ผู้เขียน หัวข้อ: อภ.ฉีกหน้ากากหมอชนบท เบื้องหลังด้อยค่า ATK เล่อผู่  (อ่าน 341 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

การประมูลชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Antigen Test Kit หรือ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด เพื่อแจกให้ประชาชนไปตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง ซึ่งบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล เสนอชุดตรวจ ยี่ห้อเล่อผู่ราคาชุดละ 65 บาท ชนะการประมูล ถึงแม้ว่า ชมรมแพทย์ชนบทจะพยายามด้อยค่า “เล่อผู่” ว่า ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก แต่ในที่สุดก็มีการเซ็นสัญญาระหว่างองค์การเภสัชกรรม ผู้ซื้อกับบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล ไปเมื่อบ่ายวันที่ 30 สิงหาคม

แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะชมรมแพทย์ชนบทเล่นไม่เลิก โดยประกาศว่า จะตั้งทีมตรวจสอบชุดตรวจ ATK เล่อผู่ว่าตรวจแล้วได้ผลตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ หากผลการตรวจไม่แม่นยำ จะต้องมีผู้รับผิดชอบ

วันเดียวกับการเซ็นสัญญา องค์การเภสัชกรรมก็เอาคืนแบบจัดเต็ม เล็งผลให้มีคนติดคุกกันเลย เมื่อนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการ รพ.สิชล หนึ่งในคณะทำงานชุดนี้ว่า กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 กล่าวคือ มีพฤติการณ์เข้าข่ายล็อกสเปก และข่มขู่ให้องค์การเภสัชกรรมซื้อชุดตรวจยี่ห้อ Standard Q ที่บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย

หมอเกรียงศักดิ์ กับหมออารักษ์เป็นอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ในคณะทำงานชุดนี้ซึ่งมีทั้งหมด 7 คน ยังมีอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทอีกหนึ่งรายคือ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมประธานชมรมแพทย์ชนบทคนปัจจุบัน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จึงเล่นงาน “เล่อผู่” แบบกัดไม่ปล่อย

รายละเอียดในหนังสือร้องเรียนของ นพ.วิฑูรย์ บรรยายถึง “ข้อพิรุธ” ของหมอเกรียงศักดิ์ ที่ส่อว่าเจตนาจะล็อกสเปก

ประการแรก ล็อกสเปกโดยกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องผ่าน WHO ด้วยเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของ TOR จากเดิมที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เจ้าของเงิน กำหนดให้ใช้มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.เท่านั้น มาเป็นต้องใช้มาตรฐาน อย.และ WHO ทั้งๆ ที่ อย.กำหนดมาตรฐานสูงกว่า WHO

ในการจัดซื้อชุดตรวจ ATK และมีการขายซองเปิดประมูลเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 มีผู้เข้าประมูล 4 ราย บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป ขอยื่นประมูลผ่านอีเมล องค์การเภสัชกรรมไม่อนุญาต เพราะผิดเงื่อนไข บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป จึงถูกตัดออกไปจากการประมูล

หนังสือร้องเรียน ป.ป.ช.บรรยายว่า

“เมื่อนายเกรียงศักดิ์ และนายอารักษ์ เห็นว่า กรรมการเปิดซองไม่รับเอ็มพีแล้ว จึงข่มขู่กรรมการเปิดซองว่า ไปตัดสิทธิผู้ค้ารายใหญ่ที่อยู่ใน List ที่ WHO รับรองไม่ได้ ต้องให้เอ็มพี กรุ๊ป เข้าประมูลด้วย และพูดหลายครั้งว่า ถ้ายังเดินหน้าต่อไป กรรมการเปิดซอง/ศิรินุช (รอง ผอ.องค์การเภสัชกรรม) จะต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ ยังอ้างเรื่องการจัดส่งว่า ต้องส่งไปทั่วประเทศไม่ใช่ส่งที่องค์กรเภสัชกรรม ทั้งที่เดิมไม่เคยตกลงไว้แบบนี้มาก่อน ทำให้ในที่สุดกรรมการก็จำเป็นต้องยกเลิกการเปิดซองในครั้งนี้ไป

วันที่ 28 กรกฎาคม สปสช.โดยนายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี เพิ่มรายละเอียดในสเปกมีสาระสำคัญคือ

1. กำหนดระยะเวลาส่งมอบชุดตรวจจำนวน 8.5 ล้านชุด โดยเร็วที่สุด และใช้วิธีการจัดหาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและรวดเร็วให้ทันต่อสถานการณ์แพร่ระบาด
2. ชุดตรวจต้องผ่านการรับรองจาก อย.หรือได้รับการรับรองมาตรฐานจาก องค์การอนามัยโลก

วันที่ 29 กรกฎาคม นายเกรียงศักดิ์ ทำหนังสือถึงเลขาธิการ สปสช.แก้ทีโออาร์ใหม่ ให้จัดหาโดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยเงื่อนไขด้านคุณภาพต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย.และ WHO คือ เปลี่ยนคำว่า “หรือ” WHO เป็น “และ” WHO อัตราการจัดหาไม่เกิน 120 บาทต่อชุด รวมค่าขนส่งไปยังหน่วยบริการในพื้นที่ และค่าบริหารจัดการที่อาจเกิดขึ้นขององค์การเภสัชกรรม และส่งมอบงวดที่ 1 จำนวน 3 ล้านชุดนับจากวันลงนาม 1 วัน งวดที่ 2 จำนวน 3 ล้านชุดภายใน 3 วัน งวดที่ 3 จำนวน 2.5 ล้านชุดภายใน 14 วัน

“จะเห็นข้อพิรุธว่า นายเกรียงศักดิ์ เสนอเปลี่ยนสเปกที่เลขาธิการแจ้ง รพ.ราชวิถีว่า ชุดตรวจต้องผ่านการรับรอง จาก อย.หรือ WHO เป็นต้องได้รับการรับรองจาก อย.และ WHO กำหนดราคา 120 บาท เท่ากับราคายี่ห้อ Standard Q ที่ เอ็มพี กรุ๊ป เสนอและยืนยันว่า ของตัวเองผ่านการรับรองจาก WHO กำหนดให้ส่งมอบ 5 ล้านชุดภายใน 3 วัน หลังจากลงนามในสัญญา”

เลขาธิการ สปสช.ยอมเปลี่ยนแปลงสเปกตามที่นายเกรียงศักดิ์ เสนอ

มาตรฐานของ อย.สูงกว่า WHO คือ WHO กำหนดค่า Sensitivity มากกว่าหรือเท่ากับ 80% อย.กำหนด 90% WHO กำหนด Specificity มากกว่าหรือเท่ากับ 97% อย. กำหนด 99%

“จึงเห็นข้อพิรุธอย่างชัดเจนว่า การที่เพิ่มมาตรฐาน WHO เข้าไป ไม่ได้ทำให้ได้ของที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น แต่เป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน WHO ล็อกสเปกให้กับบริษัท เอ็มพี กรุ๊ป

ผู้อำนวยการองค์การเภสัช บรรยายต่อว่า เมื่อ สปสช.เขียนทีโออาร์มาอย่างนี้ ย่อมต้องรู้ดีว่า มีบริษัทไหนที่มีคุณสมบัติตามนี้ จึงขอให้แจ้งมาว่า มีกี่ราย หากมีมากกว่า 1 ราย จะใช้วิธีคัดเลือกเร่งด่วน หากมี 1 รายจะใช้วิธีเฉพาะเจาะจง

ประการที่สอง ล็อกสเปกโดยกำหนดจำนวนและเวลาส่งมอบ

หลังจากองค์การเภสัชกรรมส่งหนังสือไปถาม สปสช.เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ว่า มีบริษัทใดบ้างที่มีคุณสมบัติตามสเปกที่ล็อกมา ให้แจ้งชื่อมา รุ่งขึ้นวันที่ 1 สิงหาคม เลขาธิการ สปสช.อ้างหนังสือของหมอเกรียงศักดิ์ ขอยกเลิกสเปกเดิมทั้งหมด เพราะมีความต้องการใช้เร่งด่วน สเปกใหม่นี้ตัดเงื่อนไขเรื่อง WHO ต้องรับรองทิ้ง แต่ไปล็อกเรื่องวันเวลาการส่งมอบแทน โดยกำหนดว่า ผู้ชนะจะต้องส่งมอบชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด ขอยกเลิกสเปกเดิมทั้งหมดใช้สเปกใหม่แทน โดยมีสาระสำคัญคือ ตัดมาตรฐาน WHO ออกให้ส่งชุดตรวจทั้งหมดภายในวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งเป็นเวลาที่กระชั้นมาก เพราะองค์การเภสัชกรรมกำหนดประมูลครั้งใหม่วันที่ 7 สิงหาคม ทำสัญญาวันที่ 10 สิงหาคม

ใครจะเสี่ยงสั่งชุดตรวจ 8.5 ล้านชุดเข้ามาก่อน มีแต่รายที่มั่นใจว่า ตัวเองต้องชนะการประมูลแน่ๆ ที่จะกล้าตุนชุดตรวจ ATK ไว้ล่วงหน้า

บริษัทที่ได้รับหนังสือจากองค์การเภสัชกรรม เชิญให้ร่วมประมูล 24 ราย ทักท้วงสเปกกำหนดการส่งมอบ สปสช.จึงยอมแก้สเปกให้อยู่ในวิสัยที่ผู้เข้าประมูลทุกรายปฏิบัติได้ ขณะเดียวกัน ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขวันที่ 4 สิงหาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานในที่ประชุม สั่งการให้นายจเด็จ เลขาธิการ สปสช.ให้ใช้วิธีประมูล ไม่ให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง เพราะมีชุดตรวจ ATK ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้วประมาณ 30 รายการ

ผลการประมูลวันที่ 7 สิงหาคม มีบริษัทเข้าประมูล 19 ราย มีคุณสมบัติครบ 16 ราย บริษัท เวิลด์ เมดิคัล อัลไลแอนซ์ ตัวแทนรับมอบอำนาจจาก ออสท์แลนด์ แคปปิตอล เสนอราคาต่ำสุด 65 บาท จึงเป็นผู้ชนะ

นพ.วิฑูรย์ ตบท้ายหนังสือร้องเรียน ป.ป.ช.ว่า “การล็อกสเปก แม้จะไม่มีความเสียหายเป็นตัวเงินงบประมาณในการจัดซื้อ แต่มีความเสียหายในเรื่องความล่าช้า หากการเปิดซองไม่ถูกเลื่อน ประเทศไทยก็จะได้รับชุดตรวจ ATK ครบ 8.5 ล้านชุดในสิ้นเดือนสิงหาคม ไม่ใช่เพิ่งมาลงนามในสัญญาเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

ป.ป.ช.คงจะได้ฟังความอีกด้านหนึ่งจากผู้ถูกร้องเรียนทั้งสอง ก่อนจะฟันธงว่า มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 หรือไม่ ที่ผ่านมา เคยมีคดีทำนองนี้ และศาลตัดสินจำคุกผู้ถูกกล่าวหาคือ เมื่อปี 2559 ศาลฎีกาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกนายชูชีพ หาญสวัสดิ์ และนายวิทยา เทียนทอง 6 ปี เพราะล็อกสเปกให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย ชนะประมูลปุ๋ย 1.3 แสนตัน โดยเขียนทีโออาร์ให้ส่งมอบปุ๋ย 1 แสนตันภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ มีแต่คนที่รู้ว่า ชนะการประมูลแน่ๆ ที่กักตุนปุ๋ยไว้ก่อน

3 ก.ย. 2564  ผู้จัดการออนไลน์