยเพื่อทำหัตถการนั้น เนื่องจากการทำหัตถการขณะรถวิ่ง พยาบาลและเจ้าหน้าที่จะต้องปลดเข็มขัดนิรภัยมาทำหัตถการ ทำให้บุคลากรของเราอยู่ในความเสี่ยง จึงมีนโยบายให้รถพยาบาลทุกที่นั่งติดตั้งเข็มขัดนิรภัย.

ไทยรัฐออนไลน์
19 เม.ย. 2562