ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์ชนบท ยกมติ ครม.17 ส.ค. เป็นทางออกการจัดซื้อ ATK เจ้าปัญหา  (อ่าน 658 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ชมรมฯ ระบุว่า มติคณะรัฐมนตรีได้ระบุชัดเจนถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ ATK ทั้งการผ่านการรับรองจาก อย. และ WHO

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท ฉบับที่ 4 ระบุว่า ความเห็นต่างในการการประมูล ATK 8.5 ล้านชิ้น โดยองค์การเภสัชกรรมที่มีความไม่สบายใจอย่างสูงจากผู้ใช้ทั้งโรงพยาบาลต่าง ๆ และภาคประชาชนที่จะรับการตรวจต่อการที่องค์การเภสัชกรรมยืนยันจะจัดซื้อตามผลการประมูลที่ได้บริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เสนอ ATK ยี่ห้อ LEPU บัดนี้มีทางออกทางลงแล้ว

ด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ซึ่งได้มีวาระการรับทราบมติ ศบค.ในหลาย ๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นมีเรื่องข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการจัดซื้อ ATK กล่าวคือ มติคณะรัฐมนตรีได้ระบุชัดเจนถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในหน้า 53 วงเล็บ 6 ระบุว่า “การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit : ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจเพื่อนำสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด”

ทั้งนี้ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีใน มติ ครม.นี้มีความชัดเจนมาก และสอดคล้องกับการแก้ปัญหาการระบาดหนักของโรคโควิด ทางชมรมแพทย์ชนบทจึงต้องขอแสดงความขอบคุณต่อท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้มีข้อสั่งการที่ชัดเจนและทันท่วงทีมา ณ โอกาสนี้

สำหรับขั้นตอนในการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุดนั้น ยังอยู่ระหว่างการจัดทำสัญญา ซึ่งยังมีขั้นตอนการลงนามในสัญญาอีกหลายขั้นตอน จึงยังทันที่จะระงับการลงนามในสัญญาเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

ทางชมรมแพทย์ชนบทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากมติคณะรัฐมนตรีและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่มีความชัดเจนและตรงไปตรงมาในเรื่องจัดหาชุดตรวจ ATK นี้ จะทำให้ปัญหาการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ที่เกิดความสับสนและมีข้อกังขานี้คลี่คลายจบลงไปในทางที่ดีอย่างรวดเร็ว ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่จะได้รับชุดตรวจ ATK ที่มีมาตรฐานระดับองค์การอนามัยโลกรับรอง เพื่อประสิทธิผลในการควบคุมโรคโควิดที่ระบาดหนักในปัจจุบัน ให้เกิดการรักษาพยาบาลที่ทันเวลา ลดความสูญเสียลงให้เร็วที่สุด

18 สิงหาคม 2564
https://www.prachachat.net/marketing/news-741696

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
หมอเกรียงศักดิ์ ให้สัมภาษณ์แฉปมจัดซื้อ ATK ซัด องค์การเภสัชกรรมโกหก มีลับลมคมใน ล็อบบี้ขอลดสเป็ค

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 กรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรงบประมาณ 1,014 ล้านบาท ให้องค์กรเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) แทน จำนวน 8.5 ล้านชุด

ต่อมาวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา อภ.ได้คัดเลือกผู้เสนอราคา และได้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในราคาประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว อย่างไรก็ตาม มีบางหน่วยงานแสดงความห่วงใยและไม่มั่นใจในคุณภาพของชุดตรวจดังกล่าว รวมทั้งมีการเผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจในสินค้า อภ.จึงขอชะลอการดำเนินการในขั้นตอนการทำสัญญาออกไปก่อน ตามที่ได้รายงานข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด มติชน รายงานว่า นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ช่อง MCOT HD 30 ว่า สปสช. ไม่สามารถกำหนดสเปคโดยตรงได้ ต้องแจ้งผ่านโรงพยาบาลราชวิถี และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาอะไร

กรณีการจัดซื้อเอทีเค 8.5 ล้านชุด เป็นเรื่องเร่งด่วน สปสช.ทำหนังสือไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม แจ้งไปที่โรงพยาบาลราชวิถี ขอดำเนินการเร่งด่วนในการจัดซื้อจัดหา ตนเข้าใจว่าองค์การเภสัชกรรม บอกมาว่า คำว่าเร่งด่วนของราชการคือการกำหนดให้ซื้อเฉพาะเจาะจงได้ ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยการซื้อเฉพาะเจาะจงคือ วิธีพิเศษ เลือกซื้อได้เลย ซึ่งจะโทษระเบียบของภาครัฐไม่ได้ เพราะมีการเปิดช่องเอาไว้ เรียกว่าล็อกสเป็คก็ได้ ใช้นิ้วชี้ได้เลย เพราะเป็นสถานการณ์เร่งด่วน ราชการสุดยอดมากเพราะทำระเบียบนี้รองรับเอาไว้แล้ว กรณีเกิดโรคระบาดร้ายแรงสามารถทำได้

คณะกรรมการวินิจฉัยภาครัฐว่าด้วยการพัสดุของกรมบัญชีกลาง หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมบัญชีกลางมีการออกหนังสือเวียนเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ให้สามารถใช้วิธีการเจาะจง ยกเว้นวงเงิน ขบวนการขั้นตอนตรวจรับก็ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจรับ ซื้อของมาแจกจ่ายได้เลย แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้คงต้องถามองค์การเภสัชกรรม

เมื่อพิธีกรถามว่า นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ได้ถามกลับมาที่ สปสช.แล้ว ถ้าจะเอายี่ห้อที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรอง จะมีอยู่ 2 ยี่ห้อ แต่ที่มาขึ้นทะเบียนกับอย.ไทย จะเหลือยี่ห้อเดียว และบอกด้วยว่า สปสช. เกิดอาการลังเลอ้ำอึ้งไม่ตอบให้ชัดว่าจะเอาหรือไม่ ดังนั้น อภ.จึงกลับไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบปกติ

นพ.เกรียงศักดิ์ ตอบว่า “โกหกครับ สปสช. นี่ใจกล้าครับ เพราะมีผมเป็นประธานคณะทำงาน เพราะเรารู้ระเบียบที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ว่ากรมบัญชีกลาง สตง.และกฤษฎีกา เห็นชอบและรับรู้ในระเบียบข้อนี้อยู่แล้วว่า 115 เค้ามีมติในที่ประชุม 21 ก.ค.แล้ว แล้วก็พูดเองว่าสามารถดำเนินการได้เลย เพราะออกโดยกรมบัญชีกลางอยู่แล้ว”

“จริง ๆ เค้ามีลับลมคมใน เพราะในมติในวันที่ 15 กรกฎาคม ก็มีมติให้ประสานกับคณะกรรมการต่อรองราคา แต่ปรากฎว่าไม่ประสานอะไรเลย เค้าไปดำเนินการก่อนเลย เค้าจะแบ่งซื้อ 1 ล้านเทสต์ในช่วงแรก โดยจะซื้อกับอีกบริษัทในราคาที่แพงกว่าที่เราเสนอไป เพราะเราผ่านมติบอร์ดว่า 120 บาทต้องรวมค่าขนส่งถึงสถานที่และต้องไม่มีค่าแอดมินใด ๆ อีกแล้ว เพราะว่างบเงินกู้ที่ต้องซื้อเร่งด่วน ”

“ปรากฏว่าเค้าไปดำเนินการจัดซื้อจัดหาโดยท่านเลขาฯก็ได้ประสานกับผมว่า เอ๊ะ ผู้ประสานงานแจ้งมาว่าจะเริ่มมีการจัดซื้อแล้วนะ เพราะว่าเบื้องต้นเค้าจะซื้อแยกไปก่อน 1 ล้านเทสต์ โดยอ้างว่าต้องการเร่งด่วน และอีก 7.5 ล้านเทสต์จะใช้วิธีการประมูล ซึ่งเราก็บอกว่าไม่เห็นด้วยเพราะจะแบ่งซื้อแบ่งจ้างทำไม และสืบวงในมาได้ว่าจะจัดซื้อในราคา 200 บาทเป็นค่าเทสต์ 160 บวกค่าขนส่งอีก 40 บาท ทั้งที่เราต่อรองเบื้องต้นแล้วว่าจะต้องไม่เกิน 120 บาทรวมค่าขนส่ง ดังนั้นเราเลยไม่ยอม เลขาฯจึงสั่งกับผู้ประสานงานสปสช.ไปว่าไม่ให้ทำแบบนั้น

“ก็เลยจะเกิดการประมูล 8.5 ล้านเทสต์ วันที่ 27 กรกฎาคม ปรากฏว่าเค้าแจ้งมาให้ผมคนเดียวให้เป็นผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเราไม่ทราบกระบวนการใด ๆ ในการต่อรองราคา หรือเร่งด่วนและจะเจาะจงอย่างไร จะเห็นควรหรือไม่ เค้าส่งลิงค์มาให้ผมเวลา 23.56 น. ว่า วันถัดมา 09.00 น. จะมีการประมูล ผมก็เลยแจ้งให้คณะกรรมการต่อรองฯทั้งหมดเข้าไปร่วมรับรู้ด้วย เราก็เลยแย้งในที่ประชุมว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ ปรากฏว่าในวันนั้นเค้าจะยื่นซองประมูล ปรากฏว่าบริษัทที่เราต่อรองมาคืบหน้า 2 เจ้านี้กลับไม่มีสิทธิที่จะยื่นทั้งคู่เลย เค้าอ้างว่าประสานงานไม่ได้ เราก็ยืนยันไปว่าทำแบบนั้นไม่ได้”

“เพราะในมติมีกำหนดไว้แล้วคณะกรรมการต่อรองราคาจะต้องเข้ามาร่วมในกระบวนการนี้ด้วย ปรากฏว่าเค้ามอบให้เราเป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์ เลยแย้งไปว่าให้ไปคิดดูให้ดีเพราะจะเกิดเรื่องใหญ่ขึ้น เค้าก็เลยต้องล้มการเปิดซองในวันนั้น และแจ้งกับเราว่าเค้ามีพรบ.ของเค้าอยู่ ไม่ใช้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีแต่วิธีคัดเลือก แต่ถ้าจะทำแบบเฉพาะเจาะจงก็ได้ ถ้าลูกค้าต้องการต้องทำหนังสือเป็นทางการมา”

“ผมก็เรียกประชุมมติคณะกรรมการต่อรองราคาฯในวัดถัดมา และยืนยันกลับไปว่าสามารถยื่นให้ทำเฉพาะเจาะจงได้ เราก็เลยขอตกลงเลยให้ยื่นเจาะจง เพราะเรามีรายงานเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เราเรียก 2 บริษัทเข้ามา เราบอกว่าการต่อรองครั้งนี้ไม่ได้ต้องการเอาถูกที่สุด แต่เราต้องการได้ของดีมี 3 มิติ 1 ต้องมีคุณภาพว่าผ่านอย.อย่างเดียวไม่พอ 2. ต้องมีการตีพิมพ์ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราช และ 3 ต้องจัดซื้อของให้ทันเวลาในการนำมาใช้โดยเร็วที่สุดซึ่งคุยตั้งแต่ 9 กรกฎาคม แล้วคือ 1 เดือนคือวันที่ 10 สิงหาคม เราทำทีโออาร์ไปให้เลย กำหนดกรอบการส่งของ มีรายงานการประชุมแนบไป”

แม้ไม่ได้ระบุบริษัท แต่ในรายงานการประชุมระบุชัด  เราเช็คราคามาแล้วเพราะคุยตั้งแต่ 4 กรกฎาคม พอ 9 กรกฎาคม เราเลือกแล้วว่าจะเลือกเจ้าที่เป็นหลังอิงได้คือเจ้าที่มี WHO รับรองเลือกมา 2 บริษัท และไปสืบค้นราคาว่า 2 บริษัทนี้ขายให้ WHO ให้ประเทศทั่วโลกที่ยากจน Panbio ของบริษัท แอบบอต ราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐ STANDARD Q โดยเอ็มพี กรุ๊ป ขายราคา 4.96 ดอลลาร์สหรัฐ คือตกประมาณ 160 บาท

ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการมายื่นเสนอราคาที่ต่ำกว่าที่ WHO เสนออยู่ 1 ดอลลาร์สหรัฐกว่า ๆ ทำให้เราเสนอไปในรายงานการประชุม ด้วยเงื่อนไขราคานี้จึงนำไปสู่การเสนอขอบอร์ดสปสช.ตามลำดับว่าได้เป็นราคา 120 บาท รวมค่าขนส่งถึงหน่วยบริการ”

“แต่ปรากฏว่าองค์การเภสัชกรรม กลับไม่ทำอย่างนั้น แล้วก็มาบอกว่าถ้าจะให้ทำอย่างนั้นจะต้องให้เราทำหนังสือไป เราก็ทำหนังสือไปวันที่ 29 กรกฎาคม ให้โรงพยาบาลราชวิถี เพราะเราไม่มีหน้าที่โดยตรงแล้วก็ ซีซี ส่งไปที่เค้า แล้วเค้าก็มาล็อบบี้ขอกับเจ้าหน้าที่เราเป็นการภายในว่าเรื่องเร่งด่วน เค้าขอใช้วิธีจัดซื้อแบบของเค้าได้ไหม และขอให้เราตัดคำว่า WHO ออก ตัดคำว่าการตีพิมพ์ออกได้ไหม แล้วก็บอกว่าจะสามารถจัดซื้อได้ภายใน 7 วันส่งของ ซึ่งก็ตรงกับวันที่ 10 สิงหาคม เราก็เลยยอมตรงข้อนี้ไปให้ ไม่ใช่ว่าเราปรับเปลี่ยนไปปรับเปลี่ยนมา”

“วันสุดท้ายวันที่ 5 ที่ 6 ขอปรับสเปคเราอีก แต่เราไม่ยอม ผมไม่ยอมเพราะคุณจะต้องเอามาเป็นข้ออ้างแน่นอนว่าเราปรับเปลี่ยนสเปค ทั้งที่เรายืนยันตั้งแต่ 9 กรกฎาคมแล้วว่าให้เจาะจง เราไม่กลัว เพราะเรามีหลังอิงอยู่แล้ว มีหลักการและเหตุผลอยู่แล้ว สตง.เองก็บอกว่าไม่จำเป็น คณะกรรมการที่ประชุมด้านกฎหมายก็ยืนยันว่าจริง ๆ ไม่ต้องมีทีโออาร์ก็ได้ ส่งของก่อนก็ยังได้”

“่คณะกรรมการพร้อมที่จะออกมาปกป้องประชาชน เพราะของถูกก็โดนด่า ของแพงก็โดนด่า เราทำงานอย่างระเอียดรอบคอบ มีขั้นตอนตั้งแต่ 4 กรกฎาคม มีการตรวจสอบบริษัทต่าง ๆ วิธีการใช้ต่าง ๆ อย่างละเอียด”

“ในนั้นมีอยู่ 19 บริษัทที่เอฟดีเอเรียกคืน ที่ระบุเป็นคลาส 1 ถือว่าเป็นอันตรายสูงสุด เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ หมายถึงต้องบังคับใช้ข้อกฎหมาย สั่งการว่าดิสทริบิวเตอร์ต้องทำอย่างไร หน่วยงานสาธารณสุขต้องทำอย่างไร หากเทสต์ไปแล้วต้องเทสต์ใหม่”

13 สิงหาคม 2564
https://www.prachachat.net/marketing/news-737829
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 สิงหาคม 2021, 11:26:16 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
หมอสุภัทร เผยความในใจ หลังพ่ายศึก ATK ถามมีที่ไหนในโลก ประมูลซื้อของ 8.5 ล้านชิ้น แพงกว่าขายที่เมืองนอกเป็นเท่าตัว ฟาดระบบราชการ

วันที่ 25 ส.ค.64 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ความว่า ความในใจของผม…หลังพ่ายศึก ATK

ค่ำคืนนี้ (24 สิงหาคม 2564) เป็นวันที่ผมได้พักมากกว่าทุกวันตั้งแต่ 2 สิงหาคม 2564 ที่ผมขึ้นกรุงเทพเข้าร่วมปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุงแล้วก็ตามมาด้วยศึก ATK จนวันนี้ นายกฯประยุทธ์กลับลำ พลิกมติ ครม.ให้จัดซื้อจัดจ้างได้โดยไม่ต้องใช้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก ยกแรกศึกนี้ก็เหมือนแพทย์ชนบทกำลังพ่ายศึก ATK

ศึกครั้งนี้สั้นๆแต่เข้มข้น เริ่ม 10 ถึง 24 สิงหาคม 2564 เป็น 2 สัปดาห์แห่งการเดินเกมส์เพื่อสู้กับอำนาจรัฐ อำนาจรัฐที่ระดมมาทุกองคพยพเพื่อจะปกป้องระเบียบวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐ

คือจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบทีไรได้แต่ของถูกราคาแพง เงินภาษีประชาชนไม่ถูกใช้อย่างคุ้มค่า แน่นอนว่าเราสู้ไม่ไหว กับองคาพยพของระบบราชการที่ไม่สนใจสาระ

ความล้มเหลวสำคัญของกรณี ATK 8.5 ล้านชุดครั้งนี้ ง่ายๆสั้นๆคือ ความเดิม สธ.และ สปสช.สนใจการจัดซื้อ ATK คุณภาพสูงให้โรงพยาบาลใช้ตรวจเชิงรุกและเผื่อแจกให้กลุ่มเสี่ยงกลับไปตรวจตนเองและญาติที่บ้านได้ จึงมีการกำหนดราคากลางที่ 120 บาทเพราะหวังจะได้เกรดดีที่มีมาตรฐานองค์การอนามัยโลก


แต่พอถึงขั้นตอนการจัดซื้อจริง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ รพ.ราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม มีการตัดคำว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกออกไป คือลดสเป็คโดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ล็อคสเป็ค แต่กลับไม่ลดราคากลางลงมาด้วย ตอนนั้น สปสช.ก็คงคิดไม่ทัน ผลก็คือเราก็ได้ผู้ชนะการประมูลที่เสนอราคาต่ำสุดที่ 70 บาท เป็นเกรด home use ไม่ใช่ professional use ตามที่เคยตั้งใจไว้

ที่สำคัญ มันเป็นเรื่องตลกที่น่าเศร้าสำหรับประเทศไทย ยี่ห้อที่ประมูลได้ขายปลีกในห้างที่อเมริกาชิ้นละ 1 USD ที่ยุโรปขาย 0.85 ยูโร หรือราว 33 บาท ในเวปอาลีบาบาก็ขาย 1 ล้านชิ้นในราคา 1 USD และยังสามารถต่อรองได้

แต่เมืองไทยซื้อทีเดียว 8.5 ล้านชิ้นแต่ได้ราคาชิ้นละ 70 บาท ระบบราชการไทยและผู้บริหารของทั้ง ศบค. สธ. สปสช. อย. อภ.สารพัดองค์กรตัวย่อรวมทั้งรัฐบาล ช่างไม่รู้สึกรู้สาเลยหรือกับระบบระเบียบราชการที่กลไกที่ไร้ประสิทธิภาพที่จัดซื้อจัดจ้างทีไรได้แต่ของถูกราคาแพง

ผลประโยชน์และการคอรับชั่นใต้โต๊ะมีไหมนั้น ผมไม่รู้ (คิดว่าไม่มี) แต่ความไร้ประสิทธิภาพของกลไกการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้นเด่นชัดมาก ผมจะไม่ออกมาคัดค้านเลย หากการประมูลครั้งนี้องค์การเภสัชกรรมลดสเป็คแล้วให้เป็นเกรด home use มาตรฐาน อย.ไทยแล้ว มีการลดราคากลางลงมาให้สมเหตุสมผลด้วย แต่นี้ลดแต่สเป็คโดยไม่ลดราคากลาง อันนี้ไม่เอื้อเอกชนก็แสดงถึงความไร้สำนึกพื้นฐานในการปกป้องภาษีประชาชน

พวกเราแพทย์ชนบททำงานในโรงพยาบาลชุมชน งบน้อยใช้สอยประหยัดจะได้ดูแลผู้ป่วยได้มากคนที่สุด แต่ดูภาพใหญ่ ยิ่งตอกย้ำว่า ประเทศชาติเราคงไปไม่รอด ไปได้ไม่ไกล

ส่วนอีกประเด็นที่ผมเรียนรู้นั้น ผมพบว่า ผมยังไม่นิ่งพอกับบรรดาไอโอและนักวิชาการอีกฝ่ายที่ออกมาเป็นชุดเพื่อโจมตีผมและแพทย์ชนบท ผมอยากจะชี้แจงและตอบโต้ แต่โชคดีที่พี่ๆห้ามไว้ บอกว่าให้มั่นคงในการต่อสู้ให้ตรงประเด็นหลัก อย่าไปเสียสมาธิกับคนที่หาเรื่องใส่ความเรา ภูเขาทองสูงตระหง่านสวยงาม จะมีหมามาเยี่ยวรดบ้างก็เป็นธรรมดา

ศึก ATK แม้ยกแรกแพทย์ชนบทเราจะพ่ายแพ้ แต่ผมและเพื่อนสมาชิกแพทย์ชนบทยังมีกำลังใจดีมาก เพราะภารกิจของเรานั้นไม่ใช่เรื่องแพ้ชนะศึก ATK แล้วเลิก แต่เพื่อใช้กรณี ATK สะท้อนให้สังคมเห็นถึงระบบราชการอันเส็งเคร็งที่ต้องการการรื้อใหญ่ นี่ต่างหากที่เป็นภารกิจหลักของเรา

มีที่ไหนในโลกที่ประมูลซื้อของ 8.5 ล้านชิ้น แล้วซื้อได้ในราคาต่อชิ้นที่แพงกว่าซื้อชิ้นเดียวจากห้างในเยอรมันถึง 2 เท่า มีแต่ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรานี่แหละ

25 ส.ค. 2564
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6582414

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 5 “ตู่ไม่แข็ง ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายจะยังคงตรวจสอบคุณภาพ ATK ที่ประมูลได้ต่อไป” แถลงโดย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ วันที่ 24 สิงหาคม 2564 การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ 24 สิงหาคม 2564 ได้มีการเสนอในที่ประชุมให้แก้ไขมติ ครม.และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

อันสืบเนื่องจาก มติ ครม.ในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ในเรื่องการจัดซื้อ ATK ในหน้า 53 วงเล็บ 6 ระบุว่า “การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจ ATK ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)” โดยให้ปรับปรุงเป็นข้อความว่า “ในเรื่องการจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้ สธ.เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด”

ทางชมรมแพทย์ชนบทได้เห็นแนวโน้มของความพยายามแก้ไขข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรีมาตลอดสัปดาห์ และวันนี้ก็มีความชัดเจนว่า “รัฐบาลของนายกประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น ไม่แข็งจริง การไม่มีหลักยึดทีมั่นชัด ไม่แข็งที่จะยืนบนหลักที่ถูกต้อง ทำให้การนำรัฐนาวาประเทศไทยสู่การฝ่าฟันวิกฤตโควิดไปได้นั้นสาหัสและเจ็บหนักมากทั้งชีวิตผู้คนและระบบเศรษฐกิจไทย”

ชมรมแพทย์ชนบทยังคงยืนบนหลักการของแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ที่เคยเสนอไปแล้วว่า อำนาจการจัดซื้ออยู่ที่องค์กรรัฐ แต่อำนาจการตรวจสอบอยู่ที่เราภาคประชาชน ชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนยังยืนยันที่จะระดมทีมปฏิบัติการจากทุกภาค ทำการตรวจสอบชุดตรวจ ATK ที่ได้รับการประมูลว่ามีคุณภาพทั้ง sensitivity และ specificity ดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ มีผลบวกปลอมและผลลบปลอมในสัดส่วนที่เกินกว่าจะรับได้หรือไม่

ทั้งนี้ เราจะเริ่มปฏิบัติการทันทีที่ชุดตรวจได้กระจายลงสู่พื้นที่ และหากผลการตรวจสอบพบว่าชุดตรวจมีคุณภาพต่ำเกินกว่าที่จะรับได้ เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ ATK ที่ใช้เป็น home use เกือบทุกยี่ห้อรวมทั้งยี่ห้อที่ชนะการประมูล ราคาขายปลีกในห้างในสหรัฐอเมริกาและยุโรปราคาเพียง 1 USD การที่องค์การเภสัชกรรมลดสเป็คลงโดยไม่ลดราคากลางที่ 120 บาทลงไป ทำให้เราจัดซื้อได้ ATK เกรด home use ในราคากลางของ professional use เป็นการใช้เงินกู้และภาษีประชาชนอย่างไม่คุ้มค่าเลย และจะกระทบต่อการควบคุมโรคโควิดและการเปิดประเทศ

ชมรมแพทย์ชนบทขอให้กำลังใจกับบุคลากรด้านสุขภาพทั้งประเทศ ให้สู้ทำงานหนักต่อไปแม้จะเหนื่อยยาก นี่คือชะตากรรมของพวกเราภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน

24 ส.ค. 2564
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6581279

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.64 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "ขอบคุณหมอวิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ.นะ ที่ทำให้เรื่อง ATK นี้ไม่จบ ทั้งๆที่ผมและแพทย์ชนบทกำลังจะจบเรื่องนี้แล้วเชียว

เมื่อวาน 30 สิงหาคม 2564 องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และบริษัท world medical alliance ลงนามในสัญญาจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ท่ามกลางเสียงคัดค้านและความไม่มั่นใจของสถานบริการและบุคลากรทางการแพทย์ นั่นก็ว่ากันไป ชมรมแพทย์ชนบทก็ตั้งใจไว้แล้วว่า เราจะตรวจสอบกันแบบแฟร์ๆ เอางานวิชาการมาพิสูจน์ จึงได้เชิญอาจารย์ นักวิจัย นักระบาด มาทำการศึกษา ยอมเลิกแนวคิดการตรวจสอบด้วย 60 องค์กรในเครือข่ายแพทย์ชนบท โดยจะให้อิสระทีมวิจัยได้วางวิธีวิทยา รวมทั้งการขออนุญาตผ่านคณะกรรมการจริยธรรมอย่างตรงไปตรงมา ทำให้งานวิจัยนี้คงใช้เวลาสองสามเดือนเป็นอย่างน้อย

ชมรมแพทย์ชนบทตั้งใจแล้วว่าจะจบเรื่องนี้แบบใช้วิชาการมาพิสูจน์ เราไม่คิดจะฟ้อง ปปช. ฟ้อง สตง. ฟ้องศาลปกครอง หรือแม้แต่ปฏิบัติการกับรัฐบาล ศบค.และ รมต.อนุทิน ที่ละเลยการแก้ปัญหาเรื่องนี้ปล่อยให้องค์การเภสัชกรรมลดสเป็คโดยไม่ลดราคากลาง จนคนไทยได้ของถูกราคาแพง

แต่แล้ว นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ก็ดันดำเนินการยื่นเรื่องต่อ ปชช.ให้ตรวจสอบความผิดของคณะทํางานกําหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ และ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ เป็นคณะอนุกรรมการ กล่าวหาว่าทำผิดกฏหมายด้วยการล็อคสเป็ค เพื่อแก้เกี้ยวที่องค์การเภสัชไปลดสเป็คโดยไม่ลดราคากลางจนทำให้ประมูลได้ของถูกราคาแพง

การฟ้องร้องต่อ ปชช.ครั้งนี้เป็นการกระทำในนาม ผอ.องค์การเภสัชกรรมที่บอร์ดองค์การเภสัชกรรม โดยประธานบอร์ดคือ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต เห็นชอบแล้วหรือ น่าจะเป็นการดำเนินการในฐานะส่วนตัวมากกว่าไหม ฝากทางบอร์ดองค์การเภสัชให้ความกระจ่างด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะดำเนินการในนามส่วนตัวหรือองค์การเภสัชกรรม ผมเองและชมรมแพทย์ชนทต้องขอขอบคุณนายแพทย์วิบูลย์ ด่านวิบูลย์อย่างสูง ที่ช่วยทำให้เรื่องที่กำลังจะจบนี้ไม่จบ และช่วยทำให้ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายคึกคักมีแรงฮึดอีกครั้งที่จะขุดคุ้ยเรื่องนี้ต่อไปอย่างเต็มกำลัง ช่วยทำให้ผมเองมีพลังที่จะตะลุยเรื่องนี้ให้ความจริงปรากฏ

จุดเริ่มต้นของมหากาพย์ทุจริตยาภาค 2 กำลังจะเริ่มแล้วเพราะ นพ.วิฑูรย์เอง ขอบคุณจากใจอีกครั้ง ที่คุณหมอวิฑูรย์ทำให้เรื่องนี้ไม่จบ"

สยามรัฐออนไลน์  31 สิงหาคม 2564