ผู้เขียน หัวข้อ: วิกฤติเลือดหมดคลังทั่วประเทศ ทุกโรงพยาบาลขาดเลือดผ่าตัด  (อ่าน 1907 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด


วิกฤติเลือดหมดคลังทั่วประเทศ ทุกโรงพยาบาลขาดเลือดผ่าตัด วอนบริจาคโลหิตช่วยชีวิตผู้ป่วย

ทั้งนี้ โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 340 แห่ง มีการเบิกโลหิตเฉลี่ยวันละ 8,000 ยูนิต แต่สามารถจ่ายโลหิตให้ได้เฉลี่ย 2,300 ยูนิตต่อวัน (28%) ซึ่งสถานการณ์ขาดแคลนโลหิตนี้จะส่งผลอันตรายแก่ชีวิตได้



นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 การบริจาคโลหิตทั่วประเทศลดลงอย่างมาก วิกฤติในครั้งนี้รุนแรงกว่าในรอบปีที่ผ่านมา จากกราฟเป็นข้อมูลการบริจาคโลหิตทั่วประเทศ การบริจาคลดลง ซึ่งในภาวะปกติ จะเห็นว่าต้องมีโลหิตรักษาผู้ป่วยเดือนละ 200,000 ยูนิต โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้รับโลหิตจากการบริจาคเพียง 149,384 ยูนิต มีการขาดแคลนสะสมยาวนานมากกว่า 5 เดือน จึงมีผู้ป่วยที่ต้องเลื่อนการผ่าตัดและการรักษาพยาบาลออกไปอีกเป็นจำนวนมาก

“การบริจาคโลหิต” คือ การสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ให้กับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคโลหิต เพราะร่างกายของแต่ละคนมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ ร่างกายจะใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ โดยสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน เมื่อบริจาคโลหิตออกไปแล้ว ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทน ทำให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม หากไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัวเพราะหมดอายุ ทั้งนี้ กระบวนการในการบริจาคโลหิตตั้งแต่เริ่มลงทะเบียนจนบริจาคโลหิตเสร็จสิ้น ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเลือกเจาะโลหิตที่เส้นโลหิตดำบริเวณแขน แล้วเก็บโลหิตบรรจุในถุงพลาสติก (BLOOD BAG) ประมาณ 350-450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค

ผู้บริจาคโลหิต
1.ได้ทราบข้อมูลสุขภาพของตัวเองได้ทราบระบบหมู่โลหิต ทั้งระบบ ABO และ Rh
2.ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และทำให้มีความสุข ส่งผลให้สุขภาพดี

บริจาคโลหิต 1 ถุง ช่วยผู้ป่วยได้อย่างน้อย 3 ชีวิต
โลหิต 1 ถุง นำไปแยกเป็น
1.เกล็ดเลือด
2.เม็ดเลือดแดง
3.พลาสมา

ถึงเวลาแล้วที่จะคนไทยต้องช่วยกัน วอนผู้ที่มีสุขภาพดี หรือผู้ที่ครบกำหนดบริจาคโลหิต 3 เดือนแล้ว บริจาคโลหิตอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยผู้ป่วยทั่วประเทศ สามารถบริจาคได้ ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศที่เปิดรับบริจาคโลหิต ใกล้ที่ไหน บริจาคที่นั่นในพื้นที่ของตนเองเพื่อความสะดวกปลอดภัยของท่านผู้บริจาค

การบริจาคโลหิตก่อนและหลังฉีดวัคซีน COVID-19

บริจาคโลหิต ก่อน ฉีดวัคซีน
หากไม่มีอาการอ่อนเพลีย สามารถฉีดวัคซีนได้ในวันถัดไป ไม่ควรบริจาคโลหิตวันเดียวกับวันที่ฉีดวัคซีน
บริจาคโลหิต หลัง ฉีดวัคซีน
กรณีได้รับวัคซีน COVID-19 ที่ได้รับการรับรองจาก อย. ขอให้เว้น 7 วัน หลังฉีด
กรณีมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ขอให้หายดีก่อน เว้น 7-14 วัน ตามความรุนแรงของอาการ

ข้อมูลจาก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปฯ
30สค2564
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 สิงหาคม 2021, 14:31:16 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 31 สิงหาคม 2021, 14:34:41 »
“โลหิต” มีความสำคัญอย่างไร

           ในร่างกายคนเรามีเลือดไหลเวียนอยู่ในตัว เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงอาหาร น้ำ ออกซิเจนไปทั่วร่างกาย ขณะเดียวกันก็นำสารพิษ ของเสีย และคาร์บอนไดออกไซด์จากส่วนต่างๆ เพื่อนำไปกำจัดออกจากร่างกายเพื่อให้ร่างกายทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ในเลือดมีทั้งของเหลว(ส่วนน้ำ) และเซลล์ชนิดต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ต่างกัน กล่าวคือ
            “เม็ดเลือดแดง” ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เนื้อเยื่อออกไปขับถ่าย เม็ดเลือดแดงมีปริมาณประมาณร้อยละ 40 – 45 ของปริมาณเลือดทั้งหมด และมีอายุเพียง 120 วัน
            “เม็ดเลือดขาว” ทำหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันเหมือนทหารปกป้องเชื้อโรคในร่างกาย มีปริมาณ 1% ของเลือด
            “เกล็ดเลือด” ทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนของเซลล์ขนาดเล็ก มีอยู่ประมาณ 5% ของเลือด
            “พลาสมา” เป็นสารน้ำสีเหลือง มีโปรตีน เกลือแร่ ไขมัน ฮอร์โมน ไวตามิน มีปริมาณร้อยละ 55 ของเลือด

ประเภทของหมู่โลหิตตามหมู่โลหิตระบบ ABO
          โลหิตที่อยู่ในคนไทยเรา แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทคือ
                1. หมู่โอ (O) พบได้ร้อยละ 38
                2. หมู่เอ (A) พบได้ร้อยละ 21
                3. หมู่บี (B) พบได้ร้อยละ 34
                4. หมู่เอบี (AB) พบได้ร้อยละ 7

            นอกจากนี้ในหมู่เลือดที่กล่าวถึงเบื้องต้นแล้วยังมีหมู่โลหิตระบบอาร์เอ็ช(Rh) โดยจำนวนประชากร 1,000 คน จะมีหมู่โลหิตอาร์เอ็ชลบ (Rh-) 3 คน หรือคิดเป็น 0.3% เท่านั้น ซึ่งจัดเป็นหมู่โลหิตที่หายากหรือหมู่โลหิตพิเศษ เท่าที่พบมา เราพบว่าหมู่โลหิตโอเป็นหมู่โลหิตที่หาง่าย เมื่อเมียบกับหมู่โลหิตประเภทอื่นที่บริจาคกันเข้ามา สำหรับผู้ที่ไม่เคยบริจาคโลหิตมาก่อน แต่อยากช่วยเพื่อมนุษย์ด้วยกัน ไม่ยากเลยค่ะ

คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิตรวม (Whole Blood)
           1. เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว
          2. อยู่ในระหว่างอายุ 17 ปีบริบูรณ์ จนถึงอายุ 65 ปี ทั้งนี้
                 2.1 ผู้บริจาคโลหิตหากอายุไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์ ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครองตามกฏหมาย
                 2.2 ผู้บริจาคโลหิตที่มีอายุ 60 ปีถึง 65 ปี
                         - ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติอื่นๆของผู้บริจาคเลือด
                         - เป็นผู้บริจาคเลือดประจำมาโดยตลอดจนกระทั่งอายุ 60 ปี (อย่างน้อย 4 ครั้งใน 3 ปีล่าสุด)
                         - บริจาคโลหิตได้ทุก 6 เดือน
                         - ตรวจ CBC ปีละ 1 ครั้ง โดยเริ่มตรวจครั้งแรกตอนบริจาคโลหิตเมื่ออายุครบ 60 ปี และผ่านเกณฑ์ CBC
            3. มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 48 กิโลกรัมขึ้นไป 
            4. ไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะ, ยาป้องกันเลือดแข็งตัว, ยาเพิ่มการเจริญเติบโต (Growth Hormone), ยารักษาสิว Isotretinoin, ยารักษาต่อมลูกหมาก, ยาปลูกผม (Finasteride)
            5. ไม่ได้รับการถอนฟันหรือขูดหินปูน ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนบริจาคเลือด ไม่มีบาดแผลสดหรือแผลติดเชื้อใดๆ ตามร่างกาย
            6. ไม่มีประวัติโรคมาลาเรียในระยะเวลา 3 ปี
            7. ผู้หญิงที่ไม่อยู่ในระยะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
            8. ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างมีประจำเดือน เมื่อประจำเดือนหยุดให้บริจาคโลหิตได้

ใครบ้างที่ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้
          1. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด มะเร็ง ลมชัก อัมพฤษ์ อัมพาต โรคเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก โรคเบาหวานที่ต้องใช้ยาอินซูลินหรือคุมระดับน้ำตาลไม่ได้
          2. ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือคู่ครอง (สามีหรือภรรยา) เป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอสไอวีหรือซิฟิลิส
          3. ผู้เสพยาเสพติดชนิดใช้เข็มฉีดยา
          4. ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ มีคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
          5. น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุมากกว่า 5 กิโลกรัม ในเวลา 2 เดือน มีต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายโต หรือมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ

เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต
         การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต เพื่อมิให้ผู้บริจาคโลหิตอ่อนเพลียมากหลังบริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตจึงควรเตรียมตัวดังนี้
            1. ก่อนบริจาคโลหิต 1-2 วัน ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น เลือดไหลเวียนได้ดี
            2. งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
            3. ไม่ควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากก่อนบริจาคโลหิต 1 วัน
            4. รับประทานอาหารก่อนบริจาคโลหิตภายใน 4 ชั่วโมง
            5. นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไป

            ซึ่งแต่ละครั้งโรงพยาบาลต้องการโลหิตประมาณ 420 – 450 ซีซี / คน ซึ่งปริมาณจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาค และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่ปลอดภัย โลหิตที่ได้จะต้องผ่านกระบวนการทดสอบก่อนนำไปให้ผู้ป่วย คือ ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส และตรวตหาไวรัสเอดส์

การปฏิบัติตัวหลังบริจาคโลหิต
          - หลังการบริจาคโลหิตเสร็จแล้ว ควรนั่งพักประมาณ 10-15 นาที รับประทานขนมหรืออาหารว่าง ดื่มน้ำ/เครื่องดื่ม 1-2 แก้ว แล้วรับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ ตับ ไข่ เลือดหมู เลือดไก่ ผักใบเขียวและผักที่มีสีเหลือง
          - งดสูบบุหรี่ 1 ชั่วโมง หลังบริจาคโลหิต
          - งดดื่มแอลกอฮอล์จนกว่าท่านจะได้รับประทานอาหาร
          - ดื่มน้ำมากกว่าปกติเป็นเวลา 1-2 วัน เพื่อทดแทนปริมาณเลือดที่ท่านเสียไป

            เห็นไหมคะว่า หากมีการเตรียมพร้อมก่อนมาบริจาคโลหิตก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เมื่อคุณเป็นผู้หนึ่งที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ โดยท่านสามารถบริจาคเลือดได้ทุก 3 เดือน มาร่วมบริจาคโลหิตกับโรงพยาบาลศิริราชได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ที่ห้องรับบริจาคเลือด ตึก 72 ปี ชั้น 3 นอกจากนี้ยังมีหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ โทร.02-419-8081 ต่อ 123, 128

      “เลือดท่านเพียงน้อยนิด ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้”

อ. พญ. กุลวรา กิตติสาเรศ   
ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=789

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
มองความเท่าเทียมทางเพศผ่านการ ‘บริจาคเลือด’
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 31 สิงหาคม 2021, 14:46:32 »
-แม้เทรนด์ของไพรด์ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก แต่ยังมีข้อจำกัดหนึ่งสำหรับกลุ่มเกย์หรือไบเซ็กชวลชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศสภาพเดียวกัน (Men who have sex with men: MSM) นั่นคือ ‘การบริจาคโลหิต’ ที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ไม่รู้จบ
-โดยเฉพาะในเมืองไทย ไม่ว่าใครที่เคยไปบริจาคเลือดคงเคยเห็นข้อความในแบบสอบถามคัดกรองก่อนที่จะบริจาคเลือด ซึ่งกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับการปฏิเสธการรับเลือดของผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ด้วยคำถามว่า ‘ท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ (ตอบเฉพาะชาย)’ เหตุผลของการปฏิเสธการรับเลือดจากกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะเชื่อว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงของโรคติดต่ออย่างเอชไอวีหรือไวรัสตับอักเสบบีมากกว่าประชากรทั่วไป
-คำถามสำคัญคือ ทำไมความสามารถในการบริจาคเลือดของกลุ่มชายรักชายจะต้องถูกจำกัดสิทธิอย่างมากมาย เพียงเพราะข้อติดขัดเรื่องกฎสากล ทั้งที่ในความเป็นจริง บุคคลทุกเพศล้วนเป็นผู้มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น

เนื่องในวาระเฉลิมฉลอง Pride Month ในเดือนมิถุนายนนี้ ทำให้ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้น เพื่อตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งเพศ รวมทั้งเคารพซึ่งความหลากหลายทางเพศที่สวยงามและแข็งแกร่ง เฉกเช่นธงหกสีที่ปลิวไสวให้เราได้เห็นบ่อยๆ

แม้เทรนด์ของไพรด์ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก แต่ยังมีข้อจำกัดหนึ่งสำหรับกลุ่มเกย์หรือไบเซ็กชวลชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศสภาพเดียวกัน (Men who have sex with men: MSM) นั่นคือ ‘การบริจาคโลหิต’ ที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ไม่รู้จบ โดยเฉพาะในเมืองไทย ไม่ว่าใครที่เคยไปบริจาคเลือดคงเคยเห็นข้อความในแบบสอบถามคัดกรองก่อนที่จะบริจาคเลือด ซึ่งกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับการปฏิเสธการรับเลือดของผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ด้วยคำถามที่ว่า ‘ท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ (ตอบเฉพาะชาย)’

เหตุผลของการปฏิเสธการรับเลือดจากกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะเชื่อว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงของโรคติดต่ออย่างเอชไอวีหรือไวรัสตับอักเสบบีมากกว่าประชากรทั่วไป ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยยังคงปฏิเสธการบริจาคเลือดของกลุ่มเพศหลากหลาย โดยเป็นข้อกำหนดที่ระบุไว้ว่า ‘ไม่รับบริจาคโลหิตอย่างถาวร’ ข้อความนี้ปรากฏบนอยู่เว็บไซต์ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย

ข้อห้ามการบริจาคเลือดของกลุ่มเกย์หรือไบเซ็กชวลนั้น เมื่อย้อนไปถึงต้นเหตุก็เนื่องมาจากความเสี่ยงจากการถ่ายเลือดจากบุคคลที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ได้อุบัติขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 หากนับดูก็เป็นเวลาผ่านไปกว่า 40 ปีแล้ว แม้ปัจจุบัน ทั้งความหลากหลายของมนุษย์ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่นำพาความเจ็บป่วยของมนุษย์ให้อันตรธานหายไป และทำให้มนุษย์มีอายุที่ยืนยาวขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต แต่หลักเกณฑ์การปฏิเสธการรับบริจาคเลือดที่เกิดจากโรคติดต่อเมื่อ 40 ปีก่อนนี้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เท่าทันบริบทปัจจุบัน

แม้ว่าหลักเกณฑ์การบริจาคเลือดจะผ่อนปรนไปแล้วบ้างในบางประเทศ เนื่องจากสถานการณ์วิฤตจากการขาดแคลนเลือด แต่เมื่อใดจะถึงวันที่การบริจาคเลือดโดยไม่มีเรื่องของเพศวิถีมาเกี่ยวข้อง จะกลายเป็นหลักการพื้นฐานที่ใช้ในทั่วโลก

สถานการณ์การขาดแคลนเลือด vs กฎระเบียบสากลที่ถูกแช่แข็งมา 40 ปี
ในสถานการณ์ปัจจุบัน คลังเลือดของสภากาชาดไทยยังคงขาดแคลนเลือดจำนวนมาก และอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ต้องใช้เลือดเพื่อการรักษาพยาบาล ซ้ำร้าย ในสถานการณ์โควิด-19 สต็อกเลือดทุกกรุ๊ปล้วนอยู่ในจุดที่วิกฤตทั่วประเทศ

จากข้อมูลของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย วันที่ 13 มิถุนายน 2564 พบว่า กรุ๊ปเลือดเอมีปริมาณเลือดในคลังเพียง 3,885 ยูนิต ขณะที่ความต้องการต่อเดือนอยู่ที่ 12,200 ยูนิต ในหมู่กรุ๊ปเลือดโอและบีที่มีความต้องการมากที่สุด ก็ขาดแคลนในระดับที่น่าเป็นกังวลมาก อย่างกรุ๊ปโอนั้นมีความต้องการสูงถึง 24,400 ยูนิตต่อเดือน ขณะที่โลหิตที่ได้รับมีเพียง 7,068 ยูนิตเท่านั้น ไม่ต้องพูดถึง ‘หมู่เลือดพิเศษ/หมู่เลือดหายาก’ ที่กว่าจะได้รับบริจาคมานั้นยากลำบากหลายเท่าตัว
ปัญหาการขาดแคลนเลือดสำรองเป็นปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย สถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ความต้องการเลือดมีอยู่ทุกๆ 2 วินาที คลังเลือดอยู่ในระดับอันตราย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บสะสมเลือดไว้ให้มากที่สุด ถึงแม้ว่าสภากาชาดสากลจะได้ผ่อนปรนกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริจาคเลือดในกลุ่มเพศหลากหลาย โดยกลุ่ม MSM มีการกำหนดระยะเวลาให้ ‘งด’ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนการบริจาคเลือด ตั้งแต่ 3 เดือนถึง 1 ปี แล้วแต่ประเทศ หรือไม่อนุญาตเลยในบางประเทศ

คำถามสำคัญคือ ทำไมความสามารถในการบริจาคเลือดของกลุ่มเกย์และไบเซ็กชวลจะต้องถูกจำกัดสิทธิอย่างมากมาย เพียงเพราะข้อติดขัดเรื่องกฎสากล ทั้งที่ในความเป็นจริง บุคคลทุกเพศล้วนเป็นผู้มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น

ความพยายามในยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม MSM ในการบริจาคเลือด
แม้การแพทย์ในปัจจุบันก้าวล้ำไปไกลมาก การคัดกรองผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว แม้อยู่ในช่วงเวลาของ ‘Window period’ หรือช่วงเวลาที่ได้รับเชื้อมาแล้วแต่ยังตรวจไม่พบเชื้อ โดยความเสี่ยงจากการถ่ายเลือดเกิดขึ้นเพียง 1 ใน 2 ล้านคนเท่านั้น และแม้กาชาดสากลได้ผ่อนปรนการให้เลือดได้ในกลุ่ม MSM เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเลือด แต่ในทางปฏิบัติ การบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM ในกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์สูง ก็ยังมีข้อถกเถียงและยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ

ในสหรัฐฯ การบริจาคเลือดถูกระบุไว้ในนโยบายของสภากาชาดแห่งสหรัฐอเมริกา (American Red Cross) ว่า ความปลอดภัยของอาสาสมัครผู้บริจาคเลือดคือสิ่งสำคัญที่สุด โดยเชื่อว่าความสามารถในการบริจาคเลือดจะต้องไม่ถูกจำกัดเนื่องด้วยรสนิยมทางเพศ และสภากาชาดฯ พร้อมเข้าใจในเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศสภาพและเพศวิถี โดยสภากาชาดแห่งสหรัฐฯ ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้บริจาคเลือดโดยเฉพาะว่า ให้เว้นระยะห่างไว้ 3 เดือนก่อนบริจาคเลือด สำหรับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น (ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงนโยบายให้ระยะเวลาการ ‘งด’ มีเพศสัมพันธ์ก่อนบริจาคเลือดสั้นขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19) สภากาชาดสหรัฐฯ กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพและพฤติกรรมของชุมชน LGBTQ+ ด้วยอีกทางหนึ่ง เพื่อประเมินความเสี่ยงสำหรับการบริจาคในการบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM โดยปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม MSM นี้อยู่ เนื่องจากความเสี่ยงที่ว่านั้นย่อมเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน

ขณะที่ในแคนาดากำลังเป็นที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของรัฐบาลฝ่ายเสรีนิยมเกี่ยวกับการออกกฎหมายเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติการปฏิเสธการรับบริจาคเลือด แม้ว่า จัสติน ทรูโด (Justin Trudo) นายกรัฐมนตรีแคนาดา จะเคยสัญญาไว้ตั้งแต่ปี 2020 ว่า การเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบจะต้องหมดไปในเร็ววัน แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างยังคงคงเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

สถานการณ์การบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM ในแคนาดา แม้ว่าจะได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตั้งแต่ปี 2019 เกี่ยวกับการลดระยะเวลาที่กลุ่ม MSM สามารถบริจาคเลือดได้หากมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป เช่นเดียวกับสหรัฐฯ แต่ในทางปฏิบัติ การบริจาคเลือดโดยกลุ่มชายเหล่านี้ยังถูกจำกัดด้วยเหตุผลมากมายอันเนื่องมาจากรสนิยมทางเพศ แม้ในงานศึกษาเก็บข้อมูลจะพบว่า จากสถิติของหน่วยงานด้านสุขภาพแห่งชาติพบการติดเชื้อเอชไอวีจากการถ่ายเลือดเพียง 1 ใน 21.4 ล้านเท่านั้น ซึ่งประเทศแคนาดายังประกาศตัวว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกในการถ่ายเลือดให้ผู้ป่วย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 คริสโตเฟอร์ คาราส (Christopher Karas) นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชื่อดัง ได้ปักหมุดหมายสำคัญในการต่อสู้เรื่องการเลือกปฏิบัติการบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM ในคดีที่คาราสได้ฟ้องร้องหน่วยงานด้านสุขภาพของแคนาดา (Health Canada) เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เนื่องจากเขาเคยถูกปฏิเสธในบริจาคเลือดถึงแม้จะมีใบรับรองว่ามีผลเลือดเป็นลบต่อเชื้อเอชไอวี โดยหน่วยงานด้านสุขภาพแห่งแคนาดาอ้างว่าไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรับบริจาคเลือด แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่โดยตรงคือ หน่วยบริการทางโลหิตแห่งแคนาดา (Canadian blood service) ในการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีการที่ปลอดภัยสำหรับการบริจาคเลือด

แต่ในความเป็นจริงแล้ว หน่วยงานด้านสุขภาพคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในการ ‘กำหนด’ มาตรฐานการบริจาคเลือด เช่น ขณะที่ประเทศแคนาดาได้กำหนดการลดระยะของการมีกิจกรรมทางเพศเป็นเวลา 3 เดือนก่อนบริจาคเลือดตั้งแต่ปี 2019 แต่ในทางปฏิบัติ หน่วยงานบริการสุขภาพแห่งแคนาดาได้ให้ ‘คำแนะนำ’ ว่าควรชะลอไว้ 2 ปี สำหรับการรับบริจาคเลือดจากกลุ่ม MSM ระหว่างที่รอนโยบายเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนว่าหน่วยบริการทางโลหิตแห่งแคนาดาก็ทำตาม ‘คำแนะนำ’ นั้น

ในที่สุด หลังจากการต่อสู้มาอย่างยาวนาน 5 ปี ในเดือนมิถุนายน 2021 ศาลสหพันธรัฐแคนาดาได้ยกคำร้องที่เป็นข้อกล่าวอ้างของหน่วยงานสุขภาพของแคนาดาที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องว่า ‘ฟังไม่ขึ้น’ ก่อนยกคำร้องไป ถือเป็นความเคลื่อนไหวก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของต่อสู้เพื่อสิทธิในการบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM ที่ต้องติดตามกันต่อไป

หากมองในแผนภาพก็จะเห็นข้อมูลการบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM จากนานาประเทศ แต่มีความคืบหน้าใหม่ในประเทศอังกฤษ ที่ข้อจำกัดเรื่องการเว้นระยะเวลาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการบริจาคเลือดสำหรับ MSM ไม่มีอีกต่อไปแล้ว หลังจากได้มีการผ่อนปรนการบริจาคเลือดของ MSM เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ การคัดกรองการบริจาคจะมีเพียงคำถามที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศครั้งล่าสุดหรือพฤติกรรมทางเพศเท่านั้น โดยไม่มีเรื่องของเพศวิถี (Sexual Orientation) เข้ามาเกี่ยวข้อง กลุ่ม MSM ที่ไม่มีการเปลี่ยนคู่นอนหรือผู้ที่มีความสัมพันธ์ระยะยาวสามารถบริจาคเลือดได้ง่ายขึ้น แม้คำถามเกี่ยวกับการคัดกรองเพื่อบริจาคเลือดจะมีอยู่ แต่ก็เป็นแบบคัดกรองที่ทุกคนไม่ว่าเพศวิถีใดก็จะถูกถามในชุดคำถามเดียวกัน

และเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2021 ถือเป็นนิมิตหมายอันดีต่อการบริจาคเลือดของกลุ่ม MSM ในอังกฤษ โดยออสการ์และฮาเวียร์เป็นคู่รักเกย์คู่แรกของอังกฤษที่สามารถบริจาคเลือดได้ หลังจากข้อจำกัดเดิมถูกยกเลิกไป เพราะก่อนหน้านี้ สหราชอาณาจักรได้กำหนดระยะเวลาการมีเพศสัมพันธ์ของ MSM ก่อนบริจาคเลือดไว้ 3 เดือน ซึ่งคาดการณ์ว่ากฎดังกล่าวจะได้บังคับใช้ต่อไปในไอร์แลนด์เหนือและเวลส์ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

โดยออสการ์และฮาเวียร์ได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไว้ว่ารู้สึก ‘ภาคภูมิใจและตื่นเต้นมาก’ ขณะที่ชายอีกคนคือ เวย์น บราวน์ (Wayne Brown) ก็กำลังจะได้บริจาคเลือดในอีกไม่ช้าเช่นกัน เขาให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “รู้สึกตื่นเต้นที่ต่อไปนี้จะสามารถบริจาคเลือดได้โดยปราศจากคำถามที่ชวนให้อึดอัดใจ” บราวน์เป็นเกย์ชาวอังกฤษที่ต้องรอนานกว่า 35 ปี กว่าจะบริจาคเลือดได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาพยายามรักษาสุขภาพ กินอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารและแร่ธาตุที่สำคัญต่อการให้เลือดอย่างธาตุเหล็ก แต่ก็ถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยเหตุผลว่าเขาเป็นเกย์ และมีเพศสัมพันธ์กับชายคู่รักที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาแล้วกว่า 22 ปี

ระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา นับจากครั้งแรกที่ได้มีการออกกฎเกณฑ์จำกัดการให้เลือดของคนบางกลุ่ม ซึ่งตอนนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์และวิวัฒนาการของมนุษย์เดินหน้าไปไกลมากแล้ว ความหลากหลายทางเพศหรือรสนิยมทางเพศไม่ควรเป็นเหตุผลในปฏิเสธไม่ให้บริจาคเลือด เมื่อทุกคนไม่ว่าหน้าไหนล้วนเป็นผู้มีความเสี่ยงได้ทั้งนั้น

ความเสี่ยงที่แท้จริงนั้นมาจากพฤติกรรมของปัจเจกที่นำพาตนเองไปสู่ความเสี่ยงโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศวิถี เหตุผลเรื่องความปลอดภัยที่ยังต้องมีอยู่สำหรับการบริจาคเลือด ควรมีควบคู่ไปพร้อมกับการยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ และขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าจะได้ให้ความเปลี่ยนแปลงในเร็ววันนี้

อ้างอิง
https://blooddonationthai.com/?page_id=745
https://www.menshealth.com/health/a35877353/gay-men-blood-donation-eligibility/?fbclid=IwAR23b0LS1ZN28pLepmZs_Z0zpch-DMFe_uPComGvVS-5CeFWETKkGaUVzUA
https://www.ctvnews.ca/politics/trudeau-has-promised-for-years-to-end-the-blood-ban-why-hasn-t-it-happened-yet-1.5441541
Redcrossblood.org
https://www.blood.ca/en/blood/am-i-eligible/men-who-have-sex-men
https://www.cbc.ca/news/politics/blood-ban-health-canada-federal-court-1.6064676?fbclid=IwAR2udDIiek15ZpsxOaMf23wu578sryxnUGwzoLUr9Wb5SArtgXcx8ElvPWM
https://www.bbc.com/news/av/uk-57469036
https://www.bbc.com/news/av/uk-england-oxfordshire-57441747


JUN 23, 2021
https://themomentum.co/ruleoflaw-blooddonation/