ผู้เขียน หัวข้อ: เซ็กซ์เรื่องน่าอับอาย บัดสีบัดเถลิงจริงหรือ ทำไมหนังโป๊ในไทย ไม่ถูกกฎหมาย  (อ่าน 298 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
เป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ "น้องไข่เน่า" เซ็กซ์ครีเอเตอร์ (SexCreator) เว็บไซต์ OnlyFans และกลุ่ม "เจริญ Porn" บุกสภาเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ว่าด้วยเรื่องสื่อลามกอนาจาร ควรจะเปิดกว้างให้ถูกกฎหมาย มีเสรีภาพในการแสดงออก

ขณะที่หนังโป๊ การแสดงออกเรื่องเซ็กซ์ในหลายประเทศ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ในเมืองไทยถูกมองเป็นเรื่องบัดสีบัดเถลิง นอกจากมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) ในการโพสต์สื่อลามกเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

"ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน" อาจารย์สมทบมหาวิทยาลัยมูฮัมมาดียะห์ สุราการ์ตา (UMS) อินโดนีเซีย มองว่า ควรแก้กฎหมายมานานแล้ว เนื่องจากสื่อลามกอยู่กับสังคมไทยมานาน กระทั่งมาถึงยุคอินเทอร์เน็ต ได้มีการเคลื่อนไหวให้แก้กฎหมายมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ 2-3 ปี จนสุดท้ายแล้วก็ยังใช้กฎหมายในการปราบปราม ทำให้ไม่มีทางออก โดยเฉพาะเรื่องทางเพศของผู้คนทั่วไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เมื่อมีการปราบปราม ก็ต้องลงใต้ดิน และยิ่งในยุคอินเทอร์เน็ต ก็มาอยู่เกือบผิวดิน

“กฎหมายสื่อโป๊ และสื่อลามก อาจต่างกันและอาจทับซ้อนกัน โดยรัฐตั้งใจคุมสื่อลามกมากกว่า เลยกลายเป็นว่าเข้ามาคุมสื่อโป๊ไปด้วย ยกตัวอย่างในสหรัฐฯ มีการเปิดพื้นที่ทางเพศพอสมควร เช่นเดียวกับญี่ปุ่น แหล่งอุตสาหกรรมหนังโป๊ ก็มีกฎหมายสื่อโป๊ และมีพื้นที่เปิดให้คนในสังคม หากเปิดเผยให้เห็นอวัยวะเพศถือเป็นสื่อลามก และถ้าไม่เห็นก็เป็นสื่อโป๊ แต่สังคมไทย อาจออกกฎหมายสื่อลามก ตามคำนิยาม ทัศนคติของคนในสังคม และศาลเคยพิพากษาในเรื่องนี้ เกือบ 60 ปี มันนานไปแล้ว”

เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนไปตามยุคสมัยใหม่ ควรให้คำนิยามสื่อโป๊แยกจากสื่อลามกให้ชัดเจน เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับคนในสังคมในเรื่องนี้ ส่วนประเด็นจะเกิดปัญหาอาชญากรรมทางเพศ พบว่าไม่เกี่ยวข้องกัน หรือต่อให้มีการปราบปรามสื่อเหล่านี้เป็นจำนวนมากก็ตาม เพราะอาชญาทางเพศจะเกิดขึ้น ถ้ามีโอกาสและยังคงมีเหยื่อเกิดขึ้น แม้มีหรือไม่กฎหมายสื่อลามก ตามทฤษฎีอาชญาวิทยา

ที่ผ่านมาแม้มีการเคลื่อนไหวให้แก้กฎหมาย แต่ทัศนะของรัฐต่อเรื่องนี้ มองว่าผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นแล้วการจะแก้ให้ถูกกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องเพศอาจค่อนข้างลำบาก ทั้งๆที่สื่อโป๊ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางเพศ สร้างเงินมากมาย กลับไม่ได้คิดนำมาสร้างรายได้ให้กับรัฐ รวมทั้งเซ็กซ์ทอย และค้าบริการทางเพศ อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่ารัฐจะเปิดให้อยู่ในระบบมากขึ้นหรือไม่ เพราะยังมองเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จึงมองว่าในทางปฏิบัติคงทำไม่ได้อย่างแน่นอนในการแก้กฎหมาย

“การระมัดระวังเรื่องเนื้อตัวร่างกายทางเพศ เพิ่งเข้ามาไทยเมื่อ 200 ปี ทำให้ยังยึดติดกับค่านิยมผิดๆ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นสังคมไทยดั้งเดิม ไม่ได้รังเกียจในเรื่องทางเพศ กระทั่งมีการเปลี่ยนผ่านต่างๆ จากยุคล่าอาณานิคม มาสู่ยุคศิวิไลซ์ มีการดึงเรื่องเพศเข้ามาจากยุโรป กลายเป็นเรื่องอับอาย จนถึงปัจจุบัน และเป็นสิ่งผิดกฎหมาย”

สื่อโป๊ ข้อถกเถียงไม่จบสิ้นของคนสองกลุ่ม
เช่นเดียวกับ "รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์" นักวิชาการสตรีศึกษาเพศวิถีศึกษา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่พื้นที่ในการเผยแพร่หรือแพลตฟอร์ม อาจเปลี่ยนแปลงไป และที่ผ่านมาในเมืองไทยถกเถียงกันมานานแล้วเรื่องสื่อโป๊ ระหว่างจุดยืนของกลุ่มอนุรักษนิยม มองว่าเรื่องเซ็กซ์ไม่เหมาะสม ไม่ควรออกมาเพ่นพ่านในที่สาธารณะ มีการตื่นตระหนกในเชิงศีลธรรม จนเกิดแรงกระเพื่อมในเรื่องนี้

ขณะที่กลุ่มเสรีนิยม เน้นการต่อสู้ประชาธิปไตย การต่อสู้ของบุคคลในเรื่องสิทธิในร่างกาย ทั้งด้านเพศและเซ็กซ์ ซึ่งรัฐไม่ควรไปควบคุมในเรื่องนี้ และมีกลุ่มนักสตรีนิยมมองสื่อภาพโป๊ ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมองว่าสื่อพวกนี้เป็นอันตรายแก่ผู้หญิง นำไปสู่การข่มขืน มีข้อถกเถียงมานาน

กลุ่มสองมีแนวคิดเสรีนิยม มองว่าเนื้อตัวร่างกายของฉันจะเฉลิมฉลองทำอะไรก็ได้กับร่างกายตัวเอง สิทธิเสรีภาพในการมีความสุขในเรื่องเพศ เป็นความหฤหรรษ์ในเรื่องเพศ ขณะที่สังคมในตะวันตกก็ถกเถียงเรื่องนี้ ในประเด็นสตรีนิยมกับเสรีนิยมจะเป็นกระแสหลัก แต่สังคมไทย กระแสอนุรักษนิยมยังคงเป็นกระแสหลักอยู่

ปัจจุบันการเป็นเซ็กซ์ครีเอเตอร์ มีทั้งสื่อโป๊ไม่ดี สร้างความรุนแรงไม่สร้างสรรค์จริงๆ กับสื่อโป๊ที่สร้างสรรค์ สามารถใช้ศึกษาทางเพศศึกษาได้ ซึ่งมีทั้งเชิงลบเชิงบวก อยู่ที่กระบวนการของการผลิตวัตถุประสงค์ในการผลิต และกระบวนการเผยแพร่ ถ้ามีกระบวนการของการกดขี่ทางเพศ ใช้ความรุนแรงและเผยแพร่ในวงกว้าง อาจส่งผลต่อเด็กที่ไม่มีวุฒิภาวะ อาจเป็นสื่อที่ไม่ดี

ส่วนสื่อที่ดี มีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้บังคับขืนใจ ผ่านการยินยอมพร้อมใจ และเผยแพร่ในกลุ่มที่มีวุฒิภาวะ มีรสนิยมเสพสื่อเหล่านี้เพื่อกระตุ้นทางเพศ เพราะฉะนั้นกระบวนการผลิต วัตถุประสงค์และการเผยแพร่เป็นสิ่งสำคัญ หากไม่ไปทำร้ายสร้างอันตรายต่อใครกับสาธารณะใดๆ ก็ไม่มีเหตุผลให้ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับการขายบริการทางเพศ จากความยินยอมพร้อมใจของคนขายบริการ ไม่ใช่จากการบีบคั้นจากสภาพแวดล้อม หรือสภาพทางเศรษฐกิจ ถูกใช้กำลังบังคับทุบตีทำร้าย เป็นเรื่องที่ทางรัฐต้องเข้ามาจัดการ ไม่ให้เป็นเหยื่อของความรุนแรง

“เป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อน ไม่ใช่คิดแค่ชั้นเดียว วิพากษ์วิจารณ์กันไป และกฎหมายบ้านเราออกมาชั้นเดียวแบบเหมารวม ไม่ได้มองพฤติกรรม เงื่อนไขที่เกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง มองแค่ว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายก็ลงโทษ จึงเป็นข้อเสียตรงนี้”

กรณีเซ็กซ์ครีเอเตอร์ มองว่าเป็นการถ่ายภาพท่าทางแอ็กชั่นต่างๆ เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์แล้วเอามาเผยแพร่คลิปทางอินเทอร์เน็ต มีการขายให้คนเข้ามาชม มีความต่างกันและไม่เหมือนกับการขายบริการทางเพศ แต่บางทีอาจทับซ้อนกันอยู่บ้าง

ยกตัวอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ถูกกฎหมายทั้งหนังโป๊และการค้าประเวณี และที่ผ่านมาคดีข่มขืนน้อยมาก เพราะสื่อโป๊ทั้งหลายถูกกฎหมาย แต่การลดปัญหาอาชญากรรมทางเพศลงได้นั้น ไม่ได้สัมพันธ์กันกับเรื่องนี้ ไม่ใช่อุตสาหกรรม อยู่ภายใต้การกดขี่ทางเพศ

ย้อนไปในอดีตสังคมไทยก่อนยุคล่าอาณานิคม ไม่ได้มองเรื่องเพศเชิงลบ แต่เมื่อรับวัฒนธรรมตะวันตก หรือวัฒนธรรมวิกตอเรีย ซึ่งมาจากศาสนาและการศึกษา ทำให้ไทยเข้าสู่ความสมัยใหม่ ความคิดชนชั้นกลางผ่านระบบการศึกษา ได้รับการปลูกฝังว่าเรื่องนี้ผิดศีลธรรม น่าอับอายควรทำในที่ลับ จึงมีการออกกฎหมายเอาผิดคนที่แสดงออกทางเพศอย่างโจ๋งครึ่ม โดยเฉพาะผู้หญิงเปลือยอกก็ผิดกฎหมายถือว่าอนาจาร

ก.ม.ไทยเหมาเข่ง เอาผิดเรื่องเพศ ไม่มองบริบท
นอกจากนี้ไทยมีกฎหมายอาญาเอาผิดในเรื่องเพศหลายมาตรา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องข่มขืนเท่านั้น โดยบางเรื่องเป็นเรื่องของความเป็นส่วนตัว เป็นเรื่องสิทธิ แต่ไทยทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายเกือบทุกกรณี แบบเหมาเข่ง ไม่มองรายละเอียดปริบทเงื่อนไขของการทำสิ่งเหล่านั้นว่านำความเสียหายในเชิงสาธารณะมากน้อยขนาดไหน และการลงโทษไม่สมดุลกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในที่สาธารณะ

“กลายเป็นปัญหาที่คนรุ่นใหม่ ตั้งคำถามเพิ่มมากขึ้น กับวิธีคิดเรื่องเพศของคนส่วนใหญ่ ต้องตอบให้ได้ถ้าเซ็กซ์ครีเอเตอร์ ผิดกฎหมาย หากกระบวนการผลิตไม่ได้ทำร้าย หรือทำความรุนแรงกับใคร เป็นเรื่องที่ยินยอมพร้อมใจอย่างแท้จริง ไม่ได้ถูกบังคับ ต้องดูว่าทำด้วยความชอบส่วนตัว หากกระบวนการเผยแพร่ให้คนเข้ามาชมเพื่อได้เงินมา และไม่ใช่เด็กที่ไม่มีวุฒิภาวะตามกฎหมาย ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อสาธารณะอย่างใหญ่หลวง หรือทำให้ใครตายหรือบาดเจ็บ ก็คิดว่ากฎหมายไม่ควรมายุ่งเกี่ยว ควรแยกแยะให้ชัด อย่าเหมาเข่ง”

ทางออกของสังคมไทย มองว่าต้องรื้อหลักสูตรเพศศึกษาให้หมด ให้มองเรื่องเพศในทางบวก ไม่ใช่มองว่าสกปรก แต่ต้องเรียนรู้ให้ครอบคลุม อย่างเนเธอร์แลนด์ ไม่ได้ปิดกั้นเด็กในการคุยเรื่องเพศ ส่วนอเมริกา มองเรื่องเพศในเชิงลบมากกว่า และพบการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรสูงขึ้น ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทย โดยใช้กระบวนการศึกษา ให้มองเรื่องเพศเชิงบวก สอนให้ป้องกันการท้องในวัยรุ่น ติดเชื้อเอดส์ และความรุนแรงทางเพศน่าจะลดน้อยลง

ส่วนคนจะเลือกอาชีพเซ็กซ์ครีเอเตอร์ คิดว่าขึ้นอยู่กับแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ หรือมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน อาจทำให้เลือกอาชีพนี้ได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องลดความเหลื่อมล้ำ ยกเว้นหากชื่นชอบในอาชีพนี้เป็นทางเลือกที่อยากจะเดินก็ไม่ควรปิดกั้น แต่ต้องรู้จักป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดความเสียหายตามมา

สุดท้ายแล้วหากคนในสังคม ยืนยันเรื่องเพศผิดเป็นเรื่องศีลธรรมก็ต้องอธิบายให้ได้กับคนรุ่นใหม่ ไม่พูดแบบกำปั้นทุบดิน ขณะเดียวกันต้องอธิบายว่าเสรีภาพจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ หากกระบวนการผลิตสื่อโป๊ ไม่ได้เกิดจากการบังคับ หรือก่อความรุนแรง ไม่ใช่ทุกอย่างต้องผิดกฎหมาย ซึ่งกฎหมายต้องค่อยๆ เปลี่ยน ควบคู่ไปด้วยกันกับหลักสูตรการศึกษาในเรื่องเพศศึกษา ซึ่งรวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ไม่ใช้ความรุนแรงทางเพศ ไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ เพื่อไม่ให้เอารัดเอาเปรียบกันเรื่องเพศ

“อยากให้ทุกฝ่ายทบทวนจุดยืนของตัวเองว่า จุดยืนอนุรักษนิยม หรือเสรีนิยมเป็นอย่างไร มีข้อบกพร่องตรงไหน หรือเข้าใจมันมากพอหรือไม่ ในการสร้างความเข้าใจเรื่องเพศทางบวก ต้องอธิบายให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าไม่ใช่จุดยืนตามแฟชั่น และไม่ได้สร้างความเสียหายกับใคร”.

ไทยรัฐออนไลน์
17 พ.ย. 2564