ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดค่าตอบแทนบุคลากรด่านหน้า เงินที่ได้ คุ้มค่าความเสี่ยงหรือไม่  (อ่าน 312 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
บุคลากรทางการแพทย์กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อดูแลชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ แต่พวกเขาเองได้รับการดูแลจากรัฐดีพอไหม? ก่อนหน้านี้เคยได้ยินหลายครั้งว่าการเบิกจ่ายงบประมาณด้านสาธารณสุขนั้นล่าช้า ซึ่งส่งผลต่อความล่าช้าในการเบิกค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์
เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงความไม่เหมาะสม
ชวนเปิดหลักเกณฑ์ และระเบียบการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ของหน่วยงานต่างๆ ว่ากำหนดอัตราค่าตอบแทนไว้อย่างไรบ้าง

บุคลากรทางการแพทย์กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือดูแลชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ การดูแลบุคลากรทางการแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่รัฐต้องทำให้ดี

แต่มีข่าวให้เห็นหลายครั้งหลายคราเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรที่ไม่เพียงพอเป็นอุปสรรคปัญหาในการปฏิบัติงาน หรือส่งผลให้บุคลากรไม่มีเครื่องมือที่ดีสำหรับป้องกันหรือลดความเสี่ยง อย่างเช่นกรณีวัคซีนที่ดี ที่เรียกร้องกันมาระยะหนึ่ง และยังคงต้องเรียกร้องตรวจสอบกันต่อไป

นอกจากนั้นยังมีเรื่องค่าตอบแทนการปฏิบัติงานเสี่ยงภัยที่มีประเด็นเป็นบางช่วง เคยมีผู้เปิดเผยข้อมูลว่าการเบิกจ่ายเงินงบประมาณด้านสาธารณสุขนั้นล่าช้า และส่งผลต่อการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

ล่าสุดก็มีแพทย์ท่านหนึ่งเปิดเผยข้อมูลค่าตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงความไม่เหมาะสม บางคนที่เป็นบุคลากรปฏิบัติงานเองก็เริ่มสงสัยและคอมเมนต์ถามว่าอัตราค่าตอบแทนที่ตนเองได้รับนั้นตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่

อีกด้านหนึ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามแห่งนั้นชี้แจงว่า เป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

แล้วความเข้าใจที่ถูกคืออะไร?

ไทยรัฐออนไลน์ชวนเปิดอ่านระเบียบกฎเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยเยอะชวนงงเอาเรื่อง แต่เราพยายามสรุปให้ง่ายแล้ว

มาดูกันว่าวิชาชีพไหน การปฏิบัติงานลักษณะไหนได้ค่าตอบแทนเท่าใด ค้มค่าเสี่ยงภัยหรือไม่ แล้วที่ได้รับกันอยู่ตรงตามนี้หรือเปล่า

ค่าตอบแทนบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

‘หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกันควบคุมและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)’ ของกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 กำหนดค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ตามลักษณะการปฏิบัติงาน

1. ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ณ ด่านควบคุมโรค กำหนดอัตราค่าตอบแทนต่อผลัด (ผลัดละ 8 ชั่วโมง) ดังนี้

- แพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ สัตวแพทย์ อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,500 บาท

- พยาบาล นักวิชาการด้านการสาธารณสุข เจ้าพนักงานด้านการสาธารณสุข เจ้าหน้าที่อื่นที่ได้รับ มอบหมายให้ปฏิบัติงาน ณ จุดคัดกรอง อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

- เจ้าหน้าที่ทีมสนับสนุน อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

- พนักงานบริการ พนักงานขับรถ อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

2. ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวังสอบสวนโรคในพื้นที่ กำหนดอัตราค่าตอบแทนต่อผลัด (ผลัดละ 8 ชั่วโมง) ดังนี้

- แพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ สัตวแพทย์ อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,500 บาท

- พยาบาล นักวิชาการด้านการสาธารณสุข เจ้าพนักงานด้านการสาธารณสุข อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

- นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

- เจ้าหน้าที่ทีมสนับสนุน อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

- พนักงานขับรถยนต์ อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

3. การตรวจวินิจฉัย ตรวจยืนยันตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย ผู้สัมผัส และผู้มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วยวิธีการต่างๆ ทางห้องปฏิบัติการ กำหนดอัตราค่าตอบแทนต่อผลัด (ผลัดละ 8 ชั่วโมง) ดังนี้

-นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

-นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าพนักงานธุรการ พนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

4. การปฏิบัติหน้าที่ในสถานพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และสถานที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันผู้ป่วย กำหนดอัตราค่าตอบแทนต่อผลัด (ผลัดละ 8 ชั่วโมง) ดังนี้

- แพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ สัตวแพทย์ อัตราค่าตอบแทนต่อผลัด หรือ 8 ชั่วโมง 1,500 บาท

- พยาบาล นักวิชาการด้านการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

- นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีการแพทย์ อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1000 บาท

- เจ้าพนักงานเทคนิคและอื่นๆ อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

- วิศวกร วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรเครื่องกล นายช่างไฟฟ้า นายช่างโยธา เจ้าหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมาย อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

- เจ้าหน้าที่สนับสนุน อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

- พนักงานขับรถ อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

5. ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยงานคัดกรอง ติดตาม เฝ้าระวัง ณ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ กำหนดอัตราค่าตอบแทนต่อผลัด (ผลัดละ 8 ชั่วโมง) ดังนี้

- เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานหน้าด่าน ณ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ เจ้าหน้าที่ทีมสนับสนุนตามที่ได้รับมอบหมาย อัตราค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาท

ค่าตอบแทนบุคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานคร

จากข้อกำหนดใน ‘ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทน แก่บุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสังกัดกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564’ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งปรับปรุงแก้ไขจาก ‘ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทน แก่บุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสังกัดกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550’

สามารถสรุปอัตราค่าตอบแทนบุคลากรได้ ดังนี้

1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานตามภาระงานและเบิกได้ตามที่ปฏิบัติงานจริง ดังนี้

1.1 แพทย์

1.1.1 แพทย์เวรอุบัติเหตุและฉุกเฉินปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ 350 บาทต่อชั่วโมง ปฏิบัติงานในเวลาราชการ 175 บาทต่อชั่วโมง ยกเว้นแพทย์ที่บรรจุที่ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือกลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินและนิติเวชวิทยา หรือกลุ่มงานบริการการแพทย์ฉุกเฉินและรับส่งต่อ

1.1.2 แพทย์เวรในเฉพาะทางที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติ ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ 350 บาทต่อชั่วโมง

1.1.3 แพทย์เวรในทั่วไป 250 บาทต่อชั่วโมง

1.1.4 แพทย์ที่ปรึกษาเฉพาะทางที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติที่ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ 500 บาทต่อชั่วโมง แต่ต้องไม่น้อยกว่า 1,500 บาทต่อครั้ง

1.1.5 แพทย์ที่ปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือหน่วยแพทย์อื่นในลักษณะเดียวกัน ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ 500 บาทต่อชั่วโมง ปฏิบัติงานในเวลาราชการ 250 บาทต่อชั่วโมง

1.1.6 แพทย์ที่ปฏิบัติงานหน่วยแพทย์กู้ชีวิต ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ 250 บาทต่อชั่วโมง ปฏิบัติงานในเวลาราชการ 125 บาทต่อชั่วโมง แต่ต้องไม่น้อยกว่า 500 บาทต่อครั้ง

1.1.7 แพทย์ที่ปฏิบัติงานบริการผู้ป่วยนอกทั่วไปนอกเวลาราชการ เช่น คลินิกนอกเวลาราชการ คลินิกรุ่งอรุณ เป็นต้น ได้รับค่าตอบแทนในอัตรา 300 บาทต่อชั่วโมง

1.1.8 แพทย์ที่ปฏิบัติงานบริการผู้ป่วยนอกเฉพาะทาง นอกเวลาราชการ 500 บาทต่อชั่วโมง

1.1.9 แพทย์ประจำบ้าน 1,200 บาทต่อผลัด 8 ชั่วโมง

1.1.10 แพทย์ฝึกหัด 1,000 บาทต่อเดือน

1.1.11 แพทย์ที่ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ นอกเหนือจากในข้อ 1.1.1 ถึง 1.1.8 แพทย์ทั่วไป 250 บาทต่อชั่วโมง แพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติ 350 บาทต่อชั่วโมง

1.2 ทันตแพทย์

- ปฏิบัติงานคลินิกนอกเวลาราชการ 300 บาทต่อชั่วโมง

- ปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือหน่วยแพทย์อื่นในลักษณะเดียวกัน ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการคนละ 500 บาทต่อชั่วโมง ปฏิบัติงานในเวลาราชการ 250 บาทต่อชั่วโมง

1.3 เภสัชกร

- ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ 1,200 บาทต่อผลัด 8 ชั่วโมง

- ปฏิบัติงานคลินิกนอกเวลาราชการ 250 บาทต่อชั่วโมง

- ปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือหน่วยแพทย์อื่นในลักษณะเดียวกัน นอกเวลาราชการ 300 บาทต่อชั่วโมง ในเวลาราชการ 150 บาทต่อชั่วโมง

1.4 พยาบาล

1.4.1 พยาบาลวิชาชีพ

- ปฏิบัติงานผลัดบ่ายและผลัดดึกเสมือนการปฏิบัติราชการในเวลาราชการปกติ (ไม่ใช่กรณีการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ) ได้รับค่าตอบแทน ผลัดบ่าย 300 บาท ผลัดดึก 350 บาท

- ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทน 200 บาทต่อชั่วโมง

- ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทน 1,000 บาทต่อผลัด

- ปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือหน่วยปฐมพยาบาลนอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทน 200 บาทต่อชั่วโมง

1.4.2 พยาบาลเทคนิค

- ปฏิบัติงานผลัดบ่ายและผลัดดึกเสมือนการปฏิบัติราชการในเวลาราชการปกติ (ไม่ใช่กรณีการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ) ได้รับค่าตอบแทนผลัดบ่าย 250 บาท ผลัดดึก 300 บาท

- ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทน 150 บาทต่อชั่วโมง

- ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทน 800 บาทต่อผลัด

- ปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือหน่วยปฐมพยาบาลนอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทน 150 บาทต่อชั่วโมง

- ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทน 800 บาทต่อผลัด

- ปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือหน่วยปฐมพยาบาลนอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทน 150 บาทต่อชั่วโมง

1.5 นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทางด้านสาธารณสุข

1.5.1 ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทน 200 บาทต่อชั่วโมง

1.5.2 ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทน 1,000 บาทต่อผลัด

1.5.3 ปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่นอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทนคนละ 200 บาทต่อชั่วโมง

1.6 เจ้าพนักงานด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข

1.6.1 ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทน 150 บาทต่อชั่วโมง

1.6.2 ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทน 800 บาทต่อผลัด

1.6.3 ปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่นอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทน 150 บาทต่อชั่วโมง

1.7 นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์

1.7.1 ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทน 200 บาทต่อชั่วโมง

1.7.2 ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทน 1,000 บาทต่อผลัด

1.7.3 ปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่นอกเวลาราชการ ได้รับค่าตอบแทน 200 บาทต่อชั่วโมง

1.8 เจ้าหน้าที่อื่น เช่น เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี เจ้าพนักงานธุรการ ที่ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ ได้รับเงินค่าตอบแทนตามตำแหน่ง ดังนี้

- ข้าราชการกรุงเทพมหานครประเภททั่วไป ได้รับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 120 บาท ผลัดละ 480 บาทต่อ 8 ชั่วโมง

- ข้าราชการกรุงเทพมหานครประเภทวิชาการ ได้รับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 150 บาท ผลัดละ 600 บาทต่อ 8 ชั่วโมง

- บุคลากรกรุงเทพมหานคร ชั่วโมงละ 90 บาท ผลัดละ 360 บาทต่อ 8 ชั่วโมง

2. กรณีที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติภารกิจนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต้องปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 วัน หรือเกินกว่า 1 วัน ได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นรายวัน ดังนี้

2.1 แพทย์ ทันตแพทย์ 4,800 บาทต่อวัน

2.2 เภสัชกร 3,600 บาทต่อวัน

2.3 พยาบาลวิชาชีพ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการทางด้านสาธารณสุข 2,400 บาทต่อวัน

2.4 พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข 2,000 บาทต่อวัน

2.5 แพทย์ประจำบ้าน 2,400 บาทต่อวัน

2.6 นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ 2,400 บาท ต่อวัน

2.7 เจ้าหน้าที่อื่น เช่น เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี เจ้าพนักงานธุรการ ให้ได้รับเงินค่าตอบแทนตามตำแหน่ง ดังนี้

- ข้าราชการกรุงเทพมหานครประเภททั่วไป 2,000 บาทต่อวัน

- ข้าราชการกรุงเทพมหานครประเภทวิชาการ 2,400 บาทต่อวัน

- บุคลากรกรุงเทพมหานคร 1,200 บาทต่อวัน

3. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของหน่วยงานหรือส่วนราชการหนึ่ง เมื่อไปปฏิบัติราชการให้บริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้กับหน่วยงานหรือส่วนราชการอื่นตามคำเชิญของหัวหน้าส่วนราชการ หรือโดยคำสั่งของหัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัด นอกเวลาราชการปกติหรือในวันหยุดราชการ จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมงตามที่ปฏิบัติงานจริงและจ่ายตามคุณวุฒิ ดังนี้

3.1 ผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง หรือปริญญาเอก หรือเทียบเท่า 500 บาทต่อชั่วโมง

3.2 วุฒิระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่า 400 บาทต่อชั่วโมง

3.3 วุฒิระดับปริญญาตรี 300 บาทต่อชั่วโมง

หากเป็นการปฏิบัติงานในเวลาราชการ จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมงในอัตราครึ่งหนึ่งของที่กำหนดไว้

ค่าตอบแทนบุคลากรโรงพยาบาลสนามกองทัพและตำรวจ ภายใต้ ศปม.

กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการตรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดโรงพยาบาลสนามในค่ายทหาร ค่าย ตชด. และหน่วยงานตำรวจ กระจายอยู่ในภาคต่างๆ เป็นจำนวนมากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ

โรงพยาบาลสนามในการดูแลรับผิดชอบของกองทัพเป็นการดำเนินงานตามภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ส่วนโรงพยาบาลสนามในความรับผิดชอบของตำรวจ ไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่าอยู่ภายใต้ ศปม. ทั้งหมดหรือไม่

ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามของกองทัพและตำรวจ เป็นไปตามที่กรมบัญชีกลางอนุมัติให้กองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเบิกจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานนอกที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) อัตราคนละ 60 บาทต่อชั่วโมง โดยเบิกจ่ายเท่าที่ปฏิบัติงานจริง แต่ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งในวันราชการและวันหยุดราชการ และงดจ่ายเบี้ยเลี้ยงเดินทางไปราชการ มีผลตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2563 ไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะยุติลง

ส่วนค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามในค่ายทหาร ยังไม่พบข้อมูล แต่คาดว่าเป็นไปตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข (ดูในหัวข้อข้างต้น) โดยเทียบเคียงจากสถานการณ์ช่วงก่อนหน้านี้ การเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ณ สถานที่ควบคุมโรคที่รัฐจัดให้ (state quarantine และ local quarantine) ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายของกระทรวงสาธารณสุข

ปัญหาเรื่องเงินทองที่คนทำงานด่านหน้าอาจต้องเจอ?

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับปัญหาเรื่องค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ โดยการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของ พลอากาศโท นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ที่เปิดเผยข้อมูลจากการรายงานของแพทย์อีกท่าน ซึ่งไปช่วยงานในโรงพยาบาลสนามบุษราคัมว่า

“ค่าตอบแทน: มีการประชุมในวันที่อาจารย์โพสต์ใน FB คืนนั้นเลยครับ และมีประกาศแจ้งมาอีกประปราย โดยสรุปว่า

- ยืนค่าเสี่ยงภัยได้ทุกเวร แต่ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าได้เมื่อไหร่

- ค่า OT ให้เบิกจากจำนวนเวรที่อยู่ทั้งหมด ที่อยู่เกินจากเวลาราชการ โดยครั้งแรกแจ้งว่าได้ 750 บาท / 8 ชม. แต่มีคนไปดูระเบียบมาว่าจริงๆ ต้องได้ 1,800 บาท / 8 ชม. สุดท้ายจึงมาเปลี่ยนว่าให้ 1,800 บาท/8 ชม. ก็เลยคิดว่าในเมื่อระเบียบมีแต่แรก ทำไมต้องมาลดค่า OT เราในการแจ้งครั้งแรก

- ค่าที่พัก / ค่าเดินทาง : ค่าที่พักเบิกได้ แต่สำหรับคนที่ไม่อยู่ที่พักที่จัดให้ จะให้เบิกค่าเดินทาง จากเดิมที่แจ้งที่กระทรวงว่าวันละไม่เกิน 600 บาทตามระเบียบ เป็นได้เท่าอัตรารถประจำทาง ค่าโดยสารเที่ยวละ 8 บาท (แม้ว่าบางทีเราออกเวรเที่ยงคืน ในยามที่ห้ามออกจากเคหสถาน)

- เบี้ยเลี้ยงเบิกไม่ได้ เพราะที่ รพ.บุษราคัม มีอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น ครับ วันไหนที่ไม่ได้อยู่เวรก็ให้นั่งรถมากินข้าวที่ รพ. (ระยะทาง 7.1 กม. ตาม google MAP)”

ข้อมูลนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ผู้ที่พบเห็นข้อมูลนี้ต่างแสดงความเห็นในทางเดียวกันว่า บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นผู้เสี่ยงภัยเพื่อดูแลประชาชนควรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ขณะที่บางคนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลสนามก็คอมเมนต์ถามว่าอัตราค่าตอบแทนที่ตนเองได้รับอยู่นั้นตรงตามเกณฑ์หรือไม่

ต่อมา วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ตามที่มีการแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดียว่าบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบุษราคัมได้รับเบี้ยค่าเดินทางในช่วงเคอร์ฟิวเท่ากับค่าโดยสารรถเมล์เที่ยวละ 8 บาท เป็นการสื่อสารคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัมยืนยันว่า อัตราเบี้ยเลี้ยงที่เบิกจ่ายให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลบุษราคัมทุกคนเบิกจ่ายตามอัตราจริง เป็นไปตามระเบียบ รวมถึงอัตราเบี้ยเลี้ยงและค่าเสี่ยงภัยก็เป็นไปตามอัตราของโรงพยาบาลต้นสังกัดของแต่ละคนที่มาปฏิบัติงาน แต่ก็ยอมรับว่าการเบิกจ่ายมีความล่าช้า ไม่ได้จ่ายตรงตามเวลา ยกตัวอย่างเช่น หากเดือนนี้ทำเอกสารเบิกเรียบร้อยส่งทันภายในสิ้นเดือน จะได้รับเบี้ยเลี้ยงในปลายเดือนถัดไป

นอกจากนั้น นายแพทย์กิตติศักดิ์เปิดเผยว่าเนื่องจากภาระงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงอนุมัติเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการเป็น 2 เท่าสำหรับบุคลากรในโรงพยาบาลบุษราคัม

คำบอกเล่าของแพทย์อาสาทำงานโรงพยาบาลสนาม

ไทยรัฐออนไลน์พูดคุยกับแพทย์สังกัดโรงพยาบาลอำเภอในจังหวัดเล็กๆ จังหวัดหนึ่ง ซึ่งอาสาไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลสนามที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดโรงพยาบาลต้นสังกัดของตนเอง ได้ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบการเบิกค่าตอบแทนว่า ค่าตอบแทนการปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลสนามกำหนดให้เบิกจากโรงพยาบาลต้นสังกัดของโรงพยาบาลสนามนั้นๆ

แพทย์คนนี้เพิ่งไปช่วยงานที่โรงพยาบาลสนามดังกล่าวเป็นเวลายังไม่ถึง 1 สัปดาห์ ยังไม่ถึงกำหนดเบิกค่าตอบแทน จึงยังไม่เจอปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายค่าตอบแทน และยังไม่ทราบว่าในอนาคตจะติดขัดอะไรหรือไม่ “ก็หวังว่าจะไม่เจอ” เขาบอก

ส่วนเรื่องที่พักในระหว่างปฏิบัติงาน นายแพทย์ผู้ไม่ประสงค์ออกนามเล่าว่า ต้นสังกัดของโรงพยาบาลสนามแห่งนั้นจัดหาที่พักไว้ให้ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับโรงพยาบาลสนาม เดินทางสะดวก และคุณภาพดี ไม่มีปัญหา แต่มีข้อท้วงติงในเรื่องระเบียบขั้นตอนที่ต้องจ่ายค่าที่พักล่วงหน้าก่อนแล้วค่อยเบิกคืนทีหลัง ซึ่งเห็นว่าไม่สมควร

“เราอาสามาทำงานแล้วยังต้องมานั่งหวั่นใจว่าจะได้เงินคืนไหม” แพทย์คนนี้บอกความรู้สึก

นอกจากอัตราค่าตอบแทนที่ว่าเบิกได้ตรงตามเกณฑ์ไหม ล่าช้าหรือไม่ และเกณฑ์นั้นกำหนดไว้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานแล้วหรือยัง ขั้นตอนการเบิกจ่ายที่ต้องจ่ายค่าที่พักเองแบบนี้ ก็เป็นอีกข้อที่น่าตั้งคำถามถึงความเหมาะสม หากบุคลากรที่อยากอาสามาช่วยงานเป็นคนที่ไม่ได้มีเงินสำรองเหลือเพียงพอที่จะจ่ายค่าที่พัก เขาจะทำอย่างไร อย่าลืมว่าโรงพยาบาลไม่ได้ต้องการแค่แพทย์ แต่ยังต้องการคนทำงานฝ่ายอื่นๆ ที่มีเงินเดือนและอัตราค่าตอบแทนน้อยๆ ด้วย

อ้างอิง:
finance.moph.go.th
ratchakitcha.soc.go.th
drive.google.com
facebook.com/anutra.md
hfocus.org
thairath.co.th
bpp.go.th

ไทยรัฐออนไลน์
29 ก.ค. 2564