ผู้เขียน หัวข้อ: สภาพ..กรุงเทพฯ เมืองฟ้า!“พื้นที่ป่ายังไม่พอ”เป้า กทม. อีก 9 ปี ได้พื้นที่สีเขียว  (อ่าน 346 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ระบุอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในกรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 7 ตารางเมตร/คน หากนับรวมประชากรแฝง คาดว่ามีประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตร/คนเท่านั้น ถือว่าสภาพ..ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ WHO

ขณะที่ผู้ว่า กทม.มั่นใจ ว่า 9 ปีข้างหน้านี้ โครงการ Green Bangkok 2030 จะขยายผลจนทำให้คนกรุงมีพื้นที่สีเขียว ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโลก คือ ขนาด 9 ตรว./คน



‘พื้นที่สีเขียว’ อีกสิ่งสำคัญของคนกรุงที่ยังขาด
การเจริญเติบโตที่ไม่หยุดยั้งทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ส่งผลให้เมืองหลวงและเมืองสำคัญๆ หลายประเทศมีที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ถนนหนทาง และรางรถไฟฟ้า ตอบรับการพัฒนาดังกล่าวมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นการพัฒนาในเชิงพาณิชย์เพียงด้านเดียว หลายๆ ประเทศยังให้ความสำคัญกับ “พื้นที่สีเขียว” ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่การพักผ่อน การออกกำลังกาย

กรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกันกำลังเจริญรอยตามเมืองใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ยังขาดเพียงอย่างเดียวคือ “พื้นที่สีเขียว” ที่ยังน้อย แม้กระทั่งทางกรุงเทพมหานคร หน่วยงานดูแลก็ยอมรับ และตั้งเป้าว่าจะขยายพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามมาตรฐานโลก คือ 9 ตารางเมตร/คน

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,568.737 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์กว่า 6 ล้านคน รวมประชากรแฝงแล้วอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน จากความหนาแน่นของจำนวนประชากร ทำให้กรุงเทพมหานครต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัย พื้นที่ประกอบธุรกิจการค้า การขนส่ง ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ จากการเติบโตในทุก ๆ ด้าน ทั้งหมดล้วนส่งผลให้พื้นที่สีเขียวของเมืองมีปริมาณลดลง

สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้จัดทำโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ขึ้นเพื่อบูรณาการและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มีศักยภาพและมีจิตสาธารณะในการร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ โดยตั้งเป้าบรรลุโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ในปี 2573 ใน 3 เป้าหมาย ได้แก่

1.เพิ่มอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรให้ได้ 10 ตร.ม./คน
2.มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในระยะเดิน 400 เมตร หรือ 5 นาที ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร
3.พื้นที่ร่มไม้ (Urban Tree Canopy) ต่อพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของพื้นที่กทม.

พื้นที่สีเขียว กรุงเทพฯ น้อยกว่ามาตรฐานเกือบ 3 เท่า
จากเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดไว้ว่าเมืองใหญ่ๆ ควรมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 9 ตารางเมตร/คน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (กรุงเทพมหานคร) พบว่า กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะ ขนาดใหญ่ที่สุด คือ สวนหลวง ร.9 ขนาดพื้นที่ 500 ไร่ เป็นสวนสาธารณะระดับเมือง ให้บริการประชาชนทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร

นอกจากนั้นจะเป็นสวนสาธารณะระดับต่างๆลดหลั่นกันลงมา รวมพื้นที่สวนสาธารณะทั้งสิ้น 2,481.69 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่สวนสาธารณะต่อประชากรในกรุงเทพมหานครเท่ากับ 0.70 ตาราง เมตรต่อคน นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ว่าสัดสวนของสวนสาธารณะต่อประชากรจะต้องเท่ากับ 15 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่เมืองใหญ่ แห่งอื่นของโลกล้วนแล้วแต่มีสัดสวน สวนสาธารณะต่อประชากรสูงกว่ากรุงเทพมหานครเกือบทั้งสิ้น

ข้อมูลพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพฯ (เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2560) มีจำนวน 7,642 แห่ง เนื้อที่ 22,134 ไร่ 76.04 ตารางวา พื้นที่ 35,414,704.16 ตารางเมตร จำนวนประชากรของกรุงเทพฯ (จากสำนักทะเบียนราษฎร์ ไม่รวมประชากรแฝง) 5,686,646 คน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร ขณะนั้นอยู่ที่ 6.23 ตารางเมตร/คน หากนับรวมประชากรแฝงซึ่งคาดว่ารวมแล้วจะมีประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตร/คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ WHO มาก

พื้นที่สีเขียว กรุงเทพฯ เมื่อเทียบกับทั่วโลก
กรุงเทพฯ ถือว่ามีพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ๆ ของโลก อาทิ ซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) สิงคโปร์ ฮ่องกง กัวลาลัมเปอร์ ลอนดอน นิวยอร์ก ปารีส โตเกียว โซล และกวางโจว

จากการสำรวจของ MIT’s Senseable City Lab และ the World Economic Forum พบว่า ประเทศที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดคือสิงคโปร์ อยู่ที่ 29.3% ซึ่งสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 ประชากร 85% จะต้องอาศัยอยู่ใกล้กับสวนในระยะไม่เกิน 400 เมตร

สอดคล้องกับผลสำรวจของ Economist Intelligence Unit พบว่า อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่เฉลี่ยในเอเชียอยู่ที่ 39 ตารางเมตร/คน โดยสิงคโปร์มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรสูงถึง 66 ตารางเมตร/คน ซึ่งสูงกว่ากรุงเทพฯ เกือบ 22 เท่า ทั้งที่ขนาดเนื้อที่ทั้งประเทศเล็กกว่ากรุงเทพฯ ถึง 2.5 เท่า ขณะที่กัวลาลัมเปอร์อยู่ที่ 50 ตารางเมตร/คน

Green Bangkok 2030 ความหวังของคนกรุง

ถึงตอนนี้ เหลือเวลาอีกประมาณ 9 ปี ตามที่ กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนกรุงฯ ผ่านโครงการ Green Bangkok 2030 พร้อมนำร่องในเฟสแรกแล้ว จำนวน 11 โครงการ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ถึง 10 ตารางเมตรต่อคน โดยจะขับเคลื่อนผ่านโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 7.08 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกนั้นกำหนดให้แต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 9 ตารางเมตรต่อคน

"สถานการณ์ตอนนี้แม้ว่ากรุงเทพฯจะยังไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้ แต่เราก็พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และเราคาดหวังว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนและภาคีเครือข่ายภายใต้โครงการ GREEN BANGKOK 2030 จะทำให้กรุงเทพฯเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้"

โครงการ GREEN BANGKOK 2030 เป็นการวางแผนและมองพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ไปข้างหน้าอีก 10 ปี ว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละย่านจะเป็นแบบไหน พร้อมทั้งได้ทำการสำรวจพื้นที่ว่าง ที่รกร้าง และที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์เพื่อนำมาพัฒนาเป็นสวนหย่อม สวนสาธารณะ และสวนป่า โดยเริ่มนำร่อง (ระยะที่ 1) แล้ว จำนวน 11 โครงการ เช่น สวนปิยะภิรมย์ เขตบางกะปิ พื้นที่ 10 ไร่ ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว สวนสันติพร เขตพระนคร พื้นที่ 2.5 ไร่ สวนสาธารณะบริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหารเขตลาดกระบัง พื้นที่ 18 ไร่ และสวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียน - ชายทะเล) เขตบางขุนเทียน พื้นที่ 37 ไร่ เป็นต้น

กทม.ประสานมือสิบทิศ ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ ปตท. We!park และ Big Trees และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ โดย บริษัท ปตท. ปรับภูมิทัศน์เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ยืนต้นจำนวนมากในพื้นที่อาคาร ปตท.สำนักงานใหญ่ และเป็นภาคีเครือข่ายหลักในการดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ตามแนวถนนพหลโยธิน ระยะทางรวม 5.5 กม. โดยร่วมกับภาคเอกชน และสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาเส้นทางเดินเท้าตลอดระยะทางโครงการ

สำหรับ We!Park และสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย มีส่วนช่วยในกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน และออกแบบงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม ตลอดจนจัดทำรูปแบบสำหรับการก่อสร้างเพื่อให้กรุงเทพมหานครนำไปจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่สีเขียว

และ Big Trees ร่วมกับ กทม. และภาคีเครือข่ายที่เป็นสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดอบรมหลักสูตรการดูแลและตัดแต่งต้นไม้ตามหลักรุกขกรรม ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลสวนและพื้นที่สีเขียวของสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตต่าง ๆ

พล.ต.อ.อัศวิน ย้ำว่า "กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองสีเขียว และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่การก้าวไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ นั้นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ซึ่งหากท่านยังมีที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และประสงค์จะมอบให้กทม.นำไปพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.2 (ดินแดง)"

14 ก.ย. 2564  ผู้จัดการออนไลน์