ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เร่งผลักดันบริการ “แพทย์แผนจีน” แก้ปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลช่วงโควิด-19  (อ่าน 828 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
“พญ.อัมพร” เผย ก.สาธารณสุขเร่งพัฒนาการรักษาด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน หวังลดความแออัดในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทั้งปลูกสมุนไพรทดแทนการนำเข้า ขยายบริการให้ทั่วถึงให้ จับมือกับหลายมณฑลในจีนเพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรการแพทย์ ระบุ แพทย์แผนจีนทั้งรัฐ-เอกชนกว่า 300 รพ.ทั่วประเทศ พร้อมทีมแพทย์กว่า 2,000 คน พร้อมให้บริการ ขณะที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมองและอัมพฤกษ์อัมพาต สามารถใช้บริการฝังเข็ม ผ่านสิทธิบัตรทองได้

จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเกินกำลังกว่าที่บุคลากรการแพทย์แผนปัจจุบันจะรับไหว ส่งผลให้การบริการรักษาโรคอื่นๆ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงส่งเสริมการรักษาในศาสตร์อื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน ซึ่งนอกจากการแพทย์แผนไทยแล้ว “แพทย์แผนจีน” ก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญและเร่งผลักดันให้สามารถบริการแก่ผู้ป่วยได้อย่างกว้างขวาง

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่นิยมรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งต้องกินยาเป็นเวลานาน เช่น อาการปวดเรื้อรัง จากเดิมที่เมื่อมีอาการปวดก็จะกินยาพาราเซตามอล เนื่องจากสามารถซื้อหาได้ง่าย ผู้ป่วยก็หันมารักษาด้วยการฝังเข็ม หรือกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งหันมากินยาสมุนไพรเพื่อลดน้ำตาลในเลือด

ข้อดีของยาแพทย์แผนจีนคือเป็น “ตำรับยา” ซึ่งจะทำให้ผลการรักษาครอบคลุมและไม่เกิดอาการข้างเคียง เช่น สมุนไพรที่ใช้ในการรักษามีฤทธิ์ร้อนก็จะใส่สมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นลงไปด้วยเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย หรือสมุนไพรที่สรรพคุณในการรักษามีความเป็นพิษอยู่ก็จะใส่สมุนไพรอีกตัวเข้าไปล้างพิษ หรือใส่สมุนไพรอีกตัวเข้าไปเพื่อเสริมฤทธิ์ให้สมุนไพรหลักที่ใช้ในการรักษา เพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้สมุนไพรดังกล่าวในปริมาณที่มากเกินไปซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนั้น แม้ผู้ป่วยจะเป็นโรคเดียวกันแต่สภาพร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็จะมีการปรับตัวยาในตำรับให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งทำให้การรักษาได้ผลดี

“หลายคนอาจไม่ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องแพทย์แผนจีนโดยเฉพาะ คือสถาบันการแพทย์ไทย-จีน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งการรักษาตามศาสตร์แพทย์แผนจีนนั้นแต่ละโรคอาจจะต้องใช้การรักษาหลายวิธีประกอบกัน เช่น ทั้งรักษาทางยา ฝังเข็ม ครอบแก้ว โดยวิธีที่ได้รับความนิยมมากก็คือ การฝังเข็ม ไม่ว่าจะเป็นฝังเข็มเพื่อรักษาอาการปวดเรื้อรัง เพื่อฟื้นฟูผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ที่สำคัญการรักษาโดยการฝังเข็มสำหรับผู้ที่ป่วยโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดทางสมองยังได้ถูกบรรจุไว้ในการสนับสนุนของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งผู้ป่วยสามารถเบิกค่ารักษาได้ อันถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงแพทย์แผนจีนเป็นได้อย่างกว้างขวาง” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าว

พญ.อัมพร อธิบายว่า การรักษาตามศาสตร์แพทย์แผนจีนนั้นยึดหลักทฤษฎีแบบองค์รวม โดยถือว่าร่างกายของมนุษย์เราเป็นองค์รวมที่มีระบบต่างๆ เชื่อมโยงกันหมด และใช้การตรวจวินิจฉัยแบบองค์รวมคือการ “มอง ฟัง ถาม จับ” เพื่อให้ทราบถึงอาการและสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน และกำหนดวิธีการรักษาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสามารถรักษาได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพรตามสูตรตำรับยาจีนการฝังเข็มการครอบแก้ว การนวดทุยหนา การกัวซา หรือการรมยา

โดยโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยนิยมรับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน ได้แก่ อาการปวดเรื้อรัง ปวดเมื่อยเนื้อตัว และออฟฟิศซินโดรม ซึ่งรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม โรคความดัน เบาหวาน ภูมิแพ้ ซึ่งรักษาด้วยยาสมุนไพรจีน รวมถึงการใช้สมุนไพรจีนร่วมกับยาแผนปัจจุบันเพื่อลดอาการข้างเคียงจากการให้คีโมของผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งอีกด้วย

“เราได้การปรับสูตรยาในตำรับแพทย์แผนจีนให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของไทย เนื่องจากประเทศจีนมีสภาพอากาศหนาวเย็น ตำรับยาที่ใช้ในประเทศจีนจึงต้องมีการใส่สมุนไพรบางตัวที่มีฤทธิ์ร้อนเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ผู้ป่วย แต่พอมาใช้ในประเทศไทยซึ่งมีสภาพอากาศร้อนจึงต้องลดปริมาณสมุนไพรดังกล่าวลง เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการความดันสูงผิดปกติ อย่างไรก็ดี ตำรับยาจีนที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยนั้นจะยึดตามตำรับของประเทศจีนเป็นหลัก เพียงแต่อาจจะมีปรับส่วนประกอบของสมุนไพรบางตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของไทยเท่านั้น” พญ.อัมพร กล่าว

อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขพยายามผลักดันให้การบริการรักษาด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีนเติบโตและขยายตัวอย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสถานบริการด้านการแพทย์แผนจีนกระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมแล้วกว่า 300 แห่ง โดยเป็นศูนย์แพทย์แผนจีนที่อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ จำนวน 224 แห่ง เช่น โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ซึ่งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร ซึ่งสังกัดกรุงเทพมหานคร และสถานพยาบาลแพทย์แผนจีนที่เป็นภาคเอกชน จำนวน 103 แห่ง เช่น โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น โรงพยาบาลแพทย์แผนจีนหัวเฉียว เป็นต้น อีกทั้งยังมีแพทย์แผนจีนทั่วประเทศที่พร้อมให้บริการอยู่ถึง 2,000 คน ซึ่งแพทย์แผนจีนในโรงพยาบาลที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้นจะมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือ แพทย์ที่จบการแพทย์แผนจีนโดยตรง และแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งไปเรียนฝังเข็ม เพื่อทำการรักษาผู้ป่วยด้วยการฝังเข็มโดยเฉพาะ

นอกจากจะมีการพัฒนาบุคลากรการแพทย์แผนจีนแล้ว กระทรวงสาธารสุขยังได้มีการพัฒนาด้านการปลูกสมุนไพรจีนที่ใช้ในตำรับยาแพทย์แผนจีนเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยนำสมุนไพรบางตัวเข้ามาปลูกในไทย มีการพัฒนาสปอร์เห็ดหลินจือเพื่อนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โดยหลักๆ แล้วยาสมุนไพรไทยกับยาสมุนไพรจีนนั้นจะมีส่วนประกอบที่คล้ายกันถึง 30-70% เนื่องจากอยู่ในทวีปเดียวกัน พืชพรรณต่างๆ จึงไม่ต่างกันมาก เป็นสมุนไพรตัวเดียวกันแต่อาจเรียกชื่อต่างกัน

กรมแพทย์แผนจีน กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน  โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียน และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกันจัดสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “การใช้แพทย์แผนจีนและแพทย์แผนโบราณป้องกันรักษาโรคโควิด-19”
กรมแพทย์แผนจีน กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียน และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกันจัดสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “การใช้แพทย์แผนจีนและแพทย์แผนโบราณป้องกันรักษาโรคโควิด-19”

และเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพการแพทย์แผนจีนในระบบสาธารณสุขของไทย ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้ประสานความร่วมมือด้านการแพทย์กับหลายมณฑลของจีน พญ.อัมพร เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขของไทยและจีนมีความร่วมมือที่หลากหลาย ซึ่งล้วนแต่ช่วยให้การแพทย์แผนจีนในไทยพัฒนาก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร่วมมือกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการจัดอบรมหลักสูตรแพทย์ฝังเข็ม เพื่อต่อยอดหมอแผนปัจจุบันในประเทศไทยให้มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษา เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาให้ประชาชนใน 28 โรคยอดฮิต เช่น อาการปวดเข่า ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดข้อ ไมเกรน ภาวะซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ซึ่งล่าสุดมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมไปแล้วกว่า 1,300 คน

หรือกรณีที่กรมแพทย์แผนจีน กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน โรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียน และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “การใช้แพทย์แผนจีนและแพทย์แผนโบราณป้องกันรักษาโรคโควิด-19” ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์จากนานาประเทศกว่า 400 คน เข้าร่วมสัมมนาและเสนอความเห็น พร้อมทั้งเผยงานวิจัยหลังทดลองรักษาด้วยการแพทย์ผสมผสานระหว่างแผนปัจจุบันและแผนจีน ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ให้แก่ประเทศต่างๆ

และล่าสุด กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) กับคณะกรรมาธิการสุขภาพมณฑลกานซู่ ซึ่งเป็นมณฑลที่มีการปลูกสมุนไพรมากเป็นอันดับต้นๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพัฒนางานวิจัยด้านการแพทย์ดั้งเดิมให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ นอกจากนั้น ทางมณฑลกานซู่ยังได้บริจาคยาเม็ดแผนโบราณของจีนที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 ให้แก่ไทย จำนวน 9,000 กล่องอีกด้วย

“โควิด-19 อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเร่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และขยายความร่วมมือในศาสตร์แพทย์แผนจีน โดยนอกจากมลฑลกานซู่จะสนับสนุนยาแพทย์แผนจีนที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แล้วยังมีทีมแพทย์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำการจ่ายยาดังกล่าวแก่บุคลากรการแพทย์ของไทยด้วย เชื่อว่าจากความมุ่งมั่นทุ่มเทในการพัฒนาการแพทย์แผนจีนในไทยและเร่งขยายบริการการรักษาให้ทั่วถึง จะทำให้การรักษาด้วยแพทย์แผนจีนเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในการรับบริการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ในภาวะที่บุคลากรทางการแพทย์มีภาระหนักในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าว

27 ส.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์