ผู้เขียน หัวข้อ: สุดเห็นใจ! พยาบาลห้องฉุกเฉินโอด คนไม่พอดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน หลังต้องแบ่งคนดูอาการ  (อ่าน 436 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
พยาบาลสาวห้องฉุกเฉินโพสต์ขอความเห็นใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยหันมาดูแล แก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่พอ หลังแผนกฉุกเฉินต้องแบ่งคนไปดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ชี้ธรรมดาคนก็น้อยอยู่แล้ว ยันไม่อยากให้เกิดการสูญเสียชีวิตขึ้น

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Nutty Nattaporn” ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบายความอัดอั้นใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 รวมไปถึงผู้ป่วยที่ไม่ใช่จากโรคโควิด-19 โดยได้เผยว่าปัจจุบันไม่สามารถช่วยคนไข้ฉุกเฉินได้เท่าที่ควรเพราะคนป่วยโควิดเยอะกว่า วอนผู้ใหญ่เร่งแก้ไข ทั้งนี้ ผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า

“Covid diary พยาบาลขอระบาย

วันนี้ขอมาเล่าสู่กันฟังในฐานะพยาบาลห้องฉุกเฉิน ในฐานะที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิดและไม่ใช่โควิด ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา... ยอดคนไข้โควิดที่รอ Admit 20-30 กว่าเคสว่าเยอะแล้ว
ล่าสุดเดือน ส.ค. ยอดที่รอ Admit ปาเข้าไป 40 กว่าเคสแล้ว อีกหน่อยคงถึง 100 แน่ๆ เยอะกว่า ward ผู้ป่วยในแต่ละแผนกด้วยซ้ำ

คำนิยามของ ER (Emergency Room) คือ ดูแลคนไข้ให้พ้นภาวะวิกฤต ภาวะคุกคามถึงชีวิตแล้วส่งต่อให้แผนกเฉพาะทางดูต่อ แต่ไม่ใช่ที่นี่ เพราะที่นี่ให้ ER รับผิดชอบคนไข้โควิดที่รอ Admit ทั้งที่ควรจะเป็นหน้าที่ของ Ward Covid "Ward covid" ของ รพ. มีรับยอดชัดเจน 10-20 เคสก็แล้วแต่ ward นั้นๆ ยอดเต็มคือเต็ม ถ้าเตียงว่างอาจจะมีรับย้ายหรือรับใหม่ แต่ ER ไม่มีคำว่าเต็ม ยกตัวอย่างเช่น มีเคส walk-in เข้ามาด้วยอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ปวด...บลาๆๆ เดินมา รู้ตัวรู้เรื่องดี คำแนะนำแรกที่ผู้รับบริการจะได้คือ รอนานนะ รอหลายชั่วโมงนะ บอกไม่ได้นานแค่ไหน ขณะคุยๆ อยู่นั้น อ้าวว มีเข็นรถนอนเข้ามา คนไข้เหนื่อยมาก ซึม เรียกไม่ตอบสนอง ออกซิเจนต่ำมากๆ หมอและพยาบาลต้องรีบให้การช่วยเหลือ ซึ่งตอนนี้จะใส่ท่อช่วยหายใจก็ทำไม่ได้ เครื่องช่วยหายใจไม่พอ ห้องแรงดันลบไม่ว่างมีเคสโควิดรอ Admit นอนค้างอยู่ แล้วจะทำอย่างไรดี

มาถึงจุดจุดนี้ ญาติต้องทำใจเพราะมันเกินศักยภาพมากๆ พอญาติเข้าใจจุดนี้หมอจะทำการรักษาแบบประคับประคอง ให้ออกซิเจน ให้ยาให้สงบ และทรมานน้อยที่สุด ทุกๆ วันเหตุการณ์จะวนไปแบบนี้จนหมดวัน พอให้การพยาบาลคนไข้วิกฤตเสร็จก็ต้องกลับมาดูคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินต่อ

อ้าว นี่คนไข้รอหมอตรวจหรือรอพยาบาลมาหลายชั่วโมงแล้วนี่ บางคนนานเกิน 3-4 ชม. บางคนรอได้เพราะเข้าใจ บางคนรอไม่ได้เพราะไม่เข้าใจก็มี บางคนรอจนดีขึ้นเอง กลับบ้าน หรือแม้กระทั่งรอจนอาการแย่ จนถึงขั้นไม่ไหวก็เกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งมันเป็นเหตุการณ์ที่เศร้ามากๆ ในชีวิตการเป็นพยาบาล ในแต่ละเวรจะมีพยาบาลขึ้นเวร 6-9 คน พอถึงเวลาที่ต้องให้การพยาบาลผู้ป่วยโควิด ไม่ว่าจะเป็นวัดไข้ วัดความดัน ฉีดยา ป้อนข้าว ป้อนยา เปลี่ยนแพมเพิร์ส จะต้องมีพยาบาลไปดูคนไข้โควิด 3-6 คน/คนไข้ 30-40 กว่าคน ใช้เวลาดูนานแค่ไหน รอบละประมาณ 2-3 ชม./ครั้ง ในชุด PPE ที่ร้อนมากๆ 😞😞 แต่ก็ต้องอดทน เพราะไม่ทำก็ไม่ได้

อ้าว แล้วถ้าพยาบาลไปดูคนไข้โควิดเกือบหมด คนไข้ที่ไม่ใช่โควิดใครจะดูแล ก็คงเป็นพยาบาลอีก 3 คนที่เหลือ ซึ่ง 3 คนนี้มีหน้าที่ต่างกัน คร่าวๆ ดังนี้

1. พยาบาลหัวหน้าเวร ที่ทำหน้าที่ติดต่อประสานงาน รับเคสเข้า ส่งเคสออก รับเวร ส่งเวร รายงานข้อมูลต่างๆ ของคนไข้แก่หมอ
2. พยาบาลคัดกรอง ที่ทำหน้าที่แยกประเภทความเร่งด่วน เช่น
- คนไข้ด่วนมากต้องช่วยเหลือทันทีไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิต
- คนไข้ด่วนที่รอได้แค่ 10 นาทีไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิต
- คนไข้รอได้ 1 ชม. และรอได้ไม่จำกัดเวลา

และเมื่อคัดกรองเสร็จก็ทำหน้าที่รายงานหมอให้รีบดูคนที่ด่วนที่สุดก่อน และหน้าที่ที่ 3 พยาบาลรับคำสั่งหมอ เช่น เจาะเลือด ฉีดยา ให้น้ำเกลือ ใส่สายให้อาหาร ใส่สายสวนปัสสาวะ ทำแผล เย็บแผล ส่งคนไข้ไปเอกซเรย์ บลาๆๆๆ คนไข้ 1 คนต้องมีหัตถการหลายอย่าง กว่าจะเสร็จคนไข้ 1 คนปาไปเกือบ ชม. คนไข้คนอื่นๆ ก็รอต่อไปตามความเร่งด่วน ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ควรเป็นแบบนั้นเพราะที่นี่คือแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ใช่หอผู้ป่วยเฉพาะทางโควิด พยาบาลที่ขึ้นเวร 6-9 คน ควรได้มาช่วยเหลือคนไข้ที่ Emergency จริงๆ เพื่อช่วยให้คนไข้มีชีวิตรอดมากขึ้น และกลับไปใช้ชีวิตในครอบครัวได้ปกติมากที่สุด

วอนผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบปัญหา และเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ทีค่ะ ตอนนี้ห้องฉุกเฉินไม่สามารถช่วยชีวิตคนไข้ฉุกเฉินได้เท่าที่ควรทำได้ 100% แล้ว เพราะยอดรอ Admit โควิดมันเยอะกว่า ward อื่นๆ มากๆ

ภาระงานเยอะขึ้น ดูแลคนไข้ไม่ตรงบริบทห้องฉุกเฉิน คนไข้แย่ลงเพราะรอนาน ดูแลไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดการสูญเสียขึ้นในครอบครัวนั้นๆ ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแน่นอน”

8 ส.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์