ผู้เขียน หัวข้อ: WHO เตือนภัย "อากาศเป็นพิษ" ปลิดชีพประชากรโลกปีละ 7 ล้านคน  (อ่าน 412 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
WHO กำหนดให้ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นอันตรายสำหรับประชากรโลก โดยอยู่ในระดับเดียวกับการสูบบุหรี่ หรือการกินอาหารขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ

องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เตือนว่า มลพิษทางอากาศมีอันตรายมากกว่าที่หลายคนคาดคิด พร้อมกับปรับลดระดับมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดของไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสารพิษสำคัญที่ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และเป็นหนึ่งในสารตั้งต้นที่ทำให้เกิด PM2.5

ดับเบิลยูเอชโอ ประเมินว่า ในแต่ละปีผู้คนทั่วโลกต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องมาจากโรคภัยที่เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศถึงกว่า 7,000,000 คน

ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เพราะต้องพึ่งพาการใช้พลังงานจากฟอสซิล ที่ทำให้เกิดมลพิษตามมาเป็นจำนวนมาก สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ดับเบิลยูเอชโอ ยังจัดให้มลพิษทางอากาศเป็นอันตรายอยู่ในระดับเดียวกับการสูบบุหรี่ หรือการกินอาหารขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ 

ทั้งยังขอร้องให้ชาติสมาชิกทั้ง 194 ประเทศ ปรับลดการปล่อยก๊าซพิษ และเร่งดำเนินการเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกก่อนหน้าการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก(COP26) ในเดือนพ.ย.นี้

"ดับเบิลยูเอชโอได้ปรับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับคุณภาพอากาศในระดับที่ต่ำลงพร้อมทั้งเตือนว่าการปรับแนวปฏิบัติใหม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการปรับแนวปฏิบัติใหม่มีขึ้นเพื่อปกป้องประชาชนจากการได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากมลภาวะทางอากาศและเพื่อให้รัฐบาลในประเทศต่างๆทั่วโลกได้นำไปใช้เป็นข้ออ้างอิงในการกำหนดมาตรฐานให้ถูกต้องตามกฎหมาย

การปรับค่าแนะนำคุณภาพอากาศของดับเบิลยูเอชโอครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี จากการวิเคราะห์ของกรีนพีซ อินเดีย โดยใช้ข้อมูลจาก IQAir ที่บ่งชี้ว่า ในปี 2563 มลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ทั่วโลก ส่วนใหญ่มีความเข้มข้นเกินกว่าค่าแนะนำของดับเบิลยูเอชโอ

“ประเด็นสำคัญที่สุดคือรัฐบาลประเทศต่างๆจะผลักดันนโยบายเพื่อลดการปล่อยไอเสียที่ทำให้เกิดมงภาวะได้หรือไม่ เช่น เลิกลงทุนในถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ รวมทั้งให้ความสำคัญอันดับต้นๆไปที่การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดแทน”ดร.ไอแดน ฟาร์โรว์ นักวิทยาศาสตร์ด้านมลพิษทางอากาศระหว่างประเทศของกรีนพีซ  ซึ่งมีฐานดำเนินงานที่มหาวิทยาลัยอีเซเตอร์ ในสหราชอาณาจักร ระบุ

ดร.ฟาร์โรว์ กล่าวด้วยว่า “องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ชัดเจนแล้วว่า การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศแม้ในระดับต่ำ ทำให้อายุขัยสั้นลง และมีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพอนามยัของมนุษย์ ดับเบิลยูเอชโอได้ยกระดับค่าแนะนำคุณภาพอากาศโดยผสานกับความก้าวหน้าของการวิจัยใหม่ ๆ แต่ค่าแนะนำเพื่ออากาศสะอาดเหล่านี้จะไม่มีความหมายอะไรเลย หากรัฐบาลไม่ลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหา"

การวิเคราะห์มลพิษ PM2.5 ของกรีนพีซ อินเดีย ที่รวบรวมจากฐานข้อมูลของ IQAir พบว่าคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ 100 แห่งทั่วโลก มีระดับเกินค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกปี 2563

ในกรุงนิวเดลี ปี 2563 มลพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปีสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของดับเบิลยูเอชโอปี 2548 เกือบ 8 เท่า

เป็นค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ทุกเมืองทั่วโลกในฐานข้อมูล และเมื่อนำมาเทียบกับค่าแนะนำคุณภาพอากาศใหม่ในปี 2564 ที่เข้มงวดมากขึ้น พบว่ามลพิษ PM2.5 สูงกว่าค่าแนะนำเกือบ 17 เท่า

นอกจากนี้ กรีนพีซและศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (ซีอาร์อีเอ) คาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรในกรุงเดลีไว้ ที่ 57,000 รายในช่วงปี 2563 ซึ่งสัมพันธ์กับการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ

ส่วนในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน มลพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี ที่ IQAir บันทึกไว้ในปี 2563 สูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศ ปี 2548 อยู่ประมาณ 4 เท่า

ในเม็กซิโกซิตี้ กรุงเทพฯ และโซล มีมลพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี มีมากกว่า 2 เท่าของค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกปี 2548

อย่างไรก็ตาม แม้ในปี 2563 ที่ผ่านมา เมืองบางแห่งมีมลพิษ PM2.5 ไม่เกินค่าแนะนำคุณภาพอากาศของดับเบิลยูเอชโอแต่มีการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องมลพิษทางอากาศอันเป็นผลมาจาก การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับต่ำในระยะยาว

ผลวิเคราะห์ของกรีนพีซ IQAir และซีอาร์อีเอ ระบุว่า ในปี 2563 ที่นิวยอร์กและลอนดอน มีการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก ประมาณ 11,000 และ 10,000 คนตามลำดับ

ดร. ฟาร์โรว์กล่าวด้วยว่า "ไม่มีระดับของมลพิษทางอากาศขั้นต่ำใดๆ ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ การได้รับมลพิษทางอากาศในระดับต่ำในระยะยาวอาจทำให้สุขภาพของผู้คนแย่ลงทีละน้อยแต่ส่งผลร้ายแรง ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และสุดท้ายคือการเสียชีวิต นโยบายคุณภาพอากาศต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพและยกระดับคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่”

ขณะที่อวินาช ชันชาล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ อินเดียมีความเห็นว่า "ทั่วโลกมีเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงในเชิงเศรษฐกิจเพื่อต่อกรกับวิกฤตมลพิษทางอากาศ ในเกือบทุกส่วนของโลก การพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนเช่น ลม และแสงอาทิตย์ คุ้มค่ามากกว่าการลงทุนเพื่อเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซ

โดยที่ยังไม่ต้องรวมความเสียหายทางเศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศ การจัดการมลพิษทางอากาศเป็นเรื่องเจตจำนงทางการเมือง ไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างเดียว"

24 ก.ย. 2564
https://www.bangkokbiznews.com/world/961947