ผู้เขียน หัวข้อ: 'สมเด็จพระสังฆราช' ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา "สัมมาวาจา"  (อ่าน 1598 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด


24 ก.ค. 64 - สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันเสาร์ ที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ความว่า

ดิถีอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว สาธุชนทั้งหลาย ต่างร่วมกันบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษเพื่อรำลึกถึงวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนา โปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา กระทั่งบังเกิดมีพระอริยสงฆ์ ครบถ้วนพร้อมเป็น “พระรัตนตรัย” นับเป็นนักขัตฤกษ์สำคัญ และยังสรรค์สร้างเกียรติประวัติสำหรับราชอาณาจักรไทย ด้วยเป็นประเทศแรกในโลก ที่ดำริริเริ่มให้มีการบูชาพิเศษในดิถีเพ็ญอาสาฬหะ เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประกาศความเป็นเมืองแห่งพระพุทธธรรม ซึ่งช่วยค้ำชูจิตใจของชนในชาติให้ร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา

ปฐมเทศนาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ทรงชี้บอกวิถีทางแห่งการดับเพลิงกิเลสให้สูญไปโดยสิ้นเชิง ด้วยมรรคมีองค์ ๘ เรียกอีกอย่างว่า “ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวการณ์ในโลกปัจจุบัน ขอพุทธบริษัทพึงหันมาพิจารณาทบทวนมรรควิธีประการสำคัญประการหนึ่งในองค์ ๘ นั้น ได้แก่ “สัมมาวาจา” ซึ่งหมายถึงการดำรงคำสัตย์ กล่าวแต่คำประสานน้ำใจซึ่งกันและกัน มีวาจาไพเราะจับใจ  และกล่าวแต่สิ่งที่เปี่ยมด้วยสารัตถะ หากจงช่วยกันใช้ฉันทวาจา ให้สมาชิกในสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปจนถึงชุมชน และประเทศชาติ เต็มไปด้วยสารประโยชน์ในกาลทั้งปวง ชวนกันเจริญ “เมตตาวจีกรรม” ซึ่งจะชักพาให้ตนและสังคมส่วนรวมมีความวัฒนาสถาพร

วันอาสาฬหบูชา นอกจากจะเตือนใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะสูงสุดของพุทธบริษัทแล้ว ยังนำพาให้เราทั้งหลายมั่นคงแน่วแน่ด้วยปณิธานแห่ง “สัมมาวาจา” เพราะฉะนั้น หากท่านประสงค์ให้สังคมไทยไพบูลย์ด้วยสันติสุข ขอจงเร่งเจริญรอยตามพระยุคลบาทของพระพุทธองค์ ผู้ทรงพระมหากรุณาประทานอริยอัฏฐังคิกมรรคไว้เป็นหนทาง พร้อมเพรียงกันบำเพ็ญคุณประโยชน์ โดยเริ่มที่ตนเอง จากการมี “สัมมาวาจา” อยู่ทุกขณะ ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลให้เพื่อนร่วมชาติ ร่วมสังคม สามารถก้าวข้ามพ้นจากความทุกขโทมนัส แปรเปลี่ยนเป็นความเกษมสวัสดิ์ของสรรพชีวิตบนโลกนี้ได้สืบไป ตลอดกาลนาน.

24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
https://www.thaipost.net/main/detail/110924
...............................................................

สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ วจีสุจริต4

๑. ละการพูดเท็จ
เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก

๒. ละคำส่อเสียด
เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้น แล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน

๓. ละคำหยาบ
เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษเพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ

๔. ละคำเพ้อเจ้อ
เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำ ที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐานมีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
วจีทุจริต ๔
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 26 กรกฎาคม 2021, 20:39:47 »
วจีทุจริต ๔

การพูดเท็จ คือ

เมื่อไม่รู้ บอกว่ารู้บ้าง, รู้อยู่ บอกว่าไม่รู้บ้าง, ไม่เห็น บอกว่าเห็นบ้าง, เห็นอยู่ บอกว่าไม่เห็นบ้าง,
พูดเท็จทั้งๆ รู้ เพราะเหตุตนบ้าง, เพราะเหตุคนอื่นบ้าง, เพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง

การพูดส่อเสียด คือ

เมื่อได้ยินจากฝ่ายนี้แล้วบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือได้ยินจากฝ่ายโน้นแล้ว บอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น

เมื่อเขาพร้อมเพรียงกัน ก็ยุให้แตกกันเสีย หรือเมื่อเขาแตกกันแล้ว ก็ช่วยส่งเสริม

ชอบเป็นพรรคเป็นพวก ยินดีความเป็นพรรคเป็นพวก ชื่นชมความเป็นพรรคเป็นพวก เป็นผู้กล่าวคำทำให้เป็นพรรคเป็นพวก

การพูดคำหยาบ คือ

การกล่าววาจาที่มีโทษ หยาบคาย เผ็ดร้อน ขัดใจผู้อื่น ใกล้เคียงความโกรธ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อสมาธิ

การเจรจาเพ้อเจ้อ คือ

การกล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง กล่าวไม่เป็นประโยชน์ กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม กล่าวไม่เป็นวินัย เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีขอบเขต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่ควร

เมื่อเสพความประพฤติทางวาจาอย่างนี้ อกุศลธรรมจึงเจริญยิ่ง กุศลธรรมจึงเสื่อมไป

https://uttayarndham.org/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1/1041/%E0%B8%AA-%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 กรกฎาคม 2021, 20:49:02 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
วาจาสุภาษิต (สุภาสิตา จะ ยา วาจา)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 26 กรกฎาคม 2021, 20:48:25 »
วาจาอันใดที่ไพเราะอ่อนหวานไม่รำคาญแก่โสต เป็นประโยชน์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า วาจานั้นชื่อว่า วาจาสุภาษิต

องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต

๑. ต้องเป็นคำจริง
ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้น เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง

๒. ต้องเป็นคำสุภาพ
เป็นคำพูดไพเราะ ที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่ บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้นฟังก็ ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ

๓. พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์
เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด

๔. พูดด้วยจิตเมตตา
พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมี ความสุข มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำ สุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธมีความริษยาก็ยังไม่สมควรพูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้ ถ้วยคำที่กล่าวด้วยจิตขุนมัว แม้เพียงประโยคเดียวอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงอย่างไม่อาจประมาณได้

๕. พูดถูกกาลเทศะ
แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจานหรือจับผิดกันไป
- พูดถูกเวลา (กาล) คือรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย
- พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือรู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อม เช่นไรจึงสมควรที่จะพูด หากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร

อานิสงส์การมีวาจาสุภาษิต

            ๑.        เป็นคนมีเสน่ห์  เป็นที่รักของชนทุกชั้น

            ๒.        มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม

            ๓.        มีวาจาสิทธิ์  ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่เจรจา

            ๔.        ย่อมได้ยินได้ฟังแต่สิ่งที่ดีงาม

            ๕.        ไม่ตกไปในอบายภูมิ

https://www.sila5.com/home/blog/blog/var/44x2c4w2v204t2

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
หลักการพูดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 26 กรกฎาคม 2021, 20:51:30 »
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังให้หลักการพูดเอาไว้อีก 6 ประการ คือ

1.คำไม่จริง ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก(ของคนฟัง) = เราจะไม่พูด
2.คำไม่จริง ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าเป็นที่รัก(ของคนฟัง) = เราจะไม่พูด
3.ถึงจะเป็นคำจริง แต่ไม่มีประโยชน์ แล้วก็ไม่เป็นที่รัก(ของคนฟัง) = เราจะไม่พูด
4.เป็นคำจริง ไม่มีประโยชน์ แต่เป็นที่รัก(ของคนฟัง) = เราจะไม่พูด
5.เป็นคำจริง มีประโยชน์ แต่ว่าไม่เป็นที่รัก(ของคนฟัง) = อันนี้ต้องรอจังหวะให้ดีค่อยพูด
6.เป็นคำจริง มีประโยชน์ แล้วก็เป็นที่รัก(ของคนฟัง) = เราจึงจะพูด

https://www.sila5.com/home/blog/blog/var/44x2c4w2v204t2

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
คำพูดที่คนใช้สื่อสารอยู่ในชีวิตประจำวันมีมากมาย ถ้าจะนับคงนับไม่ไหว แต่ถ้าจะสรุปก็คงได้สองประเภทคือ คำพูดดีเรียก สุภาษิต กับคำพูดเสียเรียก ทุพภาษิต

คำพูดที่เรียกสุภาษิตจะต้องครบองค์ประกอบทั้ง 5 ประการเหล่านี้คือ

พูดถูกกาละ (กาเลน ภาสิตา)
พูดคำจริง (สจฺจา ภาสิตา)
พูดสุภาพ (สณฺหา ภาสิตา)
พูดมีประโยชน์ (อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา)
พูดด้วยเมตตา (เมตฺตจิตฺเตน ภาสิตา)

จะพูดดีขนาดไหน ถ้าพูดไม่ถูกกาล ไม่ใช่คำจริง ไม่สุภาพ ไม่มีประโยชน์ และพูดด้วยความมุ่งร้ายหมายขวัญ ไม่นับว่า “สุภาษิต”

อย่างไรเรียกว่าพูดถูกกาล พูดคำจริง พูดสุภาพ พูดมีประโยชน์ พูดด้วยเมตตา คงไม่จำต้องอธิบาย เพราะรู้กันดีอยู่แล้ว

คนพูดดี รู้จักพูด ย่อมมีภาษีกว่าคนพูดไม่ดี ไม่รู้จักพูดเพราะ “เป็นมนุษย์สุดนิยมที่ลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ” ดูตัวอย่างต่อไปนี้

ลูกเศรษฐีสี่คนเห็นนายพรานบรรทุกเนื้อผ่านมา อยากได้เนื้อไปกินบ้าง จึงเอ่ยปากขอ คนแรกตะโกนว่า “เฮ้ย พราน ขอเนื้อข้าบ้างสิวะ” นายพรานพูด “จะขออะไรใครควรพูดให้เข้ารูหูชาวบ้านเขาหน่อย” ว่าแล้วก็เอาเนื้อพังผืดให้ สมกับคำพูดหยาบๆ ของเขา

คนที่สองพูดว่า “พี่ชายครับ ขอเนื้อผมบ้างเถอะครับ” นายพรานพูดว่า “พี่น้องเปรียบเสมือนแขนขา ท่านเรียกเราว่าพี่ชายจงเอาเนื้อขาไป” แล้วหยิบเนื้อขาให้

คนที่สามพูดว่า “พ่อครับ ขอเนื้อผมบ้าง” นายพรานพูดว่า “เวลาใครเรียกพ่อ ทำให้หัวใจเขาหวั่นไหว คำพูดของท่านดุจดังหัวใจ เอาเนื้อหัวใจไปเถิด” แล้วตัดหัวใจให้เขาไป

คนสุดท้ายพูดว่า “สหาย ขอเนื้อเราบ้าง” นายพรานพูดว่า “บ้านใดไม่มีเพื่อน บ้านนั้นเป็นเสมือนป่า คนที่มีเพื่อนนับว่ามีทุกสิ่งอย่าง เพราะฉะนั้น เราจะมอบเนื้อทั้งหมดให้แก่ท่าน” ว่าแล้วก็มอบเนื้อให้ทั้งหมด และทั้งสองได้เป็นเพื่อนร่วมตายกันต่อมา

ครับ พูดสิ่งใดประโยชน์ยิ่ง ทุกสิ่งสำเร็จเอย

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 เมษายน 2563
คอลัมน์   เสฐียรพงษ์ วรรณปก

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สาราณียธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติของผู้ที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ตั้งแต่ขนาดเล็ก เช่น ครอบครัวไปจนถึงระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งในระดับโลกมีอยู่ 6 ประการ ซึ่งป.ปยุตฺโต หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ในปัจจุบันได้นำมารวบรวม และอธิบายความไว้ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมดังต่อไปนี้

1. เมตตากายกรรม
ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้า และลับหลังคือ ช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมหมู่คณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกันทั้งต่อหน้า และลับหลัง

2. เมตตาวจีกรรม
ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลังคือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือน ด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือทั้งต่อหน้า และลับหลัง

3. เมตตามโนกรรม
ตั้งเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน

4. สาธารณโภคิตา
ได้สิ่งของใดมาก็แบ่งปัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมา แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจานให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน

5. สีลสามัญญตา
มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่รังเกียจของหมู่คณะ

6. ทิฏฐิสามัญญตา
มีทิฏฐิดีงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ เห็นชอบร่วมกันในข้อที่เป็นหลักการ อันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ ขจัดปัญหา

โดยนัยแห่งสาราณียธรรม 6 ประการข้างต้น จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเน้นให้ผู้ที่อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ หรือทำงานร่วมกัน จะต้องมีเมตตา คือ ความหวังดีต่อกัน ไม่ริษยากัน ไม่ชิงดี ชิงเด่นต่อกันและกัน ไม่ว่าจะด้วยการกระทำหรือจะด้วยการพูด หรือแม้กระทั่งการคิดใน 3 ประการแรก

ส่วน 3 ประการหลัง เป็นการวางเงื่อนไขหรือกติกาในการอยู่ร่วมกัน โดยกำหนดให้ผู้ที่อยู่ร่วมกันต้องรู้จักการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และจะต้องมีความประพฤติอันดีงามเสมอภาคกัน และที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องมีความคิดเห็นถูกต้อง และเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับผู้อื่น

https://mgronline.com/daily/detail/9620000029668