ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อญี่ปุ่นสอนประชาชนให้ "ไม่กินทิ้งกินขว้าง"  (อ่าน 318 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน พวกเราคงเคยทิ้งอาหารที่รับประทานไม่หมดหรือหมดอายุไปกันบ้าง คนหนึ่ง ๆ ทิ้งอาจไม่ได้รู้สึกว่ามากมาย แต่ทราบไหมคะว่าปีหนึ่ง ๆ โลกเราทิ้งอาหารรวมกันถึง 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั้งปี ! คิดเป็นปริมาณ 1,300 ล้านตันทีเดียว สิ้นเปลืองทรัพยากรและสร้างขยะแค่ไหน ญี่ปุ่นเองก็หันมารณรงค์เพื่อให้ประชาชนรู้จัก “เสียดายของ” นำไปสู่การทิ้งอาหารน้อยลงในหลายภาคส่วน สร้างกำไรให้ธุรกิจกันมากกว่าเดิม และบางทีก็ช่วยลดเวลาทำงานลงด้วย

ปีหนึ่ง ๆ ญี่ปุ่นทิ้งขยะอาหารที่ยังรับประทานได้อยู่ (food waste) ประมาณ 6.43 ล้านตัน เทียบเท่ากับทุกคนทิ้งอาหารวันละ 1 ชามทุกวัน สาเหตุที่ทิ้งก็เพราะฉลากบอกว่าหมดอายุบ้าง ทิ้งเพราะเหลือจากการขายช่วงเทศกาลบ้าง หรือทิ้งเพราะบริโภคไม่หมดบ้าง เป็นต้น

นอกจากนี้ ไม่ว่าขยะอาหารจะมาจากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร หรือโรงแรม ต่างก็ถูกกำจัดพร้อมกับขยะจากครัวเรือน ซึ่งก็เอาภาษีของประชาชนนี่เองมาใช้ เพราะฉะนั้นการทิ้งอาหารไม่ว่าจะจากภาคส่วนใด ต่างก็เป็นเรื่องที่จริง ๆ แล้วประชาชนมีส่วนได้เสียทั้งสิ้น

รัฐบาลญี่ปุ่นหันมารณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาการสูญเสียอาหาร และปรับปรุงพฤติกรรมผู้บริโภคเสียใหม่ โดยขอความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้จังหวัดต่าง ๆ ช่วยกันรณรงค์ภายในท้องถิ่น ส่วนผู้ผลิตอาหารหรือขายอาหารก็ร่วมกันคิดว่าจะลดการทิ้งขว้างอาหารได้ด้วยวิธีใดบ้าง

หมดอายุความอร่อยแต่ยังกินได้

เนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อจะทิ้งสินค้าอาหารที่ใกล้หมดอายุบริโภคหรือใกล้หมดอายุความอร่อย ทำให้เกิดการสูญเสียอาหารจำนวนมาก จังหวัดเกียวโตเลยใช้วิธีทดลองว่าถ้าให้ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งยืดเวลาขายสินค้าเหล่านี้ไปจนกระทั่งถึงวันหมดอายุจะเป็นอย่างไร ผลปรากฏว่าในช่วงเวลา 1 เดือนสามารถลดการทิ้งสินค้าอาหารไปได้ร้อยละ 10 และเมื่อสอบถามความเห็นผู้บริโภคก็มีร้อยละ 90 ที่เห็นดีด้วยกับการยืดเวลาขายแบบนี้ เพราะช่วยลดการสูญเสียอาหารได้

ส่วนกรมผู้บริโภคญี่ปุ่นก็ให้แนวทางในการเลือกซื้อสินค้าอาหาร เช่น หากลูกค้าต้องการบริโภคสินค้าอาหารที่ซื้อในวันนั้น ก็ขอให้ประชาชนเลือกหยิบสินค้าที่อยู่ด้านนอกสุดของชั้นวาง (ซึ่งวันหมดอายุจะเร็วกว่าสินค้าด้านใน) รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่า “賞味期限” คือ วันหมดอายุความอร่อย (best before) แต่ไม่ใช่ “消費期限” ที่เป็น วันหมดอายุบริโภค (expiry date) ดังนั้นขอให้สบายใจว่ายังรับประทานได้

ญี่ปุ่นยังมี “ตลาดเสียดายของ” ซึ่งเป็นร้านที่ขายแต่สินค้าอาหารที่ยังรับประทานได้แต่เลยหรือใกล้หมดอายุความอร่อย รวมทั้งขายสินค้าที่ทำแพ็คเกจมาขายช่วงเทศกาลแต่หมดเทศกาลแล้วอาหารยังดีอยู่ โดยขายในราคาถูกมาก บางอย่างลด 90% เลยทีเดียว ถ้าใครอยู่ญี่ปุ่นลองเข้าชมได้ที่ https://mottainai.shop

สั่งอาหารแต่พอดี เหลือให้เอากลับบ้าน

นอกจากนี้ กรมผู้บริโภคยังให้แนวทางเวลารับประทานอาหารนอกบ้านด้วยว่าควรทำอย่างไรไม่ให้เหลืออาหารทิ้งขว้าง เช่น ไม่สั่งอาหารทีละเยอะแยะ เลือกสั่งอาหารจานเล็ก ถ้าไปเป็นกลุ่มก็ช่วยกันรับประทานอาหารให้หมดก่อนกลับ หรือถ้าอาหารเหลือก็เอากลับบ้าน แต่ต้องรับผิดชอบเองหากอาหารบูดเน่าขึ้นมา

ถ้าเป็นเมื่อก่อนร้านอาหารญี่ปุ่นจะไม่ยอมให้ลูกค้าเอาอาหารเหลือกลับบ้าน เพราะกลัวจะเกิดปัญหาอาหารบูดเน่าแล้วมาต่อว่าทางร้านให้เสียชื่อ แต่พอกรมผู้บริโภคส่งเสริมให้เอาอาหารเหลือกลับบ้าน เดี๋ยวนี้ก็เลยมีร้านที่ยอมให้เอากลับบ้านมากขึ้น แต่ทางร้านต้องอธิบายความเสี่ยงแก่ลูกค้าว่าอาหารอาจบูดเน่าได้ระหว่างทาง และห้ามไม่ให้เอาอาหารที่ยังดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบกลับบ้าน เป็นต้น

ขนมปัง - หนึ่งในอาหารที่กลายเป็นขยะมากที่สุด

โดยปกติแล้วขนมปังที่ขายเหลือในวันนั้น หรือบนห่อบอกว่าหมดอายุวันนั้น จะถูกนำไปทิ้ง วันหนึ่ง ๆ ญี่ปุ่นจึงมีขนมปังที่ถูกทิ้งเป็นภูเขาเลากาทั้งที่ยังรับประทานได้อยู่เลย

ถ้าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านขนมปังบางเจ้ายังดีหน่อย ตรงที่มักลดราคาขนมปังช่วงเย็นก่อนปิดร้าน ทำให้คนพากันมาซื้อ ซึ่งช่วยลดการทิ้งลงได้บ้าง แต่ถ้าเป็นร้านขนมปังที่อยู่ตามชั้นใต้ดินห้างสรรพสินค้านั้น บางห้างจะตั้งกฎไว้เลยว่า ต่อให้ใกล้ปิดร้านแล้วก็ต้องมีสินค้าหลากหลายให้ลูกค้าเลือก และห้ามลดราคาสินค้าด้วย เพราะกลัวภาพลักษณ์แบรนด์ของห้างเสียหาย ผลคือทำให้ทางร้านต้องทิ้งขนมปังที่เพิ่งทำใหม่ ๆ วันละจำนวนมาก

บางคนแนะว่าสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถทำได้เพื่อไม่ให้มีการทิ้งขนมปังจำนวนมหาศาลก็คือ อย่าไปอุดหนุนร้านที่ทิ้งขนมปังมากมายแบบนี้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าร้านไหนทิ้งขนมปังเยอะก็ให้ดูตอนใกล้ปิดร้าน ถ้ายังมีขนมปังให้เลือกอยู่อีกมากมายหลายชนิดก็แสดงว่าร้านนั้นทิ้งขนมปังเยอะมาก อีกวิธีคือไปดูแถวถังขยะของร้านว่าทิ้งขนมปังมากมายก่ายกองไหม

ร้านขนมปังที่ไม่มีการทิ้ง

เมื่อก่อนนี้ร้านBoulancherie deRienในจังหวัดฮิโรชิมา เคยเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่จะผลิตขนมปังมากมายและทิ้งมากมาย ต่อมาเจ้าของร้านไปศึกษาเรื่องการทำขนมปังของยุโรป พบว่าร้านขนมปังยุโรปทำงานกันแค่เช้าถึงเที่ยง แต่กลับทำขนมปังได้อร่อยกว่าร้านของเขาที่ทำงานวันละ 15 ชั่วโมงเสียอีก เมื่อกลับไปญี่ปุ่นเขากับภรรรยาจึงหันมาผลิตขนมปังน้อยชนิดลง ใช้วัตถุดิบคุณภาพดีขึ้นและเพิ่มราคา ผลคือสามารถรักษายอดขายได้เหมือนเดิมโดยที่มีเวลาว่างจากการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มาไม่เคยทิ้งขนมปังเลยแม้แต่ก้อนเดียว จึงมีชื่อเล่นว่า “ร้านขนมปังที่ไม่มีการทิ้ง”

ร้านOcalan ซึ่งเป็นร้านขนมปังอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดไซตามะ ก็หันมาขายขนมปังให้เฉพาะร้านอาหารหรือสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนเท่านั้น ส่วนลูกค้าทั่วไปต้องสั่งจอง ตั้งแต่นั้นมาแทบไม่เคยมีขนมปังที่ต้องทิ้งเลย

“เอะโฮมากิ” ข้าวห่อสาหร่ายที่ถูกทิ้งเมื่อหมดวันเทศกาล

เมื่อถึงวันเซ็ทสึบุง (วันก่อนวันเริ่มฤดูใบไม้ผลิ) คนญี่ปุ่นจะนิยมรับประทาน “เอะโฮมากิ” ซึ่งเป็นข้าวห่อสาหร่ายแท่งยาว มีขายทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า พอหมดวันหากขายไม่หมดก็ต้องทิ้ง ปีหนึ่ง ๆ จึงมีเอะโฮมากิที่ถูกทิ้งจำนวนมหาศาล คิดเป็นมูลค่าถึง 1 พันล้านเยนเลยทีเดียว

ถ้าต้องทิ้งเยอะ ทำไมยังผลิตล้นตลาด? สาเหตุเป็นเพราะมูลค่าเอะโฮมากิในตลาดสูงมาก ธุรกิจต่าง ๆ เลยไม่ยอมเสียโอกาสสร้างยอดขายกัน ปีที่แล้วทางกระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นเลยขอความร่วมมือให้ธุรกิจต่าง ๆ ผลิตให้ไม่เกินความต้องการของตลาด ซึ่งก็มีร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นบางแห่งที่ร่วมมือ เช่น ต้องสั่งจองเท่านั้นซึ่งช่วยให้ผลิตตามความต้องการ ทำให้ไม่เหลือทิ้ง หรือบางแห่งก็ลดขนาดของเอะโฮมากิลงครึ่งหนึ่ง เป็นต้น ( อ่านย้อนหลังเกี่ยวกับเอะโฮมากิได้ที่ “ไล่ยักษ์รับความสุขแบบญี่ปุ่น”)

ลดการสูญเสียอาหารและสร้างกำไรแบบร้านสะดวกซื้อ

อาหารที่ขายและรับประทานเฉพาะวันเทศกาลในญี่ปุ่นมีหลายอย่างมาก พอหมดวันถ้าขายเหลือก็มักทิ้งกันบานตะไท ทางร้านสะดวกซื้ออย่างแฟมิลี่มาร์ทเลยหันมาใช้วิธีให้สั่งจองเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเอะโฮมากิ ปลาไหลย่างเทศกาลวันโดะโยโนะอุชิโนะฮิในฤดูร้อน หรือเค้กคริสต์มาส แฟมิลี่มาร์ทบอกว่าระบบสั่งจองทำให้ยอดขายปลาไหลในเทศกาลดังกล่าวลดลงร้อยละ 20 แต่ผลกำไรของร้านเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ทีเดียว เพราะลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทิ้งไปได้ถึงร้อยละ 80 นอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังดีต่อกำไรของผู้ประกอบการด้วย แถมผู้บริโภคบางคนพอได้ทราบข่าว เลยอยากอุดหนุนร้านที่ใส่ใจสังคมแบบนี้ก็มี

ส่วนเซเว่นอีเลเว่นญี่ปุ่นก็เอาเทคโนโลยีมาใช้ถนอมอาหารให้เก็บได้นานขึ้น อย่างเช่น กล่องสลัดนั้นแต่เดิมจะใช้ฝาพลาสติก แต่เดี๋ยวนี้ใช้วิธีซีลแผ่นพลาสติกไว้แทน ทำให้สลัดยังคงความสดใหม่ได้นานขึ้นอีก 1 วัน ส่วนข้าวกล่องก็เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 4 องศา ทำให้เก็บได้นานขึ้น อย่างข้าวหน้าเนื้อคือยืดอายุออกไปได้นานกว่าเดิมอีกถึง 1.5 วัน การยืดวันหมดอายุความอร่อยและวันหมดอายุบริโภคได้นานขึ้นเช่นนี้ ช่วยลดการสูญเสียอาหารไปได้มากทีเดียว ปีที่แล้วเซเว่นอีเลเว่นญี่ปุ่นจึงลดการทิ้งอาหารไปได้ร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ร้านอาหารที่ลดการทิ้งอาหารได้เปรียบกว่า

โดยปกติแล้วคนทำร้านอาหารมักต้องตื่นแต่เช้าไปซื้อกับข้าวและทำงานกันจนดึก แต่ร้านเฮียขุโชะคุยะ (ร้าน 100 ที่) ในจังหวัดเกียวโตขายอาหารเพียงวันละ 100 ที่เท่านั้น พอบ่าย 3 โมงก็ปิดร้านแล้ว คนงานก็รับประทานอาหารกัน จากนั้นเตรียมงานสำหรับพรุ่งนี้แล้วกลับบ้านได้ ทำให้คนงานสามารถทำงานเต็มเวลา พร้อมกับสามารถดูแลคนในครอบครัวที่ป่วย ชรา พิการ หรือเลี้ยงลูกเดี่ยวได้สะดวกขึ้น

ร้านเก็งกิซูชิ แทนที่จะปั้นซูชิทีละหลายจานวางบนสายพาน ก็หันมาใช้วิธีให้ลูกค้าสั่งซูชิก่อนแล้วถึงจะปั้นให้ ทำให้ลดการทิ้งอาหารไปได้มาก และยอดขายยังเพิ่มเป็น 1.5 เท่าด้วย (ณ พ.ศ. 2560)

ส่วน ร้านคุระซูชิ ที่ผ่านมาสังเกตเห็นลูกค้าหลายคนชอบเหลือข้าวทิ้ง ก็เลยหันมาลดปริมาณข้าวของข้าวปั้นลงครึ่งหนึ่ง และจัดประเภทไว้ว่าเป็นซูชิแบบ “คาร์โบไฮเดรตต่ำ” ลูกค้าที่ชอบอย่างนี้ก็จะเลือกมาร้านนี้เป็นพิเศษเมื่อนึกถึงซูชิ กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจของทางร้านไป

ญี่ปุ่นเขาก็ดีนะคะ พอรัฐบาลขอความร่วมมือ แต่ละภาคส่วนก็ลงแรงกันคนละไม้คนละมือ ทำให้เกิดการตื่นตัว เข้าใจปัญหาร่วมกัน สังคมจึงเปลี่ยนแปลงในทางดีได้อย่างพร้อมเพรียงรวดเร็ว ได้รับประโยชน์กันหลายฝ่าย มีหลายเรื่องทีเดียวที่ญี่ปุ่นทำได้ดีเพราะความสามัคคีและเอาจริงเอาจังเช่นนี้

เราทุกคนสามารถช่วยกันลดขยะอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเมนูอาหารที่จะทำก่อนไปจ่ายกับข้าว ไม่ซื้อทีละเยอะ ๆ เพราะราคาถูกกว่าแต่ใช้ไม่ทัน ไม่ตักอาหารบุฟเฟต์ทีละเยอะแยะแล้วรับประทานไม่หมด ไม่อย่างนั้นก่อนซื้อ สั่ง หรือทิ้งอาหาร จะนึกถึงคำที่เคยท่องก่อนกินข้าวว่า “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า ผู้คนอดอยาก มีมากหนักหนา สงสารบรรดา เด็กตาดำๆ”

25 ก.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์