ผู้เขียน หัวข้อ: “ปัญหาชีวิตเด็กจบใหม่ 2564” กระทู้ฮอตสะท้อนวิกฤต “พนักงานเก่าถูกไล่-ผู้สมัครใหม่  (อ่าน 358 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ตาถลน!! สถิติคนตกงาน-ว่างงาน เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง!! กูรูชี้ถ้าไม่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส มีหวังอดได้งานยาว แนะเด็กจบใหม่เร่งปั้นฝีมือให้ตอบโจทย์องค์กร พร้อมแง้มแนวทางจบสายนี้สิ มีโอกาสได้งานสูง

จะ “หน้าเก่า” หรือ “หน้าใหม่” ก็ไม่มีที่ว่างให้!!

“ปัญหาชีวิตเด็กจบใหม่ 2564” คือ กระทู้ฮอตฮิตติดเทรนด์ในพันทิป เมื่อมีผู้ใช้งานรายหนึ่งได้ออกมาระบายความอัดอั้นใจกับการหางาน พร้อมขอความเห็นจากผู้ใช้งานรายอื่น

ใจความหลัก คือ การระบายเรื่องหางานที่ดูยากเย็น ทั้งสมัครงานตามเว็บไซต์ และไปกรอกใบสมัครถึงที่ แต่ไม่มีที่ไหนตอบกลับ ด้านครอบครัวแนะนำให้ทำพาร์ตไทม์ แต่เจ้าของกระทู้อธิบายต่อว่า เคยทำแล้วไม่มีความสุขเพราะไม่ใช่งานที่ชอบ จนนำไปสู่การมีปากเสียงอยู่หลายครั้ง

ก่อนตัดสินใจถามความเห็นชาวโซเชียลฯ ว่า ควรไปทำงานพาร์ตไทม์ตามที่ที่บ้านบอกก่อนดีไหม เพราะเครียดมากและไม่อยากมีปัญหาไปมากกว่านี้ ทั้งยังทิ้งข้อความส่งท้ายแกมระบายอารมณ์เอาไว้ว่า

“เซ็งกับชีวิตตอนนี้มาก อดทนเรียนจนจบ ป.ตรี แต่จบมาไม่มีงานทำเลย โอกาสของเด็กจบใหม่ยังมีอยู่ไหม?” ซึ่งกระทู้ดังกล่าวมีคนเข้ามาให้กำลังใจพร้อมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

สอดคล้องกับอีกหนึ่งเสียงสะท้อนของบัณฑิตจบใหม่ อย่าง “น็อต” ลูกคนเล็กของครอบครัววัย 23 ปี ที่ยอมรับว่า เครียดและหนักใจมาก หลังเตะฝุ่นมานานกว่า 6 เดือน ส่วนพี่ชายคนเดียวก็เพิ่งตกงานมา จึงต้องพึ่งใบบุญจากคุณพ่อที่ทำงานรับจ้างทั่วไป และคุณแม่ที่ทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จ.ร้อยเอ็ด

โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้หางานไม่ได้ คือ เขาไม่เคยผ่านการเกณฑ์ทหารมาก่อน “ยิ่งมีโควิดด้วย ก็ยิ่งทำให้หางานยากเข้าไปใหญ่ เพราะบางบริษัทค่าตอบแทนก็ลดน้อยลง ขนาดสมัครงานพาร์ตไทม์ เขายังไม่อยากรับเลย”

ลองเสิร์ชหาข้อมูลเพิ่มผ่านแฮชแท็ก #เด็กจบใหม่ ในทวิตเตอร์ ก็ยิ่งตอกย้ำว่า “ปรากฏการณ์เด็กจบใหม่หางานทำไม่ได้” ส่งผลในวงกว้าง มีบางคนจบมาปีกว่าแล้ว ยังหางานทำไม่ได้จนเกิดความเครียดก็มี

ตรงกับข้อมูลจาก สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ออกมาเผย “อัตราการว่างงาน” ในไทยประจำไตรมาส 2 ปี 64 ว่า ยังอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 1.89% หรือว่างงาน 7.3 แสนคน (ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปี 63 คิดเป็น 1.95%)

และเมื่อย้อนกลับไปเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ในยุคที่ยังไม่มีโควิดในปี 62 กลับพบว่า อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.98% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าตัวเลขคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้น เพราะวิกฤตโควิด-19 นั่นเอง

ส่วนกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน หรือ “เด็กจบใหม่” ที่ยังไม่มีงานทำ พบว่า มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10.04% ซึ่งตอนนี้มีจำนวนมากถึง 2.9 แสนคน ด้านคนที่จบจากอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา มีอัตราการว่างงานจากโควิดเพิ่มมากขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.44%

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่ม “คนว่างงาน” นานกว่า 1 ปี ซึ่งมีแนวโน้มว่างงานนานขึ้นถึง 1.47 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 20.1% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ร้อยละ 11.7% จากผลของการถูกลอยแพ จนมีภาพกอดคอกันร้องไห้หน้าโรงงานออกมาให้เห็น

หรือแม้แต่ธุรกิจการบินไทยที่เปิดทางให้พนักงานที่สมัครใจยื่นยินยอมลาออกตามเงื่อนไขต่างๆ โดยจะจ่ายเป็นค่าชดเชยตอบแทนให้ และอีกหลายธุรกิจที่ไปต่อไม่ไหว จนจำเป็นที่จะต้องปิดตัวลงอย่างถาวร ส่วนที่พออยู่ไหวก็อาศัยการปรับลดพนักงาน หรือปรับลดเงินเดือนเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด

ล่าสุด “กรมสุขภาพจิต” ได้เผยรายงานเมื่อ 22 ก.ย. 64 เกี่ยวกับตัวเลขการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตของประชาชนจากทั้งหมด 102,425 คน พบว่า มีความเครียดสูง 5.6% เสี่ยงซึมเศร้า 7.27% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 3.38%

โดยกลุ่มคนที่ตกงาน มีอาการเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มอื่น คือ คนตกงานมีภาวะเครียดสูงถึง 20.79% เสี่ยงซึมเศร้า 25.32% และบางคนมีมากกว่า 1 อาการ

ด้านตัวเลขประเมินสุขภาพจิตของ “คนตกงาน” ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ถือเป็นกลุ่มที่น่าห่วงมาก เพราะจากคนทำแบบประเมินกว่า 6,485 คน พบว่า มีความเครียดสูงถึง 50% คิดเป็น 5 ใน 10 คน และเสี่ยงซึมเศร้าอีกกว่า 61.67% หรือคิดเป็น 6 ใน 10
นอกจากนี้ คนที่เสี่ยงฆ่าตัวตายมีมากกว่า 3 ใน 10 คน หรือ 37.67% ส่วนภาวะหมดไฟ 25.17% หรือ 1 ใน 4 คน และในจำนวนนี้ พบคนที่มีอาการมากกว่า 1 อย่างถึง 69.50%

อยากพลิกวิกฤต ต้องเปลี่ยนแนวคิด-เร่งฝึกสกิล

อีกหนึ่งเสียงที่จะช่วยสะท้อนภาวะวิกฤต “หน้าเก่าตกงาน-หน้าใหม่ว่างงาน” ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง คงหนีไม่พ้น ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ที่ช่วยยืนยันว่า ผลพวงจากวิกฤตโควิดทำให้ “คนตกงานพุ่ง” สูงขึ้นกว่า 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับตัวเลขก่อนเชื้อโรคระบาด

ขณะเดียวกัน เรื่องการเข้าสู่ตลาดแรงงานของเด็กจบใหม่ ยังถือเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยมองว่า โมเดลธุรกิจเปลี่ยนไปมาก ทำให้คนที่เพิ่งจบมา หางานยากขึ้นด้วย

“ประเด็นของภาคธุรกิจจากโควิดที่เกิดขึ้นมา มีการทำงาน Work From Home กัน สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวสะท้อน คือ ในทุกองค์กรจะเห็นว่างานอะไรที่จำเป็น งานอะไรที่ไม่จำเป็น อันนี้เป็นส่วนแรก ส่วนที่สอง คือ ในองค์กรภาคธุรกิจต่างๆ เร่งให้ความสำคัญกับการสร้างโมเดลของธุรกิจ และการสร้างรายได้ใหม่ๆ

เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วในทุกองค์กรให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากกำลังพลที่มีอยู่ จะเรียกว่า Manpower Optimization ก็ได้ ถ้าพูดตรงๆ ก็คือ ใช้คนให้คุ้มกับกำลังพลที่มีอยู่ หรือมีแนวโน้มในการลดกำลังพลให้อยู่ในจุดที่ธุรกิจไปต่อได้

นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เราคงเห็นอัตราว่างงานของประเทศไทยสูงขึ้นกว่าเดิม แต่ก่อนเราใช้คำว่าว่างงานที่ต่ำที่สุดในโลกอยู่ที่ประมาณ 0.4-0.5% ตอนนี้ขึ้นมาที่ 1% กว่าๆ ขึ้นไปแล้ว

และผมเชื่อว่า ต่อไปถ้ายังไม่มีเรื่องของการขับเคลื่อนในภาคของอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจที่แตกต่างจากเดิม มีมูลค่ามากกว่าเดิม ปัญหาเรื่องของการว่างงานโดยเฉพาะของเด็กจบใหม่ ยิ่งจะมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

หลายองค์กรเริ่มตั้งคำถามว่า มีกองทัพของคนที่ไม่สร้าง productivity มีสัดส่วนเท่าไหร่บ้างในองค์กร เป็นความท้าทายด้วย อย่าว่าแต่เด็กจบใหม่ที่จะเข้ามาสู่ตลาดแรงงานเลยครับ คนทำงานที่มีอยู่ในอนาคตเองก็เป็นเรื่องท้าทายว่า จะยกระดับตัวเองเพื่อรักษาการทำงานของตัวเองได้อย่างไรบ้าง”

เมื่อให้กูรูทรัพยากรมนุษย์รายเดิมช่วยหาทางออก สำหรับคนว่างงานตอนนี้ว่าควรรับมือวิธีที่ได้ คือ แนะให้ยกระดับความรู้ และทักษะของตัวเอง เพื่อให้ตอบโจทย์ในสายงานที่ต้องการ โดยหัวใจสำคัญคือต้องโฟกัสให้ชัดว่า ทักษะด้านไหนเป็นทักษะที่จำเป็นในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน

“แน่นอนว่า เรื่อง digital skills เป็นสิ่งสำคัญในโลกอนาคต จึงจำเป็นที่จะต้องยกระดับตัวเองให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน คือ คงคาดหวังในการทำงานในองค์กรเดียวไม่ได้หรอกครับ ต้องเปลี่ยน mindset ตัวเอง พยายามคิดว่าสามารถทำให้ตัวเองมีความคล่องตัวในการทำงาน

ต้องตั้งคำถามด้วยว่าตัวเองจะยกระดับขีดความสามารถของตัวเองยังไงบ้าง เราอาจจะมีความคล่องตัว ทำให้ตัวเองเป็นคนทำงานที่มีความคล่องตัวสูง สามารถทำงานได้หลากหลายงาน ถือเป็นการเปลี่ยนจากปัญหาให้กลายเป็นโอกาสสำหรับคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในทุกวันนี้

เด็กจบใหม่อาจจะทำงานในรูปแบบหลายองค์กรก็ได้ หรือเป็น freelance โดยใช้ทักษะความสามารถของตัวเองที่มีอยู่ในการตอบโจทย์ ในการทำงานหลายองค์กร อันนี้น่าจะเป็นแนวทางครับในการปรับตัวของน้องใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะตอนนี้ต้องยอมรับจริงๆ ว่า ความต้องการในตลาดแรงงานลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนครับ”

ส่วนคำถามของหลายๆ คนที่สงสัยว่า คณะไหนที่เรียนจบแล้วมีโอกาสได้งานสูงที่สุด นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย เผยว่า ในอนาคตเกือบทุกหน่วยงานต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล เพราะอาจมีการปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อให้ทันต่อโลกมากยิ่งขึ้น

“โลกในอนาคตเชียร์ไปในเรื่องของดิจิทัลจริงๆ ตอนนี้ตลาดแรงงานที่ยังมีความต้องการอยู่เยอะในองค์กรต่างๆ ต้องการกลุ่มในเรื่องของดิจิทัลทั้งหลาย กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน

เพราะว่าต่อไปทุกองค์กรต้อง automation (ลดการใช้คน เน้นการทำงานด้วยเครื่องจักร) ทั้งหมด คนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานและเป็นคนที่มีความรู้ด้านดิจิทัลพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพ ก็จะมีโอกาสสูงในการที่จะเข้าสู่องค์กร”


14 ต.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์