ผู้เขียน หัวข้อ: ม.รามวุ่นถอดอธิการบดี อ้างบกพร่องทำนักศึกษาเสียหาย สืบพงษ์โต้ข้อหาทำแตกแยก  (อ่าน 429 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ฟังความรอบด้าน ความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยรามคำแหง สภามหาวิทยาลัยปลด "สืบพงษ์ ปราบใหญ่" พ้นอธิการบดี ยกเหตุผลสั่งเลื่อนการประชุมถึง 2 ครั้งติดต่อกันทั้งที่ไม่มีอำนาจ ทำนักศึกษาที่รอขอจบการศึกษาเสียหาย ด้านเจ้าตัวโต้รอหนังสือจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ถามสร้างความแตกแยกตรงไหน

วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่ชั้น 2 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง นำโดย ศ.ดร.สมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัย, รศ.ดร.พันธ์เทพ วิทิตอนันต์ ประธานสภาคณาจารย์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย และ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมกันตั้งโต๊ะแถลงข่าว กรณีการถอดถอน ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ออกจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังมีคำสั่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 129/2564 เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี มีมติถอดถอน ผศ.ดร.สืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี และแต่งตั้ง รศ.สุวรรณี เดชวรชัย คณบดีคณะบริหารธุรกิจ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีอีกตำแหน่งหนึ่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา

รศ.ดร.พันธ์เทพกล่าวว่า ตามที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงมีการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. โดยมี ศ.ดร.สมบูรณ์ เป็นประธานการประชุม มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยเข้าร่วมประชุม 22 คน ประกอบด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง 17 คน ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 5 คน วาระการประชุมเป็นการพิจารณาข้อชี้แจงของ ผศ.ดร.สืบพงษ์ สืบเนื่องมาจากการประชุมครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับปัญหาการบริหารงานมหาวิทยาลัย 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 ตามจดหมายที่มีการแจ้งเลื่อนการประชุมสภามหาวิทยาลัย วันที่ 23 พ.ย. และวันที่ 9 ธ.ค. 2564

2. เรื่องการหารือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เกี่ยวกับเอกสารที่ได้จัดส่งไปให้ อว. โดยที่ไม่ได้มีการปรึกษากับสภามหาวิทยาลัยก่อน และ 3. การแต่งตั้งอาจารย์ที่กำลังอยู่ในระหว่างการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนให้เป็นผู้บริหาร และเรื่องข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยให้ ผศ.ดร.สืบพงษ์ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร

มหาวิทยาลัยได้สอบถามว่าเหตุใด ผศ.ดร.สืบพงษ์ฝ่าฝืนข้อบังคับ ด้วยการสั่งเลื่อนการประชุมถึง 2 ครั้งติดต่อกันทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจในการสั่งเลื่อน เมื่อ ผศ.ดร.สืบพงษ์ขอใช้สิทธิชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรเสร็จเรียบร้อย ที่ประชุมได้มีมติให้ ผศ.ดร.สืบพงษ์ ออกนอกห้องประชุม เพื่อที่ประชุมจะได้พิจารณาคำชี้แจงอย่างรอบคอบ จากการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พบว่า ผศ.ดร.สืบพงษ์เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงมาถึง 2 วาระ ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดี ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าไม่มีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับข้อบังคับจึงฟังไม่ขึ้น การที่ ผศ.ดร.สืบพงษ์ไม่เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้มีการเลือกอุปนายกสภามหาวิทยาลัย ตามที่กรรมการสภามหาวิทยาลัย 8 คนเข้าชื่อกันให้เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัย จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับสภามหาวิทยาลัยฯ

นอกจากนี้ การที่ ศ.ดร.สมบูรณ์ ผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 13 แทน นายสงวน ตียะไพบูลย์สิน อุปนายกสภามหาวิทยาลัยในขณะนั้น ซึ่งได้ลาประชุม เนื่องจากป่วยเข้ารับการตรวจรักษาพยาบาล ได้เรียกประชุมครั้งที่ 14 ในวันที่ 13 ธ.ค. ปรากฏว่า ผศ.ธีรนิต์ เทพสุเมธานนท์ เลขานุการสภามหาวิทยาลัย ได้มีหนังสือถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัย อ้างว่าได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยให้เลื่อนการประชุม ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจในการเลื่อนการประชุมแต่อย่างใด และข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ผศ.ดร.สืบพงษ์ และผู้บริหารอีก 4 คน ซึ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด

ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ฝ่ายบริหารพยายามเลื่อนการประชุม และไม่เข้าร่วมประชุมสภามหาวิทยาลัย ทั้งๆ สภามหาวิทยาลัยต้องการแก้ไขปัญหาที่ได้เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายให้แก่มหาวิทยาลัย มิให้ลุกลามบานปลายต่อไป ผศ.ดร.สืบพงษ์กลับไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา โดยอ้างเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นว่า ต้องการรอคำตอบเกี่ยวกับการหารือกับทาง อว. เกี่ยวกับองค์ประกอบสภามหาวิทยาลัย เนื่องจาก ผศ.ดร.สืบพงษ์เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยถึง 2 วาระ ย่อมตระหนักดีว่าสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับองค์ประกอบที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เนื่องจากในสมัยที่ ผศ.ดร.สืบพงษ์เคยเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ก็เคยมีเหตุการณ์ที่ไม่มีนายกสภามหาวิทยาลัยถึง 2 ครั้งด้วยกัน และควรทราบถึงระเบียบของสภามหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี

นอกจากนั้น การขอเลื่อนการประชุมสภามหาวิทยาลัย โดยไม่มีกำหนดว่าจะประชุมเมื่อไหร่ จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่องานราชการของมหาวิทยาลัยทุกด้าน โดยเฉพาะผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลายพันคน ที่กำลังรอใบรับรองจากสภามหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสมัครงาน สมัครเรียน ปรับวุฒิการศึกษา ศึกษาต่อต่างประเทศ บัณฑิตบางรายสมัครสอบเข้าทำงานได้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถมีใบรับรองจากสภาฯ ได้ เนื่องจากการสั่งเลื่อนการประชุมสภาอย่างไม่มีกำหนดของ ผศ.ดร.สืบพงษ์ บัณฑิตบางรายประสบปัญหาที่อาจถูกปรับเพื่อชดใช้ทุน เนื่องจากไม่มีเอกสารแสดงการสำเร็จการศึกษาภายในกำหนดเวลา

อีกทั้งสภามหาวิทยาลัยไม่สามารถให้การรับรองหลักสูตรต่างๆ ทั้งในระดับปริญญาตรีโท และเอก ที่แก้ไขปรับปรุงแล้วเป็นจำนวนมากเพื่อให้ทันต่อการประกาศใช้ในปีถัดไปได้ ส่วนอาจารย์ที่ผ่านการพิจารณาและอนุมัติของคณะกรรมการในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตรจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ก็ไม่สามารถนำเข้าสู่การอนุมัติของสภามหาวิทยาลัยได้เช่นกัน ความบกพร่องอย่างร้ายแรงของ ผศ.ดร.สืบพงษ์ นอกจากจะไม่สนใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการขาดวิจารณญาณและคุณธรรมที่เหมาะสมสำหรับการดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่อไป

สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงมีมติให้ถอดถอนด้วยคะแนนเสียง 16 เสียง คะแนนเสียงคัดค้านที่ไม่ให้ถอดถอน 0 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง สำหรับประเด็นที่ ผศ.ดร.สืบพงษ์ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการรับโอนที่ดิน 2 แปลงที่สัมพันธ์กับคดีร่ำรวยผิดปกติก่อนที่จะลงสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีนั้น ทางสภามหาวิทยาลัยได้รับร้องเรียนในเดือน ส.ค. 2564 สภามหาวิทยาลัยจะดำเนินการสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและเพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายต่อไป ซึ่งในขณะนี้ได้มีความคืบหน้าในการรวบรวมข้อเท็จจริงต่างๆ ไปมากพอสมควรแล้ว

ด้าน รศ.ดร.พันธ์เทพกล่าวว่า หาก ผศ.ดร.สืบพงษ์จะฟ้องศาลปกครอง ก็เป็นสิทธิโดยชอบของทุกคนที่ได้รับผลกระทบก็ร้องต่อศาลได้อยู่แล้ว ในระบบของมหาวิทยาลัยจะแตกต่างจากระบบราชการทั่วไป เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีฝ่ายบริหาร นำโดยอธิการบดี และสภามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร สภามหาวิทยาลัยเมื่อตัดสินใดแล้วเป็นองค์กรที่สูงสุด ไม่มีการขอให้ทบทวนมติได้ ส่วนขั้นตอนต่อไป สภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้ง รศ.สุวรรณี เดชวรชัย คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นรักษาการอธิการบดี เพื่อให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยเดินหน้าต่อไป ส่วนการเลือกตั้งอธิการบดีคนใหม่ก็เป็นเรื่องของอนาคต คงต้องรอเวลาอีกพอสมควร

เมื่อถามว่า กรณีที่ รศ.ดร.สืบพงษ์ เข้าสมัครชิงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ได้รับทราบในรายละเอียดว่า รศ.ดร.สืบพงษ์ มีข้อครหาเกี่ยวกับการรับโอนที่ดินจำนวน 2 แปลงจากทางนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นพ่อตา ศ.ดร.สมบูรณ์กล่าวว่า รศ.ดร.สืบพงษ์ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดตรงนี้เอาไว้

อีกด้านหนึ่ง เมื่อวานนี้ (27 ธ.ค.) กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ลูกพ่อขุนฯ โค่นล้มเผด็จการ" ซึ่งเป็นแนวร่วมผู้ชุมนุมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าราษฎรได้โพสต์ภาพนักศึกษา คณาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยรามคำแหงร่วมกันมอบดอกไม้ ให้กำลังใจ ผศ.ดร.สืบพงษ์ ที่หน้าอาคารวิทยบริการและบริหาร โดยได้เฟซบุ๊กไลฟ์ขณะที่ ผศ.ดร.สืบพงษ์ปราศรัย โดยกล่าวว่า สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่มีนายกสภามาตั้งแต่ 1 ก.ย. 2563 เนื่องจากนายกสภามหาวิทยาลัยได้ลาออก พอไม่มีนายกสภาตลอดระยะเวลา 1 ปี ไม่เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยรออะไรอยู่ แต่เหตุการณ์หลังจากรับตำแหน่ง มองว่ามหาวิทยาลัยต้องขยับไปข้างหน้า ก็ได้เสนอเรื่องการแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัย มีคนแนะนำว่าให้ตนออกจากที่ประชุม

หลังจากนั้นก็มีหนังสือมาที่สภามหาวิทยาลัย กล่าวหาว่าตนสร้างความแตกแยกในกลุ่มผู้บริหาร ก็ยังงงตัวเองอยู่ว่าตนไม่ได้อยู่ในที่ประชุมแล้ว จะสร้างความแตกแยกยังไง หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น เชื่อว่าหลายคนได้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ก็ได้มีวาระจร ขอให้แก้ไขข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ในเรื่องการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย ตนไม่เข้าใจว่าเราอยู่กันมาตั้งนาน พ.ร.บ.ที่ใช้ตั้งแต่ปี 2541 ที่ประกาศโดย ศ.ประภาศน์ อวยชัย มีข้อบกพร่องตรงไหน ทำไมถึงเพิ่งมารีบแก้ในช่วงเวลาสั้นๆ แบบนี้ หลังจากนั้นพอวาระเข้ามาก็มีการรับรองมติเลย แต่เนื่องจากวันนั้นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยได้ลาป่วย ข้อบังคับนั้นก็ยังไม่เกิด

พอเช้าวันที่ 9 พ.ย. ก็มีหนังสือลาออกจากอุปนายกสภามหาวิทยาลัย ทำให้องค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยที่ตนมองกับเพื่อนผู้บริหารแล้วเป็นไปได้ยังไง ในเมื่อไม่มีนายกสภามหาวิทยาลัยและอุปนายกสภามหาวิทยาลัย เราอยู่ภายใต้กฎหมายของกระทรวงอุดมศึกษาฯ ก็ทำหนังสือไปถามว่าในกรณีนี้ดำเนินการอย่างไร เราก็รอคำตอบจากกระทรวง อว. ซึ่งยังไม่มีคำตอบมา หลังจากนั้นก็มีวาระเพิ่มเข้ามา ซึ่งในการประชุมไม่มีใส่ในวาระ เป็นหนังสือใช้คำว่า นายฉัตรชัย บางสนธิ ร้องเรียนเรื่องที่ตนสร้างความแตกแยกในมหาวิทยาลัย ที่ประชุมมีมติมอบให้ตนไปดำเนินการ ตนก็เอาหนังสือฉบับนี้มอบอำนาจให้คนไปร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สน.หัวหมาก ปรากฏว่า สน.หัวหมากก็บอกว่า ไม่มีตัวตน

ทั้งนี้ ในสภามหาวิทยาลัยจะตั้งข้อหาใครสักคน หรือแก้ปัญหาใครสักคน ยังไม่ตรวจสอบเลยว่าข้อเท็จจริงเป็นประการใด แต่เอามามอบให้ตนและเลขาในสภา ขณะนั้นอ่านเหมือนเป็นการประจานหมิ่นประมาทตน หลังจากเหตุการณ์นั้นอีก 2 วันมีการปิดประชุม ตนได้ทำเรื่องไปถามกระทรวงแล้วรอคำตอบ ก็ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะสามารถดำเนินการประชุมได้ไหม ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ มีการตีความของกฤษฎีกา ก็พูดถึงเรื่องขององค์ประกอบว่าครบหรือไม่ครบ ต้องตีความยังไงก่อน เราก็ศึกษา แต่ความที่เราไม่รู้ว่าที่ผ่านมาเราจะทำถูกหรือทำผิด ในการทำไปที่ผู้บังคับบัญชาหน่วยที่เราบัญชาอยู่ เป็นความบริสุทธิ์ใจที่เราจะทำในสิ่งที่ถูกต้องให้กับมหาวิทยาลัย ถ้าทางกระทรวงตอบกลับมาว่าทำได้ เราก็ทำ ถ้าตอบว่าเราทำไม่ได้ ให้เราทำตามคำแนะนำ ก็จะทำตามคำแนะนำ

กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวน 8 คน ได้ลงชื่อมาให้ตนเรียกประชุม ก็ทำหนังสือตอบกลับไปว่ากำลังหารือไปที่กระทรวง อว. เท่ากับว่าตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่สบายใจในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ว่าเรายังไม่ได้รับคำตอบ ถ้าตนทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายก็จะโดนในเรื่องที่ตนทำไม่ถูกอยู่ หลังจากนั้นก็มีการนัดประชุมวันที่ 13 ธ.ค. เนื่องจากยังไม่ได้รับคำตอบจึงมีหนังสือแจ้งไปยังกรรมการสภามหาวิทยาลัยว่า ขอเลื่อนประชุมวันที่ 13 ธ.ค. ออกไปก่อน เนื่องจากรอคำตอบจาก อว. ปรากฏว่าก็มีการประชุมเกิดขึ้น และมีการเลือกตั้งอุปนายกฯ ขึ้นมา ตนไม่รู้ว่าขั้นตอนต่างๆ ในเมื่อไม่มีหนังสือเชิญประชุมและมีการประชุมนั้นโดยชอบหรือเปล่า แต่ก็มีการเลือกอุปนายกฯ เรียบร้อย

และวันที่ 24 ธ.ค. มีการนัดประชุม วาระการประชุมเยอะแยะมากมาย และมีวาระสืบเนื่อง ตนก็เข้าร่วมประชุม ก็บอกว่ามีวาระสำคัญหลายเรื่อง ปรากฏว่าในวาระสืบเนื่องให้ตนทำหนังสือชี้แจงว่าเหตุใดที่ไม่มีการเรียกประชุม ตนก็ได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังคนที่ถูกตั้งเป็นอุปนายกฯ ขึ้นมา ที่ประชุมได้มีการพูดคุยให้ตนชี้แจงต่างๆ หลังจากนั้นที่ประชุมก็เชิญให้ตนออกจากห้องประชุม นับตั้งแต่วินาทีนั้นตนไม่รู้ว่ามีมติหรือประเด็นอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับตน ได้ยินแต่เพื่อนผู้บริหารที่อยู่ข้างในออกมาพูดว่า มีการถอดถอน มีการให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่

จากข่าวสารที่ผ่านมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอดีตของครอบครัว เรื่องที่ดิน ทุกอย่างพูดได้เลยว่าเขาให้ปลายปี 2554 หลังจากนั้นมีคดี มีการยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน และทรัพย์ทั้งสองผืนตกเป็นของแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว ตนไม่เคยได้ใช้ประโยชน์จากตรงนั้น ตามข่าวมีการส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช. ตนไม่เข้าใจว่าจะร้องเรียนตนเรื่องอะไร เชื่อว่าหากรวบรวมเอกสารและปรึกษากับครอบครัวแล้ว เชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ทำร้ายตนและครอบครัว เป็นการหมิ่นประมาท ในเรื่องคดีทางกฎหมายจะดำเนินการทุกคดี

ส่วนในเรื่องของมหาวิทยาลัย อยากถามทุกคนว่าตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ที่ตนเข้ามาทำงาน ตนสร้างความแตกแยกตรงไหน ตนไม่ได้บริหารมหาวิทยาลัยด้วยธรรมาภิบาลในส่วนไหน ตนตั้งใจทำงานทั้งตัวและหัวใจ บางคนไปพูดว่าตนจะทำอะไร วันๆ อยู่แต่บ้าน ทำกับข้าวให้ลูก ตนมาถึงที่นี่หลายๆ คนรู้ดี เจ้าหน้าที่เขาอยู่ มาถึงที่นี่ตั้งแต่ 7 โมงครึ่ง ตั้งแต่มารับตำแหน่งนี้ กลับบ้านเซ็นแฟ้มบางทีสองทุ่ม บางทีสามทุ่ม ตนทำงานด้วยหัวใจ รับใช้ทุกคนด้วยหัวใจ ไม่เคยเลือกปฏิบัติ จะเห็นว่าสิ่งที่ตนตั้งใจ ต้องการเปลี่ยนรามคำแหงให้เป็น Smart University

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้บริการทางการศึกษา การเปลี่ยนบริการจากรูปแบบเดิมๆ ให้โอกาสทุกๆ คน ไม่เคยนำคำว่าการเมืองมาใช้ ไม่เคยเลือกปฏิบัติ จะเห็นได้ว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายคนที่เคยลงเคยสมัครแข่งขัน ก็เข้ามาทำงานด้วยกัน หาแนวทางที่จะเดินทางไปข้างหน้าว่า เราจะต้องเดินทางพามหาวิทยาลัยที่พวกเรารักไปในทิศทางไหน เราจะเห็นได้ว่าถ้าพวกเราได้เดินรอบรั้วมหาวิทยาลัยในช่วงที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบไหน และส่งผลให้ระบบการศึกษาดีขึ้นหรือไม่ หรือส่งผลประโยชน์ต่างๆ ให้ใคร อยากให้พวกเราเข้าใจในความตั้งใจของตน และอยากให้สื่อมวลชนที่ลงข้อมูลไม่ถูกต้อง อยากให้พิจารณาอีกทีว่า ถ้าเป็นตัวเอง เป็นครอบครัวโดนกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จะรู้สึกยังไง ณ วินาทีนี้เชื่อว่าตนก็ยังต้องทำงานอยู่ เพราะยังไม่ทราบว่ามติหรือคำสั่งที่สภามหาวิทยาลัยทำนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า

นอกจากนี้ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ลูกพ่อขุนฯ โค่นล้มเผด็จการ" ยังได้ออกมาเคลื่อนไหวปกป้อง ผศ.ดร.สืบพงษ์ โดยได้กล่าวพาดพิงไปถึง ผศ.ดร.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีคนก่อนหน้านี้

28 ธ.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง แจงถอดถอนอธิการบดี ไม่เอี่ยวรับโอนที่ดิน ชี้ไม่สมควรดำรงตำแหน่ง เหตุบริหารงานบกพร่อง ทำมหาวิทยาลัยเสียหายร้ายแรง

วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) ศ.ดร.สมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภา ม.ร. ทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ดร.สุพจน์ อร่ามวัฒนา กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ และรศ.ดร.พันธ์เทพ วิทิตอนันต์ ประธานสภาคณาจารย์และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตั้งโต๊ะ แถลงข่าว มติถอดถอนอธิการบดีฯ

โดย ศ.ดร.สมบูรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมสภา ม.ร.วันที่ 24 ธันวาคม มีการหารือร่วมกันในหลายเรื่องและหนึ่งในนั้น มีการหารือประเด็นถอดถอน ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งนี้ที่ประชุมได้หารือเรื่องดังกล่าวและเสียงข้างมากเห็นว่า อธิการบดีฯ ไม่สมควรดำรงตำแหน่งอีกต่อไป

ทั้งนี้ในการประชุมวันดังกล่าว มีกรรมการสภาฯเข้าร่วม 22 ราย ประกอบด้วยเข้าร่วมประชุมแบบ ออนไซต์ จำนวน 17 รายและประชุมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันซูม 5 ราย โดยมีมติถอดถอดอธิการบดี 16 เสียง คัดค้าน 0 และงดออกเสียง 5 เสียง และมีผลในวันที่ 25 ธันวาคม

รศ.ดร.พันธ์เทพ กล่าวว่า การถอดถอน นายสืบพงษ์ เป็นวาระที่สืบเนื่องมาจากการประชุมครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม โดยในการประชุมครั้งนั้นที่ประชุมได้สอบถาม ดร.สืบพงษ์ ในฐานะอธิการบดีฯ เกี่ยวกับการบริหารมหาวิทยาลัย ใน 4 ประเด็น 1.การฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยการประชุมสภาม.ร.พ.ศ.2541 ตามจดหมายที่ได้มีการแจ้งเลื่อนการประชุม สภามหาวิทยาลัยวันที่ 23 พฤศจิกายน และวันที่ 9 ธันวาคม 2.เรื่องการหารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เกี่ยวกับเอกสารที่ได้จัดส่งไปให้อว. โดยไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับสภามหาวิทยาลัยก่อน 3.การแต่งตั้งอาจารย์ที่กำลังอยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง และ4.เรื่องข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยฯ โดยดร.สืบพงษ์ ทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 7 วัน

ทั้งนี้ ดร.สืบพงษ์ ได้ชี้แจงมาเป็นลายลักษณ์อักษร ในประชุมสภาฯวันที่ 24 ธันวาคม โดยกรรมการสภาฯได้สอบถาม ดร.สืบพงษ์ ว่าเหตุใด อธิการบดีฯ จึงได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของทางสภามหาวิทยาลัย ด้วยการสั่งเลื่อนการประชุมสภาฯ ถึง2ครั้งติดต่อกัน ทั้งที่ไม่มีอำนาจในการสั่งเลื่อน ซึ่งอธิการบดีในขณะนั้น ได้ขอใช้สิทธิ์ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่เสนอให้ที่ประชุมทุกข้อ ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ดร.สืบพงษ์ ออกจากห้องประชุมเพื่อจะได้พิจารณาคำชี้แจงอย่างรอบคอบ

“ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พบว่า ดร.สืบพงษ์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภาฯ ถึง 2 วาระ ก่อนที่จะเป็นอธิการบดี ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าไม่มีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับข้อบังคับมหาวิทยาลัย จึงฟังไม่ขึ้น การที่ ดร.สืบพงษ์ ไม่เรียกประชุมสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกอุปนายกสภาฯ ตามที่กรรมการสภาฯ 8 คนเข้าชื่อ จึงเป็นการขัดต่อข้อบังคับ ที่ประชุมสภาฯพิจารณาแล้วเห็นพ้องกันว่า การที่ฝ่ายบริหารพยายามเลื่อนการประชุมสภาฯ และไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ ทั้งที่สภาฯ ต้องการแก้ไขปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับมหาวิทยาลัยไม่ให้ลุกลามบานปลาย แต่ ดร.สืบพงษ์ กลับไม่ให้ความร่วมมือ โดยให้เหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นว่า ต้องรอคำตอบเกี่ยวกับองค์ประกอบของกรรมการสภาฯ ที่ได้หารือกับทาง อว. ซึ่งดร.สืบพงษ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการสภาฯถึง 2 วาระย่อมตระหนักดีว่าสภาฯไม่มีปัญหาเกี่ยวกับองค์ประกอบ” รศ.ดร.พันธ์เทพ กล่าว

รศ.ดร.พันธ์เทพ กล่าวต่อว่า การขอเลื่อนประชุมสภาฯ จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่องานราชการของมหาวิทยาลัยในทุกด้าน โดยเฉพาะ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจำนวนหลายพันคนที่กำลังรอในรับรองจากสภาฯ เพื่อนำไปสมัครงานสมัครเรียน ตลอดจนไปศึกษาต่างประเทศ บัณฑิตบางรายสอบเข้าทำงานแล้วแต่ก็ไม่สามารถมีใบรับรองจากสภาฯ ส่วนบางรายอาจถูกปรับเพื่อชดใช้ทุน เนื่องจากไม่มีเอกสารแสดงการสำเร็จการศึกษาภายในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้สภาฯไม่สามารถรับรองหลักสูตรในทุกระดับและเอกสารที่แก้ไขปรับปรุงจำนวนมากเพื่อให้ทันต่อการประกาศใช้ในปีถัดไป ส่วนอาจาย์ที่ผ่านการอนุมัติให้เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ก็ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการสภาฯได้เช่นกัน ความบกพร่องอย่างร้ายแรงของ ดร.สืบพงษ์ นอกจากไม่สนใจแก้ปัญหาที่เห็นขึ้นแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการขาดวิจารณญาณและคุณธรรมที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่อไป

“ส่วนกรณีที่ ดร.สืบพงษ์ ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการรับโอนที่ดิน 2 แปลงที่สัมพันธ์กับคดีร่ำรวยผิดปกติก่อนที่จะลงสมัครสรรหาเป็นอธิการบดีนั้น ทางสภาฯได้รับเรื่องร้องเรียนในเดือน สิงหาคม 2564 โดยจะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและเพื่อความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งมีความคืบหน้าไปพอสมควร กรณีนี้เป็นประเด็นใหม่ซึ่งทางสภาฯเพิ่งทราบก่อนหน้าเสนอ อว.ให้แต่งตั้ง โดยหลังจากรับทราบก็ได้สอบถามไปยังดร.สืบพงษ์ ซึ่งจะมีการพิจารณาต่อไป โดยประเด็นนี้ไม่ได้มีส่วนนำมาพิจารณาถอดถอนอธิการบดีครั้งนี้

ส่วนที่ ดร.สืบพงษ์ จะฟ้องศาลปกครองนั้นถือเป็นสิทธิ์ที่สามารถดำเนินการได้ แต่กระบวนการภายใน ม.ร.ถือว่าสิ้นสุด และที่ประชุมสภาฯ ได้มีการแต่งตั้งรศ.สุวรรณี เดชวรชัย คณบดีคณะบริหารธุรกิจ กรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีอีกตำแหน่งหนึ่ง ส่วนการเตรียมสรรหาอธิการบดีนั้นต้องรอเวลาที่เหมาะสม“ รศ.ดร.พันธ์เทพ ระบุในที่สุด


28 ธ.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์