ผู้เขียน หัวข้อ: ยาไม่ได้-แนวทางไม่มี-ให้แค่ลิงก์เดลิเวอรี นี่หรือมาตรฐาน “Home Isolation” โควิด!  (อ่าน 296 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
เปิดอีกมุมจากครอบครัวผู้ป่วย Home isolation ไม่มีคำแนะนำในการดูแลตัวเอง ไม่มีติดตามอาการ ไม่ได้ยา ไม่มีอุปกรณ์วัดไข้ ได้เพียงแค่ลิงก์สั่งอาหาร สุดท้ายอาการหนักจนต้องดิ้นรนหาเตียงเอง ย้ำรัฐอย่าผลักภาระให้ประชาชน Home isolation มีข้อดีถ้ารัฐจัดการดี!!

ได้รับเพียงแค่ลิงก์สั่งอาหาร!?!

“ทำไมต่ายถึงเอาเคสครอบครัวตัวเองมาพูด เพราะว่าเป็นประสบการณ์ตรงด้วย มีหลักฐาน ระบบแจ้งว่าให้รักษาตัวที่บ้าน นั่นคือการเข้า Home isolation แบบงงๆ แล้วก็ไม่มีแนวทางปฏิบัติว่าจะต้องทำตัวยังไง ไม่มีคำแนะนำในเรื่องของการกินยา ไม่มีคู่มือการดูแลตัวเองส่งมาให้ หรือแม้กระทั่งเบอร์โทร.ฉุกเฉินว่าถ้าเกิดอาการแย่ลงจะติดต่อได้ที่ไหน แต่สิ่งที่ส่งมาคือรหัสรับอาหารและลิงก์ Foodpanda เท่านั้นเลยค่ะ

เราได้เห็นปัญหาทั้งในฐานะอาสาสมัคร เราให้ความช่วยเหลือคนอื่น แต่เราเพิ่งมารู้ตอนที่เราต้องโทร.ติดต่อเบอร์สายด่วนขอความช่วยเหลือต่างๆ มันใช้งานไม่ได้เลย สุดท้ายก็ต้องดิ้นรนกันเอง ไม่ได้ complain เจ้าหน้าที่นะคะ เราเข้าใจดีว่าทุกคนทำงานเต็มที่แล้ว แต่ว่าระบบจัดการที่เป็นระบบกลางมันมั่วไปหมดเลยตอนนี้”

“ต่าย - อาทิตยา บุญยรัตน์” Freelance project manager และอาสาสมัคร “เป็ดไทยสู้ภัย” กลุ่มสตาร์ทอัปที่ทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อพิชิต Covid-19 กล่าวกับทีมข่าว MGR Live หลังจากที่เธอได้ออกมาเล่าประสบการณ์ที่มีคนในครอบครัว ซึ่งก็คือพี่สาวเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าร่วมระบบดูแลที่บ้าน หรือ Home isolation ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งก็คือกลุ่มไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง

โครงการนี้ระบุไว้ว่า จะได้รับการประเมินอาการจากเจ้าหน้าที่ด้วยวิดีโอคอลวันละ 2 ครั้ง อาหาร 3 มื้อ และได้รับปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว รวมถึงยาพื้นฐานอื่นๆ หากมีอาการแย่ลง จะมีการประสานส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล ระหว่างนั้นจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อประคองอาการในช่วงที่ต้องรอเตียงผู้ป่วย

ทว่า…กรณีพี่สาวของต่ายกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังจากทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ก็ได้รับข้อความเพียงลิงก์สั่งอาหารจาก Foodpanda โดยไม่ได้รับคำแนะนำในการดูแลตนเอง ตลอดจนยา หรืออุปกรณ์วัดไข้ใดๆ

“พี่สาวอยู่กับครอบครัวคือสามีและลูก 2 คน เขาเป็นสมาชิก 1 คนในบ้านที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้วครบ 2 เข็ม เริ่มมีอาการประมาณไข้ขึ้น ไอ วันที่ 18 ก.ค.พยายามหาที่ตรวจ รอผล 1 วัน หลังจากนั้นก็มีข้อความส่งมาบอกว่าติดเชื้อทั้ง 4 คนเลย รอไป 1 วันยังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ วันต่อมาก็ได้รับข้อความแจ้งว่า “ท่านได้เข้าสู่ระบบรักษาตัวที่บ้าน โดยโรงพยาบาล… และ สปสช.เรียบร้อยแล้ว สามารถเริ่มต้นสั่งอาหารได้วันละ 3 มื้อ…” แล้วก็เป็นลิงก์ Foodpanda

วันต่อมามีแค่พยาบาลที่โทร.มาว่า ถ้ามีเหตุฉุกเฉินอะไรให้โทร.แจ้งกลับไปที่นี่ ซึ่งโรงพยาบาลนี้ไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพฯ พี่สาวก็จินตนาการไปว่า ถ้าฉุกเฉินแล้วโรงพยาบาลจะมารับยังไง

หลังจากนั้นก็มีอาการไอหนัก ลูกๆ เขาจากตอนแรกที่ไม่มีอาการก็เริ่มมีอาการ เริ่มไข้สูงกัน สามีเขาน้ำหนักเยอะ ก็เพลีย หายใจลำบาก และรู้สึกว่าไม่สามารถทำ Home isolation ได้ สุดท้ายแล้วครอบครัวเราต้องดิ้นรนหา Hospitel ขอความช่วยเหลือหลายทางมาก เพราะอย่างน้อยก็อยู่ใกล้หมอ และเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชนดีกว่า

ครอบครัวพี่สาวเริ่มมีอาการป่วยมาตั้งแต่วันที่ 18 ได้เข้า Hospitel และได้ยามากินวันที่ 25 ใช้เวลานานเหมือนกัน ถ้าเป็นแบบนี้ทุกเคส มันมีโอกาสที่จะเทิร์นคนป่วยสีเขียวมาเป็นสีเหลืองได้ง่ายมาก”

เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดผู้ป่วยในอยู่กรุงเทพฯ ถึงได้เข้าร่วม Home isolation จากทางโรงพยาบาลแห่งนี้ ที่อยู่ใน จ.นครศรีธรรมราช ในประเด็นนี้ต่ายคาดเดาว่าเป็นการกระจายการดูแลผู้ป่วยในจุดหนาแน่นไปยังภาคส่วนอื่น

“ตามที่ต่ายเข้าใจคือระบบโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ มันล้นแล้ว เขาก็คงอยากจะให้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดช่วยดูแลตรงนี้ สิ่งที่เขาทำคือการโทร.มาเช็กอาการ ซึ่งโทร.มาแค่ครั้งเดียวบอกว่า ถ้ามีอาการหนักให้โทร.มาที่เบอร์นี้ ซึ่งก็มีหลายๆ คนที่อยู่กรุงเทพฯ และเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาลนี้ค่ะ

พอต่ายทวิตไปก็มีคนมาแชร์ว่า แล้วแต่โรงพยาบาลนะ อย่างคนรู้จักเขาเป็นคนไข้ Home isolation ในการดูแลของโรงพยาบาลราชวิถี ราชวิถีก็ส่งแนวทางการปฏิบัติมา มีทั้งเป็นไฟล์ให้อ่านและไฟล์วิดีโอ ซึ่งตรงนี้ต่ายรู้สึกว่าเขาทำงานดีนะ แต่ทำไมบางโรงพยาบาลถึงไม่มีแบบนี้ สุดท้ายมันก็สะท้อนกลับไปว่า นโยบายของรัฐที่บอกว่าให้ทำ Home isolation เขาได้มีการเซ็ตมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยแต่ละโรงพยาบาลมั้ย

การเข้ารับการรักษาหรือแม้กระทั่งการเข้าตรวจโควิด มันคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรจะได้ มันไม่ควรจะมีการจำกัดว่าโควตาตรวจเต็มแล้ว รอมาตรวจใหม่วันพรุ่งนี้ เชื้อโควิดมันรอไม่ได้ไงคะ และตอนหาเตียง ถึงแม้คุณจะออกนโยบายให้ประชาชนอยู่ที่บ้าน แต่ก็ไม่ควรจะผลักภาระให้เขาดูแลตัวเอง ควรจะส่งคู่มือมาค่ะ”

Home isolation จะดีถ้ารัฐจัดการดี

แม้เคสของครอบครัวหญิงสาวรายนี้จะประสบปัญหากับการเข้าร่วมระบบดูแลที่บ้าน แต่ขณะเดียวกันเธอก็ยังสะท้อนข้อดีของโครงการนี้ไว้ด้วย

“มันมีข้อดีอยู่ถ้ารัฐจัดการดี มันลดเตียง และบางคนบ้านเขาโอเคที่จะอยู่แต่การที่รัฐวางนโยบาย Home isolation นอกจากแจ้งว่าติดเชื้อแล้ว รัฐต้องส่งมาบอกว่าแนวทางปฏิบัติตัวต้องทำยังไง เบอร์โทร.ติดต่อฉุกเฉินยังไง ต้องแจ้งอาการว่าในแต่ละเฟสของผู้ป่วย ถ้าระยะนี้มีอาการแบบนี้ ถือว่าเป็นอาการป่วยปกติของโรคนี้นะ ถ้ามีอาการแบบนี้แปลว่าอาการเริ่มรุนแรงแล้ว ควรติดต่อแพทย์ เพื่อให้แพทย์เตรียมเตียง เตรียมออกซิเจนอะไรก็ว่าไป



ตัวที่เป็นข้อยกเว้นว่าไม่ให้ทำ Home isolation มันก็ต้องขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้ป่วยในเรื่องของน้ำหนัก โรคประจำตัว อายุ อะไรแบบนี้ ต่ายคิดว่าตรงนี้ก็สำคัญ ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถอยู่แบบ Home isolation ได้

และรัฐต้อง provide ข้อมูล หรือทำระบบแชตบอท ให้คนที่อยู่ที่บ้านเขาวัดไข้แล้วก็แจ้งอาการไป พอมันเตือนอย่างนี้ พยาบาลก็ไม่ต้องโทร.หาทุกคน ก็ดูจากรายงานผล มันก็จะลดภาระของเจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้าด่านด้วยค่ะ

สรุปคืออยู่บ้านดีค่ะ เป็นการลดจำนวนเตียงเต็มที่โรงพยาบาล ดีตรงคนที่เขามีสถานที่พร้อมแล้ว เขาก็สะดวกสบาย ไม่ต้องขนย้าย ลดความกดดัน ลดความเครียด คนที่เป็นโควิด เห็นสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น คนตายเยอะแล้วมันจิตตกได้เหมือนกัน ควรทำให้เขาสบายใจว่าอยู่ในความดูแลของแพทย์แล้ว และมีข้อมูลที่เพียงพอว่าจะต้องปฏิบัติตัวยังไง มันจะทำให้เขาไม่เป็นกังวลและดูแลตัวเองได้ ให้ความร่วมมือกับแพทย์ได้”

และในฐานะที่เธอเป็นอาสาสมัครในโครงการ “เป็ดไทยสู้ภัย”

กลุ่มสตาร์ทอัปที่ใช้เทคโนโลยีร่วมงานกับกรมควบคุมโรค ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่ได้เห็นปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรองผู้ป่วย ก็ได้ใช้โอกาสนี้ย้ำถึงการทำ Home isolation ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีแนวทางปฏิบัติให้ผู้ป่วยสีเขียวอย่างชัดเจนและถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่พวกเขาจะอาการหนักจนกลายเป็นผู้ป่วยสีเหลือง ที่ขณะนี้มีจำนวนมาก

“ต่ายทำงานอาสาในนามของ “เป็ดไทยสู้ภัย” ตั้งแต่ปีที่แล้ว เราเชื่อมต่อระบบ 1422 กับกรมควบคุมโรค ให้ผู้ป่วยทำแบบคัดกรองด้วยตัวเองตามมาตรการกรมควบคุมโรค ถ้าผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เราจะมีแพทย์โทร.ไปซักประวัติอีกที เพื่อรับเขาเข้ามาหาที่ตรวจให้ หาเตียงให้ ตอนนั้นยังเป็นช่วงที่ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อวันละหลักร้อย มันก็ทำได้ดี

แต่ตอนนี้ผู้ป่วยขึ้นหลักหมื่นและไม่เป็นระบบแล้ว มันคือปัญหาคอขวด เขารู้ว่ามีเชื้อโควิดแล้วต้องทำยังไงต่อ สุดท้ายบางคนอยู่บ้านไปเรื่อยๆ จากที่เป็นผู้ป่วยสีเขียว ก็จะทำให้เขากลายเป็นผู้ป่วยสีเหลือง ซึ่งปัญหาที่พวกต่ายเจอตอนนี้คือผู้ป่วยสีเหลืองเยอะมาก แล้วผู้ป่วยสีเหลืองจะเทิร์นเป็นผู้ป่วยสีแดง

วิกฤตโควิดมันหนักมาก มันส่อแววว่าระบบสาธารณสุขไทยกำลังจะล่ม ความต้องการเตียง ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะมาช่วยเหลือผู้ป่วยที่อาการหนักมันเพิ่มขึ้น ถ้าอย่างนั้นเราจะลดจำนวนผู้ป่วยที่เป็นสีเหลืองได้มั้ย ก็เท่ากับว่าเราต้องไปดูแลผู้ป่วยที่เป็นสีเขียวให้ดี เพื่อให้เขาดูแลตัวเองให้ดี ส่งยาให้ ให้เขารักษาตัวเองได้ถูกวิธี

การที่ได้ตรวจเร็ว ได้รับการรักษาเร็ว มันจะชะลอหรือลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักได้เยอะมาก ไม่ต้องไปเพิ่มภาระให้แพทย์ ฉะนั้น Home isolation ดีแน่นอนถ้ามีแนวทางปฏิบัติให้เขา ผู้ป่วยสีเขียวอ่อนได้รับยาเร็ว เขาหายเร็วค่ะ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live

26 ก.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์