ผู้เขียน หัวข้อ: จาก “หมอชนบทบุกกรุง” สู่ปฏิบัติการโอนงบฯ 359 ล้าน เข้า “บัญชีพิเศษ”  (อ่าน 374 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
จาก “แพทย์ชนบทบุกกรุง” สู่ปฏิบัติการโอนงบโควิดฯ 359 ล้าน เข้า “บัญชีพิเศษ” รพ.มหาราช – สิชล “หมออรพรรณ์” จี้ “สธ.-สปสช.-สตง.-แพทย์สภา” สอบโครงการ Home Isolation – รับงบฯไปแล้ว ทิ้งคนไข้ -ผิดหลักการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

ต่อจากตอนที่แล้ว พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (สพอท.) ชี้แจงผ่านคลิปวิดีโอ ตอนที่ 1 ในหัวข้อ “โควิดไทยถูกซ้ำเติมโดยชมรมแพทย์ชนบท และสปสช.ใช่หรือไม่”

ตอนที่ 2 พญ.อรพรรณ์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินกู้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลนำมาจัดสรรให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)นำไปจัดสรรให้กับสถานพยาบาลเป็นค่าบริการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเป็นค่าบริการในการจัดทำ Home Isolation และ Community Isolation สถานพยาบาล โดยมีการโอนเงินให้โรงพยาบาลที่อยู่ในอำนาจการอนุมัติของแพทย์ที่ระบุว่าเป็นหมอชนบท คือ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา และนพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน ขณะที่โรงพยาบาลทั่วไปทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ได้รับจัดสรรงบฯ เงินกู้จาก สปสช.จำนวนเท่าไหร่ และใช้จ่ายเงินอย่างความถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

จาก “แพทย์ชนบทบุกกรุง” สู่ปฏิบัติการโอนงบฯ 359 ล้าน
พญ.อรพรรณ์ กล่าวว่า จากการติดตามข่าวย้อนหลัง นอกจากแพทย์ชนบทบุกกรุง ตามมาด้วยเรื่อง สปสช.จัดโครงการพิเศษจัดซื้อ ATK แล้ว ยังมีเรื่องแปลก ๆอีก คือ เรื่องการใช้จ่าย “งบประมาณว่าด้วยการจัดบริการของโรงพยาบาลตามโครงการของ สปสช.” ซึ่งเป็นงบ ฯจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลจัดสรรให้ สปสช.ดูแลผู้ป่วยโควิด ฯ ปรากฎว่ามีโรงพยาบาลที่อยู่ในความรับผิดชอบของแพทย์ชนบท 2 คน คือ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ กับ นพ. อารักษ์ วงศ์วรชาติ ได้รับเงินจาก สปสช. โอนเข้าบัญชีเฉพาะ รวมเป็นเงินกว่า 200 ล้านบาท ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน

เอกสาร การโอนงบฯค่าบริการตรวจคัดกรองโควิดฯให้โรงพยาบาลมหาราช

เอกสาร การโอนงบฯค่าบริการตรวจคัดกรองโควิดฯให้โรงพยาบาลสิชล

หลังจากที่ พญ.อรพรรณ์ให้สัมภาษณ์ผ่านคลิปวีดีโอไปแล้ว สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ตรวจสอบยอดการโอนเงินค่าบริการตรวจคัดกรองโควิดฯไปให้โรงพยาบาลต่าง ๆ พบว่าตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้โอนงบฯเงินกู้เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง เป็นค่าบริการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด ฯ รวมทั้งหมด 12 งวด โดยโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา ได้รับเงินไปทั้งสิ้น 261 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าบริการตรวจคัดกรองโควิดฯผู้ป่วยนอก 212 ล้านบาท และผู้ป่วยใน 49 ล้านบาท นอกจากนี้ สปสช.ยังโอนงบฯเงินกู้ไปเข้าบัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส.ของโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมเป็นเงิน 78 ล้านบาท

นอกจาก สปสช.โอนเงินค่าตรวจคัดกรองโควิดฯไปให้โรงพยาบาลมหาราช และโรงพยาบาลสิชลตามที่กล่าวมาแล้ว สปสช.ยังมีการโอนงบ ฯ เงินกู้ไปให้โรงพยาบาลสิชล ดำเนินโครงการ Home Isolation Care อีก 20.37 ล้านบาท รวมแล้วโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งได้รับการจัดสรรงบฯเงินกู้จาก สปสช.ไปกว่า 359 ล้านบาท

เอกสาร การโอนงบฯค่าบริการ Home Isolation ให้โรงพยาบาลสิชล

พญ.อรพรรณ์ กล่าวต่อว่า การจัดระบบบริการ Home Isolation หรือ Community Isolation ตามหลักการแล้ว เมื่อแพทย์ทำการตรวจคัดกรอง พบผู้ป่วยติดเชื้อได้ผลทดสอบออกมาเป็น Positive ก็ต้องนำผู้ป่วยส่งต่อไปให้เครือข่ายของระบบนั้น ๆ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และสามารถเข้าถึงบริการที่ดีมีคุณภาพ

แต่ปรากฏว่ามีผู้หญิงรายหนึ่ง เป็นคนกรุงเทพฯ ได้ร้องเรียนสื่อมวลชนว่า หลังจากได้รับการตรวจคัดกรองโควิด ฯจากทีมแพทย์ชนบทได้ผลทดสอบออกมาเป็น Positive แทนที่ สปสช.จะจัดให้ผู้ป่วยรายนี้เข้าสู่ระบบ Home Isolation ของโรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาลใน กทม. ซึ่งมีอยู่หลายแห่งที่มีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ แต่กลับจัดให้ผู้ป่วยรายนี้เข้าไปอยู่ในระบบ Home Isolation ของโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผู้ป่วยรายนี้ร้องเรียนว่าไม่ได้รับการดูแลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ โรงพยาบาลสิชลมาตั้งแต่วันที่ 2 – 12 สิงหาคม 2564 ช่วง 10 วันที่ผ่านมา คนไข้รายนี้ต้องช่วยตัวเอง และขอให้เพื่อนบ้านช่วยหาซื้อยาสมุนไพรต่าง ๆมาใช้ในการรักษา

จี้ สปสช.สอบ รพ.ทิ้งคนไข้-เรียกงบฯคืน
“ต่อมา นพ. จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ยอมรับว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ซึ่งจริง ๆแล้ว นพ.จเด็จ ควรต้องตรวจสอบว่า Home Isolation ที่โรงพยาบาลสิชล ได้รับงบฯไป 20 ล้านบาทนั้น ได้มีการเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคนไข้รายนี้หรือไม่ และควรตรวจสอบคนไข้ที่ถูกโอนไป 18,000 ราย มีถูกทิ้งไข้กี่ราย โรงพยาบาลมีการติดตามดูแลคนไข้ที่เข้าระบบ Home Isolation ภายใน 14 วัน อย่างไร ทำการรักษาจริงหรือไม่ เพราะงบฯ ที่โอนไปให้โรงพยาบาลทำ Home Isolation เป็นเงินภาษีประชาชน จ่ายขาดให้กับโรงพยาบาลไม่ได้ หากจ่ายไปแล้ว ก็ให้เรียกคืน” พญ.อรพรรณ์ กล่าว

พญ.อรพรรณ์ กล่าวว่า “ดิฉันห่วงประชาชนมาก อยากทราบว่ามีประชาชนเข้าสู่ระบบ Home Isolation ได้มากน้อยแค่ไหน เช่น มีประชาชนเข้าสู่ระบบ Home Isolation ได้แค่ 100 คน หรือ 100,000 คน หรือ 1,000,000 คน ประชาชนเหล่านี้ได้รับการดูแลอย่างดี หรือ ถูกทอดทิ้ง ขอให้กระทรวงสาธารณสุข , บอร์ด สปสช. และสำนักงานการจตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบ หากได้ข้อเท็จจริงเป็นประการใด ก็ให้นำมาเปิดเผยให้แพทย์ , พยาบาล และประชาชน รับทราบ”

กรณีที่มีผู้ป่วยออกมาร้องเรียนว่า “ถูกทิ้ง” นั้น พญ.อรพรรณ์ กล่าวย้ำว่า ปัญหาดังกล่าวนี้เกิดจากวางระบบ Home Isolation ของ สปสช. ซึ่งไม่ใช่ระบบของกระทรวงสาธารณสุข และปัญหาก็ไม่ได้มาจากทีมแพทย์ หรือ พยาบาลที่ทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่เป็นที่ระบบ Home Isolation ของ สปสช. โรงพยาบาลจะทิ้งคนไข้ หรือ ไม่ทิ้งคนไข้ สปสช.จัดงบฯ ไปให้หัวละ 15,400 บาท ส่วนค่าบริการตรวจคัดกรองโควิด ฯ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินโครงการ ทาง สปสช.ก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดอัตราค่าบริการ หากเป็นการตรวจด้วย ATK จ่ายค่าบริการให้โรงพยาบาลตามจำนวนคนไข้ หัวละประมาณ 450-550 บาท ถ้าผลตรวจทดสอบออกมาเป็น Positive ก็จะใช้ RT-PCR ตรวจยืนยันซ้ำอีกรอบ โรงพยาบาลจะได้รับเงินจาก สปสช.อีกหัวละ 2,300 บาท ขณะที่โรงพยาบาลอื่น ๆที่มีขีดความสามารถสูงในการรักษาพยาบาล กลับปล่อยให้มีปัญหาขาดแคลนงบประมาณ เงินบำรุงก็มีไม่เพียงพอ

ย้ำ สปสช.ไม่มีอำนาจทำโครงการ Home IsoLation – ซื้อ ATK
พญ.อรพรณ์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้ สปสช.จ่ายเงินค่ารักษาให้กับสถานพยาบาลได้ 12 หมวด อาทิ ค่าบริการทางการแพทย์ การสาธารณะสุข และสุขภาพ , ค่าทำคลอด , ค่ายา และค่าวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ เท่านั้น ซึ่งทั้ง 12 หมวด ไม่ได้กำหนดว่าให้จ่ายค่าตรวจคัดกรองโควิดฯ และไม่ได้กำหนดให้จ่ายค่า Home Isolation เอาไว้เลย ขณะที่ มาตรา 21 กำหนดอำนาจหน้าที่ของบอร์ด สปสช. มีหน้าที่จัดให้ประชาชนมีหน่วยบริการ ดูแลเรื่องของประเภท และคุณภาพที่ประชาชนจะได้รับจากการรักษาพยาบาล และควบคุมการทำงานของสำนักงาน สปสช. หลัก ๆก็มีแค่นี้ ส่วนมาตรา 36 กำหนดให้เลขาธิการ สปสช.มีหน้าที่นำมติของบอร์ด สปสช.ที่กำหนดไว้เป็นกรอบการทำงานแปลงสู่ภาคปฏิบัติ โดยการเลือกโอนเงิน หรือ ใช้จ่ายเงิน ไม่มีอำนาจเสนอโครงการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข อย่างเช่น การจัดทำโครงการ Home Isolation หรือจัดซื้อชุดตรวจ ATK

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และ พ.ร.บ.แบ่งกระทรวง ทบวง กรม มาตรา 42 ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ดูแลการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศทุกด้าน ตั้งแต่การรักษา การฟื้นฟู การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง

แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกลับไม่ทำหน้าที่ของตน ในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุข ดังนั้น การจัดสรรงบฯ จากพ.ร.ก.เงินกู้ดังกล่าวนี้ จึงไปอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่ไม่ได้มีหน้าที่ และอำนาจ กรณีที่ สปสช.จัดทำโครงการพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น Home Isolation ที่มีข้อบกพร่อง ตามที่ปรากฎเป็นข่าว และการจัดซื้อจัดจ้างชุด ATK ตรงนี้ผู้ที่รับผิดชอบ คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
“จริง ๆแล้ว นายอนุทินควรต้องรู้ว่า การอนุมัติโครงการต่าง ๆไม่ใช่หน้าที่ของ สปสช. โดยเฉพาะงบฯ เงินกู้ เพื่อดูแลสถานการณ์โควิดฯ เป็นภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องจัดสรรเข้าไปที่องคาพยพของโรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาล , สสจ. ทุกแห่ง เชื่อมโยงเครือข่ายบริการทั้งระบบ แต่ไม่ใช่มาทำให้เกิดระบบโอนผู้ติดเชื้อคนกรุงเทพไปอยู่ที่อำเภอสิชล 18,000 คน เพื่อรับเงินจาก สปสช.หัวละประมาณ 15,400 บาท” พญ.อรพรรณ์ กล่าว

ชง “แพทยสภา” สอบวิชาชีพเวชกรรม “หมอทิ้งไข้”
พญ.อรพรรณ์ กล่าวต่อว่า จากปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุง เข้ามาตรวจโควิด ตามที่สื่อมวลชนรายงาน พบมีผู้ติดเชื้อประมาณ 77,000 ราย ในจำนวนนี้ สปสช.จัดโอนคนกรุงเทพฯ เข้าไปอยู่ในระบบ Home Isolation ของโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งดูแลโดย นพ.อารักษ์ โดยโอนงบประมาณ แบบตัดขาด เข้า “บัญชีพิเศษ” ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ ทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล และบอร์ดของ สปสช. ซึ่งมีตัวแทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมอยู่ด้วยทั้งหมด 30 คน ต้องตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะการโอนเงินจำนวนมากเข้าไปอยู่ในบัญชีพิเศษที่อยู่ในอำนาจการอนุมัติของหมอชนบทที่ออกมาเคลื่อนไหว ขณะที่โรงพยาบาลทั่วไปได้รับเงินทำ Home Isolation แค่โรงพยาบาลละ 3,000 บาท ถามว่าทำไมโรงพยาบาลทั่วไปได้รับจัดสรรงบฯน้อยมาก ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าดูแลคนไข้ไม่มาก หรือ สปสช.ไม่จัดโควตาให้

ส่วนกรณีที่มีข่าวโครงการ Home Isolation ทิ้งคนไข้นั้น ตรงนี้ทาง “แพทยสภา” ในฐานะผู้ดูแลเรื่องการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องเข้ามาตรวจสอบว่ามีผู้ป่วยที่ถูกทิ้งไข้กี่ราย ใครเกี่ยวข้องบ้าง เพราะการนำชื่อคนไข้ไปขึ้นทะเบียนในระบบ Home Isolation ไว้เรียบร้อยแล้ว หากคนไข้มีอาการป่วยรุนแรง คนไข้รายนี้สามารถเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทั่วไปได้หรือไม่

“ในฐานะที่ดิฉันเคยอดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ สังกัดกรมการแพทย์ ซึ่งเกษียณมานานแล้ว อยากอยู่อย่างสงบ แต่พอมามีประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ใส่ใจเรื่องคุณภาพการรักษา ไม่ใส่ใจดูแลผู้ป่วย ตรงนี้ผิดหลักการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผิดหลักการจัดระบบบริการสาธารณสุข การพัฒนาบริการ และก็จ่ายเงินเข้าไปอยู่ในบัญชีพิเศษ ในฐานะที่พอจะมีความรู้อยู่บ้าง ทั้งด้านกฎหมาย, การจัดบริการทางการแพทย์ และเรื่องระบาดวิทยา ได้รับการขอร้องให้มาพูดเรื่องนี้” พญ.อรพรรณ์ กล่าว

1 กันยายน 2021
https://thaipublica.org/2021/09/nhso-transfer-budget-to-special-account-hospital/