ผู้เขียน หัวข้อ: ญี่ปุ่นติดเชื้อทะลุ 14,000 คน แพทย์ใหญ่เสนอประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ  (อ่าน 393 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่นสูงเป็นประวัติการณ์มากกว่า 14,000 คน หัวหน้าคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลเสนอให้สกัดกั้นการเดินทางของประชาชน ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ

ในวันพุธที่ 4 สิงหาคม ทั้งประเทศญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 14,207 ราย เฉพาะในกรุงโตเกียวมีผู้ติดเชื้อ 4,166 คน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ในญี่ปุ่น หลายจังหวัดก็มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ได้แก่ จังหวัดไซตามะ, ชิบะ, ฟูกูโอกะ, โอกินาวา, อิบารากิ, เกียวโต, กุมมะ, ชิซูโอกะ, โทจิงิ และชิงะ

รัฐบาลญี่ปุ่นจะพิจารณาประกาศสถานการณ์กึ่งฉุกเฉินเพิ่มเติมอีก 8 จังหวัดคือ ฟูกูชิมะ, อิบารากิ, กุมมะ, โทจิกิ, ชิซูโอกะ, ไอจิ, ชิกะ และ คูมาโมโตะ

ทว่านายชิเงรุ โอมิ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาเรื่องไวรัสโคโรนาของรัฐบาลญี่ปุ่น เรียกร้องให้ยกระดับมากกว่านั้น คือ ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ

นายโอมิกล่าวว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ประชาชนเริ่ม “เฉยชา” กับการระบาดและประกาศภาวะฉุกเฉินที่ใช้มา 5 ครั้งแล้ว ขณะนี้กรุงโตเกียวและ 5 จังหวัดเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้ประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่การระบาดก็ไม่มีแนวโน้มลดน้อยลง จึงเสนอว่ารัฐบาลควรประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ

หัวหน้าคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่นได้เตือนนายกฯ โยชิฮิเดะ ซูงะ ว่าญี่ปุ่นกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุดนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน

เขาบอกว่า การฉีดวัคซีนได้ช่วยลดจำนวนของผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการหนัก แต่จำนวนของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนที่มีความเข้มข้นสูง หรือผู้ที่กำลังรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนในช่วงวัย 40 และ 50 ปี ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน

นายโอมิได้เน้นย้ำว่าระบบการแพทย์ของญี่ปุ่นอยู่ภายใต้ภาวะบีบคั้นอีกครั้ง ซึ่งไม่สามารถจัดการได้ด้วยมาตรการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เขาเรียกร้องให้จัดทำระบบที่ให้ประชาชนเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสได้โดยง่าย และควรขอความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแพทย์

รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับความยากลำบาก เพราะประชาชนและร้านค้าต่าง ๆ เริ่มไม่ให้ความร่วมมือกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน ประชาชนไม่เปลี่ยนพฤติกรรม และยังออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ร้านค้าหลายแห่งไม่ยอมลดเวลาเปิดร้าน และยังคงขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

หัวหน้าคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับว่า รัฐบาลควรคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน เมื่อจะบังคับใช้ข้อจำกัดต่าง ๆ ในขณะที่มีการจัดงานโตเกียวโอลิมปิก.

5 ส.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์