ผู้เขียน หัวข้อ: ไม่จบ! ชมรมหนุน“ถ่ายโอน รพ.สต.”ให้ อบจ.ชน “วุฒิสภา”ขอหมื่นรายชื่อ สวนกลับ 10ข้อ  (อ่าน 407 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ไม่จบ! ชมรมหนุน “ถ่ายโอน รพ.สต.” ให้ อบจ. ขอ 1 หมื่นรายชื่อ คน สธ.ในท้องถิ่น-อสม. สวนกลับ 10 ข้อคัดค้าน ฉบับ “กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา” หลัง ส.ว.คนดี ยื่นลุงตู่ “ยับยั้ง” ถ่ายโอนฯ อ้างทำระบบสาธารณสุขปั่นป่วน จี้พิจารณาบนความพร้อมของ อปท. มากกว่ากำหนดเป็นเป้าหมาย “ส.ว.น้องชายรองฯวิษณุ” ชี้ ไม่มั่นใจโครงสร้างระบบนักเลือกตั้งท้องถิ่น หากตัดตอน ยกโครงสร้างพื้นฐาน เงิน บุคลากรให้ อปท. ที่เปลี่ยนทุก 3-5 ปี อาจทำนโยบาย “รพ.สต.” เปลี่ยน

วันนี้ (10 ธ.ค. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีนายวิษณุเครืองามรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับหนังสือ “ด่วนที่สุด” ที่ สว (กมธ 3) 0019/3303 จากคณะกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) วุฒิสภา

โดยหนังสือดังกล่าว ส่งถึงสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุหัวเรื่องว่า ขอให้ยับยั้งการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลงนามโดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) วุฒิสภา วันที่ 8 ธ.ค. 2564 ถึง “นายกรัฐมนตรี”

หนังสือระบุว่า เนื่องด้วยคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดเร่งรัดให้มีการถ่ายโอนรพ.สต. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไป อบจ. ซึ่งมี รพ.สต. ยื่นความประสงค์ขอถ่ายโอนทั้งสิ้น 3,036 แห่ง

และมี อบจ. ยื่นขอรับการถ่ายโอนทั้งสิ้น 49 แห่ง โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมิน กำหนดให้ถ่ายโอนอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง สำหรับ อบจ. ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินระดับดี 2 แห่ง สำหรับ อบจ. ที่ผ่านเกณฑ์ดีมาก และทุกแห่งสำหรับ อบจ. ที่ผ่านเกณฑ์ดีเลิศ

​ทั้งนี้ จากการพิจารณา คณะกรรมาธิการสาธารณสุขเห็นว่า การรวบรัดดำเนินการดังกล่าวอาจจะนำมาซึ่งปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในอนาคต ด้วยเหตุผลดังนี้

1. บุคลากรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะถ่ายโอนยังไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังไม่ได้พิจารณาประชุมเรื่องนี้

2. พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2546 กำหนดให้มีแผนและขั้นตอน แต่การถ่ายโอนไป อบจ. ครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากการถ่ายโอนที่ผ่านมา 51 แห่ง ก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นการถ่ายโอน รพ.สต. ไปองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลเท่านั้น จึงไม่มีแผนและขั้นตอนการถ่ายโอนไป อบจ. ให้บุคลากรด้านสาธารณสุขรับทราบแต่อย่างใด

3. หลังจากปี 2542 มี พ.ร.บ.ออกมาใช้บังคับอีกหลายฉบับทั้ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 มีการเปลี่ยนแปลงและแนวคิดด้านกระจายอำนาจหลายประการแตกต่างจากแนวคิดปี 2542 จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายทุกฉบับโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ

4. ระบบสาธารณสุขและเครือข่ายสาธารณสุขใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 รวมทั้งระบบสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสุขภาพปฐมภูมิ ใน พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 มีลักษณะเป็นพวงบริการและมีระบบส่งต่อผู้ป่วยไประหว่างเครือข่าย ไม่ได้มีลักษณะ Stand alone เหมือนบริการสาธารณะอื่น

5. ระบบสาธารณสุขมีการวางรากฐานและการพัฒนาเป็นขั้นตอนมาอย่างยาวนานร่วม 100 ปี ทั้งสาธารณสุขมูลฐาน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สุขศาลา สถานีอนามัย รพ.สต. และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จนสร้างระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เคยขึ้นถึงอันดับ 6 ของโลกมาแล้ว

6. การจัดสรรงบอุดหนุนจากท้องถิ่นมาสมทบที่ดี ทำให้ รพ.สต. ได้งบประมาณเข้ามาเติมในระบบ แต่ควรคำนึงถึงระยะยาวว่า อาจเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินหรือไม่ เพราในช่วงเวลาที่ผ่านมาเพียง 8 ปี ท้องถิ่นให้งบอุดหนุนเพิ่มมากถึง 726 ล้านบาท สำหรับ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนเพียง 51 แห่ง

7. การถ่ายโอน รพ.สต. เป็นนโยบายสาธารณะที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อประชาชน จึงสมควรดำเนินการอย่างรอบคอบเป็นขั้นตอน ผ่านการวิจัยและทดลองไปตามลำดับขั้น

8. การกระจายอำนาจเป็นหลักการที่ดี เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและทำให้มีส่วนร่วม แต่การกระจายอำนาจมีหลายวิธี ไม่ใช่เพียงการถ่ายโอนเท่านั้น เช่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) หรือการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติที่ทดลองให้มีเขตสุขภาพในพื้นที่นำร่องใน 4 เขตภูมิภาค กระจายทั่วประเทศ ประชาชนได้รับประโยชน์ และอยู่ในระหว่างดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขในขณะนี้

9. นโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง สมควรทำประชามติหรือสอบถามประชาชนโดยตรงว่า เห็นด้วยหรือไม่ แต่ยังไม่มีการดำเนินการในขณะนี้

10. ระบบสุขภาพปฐมภูมิมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้วในการควบคุมการระบาดของโรค Covid-19 และในอนาคตอาจมีการระบาดของโรคระบาดใหม่ที่อาจมีความรุนแรงกว่าเดิม ต้องอาศัยเครือข่ายของระบบสาธารณสุขที่จะต้องทำงานประสานกันเหมือนปัจจุบัน ซึ่งไม่ควรแยกจากกัน เพราะอาจสร้างปัญหาเหมือนกรุงเทพมหานครดังที่ผ่านมา

“จากเหตุผลทั้งหมดข้างต้น คณะกรรมการได้ขอให้มีการพิจารณาจัดให้มีคณะกรรมการศึกษากรณีการถ่ายโอนครั้งนี้ให้รอบคอบ ก่อนที่จะมีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพราะการดำเนินการที่เร่งรัดดำเนินการจะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในลักษณะที่ยากต่อการแก้ไขต่อไป” หนังสือระบุ

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา วาระพิจารณาศึกษาเรื่อง การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ.โดยคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ที่มี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. เป็นประธาน ได้วิเคราะห์ถึงเนื้อหาต่อการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. กว่า 9,787 แห่ง ตามกฎหมาย แผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้ อปท. ปี 2542 ซึ่งในปี 2563 พบว่าสามารถถ่ายโอนสำเร็จ 70 แห่ง

ส.ว. ส่วนใหญ่แสดงความเห็นให้ทบทวนการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. และพิจารณาบนความพร้อมของ อปท. เป็นหลักมากกว่าการกำหนดเป็นเป้าหมาย และความสำเร็จในการถ่ายโอน

คราวนั้น นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า การถ่ายโอนภารกิจ เชื่อว่าประชาชนจะได้รับ ผลกระทบ โดยเฉพาะการส่งต่อการรักษา หาก อปท.ไม่มีเครือข่ายโรงพยาบาลของตนเอง แต่ต้องฝากงานให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ การจัดสรรเงิน ซึ่งปัจจุบันตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรือ พ.ร.บ.สปสช. กำหนดให้ สปสช. เป็นผู้จัดสรรงบรวม 2 แสนล้านบาททั่วประเทศ แต่หากไม่แก้ไขกฎหมายจะทำให้มีปัญหา และที่ผ่านมาพบว่าการจัดสรรงบไม่เพียงพอ แต่ใช้การส่งต่อผ่านเครือข่ายโรงพยาบาล

ด้าน พลอากาศตรี นายแพทย์เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. (น้องชายนายวิษณุ เครืองาม) อภิปรายว่า รพ.สต. คือ การแพทย์ปฐมภูมิ หากตัดตอนยกโครงสร้างพื้นฐาน เงิน และบุคลากรให้ อปท. ที่มาจากการเลือกตั้ง คือ อบต. หรือ อบจ. ที่ไม่มั่นใจในโครงสร้างอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ที่เปลี่ยนทุก 3-5 ปี ทำให้นโยบายการดูแล รพ.สต.เปลี่ยน

ดังนั้น ขอฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณา เพราะตลอด 20 ปีพบว่า ถ่ายโอนไปเพียง 84 แห่ง หากพร้อมต้องโอนได้มากกว่านี้

ขณะที่เมื่อวานนี้ ( 9 ธ.ค. 64) ชมรม รพ.สต.ถ่ายโอน (ประเทศไทย) ได้โพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เชิญชวนหมออนามัย ผู้ทำหน้าที่ใน รพ.สต.ทั่วประเทศ ผู้ทำงานใน อบจ. ตลอดจนเครือข่าย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมลงชื่อ 1 หมื่นรายชื่อ แสดงพลังสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการถ่ายโอน รพ.สต.ให้ อบจ.

โดยประกาศลงแคมเปญผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ลงนามโดย นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมฯ

10 ธ.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ไปต่อ! แม้ถูกยับยั้ง เช็กรายชื่อ 49 อบจ.ผ่านประเมิน จ่อรับโอน 3,457 รพ.สต.- สอน.ด้าน 2 องค์กรสนับสนุน “อบจ.- รพ.สต.” ยื่นชื่อคนสาธารณสุข-อสม. 1.4 หมื่นรายชื่อ จี้ “นายกฯ” เร่งหน่วยงานรัฐ ตอบ 10 ข้อทักท้วง กมธ.สาธารณสุข สว. เชื่อ มีเจตนายับยั้งงบฯเข้าข่ายขัดขวาง/ก้าวก่าย แทรกแซงนโยบาย ก.ก.ถ.

วันนี้ (14 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายหลัง สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ได้รับแจ้งเวียนผลการประเมินองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ผ่านการประเมินความพร้อม ในการรับถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 49 แห่ง

ทั้งนี้ ประกอบด้วย อบจ.กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครปฐม นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี น่าน ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก

เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ระยอง ราชบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และ อุบลราชธานี

โดยล่าสุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดทำอบรมดับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เตรียมความพร้อมดำเนินการถ่ายโอน ระกว่างวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้

นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าผู้แทน สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และ ชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเร่งรัดให้ส่วนราชการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจและสนับสนุนงบประมาณ ปีงบประมาณ 2566

ประกอบบัญชีรายชื่อประชาชนที่ลงชื่อสนับสนุนนโยบาย จำนวน 14,410 คน และข้อดีของการดำเนินงานถ่ายโอนภารกิจ

พร้อมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับท่าทีของคณะกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) วุฒิสภา โดยมี นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ

ทั้งนี้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ประธาน กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยยื่น 10 ข้อให้ยับยั้งการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยฯ และ รพ.สต. ให้แก่ อบจ.

วันเดียวกัน ทั้ง 2 ส่วนที่เข้ายื่นหนังสือ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมย้ำว่า เจตนาของ กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา เป็นไปเพื่อยับยั้งงบประมาณ ไม่ให้มีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. อันน่าจะเป็นการขัดขวางและก้าวก่าย แทรกแซงนโยบายรัฐบาล ผู้ถืออำนาจฝ่ายบริหาร

“น่าจะก้าวก่ายแทรกแซงคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้มีอำนาจหน้าที่แห่ง พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และน่าจะก้าวก่ายแทรกแซงองค์การบริหารส่วนจังหวัด ราชการส่วนท้องถิ่น”

โดยออกเป็นข้อรียกร้อง 10 ข้อ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. บุคลากร รพ.สต. สมัครใจถ่ายโอนกว่า 20,000 คน ใน 49 จังหวัด รพ.สต. 3,457 แห่ง ได้อ่านศึกษาประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. เข้าใจชัดเจนและเมื่อได้ไตรตรองวิเคราะห์ว่าดีแล้ว จึงได้สมัครใจถ่ายโอนด้วยตนเอง พร้อมลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานในแบบแสดงเจตนาสมัครใจถ่ายโอน

ข้อ 2. พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ถือบังคับใช้มากว่า20 ปีแล้วและในท้ายแผนฯฉบับที่ 2 กำหนดให้ไว้ว่าหากไม่สามารถถ่ายโอน สอน./รพ.สต. ไป อบต./เทศบาล ได้ ก็ให้ถ่ายโอนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด
และคู่มือแนวทางถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ก็ได้จัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 4 ภูมิภาค 5 เวที คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) จึงมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 และประกาศถือบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564

ข้อ 3. ประกาศราชกิจจานุเบกษา คู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
ถึงแม้จะหลังปี 2542 จะมี พ.ร.บ.ฉบับใดประกาศใช้กี่ฉบับก็ตาม หลักการกระจายอำนาจก็ยังคงเป็นไปตามแผนกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายระบบสุขภาพทั้งหมดไม่มีฉบับใดไปขัดแย้งหรือลบล้างกฎหมายการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ข้อ 4. การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นแบบพ่วงบริการ มีความเป็นเอกภาพกว่าการถ่ายโอนไปแบบหน่วยบริการเดี่ยว อันจะทำให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็งขึ้น สามารถเชื่อมโยงระบบสุขภาพระดับทุติยภูมิ และระบบตติยภูมิให้มีศักยภาพ ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง กระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายการแบ่งกระทรวง ทบวง กรม และในกฎกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการบริหารภูมิภาค ทั้ง สสจ. และ สสอ. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
อีกทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตาม พรบ.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ประชาชนยังคงสิทธิในการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของรัฐ ไม่ว่า รพ.สต. จะอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด
การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ของ สอน./รพ.สต. ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ยังคงสามารถขึ้นทะเบียนได้เหมือนเดิมตามที่กฎหมายระบบสุขภาพปฐมภูมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้ว ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.ยังคงมีอำนาจหน้าที่สนับสนุนองค์การบริหารส่วนจังหวัดในการจัดระบบบริการสุขภาพเพื่อประโยชน์ประชาชน
หาใช่ว่าการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว ระบบสุขภาพปฐมภูมิจะเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดฝ่ายเดียว ซึ่งในคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดก็กำหนดให้มีคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เป็นเครื่องมือกลไกในการจัดระบบบริการระดับจังหวัด และราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศกำหนดแนวทางต่างๆ ไว้ในคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ไว้ชัดเจนและครบถ้วนแล้ว

ข้อ 5. วิวัฒนาการระบบสุขภาพ และโครงสร้างระบบสาธารณสุข ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หากแต่รัฐ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ควรต้องมุ่งเน้นการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเอง และดูแลสร้างสุขภาพของตนเอง ครอบครับ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้ โดยต้องมุ่งเน้น Self Care มากกว่า Medical Care ให้การสร้างสุขภาพ นำการซ่อมสุขภาพ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศเพื่อลดการเสียดุลการค้า

ข้อ 6. การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่ได้ก่อให้เกิดภาระงบประมาณของรับบาลเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะงบประมาณรายจ่ายใดที่เคยสนับสนุนให้ รพ.สต. ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็โยกเปลี่ยนสนับสนุนงบประมาณให้ รพ.สต. ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด งบประมาณใดที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพ และกระทรวงสาธารณสุข
ไม่เคยถึง รพ.สต. เพื่อใช้บริหารจัดการสร้างระบบสุขภาพก็จะได้ถึง รพ.สต. ถ่ายโอนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามแนวทางปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิครั้งใหญ่นี้ บนหลักการระบบสุขภาพปฐมภูมิ “สร้างนำซ่อม”

ข้อ 7. ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี นับแต่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายงานศึกษา วิจัย มีอยู่มากมาย ทั้งในส่วนของ สวรส. กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย รายงานกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร รายงานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา สถาบันการศึกษาต่างๆ
รวมทั้งความเห็นและมติในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ความเห็นของ กพร. และ คปร. ล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุข ระดับปฐมภูมิ ใน สอน. / รพ.สต. ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น ขอเพียงส่วนราชการ และองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องมีความจริงใจ

ข้อ 8. การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข โดยการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นการบูรณาการการกระจายอำนาจที่ดีที่สุด ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ และกระทรวงสาธารณสุข ระบบสุขภาพปฐมภูมิยังเป็นพวงบริการอยู่ด้วยกันอย่างมีเอกภาพ และสามารถจัดการความเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพระดับทุติยภูมิ ระดับตติยภูมิ ขอเพียงกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรที่เกี่ยวข้องมองเห็นภาพฉากทัศน์ที่ประโยชน์ประชาชนร่วมกัน

ข้อ 9. คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) โดยอนุกรรมการบริหารแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะทำงานจัดทำร่างคู่มือแนวทางการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้จัดทำเวทีพิจารณารับฟังคิดเห็นแล้ว เมื่อปีงบประมาณ 2563-2564 ทั้ง 4 ภูมิภาค จำนวน 5 เวที
โดยมีผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุข อยู่ร่วมกระบวนการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ฉบับร่าง จนประกาศราชกิจจานุเบกษาคู่มือแนวทางถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ออกมาถือบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 หาได้มีการรวบรัดตัดขั้นตอนใดๆ ตามที่กรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา เคลือบแคลงสงสัย

ข้อ 10. กรณีมีการระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคอุบัติใหม่ หรืออุบัติซ้ำ รัฐบาลมีกฎหมาย พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข สามารถสั่งการสั่งใช้เจ้าพนักควบคุมโรค ให้ยับยั้งควบคุมสถานการณ์โรคติดต่อได้เช่นเดิม โดยในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นรองประธานฯ

“จึงไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นใดๆ ที่กรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา จะกราบเรียนเสนอนายกรัฐมนตรี ยับยั้งการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด การเสนอยับยั้งการเกลี่ยงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุน รพ.สต. ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยไม่รับฟังความเห็นของบุคลากรสาธารณสุข ใน รพ.สต. ถ่ายโอนกว่า 20,000 คน ใน 49 จังหวัด รพ.สต. 3,457 แห่ง ก่อนที่จะมีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อยับยั้งงบประมาณนั้น” แถลงการณ์ ระบุ

14 ธ.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์