ผู้เขียน หัวข้อ: หมูแพง:ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทย์ชี้หมูไทยตายจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมาตั้งแต่2564  (อ่าน 291 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เผยเกษตรกรคนเลี้ยงหมูในไทยเจอโรคระบาดไวรัสอหิวาต์แอฟริกา (ASF) มาตลอดปี 2564

ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ฯ ระบุว่าเจตนาส่งหนังสือถึงกรมปศุสัตว์เพื่อให้กรมมีข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยสถาบันการศึกษาด้านสัตวแพทย์ 14 แห่ง พร้อมสนับสนุนด้านวิชาการพัฒนาวัคซีนและให้การจัดการความรู้ผู้เลี้ยงเพื่อให้สามารถกลับมาเลี้ยงหมูได้

"ถ้าจากภาพของสถานการณ์ที่เห็นในปี 2564 ทั้งปีล่ะครับ ที่มีปัญหาในเรื่องของการสูญเสียของฟาร์มต่าง ๆ มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ฟาร์ม แล้วแต่สถานที่... ใน ปี 2564 ก็มี ASF (ไวรัสอหิวาต์แอฟริกา) ด้วย" ผศ.น.สพ.ดร. คงศักดิ์ เที่ยงธรรม ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีไทย

ผศ.น.สพ.ดร. คงศักดิ์ กล่าวเมื่อ 10 ม.ค. หลังสื่อมวลชนหลายแขนงเผยแพร่หนังสือจากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ส่งถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อแจ้งเหตุการพบไวรัส ASF ในประเทศไทย จากการตรวจชันสูตรโรค ที่หน่วยบริการที่มหาวทิยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา

ผศ.น.สพ.ดร. คงศักดิ์ ยืนยันกับบีบีซีไทยว่า หนังสือฉบับดังกล่าวเป็นหนังสือจริงที่ออกโดยภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีมติหลังการประชุมร่วมกันให้ส่งข้อห่วงใยไปยังกรมปศุสัตว์

ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ชี้แจงในเวลาต่อมาว่า ไม่เคยเห็นหนังสือจากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ดังกล่าวที่แจ้งการตรวจพบเชื้อ ASF

"เราดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง เราไม่ได้ปกปิด" อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในการแถลงข่าววันนี้ (10 ม.ค.)

"ถ้าตรวจสอบพบโรค (ASF) เราจะรีบประกาศโรคตามขั้นตอน"

ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับท่าทีของกรมปศุสัตว์ที่ผ่านมา และเห็นว่าตัวเกษตรกรเองก็อยู่ในสถานะที่ได้รับผลกระทบทุกทาง จึงทำให้อาจมีส่วนในการไม่ได้รายงานแจ้งเหตุ

"ทางภาคการศึกษามีความพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะแก้ไขปัญหาให้การเลี้ยงสุกรกลับมาโดยเร็ว"

สถานการณ์โรคระบาดในหมูของไทย เริ่มเป็นที่จับตา เมื่อราคาเนื้อหมูในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ โฆษรัฐบาล ต่างออกมาชี้แจงถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณการผลิตหมูในประเทศลดลง ว่ามาจากโรคโรคพีอาร์อาร์เอส (porcine reproductive and respiratory syndrome PRRS) โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) และโรคอหิวาต์สุกร (CSF) ทำให้ปริมาณหมูขุนลดลงประมาณ 15% โดย ปฏิเสธตลอดมาว่า ประเทศไทยไม่มีการระบาดของไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)

สถานการณ์ของเกษตรกรเลี้ยงหมูที่คณะสัตวแพทย์ 14 สถาบัน เจอ
นอกจากเอกสารการตรวจชันสูตรซากหมูแคระของหน่วยชันสูตรโรคสัตว์ กำแพงแสน คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ถูกเปิดเผยผ่านสื่อก่อนหน้านี้แล้ว ผศ. น.สพ.ดร. คงศักดิ์ กล่าวว่า การให้บริการทางสัตวแพทย์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่ภาคีคณะสัตวแพทย์เจอ ทำให้รับรู้ถึงสถานการณ์ การสูญเสียของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในช่วงที่ผ่านมา

"เป็นไวรัสไม่มียารักษา และยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่จะให้ เพราะฉะนั้น เมื่อฟาร์มได้รับเชื่อโรคเข้าไป หมูติดโรค แน่นอนว่จะรุนแรงถึงขนาดว่าที่เราเห็นภาพในปัจจุบัน หลาย ๆ ฟาร์มต้องปิดตัว ไม่สามารถเลี้ยงได้ และอัตราการตายสูง อันนี้ คือความรุนแรงของโรค"

ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นในปี 2564 ตลอดทั้งปี ที่เห็นการสูญเสียของฟาร์ม

เมื่อถามว่าโรคอื่น ๆ ที่กรมปศุสัตว์ เคยประกาศได้แก่ โรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) และโรคอหิวาต์สุกร (CSF) นั้นทำให้เกิดความสูญเสียที่รุนแรงเช่นนี้หรือไม่ ผศ. น.สพ.ดร. คงศักดิ์ กล่าวว่า โรคทั้ง 3 ชนิดนี้ มีวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขกระบวนการของการเลี้ยงหมูในประเทศไทยที่เกษตรกรจะใช้วัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต่อโรค ดังนั้น ในภาพรวม วัคซีนของโรคทั้ง 3 ชนิด ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและก็ป้องกันโรค ได้ หากมีการตาย อัตราความสูญเสียของหมูจะไม่สูงเท่ากับความรุนแรงของโรค ASF

"จะมีบางฟาร์มที่ยังคงมีการป่วยอยู่ ตรวจและเจอเชื้อ PRRS และ PED แต่อัตราการเสียหาย ก็ไม่ได้มีลักษณะของการเสียหายล้มตายจำนวนมากแบบนี้"

ผู้เลี้ยงหมูรายเล็กมีความเสี่ยงสูงสุด
ผศ. น.สพ.ดร. คงศักดิ์ กล่าวว่าการระบาดของโรค ASF กระทบผู้เลี้ยงหมูทั้งรายเล็ก กลาง ใหญ่ แต่ทั้งนี้ รายเล็กจะมีความเสี่ยงมากที่สุด โดยปัจจัยที่ทำให้หมูตายมากหรือน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) หรือมาตรการการดูแลฟาร์ม ฟาร์มที่มีมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพที่ดี ส่วนมากจะเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งอัตราการสูญเสียจะน้อยกว่าฟาร์มขนาดเล็ก ที่ไม่ได้มีลักษณะการเลี้ยงในโรงเรือนที่ปิดมิดชิด และยังคงมีการสัมผัสจากภายนอก

"เชื้อเป็นได้กับทุกหมู ทั้งฟาร์มขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่าฟาร์มไหนจะมีมาตรการในการป้องกันโรค ในแง่ของการจัดการที่ดีกว่า ข้อเท็จจริงคือ ฟาร์มขนาดเล็กก็น่าจะมีความเสี่ยงมากกว่า เมื่อหมูได้รับเชื้อเข้าไป ก็มีอัตราการสูญเสียที่มาก"

getty
ที่มาของภาพ,AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพ,
ASF ไม่ใช่โรคติดเชื้อสู่คน ไม่ก่อโรคหรือส่งผลต่อสุขภาพในคน ผู้คนยังสามารถบริโภคสุกรได้ตามปกติทั่วไป แต่ควรบริโภคเนื้อสุกรที่ปรุงสุกและซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้

คาดรุนแรงถึงกลางปี 2565
ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ของเกษตรกรที่เจอโรค ASF นั้น ต้องหยุดเลี้ยงหมูระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากหากกลับมาเลี้ยงอีกครั้ง แต่ยังไม่มีวัคซีนและการจัดระบบโรงเรือนให้มีมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ ก็ยังคงมีความเสี่ยงของการเลี้ยง

"พอหยุดเลี้ยง หมูก็หายไปจากตลาด ราคาหมูก็แพง เป็นเรื่องปกติ พี่น้องเกษตรกรตอนนี้ น่าจะต้องรอความหวัง จากการแก้ไขปัญหาที่ตรงสาเหตุจากภาครัฐ"

เมื่อถามว่าสถานการณ์นี้จะยาวนานแค่ไหน ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าขึ้นอยู่กับระยะเวลาของรอบการผลิตหมูตามรอบของการเลี้ยงสุกร ที่ต้องรอการผลิตแม่หมูและกระจายลูกเพื่อไปเลี้ยงตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน

"อย่างน้อย ๆ ก็กลางปีนี้ น่าจะยังคงเจอสภาพของการที่เราไม่ได้มีหมูเลี้ยงในฟาร์มเกษตรกร"

กลับมาเลี้ยงใหม่ ไม่ง่าย เพราะเชื้อรุนแรง คงทนในสภาพแวดล้อม
ผศ.น.สพ.ดร. คงศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการกลับมาฟื้นคืนการเลี้ยงหมูของเกษตรกร คือ ตัวเชื้อไวรส ASF นั้นคงทนได้สภาพแวดล้อม รายงานการศึกษาของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำรวตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อม ต่าง ๆ ก็เจอเชื้อ ทั้งในน้ำ อาหาร คอก กรง ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ทำให้ยากที่เกษตรกรจะกลับมาเลี้ยงหมูได้อีกครั้งโดยปลอดจากโรค

ดังนั้น จึงต้องมีวัคซีนซึ่งขณะนี้ภาควิชาการกำลังวิจัยและพัฒนา และการจัดการความรู้ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งหากหน่วยงานรัฐที่ดูแลไม่เข้าใจปัญหาที่ตรงจุด จะยิ่งทำให้ปัญหายืดเยื้อออกไปอีก

"เชื้อ ASF มีความคงทนในสภาพแวดล้อม แม้แต่ในผลิตภัณฑ์ของเนื้อสัตว์ เนื้อสุกร กุนเชียง ซึ่งผ่านอุณหภูมิความร้อนระดับหนึ่ง แต่เชื้อไม่ตาย เพราะฉะนั้นการที่เชื้อยังคงทนในสิ่งแวดล้อม จึงเป็นปัญหามากที่เกษตรกรไม่สามารถใช้คอก ใช้เล้าเดิมมาเลี้ยงได้ ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการมาช่วย"

กรมปศุสัตว์ ระบุไม่เคยเห็นหนังสือจากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทย์ฯ
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงในวันนี้ (10 ม.ค.) ว่า ไม่เคยเห็นหนังสือดังกล่าวเสนอขึ้นมารายงานให้ทราบ แต่ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและจะทราบข้อเท็จจริงภายในสัปดาห์นี้

ส่วนการควบคุมโรคในหมู เขากล่าวว่า ทางกรมได้มีการตรวจจับอย่างต่อเนื่องในส่วนที่มีเกษตรกรบางกลุ่มบางพวกลักลอบนำหมูป่วยเข้าไปในโรงฆ่าสัตว์ และทำให้เกิดการกระจายแพร่โรค พร้อมชี้ว่าการควบคุมการระบาดอยู่ที่ตัวเกษตรกรด้วย อีกทั้ง พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ ในปัจจุบัน ไม่ได้มีบทลงโทษที่สูง จึงทำให้การควบคุมโรคทำได้ยาก จึงขอให้ประชาชนร่วมมือในการแจ้งทางการเมื่อมีเหตุหมูป่วยตาย

"หลาย ๆ ครั้งที่เกษตรกรบางกลุ่ม มีสัตว์ป่วยตาย ไปดำเนินการเอง อันนี้เป็นตัวที่แพร่โรคไปได้"

ย้อนรอย รัฐบาลทักษิณ ปกปิดไข้หวัดนก ช่วงปี 2546-2547
รายการ 3 นาทีคดีดัง ของไทยรัฐ บันทึกเหตุุการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในช่วงของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ช่วงปี 2546-2547 ที่กว่าจะมีการยืนยันว่ามีเชื้อไข้หวัดนก (H5N1) ในไทย ก็ผ่านไปกว่า 1 เดือน

เริ่มต้นจากช่วงปลายปี 2546 พบไก่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุนับหมื่นตัวภายในฟาร์มแห่งหนึ่งที่ จ.นครสวรรค์ ก่อนลุกลามไปในหลายจังหวัด โดยในเวลาต่อมา นสพ.จิโรจ ศศิปรียจันทร์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคนแรกที่ลงพื้นที่ตรวจโรค ได้เตือนไปยังกรมปศุสัตว์ว่าต้องทำลาย เพื่อควบคุมการระบาด

14 ม.ค. 2547 นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ขณะนั้น แถลงสาเหตุไก่ไทยตายไม่ได้เกิดจากโรคไข้หวัดนก แต่เกิดจากโรค 2 ชนิด คือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือโรคที่จะส่งผลให้ไก่มีปัญหาด้านหลอดลมอักเสบจนล้มตาย และโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารหรือเชื้ออหิวาต์ ซึ่งทั้งสองโรคอยู่ในการควบคุมของทางการแล้ว

ในเวลานั้นนายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ก็ออกมายืนยันว่าไม่มีการระบาดและรัฐไม่ได้ปิดข่าว

17 ม.ค. 2547 นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการวิทยุว่า เชื้อโรคที่แพร่ระบาดในฟาร์มไก่ไม่ใช่เป็นเชื้อไข้หวัดนก เป็นเชื้อทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ และมีไก่ตายประมาณ 1.5 ล้านตัวเท่านั้น พร้อมเรียกร้องให้ทุกคนอย่าพูดเกินเหตุ เนื่องจากจะกระทบต่อการส่งออกเนื้อไก่

20 ม.ค. 2547 นายทักษิณ พร้อมคณะรัฐมนตรี ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน โดยเมนูทั้งหมดล้วนทำด้วยไก่ เพื่อเรียกความมั่นใจให้ประชาชนว่า "ไก่ไทยปลอดไข้หวัดนก" กิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นนี้ถูกเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการในช่วงนั้นว่า ทักษิณโชว์กินไก่

22 ม.ค. 2547 ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช และที่ปรึกษาด้านไวรัสขององค์การอนามัยโลก ให้ความเห็นว่า "หลังดูผลการตรวจสอบเชื้อโรคระบาดในไก่ในระดับห้องปฏิบัติการ มีผลการทดลองออกมาว่าเชื้อที่ระบาดในไก่ขณะนี้คือ "เชื้อโรคของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1"

23 ม.ค. 2547 เมื่อมีคำยืนยันจากฟากสาธารณสุขแล้ว นายทักษิณ ก็ยอมรับว่ามีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย

กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สรุปการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ตั้งแต่ปี 2547-2549 ว่า พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก 25 ราย มีผู้เสียชีวิต 17 ราย โดยหลังจากปี 2549 ก็ไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกอีกเลยจน

9มค2565
https://www.bbc.com/thai/thailand-59935969