ผู้เขียน หัวข้อ: สปสช.ย้ำจัดหาATK8.5ล้านชุดให้ประชาชนใช้ตรวจเองที่บ้าน  (อ่าน 404 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สปสช.ต้นเรื่องจัดหาATK 8.5 ล้านชุด ย้ำเป้าให้ประชาชนตรวจเองที่บ้าน  กระจายผ่านรพ.-คลินิก-ร้านขายยา-ผู้นำชุมชน ลั่นไม่แย้ง-ไม่ขัดผลคัดเลือกของอภ. เลี่ยงตอบสปสช.ต้องแก้สเปคตามข้อสั่งการนายกฯ โยนอภ.ดำเนินการ

      จากกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)มีแผนความต้องการชุดตรวจแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง(COVID-19 Antigen self-test kit หรือชุดตรวจATK)  จำนวนเบื้องต้น 8.5 ล้านชุด และส่งให้เครือข่ายรพ.ราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ดำเนินการคัดเลือกบริษัทเพื่อจัดซื้อ เมื่อประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือก ถูกทักท้วงจากชมรมแพทย์ชนบทในประเด็นเรื่องคุณภาพและขอให้ดำเนินการจัดซื้อที่ผ่านการรับรองขององค์การอนามัยโลก(WHO)

    ต่อมาปรากฎข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในรายงานการประชุมศบค.วันที่ 16 ส.ค. 2564 ให้จัดหาแบบที่WHOรับรอง ก่อนที่สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.)จะออกมาระบุว่าATK 4 ตัวที่WHOรับรองนั้นเป็นแบบใช้สำหรับบุคลากรผู้ทำงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ไม่มีแบบที่ให้ประชาชนใช้เอง กระทั่ง ชมรมแพทย์ชนบทส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2564  ระบุว่า ขอให้นายกฯยืนยันข้อสั่งการที่ให้จัดซื้อATK8.5 ล้านชิ้นต้องมีมาตรฐานWHOรับรอง เพื่อเป็นATKสำหรับProfessional useในสถานพยาบาลและการตรวจเชิงรุก   

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชุดตรวจATKนั้นจะแบ่งเป็น 2 แบบตามการขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) คือ แบบHome Use หรือ self-test สำหรับประชาชนใช้ตรวจด้วยตนเอง และแบบ Professional use  สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขใช้ โดยจะแตกต่างกันตรงที่ไม้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในการส่งตรวจ หากเป็นแบบประชาชนใช้เอง ไม้จะสั้นกว่าใช้เก็บตัวอย่างในโพรงจมูกลึกราว 2 เซนติเมตร ส่วนแบบบุคลากรฯใช้นั้น ไม้จะยาวกว่า เพื่อใช้เก็บตัวอย่างในโพรงจมูกด้านหลังที่ลึกเข้าไปราว 6-7 เซนติเมตร

ล่าสุด วันที่ 23 ส.ค. 2564 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ปกติการตรวจหาอโควิด 19 นั้น สปสช.จะมีกติกาการจ่ายเงินโดยระบุว่าหน่วยบริการที่ได้รับการรับรองให้สามารถทำการตรวจหาโควิด 19 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นั้น โดยจะตรวจด้วย RT-PCR ก็ได้ ซึ่งจะจ่ายค่าตรวจอีกอัตราหนึ่ง หรือจะตรวจด้วย ATK ก็ได้ แต่สถานพยาบาลนั้นจะต้องไปจัดหา ATK เอง สปสช.ไม่จัดซื้อ จัดหามาให้  สถานพยาบาลจัดหาเองตามไกด์ไลน์ของกรมควบคุมโรค แล้วสปสช.จ่ายเงินให้ตามอัตรา เช่น 350 บาท 450 บาท ต่อการตรวจ 1 ครั้ง แล้วแต่เทคนิค เทคโนโลยีที่ใช้  แต่การทำแบบนี้ชาวบ้านต้องออกมานอกบ้าน อาจจะเสี่ยงได้รับเชื้อ จึงมีการหารือกันเรื่องการซื้อเพื่อแจกให้ประชาชนไปตรวจด้วยตัวเองที่บ้าน

       “ในทางปฏิบัติไม่ได้แจกกับมือประชาชนโดยตรง แต่ส่งให้กับ 4 จุดเพื่อแจกให้ประชาชนต่อ คือ
1.ให้รพ. เป็นคนแจก
2. ให้คลินิกในพื้นที่เป็นคนแจก
3. ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการเป็นคนแจกและ
4. ส่งไปให้กับผู้นำชุมชน

ซึ่งกลุ่มที่ 1-3 นั้นจะรู้ว่าในพื้นที่นั้นๆ ใครเป็นกลุ่มเสี่ยง และเพื่ออธิบายการใช้ให้ประชาชนทราบด้วย นี่คือที่มาของการซื้อ 8.5 ล้านชุด”ทพ.อรรถพรกล่าว 

     ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการอ้างถึงในที่ประชุม สปสช. ว่าเดิมการสั่งซื้อ 8.5 ล้านชุดเป็นชนิดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ใช้ในรพ.  ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ชนิดสำหรับบุคลากรการแพทย์ กับชนิดที่ประชาชนใช้ ทุกอย่างเหมือนกันหมด ไม่แตกต่าง แต่การเก็บเชื้อแตกต่างกัน โดยชนิดบุคลากรการแพทย์ใช้ จะเก็บหลังโพรงจมูก ส่วนชนิดที่ประชาชนใช้ จะเก็บที่บริเวณโพรงจมูก

   ถามต่อว่าการซื้อATK 8.5 ล้านชุด เพื่อแจกประชาชน ตามข้อกำหนดการขึ้นทะเบียน ATK มีการแยกชัดเจนระหว่าง 2 ชนิดว่าใครเป็นคนใช้ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ถ้าตามตรรกะก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่การคุยในที่ประชุมอย่างไรก็นั้นตนไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม หนังสือโครงการ ที่ส่งถึงเครือข่ายรพ.ราชวิถี และอภ.นั้นระบุว่าเป็นโครงการจัดซื้อสำหรับให้ประชาชนไปตรวจด้วยตัวเองที่บ้าน 

     “กรณีที่สปสช.ไม่ได้มีอำนาจในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ แต่มีการตั้งกรรมการต่อรองราคานั้น เพื่อเป็นการตั้งมาต่อรองให้ทราบราคาของยา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อที่จะได้ทำงบประมาณขอเบิกไปยังสำนักงบประมาณ อย่างไรก็ตาม พอมีการต่อรองราคาเกิดขึ้นแล้วสามารถส่งรายละเอียดให้กับทางเครือข่ายรพ.ราชวิถี และอภ.เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิง หรือเปรียบเทียบได้อีกทางหนึ่งด้วย”ทพ.อรรถพรกล่าว

      ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ข้อสั่งการนายกฯ เรื่องการจัดซื้อที่มีองค์การอนามัยโลกรับรองนั้น  สปสช. ในฐานะผู้สั่งซื้อต้องเป็นผู้ทำหนังสือยืนยันความต้องการและสเปค ไปใหม่หรือไม่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า   สปสช. อยากได้ของดี มีคุณภาพ ราคายุติธรรม และอยากได้เร็ว ถ้าอภ.คิดว่าที่ทำมานั้นถูกต้อง ครบถ้วนแล้ว ทางสปสช. ไม่ได้ขัด ไม่ได้แย้งเลย เอามาก็ส่งมาให้เร็ว ตอนนี้สิ่งที่เป็นประเด็น คือความเร็ว แจกให้เร็ว ดังนั้น ถ้ายืดไปอีกก็ลำบาก หากเห็นว่าเหมาะ เห็นว่าควรก็ส่งมาไม่ได้ว่าอะไร

     ถามย้ำว่าเมื่อมีข้อสั่งการมาเช่นนี้  สปสช.ต้องยืนยันตามข้อสั่งการหรือไม่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เมื่อเป็นแบบนี้ ต้องขึ้นอยู่กับอภ.ว่าระเบียบของอภ.เป็นอย่างไร จะเดินหน้าอย่างไร ตอนนี้สปสช.ไปสั่งอะไรไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายของอภ.  สปสช.ไปสั่งอะไรไม่ได้ เพราะตอนนี้สปสช.อยู่ในสถานะ รออย่างเดียว เกินมือไปแล้ว

23 สิงหาคม 2564
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/956202