ผู้เขียน หัวข้อ: สวนทางกัน! สสจ.สระแก้ว-อย.-สบส.-แพทยสภาตอบปม "หิ้ววัคซีนจอห์นสันฉีดเอง"  (อ่าน 378 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
อย.ชี้นำเข้าวัคซีนโควิด-19โดยผู้ไม่ได้รับอนุญาต “ผิดกฎหมาย” ห่วงคนฉีดได้วัคซีนปลอม-เสื่อมคุณภาพหรือไม่ ยันยังไม่พบปัญหาการลักลอบนำเข้า ขณะที่สบส.ชี้คลินิกต้องใช้ยา-วัคซีนของคลินิก ด้านแพทยสภาระบุแพทย์ต้องไม่ประกอบวิชาชีพโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย

   จากกรณีมีการแชร์ข้อมูลว่ามีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สระแก้ว โดยมีค่าใช้จ่าย 2,800 บาท  ต่อมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ. สระแก้วออกมาระบุว่า  จากการลงไปตรวจสอบคลินิกเอกชนดังกล่าว ไม่พบผลิตภัณฑ์วัคซีน ไม่มีการขายวัคซีนด้วย แต่แพทย์ยอมรับว่า มีการฉีดจริง อ้างว่าคนไข้เอามาให้ฉีด และหลังตรวจสอบฐานความผิดแล้ว ระบุว่า คลินิกห้ามซื้อยาหรือวัคซีนผิดกฎหมาย แต่ไม่พบความผิดตรงนี้ ส่วนการที่แพทย์ฉีดวัคซีนให้คนไข้ สามารถทำได้ เพราะแพทย์มีใบประกอบโรคศิลปะ สามารถใช้ดุลยพินิจฉีดให้ได้ ซึ่งตรวจสอบกับฝ่ายกฎหมายแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ก็ได้นำเข้าระบบการตักเตือนให้ระมัดระวังการประกอบวิชาชีพ และตั้งคณะกรรมการสอบหาว่าวัคซีนดังกล่าวมาจากที่ไหนนั้น

     ล่าสุด เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 8 พ.ย.2564 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้สัมภาษณ์ประเด็นดังกล่าวว่า วัคซีนที่นำเข้าโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตนำเข้า ถือเป็นวัคซีนผิดกฎหมายทั้งหมด ถือเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน แม้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับทะเบียนแล้วก็ตาม แต่ผู้นำเข้าไม่ใช่คนที่ได้รับอนุญาต ถือว่าผิดกฎหมาย ยกเว้น บางกรณีของหน่วยราชการ เช่น กรมควบคุมโรค สถานทูต เพราะเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ จะประสานไปที่ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สสจ.สระแก้ว เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เนื่องจาก เป็นห่วงคนที่ไปฉีด ไม่รู้ว่าเป็นของจริงหรือไม่ เป็นวัคซีนอะไร เพราะต้องเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาการลักลอบนำเข้าวัคซีนในประเทศ

        “ต้องตรวจสอบก่อนว่า วัคซีนที่นำเข้ามาเป็นวัคซีนจอห์นสันฯจริงหรือไม่ ซึ่งผู้ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าตอนนี้ คือ บริษัทแจนเซ่น ซีแลค จำกัด หากเป็นคนอื่นหรือบริษัทอื่นนำเข้ามา ถือว่าผิดกรณีนำเข้ามาโดยไม่รับได้อนุญาต มีความผิดตามมาตรา12 พ.รบ.ยา  ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท” นพ.ไพศาล กล่าว

    ขณะที่ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า วัคซีนที่จะฉีดได้นั้น   
1.ต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติจากอย. และ
2.วัคซีนต้องมีกลไกในการบริหารจัดการ โดยสถานพยาบาลเป็นเจ้าของวัคซีนนั้น เพราะจะมีเรื่องความปลอดภัยในการจัดเก็บวัคซีน ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าจะเอาอะไรมาฉีดให้คนไข้ก็ได้ แพทย์ต้องตรวจสอบคุณภาพวัคซีนว่าถูกต้องตามกฎหมายของไทยหรือไม่ นำเข้าถูกต้องหรือไม่ ใครเป็นคนนำเข้า เพราะการฉีดวัคซีนจะส่งผลต่อการออกใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ต้องระบุให้ชัดว่าเป็นวัคซีนยี่ห้ออะไร ล็อตนัมเบอร์อะไร และจะนำมาสู่การออกวัคซีนพาสปอตในอนาคตด้วย
    “แม้จะไม่ใช่วัคซีนโควิด -19 แต่เป็นยาหรือวัคซีนใดๆ ตามหลักแล้วคนไข้มาที่คลินิก ทางคลินิกจะต้องใช้ยาหรือวัคซีนของคลินิกในการให้บริการคนไข้ หากคลินิกไม่มีกำลังเพียงพอจะมี 2 ส่วนที่ทำได้คือ
1.ประสานส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่มีศักยภาพกว่า และ
2.ประสานสถานพยาบาลอื่นๆ เพื่อขอยืมยา หรืออะไรก็ตามเพื่อมาให้บริการผู้ป่วย ไม่ใช่ไปเอาอะไรก็ไม่รู้มาฉีดให้ ยิ่งคนไข้หิ้วมาเองก็ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน”ทพ.อาคมกล่าว 
        ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ตามข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพ ปี 2549 มีหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรา 22 ระบุว่า แพทย์จะต้องไม่ประกอบวิชาชีพโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย ดังนั้นการให้ยาใดๆ จำเป็นต้องรู้ชนิด ขนาดของยา และความเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

2.กรณีแพทย์ฉีดวัคซีน ที่ผู้ป่วยนำยาหรือวัคซีนมาเองก็สามารถทำได้ แต่ทำได้ในกรณีที่มีใบสั่งฉีดยา หรือมีประวัติ หรือมีข้อมูลจากรพ. เช่น รพ.จังหวัดให้ยากับผู้ป่วยไปฉีดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)หรือคลินิกในยาบางรายการที่ใช้รักษา แต่ต้องมีผลการวินิจฉัย และรายละเอียดที่ติดต่อได้ของแพทย์ หรือใบรับรองแพทย์มาประกอบด้วย

         “กรณีที่สระแก้ว เป็นการฉีดวัคซีนชนิดที่ไม่มีนำเข้ามาในประเทศไทย โดยทั่วไป ถ้าไม่ได้มีหลักฐานเอกสาร แพทย์ไม่ควรจะตัดสินใจฉีดให้โดยไม่ทราบที่มาที่ไป แต่ในกรณีดังกล่าวต้องตรวจสอบก่อนว่ามีเอกสาร หลักฐานอะไรกำกับหรือไม่ หรือเป็นเอกสารมาจากประเทศที่มีวัคซีนนี้ใช้อยู่หรือไม่ ในรายนี้ตอบไม่ได้จริงๆ ต้องสอบสวนที่มาที่ไปก่อน มีเอกสาร หลักฐานการฉีดมาจากต่างประเทศ และมีใบรับรองฉีดเป็นเข็มที่ 2 หรือไม่ อย่างไร หรืออื่นๆ หรือไม่ ที่สำคัญคือวัคซีนต้องมีกระบวนการจัดเก็บที่ถูกต้อง เพราะมีผลต่อคุณภาพของวัคซีน แล้วเป็นวัคซีนชนิดที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ถ้าจริงมีความปลอดภัยเพียงใดในการฉีด ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น หรือมีผู้ร้องเรียนแพทย์ก็ต้องรับผิดชอบ เพราะนั้น แพทยสภาจะมีการทำหนังสือถึงสสจ.เพื่อขอรายละเอียดประกอบการพิจารณาด้วย”พล.อ.ต.นพ.อิทธพรกล่าว

8 พ.ย. 2564
https://www.bangkokbiznews.com/social/970578

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนแพทย์ประจำ รพ.เอกชน/คลินิก ตรวจสอบที่มาของยาหรือวัคซีนที่ประชาชนนำมาขอรับบริการทุกครั้ง หากไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องห้ามให้บริการโดยเด็ดขาด ป้องกันผลกระทบที่เกิดจากยาหรือวัคซีนที่ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมขอความร่วมมือจาก รพ.เอกชน/คลินิกทุกแห่ง ให้สอดส่อง ดูแล ให้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย   
     
จากกรณี ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลถึงคลินิกแห่งหนึ่งใน จ.สระแก้ว ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) แก่ประชาชน ทั้งที่ยังไม่มีรายงานว่าประเทศไทยได้รับการจัดสรรวัคซีนชนิดดังกล่าว โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว แพทย์ประจำคลินิกให้การยอมรับว่ามีการฉีดวัคซีนจริง แต่อ้างว่าคนไข้นำวัคซีนมาให้ฉีด โดยที่คลินิกไม่มีการจำหน่ายวัคซีนยี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แต่อย่างใดนั้น         
 
วันนี้ (9 พ.ย.) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่แพทย์ผู้ให้บริการประจำคลินิกฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยไม่มีการตรวจสอบที่มาที่ไปของยา หรือวัคซีนที่ผู้รับบริการนำมาขอรับบริการว่ามีการนำเข้าอย่างถูกต้องและมีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่นั้น ย่อมมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกายของผู้รับบริการได้ เพราะยาหรือวัคซีนที่ขาดการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็อาจจะเป็นของปลอม และเถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐาน มีการปนเปื้อน หรือเสื่อมสภาพจากการเก็บรักษาที่ไม่ถูกวิธี กรม สบส.จึงขอเตือนให้แพทย์ประจำสถานพยาบาลเอกชนทุกท่าน ต้องตรวจสอบยาหรือวัคซีนที่ประชาชนนำมารับบริการทุกครั้ง หากยาหรือวัคซีนที่นำมาให้นั้นไม่มีการขึ้นทะเบียนแล้วก็ไม่ควรจะให้บริการ และให้คำแนะนำอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ร่างกาย ซึ่งการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่ได้นำเข้าอย่างถูกต้อง แพทย์ผู้ให้บริการก็อาจจะมีความผิดตามมาตรฐานวิชาชีพ และจริยธรรมทางการแพทย์ พร้อมกันนี้ ขอให้ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล  กวดขัน และตรวจสอบให้แพทย์ประจำสถานพยาบาลเอกชนของตนปฏิบัติตามกฎหมายการประกอบวิชาชีพให้ถูกต้อง เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดคิด หรือผลกระทบต่อร่างกายของผู้รับบริการ จากยาหรือวัคซีนแล้ว ถึงแม้ผู้รับบริการจะนำมาเอง ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในมาตรา 34 (2) ฐานไม่ควบคุม ดูแลให้แพทย์ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบว่าแพทย์ผู้ให้บริการไม่จัดทำประวัติผู้ป่วย ผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องร่วมรับผิดตามมาตรา 35 (3) ฐานไม่จัดทำเอกสาร หลักฐานของผู้ป่วย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย   
       
ทั้งนี้ ภาครัฐมีนโยบายให้ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากประชาชนท่านใดต้องการรับบริการวัคซีนทางเลือก ก็ขอให้ติดต่อผ่านสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐโดยตรงเท่านั้น ไม่ควรนำวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.หรือไม่ทราบแหล่งที่มา มาขอรับบริการจากสถานพยาบาล

9 พ.ย. 2564  ผู้จัดการออนไลน์