ผู้เขียน หัวข้อ: วัคซีนทางเลือก(วัคซีนmRNA ต่อโปรตีนหนาม):เตรียมพร้อมทันใช้ หรือเตรียมพร้อมกันลืม  (อ่าน 4319 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด

บทความนี้ยาวนิดหนึ่ง แต่เมื่อท่านอ่านจบจะเข้าใจอย่างถ่องแท้และครบถ้วนของภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ และจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ยิ่งขณะนี้ได้ยินข่าวว่า วัคซีนทางเลือกหรือ mRNA (อ่านว่า เอ็ม-อาร์-เอน-เอ หรือขอย่อว่า วัคซีน ๔ อ.นะครับ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงมากโดยวัดจากระดับ IgG ในเลือด(อ่านว่า ไอจีจี)ต่อโปรตีนหนาม (spike protein ของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของผิวเชื้อที่ทำให้สารพันธุกรรมของเชื้อเข้าไปในเซลล์มนุษย์และเพิ่มจำนวนได้) ระดับ IgG ในเลือดจะสูงแบบนี้นานเป็นปีไหม? เพราะส่วนมากท่านจะเห็นแต่ระดับ IgG ใน ๑-๓ เดือนหลังฉีดเข็มที่สองแล้ว ไม่ได้เห็นนานไปถึง ๕-๖ เดือนหลังฉีดเข็มที่สองว่า ระดับ IgG ในเลือดยังอยู่ที่เดิมหรือตกลงมามากจนบางรายใกล้ระดับปกติแล้ว ยิ่งใครไปแอบวัดระดับ IgG ในเลือดได้ค่าต่ำหรือเป็นลบจากการฉีดวัคซีนชนิดใดก็ตาม ก็คิดว่าภูมิคุ้มกันหมดแล้ว เกิดความกังวลและรีบไปหาวัคซีนใหม่โดยเฉพาะวัคซีน ๔ อ. มาฉีดเพิ่มอีก

ขณะนี้เริ่มมีข่าวว่าประเทศสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล(ดูภาพข้างล่าง)ที่ประชากรเกินครึ่งฉีดวัคซีน ๔ อ. ครบสองเข็มแล้ว(อเมริกาฉีดครบร้อยละ ๕๐ ขึ้นไป. อิสราเอล ฉีดครบร้อยละ ๖๓.๗) หลังฉีดครบประมาณ ๖ เดือน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันกลับเพิ่มขึ้น ยิ่งไม่สวมหน้ากากอนามัย จัดคอนเสิร์ตและถอดหน้ากากโชว์ ยิ่งเห็นชัดว่าผู้ติดเชื้อที่มีอาการมีจำนวนเพิ่มขึ้นฉับพลันในประเทศเหล่านี้ บางคนยิ่งกังวลว่า “หรือว่าภูมิคุ้มกันไม่เหลือแล้วหรือ”? ผมจึงอยากขอวิเคราะห์แบบสรุปสั้นๆ ให้ทราบว่า เกิดจากสาเหตุใด แล้วภูมิคุ้มกันชนิต  IgG ระดับสูงนี้หายไปไหน ไม่ช่วยลดการติดเชื้อเลยหรือ?
                         
ขอเริ่มตั้งแต่ตอนฉีดวัคซีน ๔ อ. ภูมิคุ้มกันวัดจากระดับ IgG ในเลือดขึ้นสูงมากใน ๒ เดือนแรกหลังฉีดครบสองเข็ม ยิ่งมี IgG ระดับสูงมากขึ้นเท่าใดในเลือด ยิ่งทำให้ผู้นั้นแสดงอาการของโรคน้อยลงมากเท่านั้น ทำให้ดูเหมือนว่า ป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งๆ ตนเองติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อยมาก จึงไม่ได้ไปตรวจหาเชื้อและไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อไปแล้ว อัตราส่วนของผู้ป่วย(แสดงอาการ)ต่อผู้ติดเชื้อจะต่ำมากหลังฉีดวัคซีน ๔ อ. ครบได้ ๒-๓ เดือนแรก ระยะนี้จึงเข้าใจว่าการฉีดวัคซีน ๔ อ. ป้องกันการติดเชื้อได้ ดังนั้น การที่มีระดับ lgG ในเลือดสูงจะเป็นภูมิคุ้มกัน“เตรียมพร้อมทันใช้"สู้เชื้อหากการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เหมือนนักผจญเพลิงที่ใส่ชุดดับเพลิงเข้าไปดับเพลิง ชุดต้องหนา ไม่ติดไฟ กันความร้อน เตรียมพร้อมทันใช้ สู้ไฟร้อนแรงได้ เช่นเดียวกัน ระดับ IgG ใบเลือดที่สูงแบบนี้เหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เช่น หมอที่ต้องตรวจผู้ติดเชื้อบ่อย ๆ มีโอกาสติดเชื้อจำนวนมากเป็นประจำ     จะได้ลดความรุนแรงของโรค และมีอาการน้อยเมื่อติดเชื้อจำนวนมากขึ้นมา ดังนั้นในระยะ ๒-๓ เดือนหลังฉีดวัคซีน ๔ อ. หรือวัคซีนชนิดอื่นครบหรือบวกเข็มที่สามแล้วแม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากแต่จะไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันจะมีน้อยลงเสมอ เพราะจำนวนผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการที่จะขอไปตรวจหาเชื้อจะมีน้อย ทำให้มีการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันลดน้อยตามไปด้วย เลยนึกว่าป้องกันการติดเชื้อได้ทั้ง ๆ ที่ป้องกันการแสดงอาการรุนแรงจากการติดเชื้อได้ดี หรือทำให้มีอาการน้อยมากจนเจ้าตัวไม่ได้คิดหรือกังวลว่า ตนเองเจ็บป่วยหรือติดเชื้อจากโรศโควิต-๑๙

เมื่อฉีดวัคซีนชนิดใดก็ตามรวมถึงวัดขึ้น ๔ อ. ได้นานเกิน ๓ เดือนขึ้นไป ระดับ IgG ในเลือดที่สูงมากจะค่อยๆ ตกลงมาเรื่อย ๆ บางคนบอกว่า ลดระดับลงมาเดือนละครึ่งจนถึง ๖ เดือนหลังฉีดครบ เมื่อถึงเวลานี้ หากมีการติดเชื้อจำนวนปานกลางถึงมาก เชื้อจะบุกรุกเข้าร่างกายได้มาก ทำให้มีอาการมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ ๒-๓ เดือนหลังฉีดเพราะระดับ IgG ในเลือดเหลือน้อยกว่า ยิ่งในประเทศที่ประกาศยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัย จัดงานคอนเสิร์ตชุมนุมฝูงชนโดยไม่รักษาระยะห่าง ประชาชนจะรับเชื้อจำนวนมาก หลังจากนี้ไม่นาน อาการจะแสดงออกชัดเจนและมีการตรวจหาเชื้อมากขึ้น ทำให้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเพิ่มขึ้นชัดเจนในประเทศที่แสดงใน ๒ รูปภาพในหน้าแรก เพราะอัตราผู้ป่วยที่แสดงอาการต่อผู้ติดเชื้อทั้งหมดจะสูงขึ้นกว่าอัตราที่พบใน ๒-๓ เดือนแรกหลังฉีด เพราะ IgG ในเลือดลดระดับลงมากแล้ว จึงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะเมื่อเชื้อกลายพันธุ์เดลตา พันธุ์เก่ง เข้าไประบาดในพื้นที่นั้น                                                                                                                                                                                                                                                                 

แต่ทำไมผู้ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อจึงแสดงอาการน้อย  ยิ่งป่วยรุนแรงถึงตายจะมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนหรือยังฉีดไม่ครบ เพราะการติดเชื้อหรือการฉีดวัคซีนเมื่อ ๖ เดือนก่อนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันชุดอื่นที่เราไม่ได้ตรวจและเป็นภูมิคุ้มกันชนิด“เตรียมพร้อมกันลืม”ไว้ช่วยเราแล้ว ภูมิคุ้มกันชุดนี้จะช่วยผลิต IgG ออกมาต่อสู้เชื้อไวรัสได้รวดเร็วกว่าผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน ดังนั้นระดับ IgG ในเลือดและที่อื่น ๆ จะกลับสูงขึ้นใหม่ภายใน ๗ วันเพื่อทำลายเชื้อจนทำให้ผู้ป่วยรายนั้นมีอาการน้อยและหายเร็วขึ้น ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอาจจะใช้เวลา ๗ ถึง ๑๔ วันกว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงเท่ากัน ภูมิคุ้มกันชุดนี้ที่กล่าวถึงได้แก่ เซลล์ความจำทั้ง T-cell, B-cell ในเลือดและในต่อมน้ำเหลือง และยังมี plasma cell ที่เตรียมพร้อมกันลืมในไขกระดูกและอยู่นานอย่างน้อยถึง ๘-๑๒ เดือนหลังหายจากโรคติดเชื้อแล้วแต่เราไม่ได้ตรวจวัดหรือไม่เคยทราบถึงภูมิคุ้มกันชุดที่เตรียมพร้อมกันลืมในร่างกาย เมื่อไปวัดค่า IgG ได้ต่ำในเลือด ก็นึกว่าไม่มีภูมิคุ้มกันแล้วซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่ฉีดวัคซีนยี่ห้อใดครบสองเข็มและแอบไปตรวจภูมิคุ้มกันนะครับว่า แม้วัดได้ IgG ในเลือดตกมาถึงระดับต่ำหรือไม่พบ ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านไม่มีภูมิคุ้มกันใด ๆ เหลือแล้ว

การศึกษาในผู้ป่วยหายจากโรคโควิด-๑๙ ในประเทศเยอรมนีได้ ๖๐ วัน พบว่าร้อยละ ๑๗ ตรวจพบ IgG ต่อโปรตีนหนามโนระดับเท่ากับคนที่ไม่เคยติดเชื้อหรือแปลว่าไม่พบภูมิคุ้มกัน แต่กลับตรวจพบภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ที่มีความจำต่อโปรตีนหนามในกลุ่มนี้ถึงร้อยละ ๗๘ และตรวจพบในอัตราใกล้กันคือร้อยละ ๘๐ ในผู้ที่ยังมี IgG ในเลือดสูงกว่าสามเท่าของคนปกติขึ้นไป ซึ่งแสดงว่า ภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์นี่แหละเป็นภูมิคุ้มกันชนิด “เตรียมพร้อมกันลืม” และเกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อหรือการฉีดวัคซีน ที่สำคัญคือพบในอัตราที่ใกล้เคียงกันระหว่างผู้ที่มี IgG ในเลือดสูงมากและผู้ที่ตรวจไม่พบ IgG แต่เคยติดเชื้อโรคโควิตมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่ตรวจพบ IgA (อ่านว่า ไอจีเอ)ที่จับกับโปรตีนหนามได้ในน้ำมูกและน้ำตาในผู้ที่ตรวจไม่พบ IgG แล้ว แสดงว่าผู้ติดเชื้อที่ตรวจไม่พบ IgG ในเลือดแล้ว ยังตรวจเจอภูมิคุ้มกันแบบ lgA ในจมูกและนัยน์ตา ซึ่ง IgA เป็นปราการด่านแรกในการกำจัดเชื้อไวรัสตอนที่เชื้อ"แลนดิ้ง"มาลงที่เซลส์ในโพรงเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนหรือนัยน์ตา ส่วนการฉีดวัคซีนยี่ห้อใดครบสองเข็ม เราสามารถติดตามดูจากงานวิจัยว่า มีภูมิคุ้มกันชุดนี้เกิดขึ้นและอยู่นานด้วยใช่ไหมจากการตรวจหาภูมิคุ้มกันชนิด “เตรียมพร้อมกันลืม” วิธีหนึ่งคือ วิธี ELISpot

ดังนั้น ผู้ติดเชื้อโควิตรายใหม่ที่ตายเพิ่มขึ้นในขณะนี้ทั้งในสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล คือผู้ที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน คนกลุ่มนี้จึงไม่มีภูมิคุ้มกันทั้งชนิด “เตรียมพร้อมทันใช้”หรือ “เตรียมพร้อมกันลืม” ไว้สู้กับเชื้อไวรัสเดลตา ส่วนผู้ติดเชื้อ(ผู้ป่วย)รายใหม่ต่อวันที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในผู้ที่ฉีดวัคซีนขึ้นมาแล้ว ๕-๖ เดือน ซึ่งเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันชนิด “เตรียมพร้อมกันลืม” เมื่อเกิดการติดเชื้อ ร่างกายรีบผลิต IgG และIgA ขึ้นมาใหม่รวมทั้งผลิตเซลล์ทำลายเชื้อไวรัสหรือเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส จึงทำให้ผู้ติดเชื้อแสดงอาหาร แต่ไม่ป่วยรุนแรงและไม่ป่วยถึงตาย ในระยะหลังฉีดวัคซีนมาได้ ๖เดือนแล้ว อัตราส่วนของผู้แสดงอาการต่อผู้ติดเชื้อจะสูงกว่าใน ๒-๔ เดือนแรกหลังฉีดแม้จะมีอัตราการติดเชื้อหรือจำนวนผู้ติดเซื้อเท่ากันในสองระยะนี้ แต่รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันจะสูงกว่าเพราะมีผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการจำนวนมากกว่าในระยะ ๔-๖ เดือนหลังฉีดวีคซีนไปแล้วนั่นเอง เราจึงพบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่และมีอาการแสดงออกหลังการฉีดวัคซีนซิโนแวดด้วยเช่นกันหลังฉีดมาได้นาน ระยะหนึ่ง แต่อาการ จะไม่รุนแรงและไม่ถึงตายดังที่เคยมีมีผู้ประกาศตนเองออกสื่อว่า ยังติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนซิโนแวดครบสองเข็มแล้ว รายงานกระทรวงแจ้งว่า ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๔ ก.ค. ๒๕๖๔ มีผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวดครบ ๒ เข็มจำนวนเกือบ ๓ ล้านคนและตาย ๒ รายเอง ในกลุ่มนี้ ที่ตายน้อยเพราะเข้าใจว่า การฉีดวัคซีนทุกชนิดมีการสร้างภูมิคุ้มกันชนิด“เตรียมพร้อมกันลืม” ไว้ด้วย แต่ในผู้ติดเชื้อทั่วไปตายร้อยละ ๐.๘๔ ถึง ๐.๙๒ (แล้วเราจะทำให้กลุ่มผู้ฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไรก็ได้ครบ ๒ เข็มมาแล้ว ไม่ตายเลย ทำได้ยังไง ให้อ่านในข้อความสุดท้ายของบทความนี้ครับ) ผู้ที่เสียชีวิตจาก โรคโควิด-๑๙ ทุกวันในประเทศไทยส่วนมากจึงเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรืออยู่ระหว่างการฉีดวัคซีนให้ครบ ๒ เข็ม ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วนานแล้วจะเสียชีวิตน้อยมากๆ ครับ เพราะไม่ว่าท่านฉีดวัคซีนชนิดใดก็ตามครบ ๒ เข็ม มานานถึง ๖ เดือนขึ้นไป ทุกท่านจะมีภูมิคุ้มกันชนิด“เตรียมพร้อมทันใช้”ลดน้อยลงมากและอยู่ในระดับใกล้กันในตอนนี้ แต่ทุกท่านยังมีภูมิคุ้มกันชนิด “เตรียมพร้อมกันลืม”ไว้สู้กับเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ต่อไปอีกนานครับ

ดังนั้น ประโยชน์ของการฉีดวัคซีน ๔ อ. ที่ทำให้ IgG ในเลือดสูงมากๆ นั้น จะได้ประโยชน์ในการลดอาการป่วยมากว่าวัดซีน      ชนิดอื่นภายใน ๒ - ๔ เดือนแรกหลังฉีดครบสองเข็ม เหมาะสำหรับการระบาดเชื้อเดลตาในเดือน ส.ค. ถึง ก.ย. และเป็นบุคลากรด้านหน้าทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจำนวนมากเป็นประจำในช่วงนี้ครับ ถ้าท่านไม่ติดเชื้อภายในเดือน ส.ค. ถึง ต.ค. หรือ ๖ เดือนแรกหลังฉีดวัคซีน ๕ อ. ประโยชน์ที่จะได้จากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในตอนนั้น หรือฉีดวัคซีน ๕ อ. เป็นเข็มที่สามก็ไม่เกิด แต่จะเหลือภูมิคุ้มกันชนิด“เตรียมพร้อมกันลืม”เหมือนกับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นซึ่งจะเกิดประโยชน์ใกล้เคียงกัน วัคซีนชนิดเชื้อตายอาจจะสร้างภูมิคุ้มกันชนิด“เตรียมพร้อมกันใช้”ได้ระยะสั้นกว่า แต่คาดว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันชนิด“เตรียมพร้อมกันลืม”ไว้สู้กับเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ได้นานเช่นกัน ทั้งนี้ได้จากผู้ที่ฉีดวัคเชื้อตาย ๒ เข็มหลายรายที่ออกสื่อว่า ติดเชื้อและมีอาการป่วย ต่างก็ทุเลาขากโรคได้ดีและไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจด้วย

นอกจากประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรค เรายังติดตามความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนด้วย อาการข้างเคียงของการฉีดวัคซีนเกิดกับทุกคนมากน้อยต่างกันได้ ส่วนความปลอดภัยระยะสั้นมีเรื่องแพ้ฉับพลัน(ฉันแพ้-คนอื่นไม่แพ้) ความปลอดภัยระยะ ๑-๓ ปียังไม่พบว่ามีอะไรเพราะเพิ่งใช้ไม่นาน และความปลอดภัยภายใน ๑๐ ปี แต่หวังว่าจะไม่มีอะไรที่ไม่ปลอดภัยในระยะยาวนะครับ(ยังไม่มีหลักฐาน)

ส่วนการติดเชื้อจนทำให้ผู้ฉีดวัคซีนชนิดใดเกิดอาการป่วยนั้น ยังขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่ได้รับด้วย หากรับเชื้อจำนวนมากและสูดลึกเข้าถึงปอดเลย อาการจะแสดงออกเร็วและรุนแรง ประเทศที่ประกาศยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัย สวมกอดจูบกันได้ ไม่เว้นระยะห่าง หลังประชากรฉีดวัคซีนครบเกินครึ่งหนึ่ง จะเกิดการติดเชื้อจำนวนมากและเกิดการระบาดรอบใหม่ดังที่เป็นข่าว แต่หากรับเชื้อจำนวนน้อย(เพราะเราสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง) อาจจะแสดงอาการน้อยและไม่รุนแรง และผู้ที่เคยติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนยังมีภูมิคุ้มกันชนิด“เตรียมพร้อมกันลืม”ไว้สู้กับเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ได้ทันเวลาอีกด้วย แม้จะติดเชื้อในระยะ ๒-๔ เดือน หรือ ๖ เดือนหลังฉีดเข็มสอง อาการแสดงอาจจะไม่มีเลย หรือมีน้อยและป่วยระยะสั้นๆ เท่านั้น แทบไม่รุนแรงถึงตายเลย

โดยสรุป วัคซีนที่ให้ระดับ IgG สูงในเลือด เช่น กลุ่มวัคซีน ๔ อ. จะลดอาการของการติดเชื้อได้ดีภายใน ๒-๔ เดือนแรกหลังฉีดครบแล้ว วัคซีนเชื้อตายอาจจะลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อไม่ดีเท่าหรือไม่นานเท่าวัคซีน ๔ อ. ส่วนการติดเชื้อที่แสดงอาการรุนแรงและถึงตาย จะมีโอกาสสูงที่พบในผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วอาจจะมีอาการรุนแรงหรือถึงตายได้ถ้ารับเชื้อจำนวนมาก มีโรคประจำตัว อ้วนมาก สูงวัย สูบบุหรี่หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำจากโรคประจำตัว และไม่ใช้วิถีชีวิตใหม่ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโควิด ๑๙

ดังนั้น ผู้ที่มีดวัคซีนครบ ๒ เข็มแล้ว ไม่อยู่กลุ่มเสี่ยง ๘ กลุ่ม และใช้วิถีชีวิตใหม่อย่างเข้มข้น ท่าน อาจจะไม่ติดเชื้อเลย หากท่านพลั้งเผลอรับเชื้อเข้าไปขณะสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง จํานวนเชื้อที่รับเข้าไปจะมีน้อย ท่านยังมีภูมิคุ้มกันชนิด “เตรียมพร้อมกันลืม” ไว้สู้กับเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ทันเวลา อาการเจ็บป่วยจะมีน้อยหรือมีระยะสั้นและยังเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอีก เท่ากับท่านรับวัคซีนเข็มที่สามตามธรรมชาติ และยังไม่ต้องเสี่ยงกับความไม่ปลอดภัยจากการฉีดวัคซีนเข็มที่สามที่อาจจะมีในระยะกลางและยาวได้ เมื่อถามผมว่า จะฉีดเข็มที่สามตอนนี้ไหม? แม้คนที่มาขอตรวจ igG ของผมและพบว่า หลังฉีดครบ ๓ เดือน ภูมิคุ้มกันผมต่อเชื้อเดลตาไม่เหลือแล้ว ผมขอเลือกวิธีฉีดสองเข็มครับ เพราะได้สมดุลทั้งประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัดซีน ผมจะระวังตนเองและขอรอดูปีหน้าครับ
(ข้อความบนนี้ คือคำตอบของผมว่า แล้วเราจะทำให้กลุ่มผู้ฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไรก็ได้ครบ ๒ เข็มมาแล้ว ไม่ตายเลย ทำได้ยังไง ให้อ่านในข้อความข้างบนของบทความนี้ครับ)

ส่วนการฉีดวัคซีนทุกชนิดไม่ว่าจะทำให้ระดับ IgG ในเลือดสูงมาก สูงน้อยเท่าใดก็ตาม ระดับ IgG จะลดต่ำลงมาเร็วช้าแล้วแต่ระดับตั้งต้นของ IgG แต่จะลดลงจนมีโอกาสแสดงอาการของการติดเชื้อหลังฉีดครบสองเข็มหรือสามเข็มแล้ว ๔ ถึง ๖ เดือนขึ้นไป โอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสเดลตามีเท่ากันทั้งผู้ที่ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนในพื้นที่ทั่วไป การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม การใช้วิถีชีวิตใหม่ จะเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด ช่วยลดความรุนแรงของโรค และอาจจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ตนเองตามธรรมชาติอย่างสมดุลด้วย ช่วยสังคมในการลดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ป้องกันการเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่ดุร้ายมากขึ้นหรือดื้อต่อภูมิคุ้มกันชนิด IgG จนกว่าโรคนี้จะสงบทั่วโลกพร้อมๆ กัน ทุกท่านจึงยังต้องใช้การดำเนินชีวิตวิธีใหม่ในปีนี้ไปก่อน เป็นวิธีการควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-๑๙ ร่วมกับการฉีดวัคซีนครบสองหรือสามเข็มด้วยเสมอ

สุดท้าย ผมยังไปช่วยฉีดวัคซีนเลย ตอนนี้จวนจะถึงยี่สิบล้านโดสแล้ว วันนี้ท่านไปรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ ๑ หรือ ๒ หรือยังครับ?

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี
นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ๆ
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม
วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๔

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 สิงหาคม 2021, 12:21:10 โดย story »