ผู้เขียน หัวข้อ: เสียงจากด่านหน้า นํ้าตากลางสนามรบ ‘พยาบาลไทย’ในสมรภูมิโควิด  (อ่าน 647 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เจาะเลือดคนไข้ไป สะอื้นไป ไม่คิดว่าตัวเองจะมาถึงจุดแย่ขนาดนี้ สิ่งที่ทำให้มีแรงขึ้นเวรในทุกวัน ก็เพราะสงสารคนไข้ที่เป็นประชาชนตาดำๆ ไม่มีสิทธิเลือก แต่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพียงเพราะผู้มีอำนาจ เลือกจัดการบริหารอย่างไม่ตรงจุดแบบนี้ หากคนที่มีอำนาจ ปล่อยให้เป็นแบบนี้
ต่อไป คุณจะไม่มีบุคลากรเพียงพอในการจัดการปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน”

พยาบาลปราศรัยข้างทำเนียบรัฐบาลในกิจกรรมกลุ่มลิเบอร์ต้า บอกเล่าความอัดอั้นถึงขนาดเคยร้องไห้ขณะสวมใส่ชุดพีพีอี
คือความในใจของ “พยาบาล” ท่านหนึ่ง ซึ่งพรั่งพรูผ่านการปราศรัยที่สะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล ในกิจกรรม “#ลิเบอร์ต้า5ข้อ เพื่อทวงถามความคืบหน้า 5 ข้อเรียกร้อง” เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สะท้อนปมปัญหาที่หนักหน่วงของบุคลากรทางการแพทย์ผู้รับศึกหนักในสมรภูมิโรคระบาดแห่งศตวรรษ

ข้อเรียกร้องสุดท้าย คือ เพิ่มเงินค่าตอบแทน และบรรจุบุคลากรทางการแพทย์ เป็นข้าราชการ

ในช่วงเวลาเช่นนี้ พยาบาล มีบทบาทความสำคัญอย่างยิ่ง และในช่วงเวลาเดียวกัน พยาบาลก็กลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบหนัก ทั้งจากความเหน็ดเหนื่อยเกินรับไหว ค่าเสี่ยงภัย และสวัสดิการที่ยังถูกตั้งคำถาม พยาบาลจำนวนมากกลายเป็น “ผู้ป่วย” เสียเอง บางรายถึงขั้นถูกพรากชีวิต ครอบครัวเสียเสาหลักและผู้เป็นที่รัก

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาพการรวมตัวเรียกร้องของคนด่านหน้าตีแผ่ปัญหาให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นตามลำดับ

เปิดอีก 100 รพ.สนาม
แต่ปั๊ม‘พยาบาล’เพิ่มไม่ได้

จากปากคำของพยาบาลที่จับไมค์ ปราศรัยข้างทำเนียบรัฐบาล ผู้บอกว่ามาเป็นตัวแทนพยาบาลด่านหน้า หน่วยแพทย์และพยาบาลเพื่อมวลชน (พมช.) สะท้อนความเจ็บปวด อัดอั้นเกินทน

“ในสถานการณ์ตอนนี้ ทุกคนจะเห็นว่า จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับจำนวนบุคลากร ไม่ว่าจะลดลงจากการเสียชีวิต หรือจากการติดโควิด-19 ความเจ็บป่วย และอ่อนล้าลงทุกที เพราะเราต่อสู้มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว

จากประสบการณ์ส่วนตัว ขึ้นเวร 1 วัน 8 ชั่วโมง กับจำนวนผู้ป่วย 80-90 คน มีพยาบาลดูแล 1 ต่อ 40 คน ซึ่งหมายถึง ใน 1 เวร ต้องใส่ชุด PPE, หน้ากาก N95, หน้ากากอนามัยอีก 3 ชั้น อยู่ในชุดร้อนๆ นั้น เพื่อเข้าไปดูแลคนไข้ เรายังคงทำงานเหมือนเดิม บางครั้งหนักกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเจาะเลือด ให้ยา ใส่ N95 ก็หายใจไม่ออก การเจาะเลือดคนไข้ภายใต้หน้ากากเฟสชิลด์ ไม่ได้ทำง่าย ทุกคนลำบาก ร้อน และเหนื่อย เป็นภาระที่มากเกินไป

ในขณะที่โรงพยาบาลสนามบางที่ พยาบาล 1 คนต่อคนไข้ 100 คน ถามว่า เรารับภาระงานหนักขนาดนี้ มีใครมาซัพพอร์ตเราหรือไม่ เราเรียกร้องว่า บุคลากรขาดแคลน ควรมีการจัดสรรที่ดีกว่านี้ เบื้องบนกลับมีแต่คำสั่ง และสั่ง ไม่มีการรับฟังคนที่อยู่หน้างานอย่างแท้จริง

คนที่รอสถิติ รอตัวเลขในห้องแอร์ ไม่ได้เข้าใจคนที่อาบเหงื่อต่างน้ำภายใต้ชุด PPE ว่ารู้สึกอย่างไร พวกเราไม่ได้กลับบ้านมานานแค่ไหนแล้ว เพราะเราไม่อยากเอาเชื้อกลับไปติดคนในครอบครัว” ตัวแทนพยาบาลด่านหน้ากล่าว ก่อนเล่าอีกว่า สิ่งที่น่าน้อยใจ อีกอย่างหนึ่ง ผู้บริหาร เลือกที่จะบอกว่า
รับได้ รับไหว เตียงมีพอ

ทว่า ในความเป็นจริง จะเปิดอีก 100 โรงพยาบาลสนามก็ได้ แต่ปั๊มพยาบาลเพิ่มไม่ได้

เราก็ยังมีเท่าเดิม ในขณะที่เราทำงานหนักขนาดนี้ ดูสิ่งที่รัฐบาลทำ ยังคงล่าช้าในการจัดการปัญหา หนึ่งนาทีที่เรารอคอย สูญเสียไปกี่ลมหายใจ คุณก็ยังไม่ปกป้อง เยียวยาเพียงพอ

ดิฉันต้องมองเพื่อนร่วมงานตัวเอง ทยอยป่วยเป็นโควิดในแต่ละวัน แม้จะฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็มก็ตาม เรายังไม่ได้รับภูมิคุ้มกันมากพอ ล่าสุด หลังจากหมอฉีดกระตุ้นแอสตร้า เข็มที่ 3 ยังคงติดเชื้ออยู่ดี สู้ให้วัคซีนที่ดีอย่าง mRNA หรือโปรตีนซับยูนิต มาเป็นทางเลือกจะดีกว่าหรือไม่

เรื่องค่าตอบแทนที่ได้ บอกว่าต้องได้ค่าเสี่ยงภัย พยาบาลต่างจังหวัดบางคน ทำงานมาเกือบ 2 ปี ก็ยังไม่ได้เงินเข้าไปในบัญชี มีแต่คำว่า จะได้ แต่ก็ไม่ได้ ค่าเวรได้เท่าเดิม เหมือนกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทำงาน 8 ชั่วโมง ได้เงิน 640 บาท คุณหักภาษีเราไป 32 บาท เหลือ 608 บาท ชั่วโมงละไม่ถึง 100 บาท แต่ภาระงานกลับเพิ่มมากขึ้น

มันหนักถึงขนาดที่ว่า “เคยร้องไห้ใต้ชุด PPE มาแล้ว เป็นปีที่รู้สึกแย่ที่สุดในชีวิต ไม่ว่าจะความกดดันจากภาระงาน ยอดคนไข้ คือ การไม่ได้รับการจัดการโดยผู้บริหารที่ดี ชักช้า และความผิดพลาดของรัฐบาล” พยาบาลคนเดิมพรั่งพรู

ยื่น 5,000 ชื่อ 3 ข้อเรียกร้อง
เปิดอกคุยสภาการพยาบาล

กลุ่ม Nurses Connect ยื่นแถลงการณ์ ข้อเรียกร้อง และรายชื่อพยาบาลกว่า 5,000 รายทั่วประเทศต่อสภาการพยาบาลในสถานการณ์โควิด
ไม่ใช่เพียงการพร่ำบ่นอย่างไร้จุดหมาย ทว่า ล่าสุด กลุ่มพยาบาล รวมตัวกันในนาม “Nurses Connect” หรือภาคีพยาบาล เดินทางไปยังสภาการพยาบาล ในรั้วกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือพร้อมแนบท้ายรายชื่อพยาบาลที่ลงนามกว่า 5 พันรายทั่วประเทศ

ข้อเรียกร้องเบื้องต้นจากภาคีพยาบาลทั้ง 3 ข้อ ได้แก่

1.ขอให้มีการจัดสรรวัคซีนประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคโควิด เช่น วัคซีน mRNA และ Protein subunit vaccine อย่างทั่วถึง และรวดเร็วแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน

2.ขอให้มีนโยบายสร้างเสริมสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานที่ดีของวิชาชีพพยาบาล เพื่อปกป้องสวัสดิภาพทางกายและจิตใจของผู้ประกอบวิชาชีพ

3.สภาการพยาบาลต้องมีมาตรการในการคุ้มครองเยียวยาเพื่อพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิภาพของสมาชิกสภาการพยาบาล ทั้งค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และการเยียวยาสมาชิก เมื่อได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงาน

“ด้านค่าตอบแทนของพยาบาล หากมีสิ่งที่จะสามารถยืนยันได้ว่าพยาบาลจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไม่ต้องทำงานหนักเท่านี้ เช่น การปรับฐานเงินเดือน เพิ่มค่าเวร และโอที เชื่อว่าพยาบาลจะสามารถดึงศักยภาพในตัวเองออกมาใช้ในการทำงานวิจัย และการปฏิบัติงานได้มากกว่าเดิม รวมถึงไปไกลในระดับนานาชาติอีกด้วย นอกจากนี้ ประเด็นค่าความเสี่ยง ได้รับทราบข้อมูลจากพยาบาลหลายคนว่าไม่ได้รับค่าความเสี่ยง ซึ่งแท้จริงแล้ว พยายาลควรได้รับทุกรายในสถานการณ์เช่นนี้ แม้จะอยู่ในส่วนของผู้ป่วยนอก ฉุกเฉิน หรือส่วนอื่นก็ตาม เพราะต้องเจอผู้ป่วยก่อน จึงถือเป็นด่านหน้า” ตัวแทนภาคีพยาบาลกล่าวกับ ตัวแทนสภาการพยาบาล 4 ท่านที่ออกมารับหนังสือ โดยหนึ่งในนั้น ให้คำตอบในประเด็นวัคซีนว่า เรื่องของเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน และวัคซีนทั้งหมด เป็นการทำงานร่วมกับภาครัฐ หากพยาบาลคนใดไม่ได้รับวัคซีน ต้องแจ้งให้สภาการพยาบาลรับทราบ เพื่อจะได้หาวิธีการดำเนินการ ในขณะที่ทางสภาการพยาบาลทำงานกับพี่น้องประชาชนด้วย และพยาบาลด้วย เมื่อภาครัฐประกาศว่าต้องได้ ถ้าไม่ได้ สภาจะเป็นแรงผลักหลักในการจัดการ ขอให้พยาบาลที่ยังไม่ได้รับวัคซีนปรากฏตัวออกมา จะต้องมีการดำเนินการให้ได้

‘ภาคีพยาบาล’ข้องใจปมจัดสรร‘ไฟเซอร์’
เลขแปลก‘240’มาจากไหน?

นอกจากการเข้ายื่นหนังสือพร้อมบอกเล่าสถานการณ์จริงต่อสภาการพยาบาล ต่อมา ภาคีพยาบาล ยังตั้งคำถามถึงการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา โดยกรมควบคุมโรคเคยระบุถึงแผนการกระจายวัตซีนดังกล่าวว่าจะฉีดให้บุคลากรด่านหน้า 700,000 โดส แต่ปรากฏว่าจากเอกสารการจัดสรรวัคซีน มีคนเข้าเกณฑ์แค่ 4 แสนกว่าๆ เท่านั้น

โดยแบ่งจำนวนเป็น

ประเภทที่ 1 คือบุคลากรที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac หรือ Sinopharm) 2 เข็ม หรือได้รับวัคซีนใดๆ ก็ตามเพียงแค่เข็มเดียว หรือเคยติดเชื้อและยังไม่ได้รับวัคซีน ในกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีน mRNA กระตุ้นหนึ่งเข็ม

ประเภทที่ 2 คือบุคลากรที่ยังไม่รับวัคซีน ในกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีน mRNA ครบโดส คือได้รับวัคซีนเป็นจำนวน 2เข็ม

โดยจะมีการจัดส่งให้โรงพยาบาลตามที่ปรากฏชื่อ มีการคาดการณ์ว่าโรงพยาบาลเหล่านั้นอาจจะเป็นโรงพยาบาลของจังหวัดที่จะจัดสรรและกระจายวัคซีนต่อไป

“มีข้อสังเกตหลายประการเหลือเกินจากบุคลากรทางการแพทย์

ประการหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ในกลุ่มบุคลากรประเภทที่สอง ที่ได้รับการจัดสรร มีจำนวน 240 เป็นจำนวนมากและเท่าๆ กันในหลายโรงพยาบาล ยอดเหล่านี้มาจากไหน? เป็นยอดที่ได้มาจากการสำรวจความต้องการจริง หรือเป็นเพียงแค่ยอดประมาณการ?

ยอดนี้คือรวมบุคลากรด่านหน้าทุกประเภท แม้กระทั่ง แม่บ้าน พนักงานเปล พนักงานช่วยเหลือคนไข้ ผู้จัดการขยะติดเชื้อ พนักงานห้องเก็บศพ ด้วยหรือไม่

หรือสุดท้ายแล้ว การจัดสรรวัคซีนนี้ จะกลายเป็นการผลักภาระจากกระทรวงสาธารณสุขไปให้โรงพยาบาล เนื่องจากทางโรงพยาบาลเองต้องพยายามจัดสรรวัคซีนที่มีจำนวนจำกัด มันจะทำให้เราต้องเผชิญกับระบบลำดับศักดิ์ในโรงพยาบาลอีกหรือไม่

และปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้ารัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาให้ประชาชนทุกคน” ภาคีพยาบาลระบุ

เอกสารบรรยาย หยามศักดิ์ศรีพยาบาลวิชาชีพ?

พยาบาลด่านหน้า รพ.ชื่อดัง ติดโควิดเสียชีวิต เพื่อนร่วมวิชาชีพยืนส่งด้วยความอาลัย (ภาพจาก ฐานุพงศ์ ศุภเลิศวรวิชญ์)
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดของกลุ่มพยาบาลไทย คือกรณีที่แพทย์หญิงท่านหนึ่งนำภาพพยาบาลวิชาชีพซึ่งเสียชีวิตจากโควิดไปประกอบสื่อการสอนหัวข้อ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer) และอาการภายหลังได้รับวัคซีน” ในการอบรมบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เอกสารดังกล่าว มีการใช้ถ้อยคำประกอบว่า

“อย่ามัวแต่รอวัคซีนที่ต้องการ เพราะอาจช้าไป” กับ “เป็น Hyperthyroidism และไม่ยอมฉีดวัคซีน กลัวแพ้ จะรอ mRNA” โดยนําภาพจากข่าวการเสียชีวิตพร้อมรูปงานศพมาประกอบโดยไม่ได้ปิดบังทั้งใบหน้าและชื่อ

ต่อมา ภาคีพยาบาล ติดต่อญาติผู้เสียชีวิตซึ่งให้ข้อมูลว่า พยาบาลท่านนี้มีโรคประจําตัวเป็น Hyperthyroidism (ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป) ในช่วงปีที่แล้วที่ยังมีการระบาดของโรคยังไม่มาก แพทย์ไม่แนะนําให้ฉีดวัคซีนซิโนแวค เนื่องจากมีโอกาสแพ้ จากนั้น ผู้เสียชีวิตและสามีจองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แต่วันนัดฉีดเกิดมีไข้ จึงไม่ได้ฉีด ไม่ใช่ต้องการรอแต่เพียงวัคซีน mRNA อย่างที่ถูกกล่าวอ้าง

ญาติต้องการให้ผู้บรรยาย ลบข้อความทุกอย่างที่เกี่ยวกับผู้เสียชีวิตออกจากเอกสารประกอบการบรรยายและออกจากสื่อสาธารณะต่างๆ ทั้งหมดโดยทันที และให้หยุดนําผู้เสียชีวิตมาเป็นเครื่องมือเรื่องวัคซีน ภาคีพยาบาล เผยแพร่ข้อเรียกร้องดังกล่าวผ่านเพจ Nurses Connect แต่ไม่มีการตอบรับ

ภาคีพยาบาล เปิดข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2549 ชี้ว่า การกระทำผิดดังกล่าวว่าเป็นการผิดต่อข้อบังคับ ข้อที่ 27 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วย หรือผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว ซึ่งตนทราบมาเนื่องจากการประกอบวิชาชีพ เว้นแต่ได้รับความยินยอมโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือตามหน้าที่

ข้อ 33 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพึงยกย่องให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของผู้ร่วมงาน

และ 34 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ทับถมให้ร้ายหรือกลั่นแกล้งผู้ร่วมงาน

“การใช้คำกล่าวว่า อย่ามัวรอวัคซีนที่ต้องการ เพราะอาจช้าไป และการนำรูปผู้เสียชีวิตไปเพิ่มเติมข้อความโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากญาติผู้เสียชีวิตก่อนนั้น เป็นการกล่าวโทษผู้เสียชีวิตว่าถึงแก่กรรมเนื่องจากรอฉีดวัคซีนนานเกินไปอย่างไม่สมเหตุสมผล และเป็นการหยามเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้เสียชีวิต และหยามเกียรติในความเป็นพยาบาลวิชาชีพของผู้เสียชีวิตอย่างร้ายแรง” ภาคีพยาบาลระบุ ก่อนย้ำว่า เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมใจเห็นสมควรในการเรียกร้องไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของแพทย์รายดังกล่าว ให้มีการดำเนินการสอบจริยธรรมว่าพฤติกรรมดังกล่าวมีความผิดเชิงจริยธรรมการแพทย์หรือกฎหมายของวิชาชีพแพทย์หรือไม่ และขอเรียกร้องให้แพทย์แสดงความรับผิดชอบด้วยการทําตามความประสงค์ของญาติผู้เสียชีวิต พร้อมทั้งชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรและให้ขอโทษผู้เสียชีวิตและญาติ
ผู้เสียชีวิตต่อสื่อสาธารณะต่อไป

“ไม่ควรมีใครที่ถูกกล่าวโทษที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นอกจากรัฐบาลและคณะกรรมการจัดสรรวัคซีน

หากนำ mRNA เข้ามาเป็นวัคซีนหลัก เพื่อนเราและประชาชนคงไม่ต้องจากไปเช่นนี้” ภาคีพยาบาลทิ้งท้าย

เตียงล้น ออกซิเจนหมด
‘ไม่ใช่ไม่อยากรับแต่รับไม่ไหวแล้ว’

อีกหนึ่งช่องทางนอกจากการเปิดหน้าปราศรัย และรวมกลุ่มผลักดันประเด็นในภาพใหญ่ พยาบาลหลายราย ตีแผ่สถานการณ์ที่ประสบผ่านโลกออนไลน์ ดังเช่นคลิปที่ได้รับการแชร์จากสมาชิก Tiktok mc_dear2020 ซึ่งเผยให้เห็นสภาพของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสภาพวิกฤตไม่สามารถรับคนไข้ได้เพิ่มอีกแล้ว

โดยในคลิปเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้พาผู้ป่วยโควิด มาส่ง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ พยาบาลได้เรียกให้ผู้ถ่ายคลิปเข้ามาดูสถานการณ์จริงที่มีผู้ป่วยจำนวนมากนอนอยู่ในเต็นท์นอกอาคารโรงพยาบาล

พยาบาลในคลิประบุว่า อยากให้เข้ามาดูสถานการณ์จริงว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้มีพยาบาลอยู่ 10 คน ออกซิเจนหมดแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่อยากรับ แต่ไม่สามารถจะรับผู้ป่วยได้แล้วจริงๆ อยากให้ช่วยถ่ายออกไปให้รับรู้ว่า พวกเราไม่ไหวแล้วจริงๆ ไม่ใช่ไม่อยากรับผู้ป่วย

ในขณะที่เจ้าหน้าที่นำส่งคนไข้ ที่มีคนไข้รออยู่บนรถ ได้ระบุว่า ศูนย์นเรนทร ประสานมาให้ผู้ป่วยมาส่งที่โรงพยาบาลนี้ แต่ทางโรงพยาบาลก็แน่นและเต็มจนไม่รู้ว่า จะรับผู้ป่วยอย่างไรจริงๆ

สะท้อนวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ต้องเร่งแก้ แต่ยังไม่รู้จะจบอย่างไร

ติดโควิด‘ยกวอร์ด’พยาบาลกอดคอร้องไห้
‘ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว’

ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งเรื่องราวสะเทือนใจ เมื่อพยาบาลกอดคอกันร่ำไห้ หลังพบว่าติดเชื้อโควิดยกวอร์ด ปรากฏบนแอพพลิเคชั่น tkitok โดยถูกพูดถึงกันอย่างมากบนโลกโซเชียล

พยาบาลสาว 2 คน นั่งกอดกันร้องไห้ หลังจากทราบผลว่าติดโควิด-19 กันยกทีม cohort ward ซึ่งเป็นวอร์ดผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

โดยในคลิประบุว่า

“…เมื่อผล swab ออก ติด covid ยกทีม cohort ward พวกเราได้พักเสียที เราทำหน้าที่ของเราเต็มที่ดีที่สุดแล้ว ขอให้พวกเราปลอดภัยทุกคน…”

และอีกคลิป ที่ลงข้อความว่า “พักแล้วนะ วันนี้พวกเรา ขอรักษากันเองตัวเองก่อน หายดีแล้ว เราจะกลับไปดูแลคนไข้ทุกคน #อย่าปิดการมองเห็น #เราจะสู้ไปด้วยกัน”

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ก็เปิดเผยว่า มีอาจารย์แพทย์ 1 คน พยาบาล 2 คน แม่บ้าน 1 คน มีผลตรวจโควิดเป็นบวก

เพจ รพ.ดังกล่าวระบุด้วยว่า พยาบาลและบุคลากรหลายวอร์ด แทนที่จะได้ดูแลคนไข้ กลับต้องเข้ารอการตรวจ swab และหลายคนอาจจะต้องหยุดงานยาว 8-10 วัน และต้องออกจากแนวรบไปอีกด้วย

นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสถานการณ์จากมุมมองพยาบาล บุคลากรสำคัญในสมรภูมิร้อน สมรภูมิรบ สงครามโรคระบาดที่มนุษยชาติต้องฝ่าไปด้วยกัน

9 สิงหาคม 2564
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_2872453