ผู้เขียน หัวข้อ: “กนก” จี้รัฐทบทวนใช้ฟ้าทะลายโจรหลังยังติดเวชปฏิบัติ สธ.ทำแพทย์ไม่กล้าให้ยา  (อ่าน 326 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
รอง หน.ปชป. แนะรัฐทบทวนนโยบายใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด หลังพบมีความย้อนแย้ง ครม.มีมติหนุนแต่ในเวชปฏิบัติ สธ.ให้ใช้เฉพาะ Favipiravir ทำแพทย์ไม่กล้าจ่ายยา ชี้ โจทย์ใหญ่คิดไปข้างหน้าเร่งวิจัยศักยภาพ หนุนปลูกเชื่อช่วยฟื้น ศก.จากโควิด

วันนี้ (29 ก.ค.) นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาฟ้าทะลายโจรขาดแคลน เพราะความต้องการสูงในขณะนี้ ว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องทบทวนว่าจะกำหนดนโยบายและวางอนาคตของ “สมุนไพรไทย” อย่างไร เพราะในขณะนี้ ฟ้าทะลายโจรมีผลการวิจัยโดยแพทย์แผนปัจจุบันยืนยันแล้วว่าสามารถช่วยรักษาโรคไวรัสโควิด-19 ได้ และสามารถบอกได้จากการทดลองเชิงปฏิบัติกับผู้ป่วยแล้วว่าจำนวนหรือปริมาณการรับประทานสารออกฤทธิ์ในฟ้าทะลายโจร คือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ต่อวัน และสามารถเปรียบเทียบผลกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ทานฟ้าทะลายโจร แล้วพบว่า ฟ้าทะลายโจรมีความปลอดภัยสูงต่อผู้ป่วย มีสิทธิภาพต่อการรักษาดี อีกทั้งหาได้ง่ายและราคาถูกสำหรับคนไทย เพราะฟ้าทะลายโจรเป็นพืชที่ปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ การที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการใช้ฟ้าทะลายโจร เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 เพื่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่มีอาการโรค โดยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยืนยันถึงประสิทธิภาพของการรักษาโรคโควิด-19 ของฟ้าทะลายโจร แต่ถ้าเข้าไปดูแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564 ของกระทรวงสาธารณสุข แนะนำเรื่องการรักษา Covid-19 กรณีผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ให้ใช้ยา Favipiravir เท่านั้นไม่ปรากฏ “ฟ้าทะลายโจร” อยู่ในแนวเวชปฏิบัติของกระทรวง

นายกนก กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่ายังมีความย้อนแย้งอยู่ในส่วนนโยบายการรักษา จึงต้องเร่งทบทวนกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ทำไมประกาศฉบับหลังสุด คือ 21 กรกฎาคม 2564 จึงไม่มีฟ้าทะลายโจรในประกาศของแนวทางเวชปฏิบัติ ซึ่งส่งผลให้แพทย์ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขและแพทย์ทั่วไปไม่กล้าที่จะใช้ฟ้าทะลายโจรกับผู้ป่วยโควิด-19 อีกทั้ง สปสช.ก็ไม่อาจจะนำฟ้าทะลายโจรรวมเข้าเป็นค่าใช้จ่ายการรักษาตามระบบ ประกันสุขภาพด้วย ผลที่ตามมาคือ การใช้ยา Favipiravir ราคาแพงกว่าฟ้าทะลายโจรเป็นร้อยเท่า จะทำให้ค่ายารักษาโรคโควิด-19 สูงขึ้นอย่างมาก และถ้าองค์การเภสัชกรรมผลิตยา Favipiravir ไม่ทันกับความต้องการ อาจต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศที่ทำให้เสียทั้งเงินและเวลามากขึ้น คำถามที่กระทรวงสาธารณสุขต้องตอบประชาชน คือ ทำไมจึงไม่บรรจุฟ้าทะลายโจรลงในแนวทางเวชปฏิบัติฯ เพื่อให้เกิดการใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างถูกต้อง กว้างขวาง และเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยจำนวนมหาศาลที่กำลังรอเข้าโรงพยาบาลสนาม

“ฟ้าทะลายโจรมีสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อการรักษาโรคโควิด-19 มาก แต่การจะนำฟ้าทะลายโจรมาเป็นยารักษาโรคที่ได้มาตรฐาน อย.นั้น เกี่ยวข้องกับกระบวนการอื่นๆ อีกมาก ตั้งแต่การปลูกฟ้าทะลายโจรที่ปลอดภัย การเก็บเกี่ยวที่รักษาคุณภาพสารออกฤทธิ์ การแปรรูปเป็นแคปซูลที่ได้มาตรฐานจนถึงการใช้ที่ถูกต้อง รวมไปถึงการทำให้ฟ้าทะลายโจรเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่เกษตรกรได้รับส่วนแบ่งจากราคาปลีกของฟ้าทะลายโจรอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่มีเพียงบริษัทยาเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ และเกษตรกรได้เพียงราคาฟ้าทะลายโจรกิโลกรัมละ 100 บาทเท่านั้น ประเด็นเหล่านี้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยหลายด้านที่ต้องทำเพิ่ม เกี่ยวข้องกับการวางโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตและแปรรูปสมุนไพรของประเทศ จนถึงเกี่ยวกับการยอมรับยาสมุนไพรของชาติและประชาชนโดยรวม โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องคิดไปข้างหน้า เพื่อใช้ศักยภาพของฟ้าทะลายโจรให้เกิดประโยชน์ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ในยุคโควิด-19 อย่างไร แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร โครงการสกลนครโมเดลที่ผมและทีมงานจะเดินหน้าขับเคลื่อนฟ้าทะลายโจรเป็นหัวขบวนของการใช้สมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศต่อไป” นายกนก กล่าว

29 ก.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์