ผู้เขียน หัวข้อ: คุณคิดอย่างไร? กับแถลงการณ์ของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ  (อ่าน 2629 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด

แถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2555
เปิดตัว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
8 มกราคม 2555

นับเป็นเวลา 10 กว่าปีมาแล้ว (ตั้งแต่กลางปี 2543) ที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งจำนวนกว่า 9 หมื่นคน ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายประชาชน ”ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องได้ 5 หมื่นชื่อ แต่เนื่องจากประชาชนเครือข่ายต่างๆพบว่าการได้มาซึ่งหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนสมควรได้รับ เช่นเดียวกันเป็นหน้าที่ของรัฐพึงดำเนินการโดยเร่งด่วน  จึงร่วมแรงร่วมใจ ลงทุนลงแรงในการระดมรายชื่อ ซึ่งส่งผลให้มีการกำหนดในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองจนทำให้ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ด้วยการชูนโยบายสนับสนุนให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในชื่อ “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” จากนั้นด้วยแรงประสานภาคีต่างๆ ทำให้รัฐบาล ขบวนประชาชน และนักวิชาการ ผนึกกำลังกันผลักดันให้สามารถออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เมื่อปลายปี 2545 ปฏิบัติการของกฎหมายฉบับนี้คือก่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาของประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และเป็นธรรมกับทุกคน

ประวัติศาสตร์ 10 ปีที่ผ่านมามีการยกระดับจากความใฝ่ฝันของประชาชน เป็นกฎหมายของประเทศ ยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาททุกครั้งที่ไปรับบริการ พัฒนาระบบการบริหารจัดการรักษาสุขภาพแบบมีมาตรฐาน บนพื้นฐานการคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างเป็นจริง เป็นธรรม สำหรับทุกคน ไม่เปิดโอกาสให้การรักษาพยาบาลเป็นธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรเกินควร หน่วยงานของรัฐภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ตัองปรับตัวเองให้เป็นนักบริหารระบบสุขภาพอย่างมีคุณภาพ คุ้มค่า คุ้มทุน ทั้งการรักษา การฟื้นฟูเยียวยา และการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ที่ผ่านมากว่าทศวรรษก่อให้เกิดระบบการจ่ายเงินค่ารักษาที่พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ อย่างมืออาชีพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบประกันสุขภาพระบบแรกและระบบเดียวที่ผู้แทนประชาชนส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการบริหารและการควบคุมคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่กำหนดว่ารัฐต้องดำเนินการหลอมรวมระบบหลักประกันสุขภาพทั้งประเทศให้เป็นระบบเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน และคุ้มครองสิทธิการรักษาเท่าเทียมกัน ยังไม่บรรลุผล ปัจจุบันยังมีระบบการรักษาพยาบาลถึง 3 ระบบ ของข้าราชการ ผู้ประกันตนในประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลปัจจุบันซึ่งมาจากพรรคเดียวกันที่สนับสนุนและสร้างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นมา ยังไม่ได้ปรากฏวิสัยทัศน์ไกลไปกว่าจะ “เก็บเงิน 30 บาทอีกครั้ง แต่การเก็บเงินที่จุดบริการไม่ทำให้เกิดความเท่าเทียม เสมอภาคของคนที่ยังเหลื่อมล้ำกันในเรื่องรายได้ ความยากลำบากในการเดินทางเข้าถึงการรักษา การปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนร่วมมือกับประกันสังคมสร้างภาพการรักษาที่แตกต่าง รวมหัวกันขึ้นค่ารักษาอย่างมีเลศนัย การออกมาประกาศเรื่องการรักษาของผู้ประกันตนรายวัน โดยไม่รู้ว่าทำไมไม่ทำมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วปล่อยให้ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับการรักษาที่ไม่มีการควบคุมคุณภาพมาตั้งนาน การไม่ยอมหลอมรวมระบบประกันสุขภาพทั้งสามภายใต้ระบบการรบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและไม่เปิดโอกาสให้มีการแสวงผลประโยชน์เกินควรของผู้ให้บริการ ตลอดจนการไม่ยับยั้ง ไม่ชลอการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการรักษาของคนต่างชาติทั้งๆที่คนในประเทศยังต้องรอคิวรับการรักษาเหล่านี้คือ ภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพ การยิ่งขาดแคลนแพทย์ พยาบาลมากขึ้น การสร้างภาพค่ารักษาที่สูงเกินจริง การสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างบริการสำหรับคนจน คนรวย ที่อาจทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกทิศถูกทาง หรือเท่าที่ควร เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการบางส่วนสามารถแสวงผลประโยชน์เกินควรบนความลำบากในการเข้าถึงสิทธิอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยของประชาชนส่วนใหญ่

เครือข่ายประชาชนที่ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเฝ้าติดตาม และให้เวลากับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาล รัฐมนตรีสาธารณสุขมาโดยตลอด ตระหนักถึงภาวะคุกคามนี้ จึงต้องออกมาส่งเสียงและแสดงตัวตนว่าเราเป็น “กลุ่มคนที่รักหลักประกันสุขภาพ” พร้อมจะปกป้องให้ระบบนี้เป็นระบบแห่งชาติอย่างแท้จริง ต้องการจับตามองการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่สวนทางกับพัฒนาการก้าวหน้าที่ผ่านมา การชูนโยบายกลับมาเก็บ 30 บาทอีกครั้งทุกครั้งที่รับบริการเพียงเพื่อลบล้าง พัฒนาการที่เกิดขึ้นในระหว่างรัฐบาลชุดอื่นเพื่อ รีแบรนด์ อีกครั้งเป็นการคิดที่ล้าหลัง และไม่รับผิดชอบต่อหลักการที่ถูกต้อง 

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1.   จับตาการดำเนินงานของรัฐบาล รัฐมนตรีสาธารณสุข และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และกฎหมายที่ประชาชนร่วมสร้างมาแต่ต้น
2.   การเปิดโปงความไม่โปร่งใสของการดำเนินงานของระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งการบริหารจัดการส่วนกลาง และการดำเนินการในระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล และสถานพยาบาล
3.   การนำเสนอข้อเท็จจริงของการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบการรักษาของบัตรทองมีมาตรฐานและคุ้มค่า มากกว่าระบบของข้าราชการที่ผลาญเงินภาษีอย่างมหาศาล และการสร้างมายาภาพของประกันสังคม

วันนี้ เราซึ่งมาจากทุกจังหวัดของประเทศไทย เป็นตัวแทนของประชาชนที่ร่วมในปฏิบัติการของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงขอประกาศจัดตั้ง “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” เพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น
แถลงมา ณ วันที่ 8 มกราคม 2555

ผู้ประสานงาน    
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา  โทร 081 7165927
ณัฐกานต์ กิจประสงค์ โทร. 084 7088899

โฆษกกลุ่ม
สุภัทรา นาคะผิว โทร. 081 614 8487
กชนุช แสงแถลง โทร. 089 764 9153
บารมี   ชัยรัตน์ โทร. 081 685 9458

คณะทำงาน
ชโลม   เกตุจินดา      
สวัสดิ์   คำฟู
ประคำ ศรีสมชัย
รุ่งเรือง   กัลย์วงศ์
จรรยา แสนสุภา
..........................................................................
วันนี้ เราทำเพื่อประเทศไทยหรือยัง
โดย ดร. ยุพดี ศิริสุข

สิทธิประโยชน์ประกันสังคมดัอยกว่า ต้องร่วมจ่าย
ผู้ประกันตน ประชาชนกลุ่มนายจ้าง เรียกร้องระบบประกันสุขภาพที่เท่าเทียม ไม่ต้องร่วมจ่ายด้านสุขภาพ เอาเงินที่จ่ายไปใช้กับสิทธิชราภาพดีกว่า
ผลลัพธ์ประเด็นที่หนึ่งเข้าทางผู้ให้บริการ ข้อเรียกร้องของผู้ประกันตนไม่มีใครเหลียวแล ต้องดิ้นรนต่อไป ปรากฎการณ์คือ
1. สปส. เพิ่มสิทธิประโยชน์รายวัน
2. โรงพยาบาลได้เงินเพิ่ม DRG ละ 15,000บาท
3. กองทุนถูกเอาเงินไปใช้เพิ่ม ก็เงินผู้ประกันตน และนายจ้างนั่นแหละ
4. ผู้นำผู้ประกันบางส่วนหลงกล สปส. นึกว่าจะได้บริการที่ดีขึ้น ลืมไปเลยว่า เงินที่รพ. ได้รับเพิ่มไม่ได้แปรตรงกับคุณภาพบริการที่ดีขึ้น หากกระบวนการเฝ้าระวังไม่แข็งแรง ดูตัวอย่างจากระบบราชการ สุดท้าย รพ. และบริษัทยาข้ามชาติได้ประโยชน์จากเม็ดเงินนี้ไปเต็มๆ ดูจากกกลุ่มที่มาเคลื่อนไหวก็คือกลุ่มผู้ให้บริการหลักในระบบประกันสังคมพ่วงท้ายด้วยกลุ่มบริษัทยาข้ามชาติ
4. ผลกระทบชิ่งมาที่ระบบหลักประกันบริการห่วย บริหารโดย สปสช. ห่วย ปรากฎการณ์เช่น
4.1 เงินต่อ DRG แค่ 8-9 พันบาท ทำให้ รพ. ขาดทุน แล้วบริการจะดีได้อย่างไร
4.2 ยาที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นยาชื่อสามัญที่ผลิตโดยGPO บริษัทไทยบริษัทอินเดีย บริษัทจีนไม่ได้ GMP ไม่ทำ BE แสดงว่ายาไม่มีคุณภาพ โปรดจงหันมาใช้ยานอกกันเถอะ (ข้อมูลกรมวิทย์ฯ บอกว่าสัดส่วนมาตรฐานยาในประเทศที่ตกมาตรฐานประมาณ 5%ไม่แตกต่างจากสากล ยานอกก็มีตกมาตรฐานเหมือนกัน แต่เพราะยาแพงคนไม่ค่อยส่งตรวจมากนัก)

นี่เป็นเกมส์แห่งผลประโยชน์ทั้งสิ้น ดังนั้นโปรดใช้วิจารณญานในการรับฟัง

หากภาคประชาชนยังมีหลักการว่าเราร่วมจ่าย เราควรได้บริการดีกว่า ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่เข้าใจได้ในเรื่องทั่วๆไป ไม่ใช่สำหรับเรื่องบริการสุขภาพเพราะยังไง ไม่ว่าเราจะเป็นกลุ่มที่ร่วมจ่ายหรือไม่ร่วมจ่าย เวลาปวดท้อง เวลาเป็นมะเร็ง เวลาเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ เราต้องได้บริการที่เหมือนกันไม่ใช่หรือ หรือเราคิดว่าพวกไม่ร่วมจ่าย หากต้องรักษาโดยใช้ยาแพง หรือต้องผ่าตัดสมอง ก็ไม่สมควรได้รับบริการดังกล่าว

หลักการสำหรับบริการสุขภาพคือเรื่องของความเท่าเทียมอย่างแท้จริง คนจน คนรวยเมื่อป่วยต้องได้รับการรักษาในมาตรฐานเดียวกัน พวกเราอย่าให้ใครมาสร้างทัศนะความเห็นที่ผิดว่า จ่ายเงินต้องดีกว่าไม่จ่าย

อันที่จริง กลยุทธเพื่อแบ่งแยกประชาชนใช้ได้มาตลอด และเกมส์บริการสุขภาพก็เดินมาตามนี้โดยตลอด ตั้งแต่ระบบรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม คนเหล่านี้เงินเดือนน้อย คนเหล่านี้จ่ายเงินสมทบต้องได้บริการดีกว่า ซึ่งเป็นมายาภาพที่คนเหล่านั้นคิดว่าตัวเองได้ดีกว่า หารู้ไม่ว่า ค่าใช้จ่ายกับข้าราชการส่วนใหญ่ก็คือค่ายาเอาไปให้บริษัทยาข้ามชาติ โดยการสนับสนุนของโรงพยาบาลรัฐ ที่คิดว่าจะได้กำไรมาจุนเจือ รพ. (ที่คิดว่าขาดทุน ทั้งที่เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นทุกวัน) ส่วนต่างกำไรน้อยนิดที่ รพ. ได้รับ เทียบไม่ได้กับกำไรค่ายาที่บริษัทยาข้ามชาติขนกลับไปบริษัทแม่ในต่างประเทศ คนไทยที่รักประเทศชาติโดยเฉพาะคนไทยที่เป็นผู้บริหาร รพ. รัฐ แพทย์ผู้สั่งใช้ยาในรพ. ต่างๆ ลองไตร่ตรองดูอีกที ว่าความจริงเป็นเช่นไร โปรดหลุดออกจากเรื่อง รพ. ตัวเอง มาดูประโยชน์ชาติในภาพรวม แล้วจะรู้ว่า กลุ่มไหนทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ภาคประชาชนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กลุ่ม รพ. เอกชน หรือกลุ่มบริษัทยาข้ามชาติ

คิดออกแล้วมาช่วยกันทำเพื่อประเทศไทยกันเถอะ
...............................................................................................

knife05

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 60
    • ดูรายละเอียด
ใครเป็นใคร ในกลุ่มนี้

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
ที่ปรึกษา เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี / เอดส์ ประเทศไทย

ณัฐกานต์ กิจประสงค์
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สุภัทรา นาคะผิว
ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และ ผอ. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

กชนุช แสงแถลง
ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค

บารมี ชัยรัตน์
ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

ชโลม   เกตุจินดา
เภสัชกรจากสมาคมผู้บริโภคสงขลา

สวัสดิ์   คำฟู
เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ

ประคำ ศรีสมชัย
ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกาฬสินธุ์

รุ่งเรือง   กัลย์วงศ์
ผู้ประสานงานศูนย์หลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดพิจิตร

จรรยา แสนสุภา
ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดมหาสารคาม