ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมถึงมีคนเดือดร้อน หาก LGBTQ+ ได้สิทธิสมรสเท่าเทียม ?  (อ่าน 374 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
เมื่อพูดถึงการสมรส เดิมทีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ระบุว่า การสมรสจะทำได้ระหว่างชายและหญิงที่อายุ 17 ปีบริบูรณ์ แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้สมรสก่อนนั้นได้ ข้อบังคับนี้ถูกใช้มานานหลายยุคหลายสมัย

ไม่มีอะไรคงเดิมได้ตลอดกาล พอโลกเปลี่ยนแปลงไป ข้อกฎหมายที่เคยคิดว่าครอบคลุม กลับไม่ครอบคลุมอีกแล้ว ยืนยันได้จากการถูกร้องเรียนโดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พวกเขาคือคู่รักเพศเดียวกันที่มีชีวิตคู่นานกว่า 13 ปี และตัดสินใจไปจดทะเบียนสมรส ก่อนถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตปฏิเสธทำเรื่องให้ โดยให้เหตุผลว่า การจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศเดียวกันขัดกับหลักกฎหมาย เพราะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็น ‘ชาย’ หรือ เป็น ‘หญิง’ ตามที่ระบุในมาตรา 1448

คู่รักคู่นี้ตัดสินใจยื่นคำร้องไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ก่อนเรื่องจะถูกส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องเตรียมวินิจฉัยว่า กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ที่กำหนดว่า บุคคลย่อมเสมอกัน และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกันหรือไม่

หลังจากถูกเลื่อนอ่านคำวินิจฉัยหลายต่อหลายครั้ง ด้วยเหตุผลการระบาดของโควิด-19 ในที่สุด ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 28 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. ซึ่งคำตอบที่ได้ คือ การเลื่อนอีกครั้งไปเป็นวันที่ 14 ธันวาคม 2564

ก่อนหน้านี้ เคยมีประชาชนยื่นคำร้องทำนองเดียวกันไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณาก่อนส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ผ่าน และเคยยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ดังนั้น การเคลื่อนไหวครั้งนี้ จึงถือเป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ

เรื่องราวดังกล่าวทำให้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เคล้าด้วยเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านของคนในสังคม

เมื่อ LGBTQ+ สั่นคลอนชุดความคิดเก่า
ในตอนนี้ หากใครที่เข้าสู่โลกทวิตเตอร์และพุ่งเป้าไปยังบทสนทนาเกี่ยวกับสิทธิของ LGBTQ+ หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ ส่วนใหญ่มักจะพบกับการตั้งคำถามเดิมซ้ำๆ ว่า “ทำไมถึงต้องมีคนคัดค้าน หากคนเพศเดียวกันจะแต่งงานกัน?”

คำถามง่ายๆ ต่อบทสนทนาได้ยืดยาว คนจำนวนไม่น้อยเกิดความรู้สึกสงสัยว่า ถ้าประเทศไทยมีกฎหมายที่เพศใดๆ ก็สามารถสมรสกันได้ ใครจะเป็นผู้เสียประโยชน์จากกฎหมายนี้ ใครจะได้รับผลกระทบจนอาจจะเดือดร้อนจากกฎหมายนี้ ซึ่งคำตอบที่ชัดเจนของคำถามดังกล่าว ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นเท่าไรนัก

เมื่อค้นบทความที่เอ่ยถึงความแตกต่างทางเพศ (ทั้งเชิงบวกและลบ) ท่อนหนึ่งของ ‘การรักร่วมเพศ : บทวิเคราะห์ตามแนวพุทธจริยศาสตร์’ ตีพิมพ์ในวารสารสหวิทยาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2563) ระบุว่า

‘เพศในสังคมไทยโดยทั่วไปเข้าใจว่าเพศที่ตรงตามธรรมชาติมีเพียง 2 เพศ หญิงกับชายที่ต้องเกิดมาคู่กัน ฉะนั้นเมื่อเกิดมาเพศใดจะต้องมีวิถีการดำเนินชีวิตทางเพศให้เป็นไปตามบรรทัดฐานทางเพศที่กำหนดไว้ ผ่านกระบวนการเรียนรู้เรื่องคุณค่าของการเป็นหญิงหรือเป็นชาย ในขณะที่เรื่องราวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ปรากฏมากขึ้นในสังคมทั้งในด้านบวกและด้านลบ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายระบบความเชื่อเดิม’

ยังมีคนจำนวนมากในสังคมไทยปัจจุบันที่มองว่า LGBTQ+ มีภาพลักษณ์ไม่ดีงาม ผิดศีลธรรม ไม่ถูกตามครรลองคลองธรรม หรือไม่เป็นที่ยอมรับด้านความเชื่อทางศาสนา กรอบความคิดเหล่านี้ทำให้คนที่ตัดสิน LGBTQ+ ในเชิงลบไปแล้ว เริ่มเกิดความกังวล ว่าหากคนหลากหลายทางเพศได้สมรสกันอย่างถูกกฎหมาย สังคม ค่านิยม หรือตัวเอง อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ระหว่างที่มีคนกังวลว่า ตัวเองจะได้รับผลกระทบทางอ้อม ชุดความคิดความเข้าใจข้างต้น ส่งผลลบต่อกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศโดยตรงมาอย่างยาวนาน จนทำให้ชวนตั้งคำถามอีกครั้งว่า ตกลงแล้ว ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส หรือที่เรียกกันแบบเข้าใจง่ายว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ จะส่งผลเสียแก่สังคมไทยอย่างมากมายมหาศาล จนต้องออกมาคัดค้านหัวชนฝาหรือไม่ และคำตอบที่ได้ อยู่ในตัวบทกฎหมาย ที่จะทำให้เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวได้อย่างแม่นยำ

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส
หลายต่อหลายครั้งที่ประชาชน นักวิชาการ หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พยายามผลักดันให้การสมรสเท่าเทียมกลายเป็นกฎหมายใช้ได้จริง แต่จนถึงตอนนี้ เรื่องก็ยังไปไม่ถึงไหนเสียเท่าไร

เอกสาร ‘รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น และรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ... นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เป็นผู้เสนอ’ ระบุถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องแก้กฎหมายไว้ว่า เพื่อให้บุคคลธรรมดา ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

‘เนื่องจากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หลายมาตรานั้นขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติซึ่งปรากฏในบรรพ 5 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งขัดต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ’

‘จึงขอเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้บุคคลทุกคนได้การรับรองสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการหมั้น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม และการรับมรดกจากคู่สมรส ซึ่งการแก้ไขนี้ จะทำให้สิทธิของบุคคลทุกคนเกิดความเท่าเทียม และได้รับการรับรองและคุ้มครองทางกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้’

ใน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส มองว่าการจำกัดเพศชายหญิงเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่จำเป็นต้องแก้แค่บางอย่างเท่านั้น อะไรก็ตามที่เป็นหลักการเดิมที่ทุกฝ่ายเห็นควรว่าดีจะยังคงอยู่ เช่น

การห้ามสมรสซ้อน
การห้ามสมรสกับบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
การสมรสระหว่างญาติสืบสายโลหิต พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พิจารณาความเป็นญาติตามข้อเท็จจริงเป็นสำคัญตามเดิม โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ฆ่าคู่สมรสของตน จะมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรได้รับมรดกตามมาตรา 1606 (3)

ส่วนประเด็นที่ต้องแก้ หลักใหญ่ใจความสำคัญมุ่งเน้นไปยังการแก้ไขสรรพนามที่ปรากฏในกฎหมายเช่น เปลี่ยนคำจาก ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เป็น ‘บุคคล’ กับ ‘บุคคล’ หรือ ‘ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น’ รวมถึงคำว่า ‘สามีและภรรยา’ ให้เหลือเพียงแค่ ‘คู่สมรส’

ส่วนเรื่องทรัพย์สินและมรดก มีการขอแก้ไขเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย เดิมที สิทธิในการสร้างครอบครัวจะจำกัดเฉพาะคู่ชายหญิง ส่งผลให้แม้ว่าผู้ที่ไม่ใช่ชายหรือหญิงตามนิยมของตัวบทกฎหมาย จะมีชีวิตคู่อยู่กินกันเหมือนกับชายหญิงที่จดทะเบียนสมรส หากวันหนึ่งมีคนใดเสียชีวิตแล้วไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินของผู้ตายจะถูกส่งไปยังผู้เกี่ยวข้องทางสายเลือด ไม่เหมือนกับการจดทะเบียนสมรสของคู่รักชายหญิง ที่อีกฝ่ายจะมีสิทธิเรื่องมรดกทันทีที่จดทะเบียนสมรส

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส จึงเห็นควรระบุให้ไม่ว่าคู่สมรสจะเป็นเพศใด ย่อมมีสิทธิรับมรดกของคู่สมรส แม้อีกฝ่ายจะไม่ได้ทำพินัยกรรมก็ตาม

ส่วนเรื่องหนี้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 1477 ให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรส หรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรส หนี้อันเกิดแต่การฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นหนี้ที่คู่สมรสเป็นลูกหนี้ร่วมกัน หรือการแก้ไขมาตรา 1481ให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้ เป็นต้น

เรื่องของการรับบุตรบุญธรรม ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส รับรองสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมสำหรับคู่สมรสเพศชายหญิงอยู่แล้ว สิ่งที่จะแก้เพิ่มคือการเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 1598/42 ระบุว่า

‘ให้คู่สมรสซึ่งเป็นเพศเดียวกันและจดทะเบียนสมรส สามารถรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้มีสิทธิหน้าที่ระหว่างคู่สมรสด้วยกัน ระหว่างบิดา มารดา บุตร แล้วแต่กรณีตามบรรดากฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบบัญญัติ’

ในกรณีมีบุตรโดยใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ที่เรียกกันว่า ‘การอุ้มบุญ’ เรื่องนี้อยู่ใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือ ‘พ.ร.บ.อุ้มบุญ’ ยังคงจำกัดให้คู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรส แต่ฝ่ายภรรยาไม่สามารถตั้งครรภ์ได้โดยธรรมชาติ สามารถให้หญิงคนอื่นตั้งครรภ์แทนเท่านั้น และในอนาคต ผู้ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม อาจร่วมผลักดันให้แก้ พ.ร.บ.อุ้มบุญฯ เป็นลำดับถัดไป

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส ยังกล่าวถึงเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น การเพิ่มอายุคู่หมั้นหรือคู่สมรสทั้งสองฝ่ายจาก 17 ปี เป็น 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับ ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก’ แต่ยังสามารถยกเว้นได้ในบางกรณีตามดุลพินิจของศาล

หากสามารถแก้ไขกฎหมายได้จริงๆ คู่สมรสทุกเพศจะมีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการรัฐของคู่สมรสได้ เช่น การรับประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิในการลดหย่อนภาษีบุตรบุญธรรม

ใครจะเสียประโยชน์จากการแก้กฎหมายสมรสให้เท่าเทียม
การวิจารณ์โต้ตอบกันไปมาเรื่องสิทธิของ LGBTQ+ ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย บ้างก็มองว่าหากคนคนหนึ่งมีสิทธิที่จะทำหรือได้รับบางสิ่ง แล้วทำไมถึงต้องคัดค้านให้คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับสิทธิเดียวกัน เพียงเพราะพวกเขาแตกต่างหรือถูกมองว่าไม่ปกติในกรอบจารีต วนไปยังคำถามแรกเริ่มของงานชิ้นนี้ว่า “ทำไมถึงต้องมีคนคัดค้านหากคนเพศเดียวกันจะแต่งงานกัน ?” 

เว็บไซต์ iLaw อ้างอิงข้อมูลคำพูดจาก ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล หนึ่งในผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส ที่แสดงความคิดเห็นถึงการปรับแก้ของหมั้นและสินสอดว่าเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

“การที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ฝ่ายชายเป็นผู้มอบของหมั้นและสินสอด อาจส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมในบ้าน ลามไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากฝ่ายชายอาจรู้สึกว่า ตนมีอำนาจเหนือกว่าหญิงเพราะเป็นผู้ให้ทรัพย์สินแก่ฝ่ายหญิงและครอบครัว จึงต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการรื้อชุดความคิดนี้ออก”

ข้อมูล ความรุนแรงทางเพศ: บทสะท้อนความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ จากรายงานสืบเนื่องจากการสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสการสถาปนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ปีที่ 65 กล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ ที่มีปัจจัยมากมายทั้งจากสัมพันธภาพเชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม กระบวนการขัดเกลาทางเพศในสังคม ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศกับปัญหาความรุนแรงทางเพศซ้ำซ้อน ที่อาจเชื่อมโยงให้เห็นภาพกว้างในสังคมมากขึ้น ว่ามีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้คนคัดค้านการสมรสเท่าเทียม

‘โครงสร้างทางสังคมไทยยังมีค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรมเกี่ยวกับเพศบางอย่างที่มีส่วนสำคัญอันจะก่อให้เกิดปัญหาความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ทั้งที่สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากตามแนวคิดทางสังคมสมัยใหม่ แต่บรรทัดฐานทางสังคมดั้งเดิมยังคงอยู่’

‘ความรุนแรงทางเพศในสังคมนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ ทั้งเพศชาย เพศหญิง รวมทั้งเพศทางเลือก ฝังรากลึกอยู่ในโครงสร้างของสังคมไทย’

‘แนวทางในการแก้ไขปัญหาในภาพรวมในวัฒนธรรมทางเพศนั้น เราต้องส่งเสริมวัฒนธรรมทางเพศใหม่ที่ไม่ยอมรับความรุนแรงทุกรูปแบบ ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมทางเพศใหม่ที่ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องรื้อประเด็นสัมพันธภาพเชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศนั้นสังคมไทย ความคิดใหม่เรื่องเพศ เปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อที่ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศไม่เท่าเทียมกัน’

‘ต้องเร่งสร้างความคิด ความเชื่อใหม่ให้สังคมได้ตระหนักถึงการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วนประเด็นกระบวนการ ขัดเกลาทางเพศในสังคมต้องมีการเสริมพลังอำนาจให้เพศหญิงได้มีความมั่นใจในตนเอง สามารถช่วยเหลือตนเองอย่างเต็มศักยภาพในทุกๆ ด้าน ซึ่งประเด็นปัญหาในทุกประเด็นมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม เป็นปัญหาที่สังคมต้องร่วมกันแก้ไข’

ปัญหามากมายหลอมรวมให้เรื่องที่ไม่ปกติกลายเป็นสิ่งปกติในสังคม และการชำระล้างค่านิยมหรือความเชื่อที่ได้รับความนิยมมาก่อน ด้วยเรื่องใหม่ๆ ประเด็นใหม่ หรือการวิจารณ์ว่าสิ่งที่เคยเชื่ออาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด จึงเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดการคัดค้านการผลักดันเรื่องสิทธิทางเพศ

หากมองว่าการแก้กฎหมายจะทำให้คนบางกลุ่มเสียประโยชน์ จะพบว่าไม่มีฝ่ายใดต้องเสียประโยชน์จากร่างแก้ไขกฎหมายนี้อย่างร้ายแรงเลยแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน เป็นการลดภาระเรื่องของหมั้นสินสอดที่ฝ่ายชายต้องเป็นผู้ลงทุน ลดความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของชีวิตของใครเพียงเพราะรู้สึกว่าตนได้มอบเงินหรือสิ่งของให้แก่ครอบครัวอีกฝ่ายแล้ว หรือแม้กระทั่งได้ช่วยชีวิตใครสักคนที่แพทย์กำลังต้องรอสิทธิตัดสินใจจากคนที่มีทะเบียนสมรส

การผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียม อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อค่านิยมเก่าที่ทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำทางเพศ แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบทีละน้อยก็ตามที แต่ทุกแรงกระเพื่อม จะนำไปสู่การปรับความเข้าใจของผู้คน และทำให้เรื่อง ‘คนเท่ากัน’ ชัดเจนยิ่งขึ้นในสังคมไทย

อ้างอิง

บันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
พระราชบัญญัติ คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558
‘รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น และรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ... นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เป็นผู้เสนอ’
บทวิเคราะห์ ‘การรักร่วมเพศ: บทวิเคราะห์ตามแนวพุทธจริยศาสตร์’
ความรุนแรงทางเพศ: บทสะท้อนความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ

28 ก.ย. 64
https://plus.thairath.co.th/topic/speak/100520

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
หลังจากวันที่ 28 กันยายน 2554 ศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ระบุว่า การสมรสจะทำได้ระหว่างชายและหญิงที่อายุ 17 ปีบริบูรณ์ ขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ที่กำหนดว่า บุคคลย่อมเสมอกัน และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกันหรือไม่ ไปเป็นวันที่ 14 ธันวาคม 2554 หลังมีการแจ้งเพิ่มเติมจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่า ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ ศาลจะมีกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ในการวินิจฉัยว่า มาตรา 1448 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

เท่ากับว่าคนไทยทั้งประเทศอาจจะได้รู้ผลความคืบหน้าเรื่องสิทธิในการแต่งงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ที่มักเรียกกันว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ เร็วกว่ากำหนดเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้

เอกสารในการเลื่อนครั้งก่อนระบุว่า ‘ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.30 นาฬิกา’

เมื่อถึงวันจริงและเข้าสู่ช่วงบ่าย แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ค่อยๆ ไต่อันดับเทรนด์ความนิยมจากอันดับ 5 ไล่ขึ้นมาเป็น 4 ตามด้วย 3 และ 2 ตามลำดับ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์พูดถึงคือการตั้งคำถามว่า มติศาลรัฐธรรมนูญจะประกาศกี่โมง และพูดถึงสิทธิที่ LGBTQ+ ควรจะได้รับในฐานะพลเมืองไทย

เวลาประมาณ 17.20 น. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรองรับสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป ส่งผลให้แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ขึ้นอันดับ 1 ความนิยมในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว เคล้าด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลายของประชาชนต่อคำวินิจฉัยครั้งนี้

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดของ พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส และสิทธิต่างๆ ที่ผู้มีความหลากหลายพึงจะได้รับเท่ากับคู่สมรสชาย-หญิง ได้ที่ "ทำไมถึงมีคนเดือดร้อน หาก LGBTQ+ ได้สิทธิสมรสเท่าเทียม ?"


17 พ.ย. 64
https://plus.thairath.co.th/topic/speak/100717