ผู้เขียน หัวข้อ: ระเบียบราชการกระดูกชิ้นโตแก้โควิด-19 สถานการณ์วิกฤติใช้วิธีปกติไม่ทันการณ์  (อ่าน 323 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
เหลืออีกไม่กี่วันจะถึงวันที่ 2 สิงหาคม ครบ 14 วันหลังจาก บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ยกระดับล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 13 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม ได้แก่ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา 
    แต่ถึงวันนี้สถานการณ์กลับยังไม่มีแนวโน้มว่ายอดการติดเชื้อหรือยอดผู้เสียชีวิตลดลง ตรงกันข้ามตัวเลขกลับไปในทิศทางของการพุ่งสูงชัน 
    อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่ ศบค.นำมารายงานให้สาธารณชนรับทราบ เป็นตัวเลขเฉพาะคนที่ตรวจแบบ RT-PCR ยังไม่ได้นับของผู้ที่มีผลเป็นบวก จากการตรวจแบบ Rapid Antigen Test Kit (ATK) ที่ต้องเข้ารับการตรวจแบบ RT-PCR อีกครั้ง ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงน่าจะมีมากกว่านี้
    สถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤติของประเทศไทยที่ไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าที่สุดจะไปสูงสุดที่จุดใด ถือว่าหนักหนาสาหัสแล้ว แต่ขณะเดียวกันระบบการดูแลประชาชนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลและ ศบค.ที่ดูจะแก้ไม่ตก ทั้งที่ผ่านมาแล้วหลายเดือนนับตั้งแต่การแพร่ระบาดในต้นเดือนเมษายน
    บิ๊กตู่ ประกาศว่าจะต้องไม่มีใครเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน แต่ปรากฏว่ายังพบเห็นการเสียชีวิตและข่าวคราวการรอเตียงจนเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในการแถลงข่าวของ ศบค. เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่พบว่าเสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย ซึ่งเกิดขึ้นใน กทม.และปริมณฑล โดยอยู่ใน จ.ปทุมธานี 4 ราย และ กทม. 1 ราย
    นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยหลายรายที่มีผลการตรวจ RT-PCR ว่าติดเชื้อ รอการรักษามากกว่า 10 วัน บางรายต้องซื้อยามารับประทานเอง บางรายอาการหนัก ต้องขอความช่วยเหลือจากอาสาสมัครภาคประชาชนเข้าไปให้การช่วยเหลือเพื่อต่อลมหายใจ 
    ขณะเดียวกันยังพบว่ามีหลายรายได้รับแจ้งผลจากโรงพยาบาลและบอกว่าให้รอเตียง เป็นการแจ้งเพียงครั้งเดียว จากนั้นก็ไร้การติดต่อกลับมา ทำให้หลายคนเคว้งคว้าง โดดเดี่ยว 
    อีกปัญหาหนึ่งที่พบมากคือ แจ้งผลตรวจ RT-PCR กับประชาชน หลายโรงพยาบาลประสบปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงใช้วิธีการแจ้งผลตรวจทางโทรศัพท์โดยไม่มีใบรับรองผลตรวจให้ ซึ่งปรากฏว่ากลายเป็นข้อติดขัดในการเคลื่อนย้าย ไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อไปยังศูนย์พักคอย หรือโรงพยาบาลสนามที่ไม่สามารถทำได้ เพราะหลายแห่งต้องการใบรับรองผล ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องติดอยู่ที่บ้าน
    เรื่องดังกล่าวกำลังสะท้อนให้เห็นว่า ระเบียบราชการและระเบียบต่างๆ ของรัฐที่สร้างขึ้นมา นอกจากไม่แก้ปัญหาแล้วยังจะสร้างปัญหาให้กับประชาชน
    เรื่องนี้ระเบียบราชการที่เป็นปัญหาอันนำมาสู่ความล่าช้าในการช่วยเหลือคน ผู้ว่าฯ ปู-นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เคยออกมาเรียกร้องเมื่อไม่นานมานี้ว่า ให้โปรดก้าวผ่าน แต่ดูเหมือนจะไร้การแก้ไขปัญหา
    โรงพยาบาลสนามบางแห่งในต่างจังหวัดแทบจะแยกไม่ออกกับศูนย์พักคอย เพราะไม่มีอุปกรณ์ในการช่วยชีวิตประชาชน โรงพยาบาลสนามหลายแห่งไม่มีเครื่องเอกซเรย์ปอด เครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจน ทำได้เพียงให้ยาแก้ไข้เท่านั้น
    โรงพยาบาลสนามบางแห่งมาจากความช่วยเหลือจากเอกชน ภาคประชาชน ที่ออกแรงช่วยเรื่องสถานที่ แต่กลับไม่มีการซัพพอร์ตอุปกรณ์เหล่านี้ให้
    สถานการณ์เช่นนี้ โรงพยาบาลสนามต้องปรับสภาพเข้าสู่การรักษาผู้ป่วยสีเหลืองเต็มตัว อุปกรณ์เหล่านี้จึงจำเป็น ในขณะที่ศูนย์พักคอยควรเป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 
    กระทรวงสาธารณสุขเองได้รับงบประมาณไปพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นงบกลาง หรือแม้แต่จาก พ.ร.ก.กู้เงิน หากแต่ยังเกิดปัญหาการจัดหาอุปกรณ์ที่ยังยากอยู่
    เมื่อคนพร้อมอาสาช่วยรัฐ ช่วยประชาชน รัฐเองก็ต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ ระเบียบบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต้องก้าวข้ามไปให้ได้
    หรือบางเรื่องที่ควรเคร่งครัดระเบียบหรือมาตรการกลับยังมีความหละหลวม หนึ่งในนั้นคือ สถานการณ์การติดเชื้อในโรงงานที่เริ่มมีให้เห็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่มากขึ้น และติดเชื้อกันเป็นจำนวนมากในรายวัน พบว่าที่ผ่านมาหลายโรงงานค่อนข้างหละหลวมเรื่องการมาตรการสาธารณสุข ยังคงให้พนักงานที่มีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง-เสี่ยงต่ำมาปฏิบัติงาน จนทำให้เกิดการแพร่เชื้อในวงกว้าง 
    มาตรการบับเบิลแอนด์ซีลที่เคยใช้กับโรงงานแทบจะไม่ปรากฏแล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีโรงงานและแรงงานจำนวนมาก
    อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งจุดที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ เรื่องการกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา ที่มีข่าวว่าบางแห่งรับ-ส่งกลับภูมิลำเนาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งรถยนต์ อุปกรณ์ หรือการจอดพักระหว่างทางยังไม่มีระบบที่รัดกุมมากพอ เสี่ยงอาจจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ
    รัฐบาลและ ศบค.ในฐานะหัวเรือใหญ่ต้องปรับกระบวนท่าการทำงานอย่างเร่งด่วน สถานการณ์วิกฤติ แต่ยังใช้วิธีการปกติมาแก้ไข มันไม่สอดคล้องกัน.

28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
https://www.thaipost.net/main/detail/111317