ผู้เขียน หัวข้อ: พิพิธภัณฑ์ความคิด2020-ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม (1)  (อ่าน 1877 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
***************
การสืบราชสันตติวงศ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สามและรัชกาลที่สี่เป็นไปตามหลัก “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” อันหมายถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์จากการเห็นชอบของผู้คน และผู้คนที่ว่านี้คือ สมาชิกในพระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งที่มาประชุมและลงความเห็นว่าสมควรจะให้ผู้ใดเป็นผู้สืบราชสมบัติ

และอย่างที่กล่าวไปในตอนก่อนๆแล้วว่า ในที่ประชุมนั้น ก็มักจะมีกลุ่มคนหรือคนบางคนที่มีเสียงดังกว่าคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถพบเห็นได้ในที่ประชุมทั่วไป น้อยนักที่จะไม่มีสภาพการณ์แบบที่ว่า และกลุ่มคนที่มีอำนาจอิทธิพลในที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัชกาลที่สองมาที่สามและที่สามมาที่สี่คือ กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค อันได้แก่ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) น้องชายของเจ้าพระยาพระคลัง และพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชายของเจ้าพระยาพระคลังและเจ้าพระยารวิวงศ์ (ขำ บุนนาค) ผู้เป็นน้องต่างมารดาของพระยาศรีสุริยวงศ์

ในปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้รับความเห็นชอบจากขุนนางตระกูลบุนนาคให้สืบราชสมับติแทนที่จะเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทวาวงษ์ พงษ์อิศรกระษัตริย์ ขัติยราชกุมาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงสถาปนาพระยศและพระนามให้ตั้งแต่ พ.ศ. 2359 และโดยพระนามก็สื่อชัดเจนในตัวแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตั้งพระทัยจะให้เจ้าฟ้ามงกุฎฯเป็นผู้สืบราชสมบัติ

สาเหตุที่ขุนนางตระกูลบุนนาคสนับสนุนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เพราะพระองค์มีความสามารถและสนพระทัยในทางการค้า โดยพระองค์ได้ร่วมกันกับขุนนางตระกูลบุนนาคในการทำการค้ามาก่อนหน้าดังที่อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ดได้ทำการศึกษาและสรุปไว้ว่า “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์และเจ้าพระยาพระคลังได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรในการตักตวงผลประโยชน์ส่วนตัวจากการค้าสำเภาหลวงและใช้อภิสิทธิ์ในการซื้อขายกับพ่อค้าชาวตะวันตก การจับมือเป็นพันธมิตรกันนี้หนุนให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นเจ้านายที่มีอำนาจโดดเด่นที่สุดและได้ขึ้นครองราชย์ในที่สุด”

และทรัพย์สินรายได้ที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงหาได้เป็นการส่วนพระองค์นี้ มีมากจนต้องเก็บในอีกห้องหนึ่งต่างหาก อันเป็นที่มาของ “คลังข้างที่” และ “เงินถุงแดง” ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อมีพระราชทรัพย์ในขณะที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทรัพย์ทั้งหมดจึงควรจะเป็นของแผ่นดินหาใช่พระราชทรัพย์ที่จะตกทอดถึงพระราชโอรส ธิดาของพระองค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ห้า ในปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ.112) กรุงเทพมหานครถูกยึดครองเป็นเวลาถึง 12 วัน ด้วยกองเรือรบติดอาวุธของฝรั่งเศสอย่างหมดหนทางต้านทานจากฝ่ายไทย

ฝรั่งเศสเรียกร้องให้มอบผืนแผ่นดินในพระราชอาณาเขตบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง พร้อมด้วยเงินค่าไถ่เป็นค่าปฏิกรณ์สงครามที่ฝ่ายไทยถูกกล่าวหาว่าก่อขึ้นก่อนโดยการเปิดฉากยิงเรือฝรั่งเศส คิดเป็นเงินสดจำนวนทั้งสิ้นรวม 5,000,000 ฟรังก์ เสนาบดีพระคลังมหาสมบัติถวายรายงานจำนวนเงินในพระคลังให้ทรงทราบ แต่ก็ไม่เพียงพอกับจำนวนที่ถูกเรียกร้องตามใจชอบของพวกฝรั่งเศสอยู่ดี

พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทูลเตือนให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ถึงเงินพระคลังข้างที่จากสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเก็บสะสมไว้จำนวนหนึ่งใน “ถุงแดง” เงินพระคลังข้างที่คือพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินรายได้แผ่นดินส่วนหนึ่ง ที่แบ่งถวายพระมหากษัตริย์เพื่อใช้จ่ายส่วนพระองค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทนสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้อาศัย “เงินถุงแดง” ใช้จ่ายเป็นค่าไถ่จากความเสียหายให้แก่ฝรั่งเศส

จากกรณีดังกล่าวนี้เองเป็นที่มาของเรื่องเงินถุงแดงไถ่เมือง ตามที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล นิพนธ์ไว้ในเรื่อง “เหตุการณ์ใน ร.ศ. 112 และเรื่องเสียเขตแดนใน ร.5” ดังความว่า“ฝรั่งเศสไม่ต้องการให้ไทยจ่ายค่าเสียหายเป็นธนบัตร หากต้องการเป็นเงินกริ๋งๆ คราวนี้ก็ต้องเทถุงกันหมด เงินถุงแดงข้างพระที่ๆ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่3 ทรงเก็บไว้ ด้วยมีพระราชดำรัสว่า “เอาไว้ถ่ายบ้านถ่ายเมือง” ก็ได้ใช้จริงคราวนี้ ผู้ใหญ่เล่ากันว่าเจ้านายในพระราชวังเทเงินถวายกันจนเกลี้ยง ใส่ถุงขนออกจากในวังทางประตูต้นสน ไปลงเรือทางท่าราชวรดิษฐ์กันทั้งกลางคืนกลางวัน…”

แล้วเมื่อใกล้สิ้นรัชกาลที่สาม ด้วยเงื่อนไขอะไรที่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคถึงเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎฯให้เป็นผู้สืบราชสมบัติ ?

และไม่สนับสนุนหม่อมเจ้าอรรณพ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และไม่สนับสนุนเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ?

กล่าวได้ว่า ปัจจัยที่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎฯสัมพันธ์กับบริบทางการเมืองของสยามขณะนั้น

กระนั้น การตัดสินใจเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎก็ใช่ว่าจะเป็นความเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกภาพในหมู่เสนาบดีผู้ใหญ่เสียทีเดียว เพราะถ้ากล่าวในภาษาทางการเมืองสมัยใหม่ ในช่วงปลายรัชกาลที่สาม จุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศในหมู่เจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งเริ่มมีความเป็น “ชาตินิยม (nationalistic) ” และมุ่งในนโยบายไม่ติดต่อกับต่างประเทศ (isolationist)

และจากจุดยืนดังกล่าวนี้ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านเจ้าฟ้ามงกุฎอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องด้วยพระองค์ทรงวิจารณ์รูปแบบของพุทธศาสนาของสยามและรับเอารูปแบบพุทธศาสนาจากพม่า ที่เป็นศัตรูของสยามมาตั้งแต่ในอดีต รวมทั้งการที่ทรงเป็นมิตรกับบรรดามิชชันนารีต่างชาติ แต่กระนั้นก็ตาม พระองค์ก็ไม่ได้ทรงมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่ปรากฎชัดเจนแต่อย่างใด พระองค์ไม่ได้ทรงก้าวก่ายในกิจการบ้านเมืองแต่อย่างใด มีบันทึกของชาวต่างชาติรายงานว่า พระองค์ทรงต้องครองพระองค์อย่างระมัดระวังและจะติดต่อสื่อสารกับคณะทูตในลักษณะที่ “เป็นการส่วนพระองค์และด้วยความระแวดระวังเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว กลุ่มขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดอันได้แก่ขุนนางรุ่นใหม่ในตระกูลบุนนาคได้ตระหนักในความสำคัญของพระปรีชาในความรู้ในภาษาต่างประเทศและวิทยาการและความเป็นไปของโลกตะวันตกของพระองค์ อันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจให้เท่าทันต่อโลกภายนอกสยาม และทรงมีทีท่าที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกไม่ต่างจากจุดยืนของกลุ่มขุนนางดังกล่าวนี้ที่ต้องการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับอังกฤษ นั่นคือ “สองพี่น้องตระกูลบุนนาครุ่นถัดมา ได้แก่ ช่วง และ ขำ บุนนาค กับเจ้าพระยาพระคลังผู้เป็นบิดาของทั้งคู่ และเจ้าฟ้ามงกุฎ สนับสนุนให้สยามปรับตัวเข้าหาฝ่ายอังกฤษ ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามนำโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และพระยาศรีพิพัฒน์ จางวางพระคลังสินค้า ทั้งนี้ฝ่ายของเจ้าฟ้ามงกุฎถือเป็นชนชั้นนำกลุ่มแรกที่ปรับตัวให้เป็นแบบตะวันตก

อีกทั้งเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงได้รับความนิยมยกย่องในหมู่ประชาชนทั้งหลายและรวมทั้งมิชชันนารีชาวอเมริกัน โดยมีผู้ให้ความเห็นว่า ในช่วงที่ทรงผนวช พระองค์ได้ทรงสั่งสมบารมีอย่างต่อเนื่องในฐานะภิกษุผู้นำธรรมยุติกนิกายซึ่งเคร่งครัดในพระวินัยมากกว่านิกายอื่นในพุทธจักร แต่ด้วยความที่ทรงผนวชมาเป็นเวลานานราวสามทศวรรษทำให้พระองค์ไม่มีอำนาจต่อรองกับขุนนางตระกูลบุนนาคมากนัก ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมเสนาบดีไม่เห็นด้วยที่จะเลือกพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ตัดสินใจเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในสายตาของกลุ่มขุนนางดังกล่าวที่เป็นคณะบุคคลที่ทรงอำนาจทางการเมืองของสยามในขณะนั้น

และเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) แม้ว่าจะทรงสนพระทัยและมีความรอบรู้ในภาษาและศาสตร์ตะวันตกอย่างยิ่งอาจจะไม่ต่างหรือยิ่งกว่าเจ้าฟ้ามงกุฎฯด้วย แต่หากเจ้าฟ้าจุฑามณีได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะเป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค เพราะพระองค์ทรงสั่งสมทั้งอำนาจบารมีทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์ ดังนั้น การเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎฯที่ทรงผนวชมาตลอดน่าจะเป็นเงื่อนไขที่ดีสำหรับการครองอำนาจนำของขุนนางตระกูลบุนนาคต่อไป เพราะเจ้าฟังมงกุฎฯไม่ได้ทรงมีอำนาจบารมีทางการเมืองที่เข้มแข็งพอที่จะต่อรองอะไรได้

(แหล่งอ้างอิง: Abbot Low Moffat, Mongkut the King of Siam, (Ithaca, New York: Cornell University Press: 1961, 1968); หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล, ประชุมนิพนธ์ เล่ม ๑, (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์บำรุงบัณฑิต, 2529); ไกรฤกษ์ นานา, “’เงินถุงแดง’ อิสรภาพไทยแลกด้วยค่าไถ่ 3 ล้านฟรังก์ ร.ศ. 112 หาเงินจากไหนให้ฝรั่งเศส”, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2546; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย; สิริน โรจนสโรช, เงินถุงแดง, สำนักบรรณสารสนเทศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช)

15 ก.ค. 2564
https://www.posttoday.com/politic/columnist/658106

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
**************
ในตอนก่อนๆได้กล่าวถึงเงื่อนไขในการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนอยู่บนเงื่อนไข “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” แต่หาใช่ราษฎรทั่วไป แต่หมายถึงที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดี และกลุ่มคนที่ทรงอำนาจอิทธิพลในประชุมดังกล่าวนี้คือ กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค

ก่อนจะกล่าวถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผมขอกล่าวถึงเรื่องราวหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯขึ้นครองราชย์ ซึ่งจะทำให้เข้าใจช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลจากรัชกาลที่สี่ไปสู่รัชกาลที่ห้า

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ ดิศ บุนนาคเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณทั่วราชอาณาจักร และรวมทั้งขุนนางสายตระกูลบุนนาคคนอื่นๆก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นการตอบแทน ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆอย่างเช่น กลาโหม สมุหนายก เมือง วัง คลัง นาล้วนมาจากขุนนางตระกูลบุนนาคหรือเกี่ยวข้องโดยการแต่งงานกับพวกบุนนาคทั้งสิ้น

และเหตุผลประการหนึ่งที่พวกขุนนางตระกูลบุนนาคสนับสนุนพระองค์ก็เป็นเพราะพระองค์ไม่ได้ทรงมีอำนาจบารมีทางการเมืองที่เข้มแข็งพอที่จะต่อรองอะไรมากกับกลุ่มขุนนางที่สนับสนุนพระองค์ เพราะก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงผนวชมาเป็นเวลานานราวสามทศวรรษ ทำให้พระองค์ไม่มีอำนาจต่อรองเท่าไรนัก

สถานะของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ “ปรากฏชัดเจนจากประกาศของพระองค์ใน พ.ศ. 2397 เพื่อพระราชทานอำนาจหน้าที่เต็มแก่ขุนนางคนสำคัญในตระกูลบุนนาคโดยส่วนใหญ่ ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (สมุหนายก: ว่าการมหาดไทย) และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) โดยให้มีอำนาจบัญชาการเรื่องต่างๆได้โดยไม่ต้องรอพระบรมราชานุมัติ โดยพระองค์จะยินดีหากมีผู้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงการตัดสินใจสำคัญใดๆเพื่อจะได้ปฏิบัติพระองค์ตามสมควร”

ส่วนตำแหน่งวังหน้า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี พระอนุชาร่วมพระมารดาให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เพราะในขณะนั้น ยังไม่ทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติในเศวตรฉัตร (เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงประสูติ พ.ศ. 2396)

และในการแต่งตั้งนี้ถือเป็นการแต่งตั้งที่พิเศษ นั่นคือ “โปรดพระราชทานให้มียศยิ่งใหญ่กว่าแต่ก่อน” นั่นคือ ให้มียศยิ่งใหญ่กว่ากรมพระราชวังสถานมงคลและให้เสมอกันกับพระเจ้าแผ่นดิน โดยให้ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ถือเป็น “พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สอง” และ “ให้รับพระราชโองการทั้ง2พระองค์..ผิดกันแต่คำนำหน้าที่ว่ารับพระราชโองการและรับพระบวรราชโองการเท่านั้น” และพระราชพิธีบวรราชาภิเษกก็ไม่แตกต่างจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

เหตุผลในการแต่งตั้งดังกล่าวนี้ สืบจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระราชดำริเห็นว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี พระอนุชา “ทรงพระปรีชารอบรู้การในพระนครและการต่างประเทศ และขนบธรรมเนียมต่างๆ และศิลปศาสตร์ในการรณรงค์สงครามเป็นอันมาก พระบรมราชวงศานุวงศ์และเสนาบดีข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้ใหญู่ผู้น้อยก็นิยมยินดีนับถือมาก” ซึ่งการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง “พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่สอง” นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยพระนเรศวรที่ทรงแต่งตั้งพระเอกาทศรถ ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องเผชิญกับภัยภายนอกคือพม่าและทำให้ไม่มีปัญหาในการสืบราชสมบัติ

ขณะเดียวกัน ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเชื่อตำราพยากรณ์ ว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯจำต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน” พระองค์จึงทรงแต่งตั้งเพื่อแก้เคล็ดคำพยากรณ์ดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ก็เป็นไปได้ว่า การที่พระองค์ทรงต้องการให้ตำแหน่งวังหน้าที่ครองโดยพระราชอนุชามีสถานะที่เท่าเทียมพระมหากษัตริย์ก็เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงพอพระทัยกับสถานะอันทรงพระเกียรติสูงสุดเพื่อที่จะไม่จำเป็นต้องคิดแย่งชิงบัลลังก์โดยคบคิดกับผู้นำขุนนางตระกูลบุนนาค ซึ่งก่อนหน้านี้ การมีพระมหากษัตริย์สองพระองค์เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นคือ ย้อนกลับไปถึง 261 ปีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ

ในปลายรัชกาล ได้เกิดการควบรวมอำนาจทางการเมืองโดยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ในปี พ.ศ. 2398 เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ถึงแก่พิราลัย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้ขึ้นเป็นสมุหพระกลาโหมแทน ต่อมา พ.ศ. 2400 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้เป็นอาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย และในปี พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์องค์ที่สองและตำแหน่งวังหน้าสวรรคต ทำให้อำนาจทางการเมืองอยู่ภายใต้การนำของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แห่งตระกูลบุนนาคในสายของตนแต่เพียงผู้เดียว

อีกทั้งหลังจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯสวรรคต ทำให้ตำแหน่งวังหน้าว่างลง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กราบทูลให้ทรงแต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะแต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งวังหน้า แต่ด้วยอำนาจบารมีอันยิ่งใหญ่และการให้เหตุผลของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ พระองค์จึงทรงประนีประนอมยอมแต่งตั้งให้พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศดำรงตำแหน่งกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ

แม้ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะมีสิทธิ์สืบราชสมบัติเท่ากับตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่ในทางปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงโปรดให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเสด็จออกงานพิธีคู่กับพระองค์ แต่ในทางราชการ มิได้ “ทรงยกย่องกรมหมื่นบวรวิชัยชาญให้ผิดกับแต่ก่อนอย่างไรไม่” นั่นคือ ในทางปฏิบัติทรงปฏิบัติให้ผู้คนเห็นว่าทรงปฏิบัติต่อกรมหมื่นบวรวิชัยชาญประดุจกรมพระราชบวรสถานมงคล แต่ในทางการ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญมิได้มีสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติอย่างกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

ขณะเดียวกัน แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงโปรดเกล้าฯให้มีการออกประกาศต่างๆมากมายตลอดรัชสมัยของพระองค์ แต่กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด นักรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ได้กล่าวว่า “ถึงแม้ประกาศฉบับต่างๆของพระองค์จะให้ภาพว่าทรงกระตือรือร้นในกิจการของรัฐ ทว่าบรรดาขุนนางผู้ใหญ่มิได้เข้าเฝ้าฯเป็นประจำทุกวัน ก็บ่งชี้ว่าพระองค์มิได้เป็นศูนย์กลางอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐพิธีและพระราชพิธีต่างๆกลายเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากขุนนางผู้ใหญ่ไม่สนใจเข้าร่วมพิธี

เมื่อต้องประกอบพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระองค์จึงตรัสว่ามิได้คาดหวังให้ขุนนางมาช่วยงาน แต่หากผู้ใดมาช่วยงาน พระองค์จะสมนาคุณตอบแทนเมื่อถึงเวลาอันสมควร การเน้นย้ำผลประโยชน์ต่างตอบแทนเช่นนี้ทำให้พระองค์มิได้แสดงบทบาทพระมหากษัตริย์แบบจารีตในฐานะองค์อุปถัมภกสูงสุดอีกต่อไป พระองค์ทรงยอมรับอย่างเปิดเผยว่าทรงเห็นเป็นบุญคุณอย่างยิ่งที่บรรดาขุนนางสนับสนุนให้พระองค์ขึ้นครองราชย์

เมื่อพระราชลัญจกรประจำรัชกาลถูกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่าเป็นกษัตริย์ที่ทรงชราและไร้พระราชอำนาจ พระองค์ก็ได้ขอร้องให้เหล่าขุนนางเข้าเฝ้าฯและร่วมพิธีทำขวัญ ในความสัมพันธ์ระหว่างขุนนาง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯพยายามยืนยันพระราชอำนาจด้วยการเน้นย้ำให้ขุนนางเข้าเฝ้าฯเฉพาะพระพักตร์ ดังนั้น จึงมีพระบรมราชโองการให้ขุนนางเข้าเฝ้าฯเพื่อรอรับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีด้วยตนเองแทนที่จะส่งผู้แทนมา พระองค์ยังเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและทรงริเริ่มการให้คำสัตย์สาบานว่าจะซื่อตรงต่อผู้ปกครอง

นอกจากนี้ พระองค์ยังลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านายด้วยพระองค์เอง ณ วังของเจ้านายนั้นๆ ทั้งยังส่งเสริมให้ขุนนางระดับล่างกราบบังคมทูลให้ทรงทราบหากจะจัดพิธีใดๆขึ้นมา เพื่อจะได้เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมงานโดยมุ่งหมายผลประโยชน์ต่างตอบแทนในภายหน้า แต่กระนั้น ทรัพยากรที่จะเสริมสร้างระบบอุปถัมภ์ของพระองค์ก็มีอยู่จำกัด ดังจะเห็นได้จากการเสนอให้ขุนนางใช้บริการนวดจากข้าราชบริพารของพระองค์”

จากที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงมีพระราชอำนาจมากมายอะไร แต่อำนาจจะรวมศูนย์อยู่ที่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคที่มีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้นำ

ในช่วงปลายรัชสมัย ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงประชวรใกล้สวรรคต ทรงรับสั่งกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แล้วว่า ให้เป็นการตัดสินใจของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีที่จะเลือกเป็นพระเจ้าน้องยาเธอหรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอพระองค์ใดที่มีความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ) ที่ยังทรงพระเยาว์ ขาดประสบการณ์และกำลังทรงพระประชวรหนักด้วย โดยทรงมีพระราชดำรัสแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า

“ผู้ที่จะดำรงรักษาแผ่นดินต่อไปนั้นให้พระราชวงศ์และข้าราชการปรึกษาหารือ สุดแต่จะเห็นพร้อมกันว่าพระองค์ใด จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอซึ่งทรงพระสติปัญญารอบรู้สรรพสิ่งทั้งปวงสมควรจะปกป้องสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรได้ ก็ให้ยกพระราชวงศ์พระองค์นั้นขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์มิได้ทรงรังเกียจ”

เหตุผลสำคัญที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริเช่นนั้น เพราะ “ในกรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์ แต่มีตัวอย่างเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นอันตรายแก่พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระเยาว์ทุกครั้ง ครั้งหลังที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2171 พระเจ้าทรงธรรมมอบเวนราชสมบัติแก่พระเชษฐา ราชโอรส พระชันษา 14 ปี ให้เจ้าพระยาสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อยู่ได้ไม่ถึง 2 ปี เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เกลี้ยกล่อมเอาข้าราชการไปเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก สมเด็จพระเชษฐาธิราชสงสัยว่าจะคิดร้าย จะชำระเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็เลยเป็นกบฏ จับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชปลงพระชนม์ ชิงเอาราชสมบัติเสีย”

และเมื่อกล่าวถึงพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอที่เข้าข่ายสืบราชสันตติวงศ์มีใครบ้าง ?

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า “เจ้านายที่ฐานะอยู่ในฉายา อาจจะได้รับเลือกเป็นรัชทายาทมี 3 พระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชันษา 13 ปี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ พระชันษา 43 ปี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา พระชันษา 46 ปี”

และเหตุใด เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงตัดสินใจเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ให้สืบราชสมบัติ ? โปรดติดตามตอนต่อไป

(พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่ม 2,; พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

22 ก.ค. 2564
https://www.posttoday.com/politic/columnist/658710

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
***************
อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆ การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนอยู่บนเงื่อนไข “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” แต่หาใช่ราษฎรทั่วไป แต่หมายถึงที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดี และกลุ่มคนที่ทรงอำนาจอิทธิพลในประชุมดังกล่าวนี้คือ กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค และการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันนี้ด้วย

ในปี พ.ศ. 2411 ในช่วงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงประชวรใกล้สวรรคต ทรงรับสั่งกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ว่า ให้เป็นการตัดสินใจของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีที่จะเลือกเป็นพระเจ้าน้องยาเธอหรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอพระองค์ใดที่มีความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ) ที่ยังทรงพระเยาว์ ขาดประสบการณ์และกำลังทรงพระประชวรหนักด้วย

โดยทรงมีพระราชดำรัสแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า “ผู้ที่จะดำรงรักษาแผ่นดินต่อไปนั้นให้พระราชวงศ์และข้าราชการปรึกษาหารือ สุดแต่จะเห็นพร้อมกันว่าพระองค์ใด จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอซึ่งทรงพระสติปัญญารอบรู้สรรพสิ่งทั้งปวงสมควรจะปกป้องสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรได้ ก็ให้ยกพระราชวงศ์พระองค์นั้นขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์มิได้ทรงรังเกียจ”

เหตุผลสำคัญที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริเช่นนั้น เพราะ “ในกรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์ แต่มีตัวอย่างเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นอันตรายแก่พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระเยาว์ทุกครั้ง ครั้งหลังที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2171 พระเจ้าทรงธรรมมอบเวนราชสมบัติแก่พระเชษฐา ราชโอรส พระชันษา 14 ปี ให้เจ้าพระยาสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อยู่ได้ไม่ถึง 2 ปี เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เกลี้ยกล่อมเอาข้าราชการไปเป็นสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก สมเด็จพระเชษฐาธิราชสงสัยว่าจะคิดร้าย จะชำระเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็เลยเป็นกบฏ จับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชปลงพระชนม์ ชิงเอาราชสมบัติเสีย”

พระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอที่เข้าข่ายสืบราชสันตติวงศ์ได้แก่

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชันษา 15 ปี

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ พระชันษา 43 ปี

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา พระชันษา 46 ปี

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ห้า ฉบับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้บันทึกไว้ว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ได้มีการประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดี กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร ซึ่งเป็นพระวงศานุวงศ์ผู้อาวุโสที่สุดและเป็นหนึ่งในสามบุคคลที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดให้เข้าเฝ้าสามวันก่อนเสด็จสวรรคต ได้เสนอให้ยกให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ (เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์) ซึ่งขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในฐานะที่เป็นพระราชโอรสผู้ใหญ่

ในที่ประชุมครั้งนั้น มีพระราชวงศ์และขุนนางเสนาบดีที่มาประชุมและเลือกพระมหากษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์และตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลรวมทั้งสิ้น 36 พระองค์และคน ประกอบไปด้วยพระราชวงศ์และขุนนางเสนาบดี เป็นพระราชวงศานุวงศ์ 16 พระองค์และขุนนางเสนาบดี 20 คน

พระราชวงศานุวงศ์ 16 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ 7 พระองค์ คือ 1. กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ 2. กรมหลวงวงศาธิราชสนิท 3. กรมหมื่นถาวรวรยศ 4. กรมหมื่นวรศักดาพิศาล 5. กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ 6. กรมขุนวรจักรธรานุภาพ 7. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ 6 พระองค์ คือ 1. กรมหมื่นภูมินทรภักดี 2. กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ 3. กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย 4. กรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล 5. กรมหมื่นอักษรสารโสภณ 6. กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์

พระเจ้าบวรวงศ์เธอ 3 พระองค์ คือ 1. กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ 2. กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ 3. กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ

นอกจากนี้ พระเจ้าลูกเธอที่เป็นชั้นใหญ่ที่ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ 7 พระองค์ คือ 1. พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร 2. พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล 3. พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์ 4. พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ 5. พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ 6. พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ 7. พระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์

ส่วนขุนนางผู้ใหญ่ที่เข้าประชุม ได้แก่ ข้าราชการฝ่ายพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) คือ 1. เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม 2. เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ที่สมุหนายก 3. พระยามหาอำมาตย์ (ลมั่ง สนธิรัตน) 4. พระยาราชภักดี (ช้าง เทพหัสดิน ณ อยุธยา) 5. พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) 6. พระยาเพชรพิชัย (หนู เกตุทัต) 7. พระยาสีหราชเดโช (พิณ) 8. พระยาสีหราชฤทธิไกร (บัว) 9. พระยาราชวรานุกูล (บุญรอด กัลยาณมิตร) 10. พระยาเทพประชุน (ท้วม บุนนาค) 11. พระยาอภัยรณฤทธิ์ (เฉย ยมาภัย) 12. พระยาอนุชิตตตตชาญชัย (อุ่น) 13. พระยาสุรวงศวัยวัฒน์ (วร บุนนาค) 14. พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง เพ็ญกุล) 15. พระยาศรีเสาวราช (ภู่)

ข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายพระบวรราชวัง (วังหน้า) 16. เจ้าพระยามุขมนตรี (เกต สิงหเสนี) 17. พระยามณเฑียรบาล (บัว) 18. พระยาเสนาภูเบศ (กรับ บุญยรัตพันธุ์) 19. พระยาศิริไอศวรรย์ 20. พระยาสุรินทราชเสนี (ชื่น กัลยาณมิตร)

ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ห้า ฉบับกรมพระยาดำรงราชานุภาพบันทึกได้ว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ถามที่ประชุมเรียงพระองค์เจ้านายและเรียงตัวข้าราชการผู้ใหญ่ ที่ประชุมต่างเห็นพ้องตามที่กรมหลวงเทเวศรวัชรินทรเสนอ

ถ้าการตัดสินใจเลือกเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ (เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์) เป็นผู้สืบราชสมบัติอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และขุนนางตระกูลบุนนาคไม่ต่างจากกสองรัชกาลที่ผ่านมา คำถามคือ เพราะอะไร ? ในขณะที่เมื่อย้อนไปในสมัยที่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค อย่าง ดิศ และ ทัต บุนนาค สนับสนุนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เสด็จขึ้นครองราชย์ก็ด้วยเหตุผลทางการค้า

ส่วนครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความที่พระองค์สนพระทัยโน้มเอียงในการยอมรับอิทธิพลตะวันตก ที่ส่วนหนึ่งของขุนนางตระกูลบุนนาคต้องการทำสนธิสัญญาการค้าที่ติดค้างอยู่ในช่วงเปลี่ยนรัชกาลให้สำเร็จลุล่วงไป และก่อนหน้าที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงใช้เวลาผนวชอยู่ถึง 27 พรรษา ทำให้พระองค์ไม่ได้สั่งสมอำนาจทรัพย์สินใดๆมากพอที่จะต่อรองได้

ในกรณีของเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ (เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์) ยังไม่มีความโดดเด่นชัดเจนอะไรที่จะเป็นเหตุผลให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และขุนนางตระกูลบุนนาคสนับสนุน นอกไปจากความที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์และอยู่ในอาการพระประชวรหนัก !

ทำไมเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยังคงสนับสนุนให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ที่ยังทรงพระเยาว์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ?

มีข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ดังต่อไปนี้คือหากเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สนับสนุนให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินทั้งๆที่ตระหนักดีว่า พระองค์ยังทรงพระเยาว์และขาดประสบการณ์ จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์เป็นเวลาถึง 5 ปีกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงบรรลุนิติภาวะ และผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้ ไม่มีผู้ใดนอกจากเจ้าพระยาศรีสุริวงศ์ และในหนังสือของ David K. Wyatt ก็กล่าวไว้ด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเองก็ทรงเสนอว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นบุคคลเดียวที่จะทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์

และถ้าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เลือกพระองค์อื่นให้สืบราชสมบัติ สมการทางการเมืองก็จะไม่ทำให้ท่านและเครือข่ายได้เปรียบมากเท่ากับการเลือกพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระเยาว์และทรงประชวร !

ขณะเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา หลังจากที่ประชุมเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ก็คือ ตำแหน่งวังหน้าที่ว่างลงตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในปี พ.ศ. 2408 ซึ่งตามราชประเพณีที่ผ่านมา อำนาจในการแต่งตั้งวังหน้าอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์

ในสถานการณ์ขณะนั้นเกิดปัญหาทางเทคนิกขึ้น นั่นคือ ใครคือผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งวังหน้า ? ยุวกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์/ ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ?

ถ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งวังหน้า การถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็พอจะเกิดขึ้นได้แต่ถ้าสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นผู้แต่งตั้ง อำนาจทางการเมืองก็จะตกอยู่ในมือของฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯอย่างเบ็ดเสร็จ !

โปรดติดตามตอนต่อไป (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่ม 2; พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ; David K. Wyatt, The Politics of Reform in Thailand: Education in the Reign of King Chulalongkor

29 ก.ค. 2564
https://www.posttoday.com/politic/columnist/659236

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
****************************
ผมได้ชี้ให้เห็นพร้อมหลักฐานประวัติศาสตร์แล้วว่า นับแต่การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดขึ้นภายใต้หลักการ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” มากกว่าจะตามหลักการสืบสายโลหิตของพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ความหมายตรงตัวของ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” คือ คนทั่วไปมารวมตัวกันสมมุติให้คนๆหนึ่งเป็นพระราชา ซึ่งข้อความนี้มาจากอัคคัญญสูตรในพระไตรปิฎก อันเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยกำเนิดราชาหรือผู้ปกครอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำมาจารึกในพระสุพรรณบัฏเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์

ผมเข้าใจว่าพระองค์ท่านทรงต้องการจะสื่อว่า พระองค์มิได้ขึ้นครองราชย์ตามหลักปัญจราชาภิเษกที่เป็นคติการปกครองของไทยที่มาแต่ครั้งอยุธยา และการเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยหลักการ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” ถือเป็นของใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น และเกิดขึ้นมาตั้งแต่รัชกาลก่อนหน้าแล้ว แต่เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีความรอบรู้ในพระพุทธศาสนา พระองค์จึงทรงเลือกเทียบเคียงการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์กับหลักการการกำเนิดผู้ปกครองในอัคคัญญสูตร

แม้ว่าความหมายของ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” จะหมายถึงคนทั่วไปก็ตาม แต่ในความเป็นจริงตามบริบททางการเมืองของไทยตั้งแต่ครั้งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่สาม คนทั่วไปหมายถึงที่ประชุมของพระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ และภายในที่ประชุมนั้น กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคคือกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่ดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2411

เหตุผลของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคในการสนับสนุนผลักดันผู้สืบราชสันตติวงศ์ในแต่ละรัชกาลนั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงกับทั้งผลประโยชน์ของกลุ่มเองและทั้งเงื่อนไขและทิศทางทางการเมืองของประเทศที่กลุ่มคาดหวังจะให้เกิดขึ้น

เหตุผลในการสนับสนุนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ การเป็นพันธมิตรร่วมทำการค้ากันมาก่อน และกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคต้องการพระมหากษัตริย์ที่สนับสนุนแนวทางการค้าของพวกตน รวมทั้งการทำสนธิสัญญาการค้ากับต่างประเทศ แต่กระนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็มีข้อจำกัด เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯไม่ได้ทรงมีเวลาที่จะศึกษาภาษาและความรู้วิทยาการของตะวันตก ทำให้พระองค์ทรงระแวงพวกฝรั่ง

แม้ว่าจะมีการทำสนธิสัญญาการค้ากับตะวันตกสองฉบับในรัชสมัยของพระองค์ นั่นคือ สนธิสัญญาเบอร์นีย์กับอังกฤษ และสนธิสัญญาโรเบิร์ตกับอเมริกา ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่เสมอภาคกัน อีกทั้งนักวิชาการบางท่านเห็นว่า ไทยได้เปรียบฝรั่งเสียด้วยซ้ำ ส่งผลให้ในปลายรัชกาลที่สาม อังกฤษต้องการทำสนธิสัญญาที่ตนได้รับความเป็นธรรมในสายตาของอังกฤษ แต่เป็นสนธิสัญญาได้อังกฤษเอาเปรียบในสายตาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯและขุนนางตระกูลบุนนาครุ่นอาวุโส สนธิสัญญาที่ว่านี้คือ สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ที่ติดค้างอยู่ในตอนปลายรัชกาลที่สาม

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯสวรรคต ที่ประชุมเพระราชวงศ์และเสนาบดีได้ตัดสินใจเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุผลที่ว่า พระองค์ทรงศึกษาภาษาและวิทยาการความรู้ตะวันตกเป็นอย่างดี เข้าใจและเห็นข้อดีของอารยธรรมตะวันตก พูดง่ายๆตามภาษาของกรมพระยาดำรงราชานุภาพคือ “นิยมฝรั่ง จำพวกสมัยใหม่”

กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคเห็นว่า พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ควรที่รู้เท่าทันและมีทีท่าเป็นมิตรกับตะวันตก อีกทั้งเจ้าฟ้ามงกุฎทรงใช้เวลาในการผนวชอยู่ถึง 27 พรรษา ไม่ได้สั่งสมอำนาจบารมีทางการเมืองที่จะเป็นอุปสรรคหรือจะลดทอนอำนาจของกลุ่มขุนนาง แต่ทรงสั่งสมบารมีจากการผนวชและมีความเคร่งครัดในพระวินัยจะเป็นที่เคารพยกย่องของประชาชนทั่วไป เหตุผลที่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคที่นำโดยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สนับสนุนให้เจ้าฟ้าจุฬาลกรณ์ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพราะ หนึ่ง ยังทรงพระเยาว์อยู่ จำเป็นต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และผู้ที่จะทำหน้าที่นี้คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สอง ในขณะนั้น พระองค์ทรงประชวรมาก และ สาม เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะได้ใช้เงื่อนไขนี้เป็นเหตุผลในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้า

หมายความว่าอย่างไร ? ตามราชประเพณี อำนาจในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าหรือ “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” คือพระมหากษัตริย์ และผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าถือเป็น “พระมหาอุปราช” ที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์หากราชบัลลังก์ว่างลง (แล้วทำไม ในครั้งที่รัชกาลที่สองหรือรัชกาลที่สามและรัชกาลที่สี่สวรรคต จึงไม่ให้วังหน้าขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ? คำตอบคือ ในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวทั้งสามพระองค์เสด็จสวรรคต ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้า ทำไมไม่มี ? ผมได้เขียนอธิบายไปในตอนก่อนๆแล้วครับ)

ในกรณีการแต่งตั้งวังหน้า หลังจากที่ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีได้เลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ให้สืบราชสันตติวงศ์แล้ว ตามราชประเพณี อำนาจจึงเป็นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์ จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (เป็นตำแหน่งที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้รับเลื่อนขึ้นหลังจากดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ)

ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ อำนาจในการแต่งตั้งอยู่ที่ผู้ใด ระหว่าง พระมหากษัตริย์ กับ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ?

แต่ปัญหานี้ยุติลงที่ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีเป็นผู้ลงมติแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้า คำถามคือ ใครเป็นคนกำหนดให้ที่ประชุมมีอำนาจนี้ ในเมื่อตามราชประเพณี อำนาจอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ?

คำตอบคือ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นคนกำหนด ดังที่ผมจะนำข้อมูลประวัติศาสตร์ตามที่ปรากฎในพระราชพงศาวดารมานำเสนอดังต่อไปนี้

หลังจากที่ที่ประชุมได้ตัดสินใจให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ถามต่อไปในที่ประชุมว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระวิตกเกี่ยวกับพระชันษายังทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทรได้ขอให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าราชการแผ่นดิน ที่ประชุมอนุมัติเห็นสมควรพร้อมกัน

จากนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้เสนอให้มีการเลือกวังหน้าขึ้น ด้วย “แผ่นดินที่ล่วงแล้วแต่ก่อนๆมา มีพระมหากษัตริย์แล้ว ก็ต้องมีอุปราชฝ่ายหน้าเป็นเยี่ยงอย่างมาทุกๆแผ่นดิน” และได้ถามต่อที่ประชุมว่าควรจะเลือกผู้ใด และกรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ได้เสนอกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ถามซ้ำต่อที่ประชุม และที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีต่างเห็นพร้อมต้องกันให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นวังหน้า

และจากแหล่งอ้างอิงที่ไม่เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการแต่ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ที่ว่า หนึ่งวันก่อนหน้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ที่ประชุมอันมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นประธาน ตกลงที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ แต่เรื่องนี้ไม่เป็นมติเอกฉันท์ของที่ประชุม

เพราะกรมขุนวรจักรธรานุภาพ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระนามเดิม พระองค์เจ้าปราโมช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดาอัมพา) ทรงคัดค้านว่า การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ตามโบราณราชประเพณีเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของที่ประชุม ซึ่งทำความไม่พอใจให้แก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านจึงได้ย้อนถามว่า “ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ” กรมขุนวรจักรธรานุภาพ จึงตอบว่า “ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม” ต่อมา ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ที่ประชุมเห็นสมควรที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ในกรณีเดียวกันนี้ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 ที่ในปี พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตรวจชำระจากฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯที่เรียบเรียงขึ้นในปี พ.ศ. 2412 ซึ่งฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์นี้เกิดขึ้นจากการโปรดเกล้าฯโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นกัน ฉบับกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จสวรรคต กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ในฐานะผู้อาวุโสที่สุดในบรรดาพระวงศานุวงศ์ทั้งหลายได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ (เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์) พระราชโอรสพระอง์ใหญ่ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิ

และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ถามซ้ำถึงความเห็นของที่ประชุมต่อข้อเสนอของกรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ ที่ประชุมต่างก็เห็นพ้องต้องกัน และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้กล่าวต่อไปว่าเมื่อ “มีพระมหากษัตริย์แล้ว ก็ต้องมีอุปราชฝ่ายหน้าเป็นเยี่ยงอย่างมาทุกๆแผ่นดิน..ครั้งนี้จะควรแก่ท่านผู้ใด ที่จะเป็นที่อุปราชฝ่ายหน้า”

กรมหลวงเทเวศรวัชรินทรได้เสนอกรมหมื่นบวรวิชัยชาญให้ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ถามที่ประชุมโดยเรียงไปตามบุคคล ส่วนใหญ่เห็นสมควรหรืออนุมัติโดยการไม่คัดค้าน แต่กรมขุนวรจักรฯไม่เห็นด้วยและตรัสว่า “ผู้ที่จะเป็นตำแหน่งพระราชโองการมีอยู่แล้ว ตำแหน่งพระมหาอุปราชควรแล้วแต่พระราชโองการจะทรงตั้ง เห็นมิใช่กิจของที่ประชุมจะเลือกพระมหาอุราช” และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ซักถึงเหตุผลที่กรมขุนวรจักรฯขัดขวาง กรมขุนวรจักรฯได้ชี้แจงว่าเป็นราชประเพณี ด้วยการแต่งตั้งตำแหน่งพระมหาอุปราชที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หนึ่งจนถึงรัชกาลที่สี่ว่าเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

และข้อความต่อไปนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นของกรมพระยาดำรงราชานุภาพเอง หรือกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์สรุปพระดำรัสของกรมขุนวรจักรธรานุภาพที่ทรงตรัสไว้ในที่ประชุม นั่นคือ การกล่าวว่า พระราชวงศ์และเสนาบดีไม่มีอำนาจหน้าที่เลือกพระมหาอุปราช แต่

“มีหน้าที่ที่จะเลือกแต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว เพราะถ้าไม่มีพระเจ้าแผ่นดินบ้านเมืองจะเป็นจลาจล แต่ส่วนพระมหาอุปราชหามีความจำเป็นเช่นนั้นไม่ โดยจะทิ้งว่าไว้ก่อนก็ได้ เยี่ยงอย่างเช่นเมื่อในรัชกาลที่ 3 ว่างพระมหาอุปราชอยู่ตั้ง 10 ปีก็เคยมี แม้พระเจ้าแผ่นดินจะสวรรคตลง ก็ประชุมปรึกษากันเลือกได้อีกเหมือนหนหลัง และเวลานั้นก็มีเจ้าฟ้าพระราชอนุชาอยู่ถึง 2 พระองค์ ไม่สิ้นไร้เจ้านายซึ่งจะรับรัชทายาท ที่อ้างในคำปรึกษาว่าถ้ากรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช จะได้ทรงควบคุมผู้คนของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดูเหมือนจะชวนให้เข้าใจว่ามีคนหมู่ใหญ่อีกจำพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นคนของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าผู้อื่นไปบังคับบัญชาคนพวกนั้นอาจจะกำเริบขึ้น แต่ที่จริงมิได้เป็นเช่นนั้น พวกข้าราชการวังหน้าก็คนร่วมสกุลกันกับข้าราชการวังหลวงนั้นเอง เป็นแต่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแบ่งพระราชทานขึ้นไปรับราชการวังหน้า ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ก็กลับลงมาสมทบรับราชการวังหลวงโดยเรียบร้อยมาถึง 3 ปี จึงสิ้นรัชกาลที่ 4 หามีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ควบคุมขึ้นใหม่ไม่

อนึ่งพระมหาอุปราชในรัชกาลก่อนๆมา ล้วนเป็นเจ้าฟ้าสมเด็จพระอนุชาธิราชอันร่วมพระบรมราชชนนีกับพระเจ้าแผ่นดิน แต่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญทรงศักดิ์เพียงชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ซึ่งยกข้ามเจ้าฟ้าและพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินขึ้นเป็นพระมหาอุปราช เป็นการผิดพระราชประเพณีอีกประการหนึ่ง ความที่กล่าวมานี้ไม่ได้มีความประสงค์จะติเตียนส่วนพระองค์กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏว่าเป็นผู้มีพระอัธยาศัยสุภาพ และได้ทรงร่ำเรียนรอบรู้ นับว่าเป็นอย่างดีในเจ้านายสมัยนั้น พระองค์หนึ่ง การที่ได้เป็นพระมหาอุปราช ก็มิใช่เพราะพระองค์ทรงเอิบเอื้อมขวนขวายเอง เป็นเพราะพระยาศรีสุริยวงศ์ท่านปรารถนาจะให้เป็น”

และกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ว่า “ไม่มีผู้ใดนอกจากกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ซึ่งอยู่ในที่ประชุมจะกล้าขัดขวาง (เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์/ผู้เขียน) เท่านั้น” นั่นคือ กล้าขัดขวางไม่ให้มีการแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้าที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เสนอให้ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีเลือก ซึ่งเป็นการผิดราชประเพณี รวมทั้งการเสนอให้เลือกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญให้ดำรงตำแหน่งวังหน้า

พระดำรัสของกรมขุนวรจักรฯทำให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่พอใจและว่ากล่าวกรมขุนวรจักรฯต่างๆจนท้ายที่สุดได้ถามว่าการที่กรมขุนวรจักรฯขัดขวางเพราะต้องการจะเป็นเองหรือไม่ ทำให้กรมขุนวรจักรฯตอบว่า “ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม” เป็นอันที่ประชุมเห็นสมควรที่จะให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในที่สุด

สมการการเมืองที่เกิดขึ้นคือ พระมหากษัตริย์ทรงพระเยาว์ ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ การมีตำแหน่งวังหน้าที่แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์อาจจะช่วยถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์กับฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการฯ ผู้นำแห่งขุนนางตระกูลบุนนาค แต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินกลับฟันธงให้อำนาจแก่ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญผู้มีความสนิทสนมกับตนให้เป็นวังหน้า

อำนาจจึงตกอยู่แก่ผู้สำเร็จราชการฯอย่างเบ็ดเสร็จ และมีเกร็ดเล่าว่า ครั้งหนึ่ง หนึ่งในหลานสาวของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ถามว่า “ปู่ ทำไมปู่ถึงไม่เป็นกษัตริย์ ?” เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ตอบว่า “ทำไมปู่จะต้องไปเป็นให้ลำบาก ? ปู่มีทุกสิ่งทุกอย่างที่คนๆหนึ่งอยากได้แล้ว”

แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมอยากจะทิ้งทายไว้ก็คือ เมื่ออำนาจตกอยู่ในมือของผู้สำเร็จราชการฯที่เป็นผู้นำขุนนางตระกูลบุนนาคอย่างเบ็ดเสร็จ แล้วเหตุไฉนนักวิชาการทั้งไทยและเทศจำนวนมากก็ดี อีกทั้งในความเข้าใจของผู้ที่เรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาก็ดี ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นได้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ? และการสืบราชสันตติวงศ์ต่อมาในสมัยรัชกาลที่หก จึงไม่ได้ตกอยู่ภายใต้หลักการ “อเนกนิกรสโมสรสมมุติ” ที่ดำเนินสืบเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2367-2411 ?

(แหล่งอ้างอิง: พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑-๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค); พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ; David K. Wyatt, “Family Politics in Nineteenth Century Thailand,” Journal of Southeast Asian History, 1968; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย)

5 ส.ค. 2564
https://www.posttoday.com/politic/columnist/659806

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
***************
ในปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา จึงจำเป็นต้องมีผู้ทำหน้าที่สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ นั่นคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ดังนั้น พระองค์จึงมิได้มีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน แม้ว่าการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์จะมาจากความเห็นพ้องของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีตามหลัก “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่สาม แต่ก็อยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคที่เริ่มต้นโดย ดิศ บุนนาค (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) ผู้เป็นบิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

อีกทั้งการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าก็อยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) แม้ว่าจะเป็นการแต่งตั้งโดยที่ประชุมเดียวกันกับที่ตัดสินให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งแต่เดิมที อำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งนี้อยู่ที่พระมหากษัตริย์ แต่ด้วยอำนาจอิทธิพลของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้ให้ที่ประชุมมีอำนาจนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งขัดต่อราชประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ และที่ประชุมก็ได้เลือกกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ให้เป็นวังหน้า

การเลือกนี้ก็เป็นไปตามความต้องการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เพราะพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศมีความสนิทสนมกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า “ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว กรมหมื่นบวรวิไชยชาญทรงรักษากิจวัตรมั่นคง2ประการคือ เวลาเช้าคงเสด็จข้ามไปหาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่บ้านเพื่อศึกษาราชการ และช่วยทำการงานให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เช่นตกแต่งบ้านเรือน เป็นต้น”

ขณะนั้น กรมหมื่นบวรวิไชยชาญมีพระชันษาไม่ถึง 30 ปี การเสด็จไปหาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์หลังพระราชบิดาสวรรคต ก็น่าจะสื่อถึงการเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรง “หาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ” ด้วย แต่เสด็จไปตอนค่ำและก็ดูจะเป็นกิจวัตรเช่นเดียวกัน ดังที่ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ต่อจากความข้างต้นว่า “ครั้งถึงเวลาค่ำเสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ในพระบรมมหาราชวังเป็นนิ ไม่ขาดเลยจนตลอดรัชกาลที่ 4 …”

น่าคิดว่า การ “เข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่” ของกรมหมื่นวิไชยชาญนั้น พระองค์มีเป้าประสงค์อะไร ?

ประการแรก หลังจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯสวรรคต ตำแหน่งวังหน้าจึงว่างลง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไม่ทรงมีพระราชประสงค์จะแต่งตั้งผู้ใด และจะปล่อยให้ว่างไว้ แต่เจ้าพระยาศรีสุริยงวงศ์ยืนยันว่าควรต้องตั้ง และควรตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจำต้องประนีประนอม โดยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ แต่ในทางปฏิบัติ ก็ทรงให้เกียรติเท่ากับตำแหน่งวังหน้า แต่ก็ไม่มีสถานะของพระมหาอุปราชที่จะสืบราชสันตติวงศ์เมื่อราชบัลลังก์ว่างลง

ดังนั้น ในการ “เข้าหาผู้ใหญ่ทั้งสอง” จึงสามารถอธิบายได้ดังนี้คือ

การเข้าหาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทุกเช้า ก็เพราะเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สนับสนุนพระองค์อย่างชัดเจน และกรมหมื่นบวรวิไชยชาญก็คงหวังให้ท่านเจ้าพระยาฯสนับสนุนตลอดไป เพราะเจ้าพระยาฯเป็นผู้มากบารมี โดยหวังว่า อาจจะได้รับการผลักดันให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเปลี่ยนพระทัย แต่งตั้งพระองค์ให้เป็นวังหน้า

ส่วนการเสด็จไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทุกค่ำ ก็ตีความได้สองอย่าง อย่างแรกคือ ไปบ้านท่านเจ้าพระยาฯทุกเช้า แต่ไม่ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ถูกต้องแน่ๆ อย่างที่สองคือ ก็หวังจะให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเปลี่ยนพระทัยตั้งพระองค์ให้เป็นวังหน้า

และการปรารถนาที่จะเป็นวังหน้า ก็เป็นไปได้ว่าจะโยงไปถึงการปรารถนาจะได้รับการเลือกจากที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีให้สืบราชสันตติวงศ์หากราชบัลลังก์ว่างลง และภายใต้อำนาจบารมีของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เพราะเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์อยู่มากและมีพระชันษาอ่อนกว่ากรมหมื่นบวรวิไชยชาญถึง 15 ปี

และก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจะเสด็จสวรรคต ก็ได้ทรงมีพระราชดำรัสกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่า “ผู้ที่จะดำรงรักษาแผ่นดินต่อไปนั้นให้พระราชวงศ์และข้าราชการปรึกษาหารือ สุดแต่จะเห็นพร้อมกันว่าพระองค์ใด จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอซึ่งทรงพระสติปัญญารอบรู้สรรพสิ่งทั้งปวงสมควรจะปกป้องสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรได้ ก็ให้ยกพระราชวงศ์พระองค์นั้นขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์มิได้ทรงรังเกียจ”

ดังนั้น กรมหมื่นบวรวิไชยชาญจึงเข้าข่ายที่จะได้รับการเลือกจากที่ประชุมด้วย แต่เมื่อที่ประชุมเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ห้าทั้งที่ยังทรงพระเยาว์และประชวร กรมหมื่นวิไชยชาญก็ย่อมคาดหวังว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะสนับสนุนให้พระองค์ขึ้นเป็นวังหน้า ซึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้น

ตามธรรมเนียมปฏิบัติก่อนสมัยรัชกาลที่สาม ผู้ที่อยู่ในสถานะที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นวังหน้าคือ ผู้ที่เป็นพระราชโอรสหรือพระราชอนุชา แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงแต่งตั้งพระปิตุลาเป็นวังหน้าเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น พระราชวงศ์ที่เป็นพระปิตุลาก็มีความคาดหวังเกิดขึ้นตลอดมา

หากอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้าอยู่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

คำถามคือ ในขณะนั้น บุคคลใดบ้างที่อยู่ในสถานะที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ? แน่นอนว่า คงต้องตัดประเด็นพระอนุชาหรือพระราชโอรสไป เพราะในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองยังทรงพระเยาว์ พระชันษาเพียง 15 ปีเท่านั้น พระอนุชาก็ยิ่งจะพระชันษาน้อยกว่าที่จะเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งวังหน้า ดังนั้น จึงต้องพิจารณาไปที่ผู้เป็นพระเชษฐาและพระปิตุลา

พระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) และพระปิตุลา (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ทรงประสูติในเศวตรฉัตร) ที่ยังทรงพระชนม์ชีพในปี พ.ศ. 2411 ได้แก่

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระชันษา 30 ปี

พระปิตุลา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นถาวรวรยศ พระชันษา 59 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรศักดาพิศาล สุพรรฒนาการสวัสดิ พระชันษา 56 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ พระชันษา 54 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระชันษา 52 ปี

กรมขุนวรจักรธรานุภาพ(ต้นราชสกุล ปราโมช)    กรมหลวงวรศักดาพิศาลฯ (ต้นราชสกุลอรุณวงศ์)   กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ (ต้นราชสกุลกปิตถา)

จากรายพระนามและสถานะของพระราชวงศ์ข้างต้น บุคคลที่เหมาะสมที่สุดในขณะนั้นก็คงไม่พ้นพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศอยู่ดี ด้วยพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีศักดิ์เป็นพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) ของพระองค์และทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบรมวิไชยชาญที่แต่งตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว ทรงพระชันษา 30 ปี และมีคุณสมบัติโดดเด่นอันได้แก่ ทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีและทรงมีความสามารถด้านการช่าง ทรงชำนาญเครื่องจักรกล ทรงต่อเรือกำปั่น ทรงทำแผนที่แบบสากล ทรงสนพระทัยในแร่ธาตุ ถึงกับทรงสร้างโรงถลุงแร่ไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. 2426 ทรงได้รับประกาศนียบัตรจากฝรั่งเศส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาช่าง

แต่ก็เป็นไปได้ด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯอาจจะไม่ทรงเลือกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ ด้วยเหตุที่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญสนิทสนมกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แต่จะเลือกพระองค์อื่นที่จะทำให้อำนาจของพระองค์เข้มแข็งถ่วงดุลได้มากขึ้นกว่าการมีผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่เป็นพันธมิตรกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

แต่หากอำนาจการแต่งตั้งอยู่ที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ย่อมต้องใช้อำนาจแทนพระองค์ไปในการเลือกกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญให้ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่ดี ดังนั้น แม้การที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจะเป็นการผิดราชประเพณี แต่ถ้าให้อำนาจการเลือกอยู่ที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์

ท้ายที่สุด ถ้าพิจารณาตามสถานะแล้ว บุคคลที่เหมาะสมที่สุดก็น่าจะได้แก่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอยู่ดี ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในฐานะพระปิตุลา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพผู้คัดค้านการให้ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีมีอำนาจแต่งตั้งตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็อยู่ในสถานะที่เป็นตัวเลือกในตำแหน่งดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน อันเป็นเหตุให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ตอบโต้โดยถามกรมขุนวรจักรฯว่าที่คัดค้านเพราะกรมขุนวรจักรฯอยากจะได้รับพระราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้เสียเอง

ซึ่งกรมขุนวรจักรฯนี้ก็คาดหวังเช่นนั้นจริงๆ ตามที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯพระราชทานแก่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ มีความตอนหนึ่งว่า “....การที่ตั้งวังหน้าคนนี้ (กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ/ผู้เขียน) ขึ้นนั้นเพราะเห็นว่า เมื่อแรกหม่อมฉันก็ยังเจ็บแล้วก็เป็นเด็กอยู่ มีเจ้านายที่มุ่งหมายจะเป็นวังหน้าวังตาเหมือนกรมขุนวรจักร..”

จากที่กล่าวมา กล่าวได้ว่า ตั้งแต่รัชกาลที่สามเป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ห้า การกำหนดตัวผู้สืบราชสันตติวงศ์เป็นอำนาจของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีมากกว่าจะเป็นพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกัน ในกรณีของตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่เป็นบุคคลที่อยู่ในสถานะที่จะสืบราชสันตติวงศ์หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต

แม้ว่า อำนาจในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจะเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่ง และแม้ว่าพระมหากษัตริย์อาจจะทรงต้องการให้จะพระราชโอรสของพระองค์เป็นองค์รัชทายาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถแต่งตั้งพระราชโอรสของพระองค์ในตำแหน่งวังหน้าได้เสมอไป นอกจากนี้ ในบางสถานการณ์ พระองค์ทรงปล่อยให้ตำแหน่งดังกล่าวนี้ว่างลง อันแสดงให้เห็นว่า ในการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหากษัตริย์ทรงตกอยู่ภายใต้ปัจจัยต่างๆดังที่จะได้กล่าวในตอนต่อไป

ที่กล่าวมานี้ ทำให้เราได้เห็นว่า คำว่า ราชาธิปไตย หรือ การปกครองภายใต้พระมหากษัตริย์ ของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สามเป็นอย่างน้อย พระมหากษัตริย์หาได้มีพระราชอำนาจอันล้นพ้นแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่สามารถใช้พระราชอำนาจอย่างเป็นอิสระตามความต้องการของพระองค์ได้

(พระราชพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่ม 2; พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

2 ส.ค. 2564
https://www.posttoday.com/politic/columnist/660382

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
**************
ตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงรายพระนามผู้อยู่ในสถานะที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในปี พ.ศ. 2411 และที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีได้พร้อมใจกันเลือกเจ้าจุฬาลงกรณ์ให้สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า และที่ประชุมก็ได้เห็นพ้องต้องกันที่จะให้กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขึ้นดำรงตำแหน่งวังหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่การแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้ากระทำโดยที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีแทนที่จะแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้การชี้นำและอำนาจบารมีของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ

ตามราชประเพณี ผู้ที่อยู่ในสถานะที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นวังหน้าคือ ผู้ที่เป็นพระราชโอรสหรือพระราชอนุชาหรือพระราชปิตุลาของพระมหากษัตริย์ (การแต่งตั้งพระปิตุลาเป็นวังหน้าเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่สาม) โดยในตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงพระนามพระภาดาและพระปิตุลาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าไว้ ดังต่อไปนี้คือ

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระชันษา 30 ปี

พระปิตุลากรมหมื่นถาวรวรยศ พระชันษา 59 ปี

กรมหลวงวรศักดาพิศาล สุพรรฒนาการสวัสดิ พระชันษา 56 ปี

กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ พระชันษา 54 ปี

กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระชันษา 52 ปี

(ที่ไม่ได้กล่าวถึงพระราชโอรสและพระราชอนุชา เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯยังไม่ทรงมีพระราชโอรส ส่วนพระราชอนุชานั้นยังทรงพระเยาว์มากกว่าพระองค์)

หลังจากนั้น ท่านผู้อ่านที่ใช้นามว่า “เจ็บปวดที่งดงาม ครับ” ได้ถามว่า “ทำไม กรมพระยาบำราบปรปักษ์ถึงไม่ได้เป็นตัวเลือก ?” ซึ่งเป็นคำถามเชิงติงที่น่าสนใจมาก เพราะในบรรดารายพระนามพระปิตุลาที่ผมกล่าวไปตอนที่แล้ว ล้วนเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัยทั้งสิ้น นั่นคือ

กรมหมื่นถาวรวรยศ พระราชโอรสพระองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดาพะวา

กรมหลวงวรศักดาพิศาล สุพรรฒนาการสวัสดิ พระราชโอรสพระองค์ที่ 58 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอม

กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดาอัมพา

กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดาอัมพา

ดังนั้น กรมขุนบำราบปรปักษ์ (พระยศในปี พ.ศ. 2411) ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย โดยประสูติแต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ย่อมจะต้องอยู่ในรายพระนามผู้ที่เข้าข่ายได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งวังหน้าด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เป็นพระปิตุลาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

ผมต้องขอขอบคุณ คุณ “เจ็บปวดที่งดงาม ครับ” ไว้ ณ ทีนี้ ที่กรุณาตั้งข้อสังเกตมา และทำให้ผมพบว่า ตัวเองได้หลงรายพระนามของกรมขุนบำราบปรปักษ์ไป ซึ่งต้องขออภัยอย่างยิ่ง

นอกจากกรมขุนบำราบปรปักษ์จะอยู่ในสถานะของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นวังหน้าแล้ว ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯสวรรคตปี พ.ศ. 2408 ได้มีการคิดเรื่องรัชทายาทที่จะสืบราชสันตติวงศ์ โดยกรมพระยาดำรงราชนุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“ในเวลานั้น เจ้านายที่ฐานะอยู่ในฉายา อาจจะได้รับเลือกเป็นรัชทายาทมี 3พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชันษา13 ปี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ พระชันษา 43ปี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา (กรมขุนบำราบปรปักษ์) พระชันษา46 ปี”

ในกรณีของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์นั้น พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในเศวตฉัตร ส่วนพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลาเป็นพระราชอนุชาที่มีพระยศของพระมารดาสูงกว่าพระมารดาของพระราชอนุชาพระองค์อื่นๆ โดยเจ้าฟ้ามหามาลาประสูติแต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ที่มีพระยศรองจากสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

และที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีได้เห็นพ้องต้องกันเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าผู้ที่ไม่เข้าใจบริบททางการเมืองในประวัติศาสตร์ช่วงนั้น ก็อาจจะเข้าใจไปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ตามหลักการสืบสายโลหิตของพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่ประสูติในเศวตฉัตรโดยอัตโนมัติ ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น แต่มาจากการเลือกที่มีตัวเลือกพระองค์อื่นๆด้วย ขณะเดียวกัน จากการตั้งข้อสังเกตของ คุณ “เจ็บปวดที่งดงาม ครับ” ทำให้กรมขุนบำราบปรปักษ์อยู่ในรายพระนามของพระปิตุลาที่อยู่ในสถานะที่จะได้รับเลือกเป็นวังหน้า และย่อมจะต้องมีรายพระนามของพระปิตุลาพระองค์อื่นๆเพิ่มเติมมาด้วย อันได้แก่

กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 44 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยระนาด พระชันษา 62 ปี (ในปี พ.ศ. 2411)

กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระราชโอรสลำดับที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระชันษา 60 ปี

นอกจากนี้ ก็ไม่น่าจะตกหล่นพระองค์ใดที่เป็นพระปิตุลาแล้ว เพราะพระองค์อื่นถ้าไม่ใช่พระราชธิดาก็สิ้นพระชนม์ไปก่อนปี พ.ศ. 2411

การมีตัวเลือกสำหรับแต่งตั้งให้เป็นวังหน้านอกเหนือไปจากพระราชอนุชาและพระราชโอรสแล้ว ย่อมถือเป็นข้อดี เพราะทำให้มีความมั่นคงปลอดภัยที่จะมีผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าที่จะสืบราชสันตติวงศ์หากราชบัลลังก์ว่างลง หากไม่มีพระราชอนุชาหรือพระราชโอรสให้แต่งตั้งเป็นวังหน้า

แต่ข้อเสียก็มี เพราะยามที่จะแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้า และหากมีทั้งพระราชอนุชาและพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ และมีพระปิตุลา ทุกพระองค์ย่อมคาดหวังที่จะได้รับแต่งตั้ง ก็ย่อมจะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาได้

และจากที่กล่าวไปข้างต้น หากพิจารณาการเมืองในช่วงนั้นจากมุมมองทางรัฐศาสตร์ จะเห็นได้ว่า มีตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญ 3 ตัวแสดง นั่นคือ พระมหากษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์ (15 ชันษา) และทรงประชวร กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) และผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) โดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงรับมรดกจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯผู้เป็นพระราชบิดา ทั้งสถานะของการเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สอง และยุทโธปกรณ์สมัยใหม่และไพร่พลจำนวนมาก ควบคุมพลทหารราว 2,600-2,700 นาย ในขณะที่วังหลวง (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ) มีทหารเพียง 1,500 นายเท่านั้น และเมื่อพิจารณาทรัพยากรดังกล่าวประกอบกับการสนับสนุนจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และความนิยมชมชอบในหมู่ขุนนางแล้ว สถานะของวังหน้าถือได้ว่าน่าเกรงขามยิ่ง ประกอบกับได้รับการยอมรับในประชาคมทางการทูตด้วย

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงตรัสภาษาอังกฤษได้อย่างดี และมีความรู้ในวิทยาการตะวันตก สนิทสนมกับกงสุลอังกฤษที่ชื่อ โทมัส นอกซ์ (Thomas Knox) ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯโปรดเกล้าให้ทำหน้าที่เป็นครูฝึกทหารวังหน้าให้ทันสมัยตามแบบยุโรป อีกทั้ง โทมัส นอกซ์ก็สนิทสนมกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วย และนอกซ์มีความปรารถนาที่จะให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เมื่อมีโอกาส

หากนับกงสุลอังกฤษ โทมัส นอกซ์ เพิ่มเข้าไปด้วยแล้ว ยุวกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ท่ามกลางตัวแสดงทางการเมืองทั้งสามตัวแสดง ที่ต่างมีอำนาจอิทธิพลและมีความสัมพันธ์ที่ดียิ่งต่อกัน

(พระราชพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่ม 2; พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย)

19 ส.ค. 2564
https://www.posttoday.com/politic/columnist/661032

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
**************
การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่มีต่อที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดี ดังนั้น ในพระสุพรรณบัฏจึงมีข้อความ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” ไม่ต่างจากพระสุพรรณบัฏในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ ขณะเดียวกันการที่ยังทรงพระเยาว์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์และได้รับการเลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพะยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

ขณะเดียวกัน ผู้ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งอันทรงอำนาจรองจากพระมหากษัตริย์อย่างตำแหน่งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) ก็ได้รับการแต่งตั้งอย่างผิดราชประเพณีภายใต้อำนาจอิทธิพลของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อีกด้วย ทั้งๆที่อำนาจในการแต่งตั้งนั้นจะต้องเป็นของพระมหากษัตริย์ อีกทั้งผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีระดับสูงทั้งหมดและตำแหน่งข้าราชการที่กระจายไปทั่วเป็นบุคคลในตระกูลหรือเครือข่ายของตระกูลบุนนาค

บุคคลในตระกูลควบคุมตำแหน่งสำคัญๆในราชการทั้งหมด เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯขึ้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้มอบตำแหน่งสมุหพระกลาโหมให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้เป็นบุตรชาย ส่วนตำแหน่งพระคลังและกรมท่านั้น

หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2411 เพียงหนึ่งปี สมเด็จเจ้าพระยาฯในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ปลดกรมขุนวรจักรธรานุภาพออกจากตำแหน่งกรมท่า สาเหตุจากการที่พระองค์เคยขัดขวางสมเด็จเจ้าพระยาฯในการแต่งตั้งกรมหมื่นวิไชยชาญให้ขึ้นเป็นวังหน้า และได้มอบให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี ขำ บุนนาค น้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นผู้ดูแล แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าราชการได้เพียงปีเดียว ก็ถึงแก่อสัญกรรม จึงได้มอบให้น้องชายต่างมารดาอีกคนหนึ่งคือ ท้วม บุนนาค (พระยาเทพประชุน ตำแหน่งขณะนั้น/ผู้เขียน) ให้ขึ้นเป็นเจ้าพระยาภาณุวงศ์และดำรงตำแหน่งกำกับราชการพระคลังหรือกรมท่า

นอกจากนั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯยังมีขุนนางคู่ใจคือ พุ่ม พุก จันทร์และเนียม ผู้มีฝีมือในด้านต่างๆ อาทิ กฎหมาย กระบวนราชการ การสืบจับโจรผู้ร้าย กระทั่งการค้าขาย ส่วนเส้นสนกลในในราชสำนักก็ยังมีเจ้าจอมมารดาพึ่ง พระมารดาของกรมหลวงพิชิตปรีชาการคอยเป็นหูเป็นตาอีกด้วย ทำให้สถานะของสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นที่ยอมรับยำเกรงของข้าราชการส่วนใหญ่ในฐานะผู้มีอำนาจที่แท้จริง

แม้ว่า รูปแบบการปกครองในทางทฤษฎีและจารีตประเพณีจะเป็นราชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์คือผู้มีอำนาจทางการเมืองการปกรอง แต่ในความเป็นจริง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯกลับไม่มีอำนาจใดๆ และแม้ว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระมหากษัตริย์จะทรงไม่มีอำนาจดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเผชิญ

ในขณะที่ขึ้นครองราชย์นั้น พระราชอำนาจยิ่งลดน้อยถดถอยมากกว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นอกจากพระองค์ไม่ทรงมีฐานอำนาจสนับสนุนและยังมิได้เป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์เนื่องจากทรงพระเยาว์ ผลประโยชน์ส่วนพระองค์และผลประโยชน์แผ่นดินถูกเบียดบังเป็นอันมาก ก่อให้เกิดความคับแค้นพระทัย ยิ่งกว่านั้นยังถูกแย่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งวังหน้า โดยพระองค์ได้ทรงกล่าวประชดประชันกรมหมื่นบวรวิชัยชาญที่สมเด็จเจ้าพระยาฯแต่งตั้งขึ้นมาเป็นวังหน้าว่าขึ้นมาดำรงตำแหน่งโดยพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ทรงเลือก ทั้งที่อำนาจดังกล่าวเป็นของพระเจ้าแผ่นดินมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

ดังความตอนหนึ่งว่า “…ท่านเสนาบดีปฤกษาว่า พระองค์เจ้ายอร์ชวอชิงตัน กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอร์ชวอชิงตันเป็นพระนามเดิมของกรมหมื่นบวรฯ ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงตั้งให้/ผู้เขียน) ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีวิชาเป็นช่างเชาว์เกลาเกลี้ยง ให้เป็นกรมพระราชวังรับพระบัณฑูรเป็นที่ 16 จะได้คุมข้าไทยของวังหน้าต่อไป เป็นวังหน้า ซึ่งมิได้เป็นพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ และพระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงเลือกเองเป็นที่ ตั้งแต่กรุงทราวดีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์บัดนี้...”

ดังนั้น แม้ว่าคณะบุคคลกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคจะครองอำนาจนำเหนือพระมหากษัตริย์และรวมทั้งวังหน้า แต่ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมต้องการช่วงชิงอำนาจนำให้มาเป็นของตน

จะสังเกตได้ว่า ในสมการการเมืองระหว่างกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และวังหน้า สัมพันธภาพทางอำนาจจะอยู่ในลักษณะที่เมื่อฝ่ายหนึ่งจะครองอำนาจมากขึ้นได้ก็โดยการลดทอนอำนาจอีกฝ่ายหนึ่ง ดังที่เกิดขึ้นในกรณีที่กลุ่มขุนนางบุนนาคมีอำนาจมากขี้น โดยลดทอนอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯลง ซึ่งการที่อำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯลดลงนี้ ย่อมเป็นผลดีต่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ดังนั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจึงมีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคมากกว่าฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

แต่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคก็จะไม่ปล่อยให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ มีอำนาจมากเกินไปจนเกินที่จะควบคุมไว้ได้เช่นกัน โดยกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคจะถ่วงดุลอำนาจของทั้งฝ่ายวังหลวงและวังหน้าไว้ แต่หากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ สัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างวังหน้าและกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคก็จะเปลี่ยนไปดังที่ได้กล่าวไปในกรณีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯที่พยายามจะลดทอนอำนาจของขุนนางลง หลังจากที่เป็นพันธมิตรกันและอาศัยการสนับสนุนของกลุ่มขุนนางให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

ส่วนการร่วมมือกันระหว่างวังหลวงและวังหน้าในการลดทอนอำนาจของกลุ่มขุนนางจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อวังหน้าไม่ต้องการแย่งชิงบัลลังก์และต้องการสนับสนุนอำนาจของพระมหากษัตริย์ และรอขึ้นเป็นกษัตริย์ตามเงื่อนไข อันได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าที่เป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว แต่อย่างที่กล่าวไปว่า เงื่อนไขเรื่องอายุและคุณสมบัติความสามารถของวังหน้าและพระราชโอรสอันเป็นตัวแปรที่กำหนดควบคุมได้ยาก

ดังนั้น การร่วมมือระหว่างวังหน้าและวังหลวงในการลดทอนอำนาจของกลุ่มขุนนางจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก และเงื่อนไขที่ทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างวังหน้ากับพระราชโอรสในการเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่งจนถึงต้นรัชกาลที่ห้าเป็นเพราะความบังเอิญที่ผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าสวรรคตลงไปก่อนจะสิ้นรัชกาล และไม่มีการตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้จนเปลี่ยนรัชกาลซึ่งเป็นความบังเอิญที่ทำให้การเมืองช่วงต้นรัตนโกสินทร์แตกต่างไปจากการเมืองสมัยอยุธยา

ดังนั้น สภาพการณ์การต่อสู้ช่วงชิงและรักษาอำนาจจะยังคงดำเนินต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่กล่าว ซึ่งไม่ต่างจากการเมืองสมัยอยุธยานักหากไม่เกิดความบังเอิญที่กล่าวไป และจะมีข้อต่างเพียงว่ากลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคสามารถครองอำนาจได้สืบเนื่องยาวนานกว่าขุนนางในสมัยอยุธยา ดังที่วัยอาจ (David K. Wyatt) ได้กล่าวถึงปัญหาการเมืองในต้นรัชกาลที่ห้าว่าเป็น “ปัญหาทางการเมืองเกี่ยวกับการจัดแบ่งอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์และขุนนางที่เรื้อรังมายาวนาน”

แต่ปัญหาดังกล่าวนี้จะยังคงเป็นปัญหาที่เรื้อรังอยู่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละกลุ่มการเมือง แน่นอนว่าฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจะยังคงมองว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังและร้ายแรงยิ่งที่จะต้องรีบหาทางแก้ไขดึงอำนาจกลับคืนมา เพราะกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคได้ครองอำนาจนำทางการเมืองมาตั้งแต่รัชกาลที่สามและพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ถูกลดทอนต่อเนื่องจนพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่เพียงแต่ในนาม

ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญย่อมมองว่าเป็นปัญหาเรื้อรังเช่นเดียวกัน แต่ยังต้องอาศัยกลุ่มขุนนางเพื่อสนับสนุนพระองค์ให้เป็นพระมหากษัตริย์ และหลังจากนั้นถึงจะหาทางปรับเปลี่ยนเพื่อให้พระมหากษัตริย์ครองอำนาจนำเหนือกลุ่มขุนนาง

ส่วนกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคย่อมคิดว่าปัญหาเรื้อรังในการจัดแบ่งอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางได้จบลงแล้ว หลังจากที่พวกตนสามารถครองอำนาจนำมาเป็นเวลานาน ปัญหาที่เหลือคือการรักษาสมการทางอำนาจนี้ได้มั่นคงสืบต่อไป

ดังนั้น การต่อสู้ช่วงชิงและรักษาอำนาจยังคงดำเนินต่อไปจากฝั่งพระมหากษัตริย์ อันทำให้ดูเหมือนว่า การเมืองในรัตนโกสินทร์ช่วงนี้จะยังคงไม่ต่างไปจากการเมืองสมัยอยุธยา และแม้ว่ากลุ่มขุนนางจะกุมอำนาจนำไว้ได้ แต่ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ก็ยังคงอยู่ และในทุกครั้งที่เปลี่ยนรัชกาลย่อมจะเกิดความสับสนวุ่นวายด้วยความไม่มีแบบแผนที่เป็นระบบมีกฎเกณฑ์กติกาที่แน่นอนนี้ ผู้คนที่อยู่ในการปกครองดังกล่าวอาจจะไม่ตระหนักว่าเป็นปัญหา และอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติของการเมืองการปกครองของไทยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดแบ่งอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางที่ดำรงต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาอย่างทีวัยอาจกล่าว เมื่อถึงปลายรัชกาลหรือมีการเปลี่ยนรัชกาล ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวว่า

“เวลาพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตเปลี่ยนรัชกาลใหม่ ราษฎรมักหวาดหวั่นว่าจะเกิดเหตุร้าย เห็นจะเป็นความรู้สึกมีสืบมาแต่เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีในสมัยกลาง ตั้งแต่พระเจ้าประสาททองเสวยราชย์เป็นต้นมา ด้วยมักเกิดรบพุ่งหรือฆ่าฟันกัน แม้ไม่ถึงเช่นนั้น ก็คงมีการกินแหนงแคลงใจกันในเวลาเปลี่ยนรัชกาลแทบทุกคราว ที่จะเปลี่ยนโดยเรียบร้อยทีเดียวนั้นมีน้อย จนเกิดเป็นคติสำหรับวิตกกัน ว่าเวลาเปลี่ยนรัชกาลมักจะเกิดเหตุร้าย”

และในคราวเปลี่ยนจากแผ่นดินรัชกาลที่สี่ ผู้คนก็พากันหวาดหวั่นเช่นเคย จนหมอสมิธ มิชชันนารีชาวอเมริกันได้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ “สยามริปอสิตอรี” ว่า

“เวลานี้ ทั่วประเทศสยามพากันสั่นสะท้าน และหวาดหวั่นอยู่ในระหว่างเปลี่ยนรัชกาล ด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่า ซึ่งมีพระเดชพระคุณแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาก และได้ทรงปกครองชนชาติอื่น ที่มาพึ่งพระบารมีอยู่ในพระราชอาณาเขต กับทั้งชาวต่างประเทศอันอยู่ในบังคับของกงสุล มิได้เสด็จสถิตอยู่ในเศวตฉัตร ให้คนทั้งหลายเกรงพระราชอาญาเสียแล้ว แม้สมเด็จเจ้าฟ้าอันเป็นพระราชโอรส ได้ทรงรับรัชทายาทก็จะเกรงอยู่ แต่ว่าประชวรพระกำลังยังปลกเปลี้ย จะรอดพระชนม์ทนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการรับแขกเมืองเฝ้าได้แลหรือ แม้แต่ในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกำลังประชวร ยังไม่สวรรคต ก็มีกิตติศัพท์ว่าจะเกิดกบฏ และได้มีเหตุวุ่นวายด้วยเรื่องจับฝิ่นเถื่อน ทั้งปรากฏว่ามีผู้ทำอัฐปลอมมาก เกิดยุ่งยากในเรื่องเครื่องแลก จนตื่นกัน ไม่เป็นอันซื้อขายในท้องตลาดอยู่หลายวัน”

ปัญหาดังกล่าวนี้ ถ้ากล่าวในทางรัฐศาสตร์คือ ปัญหาในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ซึ่งระบอบการเมืองการปกครองที่มีเสถียรภาพมั่นคง จะไม่มีปัญหาในการเปลี่ยนผ่าน หากมี ก็จะไม่รุนแรงมากนัก

ในกรณีของไทย ความหวาดระแวง ความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างบุคคลในพระราชวงศ์และกลุ่มขุนนางที่มีฝักฝ่ายจะปะทุรุนแรงขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านอยู่เสมอตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัชกาลที่ห้า

และจะรวมถึงการเมืองปัจจุบันหรือไม่ ? เพียงแต่ตัวแสดงทางการเมืองเปลี่ยนไป เป็นประเด็นที่น่าคิดวิเคราะห์อย่างยิ่ง

(แหล่งอ้างอิง: พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์เรื่อง พระราชพงศาวดารกับเรื่องราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช อ้างใน ชลธิชา บุนนาค, การเสื่อมอำนาจทางการเมืองของขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2416-2435): ศึกษาในกรณีขุนนางตระกูลบุนนาค, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, พ.ศ. 2527;

พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ; David K. Wyatt, “Family Politics in Nineteenth Century Thailand,” Journal of Southeast Asian History, 1968, vol. 9, no. 2; David K. Wyatt, The Politics of Reform in Thailand: Education in the Reign of King Chulalongkorn,; ชัยอนันต์ สมุทวนิช, การเมือง-การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย 2411-2475; Edward Van Roy, “Bangkok’s Bunnag Lineage from Feudalism to Constitutionalism: Unraveling a Genealogical Gordian Knot,” Journal of Siam Society, Vol. 108, Pt. 2, 2020,; วิภัส เลิศรัตนรังษี, “อวสานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)”, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 42 ฉบับที่ 3 มกราคม 2564)

26 ส.ค. 2564
https://www.posttoday.com/politic/columnist/661576

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
*********
สมการทางการเมืองในช่วงต้นรัชกาลที่ห้าดำรงอยู่ในสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างสามฝ่าย อันได้แก่ หนึ่ง ฝ่ายพระมหากษัตริย์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือฝ่ายวังหลวง สอง ฝ่ายกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญหรือฝ่ายวังหน้า และสาม ฝ่ายขุนนางตระกูลบุนนาคที่นำโดยผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นั่นคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และระหว่างสามฝ่ายนี้ ฝ่ายที่มีอำนาจนำคือ ฝ่าย สมเด็จเจ้าพระยาฯ

การเมืองการปกครองในขณะนั้น จึงเป็นราชาธิปไตยแต่ในนาม แต่ในความเป็นจริง เป็นการปกครองอภิชนาธิปไตยที่มีอำนาจเหนือราชาธิปไตย นั่นคือ กลุ่มอภิชนขุนนางมีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯอยู่ภายใต้ข้อจำกัด อันได้แก่ ในขณะที่เสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยยังไม่เจริญพระชันษา อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินจึงอยู่ภายใต้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

อีกทั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระองค์ก็ไม่ได้เป็นผู้ทรงแต่งตั้งดังพระมหากษัตริย์ที่ผ่านมา แต่แต่งตั้งอย่างผิดราชประเพณีโดยที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางเสนาบดีภายใต้อำนาจและอิทธิพลของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

และนับตั้งแต่รัชกาลที่สามเป็นต้นมา กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคได้เติบโตขยายอำนาจอิทธิพลมาโดยตลอดจนเหนือกว่าพระมหากษัตริย์ดังที่ปรากฎในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง ทำให้พระองค์เป็นเพียง “กษัตริย์หุ่น” ไม่ทรงมีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมไปถึงอำนาจในการควบคุมทรัพยากรสำคัญที่เป็นฐานอำนาจทางการเมือง นั่นคือ กำลังคนและกำลังเงิน ซึ่งอำนาจดังกล่าวนี้ตกอยู่กับขุนนางโดยเฉพาะอย่างยิ่งตระกูลบุนนาค

ดังนั้น การดึงอำนาจทางการเมืองกลับคืนมา จึงจำเป็นต้องหาทางที่จะคุมกำลังคนและกำลังเงินให้ได้ ซึ่งเป็นปัญหาภาวะการขาดดุลเงินแผ่นดินกำลังเป็นปัญหาร้ายแรงอย่างยิ่งในขณะนั้น เงินไม่พอจ่ายราชการและแม้กระทั่งค่าพระราชพิธีบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ยังเป็นหนี้อยู่

ด้วยในสมัยรัชกาลที่สี่ “อำนาจในการควบคุมรายได้ที่สำคัญ การได้กำกับการเก็บภาษี ที่มีขั้นตอนตั้งแต่การประมูลให้สิทธิ์เจ้าภาษีนายอากรไปผูกขาดเก็บภาษี และรับบัญชีส่งเข้าท้องพระคลัง ซึ่งก่อนจะถึงขั้นนี้ เจ้านายหรือขุนนางที่กำกับภาษีมีสิทธิ์ใช้เงินที่จัดเก็บได้ในงานราชการตามกรมกองของตนก่อนนำส่งท้องพระคลัง ทั้งยังได้ ‘สิบลด’ หรือร้อยละ 10 ของรายได้เป็นส่วนแบ่งด้วย อำนาจการกำกับภาษีที่กระจายอยู่กับเจ้านายและขุนนางส่งผลให้อำนาจทางเศรษฐกิจของกษัตริย์ที่เลิกทำการค้าของรัฐผ่านกรมพระคลังสินค้าลดน้อยลงไปมาก แม้ได้มีข้อตกลงกันว่าฝ่ายที่กับภาษีจะส่งเงินร้อยละ 5 ของรายได้ที่จัดเก็บเข้า ‘พระคลังข้างที่’ ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงแทบไม่มีใครปฏิบัติตาม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้กำกับภาษีแต่ที่อยู่ในความดูแลของกรมพระคลังมหาสมบัติเท่านั้น ส่วนภาษีที่เจ้านายและขุนนางอื่นดูแลอยู่ก็มักหาทางหลีกเลี่ยงปิดบังเป็นผลประโยชน์ส่วนตน ทำให้เงินพระคลังข้างที่ของพระมหากษัตริย์และเงินพระคลังหลวงที่เป็นเงินส่วนกลางร่อยหรอลงทั้งสองส่วน การใช้เงินพระคลังข้างที่ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้พระคลังข้างที่ต้องเป็นหนี้พระคลังหลวงอยู่กว่า 10 ปี”

ขณะเดียวกัน นอกจากปัญหาการอยู่ภายใต้การปกครองอภิชนาธิปไตยที่มีอำนาจเหนือราชาธิปไตย ซึ่งเป็นปัญหาปัจจัยภายในทางการเมืองแล้ว ประเทศยังตกอยู่ภายใต้การคุกคามของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มีอยู่ทั่วไปโดยรอบประเทศ นับเป็นอันตรายร้ายแรงต่อความเป็นเอกราชอย่างยิ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้สภาพการเมืองภายในที่อยู่ในภาวะที่สับสนวุ่นวายทั้งในเรื่องโครงสร้างทางการบริหารราชการแผ่นดินและการคลัง ถือเป็นความเปราะบางต่อการแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตก

ดังนั้น การปฏิรูปด้านกำลังคนและการคลังจึงไม่เพียงจะตอบโจทย์การดึงอำนาจทางการเมืองให้กลับคืนสู่ฝ่ายพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการพัฒนาการบริหารราชการแผ่นดินในมีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับการคืบคลานของชาติมหาอำนาจตะวันตกด้วย

ดังนั้น การปฏิรูประบบการคลังและกำลังคนจึงเป็นสิ่งจำเป็นและก็เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปที่นำสยามไปสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่

ในการทำความเข้าใจจุดเริ่มต้นของการปรับสมการทางการเมืองและการเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ เราจะต้องเข้าใจปรากฎการณ์การการกำเนิดกลุ่มการเมืองสามกลุ่มดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น

กำเนิดกลุ่มการเมือง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สองในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และทรงเริ่มที่จะรวมอำนาจกลับคืนสู่พระมหากษัตริย์โดยทันท และในช่วงเวลาที่การต่อสู้ทางการเมืองเริ่มต้นขึ้น ได้เกิดปรากฏการณ์กลุ่มการเมืองสามกลุ่มขึ้นอย่างชัดเจน


                                                พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


                                                 กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ


                                                 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน)

กลุ่มการเมืองสามกลุ่ม

ก่อนที่จะกล่าวถึงการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อดึงอำนาจกลับคืนมาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะขออธิบายเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองทั้งสามนี้ก่อน เพราะกลุ่มการเมืองทั้งสามนี้จะเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญในการปรับสมการสัมพันธภาพทางอำนาจของการเมืองสยามในสมัยรัชกาลที่ห้า

การสังเกตพบกลุ่มการเมืองสามกลุ่มนี้ปรากฎครั้งแรกในข้อเขียนของหมอสมิธที่เป็นมิชชันนารีที่พำนักอยู่ในสยาม ณ เวลานั้น ในข้อเขียนของหมอสมิธในปี พ.ศ. 2416 เขาได้กล่าวว่ามีกลุ่มการเมืองสามกลุ่ม โดยเขาเรียกว่า “Old Siam” “Young Siam” และ “Conservative Siam” ซึ่งต่อไปจะใช้ว่า สยามเก่า สยามหนุ่ม และสยามอนุรักษ์นิยม) โดยนัยความหมายของกลุ่มการเมืองทั้งสามนี้คือ

สยามเก่า หมายถึง ชนชั้นนำสยามหัวเก่าที่ไม่ยอมเปิดรับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่มาจากอิทธิพลตะวันตก โดยหมอสมิธได้ระบุว่า ต้นแบบของสยามเก่าคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งเป็นอคติและความเข้าใจผิดของหมอสมิธดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว

สยามหนุ่ม หรือเจ้านายและขุนนางรุ่นใหม่ อันได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นเสนาบดีคุมพระคลัง และรวมทั้งกลุ่มเจ้านายและขุนนางรุ่นหนุ่มจำนวนหนึ่ง

เป็นไปได้มากว่า คำว่า “Young Siam” นี้ หมอสมิธไม่ได้คิดตั้งขี้นมาเอง แต่กลุ่มเจ้านายและข้าราชการรุ่นหนุ่มหัวสมัยใหม่ที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆภายใต้การนำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้ตั้งชื่อกลุ่มของพวกพระองค์/ตนว่า “Young Siam” มากกว่าที่จะไปเอาคำๆนี้ของหมอสมิธมาใช้เรียกกลุ่มของพระองค์/ตนเอง เพราะก่อนหน้าที่ข้อเขียนของหมอสมิธ ผมพบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2417 ได้มีการตั้งสมาคมสยามหนุ่มขึ้น และสื่อสารกันโดยใช้ทับศัพท์ตรงตัวว่า “ยังไซยามโซไซเอตี”

และพบหลักฐานเกี่ยวกับสมาคมสยามหนุ่ม (the Young Siam Society) ปรากฎในพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานแก่ “ยังไซยามโซไซเอตี” ในปี พ.ศ. 2417 โดยมีข้อความดังต่อไปนี้

“ถึง ยังไซยามโซเอตี ด้วยฯ ข้าฯได้รับหนังสือซึ่งบอกมาว่า ได้พร้อมกันตั้งโซไซเอตีขึ้นเพื่อจะให้เป็นความสามัคคีพร้อมเพียงกันนั้นฯ ข้าฯได้ทราบก็มีความยินดีเป็นที่สุด ด้วยการสามัคคีนี้ถ้าได้มีขึ้นแล้ว ก็อาจให้ราชการทั้งปวงสำเร็จไปได้ เป็นความเจริญในตัวผู้ที่พร้อมเพียงแลในการทั้งปวงด้วย ถ้าการนี้ ฉันควรจะช่วยอย่างไร และควรจะเข้าเป็นหมู่ด้วยอย่างไร ฉันจะมีความยินดีเป็นที่สุด ซึ่งจะได้ช่วยในการนี้ทุกอย่าง การจะมีอย่างไรจะทำอย่างไร ขอให้ทราบเถิด คงจะช่วยให้สำเร็จตามควร (พระบรมนามาภิไธย จุฬาลงกรณ์)”

ส่วนสยามอนุรักษ์นิยม หมอสมิธไม่ได้อธิบายความและระบุตัวแต่อย่างใด

แต่ทุกกลุ่มการเมืองนี้ เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสยามจากอิทธิพลตะวันตก นั่นคือ สยามเก่ามีปฏิกิริยาในด้านลบ และจึงกล่าวได้ว่า สยามใหม่คือกลุ่มที่ยอมรับและนิยมตะวันตก แต่ในเมื่อสยามเก่าเป็นกลุ่มที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จึงเกิดคำถามว่า ตกลงแล้ว กลุ่มสยามอนุรักษ์นิยมนี้มีทัศนคติอย่างไรต่ออิทธิพลตะวันตก ?

การแบ่งกลุ่มการเมืองในการเมืองสยามในปี พ.ศ. 2416 ของหมอสมิธได้กลายเป็นประเด็นที่มีอิทธิพลต่อผู้ศึกษาการเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ห้าในเวลาต่อมา โดยเฉพาะเดวิด วัยอาจ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ทีได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ห้า (Wyatt 2512) และงานของวัยอาจได้มีอิทธิพลต่อนักวิชาการไทยต่อๆมา ซึ่งผู้เขียนได้คัดเลือกมาดังนี้ คืองานของ ชัยอนันต์ สมุทวนิช (2523) ธิษณา วีรเกียรติสุนทร (2555) และ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด (2562)

งานของวัยอาจถือว่าเป็นการบุกเบิกการเริ่มต้นศึกษากลุ่มการเมืองในต้นรัชกาลที่ห้า วัยอาจเห็นพ้องกับหมอสมิธที่ว่า สยามหนุ่มเป็นกลุ่มที่นำโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เขาได้ระบุตัวผู้นำกลุ่มอนุรักษนิยมสยามว่าคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์โดยมีเครือข่ายคือ กลุ่มพวกขุนนางเสนาบดีรุ่นเก่า

แม้ว่า กลุ่มสยามหนุ่มจะนำโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายและข้าราชการรุ่นหนุ่มที่เติบโตมาภายใต้อิทธิพลตะวันตกที่เข้มข้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ต่างจากที่หมอสมิธได้กล่าวไว้ แต่วัยอาจได้วิเคราะห์ให้เห็นจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มสยามหนุ่มว่า นอกจากรวมตัวกันเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนคติในแง่บวกต่ออิทธิพลอารยธรรมและความคิดตะวันตกแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเพื่อปกป้องพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจากอำนาจและอิทธิพลของสมเด็จเจ้าพระยาฯ โดยเจ้านายและข้าราชการรุ่นหนุ่มเหล่านี้อยู่ฝายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งนอกจากคนเหล่านี้จะมีทัศนคติในแง่บวกต่ออารยธรรมตะวันตกร่วมกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯแล้ว ก็อาจจะมีเหตุผลเรื่องการแข่งขันทางการเมืองกับกลุ่มที่ครองอำนาจนำในทางการเมืองมาอย่างยาวนาน

วัยอาจสรุปไว้ว่า กลุ่มสยามหนุ่มนี้รวมตัวกันด้วยปัจจัยร่วมสองประการ นั่นคือ เรื่องวัยและระดับความแข็งขันที่ต้องการจะปฏิรูปบ้านเมือง ปัจจัยเรื่องวัยคือ คนเหล่านี้อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แต่ปัจจัยของความแข็งขันในการปฏิรูปนี้คือ คนเหล่านี้เป็นคนรุ่นที่สองที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เพราะคนรุ่นพ่อของคนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตก จึงยังไม่ได้รับอิทธิพลมากนัก แต่คนรุ่นนี้คือคนที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆกับอิทธิพลตะวันตก อย่างน้อย ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก โดยเฉพาะพระราชวงศ์ที่ได้ศึกษากับแหม่มแอนนา เลียวโนแวนส์หรือดอกเตอร์แชนด์เลอร์ และส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบรรดามิชชันนารีชาวอเมริกัน

แต่วัยอาจเห็นว่า แม้ว่ากลุ่มสยามหนุ่มจะนิยมในอารยธรรมตะวันตก แต่คนเหล่านี้รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะใม่รับตะวันตกในแบบที่จะละทิ้งวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม เพราะกลุ่มสยามหนุ่มมีเหตุผลที่จะยังรักษารากทางวัฒนธรรมไทยที่พวกตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีไว้----ซึ่งผมตีความว่า วัฒนธรรมดั้งเดิมบางส่วนยังอำนวยประโยชน์ให้กับกลุ่มสยามหนุ่มอยู่ ดังจะได้อธิบายต่อไป----แต่กระนั้น วัยอาจเห็นว่า จากอิทธิพลตะวันตก ทำให้กลุ่มสยามหนุ่มมีความสามารถพอที่จะหลุดตัวออกจากสถานะที่เป็นอยู่ นั่นคือ คนเหล่านี้สามารถคิดถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั้งในทางการเมือง ทางสถาบันและในทางความคิด อันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ไปไกลมากกว่าจะเป็นเพียงแค่การใช้ความคิดและเทคนิคของตะวันตกเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายของพวกตนเท่านั้น

ด้วยกลุ่มสยามหนุ่มได้รับเอาคุณค่าในวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเป็นความคิดของตน ที่อาจจะตีความได้ในฐานะที่เป็นการทำให้คุณค่าแบบไทยชัดเจนและพัฒนาปรับปรุงได้มากขึ้น วัยอาจเห็นว่า จุดแข็งของกลุ่มนี้คือ การมีทักษะความรู้ ความคิดและความเชื่อทางจริยธรรมและสติปัญญาที่ได้รับจากการศึกษาแบบตะวันตก แต่มีจุดอ่อนคือ การไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงทางการเมืองและการขาดฐานทางการเมืองที่เข้มแข็งมั่นคงในการบริหารราชการแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม วัยอาจเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มสยามหนุ่มค่อยๆดำเนินไปอย่างมีพลังจนถึงปี พ.ศ. 2416 กลุ่มก็มีความเข้มแข็งพอสมควรที่จะเป็นตัวนำการผลักดันการปฏิรูปอย่างรุนแรง โดยเริ่มหนังสือพิมพ์ ดรุโณวาท ที่เป็นกระบอกเสียงของกลุ่ม ตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวสารต่างประเทศตลอดจนความเห็นและข้อถกเถียงเกี่ยวกับการปฏิรูปต่างๆที่กลุ่มสยามหนุ่มเห็นว่าควรจะเกิดขึ้นในบ้านเมือง รวมทั้งได้จัดตั้งสมาคมสยามหนุ่มขึ้น (the Young Siam Society) โดยมีเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระราชอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเป็นประธานสมาคม ซึ่งขณะนั้น ทรงพระชันษาเพียง 14 ปี และคนในกลุ่มสยามหนุ่มนี้ยังได้รับแต่งตั้งให้รับผิดชอบในตำแหน่งต่างๆในการบริหารราชการแผ่นดินและการเมืองที่เป็นการท้าทายระเบียบเดิมและกลุ่มอำนาจเก่าต่างๆ

แต่จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานประวัติศาสตร์ชั้นต้น ผมพบว่า ข้อมูลของวัยอาจผิดพลาด เพราะเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์มิได้ทรงดำรงตำแหน่งประธานสมาคมสยามหนุ่ม แต่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกหรือรองประธาน (vice-president) ของสมาคม

แต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมคือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

ท่านผู้อ่านย่อมต้องสงสัยแน่ๆว่า เมื่อการเมืองแบ่งเป็นสามฝ่าย และหนึ่งในนั้นคือฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และขุนนางตระกูลบุนนาค แล้วเหตุไฉน หนึ่งในขุนนางตระกูลบุนนาคอย่างเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯถึงมาเป็นประธานสมาคมสยามหนุ่มที่เป็นฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ??

และปริศนานี้จะได้รับการเฉลยในตอนต่อไป

(แหล่งอ้างอิง: Samuel J. Smith, Siam Repository, Volume 5 No. 1, 31 July 1873; David K. Wyatt, The Politics of Reform in Thailand: Education in the Reign of King Chulalongkorn (1969);ชัยอนันต์ สมุทวนิช, การเมือง-การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย 2411-2475 (2523); ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เล่ม 2; ชลธิชา บุนนาค, การเสื่อมอำนาจทางการเมืองของขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ 2416-2435): ศึกษากรณีขุนนางตระกูลบุนนาค, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, พ.ศ. 2527: ธิษณา วีรเกียรติสุนทร, “ดรุโณวาท: ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๘๘๕),” ใน ๑๐๐ เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๒๑, สยาม ภัทรานุประวัติ, ศุภการ สิริไพศาล, อรพินท์ คำสอน และ ธิษณา วีรเกียรติสุนทร, (2555); กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนการรัฐไทย; ดร.อาวุธ ธีระเอก. ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2560 อ้างใน “รัชกาลที่ 5 รับสั่งตรวจบัญชี พบ ‘กรมนา’ คอร์รัปชั่น” ศิลปวัฒนธรรม, วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ.2564, https://www.silpa-mag.com/history/article_22249)

2 ก.ย. 2564
https://www.posttoday.com/politic/columnist/662185

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
******************
สมการทางการเมืองในช่วงต้นรัชกาลที่ห้าดำรงอยู่ในสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างสามฝ่าย อันได้แก่ หนึ่ง ฝ่ายพระมหากษัตริย์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือฝ่ายวังหลวง สอง ฝ่ายกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญหรือฝ่ายวังหน้า และสาม ฝ่ายขุนนางตระกูลบุนนาคที่นำโดยผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นั่นคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และระหว่างสามฝ่ายนี้ ฝ่ายที่มีอำนาจนำคือ ฝ่าย สมเด็จเจ้าพระยาฯ

ทางฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตั้งสมาคมสยามหนุ่มในปี พ.ศ. 2417 และเรียกทับศัพท์ว่า “ยังไซยามโซไซเอตี” และมีประธานหรือนายกสมาคมคือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) และอุปนายกหรือรองประธานคือ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระราชอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งขณะนั้น ทรงพระชันษาเพียง 14 ปี

ในฝ่ายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นั้น เดวิด เค วัยอาจ (David K. Wyatt) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ห้าเห็นว่า ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ายาฯ เข้าเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมสยาม อันเป็นกลุ่มที่หมอสมิธ มิชชันนารีชาวอเมริกันได้กล่าวถึงและใช้คำว่า “the Conservative Siam” เป็นคนแรก แต่หมอสมิธไม่ได้ลงในรายละเอียดว่าหมายถึงใครบ้าง แต่วัยอาจเห็นว่า น่าจะเป็นฝักฝ่ายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ

วัยอาจเห็นว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมสยามเป็นกลุ่มการเมืองที่อำนาจอิทธิพลทางการเมืองที่เข้มแข็งที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนำของสมเด็จเจ้าพระยาฯและกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค จากความสามารถ ประสบการณ์ อำนาจ และความมั่งคั่ง ที่เริ่มเติบโตและสั่งสมเรื่อยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สอง โดยบุคคลต่างๆในตระกูลของสมเด็จเจ้าพระยาฯได้เข้าควบคุมตำแหน่งสำคัญๆในส่วนราชการทั้งหมด

ผู้ดำรงตำแหน่งสมุหพระกลาโหมคือเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้เป็นบุตรชาย ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งพระคลังและกรมท่าคือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี ขำ บุนนาค น้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯ แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าราชการได้เพียงปีเดียว ก็ถึงแก่อสัญกรรม จึงได้มอบให้น้องชายต่างมารดาอีกคนหนึ่งคือ ท้วม บุนนาค (พระยาเทพประชุน ตำแหน่งขณะนั้น/ผู้เขียน) ให้ขึ้นเป็นเจ้าพระยาภาณุวงศ์และดำรงตำแหน่งกำกับราชการพระคลังหรือกรมท่า

ดังนั้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) จึงอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสยามภายใต้สมเด็จเจ้าพระยาฯ แล้วทำไมถึงมาเป็นประธานกลุ่มสยามหนุ่มที่อยู่ภายใต้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ?

วัยอาจอธิบายว่า จริงอยู่ที่พระยาภาสกรวงศ์อยู่ในกลุ่มสยามอนุรักษ์นิยม แต่ต่อมาได้แตกหักผู้ใหญ่ในตระกูล และหันไปนำกลุ่มสยามหนุ่ม

อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ได้อธิบายการย้ายสังกัดของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯไว้ว่า เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯเป็นบุคคลที่มีสถานะที่คลุมเครือที่สุดในกลุ่มสยามหนุ่ม เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯเป็นหนึ่งในชนชั้นนำไทยไม่กี่คนที่ได้เดินทางไปยุโรปในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

และหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2411 เพียงหนึ่งปี สมเด็จเจ้าพระยาฯในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินผู้เป็นพี่ชายต่างมารดาได้แต่งตั้งเขา (พระยาเทพประชุน ตำแหน่งเจ้าพระยาภาณุวงศ์ขณะนั้น/ผู้เขียน) ให้ดำรงตำแหน่งกำกับราชการพระคลังหรือกรมท่าแทนกรมขุนวรจักรธรานุภาพที่เคยขัดขวางความคิดเห็นในตอนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ยกกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญขึ้นดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชและเลื่อนยศให้เป็นเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ รวมทั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระคลังทั้งว่าการต่างประเทศด้วย

ในปี พ.ศ. 2414 เขาได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเมื่อครั้งเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ซึ่งก่อนหน้านั้น เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯคัดค้านแผนการเสด็จประพาสยุโรป แต่เจ้าพระยาภาณุวงศ์ในฐานะเสนาบดีกรมพระคลังได้เข้าพบโทมัส น๊อกซ์ กงสุลอังกฤษ และขอให้ช่วยเจรจาต่อรองกับสมเด็จเจ้าพระยาฯให้อนุญาตเรื่องการเสด็จประพาสอินเดียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโดยที่เขาจะตามเสด็จด้วย

อาจารย์กุลลดายังได้อธิบายว่า ในปี พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเจ้าพระยาภาณุวงศ์ให้เป็นประธานสยามสมาคม (the Siam Society) และอาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า เจ้าพระยาภาณุวงศ์เป็นผู้อาวุโสและยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับฝ่ายสยามอนุรักษ์นิยม จึงน่าจะเป็นกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯที่ทรงต้องการเลี่ยงมิให้สมาชิกตระกูลขุนนางผู้ใหญ่ตระกูลบุนนาคต้องรู้สึกแปลกแยกกับการเกิดสมาคมสยามหนุ่ม โดยให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ผู้เป็นสมาชิกในตระกูลบุนนาคเข้าไปอยู่ในสมาคมสยามหนุ่มที่พระองค์ทรงกำกับดูแลอยู่

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์กุลลดาที่ว่าการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเจ้าพระยาภาณุวงศ์เป็นประธานสยามสมาคมน่าจะเป็นกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และขอสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า น่าจะเป็นด้วยเหตุผลอีกสองประการ นั่นคือ

หนึ่ง ด้วยวัยและประสบการณ์ ด้วยวัย 43 ปีของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ เขาจึงเป็นคนรุ่นตรงกลางที่จะสามารถเชื่อมระหว่างคนรุ่นสมเด็จเจ้าพระยาฯและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯกับคนรุ่นเดียวกันกับพระองค์ รวมทั้งการที่เขาเป็นผู้มีประสบการณ์การเดินทางร่วมกับคณะทูตไปอังกฤษและตามเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ซึ่งในสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าพระยาภาณุวงศ์น่าจะเป็นขุนนางคนหนึ่งที่มีอุดมคติร่วมกันกับกลุ่มสยามหนุ่มอยู่บ้างและต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่าตนเป็นพวกหัวสมัยใหม่

สอง ก่อนหน้านี้ พระองค์ทรงได้พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) น้องคนเล็กสุดของสมเด็จเจ้าพระยาฯมาอยู่ในกลุ่มสยามหนุ่มและพระยาภาสกรวงศ์ได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์และแสดงความคิดท้าทายสมเด็จพระยาฯให้เป็นที่ปรากฎอย่างไม่มีข้อสงสัยด้วย

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงพยายามดึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯซึ่งเป็นคนรุ่นกลางจากตระกูลบุนนาคมาเข้ากลุ่มสยามหนุ่มเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นบุคคลที่พระองค์ทรงโปรด และเป็นการพยายามแยกคนรุ่นใหม่ออกจากคนรุ่นเก่าภายในตระกูลบุนนาคเอง โดยพระองค์ทรงคาดหวังที่จะได้รับความเห็นพ้องและความจงรักภักดีจากเจ้าพระยาภาณุวงศ์ในทำนองเดียวกันกับที่ได้จากพระยาภาสกรวงศ์

เราสามารถตอบข้อสงสัยได้แล้วว่า ทำไมเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของสมเด็จพระยาฯ ถึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกลุ่มสยามหนุ่ม

แต่แน่นอนว่า คำถามใหม่ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แล้วด้วยสาเหตุใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯถึงได้พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) น้องชายร่วมมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯมาเป็นพวก ยิ่งกว่านั้น พระยาภาสกรวงศ์ยังแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์และแสดงความคิดท้าทายสมเด็จพระยาฯอย่างชัดเจนด้วย ?

(แหล่งอ้างอิง:David K. Wyatt, The Politics of Reform in Thailand: Education in the Reign of King Chulalongkorn; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย; สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวลชั้นที่ 3 สายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) พ.ศ. 2373-2456. http://www.bunnag.in.th/prarajpannuang006.html)

9 ก.ย. 2564
https://www.posttoday.com/politic/columnist/662767

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
***********
การเมืองในช่วงต้นรัชกาลที่ห้าประกอบไปด้วยกลุ่มการเมืองสามฝ่าย อันได้แก่ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝ่ายกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญหรือวังหน้า (พระองค์เจ้าจอร์จวอชิงตัน หรือ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) และฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและผู้นำกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค

แต่ถ้านับต่างชาติด้วย ก็จะพบว่า โทมัส นอกซ์ กงสุลใหญ่อังกฤษขณะนั้นถือเป็นการเมืองฝ่ายที่สี่ ที่สนับสนุนฝ่ายวังหน้า [ดู ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบสอง)]

ในสัมพันธภาพทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองทั้งสาม ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีอำนาจน้อยที่สุดและอยู่ระหว่างกลุ่มอำนาจสองกลุ่มที่กลุ่มสมเด็จเจ้าพระยาฯมีอำนาจมากที่สุด

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประกอบไปด้วยพระอนุชาและขุนนางรุ่นหนุ่มที่มีหัวสมัยใหม่มีความรู้ตะวันตก และได้ตั้งกลุ่มของตนขึ้นในนามของกลุ่มสยามหนุ่ม (โดยเรียกทับศัพท์ว่า “ยังไซยามโซไซเอตี” /the Young Siam Society)

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มสยามหนุ่มนี้ มีสมาชิกที่แข็งขันคือ พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ผู้ซึ่งเป็นน้องชายร่วมมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทำให้เกิดความฉงนสนเท่ห์ว่า ทำไมคนในตระกูลของท่านช่วง บุนนาคจึงมาอยู่กับฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แถมยังแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและแสดงความคิดท้าทายสมเด็จพระยาฯอย่างชัดเจนด้วย ?

พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นน้องคนเล็กสุดของสมเด็จพระยาฯ เมื่ออายุได้ 15 ปี สมเด็จเจ้าพระยาฯได้ส่งไปศึกษาที่โรงเรียนแบลกฮีท ใกล้กรุงลอนดอน ศึกษาอยู่ 3 ปี พอมีความรู้พูดภาษาอังกฤษได้ และอ่านหนังสืออังกฤษเข้าใจความก็ต้องถูกถอนตัวออกจากโรงเรียน เนื่องจากในปี พ.ศ. 2409 เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นราชทูตออกไปยุโรป ได้พากลับมารับราชการในประเทศไทยในราว พ.ศ. 2410 และมารับตำแหน่งราชเลขานุการสำหรับเชิญพระกระแสรับสั่งไปพูดจากับชาวต่างประเทศแทนหม่อมราโชทัยที่ถึงแก่อนิจกรรม

แม้ว่าจะเป็นน้องชายแท้ๆของสมเด็จเจ้าพระยาฯ แต่เขาก็มาเข้าร่วมกลุ่มสยามหนุ่มของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผมวิเคราะห์ว่า น่าจะด้วยเหตุผลห้าประการที่ทำให้พระยาภาสกรวงศ์ไม่เป็นอยู่ในฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯ

ประการแรก พระยาภาสกรวงศ์เป็นน้องคนเล็กสุดของสมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอายุห่างกันถึง 41 ปี มีช่องว่างระหว่างวัยมาก

ประการที่สอง แม้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯเองจะสนใจและเปิดรับความรู้ตะวันตกและไม่เคยไปศึกษาต่างประเทศ ดังนั้น ความสามารถในภาษาอังกฤษ ความรู้และการรับวัฒนธรรมตะวันตกจึงไม่เข้มข้นเท่าพระยาภาสกรวงศ์ที่ได้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาถึงสามปีและไปในช่วงสำคัญของวัยด้วย นั่นคือ ในช่วงอายุ 15 ปี จึงมีช่องว่างระหว่างกันตรงนี้อยู่

ประการที่สามความเป็นตัวของตัวเองของพระยาภาสกรวงศ์ หลังจากเปลี่ยนรัชกาล เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชันษายังเยาว์วัย และสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คนที่จะไปเข้าเฝ้าใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ย่อมจะถูกตั้งข้อสงสัยระแวงจากสมเด็จเจ้าพระยาฯ แต่พระยาภาสกรวงศ์กลับไม่เกรงกลัวและกล้าที่จะไปเข้าเฝ้าใกล้ชิดและกราบบังคมทูลความต่างๆอย่างไม่หวาดหวั่นแต่อย่างใด และ “ให้ทรงใช้สอยโดยความสามิภักดิ์มิได้ครั่นคร้าม จึงได้สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัย และได้ทรงใช้สอยเป็นประโยชน์มากแต่นั้นมา” และในขณะนั้น พระยาภาสกรวงศ์เป็นคนเดียวที่เป็นผู้รู้ภาษาอังกฤษพอที่จะให้ค้นข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแบบแผนต่างประเทศได้

และความเป็นตัวของตัวเองและความมั่นใจในตัวเองของพระยาภาสกรณ์นี้ เป็นคุณสมบัติที่มีผู้สังเกตเห็นได้ตั้งแต่เขาอยู่ในวัยเด็ก และดูเหมือนว่าเขาจะไม่สนใจที่ตนจะแปลกแยกกับมิตรหรือญาติพี่น้อง

ดังที่มีผู้กล่าวถึงพระยาภาสกรวงศ์ไว้ว่า “ในพวกบุตรหลานสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่ได้เล่าเรียนสำนักเดียวกันกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ จึงไม่ปรากฎว่าใครเชี่ยวชาญในวิชาหนังสือ ถึงเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ในชั้นนั้นก็ไม่ปรากฏว่ารู้วิเศษกว่าเพื่อน แต่ทว่าอุปนิสัยของท่านรักเล่าเรียนปรากฏมาแต่ในชั้นนั้น ข้าพเจ้าเคยได้ยินเพื่อนเรียนของท่าน คือพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) และพระยาประภากรวงศ์วรวุฒิภักดี (ชาย บุนนาค) เป็นต้น เล่าให้ฟังว่าเจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น ‘ชอบวางตัวเป็นนักปราชญ์มาแต่เด็ก’ ไม่ใคร่ถูกกับเพื่อนฝูง จึงมักถูกเขารังแก ยกตัวอย่างดังเช่น เวลาตามสมเด็จเจ้าพระยาฯไปเที่ยวตามหัวเมือง เวลาจะเดินป่าแต่เช้า พวกเพื่อนมักแกล้งทิ้งเจ้าพระยาภาสฯให้มัวหลับไปไม่ทัน ท่านก็มีปัญญาป้องกันตัว เอาเชือกผูกเท้าโยงขวางประตูไว้ ใครออกประตูห้องไปต้องสะดุดเชือกๆก็ปลุกท่ารนให้ตื่นดังนี้แสดงอุปนิสัยของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ซึ่งมีมาแต่ยังเยาว์”

ประการที่สี่ เชื่อมโยงกับประการที่สาม ด้วยความเป็นคนรุ่น (generation) เดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่มีวัยใกล้เคียงกัน อายุห่างกันเพียง 3 ปีเท่านั้น ทำให้พระยาภาสกรวงศ์มีความสนิทสนมและความเข้าใจกันและกันกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มากกว่าระหว่างเขากับสมเด็จเจ้าพระยาฯที่วัยห่างกันถึง 41 ปี

ประการที่ห้า แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจะมิได้ไปศึกษาในต่างประเทศ แต่พระองค์ทรงได้รับการศึกษาจากครูชาวต่างชาติและเรียนรู้วิชาการตะวันตกพอสมควร และเมื่อเชื่อมกับประการต่างๆที่ได้กล่าวไปแล้ว พระองค์จึงเป็นบุคคลที่พระยาภาสกรวงศ์เข้าด้วยได้มากกว่า

และด้วยอุปนิสัยในประการที่สาม อาจทำให้พระยาภาสกรวงศ์ไม่คิดจะต้องอาศัยญาติพี่น้องในการขึ้นสู่อำนาจ แต่จะใช้วิธีการและช่องทางของตัวเอง โดยบทบาทและการกระทำของพระยาภาสกรวงศ์จะปรากฎให้เห็นชัดเจนในการต่อสู้เคลื่อนไหวของกลุ่มสยามหนุ่ม (Young Siam) และกิจกรรมของสมาคมสยามหนุ่ม (Young Siam Society)

ขณะเดียวกัน อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งเจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) เป็นประธานสมาคมสยามหนุ่ม ด้วยเหตุผลที่ผมได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว

จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้คนจากตระกูลบุนนาคทั้งสองเข้ามาอยู่ฝ่ายพระองค์ เป็นได้ทั้งเป็นการท้าทายอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ขณะเดียวกัน ก็แสดงให้คนที่อยู่ห่างวงออกไปเห็นว่า พระองค์ทรงโปรดคนในตระกูลบุนนาค โดยไม่ได้รังเกียจหรือสร้างความแปลกแยกระหว่างพระองค์กับสมเด็จเจ้าพระยาฯ อีกทั้งยังทำให้เข้าใจได้ว่า พระองค์ทรงแสดงความต้องการมีไมตรีอันดีต่อตระกูลบุนนาคด้วย

แล้วเราจะพบว่า พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในกลุ่มสยามหนุ่มและการออกหนังสือพิมพ์ที่ชื่อ “ดรุโณวาท” ในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อลดทอนอำนาจของฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯและของฝ่ายวังหน้า และดึงอำนาจกลับคืนมาสู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะนั้น พระยาภาสกรวงศ์มีอายุได้เพียง 24 ปี แต่บทบาทการต่อสู้ของเขาถือได้ว่า “แรงทะลุเดือด” ทีเดียว แต่ไม่ใช่การใช้กำลัง แต่ด้วยสติปัญญาล้วนๆ

(แหล่งอ้างอิง: ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, เจ้าพระยาและสมเด็จเจ้าพระยาบางท่านในสกุลบุนนาค, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต๋า บุนนาค) ท.ม., ว.ป.ร., ต.จ.ว.; กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 1)

16 ก.ย. 2564
https://www.posttoday.com/politic/columnist/663367