ผู้เขียน หัวข้อ: ถูกปฏิเสธเพราะ ‘โควิด’ รพ.ไม่รับทำคลอด ‘แม่เจ็บท้องหนัก’  (อ่าน 341 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ถูกปฏิเสธเพราะ ‘โควิด’ รพ.ไม่รับทำคลอด ‘แม่เจ็บท้องหนัก’

“วันนั้นหนูน้ำคร่ำแตกแล้วตั้งแต่อยู่ที่บ้าน แต่ไม่มีโรงพยาบาลที่ไหนทำคลอดให้ บอกว่าเตียงเต็ม แม้กระทั่งโรงพยาบาลที่หนูฝากท้องยังปฏิเสธ”

คำพูดน้ำเสียงเศร้าของ นางสาวเอ (นามสมมุติ) เปิดใจเล่าเรื่องราววิกฤตชีวิตที่เพิ่งผ่านมา ในงานจัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “ท้อง-คลอดในวิกฤติโควิด ชะตากรรมแรงงานหญิงที่ถูกเมิน” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อสะท้อนปัญหาและข้อเสนอไปยังนายจ้าง และภาครัฐ ให้ร่วมมือกันและมีมาตรการตรวจเชิงรุกให้แรงงาน ติดเชื้อมีโรงพยาบาลสนามรองรับ และให้มีมาตรการพิเศษคุ้มครองดูแลแรงงานหญิงตั้งครรภ์ให้มีความปลอดภัย

อย่างเรื่องราวของสาวโรงงานย่านปทุมธานีรายนี้ เธอกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 3 ต้องอยู่ทามกลางความเสี่ยงทั้งคลัสเตอร์โรงงาน และคลัสเตอร์ชุมชนใกล้บ้าน ที่สุดเธอก็ติดเชื้อโควิด-19 เข้าจริงๆ

นางสาวเอ เล่าว่า ตอนที่รู้ว่าติดเชื้อตอนนั้นท้องแก่ใกล้ถึงกำหนดคลอดแล้ว แน่นอนอยู่ในบ้านหลังเล็ก พอคนหนึ่งติดก็ทยอยติดกันทั้งบ้าน ท่ามกลางชุมชนที่อยู่ก็มีผู้ติดเชื้อมากเช่นกัน หลังจากนั้นก็เริ่มกักตัวอยู่บ้าน เริ่มประสานโรงพยาบาลที่ไปฝากครรภ์ไว้ ถามว่าถ้าเจ็บท้องคลอดไปได้หรือไม่ ก็ถูกตอบว่าไม่มีเตียงสำหรับคนไข้โควิด-19 ก่อนจะเงียบหายไปจนกระทั่งวันที่เจ็บท้องคลอด ดิฉันก็โทรไปโรงพยาบาลดังกล่าวอีกครั้ง ก็ตอบว่าเตียงเต็มเช่นเดิม และไม่มีการประสานส่งต่อไปคลอดที่โรงพยาบาลอื่นด้วย

“เพราะคนจะคลอดมันอั้นไม่ได้หรอก จึงพยายามประสานโรงพยาบาลอีก 2 แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นโรงพยาบาลที่ดิฉันมีสิทธิประกันสังคม ก็ตอบว่าเตียงเต็ม และไม่มีการประสานส่งต่อไปคลอดเช่นกัน ที่สุดก็โชคดีกับการประสานโรงพยาบาลที่ 4 คือโรงพยาบาลธัญบุรี เขารับทำคลอดและรักษาให้ รวมใช้เวลาหาเตียงบนรถ 2 ชั่วโมงกว่า จนตอนนี้ดิฉันและลูกซึ่งติดโควิดไปด้วยรักษาและกักตัวจนปลอดภัยแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็ต้องจ่ายเอง ไม่สามารถใช้สิทธิสวัสดิการอะไรได้”

“วินาทีนั้นรู้สึกเสียใจมากกับคำตอบที่ได้รับ เพราะกลัวว่าลูกในครรภ์จะเป็นอะไรไปด้วย และทำให้เกิดความสงสัยต่อโรงพยาบาลที่อ้างว่าเตียงเต็ม ทำไมที่นี้รับได้ ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กกว่า แต่ทำไมที่โน่นรับไม่ได้ และไม่ช่วยประสานส่งต่อใดๆ เลย”

เธอทิ้งท้ายฝากให้ภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ให้ตระหนักว่าชีวิตของคนจะฝากไว้กับโชคชะตาไม่ได้ แต่ต้องมาจากการจัดการที่เป็นระบบ ซึ่งระบบต้องทำให้ดีกว่านี้

แม้จะทุลักทุเล แต่เรื่องราวของนางสาวเอก็จบด้วยดี ต่างจากเรื่องราวแรงงานหญิงตั้งครรภ์และติดโควิด-19 ที่สะท้อนในงานเสวนาออนไลน์ อย่างรายหนึ่งที่อายุครรภ์ 8 เดือนแล้ว เธอเสียชีวิตทั้งที่ยังไม่ได้เห็นหน้าลูกเลย

ต้องดูแลทั้ง 2 ชีวิต

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หน้า 11
เผยแพร่   วันที่ 16 สิงหาคม 2564

16 สิงหาคม 2564
https://www.matichon.co.th/lifestyle/social-women/news_2887203