ผู้เขียน หัวข้อ: ย้อนรอยความสำเร็จเกาหลีใต้ แก้ปมทำแท้งทารกหญิงได้แห่งแรกในเอเชีย  (อ่าน 343 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ที่อินเดีย เมื่อมีเด็กผู้หญิงเกิดมา 100 คน จะมีเด็กผู้ชายเกิดมามากกว่าที่ 111 คนเสมอ ส่วนที่จีนอัตราส่วนของทารกแรกเกิดเพศชายก็ไม่น้อยหน้ากัน โดยอยู่ที่ 115 คนต่อเด็กหญิง 100 คน ซึ่งล้วนเป็นผลจากปัญหาเรื้อรังเรื่องพ่อแม่ชาวเอเชียต้องการลูกชายและมักทำแท้งทารกหญิงในครรภ์เสียหากได้ล่วงรู้เพศก่อน อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เป็นข้อยกเว้นในเรื่องนี้

รายงานของธนาคารโลกระบุว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกในเอเชียที่สามารถปรับแก้สัดส่วนของทารกหญิงและชายให้มาอยู่ในระดับใกล้เคียงกันได้ โดยสถิติเมื่อปี 2556 ชี้ว่า เกาหลีใต้มีสัดส่วนทารกแรกเกิดทั้งสองเพศใกล้เคียงกันที่เด็กชาย 105.3 คนต่อเด็กหญิง 100 คน เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วในซีกโลกตะวันตก โดยเกาหลีใต้แก้ปัญหาการเลือกเพศทารกได้สำเร็จผ่านการใช้มาตรการหลายแบบ ทั้งมาตรการทางกฎหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นแบบสมัยใหม่ และการส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมของสตรี

เมื่อราวสองทศวรรษก่อน สัดส่วนเด็กชายที่เกิดมาในเกาหลีใต้สูงลิ่ว ทิ้งห่างเด็กหญิงไปถึง 116.5 คนต่อเด็กหญิง 100 คน เนื่องจากอิทธิพลทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เห็นว่าเด็กหญิงนั้นด้อยค่า ไม่สามารถสืบทอดวงศ์ตระกูลรวมทั้งดูแลพ่อแม่ในยามแก่ชราได้ ทำให้มีการทำแท้งทารกหญิงในครรภ์ไปเป็นจำนวนมาก

ผู้หญิงเกาหลีใต้ยังถูกคาดหวังให้ทำงานหารายได้และดูแลครอบครัวไปพร้อมกัน

ในระยะเริ่มแรก รัฐบาลเกาหลีใต้รณรงค์ให้ผู้คนละเลิกอคติทางเพศที่ล้าสมัยนี้เสีย โดยมีการออกคำขวัญ "ลูกสาวหนึ่งคนมีค่าเท่ากับลูกชายสิบคน" แต่ไม่สู้ได้ผลนัก ต่อมาในปี 2531 จึงได้ออกกฎหมายห้ามแพทย์แจ้งเพศของบุตรในครรภ์แก่บิดามารดา เพื่อป้องกันการทำแท้งทารกหญิง ซึ่งก็ปรากฏว่าแก้ปัญหาไม่ได้ผลเต็มที่เช่นเดียวกัน โดยยังมีผู้ลักลอบดูเพศของบุตรในครรภ์ล่วงหน้าและทำแท้งทารกเพศหญิงอยู่เรื่อย ๆ แม้ในช่วง 7 ปีหลังการออกกฎหมายนี้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีผลทำให้ปัญหานี้หมดไปอย่างมีนัยสำคัญ คือการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดดของเกาหลีใต้เอง โดยศาสตราจารย์โมนิกา คุปตา ผู้วิจัยด้านประชากรศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ของสหรัฐฯระบุว่า สังคมเมืองสมัยใหม่ได้ทำลายค่านิยมการสืบวงศ์ตระกูลของคนในสังคมชนบทรุ่นเก่า ที่บุตรชายจะต้องอยู่กับบ้านและสืบทอดมรดกที่ดินทำกินจากบิดา โดยในยุคปัจจุบันผู้คนโยกย้ายไปทำงานในเมืองใหญ่หรือในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งยังอาศัยในอาคารชุดโดยไม่ได้ครอบครองที่ดิน ผู้หญิงยุคใหม่สามารถได้รับการศึกษาและทำงานหารายได้เข้าบ้าน ทำให้โครงสร้างครอบครัวและค่านิยมการสืบตระกูลเปลี่ยนไป

ลูกทำให้ผู้หญิงเกาหลีใต้แข่งขันในที่ทำงานได้น้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะต้องรีบกลับไปดูแลลูกที่ยังเล็กหลังโรงเรียนเลิก

ส่วนในกรณีของจีนที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่กลับยังแก้ปัญหาการเลือกทำแท้งทารกหญิงไม่ตกนั้น ศาสตราจารย์คุปตาบอกว่า อาจเป็นเพราะจีนใช้ระบบทะเบียนบ้านหรือหูโข่วที่ผู้คนยังต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิต่าง ๆ ในท้องถิ่นบ้านเกิด แม้จะได้โยกย้ายไปอยู่ต่างถิ่นแล้วก็ตาม ทำให้การสืบทอดสิทธิในที่ดินผ่านฝ่ายชายยังมีความสำคัญอยู่ อย่างไรก็ตาม มีการยกเลิกระบบหูโข่วนี้ไปเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สมาคมสตรีเกาหลีใต้ยังคงเตือนว่า การที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาการเลือกเพศทารกสำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าหญิงเกาหลีใต้ในปัจจุบันจะมีสถานะในสังคมทัดเทียมกับชาย เพราะแม้ผู้หญิงจะเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษามากกว่าชายแล้วก็ตาม แต่แรงงานหญิงโดยทั่วไปยังได้เงินเดือนน้อยกว่าชายถึงร้อยละ 36 นอกจากนี้หญิงเกาหลีใต้ยังถูกคาดหวังให้รับผิดชอบทั้งงานหารายได้และเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัวไปพร้อมกัน ทำให้ยากที่ผู้หญิงจะสามารถแข่งขันกับพนักงานชายในที่ทำงานได้

14 มกราคม 2017
https://www.bbc.com/thai/international-38622012