ผู้เขียน หัวข้อ: เปิด 3 มุมมองสะท้อนปัญหา ขยะพลาสติกท่วมโลก  (อ่าน 286 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
พลาสติกก่อกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 2511 แต่ถูกนำมาใช้กับอาหารครั้งแรกในราวปี พ.ศ.2523 นี่เอง จากนั้นเพียงแค่ 42 ปี พลาสติกที่เพิ่มความสะดวกให้กับการใช้ชีวิต โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ single use plastic กลับสร้างผลกระทบที่รุนแรงกับโลกมากมาย

พลาสติกใส่อาหารทุกมื้อที่ถึงมือเรา 5 นาทีแล้วทิ้ง ใช้เวลาย่อยสลายมากกว่า 450 ปี จึงสะสม หมักหมมสร้างปัญหาทั้งต่อสุขภาพและระบบนิเวศที่พักอาศัย

มีข้อมูลจากการคำนวณพบว่า มนุษย์โลกทิ้งขยะพลาสติกเฉลี่ย 1.8 ชิ้นต่อวันต่อคน ด้วยจำนวนประชากรโลกที่ 7,000 ล้านคนโดยประมาณ หมายความว่าพวกเราร่วมกันทิ้งขยะพลาสติกประมาณวันละ 10,000 ล้านชิ้น

และเมื่อสถานการณ์โควิดและความเคร่งครัดในสุขอนามัยขั้นสูง ทำให้การใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างไม่ต้องอาศัยจินตนาการ “ทีมเศรษฐกิจ” ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนปัญหา ผ่าน 3 มุมมองของบุคคลที่พยายามลดการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทางและหันเข้าหาวัสดุทางเลือก บุคคลที่พยายามนำพาชุมชนรีไซเคิลขยะสร้างรายได้ผ่านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และบุคคลในฐานะผู้ผลิตพลาสติก ที่พยายามทำธุรกิจภายใต้ความรับผิดชอบ ผ่านนวัตกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ภายใต้แบรนด์ Gracz

ณ ขณะนี้ 1 ใน 5 ของมหาสมุทรกลายเป็นพลาสติกไปเเล้ว โดยปัจจุบันองค์การสหประชาชาติ หรือ UN พบว่ามีปริมาณขยะพลาสติกสะสมอยู่ในทะเลทั้งหมดรวมกันไม่ต่ำกว่า 150,000,000 ตัน หากเรายังคงใช้พลาสติกกันแบบนี้ต่อไป ภายในปี 2593 เราจะมีขยะในทะเลน้ำหนักมากกว่าปลาทั้งหมดในทะเล หรือขยะในทะเลจะมีมากกว่าพื้นดินที่เราอยู่

หันมามองที่ประเทศไทย เราติด 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งพลาสติกสูงสุดของโลกมาตลอด ยกตัวอย่างปี 2560 ติดอยู่ในอันดับ 5 ส่วนปี 2562 ขยับลงมาอยู่อันดับ 7 และปี 2563 กระเถิบขึ้นไปอยู่อันดับ 6 โดยขยะส่วนใหญ่ในประเทศจะถูกขนมารวมกันเป็นภูเขาขยะ ที่ยังไม่มีวิธีการกำจัดที่เหมาะสม ขยะพลาสติกจะถูกขนไปรวมกันในกองภูเขาขยะ ไหลลงแม่น้ำลำคลองและลงสู่ทะเล ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม เราจึงได้เห็นภาพปรากฏมากมาย เมื่อปลาวาฬที่อินโดตายพบแก้วพลาสติกในท้อง 115 ใบ หลอดพลาสติกอยู่ในจมูกเต่าที่น่าสงสาร

พลาสติกเหล่านี้ยังวนกลับมาหาพวกเราด้วย “ไมโครพลาสติก” ที่เกิดจากการแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ ของพลาสติกจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเจือปนในน้ำทะเล สัตว์ต่างๆในทะเลรับเอาไมโครพลาสติกเข้าไปในตัว เมื่อมนุษย์กินสัตว์ทะเลหรือสัตว์ที่กินเศษอาหารจากสัตว์ทะเล ก็จะรับไมโครพลาสติกเข้ามาในร่างกาย มีรายงานวิจัยพบว่า อุจจาระของมนุษย์ตอนนี้ก็มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ และเมื่อวันเวลาผ่านไปการแตกตัวมากขึ้นจนไปถึงนาโนพลาสติก ที่แพลงก์ตอนกินเข้าไป สุดท้ายสามารถเข้าไปเจือปนกับอาหารทุกประเภทของคน รายงานวิจัยล่าสุดพบนาโนพลาสติกในเลือดมนุษย์ และสามารถเข้าสู่ร่างกายได้แม้เพียงการหายใจแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ปอดได้ เป็นสารพิษส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็ง

น่าเสียดายที่แม้สังคมโลกจะตื่นตัวกับคอนเซปต์รีไซเคิลพลาสติกมาหลายสิบปีแล้ว แต่กลับสามารถรีไซเคิลพลาสติกได้เพียง 9% ส่วนความพยายามทำ upcycling นำเอาพลาสติกเหลือใช้มาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็ยังทำได้เพียง 0.01% ส่วนที่เหลือยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข การลดการใช้จึงอาจจะเป็นวิธีการที่ดีกว่ามาแก้กันที่ปลายเหตุ

ส่วนการพัฒนาพลาสติกชีวภาพ (bioplastic) เพื่อเป็นทางเลือกในการลดระยะเวลาย่อยสลายลงให้น้อยกว่าพลาสติกทั่วไปนั้น ในความเป็นจริงยังไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเหมือนการฝังเศษต้นไม้ใบหญ้าลงดิน แต่เป็นการ “ย่อยสลายได้ภายใต้สภาวะควบคุม” กล่าวคือต้องกำจัดขยะในโรงงานที่รับจัดการขยะเฉพาะทางสำหรับจัดการไบโอพลาสติกเท่านั้น ต้องมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 60-80 องศาขึ้นไป หากฝังกลบจะใช้เวลาไม่แตกต่างจาก ขยะพลาสติกทั่วไป ซึ่งกระบวนการกำจัดขยะเช่นนี้ในไทยยังไม่มี การดำเนินการในทางสาธารณะ ดังนั้นในยุโรปหลายประเทศจึงได้สั่งห้ามใช้สินค้าประเภทนี้แล้ว

อีกชนิดหนึ่งที่มักพบเห็นกันคือถุงพลาสติก oxo (Oxo-degradable plastic) หรือถุงพลาสติกย่อยสลายได้ที่เราเคยได้รับจากห้างสรรพสินค้าแล้วเก็บไว้ในบ้านและมันกลายเป็นฝุ่นผง แท้จริงแล้วไม่ใช่การย่อยสลาย แต่เป็นการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกที่อันตรายมากในการหายใจเข้าสู่ปอด

“ผมมองว่าทางออกของโลกที่ดีที่สุดคือจัดการปัญหาที่ต้นทางด้วยการลดการใช้พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกสำหรับอาหารที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งหรือ single use plastic ”

แม้ขณะนี้เราจะได้เห็นนโยบายเชิงรุกจากฝั่งรัฐบาลที่กำลังพยายามแก้ปัญหาขยะพลาสติก เช่น ลดการใช้โฟม ลดการใช้พลาสติก และห้ามใช้พลาสติกย่อยสลาย oxo แต่ยังไม่สามารถทำได้มาก เนื่องด้วยภาวะโควิดและการขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เข้าใจว่าหลังโควิดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวฯจะร่วมมือกันผลักดันนโยบายได้จริงจังมากขึ้น เริ่มต้นจากการเลิกใช้โฟมและพลาสติกกับอาหารก่อน แล้วค่อยขยับขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ตามมาอีก

อย่างไรก็ตาม พลาสติกไม่ใช่ไม่ดีทั้งหมด หากเราเลือกการใช้ให้เหมาะกับคุณสมบัติ เช่น สามารถใช้ได้คงนาน ใช้ซ้ำได้ น้ำหนักเบา เช่น เฟอร์นิเจอร์ การก่อสร้าง การขนส่ง แต่ต้องเลิกใช้พลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียวทิ้ง (single use) โดยเฉพาะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับใช้ครั้งเดียว โดยเปลี่ยนมาเป็นวัสดุ จากธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น ใบตอง หรือบรรจุภัณฑ์จากเยื่อพืชธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย ไผ่ ฟางข้าว ผักตบชวา ที่ย่อยสลายได้ 100% ไม่เคลือบพลาสติก มาทดแทนการใส่อาหาร โดยยังคงความสะดวกตามวิถีชีวิตปัจจุบัน เพื่อสุขภาพของเราและของโลกที่ดีขึ้น

ชญาน์ จันทวสุ
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี

ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาในระดับโลก สำหรับในไทย ภาครัฐพร้อมด้วยผู้ประกอบการภาคเอกชน ได้ร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green:BCG Model) ที่รัฐบาลกำหนดเป็นโมเดลเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นวาระแห่งชาติ

“เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถปรับลดอันดับประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลสูงสุดของโลกจากอันดับที่ 6 เป็นอันดับที่ 10 ได้สำเร็จ โดยสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้ 25,284 ล้านใบ หรือ 228,820 ตัน”

ขณะที่ล่าสุด หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้เกิดความต้องการในการใช้บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จีซีในฐานะผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ของประเทศ เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากการจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Singleuse plastics) ที่ก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกจำนวนมากที่สุด

“เราจึงได้ปรับกลยุทธ์องค์กร สร้างทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ทนทาน ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทาง ผลักดันการจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างถูกวิธี และตั้งโรงงานรีไซเคิลพลาสติกในประเทศไทย”

โดยแนวทางแก้ไขปัญหาขยะที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการลดและคัดแยกขยะให้ถูกประเภทตั้งแต่ต้นทาง จีซีจึงมุ่งเน้นการให้ความรู้ด้านการคัดแยกประเภทของพลาสติกใช้แล้วผ่านโครงการต่างๆ และได้ริเริ่มโครงการ “YOU เทิร์น แพลตฟอร์ม” หรือระบบการจัดการพลาสติกใช้แล้วครบวงจรขึ้น พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ทำให้พลาสติกใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

“จีซีได้สร้างโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ชูจุดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยีล้ำหน้าในการรีไซเคิลพลาสติก เพื่อเป็นปลายทางของ YOU เทิร์น โดยเชื่อมโยงจากศูนย์คัดแยกขยะเพื่อส่งต่อขยะพลาสติกให้กับโรงงาน ซึ่งโรงงานดังกล่าวสามารถผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลออกสู่ตลาดได้มากถึง 45,000 ตันต่อปี”

ในส่วนของพลาสติกทางเลือก จีซียังได้ลงทุนในธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bio-based plastics) ที่สามารถนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ครอบคลุมการใช้งานที่หลากหลาย ทดแทนการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งแบบเดิม (Petro-based plastics) โดยปีที่ผ่านมา ได้ลงทุนโรงงานพลาสติกชีวภาพ Polylactic Acid (PLA) แห่งที่ 2 ในประเทศไทย โดย PLA สามารถย่อยสลายได้เอง ตามธรรมชาติ ลดระยะเวลาการย่อยสลายและตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกประเภทที่รีไซเคิลได้ยากและใช้ครั้งเดียวทิ้งได้แล้ว ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรของไทยอีกด้วย

“แผนการจัดการขยะพลาสติกดังกล่าวจะสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมสร้างความเชื่อมโยง หรือสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้แข็งแรง และที่สำคัญที่สุด คือการสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนต่อการจัดการขยะ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญ”


ศิรินทร์ชญา ปรีชาภัฏสกุล
ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน The Incubation Network

ไทยเป็นประเทศที่ก่อให้เกิดมลพิษจากขยะพลาสติกในมหาสมุทรมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมีการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติกว่า 300,000 ตันต่อปี โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากความนิยมในการสั่งอาหารแบบดีลิเวอรี นั่นเป็นเหตุให้ The Incubation Network ซึ่งเป็นองค์กรร่วมทุนระหว่างสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา ที่เน้นสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัดสินใจเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยราว 1 ปีก่อนหน้าตามหลังอินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีปัญหาเรื่องการจัดการกับขยะพลาสติกเช่นกัน

แม้จะดูเหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ The Incubation Network มองว่าการปรับปรุงและเพิ่มประ สิทธิภาพกระบวนการกำจัดขยะ รวมถึงกระบวนการรีไซ เคิล นอกจากช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ขยะพลาสติกตกหล่นจากระบบรีไซเคิลในไทย ยังเป็นโอกาสสร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจราวปีละ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หากบุคคล ชุมชน คนเก็บขยะ สตาร์ตอัพ หรือแม้กระทั่งภาครัฐและเอกชน สามารถพัฒนานวัต กรรมแล้วนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลสร้างรายได้กลับคืนมา

โดยปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายได้คิดค้นและพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาขยะพลาสติกหลากหลายแต่ขาดการสนับสนุนเพื่อต่อยอดนวัตกรรมให้สามารถนำมาใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์

“มองว่าปัญหาหลักของประเทศไทยอยู่ที่การแยกขยะ ซึ่งแม้จะมีการรณรงค์กันมาเนิ่นนาน แต่ยังไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรมในวงกว้าง การแยกขยะจะทำให้การนำกลับมารีไซเคิลทำได้ง่ายขึ้นมาก เริ่มต้นจากการแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ซึ่งในประเทศไทยแทบไม่มี เมื่อขยะปนกัน ขยะเปียก เศษอาหาร จะมีกลิ่นเน่าเสีย ปนเปื้อน ทำให้กระบวนการแยกทำได้ยาก พลาสติกติดกลิ่นปฏิกูล เครื่องแยกขยะมีโอกาสพังได้”

กุญแจสำคัญอยู่ที่การแยกขยะเปียก–แห้ง กรณีปนเปื้อนเศษ อาหารควรทำความสะอาดมาในระดับหนึ่งก่อน ปกติในกระบวนการกำจัดขยะบ้านเรา รถขยะจะแยกขยะออกมาได้ในระดับหนึ่ง หากแต่ละบ้านแยกมาให้จะยิ่งสะดวก จากนั้นเมื่อถึงบ่อขยะ ที่น่าจะเคยเห็นภาพกัน กองขยะสูงขนาดตึก 10 ชั้น ซึ่งขั้นตอนนี้ก็มีความพยายามในการแยกขยะพลาสติกอีกครั้งหนึ่ง แต่ที่สุดทำได้ราว 30–40% ของขยะทั้งหมดเท่านั้น ทำให้ไทยติดอยู่ใน 10 อันดับประเทศปล่อยขยะพลาสติกลงมหาสมุทรสูงที่สุดในโลกเรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม ตลอด 1 ปีที่เข้ามาในไทย The Incubation Network ได้ริเริ่มโครงการค้นหาไอเดียใหม่ๆ ซึ่งมีแนวคิดมากๆที่น่าจะสามารถต่อยอดนำไปสู่การปฏิบัติจริง เช่น การคิดค้นหลอดกระดาษที่มีสารเคลือบออร์แกนิก ซึ่งจะทำให้รสชาติเครื่องดื่มไม่เปลี่ยน การคิดค้นตู้ขยะที่ใช้เทคโนโลยีคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการแยกขยะแบบอัตโนมัติ รวมทั้งการสร้างโมเดลระดับชุมชน โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการรีไซเคิลขยะพลาสติก ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนด้วย

ไทยรัฐฉบับพิมพ์
11 เม.ย. 2565