ผู้เขียน หัวข้อ: ศาลปกครองไม่รับฟ้องคดีผู้ป่วย"โรคบวมน้ำเหลือง" ร้องเพิกถอนประกาศคณบดีเวชศาสตร์  (อ่าน 1396 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายเอกณัฐ จิณเสน ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนมีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีที่นางสมจิต วัชราเกียรติ พร้อมพวก รวม 13 คนซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลืองที่รักษาอาการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการรักษาโรคบวมน้ำเหลืองด้วยวิธีภูษาบำบัดและขันชะเนาะ ยื่นฟ้องคณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ถูกฟ้อง เรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครอง ออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ถูกฟ้อง ออกประกาศวันที่ 14 ตุลาคม 2554 เรื่องยุบโครงการรักษาโรคบวมน้ำเหลืองด้วยวิธีภูษาบำบัดและขันชะเนาะ ดังกล่าวที่ให้ยุบเลิกโครงการและให้ขนย้ายทรัพย์สินจากพื้นที่ รพ.เวชศาสตร์เขตร้อนและส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่โรงพยาบาลภายใน 30 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจมิชอบขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 51, 57 และการยุบเลิกโครงการดังกล่าวเป็นอำนาจ คณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 54 พ.ร.บ.มหาวิทยามหิดล พ.ศ.2550 ขณะที่การสั่งให้งดกิจการเกี่ยวกับบริการ การดำเนินรักษาผู้ป่วยในโครงการรักษาโรคบวมน้ำเหลืองด้วยวิธีภูษาบำบัดและขันชะเนาะ เป็นอำนาจของแพทยสภา ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม


โดยศาลพิเคราะห์คำฟ้องและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าประกาศของผู้ถูกฟ้องไม่ได้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปหรือใช้บังคับกับผู้ฟ้องทั้ง 13 รายโดยตรง จึงไม่มีสภาพเป็นกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ประกาศของผู้ถูกฟ้องจึงเป็นการเพียงการกระทำอื่น และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโครงการรักษาโรคบวมน้ำเหลืองฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยและทดลองเพื่อให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคเท้าช้างโดยมีองค์กรแพทย์คอยควบคุมดูแลโครงการดังกล่าว และในระหว่างทดลองวิจัยจะไม่รับผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน แต่ต่อมาได้รับการร้องเรียนว่าแพทย์ที่ทำการรักษา ได้ให้บริการเกินกรอบของโครงการทำให้มีผู้รักษาจำนวนมาก ประกอบกับใบอนุญาตเวชกรรมในประเทศไทยที่ผู้ถูกฟ้องขอให้แพทย์ที่ทำการรักษาได้สิ้นสุดลงวันที่ 14 ตุลาคม 2554 ผู้ถูกฟ้องจึงออกประกาศยุบเลิกโครงการดังกล่าว จึงเห็นว่าประกาศนั้นเป็นเพียงการบริหารงานภายในคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ยังไม่มีผลกระทบสิทธิผู้ฟ้องในการได้รับการรักษาโรค เพราะผู้ฟ้องยังคงมีสิทธิรักษาด้วยวิธีการอื่น ผู้ฟ้องจึงยังไม่ใช่ผู้เดือดร้อนเสียหาย ศาลจึงไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ


นายไพโรจน์ มินเด็น ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ในฐานะโฆษกศาลปกครองกลาง ชี้แจงว่า การที่ศาลปกครองกลางได้เคยมีคำสั่งรับฟ้องคดีนางสมจิต วัชราเกียรติ กับพวกรวม 13 คนซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลืองที่รักษาด้วยวิธีภูษาบำบัดและขันชะเนาะ ฟ้องคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนหน้านั้น เนื่องจากขณะนั้น ศาลได้ฟังข้อมูลเบื้องต้นแล้วเห็นว่า คดีดังกล่าวมีมูลน่าจะรับฟังไว้ได้ แต่ต่อมาเมื่อเข้าสู่การพิจารณาไต่สวนในภายหลังพบว่า นางสมจิตและพวกไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยตรงในคดีนี้ การที่ศาลจะมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2543 จึงมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาในชั้นการรับคำฟ้องไว้พิจารณา อย่างไรก็ตาม นางสมจิตและพวกยังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน

มติชนออนไลน์  6 มกราคม พ.ศ. 2555