ผู้เขียน หัวข้อ: โควิด-19 : ยุทธศาสตร์วัคซีนที่ถูกเบี่ยงเบน กับความผิดพลาดในการบริหารแผน  (อ่าน 307 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข มองยุทธศาสต์กระจายวัคซีนของรัฐบาลช่วงที่ผ่านมาว่าถูกดึงไปยังกลุ่มกดดันต่าง ๆ มากกว่าจะเดินทางตามยุทธศาสตร์ที่หลายประเทศมุ่งให้วัคซีนแก่กลุ่มผู้สูงวัยก่อนลำดับต้น ๆ ถัดจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

นับแต่การ "คิกออฟ" ฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ซึ่งเต็มไปด้วยความ "โกลาหล" ทั้งวัคซีนไม่พอฉีด การลงทะเบียนที่ประชาชนต้องฝ่าฟันทุกช่องทาง การเลื่อนนัดฉีด การฉีดวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน รวมถึงการเทวัคซีนในพื้นที่โรคระบาด ถูกปรับเป้าหมายใหม่ให้มาที่กลุ่มผู้สูงอายุ

หลังจากผ่านไป 1 เดือน ปรากฏว่าจำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นเป็นกว่า 90% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในการระบาดระลอกสาม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้ปรับแผนการกระจายวัคซีนในเดือน ก.ค. โดยยกเลิกการฉีดปูพรม เน้นฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ให้ได้ 80% เพื่อลดการเสียชีวิตที่มีแน้วโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุขประกาศเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป ให้ได้ 1 ล้านคนภายในสิ้นเดือน ก.ค.

เขายอมรับว่าวัคซีนที่ฉีดไปแล้ว 12 ล้านโดสนั้น "กลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตคือผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค ยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามที่ตั้งเป้าไว้"

หากดูตัวเลขการฉีดเข็มแรกจนถึงวันที่ 20 ก.ค. ประชาชนทั่วไปฉีดไปแล้วกว่า 5.7 ล้านคน ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุฉีดไป 2.29 ล้านคน และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค 1.1 ล้านคน

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นหลังจากมีข้อเสนอจาก นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยาที่ปรึกษาด้านวิชาการ รมว.สาธารณสุข ที่เสนอตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้เปลี่ยนจากการฉีดแบบปูพรมมาเป็นการนำวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัดฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตในกลุ่มนี้

นพ.คำนวณกล่าวว่า การฉีดแบบปูพรมนั้นกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาถึง 5-6 เดือน ซึ่งจะไม่ทันกับปัญหาวิกฤตของเตียงที่ทำให้ระบบสาธารณสุขกำลังจะไปต่อไม่ได้แล้ว

ศูนย์ฉีดวัคซีนหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น สถานีกลางบางซื่อ เซ็นทรัลลาดพร้าว ห้างสยามพารากอน และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เริ่มเปิดให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นมา มารับวัคซีนได้แบบวอล์ค อิน ไม่ต้องลงทะเบียน

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เชื่อว่าเสียงจาก นพ. คำนวณ ดังพอสมควรไปถึง ศบค. ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแผนการฉีดวัคซีน ประกอบกับความจริงที่ว่าวัคซีนมีจำนวนจำกัดและความอลหม่านของประชาชนที่เกิดขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยที่ฝ่ายคุมยุทธศาสตร์วัคซีน ต้องตัดสินใจเปลี่ยน

"เมื่อเสียงนี้ดังขึ้นมา แล้วเขา (ศบค.) รู้แล้วว่าวัคซีนที่มีอยู่จำกัดและมาช้า ถ้าไปมุ่งฉีดปูพรมอีก มันจะไม่เกิดประโยชน์ นั่นคือความผิดพลาด... ภาพการเจ็บป่วย ภาพการติดเชื้อ ภาพของคนไปรอตรวจ อยากตรวจแล้วไม่ได้ตรวจ ภาพคนที่จะไปขอวัคซีนแต่ไม่ได้ คนที่นอนอยู่ไอซียู และตัวเลขที่คาดว่าจะเสียชีวิตเท่าไหร่ ภาพอะไรทั้งหลายเหล่านี้ประจักษ์แก่สายตาทุกวัน ๆ ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายที่คุมยุทธศาสตร์วัคซีน ซึ่งแน่นอนว่าเดิมทีอยู่ที่สาธารณสุข ก็กลายเป็นที่ ศบค. เลขาธิการสภาความมั่นคงฯ มาเป็นคนตัดสินใจในวัคซีน ตอนนั้นคือความผิดพลาด"

อย่างไรก็ตาม นพ.วิชัยกล่าวว่าการปรับเปลี่ยนนี้ก็สะท้อนว่า ศบค. "รับฟัง" และ "ไม่ดื้อดึง" จะเดินหน้าแบบเดิม

นักสาธารณสุขอาวุโสเห็นว่ายุทธศาสตร์ของการฉีดวัคซีนที่วางไว้ในตอนแรกว่าจะฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุก่อนถูกปรับเปลี่ยนไปเพราะวัคซีนมีจำกัดและมาช้า ประกอบกับแรงกดดันจากประชาชนบางกลุ่มที่ต้องการฉีดวัคซีน ทำให้ผู้ที่คุมการตัดสินใจเรื่องการกระจายวัคซีนไม่เดินไปตามเป้าหมายแรก จึงกลายเป็นว่ายุทธศาสตร์การกระจายวัคซีนของไทยสวนทางกับยุทธศาสตร์วัคซีนของหลายประเทศทั่วโลก

ส่วนนโยบายการฉีดวัคซีนแบบปูพรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้คนไทยได้วัคซีน 70% นั้น นพ. วิชัยมองว่า จะทำเช่นนั้นได้ต่อเมื่อมีวัคซีนเพียงพอ อย่างสหรัฐฯ มีวัคซีนมากกว่าประชากรมากถึง 3-4 เท่า

ระบาดระลอกใหม่ 90% ของผู้เสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ คนอ้วน หญิงตั้งครรภ์

นพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ว่า ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. มีผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนและผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด เป็นเหตุที่ทำให้ในเดือน ก.ค. จะเน้นรณรงค์การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุให้มากที่สุดเพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิต

เขาให้ข้อมูลการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุว่า 10% ของผู้สูงอายุทั่วประเทศได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ถ้านับเฉพาะผู้อายุในกรุงเทพฯ คิดเป็น 20% นั่นหมายถึงว่าจะต้องเร่งฉีดในอีก 80% ที่เหลือ

รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า จำนวนผุ้สูงอายุทั่วประเทศราว 13 ล้านคน แบ่งเป็น ในกรุงเทพฯ 1.8 ล้านคน ต่างจังหวัด 11.8 ล้านคน จากนั้นจึงจะเริ่มกลับมาฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปในเดือน ส.ค.

ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 14 ก.ค. ระบุตัวเลขของผู้เสียชีวิตในการระบาดระลอกใหม่ (1 เม.ย.-14 ก.ค.) รวม 2,840 ราย เป็นกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง เช่น อ้วน ตั้งครรภ์ หรือสูงอายุ เป็นสัดส่วน 90% หรือคิดเป็น 2,556 ราย

หากแบ่งเป็นสัดส่วนอายุ ระบาดระลอกล่าสุด มีอัตราการป่วยตายตามกลุ่มอายุดังนี้

15-39 ปี 0.12%
40-59 ปี 0.94%
60 ปี ขึ้นไป 7.45%

ฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ระบุจำนวนการได้รับวัคซีนของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.- 17 ก.ค. 2564 จากเป้าหมาย 50 ล้านคน มีผู้ได้รับวัคซีนครบสองโดสอยู่ที่ 3.44 ล้านคน หรือคิดเป็น 6.9% ขณะที่กลุ่มประชาชนทั่วไปได้วัคซีนครบสองโดสไปแล้ว 6% (1,709,095 คน) กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้วัคซีนครบเพียง 1.2% (146,930 คน)

กลุ่มประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองโดส แยกรายกลุ่ม

-บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 97.6% (รับเข็มที่หนึ่ง 112%)
-เจ้าหน้าที่ด่านหน้า 25.1% (รับเข็มที่หนึ่ง 41.7%)
-อาสาสมัครสาธาณสุขประจำหมู่บ้าน 19.5% (รับเข็มที่หนึ่ง 40.6%)
-กลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค 4.1% (รับเข็มที่หนึ่ง 21.2%)
-ประชาชนทั่วไป 6.0% (รับเข็มที่หนึ่ง 19.2%)
-ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.2% (รับเข็มที่หนึ่ง 17.5%)

แรงกดดันจากหลายกลุ่ม วัคซีนมีจำกัดและมาช้า ทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้วัคซีนก่อน
นพ. วิชัย ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายกับบีบีซีไทยว่า ปัญหาการกระจายวัคซีนเกิดขึ้นเพราะแรงกดดันและความต้องการของวัคซีนสูงขึ้นเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ ในกรุงเทพฯ ระลอกที่ 3 ทำให้ความความต้องการวัคซีน "โหมกระหน่ำเข้ามาอย่างมาก" ขณะที่ระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็หวั่นวิตกมากว่าจะต้องปิดเมือง ปิดกิจการกระทบเศรษฐกิจหนักขึ้น ทำให้ "แรงกดดันมาจากทุกทิศทุกทาง ยุทธศาสตร์วัคซีนจึงเบี่ยงเบนไปจากเดิม"

นพ. วิชัยบอกว่า จากเดิมที่เป้าหมายคือ ฉีดให้กลุ่มบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ตามด้วย ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว แต่เสียงของหลาย ๆ กลุ่ม เช่น กลุ่มแรงงาน กลุ่มภาคเศรษฐกิจดังขึ้นมากจนเป็นแรงกดดันทำให้ยุทธศาสตร์วัคซีนเปลี่ยน

"วัคซีนที่คาดว่าจะมีเท่านั้นเท่านี้ ความจริงกลับน้อยลง โดยเฉพาะแอสตร้าเซนเนก้า ที่ได้น้อยลงและได้ช้าลง แต่วัคซีนก็กลับถูกเบี่ยงเบนไปยังกลุ่มอื่น ซึ่งเสียงดังขึ้น และแรงกดดันรุนแรง"

นายแพทย์สาธารณสุขอาวุโสและอดีตประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท ไล่เรียงกลุ่มประชากรที่กดดันผู้มีอำนาจตัดสินใจจัดสรรวัคซีน จนทำให้ยุทธศาสตร์เดิมเปลี่ยน ดังนี้

กรุงเทพมหานคร เมื่อเกิดการระบาดจึงต้องเทวัคซีนลงไป และ "เสียงคน กทม. ดังกว่าใคร ๆ อยู่แล้ว เป็นปกติ"
กลุ่มคมนาคม เพราะมีคนสำคัญในพรรคร่วมรัฐบาล จึงทำให้มีศักยภาพในการดึงวัคซีน โดยให้เหตุผลว่าการคมนาคมขนส่งมีโอกาสที่จะไปติดเชื้อคนอื่น ดังนั้นก็ต้องฉีดให้มาก ๆ จึงเกิดการฉีดให้ที่สถานีกลางบางซื่อ

กระทรวงแรงงาน เสียงดังเพราะมีแรงงานอยู่ 12-13 ล้านคน เป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อรักษาแรงงาน รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงก็ต้องเอาไปฉีดให้กลุ่มประกันสังคม ซึ่งประกันสังคมเป็นกลุ่มหนุ่มสาว การเจ็บป่วยไม่ค่อยรุนแรงและเสียชีวิตน้อย
ภาคท่องเที่ยว ประเทศไทย 52.4% ของผลิตภัณฑมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มาจากการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นต้องขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยว ผลคือ เกิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ วัคซีนจึงถูกทุ่มไปที่ภูเก็ต

กลุ่มบุคลากรมหาวิทยาลัย เป็นกลุ่มที่ นพ.วิชัยมองว่า มีเหตุผลในการระดมฉีดวัคซีนน้อยที่สุด เพราะกลุ่มนี้เป็นคนหนุ่มสาวทั้งสิ้น แต่ก็กลับมีการนำไปฉีดให้บุคลากรในมหาวิทยาลัย แทบทุกมหาวิทยาลัย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มหนุ่มสาว เป็นกลุ่มประชากรที่แข็งแรงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชากรกลุ่มเปราะบาง อย่างผู้สูงอายุและกลุ่มโรคประจำตัว

เพียงสัปดาห์แรกของการคิกออฟฉีดวัคซีน กลุ่มประกันสังคม ม.33 ได้ฉีดวัคซีนให้กับแรงงานไปทั้งสิ้น 2.1 แสนโดส และระบุว่าได้รับจัดสรรมา 1 ล้านโดส

เปลี่ยนยุทธศาสตร์ แต่ลืมว่าวัคซีนมีจำกัด

นพ. วิชัยบอกว่ายุทธศาสตร์การฉีดถูกเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่ปริมาณวัคซีนในประเทศมีจำกัด

"เราลืมว่าเรามีวัคซีนจำกัดมาก เราจึงต้องใช้วัคซีนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ แต่เราไปทำเหมือนกับที่บางประเทศเขาทำ อันนี้คือข้อแตกต่างระหว่างการแพทย์และการสาธารณสุข เราพยายามไปเอาตัวอย่างจากอิสราเอล สหรัฐฯ อังกฤษ สิงคโปร์ ที่เขาพยายามโหมฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) แต่อย่างสหรัฐฯ เขามีวัคซีนมากกว่าประชากรตั้ง 3-4 เท่า"

นพ. วิชัยบอกว่า แม้สหรัฐฯ จะปูพรมฉีดเพื่อหวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ก็ยังคงลำดับความสำคัญกลุ่มแรกที่ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว

"อันนี้คือ เห็นช้างขี้ขี้ตามช้างเลย เพราะประเทศไทยมีวัคซีนจำกัดมาก มีน้อยและก็มาช้า เราควรจะเอาวัคซีนมาใช้เพื่อรักษาระบบสาธารณสุข รักษาชีวิตกลุ่มคนสูงอายุ และกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวอัตราที่ป่วยตายขึ้นเป็น 20% แต่อัตราของคนหนุ่มสาวอย่างกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย อัตราตายอยู่ที่ 1 ต่อ 1,000"

อังกฤษ สหรัฐฯ ทำอย่างไร

ที่สหราชอาณาจักร โครงการให้วัคซีนแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกได้แก่กลุ่มคนที่ที่มีความสำคัญลำดับแรกจำนวนราว 32 ล้านคน ซึ่งทางการตั้งเป้าให้วัคซีนโดสแรกแก่คนกลุ่มนี้ให้ครบภายในกลางเดือน เม.ย.

คนกลุ่มนี้ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่พักอาศัยในบ้านพักที่ดูแลคนชราและคนป่วยและคนที่ทำงานในบ้านพักเหล่านี้ โดยแบ่งเป็นช่วงอายุละ 10 ปี จาก 80 ขึ้นไป ลงมาถึง 50 ปี เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสังคมและสาธารณสุขที่อยู่ในแนวหน้า กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพ กลุ่มคนที่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อยู่ก่อนแล้ว และคนที่ต้องดูแลผู้อื่นโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

ส่วนระยะที่ 2 เป็นการให้วัคซีนแก่กลุ่มประชากรที่เหลือราว 21 ล้านคน โดยตั้งเป้าให้วัคซีนโดสแรกให้ครบภายในกลางเดือน ก.ค.

ส่วนสหรัฐอเมริกา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐฯ (ซีดีซี) วางแนวทางการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มที่ให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ ได้แก่

ระยะแรกฉีดให้กับกลุ่มบุคลากรด้านการแพทย์สาธารณสุข กลุ่มผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (long-term care facility residents) ตามด้วยกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 75 ปี และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า (กลุ่มที่ไม่ใช่การสาธารณสุข) และกลุ่มคนอายุ 65-74 ปี รวมทั้งกลุ่มคนอายุ 16-64 ปี ที่มีความเสี่ยงเรื่องโรคประจำตัว และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าอื่น ๆ

ภูมิคุ้มกันหมู่ที่สร้างไม่ได้ เพราะวัคซีนไม่พอ

ในงานเสวนา "วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร" เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ได้ส่งสารสำคัญในทางเลือกนโยบายวัคซีน ได้กล่าวไว้ว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระลอกที่ 3 จากกลายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ติดต่ออย่างรวดเร็วทำให้ตั้งตัวไม่ทัน คำถามว่าเดือนหน้า เดือนถัดไป อัตราการเสียชีวิตจะเป็นอย่างไรบ้าง ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดลงความเห็นตรงกันว่าสถานการณ์จะแย่กว่าเดิมเหตุผลเพราะสายพันธุ์ใหม่หรือสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เข้ามายึดครองการระบาด ในไม่ช้าเดือนนี้หรือเดือนหน้าจะเป็นเชื้อเดลตาทั้งหมด ซึ่งสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม 1.4 เท่า

นพ.คำนวณกล่าวว่า เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตทั้งเดือน 992 คน ซึ่งเป็นภาระใหญ่มาก ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เดือน ก.ค. จะมีคนเสียชีวิตประมาณ 1,400 คน ส.ค. 2,000 และพอถึงเดือ น ก.ย. จะมีผู้เสียชีวิตเป็น 2,800 คน

"ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปก็แน่นอนว่า (ระบบสาธารณสุข) จะไม่สามารถไปรอดได้" นพ.คำนวณกล่าว

ที่ปรึกษาวิชาการ รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังใช้ยุทธศาสตร์ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่คือการฉีดแบบปูพรมให้คนไทยได้วัคซีน 70% โดยหวังว่าถ้าทำได้แบบนั้นจริงจะมีการติดเชื้อน้อยลง คนจะเสียชีวิตน้อยลง แต่ปัญหาถ้าจะทำอย่างนั้นได้ คือ มั่นใจหรือไม่ว่า 70% จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ เนื่องจากนักวิชาการบางส่วนบอกว่าไม่ได้ เพราะในอังกฤษเริ่มมีคนติดเชื้อเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อาจจะต้องไปถึง 90% และต้องใช้วัคซีนที่ดีมาก ๆ

นพ. คำนวณ กล่าวว่า มีทางเลือก 2 ทาง ทางเลือกที่ 1 คือ ทำแบบเดิมจะเห็นผลก็ต่อเมื่ออีก 5-6 เดือนซึ่งจะไม่ทันกับปัญหาวิกฤตของเตียง

หรือ ทางเลือกที่ 2 คือ เปลี่ยนเอาวัคซีนที่มีอยู่ในมือ ถ้ายอมรับว่าวัคซีนมีอยู่จำกัด และพยายามหามาเดือนละ 10 ล้านโดสนั้น แต่ถ้าเผื่อไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เอาวัคซีนที่มีทั้งหมดในมือมาทำความตกลงกันไว้ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ศบค.ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องวางเป้าหมายแรกลดเจ็บหนักและเสียชีวิตในกลุ่ม ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อน

"ตอนนี้ผู้บริหาร ท่านนายกฯ ท่ายรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อท่านได้โควตาวัคซีนไป คำถามคือว่าท่านจะฉีดให้ใครก่อน 2 ทางเลือก หากท่านเลือกทางเลือกแรก หลายจุดมุ่งหมายการคาดการณ์ คือ จำนวนผู้ป่วยจะเกินแล้วเรารับไม่ไหว แต่ถ้าทุกคนเห็นตรงกันว่าเอาวัคซีนให้กับคนสูงอายุ คนมีอายุมีโรคประจำตัวก่อน เรื่องนี้ทางวิชาการมีแล้ว ในอังกฤษ อเมริกาก็ทำ ซึ่งแม้ยังมีจำนวนคนติดเชื้อ แต่คนตายไม่เยอะก็จะไม่มีปัญหาเท่าใด" นพ. คำนวณ กล่าว

ธันยพร บัวทอง
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
21 กรกฎาคม 2021
https://www.bbc.com/thai/thailand-57915276