ผู้เขียน หัวข้อ: “รสนา” เตือนอย่าสร้างความสงสัยทุ่มซื้อ “ฟาวิพิราเวียร์” เพราะค่าคอมมิชชัน  (อ่าน 432 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“รสนา” เตือนผู้บริหาร สธ.อย่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำทุ่มเงินเป็นหมื่นๆ ล้าน ซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ที่มีประสิทธิภาพต่ำ อย่าสร้างความสงสัยว่าจัดซื้อเพราะค่าคอมมิชชัน

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ว่า ดิฉันขอบคุณ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ที่กรุณาตอบข้อทักท้วงและการตั้งคำถามของดิฉันเรื่องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์อ้างอิงงานที่ HITAP ประเมินผลการวิจัยยาต่อผู้ป่วยโควิดได้ประสิทธิผลต่ำ

ดิฉันได้พยายามหาข้อมูลที่ นพ.สมศักดิ์ อ้างอิงผลการศึกษาของ รพ.รามาธิบดี เมื่อปี 2563 ว่า ทดลองในผู้ป่วย 400 คน พบว่า หากให้ยาฟาวิพิราเวียร์เร็วภายใน 4 วันแรก พบว่าได้ผลดี และสามารถลดอาการรุนแรงได้ 30% สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมรุนแรงจะใช้เวลามากเฉลี่ย 17 วัน ดีขึ้น แต่ถ้าปอดบวมไม่รุนแรงจะอยู่ที่ 9 วันโดยระบุว่าผลการศึกษาได้ตีพิมพ์ผลแล้วในปี 2564 แต่น่าเสียดายที่ดิฉันไม่อาจหามาอ่านได้ เพราะไม่มีใครทราบการตีพิมพ์เอกสารดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินประสิทธิผลของฟาวิพิราเวียร์ต่อผู้ป่วยโควิดของ HITAP ก็ได้พูดถึงผลดีของฟาวิพิราเวียร์ว่าดีกว่ายาหลอกอยู่บ้าง แต่เมื่อมีการประเมินความคุ้มค่าของเม็ดเงินที่ต้องใช้กับฟาวิพิราเวียร์แล้ว ต้องพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่ นี่คือประเด็นสำคัญที่ดิฉันตั้งคำถาม

ในระยะแรกที่มีการปฏิบัติมานาน คือ การกำหนดในเวชปฏิบัติ (CPG-Clinical Practice Guidelines) ให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับคนติดเชื้อโควิดที่มีอาการรุนแรงระดับสีเหลืองและสีแดงเมื่อเชื้อไวรัสลงปอด ซึ่งเคยอ้างว่าหากใช้ในระยะแรก เชื้อจะดื้อยาและฟาวิพิราเวียร์ยังเป็นยาอันตรายที่แพทย์ต้องดูแลการใช้ยาอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาลเท่านั้น ส่วนฟ้าทะลายโจรเป็นยาที่สามารถใช้กับคนติดเชื้อที่มีอาการน้อยถึงปานกลางคือคนไข้ในระดับสีเขียวเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น ซึ่งน่าจะหมายถึงไม่ให้เชื้อไวรัสลงปอด ถ้าเชื้อไวรัสลงปอด ก็ให้ฟาวิพิราเวียร์มารับไม้ต่อไป แต่ขณะนี้มีการเปลี่ยนเวชปฏิบัติให้ใช้ฟาวิพิราเวียร์ในคนไข้ระดับสีเขียว โดยมาใช้แทนฟ้าทะลายโจร ก็กลายเป็นว่าต้องจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์จำนวนมหาศาลมาใช้กับคนไข้ระดับสีเขียวที่มีจำนวนถึง 80% ด้วย

จากที่เคยระบุว่า ฟาวิพิราเวียร์ต้องใช้ในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด กลายเป็นว่า เมื่อมีการตรวจพบการติดเชื้อโควิดในผู้ป่วย แพทย์ก็จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ไปกินเองที่บ้านเลย สำหรับ home isolation ดิฉันยังได้รับคำร้องเรียนว่ามีหมอที่ห้ามผู้ป่วยใช้ฟ้าทะลายโจรทั้งที่บ้าน และใน hospitel โดยบอกว่าใช้ฟ้าทะลายโจรจะไม่หาย ต้องใช้ฟาวิพิราเวียร์จึงจะหาย !!

แม้ว่าการทดลองประสิทธิผลในการรักษาผู้ป่วยโควิดของฟ้าทะลายโจรยังไม่เสร็จสิ้นจนได้รับการตีพิมพ์ ก็ตาม แต่หากพิจารณาผลการใช้ยาฟ้าทะลายโจร ก็พบว่าสามารถลดโอกาสเชื้อลงปอดอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิกดีกว่ายาหลอกถึง 10 เท่า และงานตีพิมพ์ของวารสารกรมการแพทย์แผนไทยฯ เคยรายงานการเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยที่ใช้ฟ้าทะลายโจร 309 คน และผู้ป่วยที่ไม่ใช้ฟ้าทะลายโจร 526 คน พบว่าผู้ป่วยที่ไม่ใช้ฟ้าทะลายโจร 526 คน มีเชื้อลงปอด 77 คน ส่วนผู้ป่วย 309 คนที่ใช้ฟ้าทะลายโจรมีเชื้อลงปอดเพียง 3 คน ดังนั้น รัฐมนตรีและฝ่ายบริหารนโยบายในกระทรวงสาธารณสุขก็สมควรพิจารณาข้อดีในใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยด้วย

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พบว่าฟ้าทะลายโจรช่วยกำจัดเชื้อไวรัสโคโรนาได้เร็วกว่าฟาวิพิราเวียร์ถึง 4 วัน

ประเด็นที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขพึงพิจารณา คือ ยาฟ้าทะลายโจรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนปัจจุบันในบัญชียาหลักซึ่งให้ผู้ประกอบวิชาขีพเวชกรรม ซึ่งก็คือแพทย์แผนปัจจุบันนั่นเองเป็นผู้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 4 มิถุนายน 2564 สำหรับรักษาคนไข้โควิดที่มีอาการน้อยถึงปานกลางเพื่อลดอาการรุนแรง ซึ่งหมายถึงไม่ให้เชื้อลงปอด

ยิ่งกว่านั้น ยังมีบทความที่พูดถึงกลไกการรักษาของฟ้าทะลายโจร ที่น่าจะดีกว่าฟาวิพิราเวียร์ในแง่ลดการอักเสบ และทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีในการกำจัดเชื้อไวรัส ซึ่งอาจช่วยลดการเกิดพายุไซโตไคม์ ดังที่มีบทความตีพิมพ์ในเว็บไซต์ต่างประเทศชื่อ https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fphar.2020.583777/full

นอกจากนี้ ก็มีผลงานวิจัยของคนไทยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารThe Journal of Natural Products เป็นการทดลองของนักวิจัยไทยในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่าฟ้าทะลายโจรสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสในเซลล์ปอดของมนุษย์ ในหลอดทดลอง และมีความปลอดภัยต่อเซลล์เนื้อเยื่อตัวแทนที่สำคัญของร่างกาย ได้แก่ สมอง ปอด ตับ ไต และลำไส้ https://pubs.acs.org/doi/10.1021/acs.jnatprod.0c01324

โดยที่ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรในประเทศเราเอง แม้ไม่มีงานวิจัยทั้งระบบจนแพทย์แผนปัจจุบันยอมรับแต่ในโลกของการใช้จริง ในช่วงระบาดหนักที่คนป่วยเข้าไม่ถึงการบริการรักษาจากภาครัฐ ผู้ป่วยจำนวนมากก็อาศัยฟ้าทะลายโจรรักษาและได้ผลดี ฟ้าทะลายโจรจึงเป็นสมุนไพรที่ประชาชนพึ่งตนเองได้ และเป็นความมั่นคงทางยาของประเทศ โดยเฉพาะในยามที่ประเทศยากจนลง เพราะต้องพึ่งจมูกคนอื่นหายใจ ทั้งวัคซีน อุปกรณ์การตรวจเชื้อทั้ง RT PCR และ Antigen Rapid Test Kit รวมทั้งยา และอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณในการจัดหามากกว่ายาฟาวิพิราเวียร์เสียด้วยซ้ำ

การที่ประเทศมียาสมุนไพรที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโควิดระยะแรกซึ่งเป็นจำนวนส่วนใหญ่ถึง 80% ของผู้ติดเชื้อ ย่อมเป็นการประหยัดเงินงบประมาณของประเทศ ซึ่งล้วนมาจากภาษีและเงินกู้จำนวนมหาศาลที่ประชาชนต้องแบกรับต่อไปในอนาคต

หากผู้บริหารนโยบายของกระทรวงและของประเทศกำหนดให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับคนไข้ทุกรายตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะเป็นภาระทางงบประมาณสูงมาก เพราะฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่มีราคาแพงมากกว่าฟ้าทะลายโจรหลายสิบเท่าตัว ราคานำเข้าเม็ดละ 120-150 บาท ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งให้จัดหาตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคมจำนวน 424 ล้านเม็ดจะเป็นเงินสูงถึง 5-6 หมื่นล้านบาท หรือหากผลิตและนำเข้าในราคาที่ลดลงเหลือเม็ดละ 30-33 บาท มูลค่าก็ยังสูงถึง 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าใช้ฟ้าทะลายโจรรักษา จะใช้เงินเต็มที่ ก็ไม่ถึง 3 พันล้านบาท และเงินนั้นจะหมุนเวียนอยู่ในประเทศ เป็นน้ำหล่อเลี้ยงฐานเศรษฐกิจของเราเองในยามยากลำบาก ถ้าผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขไม่เปลี่ยนทัศนคติและไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งการ ยังขืนยืนยันการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยโควิดทุกกลุ่มอาการอย่างไม่จำเป็น ก็เท่ากับเป็นการจงใจผลาญเงินงบประมาณอย่างไม่สมเหตุสมผล ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และจงใจจะไม่ให้เหลือเงินไว้พัฒนาประเทศกันบ้างเลยหลังโรคระบาดผ่านไป ใช่หรือไม่

ดิฉันเห็นว่าในต่างประเทศก็ไม่ได้เร่งให้ยาต้านไวรัสแบบประเทศของเรา เพราะนอกจากผลข้างเคียงสูงแล้ว ยังเป็นการไม่ได้คำนึงถึงการพึ่งตนเองในระยะยาว เราควรเก็บเงินไว้ใช้กับยาดีๆ ในยามจำเป็น ดีกว่าจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำกับยาแพงๆ อย่างฟาวิพิราเวียร์ที่มีประสิทธิผลไม่คุ้มค่าเม็ดเงินที่ใช้ไป เว้นเสียแต่ว่าคำเล่าลือการจัดซื้อยาประสิทธิผลต่ำเป็นเรื่องของแสวงหาค่าคอมมิชชั่นทั้งการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ อย่าง ATK ที่จงใจจัดซื้อในราคาแพงเกินสมควรจะมีมูลความจริง ใช่หรือไม่

ดิฉันมีความยินดีที่ได้รับทราบการแถลงของอธิบดีกรมการแพทย์ที่ว่า “กระทรวงสาธารณสุขยินดีน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ นอกราชการ ประชาสังคม กลุ่ม NGO ชุมชน หรือพี่น้องประชาชนที่เรามานั่งคุยกันบนหลักฐานเชิงประจักษ์”

ดิฉันก็หวังจะได้เห็นการตอบสนองของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขในเชิงรูปธรรมที่แสดงถึงการรับฟังความเห็นต่างโดยเฉพาะในประเด็นที่ขอให้ท่านใช้วิจารณญาณ พิจารณาเลือกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้พอเหมาะพอสมทั้งในแง่ประสิทธิผลการรักษาและความคุ้มค่าของเม็ดเงินที่จ่ายไป เพราะสิ่งที่ดิฉันไม่อยากเห็นคือการใช้เงินแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอย่างไม่บันยะบันยัง เพราะในที่สุดแล้ว คือ ภาระของประชาชนที่ต้องแบกรับหนี้สินจากการบริหารของพวกท่านทั้งหลาย

23 ส.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“รสนา” เรียกร้องนายกฯ สั่งปลัด สธ.ระงับนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ 424 ล้านเม็ด เผยผลการประเมินของ HiTAP มีประสิทธิผลต่ำมากในการใช้รักษาโควิด ขณะนายกฯ มีนโยบายใช้ฟ้าทะลายโจร กับผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลืองงบ 1 หมื่นกว่าล้านบาท

วันนี้ (18 ส.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ตั้งคำถามเกี่ยวกับการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ว่า ฟาวิพิราเวียร์ ยามาตราฐานต่ำ คุ้มค่าเม็ดเงินกว่าหมื่นล้าน ในการจัดซื้อของปลัด สธ.หรือไม่ !?
ปรากฏเอกสารข้อสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 299 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ลงนามโดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการมอบกลุ่มภารกิจสำรองเวชภัณฑ์และส่งกำลังบำรุงให้ดำเนินการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ เดือนสิงหาคม-กันยายน 124 ล้านเม็ด และเดือนตุลาคม-ธันวาคม อีกเดือนละ 100 ล้านเม็ด รวมทั้งสิ้น 424 ล้านเม็ด

ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 HiTAP ซึ่งเป็นโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยเอกสารการทบทวนวรรณกรรมที่มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาฟาวิพิราเวียร์ที่มีการวิจัยทั้งหมดจำนวน 56 การศึกษาในมนุษย์ของยาฟาวิพิราเวียร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ ClinicalTrials.gov ในจำนวนนี้ มี 18 การศึกษาที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

HiTAP ได้ทบทวนวรรณกรรมอย่างรวดเร็วโดยเลือกเฉพาะงานวิจัยที่เป็นการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบจากฐานข้อมูล Medline ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2564 โดยเป็นงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิผลของฟาวิพิราเวียร์ที่ตีพิมพ์ในปี 2564 เท่านั้น

วัตถุประสงค์เพื่อทราบประสิทธิผลของยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิดในประเทศต่างๆ และเพื่อทราบความปลอดภัยตลอดจนผลข้างเคียงของฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโควิด

ตัวแปรที่ใช้วัดประสิทธิผลของยาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิด พบว่า

1) ประเด็นการเสียชีวิต ผลการวิเคราะห์เชิงอภิมานด้านประสิทธิผลของฟาวิพิราเวียร์ต่อ “การเสียชีวิต” เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเปรียบเทียบ ผลที่พบ คือ ไม่มีความแตกต่าง

2) อัตราลดการใช้เครื่องช่วยหายใจ พบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนใช้ และคนไม่ใช้ฟาวิพิราเวียร์

3) อัตราที่ต้องการเตียง ICU พบว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนใช้ และคนไม่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์

4) พบอัตราส่วนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นใน 7 วันอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่พบความแตกต่างใน 14 วัน

5) พบว่า อัตราส่วนในการขจัดไวรัสในผู้ป่วยที่รับยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ 7, 10, 14 วัน ไม่มีความแตกต่าง

6) พบประสิทธิผลว่าฟาวิพิราเวียร์ช่วยลดอาการทางคลินิกได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ประสิทธิผลด้านอื่นยังไม่พบว่าแตกต่างจากกลุ่มเปรียบเทียบอื่นอย่างมีนัยสำคัญ

HiTAP จึงเสนอแนวทางนโยบายให้เผยแพร่ให้แพทย์และบุคลากรและประชาชนให้ทราบถึงข้อจำกัดของหลักฐานด้านประสิทธิผลของยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโควิด และแม้ฟาวิพิราเวียร์จะมีผลข้างเคียงน้อย แต่อาจส่งผลรุนแรงต่อผู้ป่วยตับไต และหญิงตั้งครรภ์ จึงเสนอให้มีการแก้ไขเวชปฏิบัติในการสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเสนอให้อาศัยยาในบัญชียาหลักอื่นที่มีราคาถูกกว่าฟาวิพิราเวียร์แต่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า

แม้ HiTAP จะไม่ได้เอ่ยถึงยาฟ้าทะลายโจร แต่ยาฟ้าทะลายโจรก็อยู่ในบัญชียาหลัก ที่ผลิตได้เองในประเทศและมีราคาถูกกว่า มีความปลอดภัย ยังไม่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าฟ้าทะลายโจรมีพิษต่อตับไตเมื่อใช้ในขนาดที่เหมาะสม ที่สำคัญคือ ฟ้าทะลายโจรยังเป็นความมั่นคงทางยาของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายจากท่านนายกรัฐมนตรี ให้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง จนมีการตั้งคณะกรรมการฟ้าทะลายโจรแห่งชาติ เมื่อ 27 กรกฎาคม 2564 แต่ปรากฏว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุขกลับมีข้อสั่งการให้ซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงธันวาคม ปีนี้ถึง 424 ล้านเม็ด

ดิฉันเคยสอบถามราคาฟาวิพิราเวียร์ในปัจจุบันจากเลขาธิการ สปสช. ทราบว่า สปสช.มีการขออนุมัติจัดซื้อฟาวิพิราเวียร์จำนวน 27 ล้านเม็ด ในราคาเม็ดละ 33 บาท

แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นการสั่งการจัดซื้อต่างหากจาก สปสช.อีกจำนวน 424 ล้านเม็ด หากจัดซื้อในราคาเดียวกับ สปสช.ที่ราคาเม็ดละ 33 บาท การจัดซื้อของกระทรวงสาธารณสุขจะมีมูลค่าอย่างน้อยถึง 13,992 ล้านบาท

จากการประเมินประสิทธผลยาฟาวิพิราเวียร์ของ HiTAP ว่า มีประสิทธิผลต่ำมากในการใช้รักษาโควิด ดังนั้น การใช้งบประมาณเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาโควิดในการซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ถึง 13,992 ล้านบาท เป็นการเดินผิดทางหรือไม่

เป็นการใช้จ่ายเงินกู้ที่ขาดความประหยัด ขาดประสิทธิภาพ ขาดการคำนึงถึงประชาชนที่เป็นผู้แบกรับหนี้เงินกู้ เป็นการใช้จ่ายเงินกู้แบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใช่หรือไม่

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสมควรปฏิบัติตามนโยบายทั้งของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่สนับสนุนให้ใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ซึ่งเป็นผู้ป่วยในโซนสีเขียว ที่มีปริมาณ 80% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด การสนับสนุนให้มีการใช้ฟ้าทะลายโจรในกลุ่มคนไข้โซนสีเขียว จะเป็นการประหยัดงบประมาณ เพราะฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ผลิตได้ในประเทศ มีสรรพคุณเป็นที่ประจักษ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงสมควรสั่งซื้อยาฟ้าทะลายโจรที่เป็นของผลิตได้ในประเทศ สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยด้วย โดยลดปริมาณยาฟาวิพิราเวียร์ลงไป จะเป็นการใช้จ่ายเงินของประชาชนอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพสูงสุด และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย

จึงขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บัญชาเหตุการณ์ และเคยประกาศนโยบายสนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิด ได้โปรดบัญชาให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขระงับการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ในจำนวนมหาศาลเกินความจำเป็น เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างสมเหตุสมผล มีความประหยัด และคำนึงถึงการพึ่งตนเองในท่ามกลางโรคระบาดที่ประเทศชาติต้องใช้จ่ายเงินกู้ที่ประชาชนต้องแบกรับเป็นจำนวนมหาศาลโดยคำนึงอย่างรอบคอบถึงความมีประสิทธิภาพ ความประหยัด ความสมเหตุสมผล และความคุ้มค่าด้วย

18 ส.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์