ผู้เขียน หัวข้อ: เขาเป็นใคร..รายาผิวขาวแห่งซาราวัก ผู้เสนอให้อังกฤษยึดไทย! อีกคนถูกส่งมาหลังจาก  (อ่าน 380 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ในสมัยรัชกาลที่ ๓-รัชกาลที่ ๔ มีฝรั่งสัญชาติอังกฤษคนหนึ่งมีบทบาทโด่งดังในตะวันออกไกล ได้เป็นราชาผู้ปกครองซาราวัก และยังสืบทอดอำนาจของคนในตระกูลต่อมาอีก ๖ คน ได้ชื่อว่าเป็น “รายาผิวขาวแห่งซาราวัก” ได้รับพระราชทานเหรียญเป็นอัศวินชั้น เซอร์ ของอังกฤษ และยังได้รับแต่งตั้งเป็นราชทูตเข้ามาเมืองไทย มีข้อเรียกร้องถึง ๙ ข้อ แต่ไทยไม่ใช่ซาราวักจึงยอมตกลงเพียงข้อเดียว เขากลับไปถึงสิงคโปร์ก็เสนอให้ใช้เรือรบปิดอ่าวสยาม เพื่อบีบให้ยอมตกลงตามสัญญา ถ้าไม่ยอมก็ยึดเสียเลย รัฐบาลอังกฤษก็บอกว่าให้เอาเรือรบที่ปิดล้อมจีนไปด้วยเลย

เขาผู้นี้ก็คือ เซอร์ เจมส์ บรูก ที่คนไทยสมัยนั้นเรียกกันว่า “เย สัปบุรุษ” เป็นคนอังกฤษเกิดในอินเดีย ที่เมืองพาราณสี บิดาที่ทำงานอยู่ในบริษัทอิสต์อินเดียของอังกฤษ หลังจากได้รับการศึกษาที่อังกฤษแล้ว ก็กลับมารับราชการทหารที่อินเดีย และถูกส่งไปร่วมยึดพม่าด้วย ได้รับบาดเจ็บค่อนข้างหนักต้องไปรักษาที่อังกฤษถึง ๕ ปี เมื่อกลับมาอินเดียก็ไม่มีตำแหน่งเหลือแล้ว แต่เผอิญบิดาเสียชีวิตและทิ้งมรดกไว้ให้ถึง ๓๐,๐๐๐ ปอนด์ เจมส์ บรูคจึงซื้อเรือใบแบบใหม่ได้ลำหนึ่ง มีความเร็วสูงและติดอาวุธพร้อม

เจมส์ บรูค เคยนั่งเรือจากอินเดียไปจีนตอนพักฟื้นหลังกลับจากรักษาตัวที่อังกฤษ เห็นเกาะต่างๆน่าสนใจ พอมีเรือจึงจะไปทางเหนือของเกาะบอร์เนียวแต่แวะสิงค์โปร์ก่อน ผู้ว่าราชการสิงคโปร์ของอังกฤษได้ขอให้เขาช่วยไปขอบคุณรายามุดาฮาซิม ลุงของสุลต่านบรูไน ผู้ปกครองซาราวักซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบรูไน ทางตอนใต้ของเกาะบอร์เนียว ที่เคยช่วยเหลือลูกเรืออังกฤษไว้

เจมส์ บรูคไปถึงซาราวัก เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๓๘๒ พบว่ากำลังเกิดกบฏ เพราะรายามุดาฮาซิมได้กดขี่ชาวพื้นเมืองในการทำเหมืองแร่พลวง เจมส์ บรูคจึงเข้าเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยเลี้ยงดูคนพื้นเมือง แต่สิ่งที่ทำให้เขาได้รับความเกรงใจก็เพราะในเรือของเจมส์ บรูคได้จ้างทหารอังกฤษมาด้วยจำนวนมาก ทำให้การกบฏสงบลง รายามุดาฮาซิมได้ตอบแทนเจมส์ บรูคด้วยแร่พลวงจำนวนมาก

บรูคได้นำแร่พลวงไปขายที่สิงค์โปร์ และได้กลับมาซาราวักอีกครั้งหลังจากนั้น ๖ เดือน ปรากฏว่าการกบฏได้เกิดขึ้นอีก บรูคก็จัดการได้เรียบร้อยเช่นเคย โดยเอาคนพื้นเมืองกบฏเข้าเป็นพวก และขอภัยโทษให้พวกกบฏทั้งหมด สุลต่านโอมาร์ อาลี ไซฟุดดิน ที่ ๒ แห่งบรูไน จึงยกซาราวักให้เจมส์ บรูกปกครอง เป็นรายาผิวขาวคนแรกของซาราวัก

เจมส์ บรูคได้ปรับปรุงการบริหารของซาราวักใหม่เป็นรูปแบบของยุโรป แก้ไขปรับปรุงกฎหมายใหม่ ทั้งยังปราบโจรสลัดที่เป็นปัญหาของย่านนั้นได้ราบคาบ ทำให้ซาราวักกลับคืนสู่ความสงบ เศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้น ในปี ๒๓๙๐ บรูคได้เดินทางไปเยือนอังกฤษ และขอให้อังกฤษรับซาราวักไว้ในเครือจักรภพ อังกฤษเลยปูนบำเหน็จให้เจมส์ บรูคเป็นกงสุลทั่วไปของอังกฤษประจำบอร์เนียว พร้อมเหรียญตราอัศวินชั้นบาธ มีบรรดาศักดิ์เป็น เซอร์

ในปี ๒๓๙๓ ปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ อังกฤษได้ส่งเซอร์ เจมส์ บรูคเข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญาทางการค้าที่ ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี ทำไว้ในปี ๒๓๖๙ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่สยามทำกับประเทศตะวันตก ให้พ่อค้าทั้งสองฝ่ายทำการค้ากันได้อย่างเสรี โดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด ที่ฝ่ายไทยยอมทำสัญญาครั้งนี้ก็เพราะเห็นว่าอังกฤษรบชนะพม่า การแข็งข้อกับอังกฤษจะทำให้ไทยลำบากไปด้วย แต่ฝ่ายพ่อค้าอังกฤษกลับเห็นว่าเป็นสัญญาที่ฝ่ายไทยได้เปรียบ ยังได้ไม่สะใจ ได้ส่งคนเข้ามาขอแก้ไขหลายครั้งแล้วไม่เป็นผลสำเร็จ

ในข้อเรียกร้องของเซอร์เจมส์ บรูคขอให้ยกเว้นภาษีหลายอย่าง ยกเลิกการห้ามนำข้าวออก ยกเลิกการห้ามนำฝิ่นเข้า ลดอัตราภาษีปากเรือจากศอกละ ๑,๗๐๐ บาท เหลือศอกละ ๕๐๐ บาท ขอตั้งสถานกงสุล และขอสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สยามปฏิเสธทุกข้อนอกจากด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อนุญาตให้หมอสอนศาสนานำศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแพร่ได้ ทำให้เซอร์เจมส์ บรูครู้สึกเสียหน้ามาก ไม่ง่ายเหมือนซาราวัก เมื่อกลับไปถึงสิงคโปร์ก็โทรเลขไปรายงานเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศเป็นข้อๆ พร้อมข้อเสนอว่า

“ข้อ ๑๒. ถ้าหากรัฐบาลสยามไม่ยอมตามคำเรียกร้องของเรา ก็ขอให้ส่งทหารเข้าบุกทำลายป้อมปราการในแม่น้ำและยึดพระนครไว้ เราก็จะได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งบังคับบัญชาการต่างๆ สิ่งไม่ดีขัดผลประโยชน์ของเราในอดีตเราก็จัดรูปเสียใหม่ให้เป็นประโยชน์ขึ้น เราก็จะประสบสันติและเสวยสุขจากการค้าขายของประเทศนี้ ซึ่งกำลังเติบโตและสำคัญยิ่งขึ้นทุกวัน”

รัฐบาลอังกฤษได้มีคำสั่งมาว่า ให้กลับกลับไปสยามอีกครั้ง แลคราวนี้ให้เอาเรือรบที่เมืองจีนไปด้วย ถ้าสยามไม่ยอมแก้สัญญาก็ให้ใช้อำนาจเหมือนที่ได้ทำที่จีน ให้สยามยอมทำสัญญาตามที่อังกฤษต้องการให้จงได้

สื่อภาษาอังกฤษในสิงคโปร์เผยแพร่การเคลื่อนไหวของกองเรืออังกฤษอย่างคึกคัก เมื่อเรื่องนี้ลือมาถึงเมืองไทยจึงก่อให้เกิดความตื่นตระหนกโกลาหลขึ้น มีทั้งกลัวเตรียมหนี และเตรียมตัวสู้ แต่ขณะนั้นอังกฤษกำลังติดพันกับสงครามฝิ่นในจีน ซึ่งเป็นเค้กก้อนโตกว่าสยาม จึงยังไม่อยากเปิดศึกอีกด้าน ก็พอดีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องทั้งพูดและเขียน ทรงสั่งหนังสือมพิมพ์ภาษาอังกฤษเข้ามาอ่านทุกเที่ยวเรือ ทรงล่วงรู้ถึงกระแสของการล่าอาณานิคม และทรงเห็นว่าไม่สามารถจะต้านทานความต้องการของอังกฤษได้ พระราชกรณีกิจเกี่ยวกับการต่างประเทศประการแรกก็คือ มีพระบรมราชโองการให้ประกาศลดค่าระวางปากเรือเหลือวาละพันบาท ถูกกว่าที่เจมส์ บรูคขอไว้เสียอีก อนุญาตให้นำข้าวสารออกต่างประเทศได้ ส่วนฝิ่นนั้นทรงเห็นว่าไม่มีทางจะขัดขวางผลประโยชน์ของอังกฤษในเรื่องนี้ จะทำให้เกิดสงครามฝิ่นอย่างที่จีน จึงทรงอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรได้ แต่ต้องขายให้รัฐบาลเท่านั้น เพื่อจะควบคุมการจำหน่ายได้ ทรงใช้ความสัมพันธ์ส่วนพระองค์มีพระราชหัตถเลขาไปถึงนายพันเอกบัตเตอร์เวิธ ผู้ว่าราชการเกาะปีนัง ให้แจ้งแก่เซอร์เจมส์ บรูคด้วยว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่จะโปรดให้แก้ไขสนธิสัญญากับอังกฤษ และให้ตั้งสถานกงสุลได้ตามประสงค์ แต่ขอผลัดให้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเชษฐาก่อน จึงค่อยส่งทูตเข้ามา

เป็นอันว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงโปรดตามคำเรียกร้องของเซอร์ เจมส์ บรูคทั้งหมด ทรงยอมเสียเปรียบดีกว่าเสียเมือง อังกฤษจึงเหหัวเรือยาตราทัพไปบุกพม่าเป็นครั้งที่ ๒ จัดการกับพม่าเรียบร้อยแล้ว จึงส่งเซอร์จอห์น เบาริงเข้ามาในปีที่ ๕ ของรัชกาล

เซอร์จอห์น เบาริ่งผู้นี้ก็ไม่ใช่ธรรมดา เขาเป็นพ่อค้า นักการทูต นักเศรษฐศาสตร์การเมือง กวี นักประพันธ์ บรรณาธิการ และนักภาษาศาสตร์ สามารถพูดได้ถึง ๑๐ ภาษาทั้งภาษาจีน ที่สำคัญเป็นสมาชิกพรรคการเมืองกลุ่มหัวรุนแรง อังกฤษเคยส่งไปเจรจาการค้ากับจีนมาแล้ว จนเกิดสงครามฝิ่นขึ้น เมื่ออังกฤษได้ครอบครองฮ่องกงก็ส่งจอห์น เบาริ่งมาเป็นผู้สำเร็จราชการ และเมื่อเกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ ๒ มีชัยชนะอีกก็ได้เป็นเจ้าเมืองฮ่องกง

เมื่อเซอร์จอห์น เบาริ่งได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาเป็นราชทูตสยามนั้น ก่อนจะเข้ามาก็ได้ส่งสาส์นข่มขู่อย่างนิ่มๆนำมาก่อน มีความตอนหนึ่งว่า

“พระมหากษัตริย์ของเสอยอนโบวริงให้เข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีค้าขายแลการค้าอื่น ๆ หลายอย่างเพื่อจะให้บ้านเมืองเจริญขึ้น เดี๋ยวนี้ที่ทะเลเมืองจีนมีเรือรบอยู่ในบังคับอังกฤษมาก เสอยอนโบวริงจะเข้ามาเยี่ยมเยือนมิใช่จะมาทำให้บ้านเมืองไทยตื่นตกใจ เสอยอนโบวริงจะเข้ามาด้วยเรือน้อยลำ ท่านเสนาบดีก็อย่าเข้าใจผิดไปแล้วก็อย่าให้เป็นเหตุขัดขวางทางสัญญาไมตรีค้าขายเพราะมาน้อยลำ ถ้ารับรองโดยรักใคร่กัน ใจของเสอยอนโบวริงคิดสมควรกับบ้านเมืองใหญ่แล้วในใจเสอยอนโบริงไม่อยากจะเอากำลังอำนาจใหญ่ใช้เลย”

เซอร์จอห์น เบาริ่งเป็นทูตเข้ามาสยามนั้น เป็นคนแรกที่เป็นราชทูตจากพระนางเจ้าวิกตอเรียโดยตรง ไม่ได้เป็นทูตจากผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษอย่างคนก่อนๆ จึงได้ศึกษาประวัติศาสตร์สยามถึงประเพณีการต้อนรับทูตคณะต่างๆของสยามมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถ้าให้การต้อนรับอย่างจอห์น ครอเฟิด หรือ ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี ที่เป็นแค่ทูตจากผู้สำเร็จราชการอินเดีย หรือ เจมส์ บรูค ซึ่งแค่ผู้ถือหนังสือของเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ก็ถือว่าไม่ให้เกียรติตามฐานะราชทูตของตน แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯนั้นทรงอ่านทะลุทั้งบทบาทของอังกฤษและบทบาทของเซอร์จอห์น เบาริง จึงทรงจัดพิธีต้อนรับตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชต้อนรับราชทูตฝรั่งเศส จึงเป็นที่พอใจของเซอร์จอห์น เบาริ่งอย่างมาก และรีบเขียนรายงานไปถึงเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษทันทีว่า

“ ขณะนี้ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ข้าพเจ้าได้เจรจาเรื่องสนธิสัญญากับรัฐบาลสยามแล้ว ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าเงื่อนไขของสนธิสัญญาคงจะเป็นที่พึงพอใจของท่านทุกประการ และคงจะได้รับพระราชทานความเห็นชอบจากสมเด็จพระราชินี

ข้าพเจ้าจะส่งรายงานความก้าวหน้าของการเจรจาติดต่อมายังท่านเป็นระยะๆ ซึ่งคงจะเป็นไปตามความมุ่งหมาย ข้าพเจ้าประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดหมายไว้ และจัดการได้เรียบร้อยอย่างรวดเร็ว ซึ่งแทบไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของชนชาติทางตะวันออกมาก่อนเลย ซึ่งไม่ต้องใช้แสนยานุภาพของกองทัพเรือ การขู่บังคับในการเจรจาตกลงกันเลย เรื่องสำคัญทุกเรื่องประสบความสำเร็จทุกประการ”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯยังทรงมีพระราชหัตถเลขาเป็นการส่วนพระองค์ไปถึงเซอร์จอห์น เบาริ่งเป็นระยะ ต่อมาก็ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสยามมานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ

ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่การตอบแทนคุณความดีของสยามมิตร แต่เป็นการเลี้ยงเสือให้เชื่องมากกว่า

การนำพาชาติให้รอดจากปากเหยี่ยวปากกามาถึงวันนี้ได้ ก็ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ และเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่กษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรีทรงมีความมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามหน้าที่ ทรงยึดมั่นในทศทิศราชธรรมทุกพระองค์ แม้ทรงลดพระราชอำนาจลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับยุคสมัยแล้ว ก็ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนจนทั่วโลกถวายพระราชสมัญญานาม “KING OF KINGS” ทรงเป็นมหาราชใต้รัฐธรรมนูญองค์เดียวของโลก

ถ้านักการเมืองของประเทศไทยมีความซื่อตรงต่อประชาชนและประเทศชาติแบบนี้แล้ว ๙๐ ปีของระบอบประชาธิปไตยคงนำพาประเทศชาติรุ่งโรจน์ไปถึงไหนแล้ว

ไม่ต้องเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรอก ปฏิรูปการเมืองไทยกันดีกว่า

24 ก.ย. 2564  โดย: โรม บุนนาค
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000094711