ผู้เขียน หัวข้อ: “ประเสริฐ”ปูดกลางสภา“บิ๊กตู่ เสี่ยหนู”ซื้อวัคซีนซิโนแวคกินส่วนต่างกว่า2พันล้าน  (อ่าน 484 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
วันที่ 31 ส.ค. 64 ในการประชุมสภาฯ มีการพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจทั่วไปรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ต่อมานายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า จากนั้น เวลา 10.55 น. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข บริหารงานล้มเหลว 4 ด้าน ได้แก่

1.ความล้มเหลวด้านการควบคุมโรคระบาด ประมาทคิดว่าตัวเองแน่ ตั้งแต่การระบาดต้นปี 63 นายกฯไม่มีการประเมินผล ส่วนนายอนุทิน ไม่กวดขันไม่รอบคอบไม่ระมัดระวัง ทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว

2.การจัดหาวัคซีนผิดพลาดล้มเหลว ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน คาดการณ์สถานการณ์ผิดพลาด ไม่มีความกระตือรือร้นในการจัดหาวัคซีน เมื่อจัดหาก็จัดหาน้อยเกินไป และมีเจตนาไม่เข้าโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น เนื่องจากไม่มีเงินทอนทำให้ประเทศเสียหายโดยรู้เห็นเป็นใจกับนายอนุทิน นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของภาคเอกชนในการขอนำเข้าวัคซีนทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า การบริหารราชการของพล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงระบบราชการที่มีความล้าหลัง ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะขาดแคลนวัคซีน

3.ความล้มเหลวในการกระจายวัคซีน ที่มั่วทั้งระบบขาดความเป็นเอกภาพต่างคนต่างทำ บางจังหวัดไม่ได้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มแต่ได้รับวัคซีนจำนวนมาก และ

4.การบริหารงานในสถานการณ์วิกฤตมีการบริหารเหมือนสถานการณ์ปกติ แม้แต่ตัวนายกฯ ยัง WFH ทำงานที่บ้านแบบไม่ทุกข์ร้อน และการสั่งข้อราชการที่ไม่มีความเด็ดขาด

ทั้งหมดคือความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ถามว่าพวกเขาทำผิดอะไร ทั้งที่เกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดของพล.อ.ประยุทธ์ นอกจากพล.อ.ประยุทธ์ไม่ช่วยแล้วยังกีดกันไม่อำนวยความสะดวก จนในที่สุดคนไทยมองไม่เห็นอนาคตว่าเขาจะอยู่อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ปล่อยให้ประเทศไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สิ่งที่น่าเสียใจมากที่สุดที่คนไทยยอมรับไม่ได้เลย คือ การค้าความตายหากินบนความตายของประชาชนด้วยการจัดซื้อวัคซีนคุณภาพต่ำแต่มีราคาแพง เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน โดยซื้อวัคซีนเพียงรายเดียว ผูกขาดตัดตอนขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทำให้วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนเส้นใหญ่

นายประเสริฐ ยังได้อภิปรายเปิดหลักฐานจากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่ทนต่อการกระทำของพล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทินไม่ไหว โดยได้มอบข้อมูลการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคที่แสดงให้เห็นถึงแผนการนำเข้า ราคาซื้อต่อโดส และราคาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ซึ่งการ

จัดซื้อครั้งที่ 1 มีแผนการนำเข้า 2 ล้านโดส นำเข้าได้จริง 1.9 ล้านโดส ราคาตามที่ครม.อนุมัติ 17.0 เหรียญสหรัฐต่อโดส ราคาซื้อจริง 17.0 เหรียญสหรัฐต่อโดส
จัดซื้อครั้งที่ 2 ราคาตามที่ครม.อนุมัติ 17.0 เหรียญสหรัฐฯต่อโดส ราคาซื้อจริง 15.0 เหรียญสหรัฐฯต่อโดส ,
จัดซื้อครั้งที่ 3 ราคาตามที่ครม.อนุมัติ 17.0 เหรียญสหรัฐฯต่อโดส ราคาซื้อจริง 14.0 เหรียญสหรัฐฯต่อโดส ,
จัดซื้อครั้งที่ 4 ราคาตามที่ครม.อนุมัติ 17.0 เหรียญสหรัฐฯต่อโดส ราคาซื้อจริง 9.5 เหรียญสหรัฐฯต่อโดส และ
จัดซื้อครั้งที่ 5 ราคาตามที่ครม.อนุมัติ 17.0 เหรียญสหรัฐฯต่อโดส ราคาซื้อจริง 9.0 เหรียญสหรัฐฯต่อโดส

จากข้อมูลทั้งหมดพบว่า ราคาตามที่ครม.อนุมัติในการจัดซื้อทั้ง 5 ครั้ง คือ 331,500,000 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท 10,846,680,000 บาท ส่วนราคาที่จัดซื้อจริง คือ 267,364,000 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินบาท 8,748,150,080 บาท ทำให้เกิดส่วนต่างในการจัดซื้อทั้งสิ้น 2,098,529,920 บาท

นายประเสริฐ ยังเปิดเผยหลักฐานการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค จากบันทึกการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกมธ.คุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 15 ส.ค.64 ที่ระบุว่า มีการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค 5 ครั้ง พบว่าราคาที่ครม.อนุมัติทั้ง 5 ครั้ง คือ 17.0 เหรียญสหรัฐฯต่อโดส แต่ราคาซื้อจริงครั้งที่ 2 – 5 ราคาลดลงตามลำดับตรงกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่ให้มา ตนจึงอยากถามถึงเงินส่วนต่างว่าหายไปไหน ส่วนการทำสัญญากับบริษัท แอสตร้าเซเนกา ว่า เป็นการทำสัญญาที่ผูกขาด ตัดตอน ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทำให้รัฐเสียเปรียบ แรกเริ่มการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซเนกา เป็นความร่วมมือระหว่าง SCG กับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด แต่ที่แปลก คือ รัฐมีโรงงานผลิตวัคซีนที่ทันสมัย แต่ทำไมไม่มอบให้โรงงานแห่งนี้ที่รัฐเป็นเจ้าของผลิต ตนไม่เข้าใจ นอกจากนี้ ตนยังมีหลักฐานว่าพล.อ.ประยุทธ์ กระทำการมิบังควร แอบอ้างพาดพิงสถาบันในการจัดซื้อวัคซีนด้วย

“ขอตั้งข้อสังเกตถึงความผิดพลาดในการบริหารจัดการวัคซีนแอสตร้าเซเนกา ประการแรก รัฐบาลแทงม้าตัวเดียว ไม่ยอมบริหารความเสี่ยง ซึ่งเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ก็ให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันว่า ควรจะมีการสั่งซื้อวัคซีนในหลายทางเลือกให้กับประชาชน ประการที่สอง สัญญาซื้อขายเสียเปรียบบริษัทแอสตร้าเซเนกา UK เพราะต้องสั่งซื้อล่วงหน้า และต้องจ่าย 60 %ของมูลค่าการซื้อสั่ง หรือประมาณ 2 พันล้านบาท ก่อนด้วย และในสัญญายังระบุอีกว่าหากผลิตไม่ได้ก็ต้องสูญเงินจำนวนดังกล่าว ส่วนการผลิตวัคซีนแอสตร้าฯ ทุกสามล้านโดสนั้น หนึ่งล้านโดสแบ่งให้ประเทศไทย และ 2 ล้านโดสนำไปฉีดให้ต่างประเทศ ถามว่าทำสัญญาอย่างนี้ได้อย่างไร ทำสัญญาอย่างนี้คนไทยถึงไม่ได้ฉีดวัคซีนสักที คนไทยได้ฉีดวัคซีนที่สามารถผลิตเองในประเทศ น้อยกว่าคนต่างประเทศ ท่านทำสัญญาอย่างนี้ได้อย่างไร ท่านต้องให้ประชาชนในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนที่เพียงพอก่อน ค่อยเอาไปจัดสรรให้คนต่างประเทศ” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ประการที่สาม ความสับสนในการทำสัญญาระหว่างบริษัทแอสตร้าฯกับทางการไทย ตามเอกสารในวันที่ 25 มิ.ย.64 ที่บริษัท เขียนถึงนายอนุทินฯ ระบุว่า การกำหนดการผลิตวัคซีนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับวัคซีนประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับผลิตผลของสารที่ใช้ในการผลิตวัคซีน และท้ายจดหมายยังระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประมาณการว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย มีความต้องการวัคซีนประมาณ 3 ล้านโดสต่อเดือน และบริษัทแอสตร้าฯ แนะนำให้ไทยเข้าร่วมโครงการโคแว๊กซ์ เนื่องจากโครงการนี้มีวัคซีนแอสตร้าฯอยู่ด้วย แต่นายอนุทิน ได้ทำเอกสารตอบกลับวันที่ 30 มิ.ย.64 ถึงบริษัทแอสตร้าฯว่า ไทยคาดว่าจะได้รับวัคซีนมากกว่า 1 ใน 3 ของการจัดส่งจากแอสตร้าฯ หรืออย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือนสำหรับการใช้ในประเทศ ตนดูเอกสารการโต้ตอบแล้ว เกิดความสับสนว่า กระทรวงสาธารณสุข สั่งวัคซีนไม่พอเพียง หรือบริษัทแอสตร้าฯส่งของไม่ครบตามสัญญา สงสัยว่ปัญหาวัคซีนขาดแคลนเกิดจากฝ่ายไหนกันแน่ ทุกวันนี้ ประชาชนจึงไม่เชื่อใจรัฐบาล นี่คือความบริหารการทำสัญญาที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของพลเอกประยุทธ์ และนายอนุทิน

“ผมขอกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน จงใจปฏิบัติ ละเว้นการปฏิบัติ ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายและแผนงานการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ไม่ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เปิดเผย ขาดความรอบคอบและขาดความระมัดระวัง นอกจากนี้ นายกฯ และนายอนุทิน ร่วมกันจัดหาและจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ส่อไปในทางทุจริต ไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง แสวงหาประโยชน์จากการจัดซีนวัคซีน บนความตายของประชาชน ทั้งยังกีดกันวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เพื่อมิให้คนไทยได้มีโอกาสฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน มีพฤติกรรมค้าความตาย หาผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน โดยให้นโยบายวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวตอนท้ายว่า ข้อเรียกร้องของประชาชน ที่ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เพราะเห็นว่าท่านไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตินี้ได้ ถ้าอยู่ต่อ เกรงว่าประเทศจะเสียหายมากกว่านี้ ข้อเรียกร้องของภาคเอกชน ที่ไม่ทน ขอให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนได้จัดซื้อวัคซีนโดยตรง เพราะไม่สามารถคอยความหวังจากรัฐบาลได้ แม้กระทั่งจดหมายจากเพื่อนนิเทศจุฬาฯ รุ่น 40 ส่งถึงลูกสาวนายก ที่เขียนบอกให้คุณพ่อลาออกนั้น เป็นสัญญาณที่ประชาชนแสดงออกมา ว่าเขาไม่ต้องการท่านแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิปรายของนายประเสริฐ มีการกล่าวพาดพิงถึงองค์กร และบุคคลภายนอก รวมถึงพูดถึงคุณภาพของวัคซีนซิโนแวคหลายครั้ง ทำให้นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นประท้วงว่าอาจทำให้เกิดความเสียหาย และขัดข้อบังคับการประชุม อีกทั้งการด้อยค่าวัคซีนอาจทำให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้วเกิดความเข้าใจผิด และหวาดกลัว จากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม จึงได้เตือนนายประเสริฐโดยขอให้หลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพบุคคลภายนอก และจะอนุญาตอย่างเต็มที่ในการอภิปรายฝ่ายบริหาร เพราะบุคคลภายนอกไม่มีโอกาสมาชี้แจง และขอให้ระมัดระวังการอภิปรายถึงคุณภาพของวัคซีน เพราะอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สยามรัฐออนไลน์  31 สิงหาคม 2564

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
วันที่ 31 ส.ค.64 ที่รัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย นำผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แถลงชี้แจงถึงกรณีฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค

โดยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยนำวัคซีนซิโนแวคเข้ามาใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ขณะนั้นวัคซีนได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลาศรีนครินทร์ พบว่าวัคซีนสามารถลดการระบาดของโรคได้ และพบว่าวัคซีนซิโนแวคช่วยลดการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคที่ระดับ 70-80% ขึ้นไป ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าไม่มีวัคซีนตัวใดที่สามารถป้องกันโรคโควิดได้ 100% ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนซิโนแวคหรือวัคซีนไฟเซอร์ก็ตาม ทั้งนี้ประเทศไทยก็มีการพัฒนาสูตรฉีดวัคซีนที่เรียกว่า สูตรไขว้ โดยใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มหนึ่งและวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มสอง และพบว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่สูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาสองเข็ม แต่ข้อดีคือฉีดได้เร็วขึ้นและภูมิคุ้มกันมากขึ้น ฉะนั้นข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ นักวิชาการจากหลายที่มีหลักฐานยืนยันตรงกันว่าวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคกับแอสตราเซเนกามีประสิทธิภาพ จึงเป็นเหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคพยายามจัดหาวัคซีนที่ค้นหาได้มาให้กับประชาชนอย่างทันเวลา

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกขณะนี้ก็ได้สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคจำนวนหลายร้อยล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชนทั่วโลก จึงเป็นตัวยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงต้นการระบาดที่ผ่านมา แม้ขณะนี้จะมีการระบาดสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งทำให้วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพลดน้อยลง แต่เราก็ยังหาวิธีการฉีดวัคซีนแบบไขว้ที่ทำให้ประชาชนได้รับภูมิคุ้มกันที่รวดเร็วขึ้น ยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ ขอความกรุณาอย่าด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค เพราะวัคซีนตัวนี้ช่วยเราตั้งแต่ต้นปี ทำให้เราดูแลการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี และจะพยายามเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ส่วนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฉะนั้นข้อกล่าวอ้างที่บอกว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายจึงไม่เป็นความจริง

ด้านนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.อภิปรายว่า องค์การเภสัชฯ เป็นนายหน้าขายวัคซีนให้กับบริษัทซิโนแวค ในช่วงการแพร่ระบาดตอนแรก องค์การเภสัชฯ ไม่ได้เป็นผู้จัดซื้อโดยตรง แต่เป็นบริษัทลูกแห่งหนึ่งทำหน้าที่ แต่ทางการจีนไม่ยอม จึงเป็นเหตุให้องค์การเภสัชฯ ต้องไปติดต่อเอง โดยก่อนหน้านี้ได้เป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัคซีนคู่ประสาน ทั้งวัคซีนซิโนฟาร์ม และซิโนแวค ซึ่งซิโนฟาร์มติดขัดปัญหามาก แต่ว่าซิโนแวคมีความยืดหยุ่นกว่า เราจึงต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงเลือกซิโนแวคเพื่อให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนระหว่างรอวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนเรื่องราคามีการนำเข้า 16 ช่วง ซึ่งจะมีราคาที่แตกต่างกันไปแต่ละช่วง ตั้งแต่ 17 เหรียญดอลล่า แต่ในเวลาต่อมาเราก็ซื้อในราคาถูกเป็นลำดับ เพราะมีการต่อรองราคา จนมาถึงราคาสุดท้าย 8.9 เหรียญดอลล่า เฉลี่ยราคา 11.99 เหรียญดอลล่า ส่วนที่มีการอภิปรายว่ามีส่วนต่างจำนวนมาก ของชี้แจงว่า มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะเราได้ใช้เงินองค์การเภสัชฯ จัดซื้อไปก่อนจำนวนหลายพันล้าน จากนั้นเมื่อได้ของแล้ว ก็กำหนดราคาขาย ซึ่งเราต้องแบกรับอัตราแลกเปลี่ยน ยืนยันว่า ไม่มีส่วนต่าง กรอบการอนุมัติเป็นการขอเผื่อไว้ แต่เมื่อมีการเรียกเก็บก็เก็บราคาตามจริง โดยบวกค่าดำเนินการ ค่าขนส่ง 2-4% และส่วนต่างที่เหลือไม่มีใครได้แน่นอน 100% ซึ่งงบประมาณตรงนี้กรมควบคุมโรคเป็นผู้ดูแล และมีการเบิกจ่ายตามจริง

ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีน ระบุถึงสัญญาการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ได้ทำการสั่งซื้อว่าซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2563 เดือนพฤศจิกายน ดังนั้นการสัญญาการจองซื้อต้องอยู่ในเงื่อนไข ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกัน ต้องใช้สัญญาในลักษณะเดียวกัน และมีโอกาสไม่ได้รับหรือได้รับวัคซีนในลักษณะช้า เนื่องจากอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา และอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ไม่ใช่เหมือนการซื้อสินค้าทั่วไป ที่มีความไม่แน่นอนในการวิจัยและพัฒนาการผลิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขทุกประเทศ และทุกคนต้องรับความเสี่ยงร่วมกันในระหว่างการวิจัยและพัฒนาร่วมกันเนื่องจากไม่ใช่สถานการณ์ปกติจะเอาพื้นฐานความเข้าใจแบบเดิมมาใช้ในการตัดสินในสัญญาการจัดซื้อล่วงหน้าจะไม่เหมาะสมและไม่เข้ากับสถานการณ์

ส่วนการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (Covax) นั้น มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 139 ประเทศ แต่มีการแจกวัคซีนเพียง 224 ล้านโดส จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศได้รับวัคซีนไม่มาก การที่เราจัดซื้อวัคซีนโดยตรงทำให้เราได้รับวัคซีนมากกว่า และมีความแน่นอนมากกว่า ซึ่งตอนนี้เราได้รับวัคซีนและฉีดให้ประชาชนไปแล้ว 30 ล้านโดส ถ้าเราเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ก็อาจจะไม่มีความแน่นอนในการได้รับวัคซีน และอาจได้รับวัคซีนที่น้อย เพราะเป็นการจัดหาโดยโครงการขนาดใหญ่ มีประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก และหากไทยเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจัดซื้อ เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่าถ้าเราจัดซื้อเองจากผู้ผลิตวัคซีนจะมีความแน่นอนกว่า จึงเป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง แต่ในอนาคตหากสถานการณ์เปลี่ยนไป ประเทศไทยอาจจะพิจารณาเข้าร่วมโครงการก็ได้


สยามรัฐออนไลน์  31 สิงหาคม 2564

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สธ.เคลียร์ไม่มีส่วนต่างวัคซีน
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 01 กันยายน 2021, 20:24:46 »
....
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน ว่ามีผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 เข็มแล้วเป็นจำนวน 7,807,213 ราย คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 10.1 ในขณะที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวน 1 เข็มแล้ว มีจำนวน 23,455,679 ราย คิดเป็นร้อยละ 32 ปัจจุบันไทยมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 31,902,718 ล้านโดส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ชื่นชมภาพรวมการฉีดวัคซีนไทยเป็นไปในทิศทางที่น่าพึงพอใจ สามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้สอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่มี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา ยอดบริการฉีดวัคซีนรายวันของไทยสูงสุดถึง 915,738 โดส มากกว่าค่าเฉลี่ยการฉีดวัคซีนรายวัน สะท้อนภาพความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักในการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน และความร่วมมือร่วมใจของคนไทยในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนด้วย รัฐบาลยังเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนด้วย

    ที่รัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย นำผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงชี้แจงถึงกรณีฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยนำวัคซีนซิโนแวคเข้ามาใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว จากข้อมูลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลาศรีนครินทร์ พบว่าวัคซีนสามารถลดการระบาดของโรคได้ และพบว่าวัคซีนซิโนแวคช่วยลดการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคที่ระดับ 70-80% ขึ้นไป ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าไม่มีวัคซีนตัวใดที่สามารถป้องกันโรคโควิดได้ 100% ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนซิโนแวคหรือวัคซีนไฟเซอร์ก็ตาม ไทยมีการพัฒนาสูตรฉีดวัคซีนที่เรียกว่า "สูตรไขว้" โดยใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มหนึ่งและวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มสอง และพบว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่สูงเทียบเท่ากับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าสองเข็ม แต่ข้อดีคือฉีดได้เร็วขึ้นและภูมิคุ้มกันมากขึ้น ฉะนั้นข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง องค์การอนามัยโลกขณะนี้ก็ได้สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคจำนวนหลายร้อยล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชนทั่วโลก จึงเป็นตัวยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ ขอความกรุณาอย่าด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค เพราะวัคซีนตัวนี้ช่วยเราตั้งแต่ต้นปี ทำให้เราดูแลการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี และจะพยายามเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ส่วนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฉะนั้นข้อกล่าวอ้างที่บอกว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย จึงไม่เป็นความจริง

    ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า อภ.ไม่ได้เป็นผู้จัดซื้อโดยตรง แต่เป็นบริษัทลูกแห่งหนึ่งทำหน้าที่ แต่ทางการจีนไม่ยอม จึงเป็นเหตุให้ อภ.ต้องไปติดต่อเอง โดยก่อนหน้านี้ได้เป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัคซีนคู่ประสาน ทั้งวัคซีนซิโนฟาร์ม และซิโนแวค ซึ่งซิโนฟาร์มติดขัดปัญหามาก แต่ว่าซิโนแวคมีความยืดหยุ่นกว่า เราจึงต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงเลือกซิโนแวคเพื่อให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนระหว่างรอวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนเรื่องราคามีการนำเข้า 16 ช่วง ซึ่งจะมีราคาที่แตกต่างกันไปแต่ละช่วง ตั้งแต่ 17 ดอลลาร์ต่อโดส แต่ในเวลาต่อมาเราก็ซื้อในราคาถูกเป็นลำดับ เพราะมีการต่อรองราคา จนมาถึงราคาสุดท้าย 8.9 ดอลลาร์ เฉลี่ยราคา 11.99 ดอลลาร์ ส่วนที่ว่ามีส่วนต่างจำนวนมาก มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะเราได้ใช้เงิน อภ.จัดซื้อไปก่อนจำนวนหลายพันล้าน จากนั้นเมื่อได้ของแล้ว ก็กำหนดราคาขาย ซึ่งเราต้องแบกรับอัตราแลกเปลี่ยน ยืนยันว่า ไม่มีส่วนต่าง กรอบการอนุมัติเป็นการขอเผื่อไว้ แต่เมื่อมีการเรียกเก็บก็เก็บราคาตามจริง โดยบวกค่าดำเนินการ ค่าขนส่ง 2-4% และส่วนต่างที่เหลือไม่มีใครได้แน่นอน 100% ซึ่งงบประมาณตรงนี้กรมควบคุมโรคเป็นผู้ดูแล และมีการเบิกจ่ายตามจริง

    ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สัญญาการจองซื้อต้องอยู่ในเงื่อนไข ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกัน ต้องใช้สัญญาในลักษณะเดียวกันและมีโอกาสไม่ได้รับหรือได้รับวัคซีนในลักษณะช้า เนื่องจากอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา อยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ไม่ใช่เหมือนการซื้อสินค้าทั่วไป ซึ่งเป็นเงื่อนไขทุกประเทศ ส่วนการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (Covax) มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 139 ประเทศ แต่มีการแจกวัคซีนเพียง 224 ล้านโดส แต่ละประเทศได้รับวัคซีนไม่มาก การที่เราจัดซื้อวัคซีนโดยตรงทำให้เราได้รับวัคซีนมากกว่า และมีความแน่นอนมากกว่า แต่ในอนาคตหากสถานการณ์เปลี่ยนไปไทยอาจจะพิจารณาเข้าร่วมโครงการก็ได้
.....

1 กันยายน พ.ศ. 2564
https://www.thaipost.net/main/detail/115204

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
"อนุทิน" โชว์หลักฐานราคาซิโนแวค ซื้อได้ถูกลงเมื่อสั่งจำนวนมากขึ้นและการแข่งขันในตลาดมากขึ้น งบฯ ที่เหลือก็ส่งคืนไปใช้ส่วนอื่น ลั่น สธ.ยุคนี้ไม่มีทุจริต ยืนยันสิ้นเดือนนี้ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มจะได้ฉีดบูสเตอร์โดส

วันที่ 31 ส.ค. 2564 เวลา 21.00 น.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ชี้แจงต่อคำอภิปรายของ นพ.เรวัต วิศรุตเวช สมาชิกพรรคเสรีรวมไทย ในประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย และการจัดซื้อชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท(ATK) ขององค์การเภสัชกรรม

นายอนุทิน กล่าวว่า ตนตั้งใจจะชี้แจงต่อคำอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันสุดท้าย เพื่อรวบรวมข้อมูลมาตอบคำถามอย่างครบถ้วนที่สุด แต่ที่มีความจำเป็นที่ต้องชี้แจงในทันที เนื่องจากเกรงว่าการกล่าวถึงวัคซีนซิโนแวค อาจสร้างความตื่นตระหนก ความวิตกกังวลกับประชาชนที่ได้รับซิโนแวคกว่า 3 ล้านคน ตนยืนยันว่า วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นสายพันธุ์เดลต้า ที่ทำให้วัคซีนทุกชนิดมีประสิทธิผลในการป้องกันเชื้อลดลงไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ไทยเริ่มใช้วัคซีนซิโนแวค ในการระบาดสายพันธุ์อัลฟ่าไม่ใช่เดลต้า แต่ก็อยู่ในแผนการจัดซื้อของรัฐบาลไทยที่มีการเปรียบเทียบจำนวนกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและอื่นๆ

นายอนุทิน กล่าวว่า เมื่อปี 2563 เราสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี ไม่มีการติดเชื้อเกือบครึ่งปีจนมาถึงปลายเดือนธ.ค. 2563 ที่มีการระบาดคลัสเตอร์ใน จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงมีความจำเป็นใช้วัคซีน ทางกรมควบคุมโรค ก็ได้เร่งเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการหารือร่วมกันอยู่แล้ว ซึ่งวัคซีนซิโนแวคที่เราเจรจากันในเดือน ธ.ค.63 สามารถส่งให้เราได้เร็วที่สุดในเดือน ก.พ.64 และส่งได้เพียง 2 ล้านโดสเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องขอบคุณการประสานงานจากสถานเอกอัครราชทูตจีนประจําประเทศไทย ท่านรักษาการแทนเอกอัครราชทูตฯ ที่ช่วยประสานงานให้เราได้เจรจาพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน และยังประสานงานไปยังรัฐบาลกลางของจีน เนื่องจากต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางก่อนที่จะทำการส่งออก ไม่ว่าจะในรูปแบบการจำหน่ายหรือบริจาค แต่ในที่สุดด้วยสัมพันธ์อันดี เราก็ได้รับวัคซีนมาสู่ประเทศไทย

"บ้านพี่เมืองน้องไทยจีนใช่อื่นไกล ดังนั้นมีความจำเป็นมาก ว่าการพูดถึงวัคซีนซิโนแวค ก็เหมือนการพูดถึงประเทศจีน เราจะบอกว่าของไม่ดี ของเซินเจิ้น ด้อยค่าเป็นวัคซีนเกรด D ไม่ได้ พวกเราทุกคนในที่นี้ต่างก็มีซิโนแวคอยู่ในร่างกาย และเชื่อว่าบางท่านที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการหรือไม่รุนแรง เกิดจากประสิทธิผลของวัคซีนในร่างกาย" นายอนุทิน กล่าวและว่า ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ตนจะนำมาชี้แจงอีกครั้ง

นายอนุทิน กล่าวว่า ราคาวัคซีนซิโนแวค ที่มีการจัดซื้อในราคา 17 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ก็เป็นราคาเฉพาะล็อตแรก จำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งผู้ผลิตเปิดราคาสูงกว่านั้น แต่ด้วยการประสานของกระทรวงสาธารณสุข สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย จึงได้มาในราคา 17 เหรียญฯ รวมค่าขนส่ง เมื่อวันที่ 28 ก.พ. มีการฉีดครั้งแรก ก็ได้เร่งฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ตามหลักการของโรคระบาด ต่อมาเดือน มี.ค. จำนวน 8 แสนโดส และเดือน เม.ย. อีก 1 ล้านโดส ทางกรมควบคุมโรคก็ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีน เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดและแพร่เชื้อ

จากนั้นเดือน เม.ย. มีคลัสเตอร์สถานบันเทิงและบ่อนการพนัน ขณะนั้น วัคซีนแอสตร้าฯ มีสัญญาชัดเจนว่าจะส่งมอบให้เราในเดือน มิ.ย.64 ดังนั้น ช่องว่างระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. มีการระบาดเพิ่ม กรมควบคุมโรคจึงตัดสินใจซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มขึ้นและได้ราคาที่ถูกลง เนื่องจากจำนวนที่สั่งซื้อมากขึ้น ช่วงเวลาที่ทอดยาวออก และมีผู้ผลิตวัคซีนแข่งขันกันในตลาดโลก ซึ่งเป็นไปตามหลักดีมายด์ซัพพลาย

ทั้งนี้ อภ. มีเอกสารการจัดซื้อวัคซีนชัดเจนว่ามีแต่ละล็อตซื้อในราคาเท่าไหร่ และล็อตล่าสุดเราซื้อในราคา 8.9 เหรียญฯ ส่วนงบประมาณที่เหลือในกรอบ ก็นำกลับเข้าสู่งบประมาณแผ่นดิน เพื่อนำไปใช้ในการบริหารส่วนอื่นๆ ต่อไป

"ปัจจุบันนี้ไม่มีใครพูดว่าเราซื้อซิโนแวคอยู่ที่ 8.9 เหรียญฯ เป็นราคาที่ลดลงมาตามลำดับ ขณะนี้ เราสั่งซื้อกว่า 30,492 ,000 โดส โดยราคาลดลงตามลำดับ แต่เรื่องราคาและความปลอดภัยของประชาชนเทียบกันไม่ได้ หากต้องซื้อแพงกว่านี้และมีความจำเป็นต้องใช้ เราก็ต้องจัดซื้อจัดหามาจนได้ ท่านนายกฯ พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่มาโดยตลอด คณะรัฐมนตรีทุกท่าน เมื่อมีเรื่องวัคซีนเข้าไปขออนุมัติการซื้อ ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ สุจริต การจัดซื้อมีความโปร่งใส อธิบายต่อประชาชนได้" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนไขว้ด้วยซิโนแวค กับแอสตร้าฯ ไม่ได้เกิดจากเหตุบังเอิญ เนื่องจากคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์ มีการเตรียมหลักวิชาการไว้แล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ชะลอไว้ก่อนเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากที่สุด ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าการฉีดวัคซีนอย่างไร เรามีคณะกรรมการวิชาการ คณะกรรมการโรคติดต่อ และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ แล้วรายงานต่อ ศบค. ยืนยันได้ว่า ก่อนจะนำมาฉีดให้ประชาชนได้ เราต้องมั่นความปลอดภัยอย่างที่สุด

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอแนะว่า ขอให้รัฐบาล เร่งจัดหาวัคซีนชนิด mRNA โดยด่วน อาทิ ไฟเซอร์ โมเดอร์น่า ขณะนี้รัฐบาลได้จัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 30 ล้านโดส และได้ออกหนังสือแสดงความจำนงการสั่งซื้อในปีหน้าอีก 50 ล้านโดส ส่วนโมเดอร์น่า ที่เป็นวัคซีนทางเลือก องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้แทนภาคเอกชนและสภากาชาดไทย ปีนี้สั่งซื้อราว 5 ล้านโดสและจะมีการสั่งซื้อเพิ่มอีก ดังนั้น ประเทศไทยเรามีวัคซีนทุกชนิด ทั้งเชื้อตาย ไวรัลเวกเตอร์ และ mRNA นอกจากนั้น มีการเจรจาวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตเบส วซึ่งอยู่ในระหว่างการทดลองในต่างประเทศ

"ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดวัคซีน เราทำสัญญาจัดหาวัคซีนทั้งหมด 140 ล้านโดส สำหรับ 70 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 90% ของจำนวนประชากร ตามที่มีการเสนอว่าจะต้องไม่ใช่ 70% แต่ต้องเป็น 90% ซึ่งเราได้เตรียมไว้แล้ว" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากนั้นเรามีสูตร SA ที่ระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ห่างเพียง 3 สัปดาห์ ต่างจากการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็มที่ต้องรอนานถึง 3 เดือน และมีการศึกษาวิจัยรองรับชัดเจนเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ รวมถึงองค์การอนามัยโลกด้วย ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม จะมีการฉีดบูสเตอร์โดส ในปลายเดือน ก.ย. ด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยทอดทิ้ง เรามีความต้องการให้ประชาชนมีภูมิต้านทานมีความปลอดภัยจากโควิค-19 ทั้งนี้ ท่านนายกฯ อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันวัคซีนแอสตร้าฯ อีก 60 ล้านโดสในปีหน้า ซึ่งอาจจะไม่ต้องฉีด 2 เข็มแล้ว แต่อาจเป็นการฉีดบูสเตอร์ไปเรื่อยๆ ซึ่งจะมีการศึกษาเพิ่มเติม ดังนั้น คนไทยจะไม่ต้องกังวลว่าเราจะไม่มีวัคซีน โดยเราจะมีความมั่นคงด้านวัคซีน

"ขณะนี้ เราฉีดวัคซีนกว่า 30 ล้านโดสแล้ว ไม่มีการผิดคำพูดว่าตั้งแต่ไตรมาส3 ไปจนถึงสิ้นปี 2564 วัคซีนจะเต็มแขนคนไทย ประมาณ 120 ล้านโดส และปีหน้าจะมีวัคซีนบูสเตอร์ เพื่อสร้างภูมิต้านทาน และเพื่อการกลับมาใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด แต่ยังต้องมีการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือและเว้นระยะห่างต่อไป ดังนั้นประเทศไทยก็จะก้าวพ้นจากภาวะวิกฤต มีออกไปได้ด้วยดี" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวถึงเรื่องการประกวดราคาชุดตรวจ ATK ว่า ที่ประชุมอีโอซี ของกระทรวงสาธารณสุข อนุมัติให้มีการชุดตรวจ ATK ซึ่งจะช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น ทุกบริษัทที่ อย. อนุญาตขึ้นทะเบียน มีความแม่นยำทั้งชนิดบุคลากรสาธารณสุข(Professional use) หรือสำหรับประชาชน (Home use) ทั้งนี้ สปสช. พร้อมเป็นผู้ออกงบประมาณและจัดสรรไปยังประชาชนโดยที่ไม่คิดมูลค่า ดังนั้น การที่สั่งซื้อ 8.5 ล้านชิ้น สปสช. ได้จัดซื้อผ่านกลไกขององค์การเภสัชกรรม มีการประกวดราคาจากบริษัทผู้นำเข้าที่ถูกต้องตามคุณสมบัติ และมีราคาต่ำที่สุดจึงชนะการประกวดราคา

"องค์การเภสัชกรรม ก็ได้ดำเนินการตามนโยบาย ตามหลักธรรมาภิบาล มีคณะกรรมการอิสระตรวจสอบมากมาย ดังนั้น ไม่มีการกระทำส่อไปในทางทุจริต โดยเฉพาะในยุคที่ผมเป็นรัฐมนตรี ไม่มีเรื่องการทุจริต ตรวจสอบได้ และพร้อมทำเพื่อประชาชน" นายอนุทิน กล่าว


31 ส.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์