ผู้เขียน หัวข้อ: มีอะไรในภูเขาลูกนี้ที่จะปล่อยให้ระเบิดหินต่อไปไม่ได้! ร.๕ เสด็จไปประพาสหลายครั้ง  (อ่าน 369 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
อุทยานหินเขางู เป็นปฏิมากรรมธรรมชาติที่แปลกตา และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโดดเด่นแห่งหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ห่างตัวเมืองเพียง ๖-๗ กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาที่มีความสูงไม่สม่ำเสมอกัน และมีชื่อต่างกันไป มองแต่ไกลเห็นทอดยาวคล้ายงูเลื้อย ยอดสูงที่สุดคือเขาหลักว่าว สูง ๒๘๑ เมตร ส่วนเขางูนั้นเป็นส่วนหัวอยู่ทางทิศใต้ มีความสูงเพียง ๒๐ เมตร หน้าเขางูเป็นที่ราบกว้างใหญ่ เคยเป็นสนามรบครั้งสำคัญใน “สงคราม ๙ ทัพ” ส่วนเขางูก็มีถ้ำหลายแห่งที่มีความสำคัญทางโบราณคดี มีพระพุทธรูปสลักในฝาผนังถ้ำมาแต่ยุคทวารวดี อาณาจักรที่รุ่งเรืองในอดีต ทั้งยังมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่บนยอดเขา

สมัยก่อนในฤดูน้ำหลาก คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน น้ำจะไหลบ่าเจิ่งนองจากแม่น้ำแม่กลองไปถึงเชิงเขา และมีระดับน้ำขนาดเรือยนต์ใหญ่ๆเข้าไปได้ จึงมีเทศกาลพายเรือไปนมัสการหลวงพ่อฤาษีและรอยพระพุทธบาทในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันพ้นออกพรรษา ถือเป็นงานประเพณีของท้องถิ่นมาช้านาน ผู้คนในจังหวัดใกล้เคียงต่างนำเรือยนต์เรือพายมาร่วมชุมนุมกันแน่นขนัด ที่สนุกสนานก็คือการจัดแข่งเรือ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสไปที่เขางูหลายครั้ง ครั้งหนึ่งในปี ๒๔๓๑ ในการเสด็จประพาสไทรโยคที่ขบวนเรือเสด็จต้องผ่านราชบุรี ทรงนิพนธ์บทกลอนบรรยายลักษณะของเขางูไว้ว่า

“ ตรงหน้านั้นเขางูเปนหมู่ยาว
แต่หลายยอดหลายอย่างต่างชื่อเสียง
ที่เล็กเคียงข้างลงมาหน้าผาขาว
เป็นเขางูอยู่เท่านั้นปั้นเรื่องราว
เขาหลักว่าวและเปนสูงในฝูงนี้
ยอดเป็นหลักปักเห็นเด่นถนัด
เขาที่ถัดเป็นรากกล้วยพรวยแผกหนี
ถ้าเปนเขารอกไปได้จะดี
ต่อยอดนี้เขาจุฬาท้าพนัน...”

สมเด็จกรมพระยาดำรราชานุภาพทรงชื่นชมทุ่งเขางูมาก ได้ทรงกล่าวไว้ในรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรีใน พ.ศ.๒๔๔๑ ไว้ว่า

“...ฉันพึ่งเคยมาเห็นทุ่งเขางูในระดูน้ำคราวนี้ พอแลเห็นก็ทำยอมโดยทันทีว่า บรรดาทุ่งที่จะเที่ยวเล่นในระดูน้ำ จะเปนทุ่งหนึ่งทุ่งใดในกรุงเก่าก็ดี ท้องพรหมมาศเมืองลพบุรีก็ดี แม้ที่สุดถึงบึงบอระเพ็ดนครสวรรค์ก็ดี บรรดาที่เคยไปเห็นแล้วไม่มีแห่งใดที่จะสู้ทุ่งเขางูนี้เลย ด้วยเปนทุ่งกว้างน้ำลึกและมีเขาอยู่ใกล้ๆ จะแล่นเรือพายไปเท่าใดก็ไม่มีที่สุด โดยจะมีเรือใบเล็กๆมาแล่นเล่นก็ได้ กระบวนเรือที่จะเที่ยวทุ่งเก็บกุ่มเก็บบัวอย่างทุ่งกรุงเก่าก็ได้ หรือเอาเรือแวะจอดที่ดอนขึ้นไร่เก็บน้อยหน่าก็ได้ จะเดินเที่ยวไปถึงเขาก็ไม่ทันเหนื่อย เพราะอย่างนี้ใครๆจึงกลับมาชมกันว่าสนุกนัก...”

น้ำท่วมทุ่งเขางูนี้ ยังเคยถูกใช้เป็นตราประจำจังหวัดราชบุรีในช่วงปี ๒๕๐๐-๒๕๐๙ เป็นภาพน้ำหลากทุ่งกับภูเขา ล้อมรอบด้วยงูใหญ่

ปัจจุบัน น้ำท่วมทุ่งเขางูในฤดูน้ำหลากนี้ไม่มีเกิดขึ้นแล้ว ท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ได้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนและเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งนี้หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนใหญ่ ๒ เขื่อนที่ต้นน้ำแม่กลองในจังหวัดกาญจนบุรี ควบคุมน้ำไว้ได้

ทุ่งเขางูยังมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ด้วย ใน “สงคราม ๙ ทัพ” ที่พม่าระดมพลเข้ามาทุกทิศ จะบดขยี้ไทยไม่ให้ได้ผุดได้เกิดขณะที่เพิ่งเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะนั้นไทยเราไม่มีกำลังทหารมากพอจะรับมือกับทัพพม่าได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชา จึงทรงวางยุทธวิธีส่งกองทัพเล็กๆไปยันทัพพม่าที่เข้ามาทางภาคเหนือและราชบุรี เพื่อถ่วงเวลาไม่ให้เข้ามาช่วยทัพหลวงที่เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ได้ จากนั้นกรมพระราชวังบวรก็ทรงนำทัพไปรับทัพหลวงพม่า และทรงใช้ยุทธวิธี “ปิดตรอกตีพม่า” ล่อให้พม่าเข้ามาในชัยภูมที่เราได้เปรียบ แล้วบดขยี้ทัพหน้าจนแตกพ่ายไม่เป็นขบวน ทำให้ทัพหลวงของพระเจ้าปะดุงที่เข้ามาถึงแค่ด่านเจดีย์สามองค์ต้องรีบถอยออกไปด้วย จากนั้นจึงทรงนำทัพไปช่วยทางราชบุรีต่อไป

กองทัพไทยที่ส่งไปยันพม่าที่ราชบุรีนั้นมีพระยาธรรมากับพระยายมราชเป็นแม่ทัพ เมื่อยกไปถึงราชบุรีไม่เห็นวี่แววพม่าแต่อย่างใด จึงตั้งค่ายอยู่แต่ในเมือง ทั้งไม่ได้ส่งกองลาดตระเวนออกไปตรวจพื้นที่โดยรอบด้วย ส่วนกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านเจ้าเขว้า มาถึงราชบุรีเมื่อทัพหลวงแตกไปแล้วก็ยังไม่รู้ เลยตั้งค่ายที่ทุ่งเขางู ลอบเข้ามาเก็บผลหมากรากไม้ของชาวบ้านกินกันสบาย

เมื่อพระยากลาโหมราชเสนากับพระยาจ่าแสนยกทัพลัดป่าจากเมืองกาญจน์จะมาช่วยราชบุรี เห็นพม่าตั้งค่ายอยู่ที่เขางู จึงเข้าโจมตีถึงขั้นตะลุมบอน จนพม่าแตกพ่ายหนีไป เมื่อกรมพระราชวังบวรยกทัพหลวงตามมาถึงทราบเรื่อง ก็ทรงพระพิโรธให้ลงพระราชอาญาจำขังแม่ทัพนายกองที่ราชบุรีทุกคน แล้วบอกเข้ามากราบทูลสมเด็จพระเชษฐาที่กรุงเทพฯ จะขอประหารชีวิตแม่ทัพทั้ง ๒ พระเจ้าอยู่หัวได้ขอชีวิตแม่ทัพทั้ง ๒ ไว้ ด้วยมีความดีความชอบมาแต่ก่อน ให้ลงแต่พระอาญาทำโทษประจานตามกฎพระอัยการศึก กรมพระราชวังบวรจึงลงพระอาญาเจ้าพระยาธรรมาและพระยายมราช โดยโกนศีรษะเป็น ๓ แฉก แล้วให้ตระเวนรอบค่าย ถอดเสียจากฐานันดรศักดิ์ ส่วนนายทัพนายกองทั้งหลายก็ให้เฆี่ยนทั้งสิ้น

นี่คือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของทุ่งเขางู
ส่วนในด้านโบราณคดี เขางูเป็นศาสนสถานอันเก่าแก่มาแต่ครั้งทวารวดี มีพระพุทธรูปจำหลักหินบนฝาผนังถ้ำอยู่หลายแห่ง คือ

ถ้ำฤาษี อยู่บนเนินเขา ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปหลายองค์ องค์เด่นที่สุดแกะสลักลงในฝาถ้ำ เป็นศิลปะสมัยทราวดี ประทับห้อยขา ระหว่างพระบาทจารึกอักษร ๑๒ ตัว รูปอักษรเหมือนอักษรที่ใช้อยู่ในอินเดียสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ประมาณพุทธศตวารรษที่ ๑๑-๑๒ และยังมีพระพุทธรูปสมัยอยุธยาอีกมาก

บริเวณด้านข้างยังเป็นถ้ำอีกโพรงหนึ่ง มีรูปปั้นพระฤาษีในอิริยาบถต่างๆอีกหลายองค์ อันเป็นที่มาของชื่อถ้ำ
จากถ้ำเขางูนี้ยังสามารถเดินไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่อยู่ใกล้กัน เป็นพระพุทธบาทจำลองที่สลักบนศิลาแลง ซึ่งสร้างแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน

ห่างจากถ้ำเขางูไปประมาณ ๒๕๐ เมตรคือ ถ้ำฝาโถ มีพระพุทธรูปไสยาสน์ปางนิพพาน ยาว ๙ เมตร เหนือพระพุทธรูปขึ้นไปเป็นภาพเทพชุมนุมและภาพปูนปั้นรูปต้นสาละ ด้านข้างยังมีภาพสลักพระสาวก ๒ องค์ ด้านในมีช่องทางลึกลับเป็นโพรงถ้ำเข้าไปอีก เป็นต้นเหตุให้เกิดตำนานเล่าขานกันว่าเป็นทางไปสู่เมืองลับแล

ส่วนถ้ำจีน อยู่บนเนินเขาสูงจากพื้นดิน ๖๐ เมตร มีพระพุทธรูปปูนปั้นประดับบนฝาผนัง องค์ที่อยู่ด้านในเป็นปางปฐมเทศนา องค์ด้านนอกเหลือเพียงครึ่งองค์ สันนิษฐานว่าสร้างมาในสมัยทวารวดีเช่นกัน ต่อมาถูกดัดแปลงด้วยปูนพอกเป็นศิลปะอยุธยา

ถ้ำจามอยู่สูงจากถ้ำจีนขึ้นไปหน่อย มีภาพสลักบนฝาผนังทุกด้าน ด้านหนึ่งเป็นภาพตอนมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี ประกอบกับพระพุทธรูปปางต่างๆ เช่นปางสมาธิ ปางแสดงธรรมในสวนมะม่วงที่มีผลอยู่บนต้น สอดคล้องกับชาดกที่กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์เสวยผลมะม่วงแล้วได้ทรงนำเมล็ดลงปลูก ทันใดมะม่วงเมล็ดนั้นก็เติบโตเป็นต้นออกผลให้ภิกษุเก็บไปฉัน ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ลักษณะใกล้เคียงกับในถ้ำฝาโถ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

โบราณสถานเขางูมีความสำคัญล้ำค่าทางโบราณคดีถึงเพียงนี้ แต่ก็น่าแปลกใจที่ครั้งหนึ่งมีการออกสัมปทานบัตรให้ระเบิดย่อยหินเขางูเอาไปขายเป็นวัสดุก่อสร้างได้ จนคนในพื้นที่เหลืออดพากันเรียกร้องให้ระงับการระเบิดหิน ฉะนั้นในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยุติสัมปทานนี้ ต่อมาในปี ๒๕๓๔ สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการจัดทำแผนการอนุรักษ์เขางู ต่อมาในปี ๒๕๕๖ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดราชบุรี จึงดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเขางู จนเป็นอุทยานหินเขางู สถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัดราชบุรีในวันนี้

6 ก.ย. 2564  โรม บุนนาค
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000088025