ผู้เขียน หัวข้อ: “ยาลม ๓๐๐จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก  (อ่าน 647 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สถานการณ์โรคโควิด-19 ได้ก่อความเสียหายและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตกับ “ผู้สูงวัย”มากที่สุด และผู้สูงวัยยิ่งสูงวัยมากขึ้นเท่าไหร่จะมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ “ภูมิคุ้มกันเสื่อมถอย” หรือเรียกว่า Immunosenescence [๑],[๒]

เรื่องดังกล่าวต่อไปนี้จึงเป็นเรื่อง “ผู้สูงวัย”ในมิติการแพทย์แผนไทยว่าจะรับมืออย่างไรให้ดีที่สุดด้วยภูมิปัญญาของชาติที่จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้

แม้ในการแพทย์แผนไทยในสมัยโบราณซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมการแพทย์ของอินเดีย แต่ก็เป็นแพทย์อินเดียที่ถ่ายทอดมาในสายของพระพุทธศาสนาเป็นหลัก [๓]

พุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายในรูปของกระแสที่ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ อันสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน หรือมาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ๆของสิ่งทั้งหลายไม่มี แต่อยู่ในรูปของ “เบญจขันธ์”หรือ “ขันธ์ ๕ ” หมายถึง กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม ๕ หมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ได้แก่ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร และ วิญญาณ [๓]

โดยในขันธ์ ๕ นี้ ย่อลงมาเป็น ๒ คือ “นาม”และ “รูป” โดย “รูปขันธ์”จัดเป็นฝ่ายรูป ส่วนอีก ๔ ขันธ์ที่เหลือเป็นฝ่ายนาม

ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๔ ว่าด้วยมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก มีคำอธิบายถึง “รูปขันธ์”โดยผ่านลักษณะของธาตุหลักทั้ง ๔ ไว้ดังนี้

“ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปทานขันธ์ คือ รูปเป็นไฉน คือ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มหาภูติรูป ๔ เป็นไฉนคือ ปฐวีธาตุ(ดิน) อาโปธาตุ (น้ำ) เตโชธาตุ(ไฟ) วาโยธาตุ(ลม)”[๓]

โดยการแพทย์แผนไทยแม้อาจจะมองไม่เห็นไวรัส แบคทีเรีย หรือโครงสร้างทางเคมีในสมุนไพรเหมือนกับวิทยาการปัจจุบันที่ก้าวหน้าขึ้น แต่ทฤษฎีการแพทย์แผนไทยเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากสาเหตุ ๖ ประการ คือ มูลเหตุจากธาตุทั้ง ๔, อิทธิพลของฤดูกาล, ธาตุที่เปลี่ยนไปตามวัย, ดินที่อยู่อาศัย, อิทธิพลของกาลเวลาและสุริยจักรวาล, และพฤติกรรมเป็นมูลเหตุของโรค[๔]

การที่จะไม่เจ็บไม่ป่วย ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะต้องเป็นปรกติหรือสมดุลสำหรับร่างกายคนๆนั้น

โดยธาตุดินอาศัยน้ำทำให้ชุ่มและเต่งตึง อาศัยลมพยุงให้คงรูปและเคลื่อนไหว อาศัยไฟให้พลังงานอุ่นไม่ให้เน่า

น้ำต้องอาศัยดินเป็นที่เกาะกุมซับไว้มิให้ไหลเหือดแห้งไปจากที่ควรอยู่ อาศัยลมทำให้น้ำไหลซึมซาบทั่วร่างกาย

ลมต้องอาศัยน้ำและดินเป็นที่อาศัย นำพาพลังไปในที่ต่างๆ ดินปะทะลมทำให้เกิดการเคลื่อนที่แต่พอเหมาะ ไฟทำให้ลมเคลื่อนที่ไปได้ ในขณะที่ลมสามารถทำให้ไฟลุกโชน เผาผลาญอาหารได้มากขึ้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าธาตุทั้ง ๔ ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ และหากธาตุใดธาตุหนึ่งแปรปรวนก็จะเสียความสมดุลทันที [๔]

โดยสำหรับผู้สูงวัยในการแพทย์แผนไทยนั้นได้อธิบายเอาไว้ในพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยว่าหมายถึงคนที่อายุเกิน ๓๐ ปีขึ้นไป จนสิ้นอายุขัยจะมีเหตุของความเจ็บป่วยกับระบบภายในร่างกายอันเนื่องด้วยธาตุลม หรือที่เรียกว่า “วาตะ” (ระบบการเคลื่อนไหว) ความว่า “บุคคลใดผู้ใดมีอายุล่วงพ้น ๓๐ ปีขึ้นไป ตราบเท่าอายุไขยเปนกำหนด ถ้าจะเปนโทษในสมุฏฐานอันใดก็ดี “วาตะ”เปนเจ้าสมุฏฐานย่อมเจือไปในกองสมุฏฐานทั้งปวง ถ้าจะให้โทษก็มีกำลังกว่าสมุฏฐานทั้งหลาย”[๕]

และคำว่า “ธาตุลม” นั้น ได้ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมศัพท์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานมีความหมายว่า

“ธาตุลม น. สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายส่วนที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของธาตุทั้ง ๔ ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มี ๖ ชนิดได้แก่ ลมพัดตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะ (อุทธังคมาวาตา) ลมพัดตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า (อโธคามาวาตา) ลมพัดในท้องแต่พัดนอกไส้ (กุจฉิสยาวาตา) ลมพัดในลำไส้และกระเพาะอาหาร (โกฏฐาสยาวาตา) ลมพัดทั่วสรีระกาย (อังคมังคานุสารีวาตา) และลมหายใจเข้าออก (อัสสาสปัสสาสวาตา,​ วาโยธาตุ ก็เรียก”[๖]

รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ นวลแก้วคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เขียนตำราเภสัชกรรมแผนไทยประยุกต์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ อธิบายเรื่องธาตุลมเปรียบเทียบวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันความว่า

“วาตะ” แปลว่า เคลื่อนไหว เปรียบได้กับ “ลมประสาท (nerve impulse)” รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย “วาตะเป็นธาตุที่สำคัญที่สุดในตรีธาตุ” เป็นแหล่งกำเนิดของ กำลัง การเคลื่อนไหว และการกระทำต่างๆ”[๗]

“หน้าที่ของวาตะ เป็นแหล่งกำเนิดของกำลัง การเคลื่อนไหว และการกระทำต่างๆ เช่น การพูดจา การเดินของเลือดในร่างกาย ควบคุมการทำงานของอวัยวะและกล้ามเนื้อ ควบคุมจิตใจ ความรู้สึก ความเข้าใจ และรับความรู้สึกของสัมผัสทั้ง ๕ (คล้ายกับระบบประสาท) ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของอวัยวะร่างกายทุกส่วน ควบคุมจิตใจให้มีสติ ให้มีสมาธิ ทำให้ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ รับความรู้สึกถูกต้อง เป็นที่เกิดแก่ความชื่นชมยินดี ร่าเริง เป็นเครื่องกระตุ้นไฟของร่างกาย ช่วยกำจัดโทษของร่างกาย ทำให้เกิดการปฏิสนธิหรือตั้งครรภ์ ช่วยประคับประคองให้ชีวิตมีความปกติ”[๗]

ดังนั้น “ธาตุลม” จึงมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทุกสิ่งของร่างกายในมนุษย์ ดังตัวอย่างกิจกรรมของธาตุลมที่เป็นรูปธรรมเช่น

“การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย การยืดหดของกล้ามเนื้อแขนขา การกระพริบตา การไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง การขับเหงื่อ การควบคุมการพูด การออกกำลัง การเคลื่อนไหวของท่อและต่อมเหงื่อควบคุมความร้อนของร่างกาย ให้ความร้อนแก่ร่างกาย ควบคุมกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ช่วยในการย่อยอาหารร่วมกับปิตตะ (หมายถึงระบบความร้อน - ผู้เขียน) และยังทำหน้าที่ควบคุมการผลิตและหลั่งน้ำกาม ขับปัสสาวะ ขับอุจจาระ ขับโลหิตระดูของสตรี และเป็นลมเบ่งในการคลอดลูก”[๗]

ความผิดปกติของ “ธาตุลม” ใน “ผู้สูงวัย” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะธาตุลม กับ สิ่งที่คนในยุคปัจจุบันเรียกว่า “ระบบภูมิคุ้มกัน” ซึ่งมี “การแบ่งเซลล์” และ “การเคลื่อนตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาว” ย่อมมีความสัมพันธ์ต่อกันในมิติระบบการเคลื่อนไหวของ “ธาตุลม” เช่นกัน

โดยตำราเภสัชกรรมไทย ของมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิมได้ระบุว่า

สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยนี้ นอกจากจะมีโรคเกี่ยวกับธาตุลมพิการ (สมุฏฐานวาโย)แล้ว ยังมีอาโป (ธาตุน้ำ)แทรกด้วย จึงให้ใช้ยา “รสขม รสร้อน รสเค็ม รสฝาด และรสหอมเย็น” [๘]

ในการแก้โรคธาตุลมนั้น ในการแพทย์แผนไทยมีอยู่หลายตำรับ แต่ตำรับยาหนึ่งที่สำคัญก็คือตำรับยาใน “พระคัมภีร์ไกษย” ซึ่งเป็นพระคัมภีร์อยู่ในตำรายาหลวงที่ชื่อ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งถูกรวบรวมสำเร็จโดย พระยาพิศณุประสาทเวช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ (๑๑๔ ปีที่แล้ว)

โดยใน “พระคัมภีร์ไกษย” นี้ ได้กล่าวถึงโรคที่ทำให้มีอาการแห่งความเสื่อมโทรม ซูบผอม สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเป็นโรคหรือไข้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำลายสุขภาพของร่างกาย ให้เสื่อมโทรมไปทีละน้อย เป็นเวลาต่อเนื่องกันโดยไม่ได้บำบัดรักษาหรือรักษาแต่ไม่ถูกกับโรคหรือไข้นั้นๆโดยตรง เนื่องจากไม่มีอาการอะไรรุนแรงให้เห็นได้ชัด

ดังนั้น“ผู้สูงวัย” แทบทุกคน ล้วนมีโรคเสื่อมตามวัย ที่จะค่อยๆเสื่อมโทรมไปเรื่อยๆ และจะมีหลายโรคเมื่อป่วยเป็นเวลานานโดยไม่รักษาที่ต้นเหตุ ก็ยิ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่นกัน โดยเฉพาะผู้สูงวัยย่อมมีเหตุของโรคมาจากธาตุลมมากที่สุด
แต่มีตำรับยาหนึ่งที่ปรากฏเอาไว้ในพระคัมภีร์ไกษย ซึ่งแก้โรคเกี่ยวกับสารพัด “ธาตุลม” เอาไว้อย่างน่าสนใจอย่างยิ่ง และที่สำคัญเป็น “ยาอายุวัฒนะ” ในตำรายาหลวงด้วย แก้โรคทางธาตุลมทั้งปวงถึง ๓๐๐ จำพวก ความว่า

“ให้เอามหาหิงคุ์ ๑ บาท ว่านน้ำ ๑ สลึง เจตมูลเพลิง ๒ สลึง เกลือสินเธาว์ ๒ สลึง พริกไทย ๖ สลึง การะบูร ๒ สลึง กานพลู ๑ สลึง แห้วหมู ๒ สลึง โกฐพุงปลา ๑ เฟื้อง โกฐสอ ๑ เฟื้อง ยาดำ ๑ บาท รากตองแตก ๑ บาท ดีปลี ๖ สลึง รากช้าพลู ๑ สลึง ผลกระดอม ๖ สลึง บอระเพ็ด ๒ สลึง ลูกกระวาน ๒ สลึง กระเทียม ๒ สลึง ขมิ้นอ้อย ๒ สลึง หัสดำเทศ ๑ บาท ใบสะเดา ๑ ตำลึง ตำเปนผงละลายน้ำร้อนหรือน้ำส้มก็ได้ หรือส้มซ่าก็ได้ น้ำผึ้งก็ได้ หรือน้ำร้อนก็ได้

แก้ลมอันเกิดแต่เท้าให้เท้าตายมือตาย และแก้ลมริศดวงก็หายสิ้นแล ให้รับประทานเท่าผลสมอแก้ลม ๓๐๐ จำพวกก็หายแล ถ้ารับประทานได้ ๗ วัน เสียงดังจักกระจั่นเรไร ถ้ารับประทาน ๑๕ วัน เสียงนกการะเวก ถ้ารับประทานได้นานๆ เสียงดังหงษ์ทองอยู่ในถ้ำคูหาสวรรค์ ถ้ารับประทานถึงเดือน ๑ เรียนพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ จบ คาถาปัญญาสว่าง ปราศจากพยาธิ ๕๐๐ จำพวกก็หายสิ้นแล ถ้ารับประทานถึง ๖ เดือน จักษุสว่างทั้ง ๒ ข้าง รับประทานถึง ๗ เดือน รู้กำเนิดเทวดาในชั้นฟ้า รับประทานถึง ๘ เดือน พระเวสสุวรรณลงมาสู่เราแล ( พระเวสสุวรรณ คือ เท้ากุเวร ซึ่งเป็น ท้าวจาตุมหาราชประจำทิศเหนือ) รับประทานถึง ๙ เดือนอายุยืนได้ถึง ๒๐๐ ปี

ให้ทำยานี้กินเถิด ถ้าผู้ใดได้ตำรานี้แล้วไม่ทำกิน เหมือนเหยียบแผ่นดินผิดทีเดียวแล

ตำรานี้ท่านคิดปฤษณาได้ อย่าได้สนเท่ห์เลย ถ้าได้พบให้ทำกินจำเริญอาหารด้วยแล”[๙]

สรรพคุณตำรับ “ยาลม ๓๐๐ จำพวก”นี้เป็นยาอายุวัฒนะที่รับประทานได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงวัยที่ย่อมมีปัญหาธาตุลม โดย “รสยา”ในตำรับยาทั้งขมและร้อนแก้โรคทาง “ธาตุลม”ได้

โดยตำรับยา “ลม ๓๐๐ จำพวก”ไม่เพียงเป็น “ตำรับยาสุดท้าย” ในพระคัมภีร์ไกษยเท่านั้น แต่ยังเป็นตำรับยาที่เพิ่งนำมาบรรจุเอาไว้ครั้งแรกในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยที่ไม่เคยมีการสืบทอดจากตำราหลวงในรัชกาลอื่นๆมาก่อน

ซึ่งปรากฏว่าในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ได้ระบุว่าตำรายานี้นำมาจากพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อ “ขรัวพ่อฉิม” [๙]

พระอาจารย์ฉิม เป็นเจ้าอาวาสคนแรกของ “วัดชัยชนะสงคราม”(วัดตึก) อยู่แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร [๑๐] สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพใหญ่คู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์หลังทำสงครามกับญวนและเขมรเป็นเวลา ๑๔ ปีจนได้รับชัยชนะ [๑๑]

ส่วนที่ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ได้ระบุถึงตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวก โดยใช้คำว่ามาจาก “ขรัวพ่อฉิม” นั้น ก็เพราะคำว่า “ขรัว” แปลว่า ภิกษุที่มีอายุมาก

ดังนั้น “พระอาจารย์ฉิม”เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของ วัดชัยชนะสงคราม ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๑ ซึ่งแปลว่าพระอาจารย์ฉิม จะต้องมีพรรษาเป็นพระภิกษุผู้ใหญ่มากพอที่จะเป็นเจ้าอาวาสได้ โดยตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ซึ่งได้ถูกรวบรวมและพิมพ์สำเร็จครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ซึ่งห่างกันถึง ๕๙ ปี ซึ่งหมายความว่าอายุของ “พระอาจารย์ฉิม”ในขณะนั้นก็น่าจะไม่ต่ำกว่า ๘๐ ปีขึ้นไป

“ขรัวพ่อฉิม” เมื่อเป็นท่านเจ้าอาวาสวัดชัยชนะสงคราม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ ก็ได้มีกิตติศัพท์ของขรัวพ่อฉิม ว่าทรงแก่กล้าทางวิทยาคม มีความแตกฉานในพระธรรม และตั้งมั่นอยู่ในศีลและพรหมวิหาร อีกทั้งยังเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคต่างๆอีกด้วย

กิตติศัพท์ของ “ขรัวพ่อฉิม”นี้เอง ได้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อารธนา “ขรัวพ่อฉิม” ไปรักษามหาดเล็กคนหนึ่ง ซึ่งป่วยด้วยโรค “ฝีในท้อง” ในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อ “ขรัวพ่อฉิม” ไปถึง ก็ให้มหาดเล็กที่ป่วยนอนหงายลงบนใบตอง แล้วใช้มีดหมอจิ้มที่หน้าอกมหาดเล็กผู้ป่วย ขณะเดียวกันก็ใช้น้ำมันมนต์เทลงที่ปลายมีด เพื่อให้น้ำมันไหลเข้าไปที่ทรวงอก จนกระทั่งน้ำมันมนต์จำนวนสองขวดหมดลง จึงสั่งให้ผู้ป่วยนอนพักอยู่ราวครึ่งชั่วยาม ต่อจากนั้นไม่นานผู้ป่วยได้ถ่ายอุจจาระออกมาเป็นน้ำเลือด น้ำหนองเต็มไปหมด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งถามเกี่ยวกับอาการของโรคว่ากี่วันจะหายเป็นปกติ “ท่านขรัวพ่อฉิม”ถวายพระพรว่า ภายใน ๗ วัน ก็จะหายเป็นปกติ

พอครบกำหนด ๗ วัน มหาดเล็กที่ป่วยก็หายเป็นปกติดังที่ขรัวฉิมกล่าวไว้จริงๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงกับตรัสเรียกว่า “ขรัวฉิมเทวดา” พร้อมกับทรงพระราชทานไตรแพรและเงินจำนวน ๘๐ ชั่ง [๑๒]-[๑๓]

ความแตกฉานของ “ขรัวพ่อฉิม”นี้เอง พระยาพิษณุประสาทเวชจึงยอมรับและบรรจุตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกเอาไว้เป็นตำรับยาสุดท้ายในพระคัมภีร์ไกษย ซึ่งเป็นพระคัมภีร์หนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ และตามปกติแล้วในการเขียนเป็นตำรับยาสุดท้าย อันย่อมหมายถึงตำรับยาที่ให้ความสำคัญที่สุดตำรับยาหนึ่งด้วยในฐานะเป็น “ยาอายุวัฒนะ” ที่ทรงคุณค่าต่อวงการแพทย์แผนไทย

อย่างไรก็ตามตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกนั้น ได้มีข้อความหนึ่งทิ้งในตอนท้ายว่า “ตำรานี้ท่านคิดปฤษณาได้ อย่าได้สนเท่ห์เลย”[๙] ซึ่งมีความหมายว่า ตำรายานี้ท่านขรัวพ่อฉิมได้คิดเป็น“สิ่งหรือถ้อยคําที่ผูกขึ้นเป็นเงื่อนงําเพื่อให้แก้ให้ทาย” ส่วนจะความหมายว่าให้ทายในเรื่องใด สรรพคุณยา หรือทางธรรมอย่างไรยังต้องหาคำตอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของสมุนไพรในยุคหลัง คือคุณภาพสมุนไพร เนื่องด้วยสมุนไพรที่เก่าเกินไปก็ดี หรือ เก็บไม่ได้ตามเวลาก็ดี ย่อมมีผลต่อสรรพคุณแน่ และที่มีอยู่ในท้องตลาดแม้จะเป็นยาดีแต่ก็ยังไม่สามารถสัมผัสรสยาอย่างแท้จริงได้

ผมตามหาสมุนไพรแต่ละตัวที่ได้คุณภาพอย่างแท้จริง เพื่อมาทดลองปรุงเป็นตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกตามปริศนาที่ขรัวพ่อฉิมได้ให้มรดกภูมิปัญญาเอาไว้ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ในฐานะผู้ที่ทดลองรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกมา ๙​ เดือน ได้ระบุว่าตำรับยาที่ผมคัดเลือกวัตถุดิบอย่างดีนั้น มีผลแตกต่างจากท้องตลาดอย่างชัดเจน แบบ “ห่างกันมาก”อย่างรู้สึกได้

เมื่อได้รสยาและคุณภาพที่สมุนไพรได้ดังที่ต้องการแล้ว ผมจึงนำไปทดสอบ “การต้านอนุมูลอิสระ”ว่าเป็นอย่างไร เพราะถ้าเป็นยาอายุวัฒนะจริง ก็ต้องมีส่วนช่วยชะลอวัย หรืออย่างน้อยก็จะต้องมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระด้วย สิ่งที่ผมได้คำตอบมาคือ

ประการแรก เมื่อนำ “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ของขรัวพ่อฉิมเทวดา ที่เลือกคุณภาพสมุนไพรที่ดีไปตรวจวัดค่า โอแรก (ORAC) หรือ Oxygen Radical Absorbance Capacity หรือการวัดค่า ความสามารถในการดูดซับอนุมูลอิสระออกซิเจนว่าได้เท่าไหร่
ผลปรากฏว่าผลค่าที่วัดนั้น “ยาลม ๓๐๐ จำพวก”ติดอันดับ ๑ ใน ๕ สูงสุดอันดับแรก เมื่อนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลพืช สมุนไพร ผัก ผลไม้ เครื่องเทศ และอาหารที่มีศักยภาพทั้งหมด ๓๒๖ รายการที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้เคยรวบรวมทดสอบรวบรวมและเผยแพร่เอาไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ [๑๔]

ประการที่สอง เมื่อนำ “ยาลม ๓๐๐ จำพวก”๑๐๐ กรัม ไปวัดปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่มีชื่อว่ากลุ่มสารโพลีฟินอล โดยเมื่อนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับอาหาร สมุนไพร ผัก ผลไม้ เครื่องเทศ และอาหาร ที่มีศักยภาพสูงสุด ๑๐๐ อันดับแรก ซึ่งได้ตีพิมพ์โดยวารสารโภชนาการคลินิกของยุโรป (European Journal of Clinical Nutrition) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ปรากฏว่า “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” มีสารโพลีฟีนอลในการต้านอนุมูลอิสระสูงสุดเป็น ๑ ใน ๓ อันดับแรกของการทดสอบทั้งหมด [๑๕]

ประการที่สาม อาหารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจำนวนมากแม้จะติดอันดับที่สูงในหลอดทดลอง แต่ก็อาจจะไม่สามารถดูดซึมได้ หรือไม่สามารถรับประทานได้มากๆ เช่น กานพลูทำให้เกิดอาการชา หรือ สมุนไพรต้านอนุมูลอิสระมากๆ เช่น มีสารแทนนินมากทำให้ดูดซึมได้ยาก


X


แต่ “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยังคงมีความลับที่ต้องติดตามต่อไป เพราะเป็นกลุ่มสมุนไพรฤทธิ์สุขุมร้อน ช่วยเพิ่มฤทธิ์ทางยา และช่วยเพิ่มการเคลื่อนตัวในระบบทางเดินอาหาร จึงน่าจะช่วยทำให้เกิดการดูดซึม และฤทธิ์ทางยาสูงขึ้นกว่าการกินสมุนไพรเชิงเดี่ยวที่ไม่ได้ปรุงเป็นตำรับ ซึ่งจะต้องทำการวิจัยต่อไป

อย่างน้อยตำรับยา “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ของ “ขรัวพ่อฉิมเทวดา” นี้ ก็ได้ถูกถอดรหัสปริศนานี้ได้สำเร็จในด้านหนึ่งแล้วว่าเป็น “ยาอายุวัฒนะ”ได้ด้วยพราะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองที่สูงมากระดับต้นๆของโลก

คุณค่าของตำรับยาดังกล่าวนี้ยังมีความสำคัญก็เพราะเหตุว่า “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” นี้ได้ถูกประกาศรับรองเป็น ๑ ใน ๑๑๑ ตำรับของพระคัมภีร์ไกษย ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๒ ร.ศ. ๑๒๖ ในฐานะเป็น “ตำรับยาแผนไทยของชาติ” ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ แล้วอย่างน่าภูมิใจยิ่ง [๑๖]

ด้วยความปรารถนาดี

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[๑] Oh SJ, Lee JK, Shin OS. Aging and the Immune System: the Impact of Immunosenescence on Viral Infection, Immunity and Vaccine Immunogenicity. Immune Netw. 2019 Nov 14;19(6):e37. doi: 10.4110/in.2019.19.e37. PMID: 31921467; PMCID: PMC6943173
https://immunenetwork.org/DOIx.php?id=10.4110/in.2019.19.e37

[๒] อมรรัตน์ จำเนียรทรง, ประเสริฐ สํายเชื้อ, การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุ, Thammasat Medical Journal, Vol. 16 No. 2, April-June 2016 หน้า ๒๘๕-๒๙๖
https://he02.tci-thaijo.org/index.php/tmj/article/download/81698/64981/?fbclid=IwAR1_7_hMoj4TMEUyihMHshDOY4Hf4Fy6Z2jqunVnVM9zQwXR3Ij3ilzGCg8

[๓] กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, รายงานวิชาการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์ การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก, ๔๕๖ หน้า, พิมพ์ครั้งที่ ๑, สิงหาคม ๒๕๕๓ จำนวน ๔๐๐ เล่ม พิมพ์ที่ สำนักงานกิจกรรมโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, ISBN: ๙๗๘-๖๑๖-๑๑-๐๔๐๔-๗, หน้า ๕-๗

[๔] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๓๑๔-๓๑๕

[๕] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๓๖

[๖] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแพทย์แผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๖ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม, พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร์แห่งประทศไทย กรุงเทพ, ISBN : ๙๗๘-๖๑๖-๑๑-๒๔๕๙-๕, หน้า ๒๒๔

[๗] สมศักดิ์ นวลแก้ว, เภสัชกรรมแผนไทยประยุกต์—มหาสารคาม : คณะเภสัชศาสตร์​ มหาวิทยาลัยมหาสาราม, ๒๕๖๔, ๔๖๑ หน้า, ISBN ๙๗๘-๙๗๔-๑๙-๖๐๕๖-๙ หน้า ๒๘-๒๙

[๘] โรงเรียนอายุรเวท (ชีวกโกมารภัจจ์), ตำราเภสัชกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2, โดยมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิม, พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๙, ๒๖๔ หน้า, จำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม หน้า ๘๔

[๙] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๗๕๐-๗๕๑

[๑๐] เฟสบุ๊ค วัดชัยชนะสงคราม พระอารามหลวง, ประวัติวัดชัยชนะสงคราม (โดยสังเขป)
https://web.facebook.com/WadChaychnaSngkhramPhraXaramHlwng/?_rdc=1&_rdr

[๑๑] กรมการศาสนา. (2527), ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์กรมการศาสนา

[๑๒] พัทธสีมานุสรณ์ประวัติการสร้างวัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก) และคําจารึกในแผ่นทองของท่านขรัวฉิมเทวดา, ทําดีได้ดี ทําชั่วได้ชั่ว, ๒๕๐๓

[๑๓] เบนจมินพระเครื่องสาขา 3, พระกลีบบัว ท่านขรัวฉิมเทวดา วัดชัยชนะสงคราม(วัดตึก), 13 มกราคม 2564
https://www.thaprachan.com/amulet_detail/UA13015070

[๑๔] David B. Haytowitz and Seema Bhagwat, USDA Database for the Oxygen Radical Absorbance Capacity (ORAC) of Selected Foods, Release 2, Nutrient Data Laboratory, Beltsville Human Nutrition Research Center (BHNRC), Agricultural Research Service (ARS),U.S. Department of Agriculture (USDA), May 2010

[๑๕] J Pérez-Jiménez, V Neveu, F Vos & A Scalbert, Identification of the 100 richest dietary sources of polyphenols: an application of the Phenol-Explorer database, The European Journal of Clinical Nutrition (EJCN), Published: 03 November 2010

[๑๖] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การประกาศกําหนดตําราการแพทย์แผนไทยของชาติและตํารับยาแผนไทยของชาติ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๖๐, วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เล่ม ๑๓๔ ตอนพิเศษ ๒๗๑ ง หน้า ๙
https://www.dtam.moph.go.th/images/document/law/National_Texts_2560-13.PDF?fbclid=IwAR2D2sPyyYoJQ6c1ArisM1mw9NUJqiOqGSwMZliL4NLhVFH2ysarCDUoKMI

17 ธ.ค. 2564  โดย: ผู้จัดการออนไลน์