ผู้เขียน หัวข้อ: ผลแบบสอบถาม การใช้ยาฉีดไดโคลฟีแนค เมื่อสภาการพยาบาลประกาศห้ามฉีด  (อ่าน 2600 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด


ผลแบบสอบถาม ‘ประสบการณ์การใช้ยาฉีดไดโคลฟีแนค (Diclofenac injection)ของบุคลากรทางการแพทย์’

ที่มา
จากที่สภาการพยาบาลได้ออกประกาศ เรื่อง ห้ามมิให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด เนื่องจากมีรายงานการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหน้าแข้งและเท้า (Sciatic nerve) ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการพยาบาลไม่สามารถให้ยาฉีดยา Diclofenac (ไดโคลฟีแนค) ได้ด้วยตนเอง สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) จึงได้ทำการสอบถามประสบการณ์การใช้ยาฉีดไดโคลฟีแนค (Diclofenac injection) จากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์การใช้ยาฉีด Diclofenac ทุกสาขา เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสีย นำไปปรับปรุงการใช้ให้เกิดประโยชน์ และ ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น

กลุ่มเป้าหมาย
บุคลาการทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์สั่งจ่าย, จ่าย หรือฉีดยา Diclofenac

ระยะเวลาดำเนินการ
การสำรวจได้ทำขึ้นในช่วงเดือน มีนาคม ถึง มิถุนายน พ.ศ. 2564

ผลการดำเนินการ
มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 275 คน ประกอบด้วย แพทย์ 238 คน, พยาบาล 28 คน, เภสัชกร 6 คน และวิชาชีพอื่น ๆ 3 คน

สรุปผลแบบสอบถาม
ยาฉีด Diclofenac มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวด มากถึงมากที่สุด 223 คน (83.5%), ปานกลาง 40 คน (15.0%), น้อยถึงน้อยที่สุด 4 คน (1.5%) 


ยาฉีด Diclofenac มีความคุ้มค่า (ประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับราคา) มากถึงมากที่สุด 235 คน (88.7%), ปานกลาง 23 คน (8.7%), น้อยถึงน้อยที่สุด 7 คน (2.6%) 


ยาฉีด Diclofenac  มีความปลอดภัย มากถึงมากที่สุด 179 คน (66.5%), ปานกลาง 77 คน (28.6%), น้อยถึงน้อยที่สุด 13 คน (4.8%)

 
บุคลากรทางการแพทย์ทราบวิธีฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่ก้นแบบ Ventrogluteal technique 213 คน (78.3%), ไม่ทราบ 59 คน (21.7%)


บุคลากรทางการแพทย์หรือสถานพยาบาลที่บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานอยู่ได้รับผลกระทบจาก ประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง ห้ามมิให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด มาก 151 ราย (58.1%), ได้รับเพียงเล็กน้อย 68 ราย (26.2%), ไม่ได้รับ 41 ราย (15.8%)

 
ผลกระทบที่ได้รับ คือ ต้องฉีดยาตัวอื่นที่แพงกว่า เช่น Parecoxib, ต้องฉีด Diclofenac เอง, ต้องฉีดยาตัวอื่นที่อันตรายกว่า เช่น Morphine, ค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลสูงขึ้น, ต้องฉีดยาตัวอื่นที่ประสิทธิภาพด้อยกว่า เช่น Paracetamol และ อื่น ๆ

ความเห็นอื่น ๆ ต่อ ประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง ห้ามมิให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด ได้แก่ ไม่เห็นด้วยกับประกาศของสภาการพยาบาล, ควรใช้วิธีการปรับปรุงมาตรฐานการฉีดยาแทนการห้ามพยาบาลฉีดยา, การตัดสินใจออกประกาศดังกล่าวไม่อ้างอิงหลักฐานทางวิชาการ, ผู้ป่วยและระบบสาธารณสุขได้รับผลกระทบ, หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นจากยาแพทย์ผู้สั่งยาจะรับผิดชอบเอง

สรุปผลแบบสอบถามจำแนกตามสาขาวิชาชีพ
แพทย์
แพทย์ที่ตอบแบบสอบถามเป็นแพทย์สาขาศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ 65 คน (27.3%) แพทย์สาขาเวชปฏิบัติทั่วไป 51 คน (21.4%) แพทย์สาขาศัลยกรรม 25 คน (10.5%) และ แพทย์สาขาอื่น ๆ

มีความเห็นว่า ยาฉีด Diclofenac มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดมากถึงมากที่สุด 84.2% (192/228) มีความคุ้มค่ามากถึงมากที่สุด 89.4% (211/236)  มีความปลอดภัยมากถึงมากที่สุด 69.2% (162/234)
 
ทราบวิธีฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่ก้นแบบ Ventrogluteal technique 80% (188/235)

พยาบาล
มีความเห็นว่า ยา Diclofenac มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดมากถึงมากที่สุด 84.6% (22/26) มีความคุ้มค่ามากถึงมากที่สุด 87.5% (21/24) และ มีความปลอดภัยมากถึงมากที่สุด 40% (10/25) ปลอดภัยปานกลาง 56% (14/25) ปลอดภัยน้อยถึงน้อยมาก 4% (1/25)
 
ทราบวิธีฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่ก้นแบบ Ventrogluteal technique 85.2% (23/27)

เภสัชกร
มีความเห็นว่า ยาฉีด Diclofenac มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดมากถึงมากที่สุด 80% (4/5) มีความคุ้มค่ามากถึงมากที่สุด 100% (6/6) และ มีความปลอดภัยมากถึงมากที่สุด 100% (6/6)
 
วิเคราะห์
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจากประสบการณ์ในการใช้ยาฉีด Diclofenac แพทย์ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นแพทย์สาขาที่มีประสบการณ์การใช้ยาฉีด Diclofenac อย่างสูง ได้แก่ แพทย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์, แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และแพทย์ศัลยกรรม
บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ ทั้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร มีความเห็นว่ายาฉีด Diclofenac มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวด, มีความคุ้มค่า และ มีความปลอดภัยสูง

ประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง ห้ามมิให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด ส่งผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์ และสถานพยาบาล อย่างมาก
บุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่ง (21.7%) ไม่ทราบวิธีการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่ก้นแบบ Ventrogluteal technique ซึ่งเป็นวิธีการฉีดที่ป้องกันการบาดเจ็บของ Sciatic nerve ได้

สรุปและข้อเสนอแนะ
ตามความเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม ยาฉีด Diclofenac เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวด มีความคุ้มค่า และ มีความปลอดภัยสูง แต่ประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง ห้ามมิให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลไม่สามารถฉีดยา Diclofenac ได้ด้วยตนเอง จึงส่งผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลอย่างมาก

การบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหน้าแข้งและเท้า จากการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่ก้น สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีการฉีดยาแบบ Ventrogluteal technique แต่บุคลากรทางการแพทย์บางส่วนยังไม่ทราบวิธีการดังกล่าว ทำให้ยังมีรายงานภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเกิดขึ้นประปราย และมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการบาดเจ็บของเส้นประสาทดังกล่าวเกิดจากตัวยาฉีด Diclofenac
 
การเน้นย้ำวิธีการฉีดยาดังกล่าวไว้ในการเรียนการสอนของนักศึกษาด้านสาธารณสุข การฝึกอบรมและฟื้นฟูความรู้ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนะนำให้ใช้เป็นวิธีการแรกในการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่ก้น จะเป็นการป้องการบาดเจ็บของเส้นประสาทดังกล่าว ทั้งจากยาฉีด Diclofenac และยาฉีดตัวอื่น ๆ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความมั่นใจในตัวยาฉีด Diclofenac ยิ่งขึ้น และ สามารถนำยาฉีด Diclofenac ที่มีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความปลอดภัยสูง กลับมาใช้เป็นยาฉีดแก้ปวดตัวหลักได้อีกครั้ง 
     

                                                                                 


เผยแพร่
๗ สิงหาคม ๒๕๖๔
สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 สิงหาคม 2021, 12:41:52 โดย story »