ผู้เขียน หัวข้อ: สภากาชาดจับมือ สปสช. พัฒนาระบบบริจาคอวัยวะใหม่  (อ่าน 1074 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
รองเลขาธิการ สปสช.เผย ร่วมมือ สธ.และสภากาชาดไทย พัฒนาระบบบริจาคอวัยวะให้มีผู้บริจาคได้ไม่ต่ำกว่า 10 ราย/แห่ง/ปี เน้นสร้างทีมแพทย์และบุคลากรด้านนี้โดยตรง...

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 55 นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัจจุบันสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ความคุ้มครองด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้แก่ การปลูกถ่ายไต การปลูกถ่ายไขกระดูก การปลูกถ่ายตับในเด็ก และการปลูกถ่ายหัวใจ ที่ผ่านมาอัตราการเข้าถึงบริการมีน้อยมาก เนื่องจากมีประชาชนไทยมีอัตราการบริจาคอวัยวะน้อย เช่น การปลูกถ่ายไต จากข้อมูลของมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยที่มาขึ้นทะเบียนรอรับการปลูกถ่ายไตปีละประมาณ 1,600 ราย แต่ได้รับการปลูกถ่ายไตจริงเพียง 200-300 รายเท่านั้น ซึ่งความไม่สมดุลตรงนี้ทำให้หน่วยบริการต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดระบบการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดและล้างไตทางช่องท้องไปก่อน เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้มากที่สุด ก่อนที่จะสามารถปลูกถ่ายไตได้ ขณะที่การปลูกถ่ายตับในเด็ก ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554 เป็นต้นมา มีผู้ป่วยเด็กที่สามารถเข้ารับการปลูกถ่ายตับประมาณ 2-3 รายเท่านั้น เนื่องจากการความยากในการหาอวัยวะที่ได้จากผู้บริจาค

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์สำคัญของ สปสช. ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขคือ การรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคอวัยวะ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการในส่วนของการปลูกถ่ายไต เน้นการบริจาคไตระหว่างญาติสืบสายโลหิตเดียวกัน หรือแม้กระทั่งสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรส เนื่องจากมีกฎหมายรองรับ ควบคู่กับการบริจาคไตจากผู้ที่เสียชีวิตแล้ว โดยจะมีการดำเนินการร่วมกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขในการเร่งพัฒนาระบบหาและบริหารการบริจาคอวัยวะ ภายใน 3-5 ปี รวมถึงการสร้างแรงจูงใจในการบริจาคอวัยวะและสนับสนุนให้มีชมรมผู้บริจาคไต และการดูแลสุขภาพผู้บริจาคไต โดยที่ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตในกรณีที่หาไตได้นั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เป็นไปตามสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพ และ สปสช.จ่ายชดเชยให้กับ รพ. ซึ่งยังมีผู้ป่วยที่รอการบริจาคไตอยู่จำนวนมาก

ทั้งนี้ การดำเนินงานการพัฒนาระบบบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายไตจะดำเนินงาน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย แพทยสภา และ สปสช. ซึ่งได้ตั้งเป้าไว้ว่า โรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่ง และโรงพยาบาลทั่วไปที่เข้าร่วมโครงการ จะพัฒนาระบบบริจาคอวัยวะให้มีผู้บริจาคได้ไม่ต่ำกว่า 10 ราย/แห่ง/ปี รวมถึงการพัฒนาสร้างทีมแพทย์และบุคลากรในด้านนี้โดยตรงด้วย ซึ่งการดำเนินดังกล่าวจะเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับการบริจาคอวัยวะใกล้เคียงสถิติ ต่อจำนวนประชาชนซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.

ไทยรัฐออนไลน์ 8 มค 2555