หมวดหมู่ทั่วไป > ข่าว รพศ./รพท.

ยันไม่มีพยาบาลทำร้าย! กรณีแม่รักษาโควิด-19 ที่ รพ.ตรัง เผยรอยฟกช้ำเกิดจากการเจาะ

(1/1)

story:
โฆษก ศบค.ตรัง แถลงชี้แจงกรณีครอบครัวร้องแม่วัย 73 ปี เข้ารักษาโควิด-19 ที่ รพ.ตรัง แล้วพบรอยฟกช้ำดำเขียวทั่วร่างกาย เผยเกิดจากการเจาะเลือด และการยึดโยง เนื่องจากผู้ป่วยเพ้อ รบกวนผู้ป่วยเตียงข้างๆ ยันไม่มีพยาบาลทำร้าย

จากกรณีที่ครอบครัวของ นางประคอง ทองหวาน อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 58/4 หมู่ 9 ต.โคกหล่อ อ.เมือง จ.ตรัง ร้องเรียนสื่อมวลชนว่า นางประคอง ได้เข้ารักษาตัวเนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 8-18 ก.พ.65 ที่โรงพยาบาลตรัง แต่พบว่าร่างกายของนางประคอง มีรอยฟกช้ำดำเขียวบริเวณแขน ข้อมือทั้งสองข้าง หลังมือมีรอยเขียวช้ำ รอยเล็บจิกบริเวณใต้รักแร้ และรอยจ้ำเลือดที่ปลายนิ้วมือ รวมทั้งนางประคอง มีอาการหวาดผวา และมีอาการเพ้อ รวมทั้งมีอาการแขนขาอ่อนแรงจนไม่สามารถเดินเหินได้อย่างเคย โดยนางประคอง บอกว่าถูกพยาบาลร่างอ้วนกระทำรุนแรงกับตน ซึ่งต่างไปจากก่อนเข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาลตรังนั้น

ล่าสุด นายตุลกานต์ มักคุ้น โฆษก ศบค.ตรัง กล่าวว่า กรณีนี้ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง ได้เดินทางไปพบปะทำความเข้าใจกับครอบครัวของนางประคอง ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว โดยลักษณะรอยฟกช้ำดำเขียวตามร่างกายของนางประคอง นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเจาะเลือด และส่วนหนึ่งเกิดจากการยึดโยงของพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการเพ้อจากโรคโควิด-19 และไปทำการรบกวนผู้ป่วยเตียงข้างๆ รวมทั้งมีอาการน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงจากโรคเบาหวาน จึงจำเป็นต้องดำเนินการยึดโยง และได้ขออนุญาตครอบครัวนางประคอง แล้ว แต่เนื่องจากมีลูกๆ หลายคน จึงอาจไม่ได้รับทราบข้อมูลทั้งหมด พร้อมยืนยันว่าไม่มีพยาบาลผู้ใดทำร้ายผู้ป่วยอย่างแน่นอน

“จากกรณีนี้ ที่ประชุม ศบค.ตรัง ได้ขอให้ทางโรงพยาบาลตรัง ไปดำเนินการปรับปรุงเรื่องการสื่อสารทำความเข้าใจกับครอบครัวของผู้ป่วยโควิด-19 มากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยสูงอายุ เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริงเป็นระยะๆ ขณะเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อที่ครอบครัวของผู้ป่วยจะได้เกิดความสบายใจ” โฆษก ศบค.ตรัง กล่าวชี้แจง

22 ก.พ. 2565  ผู้จัดการออนไลน์

story:
ครอบครัวชาวเมืองตรังร้องสื่อ แม่เข้ารักษาโควิด-19 ที่โรงพยาบาล แต่กลับพบแผลฟกช้ำทั่วตัว มีรอยเล็บจิก ยืนนั่งไม่ได้ มีอาการหวาดผวา แถมเพ้อตลอดเวลา จนต้องแจ้งความพาตัวกลับมารักษาที่บ้าน เตรียมร้องหน่วยงานตรวจสอบ

ที่บ้านเลขที่ 58/4 หมู่ 9 ต.โคกหล่อ อ.เมือง จ.ตรัง นางนฤทัย ทองหวาน อายุ 50 ปี พร้อมด้วย นายอนันต์วิทย์ ทองหวาน น้องชาย อายุ 47 ปี อาชีพรับราชการ ได้เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชน หลังจากที่ นางประคอง ทองหวาน อายุ 73 ปี เข้ารักษาตัวเนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 8-18 ก.พ.65 ซึ่งเมื่อลูกๆ ติดต่อขอรับตัวนางประคอง ออกจากโรงพยาบาลตรัง พบว่า ร่างกายของนางประคอง มีรอยฟกช้ำดำเขียวบริเวณแขน ข้อมือทั้งสองข้าง หลังมือรอยเขียวช้ำ รอยเล็บจิกบริเวณใต้รักแร้ และรอยจ้ำเลือดที่ปลายนิ้วมือ รวมทั้งนางประคอง มีอาการหวาดผวา และมีอาการเพ้อ

นอกจากนั้น วันแรกที่รับตัวมานางประคอง มีอาการแขนขาอ่อนแรงจนไม่สามารถเดินเหินได้อย่างเคย และเมื่อลูกๆ เข้ามาประคองลำตัว หรือจับบริเวณร่างกายจะไม่ให้จับ และร้องบอกกับลูกๆ ว่าเจ็บทั้งตัว เมื่อลูกสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น นางประคอง ซึ่งยังมีอาการหลงๆ ลืมๆ และยังมีอาการเบลอจากฤทธิ์ยา บอกว่าถูกพยาบาลร่างอ้วนกระทำรุนแรงกับตน มีการสอดท่อเข้าในช่องปาก และใช้ท่อแหย่จมูกจนเลือดออก

นางนฤทัย ทองหวาน บุตรสาวกล่าวว่า ครอบครัวติดโควิด-19 ทั้งหมดจำนวน 9 คน เป็นผู้ใหญ่ 6 คน และเด็กเล็ก 3 คน แต่ละคนแยกรักษาตัวที่โรงพยาบาลตรังรวมแพทย์ และบ้าน ส่วนตนรักษาตัวที่ศูนย์กักตัวชุมชนตำบลโคกหล่อ ขณะที่นางประคอง ผู้เป็นแม่ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตรังเพียงลำพัง โดยแม่เข้ารักษาตัวเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 65 ตอนไปโรงพยาบาลแม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กินอาหารได้ด้วยตัวเอง แต่มีอาการหลงๆ ลืมๆ บ้างตามประสาคนแก่

ต่อมาตนทราบจากเพื่อนบ้านที่รักษาตัวในโรงพยาบาลว่า แม่อาการไม่ดี ลูกๆ รู้สึกกังวลใจ จึงโทร.ไปสอบถามอาการแม่ที่โรงพยาบาลตรัง แต่พยาบาลที่รับโทรศัพท์ไม่ได้ตอบคำถามอะไรให้ตนรู้สึกกระจ่างชัด แถมถามกลับหาตนในทำนองยอกย้อน และไม่พอใจที่พวกตนพยายามโทร.สอบถามอาการแม่ ขณะที่เมื่อน้องชายโทร.ถามได้รับคำตอบ และคำถามกลับมาว่า หากหมอจะทำอย่างนั้นอย่างนี้กับแม่ ญาติจะว่าอย่างไร และร้องหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ทำให้พวกตนไม่สบายใจมาก นอนไม่หลับ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับแม่ ยกเว้นมีได้รับแจ้งว่าแม่อาการปอดติดเชื้อ แต่อาการทั่วไปแม่ปกติทุกอย่าง ช่วยเหลือตัวเองได้

โดยเพื่อนแนะนำให้ไปแจ้งความที่ สภ.เมืองตรัง เพื่อนำตัวแม่กลับมา โดยให้เหตุผลว่าแม่อาการไม่ดีขึ้น และทรุดลงเรื่อยๆ จึงคิดว่าอาจจะเกิดการรักษาผิดวิธี หรือเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน หรืออาจดูแลไม่ทั่วถึง โดยตนไปแจ้งความ และไปรับแม่ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 65 โดยคุณหมอนัดคุยเกี่ยวกับอาการของแม่ เวลา 15.00 น. ของวันนั้น โดยระบุในรายงานว่า แม่โดนมัดมือมัดเท้า ให้ยานอนแม่หลับ การกระทำดังกล่าวทางโรงพยาบาลไม่ได้แจ้งญาติก่อน ติดต่อขอรับแม่มารักษาตัวที่บ้านกับลูกๆ หรือขอย้ายโรงพยาบาลก็ไม่ได้

โดยรายงานบอกว่า มัดมือมัดเท้าของแม่เวลา 4 ทุ่ม ของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จากนั้นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค่าเบาหวานของแม่พุ่งสูงถึง 800 กว่า ทั้งหมดนี้ทำให้ครอบครัวติดใจ เพราะครอบครัวไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกับแม่บ้าง สอดสายอะไรบ้าง ที่คุณหมอบอกมีแค่ให้ออกซิเจน น้ำเกลือ อาหารทางสาย โดยวันที่ตนไปรับตัวแม่ครบกำหนดรักษา 10 วันพอดี คุณหมอพยายามพูดไกล่เกลี่ยให้คุณแม่รักษาต่อในโรงพยาบาล ด้วยให้เหตุผลว่าแม่ปอดติดเชื้อ ไตมีปัญหา เบาหวาน จะต้องรักษาต่อให้ครบ 21 วัน ถ้าไม่รับการรักษาในโรงพยาบาลจะทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน แต่ตนยืนยันว่าจะเอาตัวแม่กลับ จึงเซ็นรับทราบข้อมูลเพื่อจะขอเอาแม่มาดูแลที่บ้าน

ทั้งนี้ ขณะรับตัวแม่ที่โรงพยาบาล พบว่าแม่มีอาการทุรนทุราย เหมือนสุนัขถูกทุบหัว และแม่เพ้อตลอดเวลา หมอให้ซื้อถังออกซิเจนให้แม่ โดยบอกว่าถ้าไม่มีถังออกซิเจนจะทำให้แม่เสียชีวิตได้ แต่เวลา 2 ทุ่มแล้ว ตนไม่รู้จะซื้อถังออกซิเจนจากที่ไหน กลับมาถึงบ้านพบเห็นรอยฟกช้ำดำเขียวทั่วตัว ทั้งใต้รักแร้ แขนทั้งสองข้าง มือทั้งสองข้าง หลังจากมาอยู่บ้านได้ 2 วัน อาการของแม่ดีขึ้นมาก แม่เริ่มจำได้ นั่งทรงตัวได้ สดชื่นขึ้นมาก และจะนึกเหตุการณ์ที่โรงพยาบาลได้ขึ้นมาเป็นครั้งคราวว่าโดนทำจนเจ็บ โดนแยงจมูกและปาก มีโดนมัด

หลังจากนี้ตนจะไปร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ และจะขอดูภาพวงจรปิดขณะที่แม่รักษาตัวด้วย เพื่อดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับแม่ และผู้ป่วยคนอื่นๆ หลายคนที่คิดว่าถูกกระทำเหมือนกัน พร้อมกับจะนำยาที่ให้มากินตอนที่รับตัวแม่คืนจากโรงพยาบาล เพราะไม่ได้ให้กิน แม่ก็ดีขึ้นตามลำดับ

ด้านนายอนันต์วิทย์ ทองหวาน บุตรชาย กล่าวว่า ตนคิดว่าการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่รักษาตัวครบ 10 วัน และไม่พบเชื้อแล้ว ควรให้เขาแยกห้องแยกตึกออกไป ไม่ใช่นำมานอนรวมกับผู้ป่วยทั้งหมด ทั้งที่มีเชื้ออยู่ และไม่มีเชื้อแล้วให้อยู่รวมกัน โดยให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่พยาบาลมีไม่ทั่วถึง แต่ในเมื่อญาติติดต่อไปทุกวันว่าขอรับแม่กลับบ้านเพื่อมาดูแลต่อ ทำไมไม่ให้กลับบ้าน หรืออนุญาตให้ลูกซึ่งมีอาการป่วยเหมือนกันได้เข้าไปรักษาตัวอยู่ด้วยกัน จะได้ช่วยแพทย์ พยาบาลดูแล ตนอยากให้โรงพยาบาลดูแลตรงนี้ด้วย ให้ดูของจริง ไม่ใช่ดูแค่รายงานที่เป็นกระดาษ วันที่ตนไปรับตัวแม่ หมอได้แค่อธิบายตามรายงาน แต่ไม่รู้เลยว่าสภาพจริงของแม่ที่นอนอยู่บนเตียงในหอผู้ป่วยเป็นอย่างไร โดยสภาพที่รายงานกับสภาพของแม่ตนกลับบ้านอยู่ในสภาพที่แตกต่างกันเลย

หลังจากที่รับแม่มาอยู่บ้านตั้งแต่วันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ อาการแม่เริ่มเปลี่ยน และดีขึ้นมากตามลำดับ จากที่วันแรกรับตัวมาบ้าน แม่ไม่กล้าอ้าปาก น่าจะผวาจากการถูกสอดสายในคอ มีอาการหวาดกลัว และบอกว่าเจ็บ จับตรงไหนของร่างกายก็บอกว่าเจ็บ และพูดเพ้อไปเรื่อย เพราะแม่บอกว่าพยาบาลคนอ้วนทำรุนแรงมาก และมีบางคนที่เสียชีวิต ทำให้แม่ฝังใจว่าพยาบาลคนอ้วนทำโต๊ะข้างๆ ตายเลย และมีคำบอกเล่าจากญาติคนไข้โควิด-19 ที่ต้นสมอ-พรุชี ที่เสียชีวิตว่าตามร่างกายมีร่องรอยฟกช้ำเหมือนกับแม่ของตน ตนคิดว่าน่าจะถูกกระทำแบบเดียวกัน ฝากถึงโรงพยาบาลให้เห็นค่าของคนป่วย เพราะคือหนึ่งชีวิตเหมือนกัน และข้ออ้างที่บอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอนั้นไม่ใช่เหตุผล

22 ก.พ. 2565  ผู้จัดการออนไลน์

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version