ผู้เขียน หัวข้อ: เอกสารหลุดของแอสตราเซเนกา กับสิ่งที่รัฐบอกคนไทย อะไรคือความจริง?  (อ่าน 381 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
นับถึงวันที่ 20 กรกฎาคม ประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่หนึ่ง 11,067,518 คน คิดเป็น 16.72 เปอร์เซ็นต์ของประชากร และมีผู้ได้รับวัคซีนครบโดส 3,479,726 คน หรือ 5.26 เปอร์เซ็นต์ ด้วยสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนจำนวนน้อย คนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดสรรวัคซีนมีปัญหา และเมื่อสัญญาของ ‘วัคซีนหลัก’ แอสตราเซเนกา ปรากฏสู่สาธารณะในสภาพถูกคาดแถบดำแทบทั้งหมด ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย

เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน แม้ไม่เห็นสัญญา แต่วิเคราะห์จากข่าวและแถลงการณ์วัคซีนตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้เกิดการคาดเดาว่าสัญญาที่รัฐบาลไทยทำกับแอสตราเซเนกาไปได้หลายทาง อาจเป็นการตกลงที่ ‘เสียเปรียบ’ เป็นอย่างมากก็ได้ และขบคิดต่อไปอีกขั้นว่าเพราะเหตุใดรัฐบาลไทยถึงยอมตกลงในสัญญาที่เสียเปรียบ เพียงเพื่อให้ไทยได้เป็นฐานผลิต หรือเพราะเล็งเห็นว่าแอสตราเซเนกาคือวัคซีนที่ตอบโจทย์มากที่สุด หรืออาจมีเหตุผลอื่นประกอบด้วย

เพราะหลายถ้อยคำถูกปิดไว้ด้วยแถบสีดำ คงไม่มีใครสามารถรู้รายละเอียดที่ชัดเจน

ประเด็นดังกล่าวยังไม่ทันได้สืบสาวเพิ่มเติมไปถึงไหน สำนักข่าวหลายแห่งหนึ่งนำจดหมายที่ สจอร์ด ฮับเบน (Sjoerd Hubben) รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลกของแอสตราเซเนกา ส่งถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 มาเผยแพร่ต่อสาธารณชน จดหมายดังกล่าวสร้างเสียงวิจารณ์ร้อนแรงได้ทันที เนื่องจากเนื้อความในจดหมาย ไม่ตรงกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐเคยชี้แจงมาก่อนหน้านี้

เนื้อหาสำคัญในเอกสารที่ถูกเรียกว่า ‘จดหมายลับ’ เทียบกับการชี้แจงก่อนหน้านี้ของรัฐบาล
วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 เกิดการเผยแพร่เอกสารชิ้นหนึ่ง เรียกว่าเป็น ‘เอกสารลับ’ ที่ สจอร์ด ฮับเบน (Sjoerd Hubben) รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลก ของบริษัทเวชภัณฑ์แอสตราเซเนกา ส่งให้แก่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไทย ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ก่อนจะส่งเอกสารลับดังกล่าวไปให้แก่ นายแพทย์โอภาส การกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

ข้อความท่อนหนึ่งระบุว่า นายฮับเบนเขียนแสดงความขอบคุณต่อการสนับสนุนของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงคำแนะนำที่สร้างความมั่นใจว่าจะเกิดการเข้าถึงวัคซีนแอสตราเซเนกาอย่างเท่าเทียม และมีการรายงานความคืบหน้าหลังลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ร่วมกันกับพันธมิตรอย่างบริษัท เอสซีจี และ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience: SBS) ในการเป็นฐานผลิตวัคซีน ที่เซ็นไว้เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563

“บริษัทแอสตราเซเนกาจะจัดสรรวัคซีน 1 ใน 3 ที่ผลิตได้แก่ประเทศไทย แบ่งเป็น กระทรวงสาธารณสุข 1 ล้านโดส และ 2 ล้านโดสที่เหลือ จะถูกส่งไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อให้การจัดสรรวัคซีนดำเนินไปอย่างเท่าเทียม โดยไทยจะได้รับวัคซีนทั้งหมด 61 ล้านโดส จากยอดการผลิตในสัญญาทั้งสิ้น 175 ล้านโดส และทางเราคาดการณ์ว่ากระทรวงสาธารณสุขไทยจะได้รับวัคซีน 5-6 ล้านโดสต่อเดือน”

จุดที่สร้างความกังขาต่อสังคมอาจไม่ใช่เนื้อความทั้งหมดที่กล่าวมา แต่เป็นท่อนถัดจากนี้ที่ระบุว่า

“หวังว่าคุณจะพอใจกับปริมาณวัคซีน 5-6 ล้านโดส ที่แอสตราเซเนกาส่งให้ไทย เพิ่มขึ้นจากที่เคยร่วมประชุมกันในวันที่ 7 กันยายน 2563 มากถึง 2 เท่า เนื่องจากทีมงานของคุณ (รัฐบาลไทย) ได้ประมาณการว่าสาธารณสุขไทยต้องการวัคซีนประมาณ 3 ล้านโดสต่อเดือน”

ก่อนมีข้อความเชิงแนะนำให้ไทยเข้าร่วมโครงการ COVAX เพื่อจะได้สามารถซื้อวัคซีนเพิ่มขึ้นด้วยราคาที่เป็นธรรม

จนถึงตอนนี้ กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยก็ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ COVAX แต่อย่างใด

ใจความสำคัญของเอกสารฉบับดังกล่าวได้เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยในช่วงแรกมีความต้องการขอรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากแอสตราเซเนกา จำนวน 3 ล้านโดสต่อเดือน โดยสัญญาของแอสตราเซเนการะบุการส่งวัคซีน 2 ลอต คือ 26 ล้านโดส ที่ลงนามในเดือนมกราคม 2564 และ 35 ล้านโดส ลงนามในเดือนพฤษภาคม 2564 ถือเป็นประเทศที่แจ้งความจำนงช้าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนเผยให้เห็นตารางการจัดส่งวัคซีนแอสตราเซเนกาให้กับ ไต้หวัน มัลดีฟส์ และประเทศต่างๆ ในอาเซียน

“วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และเปิดสายการผลิตเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน จะต้องส่งให้กับประเทศอื่นๆ ในจำนวน 2 ใน 3 ของวัคซีนทั้งหมดที่ผลิตได้ ตามข้อตกลงว่าสยามไบโอไซเอนซ์ต้องผลิตวัคซีน 175 ล้านโดส แล้วจะได้วัคซีนดังกล่าว 61 ล้านโดส แบบเดือนละ 5-6 ล้านโดส”

เมื่อประชาชนทราบว่า จริงๆ แล้วไทยจะได้แอสตราเซเนกาเพียงเดือนละ 5-6 ล้านโดส เกิดสร้างเสียงวิจารณ์ตามมาทันที เนื่องจากรัฐบาลเคยประกาศว่าจะได้วัคซีนยี่ห้อดังกล่าวเดือนละ 10 ล้านโดส

ความวุ่นวายเกี่ยวกับไทม์ไลน์แอสตราเซเนกา ทำให้ต้องกลับไปย้อนดูไกลข้ามปี ในปี 2563 ไทยเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก

วันที่ 12 ตุลาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโคโรนา 2019 ในกรณีฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็น

ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนสำหรับประชาชน โดยการจองล่วงหน้ากับแอสตราเซเนกา ในวงเงิน 6,049.72 ล้านบาท รวมทั้งอนุมัติงบประมาณ 2,379.43 ล้านบาท

จากนั้นวันที่ 27 พฤศจิกายน มีการจัดงานลงนามสัญญา 3 ฝ่าย ระหว่าง แอสตราเซเนกาประเทศไทย สถาบันวัคซีนฯ และกรมควบคุมโรค เพื่อจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า 26 ล้านโดส ให้ประชากรกลุ่มเสี่ยง 13 ล้านคน ภายในกลางปี 2564

เวลาดังกล่าวกลับไม่ตรงกับเวลาในข้อมูลเอกสารที่ สจอร์ด ฮับเบน ส่งให้อนุทิน เพราะในเอกสารดังกล่าวเขียนไว้ว่า รัฐบาลไทยลงนามครั้งแรกช่วงเดือนมกราคม 2564 ไม่ใช่เดือนพฤศจิกายน 2563

แต่ข้อมูลในเอกสารตรงกับการแถลงเมื่อ วันที่ 3 มกราคม 2564 ของ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เรื่องความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยได้ทำสัญญาสั่งจองวัคซีนแอสตราเซเนกาล่วงหน้าแล้ว 26 ล้านโดส ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างถ่ายทอดกระบวนการผลิตแก่สยามไบโอไซเอนซ์ คาดว่าส่งทยอยส่งมอบปลายเดือนพฤษภาคม

กับประเด็นนี้ วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาชี้แจงว่า ช่วงทำสัญญาจองและลงนามสัญญา 3 ฝ่าย ยังไม่ได้มีการผลิตวัคซีนจริง เป็นการทำสัญญาจองล่วงหน้า

ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2564 มีมติ ครม. อนุมัติให้สั่งซื้อแอสตราเซเนกาเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส และเกิดการทำเรื่องขอขึ้นทะเบียนแอสตราเซเนกาให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งเส้นเวลาที่ไม่ตรงกัน นั่นคือแถลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่อง ครม. เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาจาก 26 ล้าน เพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส

ข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ขัดแย้งกับข้อมูลในจดหมายของแอสตราเซเนกา เนื่องจากในเอกสารที่เพิ่งถูกปล่อยออกมาระบุว่า ไทยลงนามกับแอสตราเซเนกาเพื่อสั่งซื้อเพิ่ม 35 ล้านโดสในเดือนพฤษภาคม 2564 ไม่ใช่ 23 กุมภาพันธ์ ตามที่แจ้งต่อสาธารณชน

ประชาชนบางส่วนจึงตั้งข้อสงสัยว่า ตกลงแล้วเมื่อมีมติ ครม. ออกมา จะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานแค่ไหน โดยเฉพาะมติเกี่ยวกับวัคซีนที่มีความจำเป็นอย่างมาในช่วงที่เกิดวิกฤติโรคระบาด ซึ่งรัฐบาลไทยได้ใช้เวลาไปเกือบ 3 เดือน

หลังจดหมายถูกเผยแพร่ อนุทินยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า แอสตราเซเนกาเคยส่งเอกสารมา แต่ตนได้ส่งจดหมายตอบกลับถึง สจอร์ด ฮับเบน ใจความสำคัญดังนี้

"ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงมาก จึงต้องการวัคซีนจำนวนมากเพื่อรับมือกับการระบาดและให้มีจำนวนวัคซีนที่รองรับการตั้งเป้าฉีด นายกรัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นที่จะจัดหาวัคซีนอย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือน คาดหวังว่าจะได้วัคซีนแอสตราเซเนกามากกว่า 1 ใน 3 จากที่ระบุไว้ในจดหมาย และหวังว่าจะได้วัคซีนอย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือน เพื่อนำมาใช้ในประเทศไทย”

เอกสารที่อนุทินตอบกลับไปยังบริษัทแอสตราเซเนกา มีการกล่าวถึง นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นผู้ควบคุมดูแลโครงการวัคซีน ทั้งคู่จะเป็นผู้ประสานงานทางกฎหมายกับบริษัทแอสตราเซเนกา เพื่อร่วมหารือไปสู่การบรรลุข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย และกล่าวถึงประเด็นการสั่งเพียง 3 ล้านโดสต่อเดือนว่า ในช่วงเวลานั้นสถานการณ์การระบาดยังไม่ได้รุนแรงเหมือนปัจจุบัน

ย้อนดูเส้นทางแอสตราเซเนกา
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ไทยรับมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาครั้งแรกจำนวน 117,600 โดส จากเกาหลีใต้ เพื่อใช้เป็นกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน โดยรัฐบาลตั้งเป้ากระจายวัคซีนทั้งหมดให้กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 คือกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป

หลังจากได้แอสตราเซเนกา 117,600 โดส กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีนโยบายนำแอสตราเซเนกาเข้ามาเพิ่มอีก เนื่องจากจะเน้นใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศโดยสยามไบโอเซเอนซ์

ไม่นานจากนั้น ประชาชนตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่า แอสตราเซเนกาชุดแรกจำนวน 117,600 โดส ถูกใช้ไปจนหมดแล้วหรือไม่ หมดไปตั้งแต่ตอนไหน หรือยังเหลืออยู่แต่เกิดการตกหล่น เนื่องจากเกิดเหตุวัคซีนแอสตราเซเนกาไม่มาตามนัด

วันที่ 31 มีนาคม อนุทิน ชาญวีรกูล ให้สัมภาษณ์หลังเข้าพบกับประธานบริษัทผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาถึง ความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาในประเทศไทย ระบุว่า เจมส์ ทีก (James Teak) ประธานบริษัทแอสตราเซเนกา ประเทศไทย ชื่นชมสยามไบโอไซเอนซ์ที่มีกระบวนการผลิตได้มาตรฐาน ดำเนินการตามขั้นตอนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเคร่งครัด ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการเป็นที่น่าพอใจ และมีมาตรฐานดีเยี่ยม

วันที่ 20 เมษายน 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามคาใจเรื่องการสั่งซื้อวัคซีนน้อยเกินไป ที่ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดีย

“เราจัดซื้อมาในฐานะที่เราสามารถควบคุมการระบาดได้ดีมากในระยะที่ 1 เราก็จัดหาวัคซีนตามความจำเป็น เราก็ไม่อยากให้ประชาชนมีความเสี่ยงในกรณีที่วัคซีนเหล่านั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทราบ วันนี้เมื่อพิสูจน์ทราบมาแล้วผมก็เปิดโอกาสช่องทางให้หลายๆ ยี่ห้อเข้ามาเสนอความต้องการจะขายวัคซีนให้กับเรา ก็ต้องหาช่องทางว่าเราจะซื้อได้อย่างไร

“เนื่องจากเป็นการติดต่อระหว่างรัฐต่อรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องไปดูว่าภาคเอกชนของเขากับรัฐของเขาด้วย แล้วเราถึงจะพร้อมที่จะรับวัคซีนของเขามา ขอให้เข้าใจตรงนี้แล้วกัน ไม่ใช่เพราะเราจองช้า ช้าเกินไป จำนวนน้อยเกินไป ทุกอย่างมันพัฒนาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราไม่อยากให้ประชาชนมีความเสี่ยงในตอนแรกที่มีการเริ่มผลิตวัคซีนออกมา”

นายกรัฐมนตรียังยืนยันอีกว่า เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะผูกขาดวัคซีน เพราะไม่เคยคิดเรื่องนี้ คิดแต่เพียงทำอย่างไรจะปลอดภัย จะจัดหาได้ รวมถึงการดำเนินการ เนื่องจากไม่สามารถทำได้เหมือนกับการซื้อยาตามปกติทั่วไปได้ และบริษัทผู้ผลิตเอกชนไม่รับผิดชอบกรณีที่เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียง จึงต้องเป็นรัฐจัดหาในขณะนี้ ซึ่งต่อไปคงจะคลี่คลาย

วันที่ 29 เมษายน 2564 แอสตราเซเนกาเปิดเผยความคืบหน้าการผลิตวัคซีนของสยามไบโอไซเอนซ์ ยืนยันว่าจะส่งวัคซีนให้ไทยได้ครบตามกำหนดในเดือนมิถุนายน โดย เจมส์ ทีก ประธานบริษัทแอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) กล่าวว่า

“แอสตราเซเนกาและสยามไบโอไซเอนซ์ ตระหนักถึงหน้าที่สำคัญในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด เราตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของวัคซีนอย่างเคร่งครัดในทุกขั้นตอน เพื่อส่งมอบวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับรัฐบาลไทยใช้ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้โดยเร็วที่สุด

"แอสตราเซเนกาเชื่อมั่นว่าสยามไบโอไซเอนซ์มีมาตรฐานการผลิตสูงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล บริษัทฯ จึงได้เลือกสยามไบโอไซเอนซ์ให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประเทศไทยและอีก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ ได้เข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม”

โดยคำกล่าวนี้ไม่ได้ระบุถึงประเทศนอกอาเซียนอย่างไต้หวัน และมัลดีฟส์ ตามที่ระบุในจดหมายที่ สจอร์ด ฮับเบน ส่งถึงอนุทินแต่อย่างใด

ปัญหารายทาง ตัวเลขไม่ตรง วัคซีนขาดแคลน วัคซีนไม่มาตามนัด
กระทรวงสาธารณสุขเคยแถลงการณ์ว่า แอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส จะถูกส่งมอบ 4 ครั้ง คือ
เดือนพฤษภาคม จำนวน 1.7 ล้านโดส (แต่ถูกเลื่อน) เดือนมิถุนายน 4.3 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน เดือนละ 10 ล้านโดส (ตอนนี้กำหนดวัคซีนเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมได้เพียง 5 ล้านโดส) และเดือนธันวาคม 5 ล้านโดส

วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข เปิดเผยผ่านรายการ ‘คนเคาะข่าว’ ช่องนิวส์วัน ว่า แอสตราเซเนกาจะส่งวัคซีนให้ 1.7 ล้านโดส ในวันที่ 21 พฤษภาคม แต่ไม่มาตามนัด ส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องเลื่อนฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็ม 2 จนเป็นข่าวใหญ่โต

สาธิตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทอาจติดปัญหาเรื่องค่าเบี่ยงเบนตามเอกสาร ทำให้จำเป็นต้องส่งมอบวัคซีนทีเดียวในเดือนมิถุนายน หากมองในแง่บวก นั่นหมายความว่าบริษัททำตามมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ส่วนที่เป็นปัญหาไม่ได้ส่งมอบได้ 1.7 ล้านโดส เป็นส่วนของ Earlier Delivery ซึ่งกำหนดการสามารถปรับเปลี่ยนได้

วันที่ 22-24 พฤษภาคม 2564 สถานพยาบาลหลายแห่ง อาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ แจ้งขอเลื่อนฉีดวัคซีนแก่ประชาชนที่มีกำหนดรับวัคซีนแอสตราเซเนกาออกไปก่อน บางแห่งแจ้งว่าตอนนี้มีแค่ซิโนแวคเท่านั้น บางแห่งระบุว่า เมื่อได้รับวัคซีนมา ทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง รวมถึงเหตุผลที่ว่า ไม่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาสำหรับบุคลากรตรงตามเวลาที่กำหนดไว้

ทว่าวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 วันเดียวกับที่โรงพยาบาลแจ้งประชาชนว่าไม่มีแอสตราเซเนกา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ารับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มที่สอง พร้อมแสดงเอกสารรับรองต่อสื่อมวลชน

วันเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีได้ฉีดแอสตราเซเนกาเข็มที่สอง อนุทิน ชาญวีรกูล ยืนยันว่าไทยมีวัคซีนโควิด-19 พร้อมฉีดปูพรมตามกำหนดแน่นอน และวัคซีนแอสตราเซเนกาจะมาส่งตามกำหนด ส่วนประเด็นที่หน่วยบริการหลายแห่งเลื่อนการฉีดวัคซีนยี่ห้อดังกล่าวออกไป อาจเป็นเพราะกังวลว่าวัคซีนจะมาไม่ทันกำหนดการที่วางไว้ และขอชี้แจงว่า บริษัทแอสตราเซเนกาไม่ได้กำหนดส่งมอบวัคซีนในวันที่ 1 มิถุนายน แต่จะเริ่มจัดส่ง ‘ภายใน’ เดือนมิถุนายน

4 มิถุนายน 2564 อนุทินเป็นประธานรับมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 1.8 ล้านโดส ก่อนเตรียมกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อเร่งฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยง ตามแผนการฉีดวัคซีนวันที่ 7 มิถุนายน

วันที่ 7 มิถุนายน 2564 อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีแผนบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล สร้างความสับสนให้กับประชาชน เป็นรัฐบาลลับลวงพราง สร้างความคาดหวังให้กับประชาชนว่าจะได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถบริหารจัดการให้สำเร็จตามที่ประกาศได้

“สัญญาการส่งมอบที่ทำไว้แอสตราเซเนกาจะส่งให้ประเทศไทยเดือนละ 6 ล้านโดส 10 ล้านโดส แต่ลอตแรกมาแค่ 1.8 ล้านโดส ยังขาดอีกกว่า 4 ล้านโดส ทำให้ต้องนำเข้าวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่มจำนวน 11 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวคจึงกลายเป็นตัวหลักแทนม้าเต็งอย่างแอสตราเซเนกา”

วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ไทยรัฐออนไลน์เล่าถึงกำหนดการการฉีดวัคซีนของรัฐบาลที่ค่อนข้างสับสน ไว้ในบทความ วาระแห่งชาติฉีดวัคซีนสุดมั่ว #ประชาชนโดนเท

“นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน สัปดาห์นี้จะมีแอสตราเซเนกา 2 ล้านโดส และซิโนแวค 1.5 ล้านโดส ขณะนี้มีวัคซีนในมือที่จะฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน เป็นต้นไปรวม 3,540,000 โดส สัปดาห์ที่ 3 จะมีวัคซีนมาอีกอย่างน้อย 840,000 โดส และ สัปดาห์ที่ 4 อีก 2,580,000 โดส เป็นวัคซีนอะไรไม่ได้บอก ภาพรวมเดือนมิถุนายนจะมีวัคซีนมากกว่า 6 ล้านโดส ปลายเดือนนี้คาดว่าจะฉีดให้ได้ 10 ล้านโดส รวมกับที่ฉีดไปก่อนแล้วเกือบ 4 ล้านโดส

“สรุปง่ายๆ เดือนมิถุนายนนี้จะฉีดให้ได้ 6 ล้านโดส เอา 30 วันหาร เฉลี่ยฉีดได้วันละ 200,000 โดส น้อยมากเมื่อเทียบกับศักยภาพการฉีดที่ พลเอกประยุทธ์ให้โฆษกออกมาแถลงว่า สามารถฉีดได้วันละ 860,000 คน (โดส) แต่ตัวเลขที่อธิบดีกรมควบคุมโรคแถลง เฉลี่ยฉีดได้วันละ 200,000 โดสเท่านั้น น้อยกว่าศักยภาพถึง 4 เท่า”

8 มิถุนายน 2564 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาวัคซีนว่า “วัคซีนทยอยมาบางครั้งเป็นหลักแสนโดส และหลักล้านโดส ไม่ได้เข้ามาในวันที่แน่นอน แต่ต้องกระจายให้ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทีมทำงานก็ต้องจัดการจากวัคซีนที่ได้รับมาอย่างจำกัดไปยังพื้นที่ต่างๆ ตามความเหมาะสม"

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยข้อมูลว่า รัฐบาลไต้หวันสั่งวัคซีนต้านโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาจำนวน 10 ล้านโดส ที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งไทยกำลังจัดลำดับความสำคัญของวัคซีนต้านโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศให้แก่ประชาชนไทย ขณะกำลังเผชิญกับการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อโควิด-19 จึงทำให้มีการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาให้ไต้หวันล่าช้า

วันที่ 14 มิถุนายน 2564 พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19. (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนที่หารือกับสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ว่า “การฉีดวัคซีนเดือนแรก (มิถุนายน) จะฉีด 6 ล้านโดส เดือนถัดไป 10 ล้านโดสเป็นอย่างน้อย แต่เมื่อเกิดความล่าช้าในการดำเนินการ จึงต้องปรับแผน เนื่องจากความคลาดเคลื่อน วัคซีนไม่มาตามนัด"

“ทั้งนี้ ประชาชนบางส่วนอาจเข้าใจว่าวัคซีน 6 ล้านโดส จะมาตั้งแต่ต้นเดือน แต่ความจริงคือทยอยมาเป็นงวดๆ ซึ่งไม่ผิดเงื่อนไข เพราะยังอยู่ในกรอบเดือนนี้”

วันที่ 16 มิถุนายน 2564 หลังเกิดประเด็นมีผู้ลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ถูกเลื่อนการฉีดออกไปเป็นจำนวนมาก อนุทินกล่าวต่อสื่อมวลชนว่า

“ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขจะจัดหาวัคซีนมาให้อย่างเพียงพอแน่นอน โดยแอสตราเซเนกาจะเป็นวัคซีนหลัก และในสัปดาห์นี้ แอสตราเซเนกาจะทยอยส่งมา 1.6 ล้านโดส วันนี้ได้ 600,000 โดส และภายในวันที่ 18 มิถุนายนอีก 1 ล้านโดส”

คำชี้แจงช่วงสุดท้ายของเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนจดหมายลับถูกเผยแพร่
ในเดือนกรกฎาคม นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวต่อสื่อมวลชน เรื่องได้รับแจ้งจากบริษัทแอสตราเซเนกาว่า เดือนกรกฎาคม และเดือนสิงหาคม บริษัทจะทยอยส่งมอบวัคซีนให้รัฐบาลไทยเพียง 5 ล้านโดส ก่อนเผยว่าสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตวัคซีนได้ 180 ล้านโดสต่อปี หรือ 15 ล้านโดสต่อเดือน แต่ด้วยข้อตกลงกับบริษัทแอสตราเซเนกา ที่จะต้องจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียม ทำให้กรกฎาคมและสิงหาคมไทยจะได้วัคซีนเพียง 5 ล้านโดส

เนื้อความดังต่อไปนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของประเด็นวัคซีนที่สังคมตั้งคำถาม

“ทั้งนี้ในส่วนของแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นวัคซีนหลัก มีการทำสัญญาส่งมอบ 61 ล้านโดสในปี 2564 แต่ไม่ได้ระบุในสัญญาว่าต้องส่งมอบเดือนละเท่าไหร่ เมื่อดูกำลังการผลิตของแอสตราเซเนกาโดยบริษัทสยามไบโอไบเอนซ์ อยู่ที่ประมาณ 180 ล้านโดสต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 15 ล้าน ต้องแบ่งส่วนหนึ่งให้กับต่างประเทศด้วย เราเองก็พยายามขอให้จัดส่งให้ไทยเดือนละ 10 ล้านโดส

"ที่ได้รับจดหมายจากรองประธานบริษัทแอสตราเซเนกา บอกว่าจะส่งมอบให้ไทยได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามแผนและความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยเดือนละ 10 ล้านโดส เราจึงต้องหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเข้ามาเสริม”

จึงไม่แปลกใจที่วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เราจะเห็น อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่ามีมติ ครม. อนุมัติให้ สั่งซื้อซิโนแวคมาเพิ่ม 10.9 ล้านโดส ในกรอบวงเงิน 6,111.412 ล้านบาท เป็นงบประมาณจากวงเงินกู้ ก่อนจดหมายที่กลายเป็นประเด็นจะระบุย้ำซ้ำลงไปอีกว่า วัคซีนจำนวนที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าส่งมาได้ ‘เพียง 5-6 ล้านโดส’ อาจไม่ได้เป็นแค่เพียง เนื่องจากจำนวนดังกล่าวคือ 2 เท่าจากที่รัฐบาลเคยตกลงกับแอสตราเซเนกา เนื่องจากรัฐบาลไทยเป็นผู้ขอวัคซีนเดือนละ 3 ล้านโดสเท่านั้น

นอกจากนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติยังกล่าวถึงสัญญาที่รัฐบาลไทยทำกับแอสตราเซเนการะบุเพียงแค่ว่า บริษัทต้องส่งมอบวัคซีน 61 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 แต่ไม่ได้ระบุจำนวนรายเดือน และสัญญาที่เผยแพร่แก่สาธารณชนก็ถูกถมดำเซนเซอร์เกือบทั้งฉบับ

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงมติการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในปีหน้า ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า กรอบเดิมคือการจัดหาวัคซีน 50 ล้านโดส ก่อนที่ประชุมพิจารณาขยายกรอบเป็นวัคซีนทุกเทคโนโลยี จำนวน 120 ล้านโดส ได้หมดทั้ง mRNA ไวรัล เวกเตอร์ และอื่นๆ ก่อนกล่าวถึงแอสตราเซเนกา วัคซีนที่รัฐบาลตั้งใจให้เป็นวัคซีนหลักว่า

“จริงๆ มีคลาดเคลื่อนนิดหน่อย ตัวเลขของปี 2564 จากเดิมแอสตราเซเนกา จะกำหนดส่งให้เราภายในเดือนธันวาคม แต่ขยายมาน่าจะเป็นพฤษภาคมปีหน้า 61 ล้านโดส (ยอดรวม) ในสัญญาอาจไม่ได้มีเงื่อนเวลา แต่อาจมีจำนวนเต็มทั้งหมด เงื่อนเวลาเป็นแผนที่เสนอและพูดคุยกัน เน้นเรื่องการเจรจา สงครามวัคซีนในช่วงเวลานี้ต้องยอมรับว่าเป็นอำนาจของผู้ขาย เพราะฉะนั้นการกำหนดในสัญญาต่างๆ จะไม่ค่อย commit ในเรื่องเวลา”

16 กรกฎาคม 2564 หนึ่งวันหลังจากการให้สัมภาษณ์ และหนึ่งวันก่อนจดหมายแอสตราเซเนกาถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ไทยรัฐออนไลน์อ้างรายงานข่าวความเคลื่อนไหวจากกระทรวงสาธารณสุขว่า ภายหลังการเผยแพร่คำพูดของสาธิต อนุทินได้โทรศัพท์สอบถามข้อเท็จจริงดังกล่าว ด้านสาธิตยืนยันว่าต้องให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน ซึ่งอนุทินแสดงความไม่พอใจอย่างมาก เพราะถือเป็นข้อมูลที่ยังไม่มีการยืนยันจากแอสตราเซเนกา และคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง กระทบต่อวาระแห่งชาติในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564

แหล่งข่าวอ้างคำพูดของอนุทินว่า เนื่องจากแอสตราเซเนกายืนยันว่าจะพยายามจัดส่งวัคซีนให้ทันตามกำหนดการเดิม แต่หากจำต้องเลื่อนออกไปก็จะใช้เวลาไม่นาน ในช่วงต้นปี 2565 น่าจะจัดส่งได้ครบ 61 ล้านโดส ไม่น่าจะใช้เวลานานจนเกินไป หรือไม่น่าจะเลยไปจนถึงช่วงครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้ ภายหลังการพูดคุยกัน สาธิตรับปากจะออกมาแถลงข่าวแก้ไขข้อมูล และขอโทษต่อประชาชนที่สร้างความสับสน โดยได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวนัดหมายว่าจะชี้แจงในเวลา 20.00 น. ของวันที่ 15 กรกฎาคม แต่เมื่อถึงเวลา สาธิตกลับโพสต์ข้อความยืนยันว่า

“ผมยังคงที่จะพูดความจริงให้ประชาชนรับทราบ ทาง AZ (แอสตราเซเนกา) ยอมรับโดยไม่ปฏิเสธ นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป”

ประเด็นดังกล่าวยังไม่ทันได้สืบสาวเพิ่มเติมไปถึงไหน สำนักข่าวอิศราได้นำจดหมายที่แอสตราเซเนกาส่งถึงอนุทินมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งจดหมายดังกล่าวสร้างเสียงวิจารณ์ร้อนแรงได้ทันที เนื่องจากเนื้อความในเอกสาร ไม่ตรงกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐเคยกล่าวมาก่อนหน้านี้

รัฐบาลพยายามชี้แจงทุกข้อสงสัย หลังมีการเผยแพร่จดหมายลับ
หนึ่งวันหลังจดหมายถูกเผยแพร่ ไทยรัฐออนไลน์พยายามติดต่อ อนุทิน ชาญวีรกูล เพื่อให้ทางฝั่งตัวแทนรัฐบาลได้ชี้แจงและตอบข้อสงสัยประเด็นนี้ต่อประชาชน ทว่าทีมงานระบุว่า รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไม่สะดวกให้ข้อมูลในช่วงนี้ และผู้ที่ตอบคำถามทั้งหมดได้ชัดสุดน่าจะเป็นอธิบดีกรมควบคุมโรคมากกว่า

(มีต่อ)
ไทยรัฐออนไลน์
21 ก.ค. 2564

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
อย่างไรก็ดี วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 อนุทิน ชาญวีรกูล ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนขณะลงพื้นที่ว่า ได้สั่งการให้ นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายนอกราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว เสนอให้ ศบค. พิจารณาตัดสินใจ เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ปัญหาการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย

“เนื่องจากเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับประเทศอาเซียนที่รอการจัดสรรวัคซีนที่ผลิตในไทย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอ ศบค. พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้มีการพิจารณาได้ครอบคลุมทุกมิติ และเชื่อว่า ศบค. จะยึดถือประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลัก”

อนุทินยังกล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) เชิญผู้แทนบริษัทวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนในไทยเข้าพบในสัปดาห์หน้า และตัวแทนของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ตอบรับร่วมหารือกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขแล้ว และเตรียมยื่นข้อเสนอไปยังบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) เพื่อซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 50 โดส

วันเดียวกัน 18 กรกฎาคม นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกำหนดการส่งแอสตราเซเนกามาไทยหลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อย. ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงปัจจุบัน ดังนี้

24 กุมภาพันธ์ 117,300 โดส

28 พฤษภาคม 242,100 โดส

4 มิถุนายน 1,787,100 โดส

16 มิถุนายน 610,000 โดส

18 มิถุนายน 970,000 โดส

23 มิถุนายน 593,300 โดส

25 มิถุนายน 323,600 โดส

30 มิถุนายน 846,000 โดส

3 กรกฎาคม 590,000 โดส

9 กรกฎาคม 555,400 โดส

12 กรกฎาคม 1,053,000 โดส

16 กรกฎาคม 505,700 โดส

รวมการสั่งมอบทั้งหมดในตอนนี้ 8,193,500 โดส

นายแพทย์โอภาสกล่าวถึงจดหมายที่แอสตราเซเนกาส่งถึงอนุทิน เป็นเอกสารขอบคุณที่สนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนในอาเซียน แม้จะมีการระบุว่า ไทยเริ่มมีข้อตกลงเจรจาส่งมอบวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2564 แต่มีการส่งล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564

ในแง่จำนวนวัคซีนที่สั่งจอง ไทยมีการจองมากที่สุด 61 ล้านโดส คิดเป็น 1 ใน 3 ของวัคซีนที่มีการจองในอาเซียน บริษัทยืนยันการจัดส่งวัคซีนให้ประเทศไทย 1 ใน 3 ของวัคซีนที่ผลิตได้ และจะพยายามส่งให้ครบถ้วนตามสัญญา

"ช่วงทำสัญญาจองและลงนามสัญญา 3 ฝ่าย ยังไม่ได้มีการผลิตวัคซีนจริง เป็นการทำสัญญาจองล่วงหน้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าแต่ละเดือนจะผลิตได้เท่าไร ส่งให้เท่าไรและเมื่อไร จึงต้องมีการเจรจาแจ้งล่วงหน้าเป็นรายเดือน”

“ซึ่งวันที่ 24 เมษายน 2564 กรมควบคุมโรคทำหนังสือแจ้งแอสตราเซเนกาว่า ต้องการวัคซีนจำนวน 6 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน 2564 เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2564 เดือนละ 10 ล้านโดส และเดือนธันวาคม 2564 จำนวน 5 ล้านโดส รวม 61 ล้านโดส แต่การส่งมอบวัคซีน ขึ้นกับกำลังการผลิตว่าได้มากน้อยเท่าไร และส่งให้เราได้เท่าไร ดังนั้น จำนวนที่แจ้งไปไม่ได้แปลว่าจะได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องเป็นการเจรจาทั้งสองฝ่ายในแต่ละเดือน และตอนทำสัญญาไม่มีการระบุจำนวนวัคซีนที่จะส่งออกต่างประเทศ เพียงแต่ระบุว่า ขอให้ประเทศไทยสนับสนุนและไม่ขัดขวางการส่งออกไปต่างประเทศ"

นายแพทย์โอภาสกล่าวถึงกรณีที่จดหมายระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ต้องการวัคซีนเดือนละ 3 ล้านโดส “เป็นการอ้างอิงถึงการประชุมไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเท่านั้น เนื่องจากมีการสอบถามความสามารถในการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลที่มีคือเคยฉีดเดือนละ 3 ล้านโดส แต่กรมควบคุมโรค ยังไม่เคยบอกอย่างเป็นทางการว่าจะฉีดได้แค่ 3 ล้านโดส

“ต่อมาไทยมีตัวเลขประมาณการ จึงแจ้งแอสตราเซเนกาว่า ถ้ามีวัคซีนเพียงพอ ไทยมีขีดความสามารถที่จะฉีดได้ถึง 10 ล้านโดสต่อเดือน ดังนั้น ข้อมูลที่บอกว่าแอสตราเซเนกาจะส่งให้ไทยเท่าไรมี 2 ส่วน คือ ความต้องการของประเทศไทย และกำลังการผลิต จะต้องเอา 2 ส่วนมาเชื่อมต่อกันจึงจะเป็นการส่งวัคซีนจริง ขณะนี้ก็มีการส่งมาให้เราเรื่อยๆ บางสัปดาห์ก็ส่งให้ 2 ครั้ง”

นายแพทย์โอภาสทิ้งท้ายด้วยประเด็นเรื่องการจัดส่งวัคซีนที่อาจยาวไปถึงพฤษภาคม 2565 ว่า “ขณะนี้การผลิตของแอสตราเซเนกาในประเทศไทย พยายามผลิตให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแอสตราเซเนกาไม่ได้แจ้งจำนวนการผลิตมา จากการคำนวณอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านโดสต่อเดือน เพราะฉะนั้น ถ้าคิด 1 ใน 3 คือ จำนวน 5 ล้านโดสต่อเดือนเป็นอย่างต่ำ และการผลิตวัคซีนขึ้นกับหลายปัจจัย รวมทั้งชีววัตถุตั้งต้น จึงยากที่บริษัทจะรับปากได้ 100 เปอร์เซ็นต์

“แต่จำนวนวัคซีนในสัญญากับความต้องการของไทยคือ 61 ล้านโดส ภายในเดือนธันวาคม 2564 โดยจะต้องมีการเจรจาเป็นรายเดือน ซึ่งแอสตราเซเนกาไม่เคยออกมาระบุว่า จะส่งมอบถึงพฤษภาคม 2565 เป็นแค่จำนวนประมาณการจึงต้องมีการเจรจากันต่อไป”.


ไทยรัฐออนไลน์
21 ก.ค. 2564

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ทำ จม.เปิดผนึกถึงคนไทย ชี้แจงวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทเป็น "ชีววัตถุ" มีข้อจำกัดการผลิตที่ซับซ้อน แต่จะส่งมอบให้ไทยได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน เผยส่งมอบแล้ว 9 ล้านโดส และส่งมอบอีก 2.3 ล้านโดสสัปดาห์หน้า

วันนี้ (24 ก.ค.) นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ทำจดหมายเปิดผนึกชี้แจงว่า ขณะที่ทั่วประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และในฐานะตัวแทนของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยขอแจ้งให้ท่านทราบถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกคนและยับยั้งการแพร่ระบาดนี้

พวกเราทุกคนที่แอสตร้าเซนเนก้ามีความกังวลและเป็นห่วงกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราได้มีการหารือกับกรมควบคุมโรคมาโดยตลอดเกี่ยวกับผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และแนวทางที่แอสตร้าเซนเนก้าจะสามารถช่วยสนับสนุนโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้

"ขอยืนยันกับทุกคนว่าสิ่งที่แอสตร้าเซนเนก้าให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในขณะนี้ คือ การเร่งผลิตและส่งมอบวัคซีนที่มีคุณภาพเพื่อปกป้องคุณและคนที่คุณรักให้ได้โดยเร็วที่สุด เราจะพยายามอย่างสุดความสามารถ" จดหมายเปิดผนึกฯ ระบุ

วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็น "ชีววัตถุ" ที่เริ่มต้นด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิต จึงมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน จำนวนเซลล์ที่สามารถนำไปใช้เพื่อการผลิตวัคซีนในแต่ละรอบการผลิตจึงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตระยะแรกจากศูนย์การผลิตวัคซีนแห่งใหม่ ถึงแม้จะมีข้อจำกัดมากมาย แต่เราคาดการณ์ว่าจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทยได้โดยเฉลี่ย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน

จนถึงขณะนี้แอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนให้กับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 9 ล้านโดส และมีกำหนดส่งมอบอีก 2.3 ล้านโดสในสัปดาห์หน้า รวมเป็นยอดส่งมอบ 11.3 ล้านโดส ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทย
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลตา เราพยายามอย่างสุดความสามารถและเสาะหาทุกวิถีทางที่จะเร่งการผลิตและส่งมอบวัคซีนให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรผู้ผลิตอย่างสยามไบโอไซเอนซ์ เราได้พยายามเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม และเรามั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนได้มากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ เรายังได้พยายามจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากศูนย์การผลิตของแอสตร้าเซนเนก้าทั่วโลกกว่า 20 แห่ง เพื่อส่งมอบวัคซีนเพิ่มเติมให้กับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิด-19 การขาดแคลนวัตถุดิบและส่วนประกอบที่จำเป็นในการผลิตวัคซีน ส่งผลให้เราไม่สามารถคาดการณ์จำนวนการผลิตที่แน่นอนได้ แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมมาให้กับคนไทยได้ในเดือนต่อๆ ไป

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดของยุค พวกเราทุกคนที่แอสตร้าเซนเนก้าตระหนักถึงหน้าที่สำคัญในการช่วยคลี่คลายวิกฤตนี้ พนักงานของเรารวมไปถึงพนักงานของพันธมิตรด้านการผลิตหลายพันชีวิตต่างอุทิศกำลังและเวลาช่วงปีที่ผ่านมาอย่างเต็มความสามารถในการผลิตและส่งมอบวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้ามีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดนี้ โดยไม่หวังผลกำไร เพราะเราเชื่อว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าการจัดหาวัคซีนในช่วงที่มีความต้องการเร่งด่วนนี้จะหนักเกินกว่าที่จะรับมือโดยลำพัง แต่เราจะไม่หยุดพักจนกว่าทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เราต้องร่วมสู้วิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

นับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนไทยทั้งประเทศได้แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่แข็งแกร่งและความมีน้ำใจ พร้อมที่จะยื่นมือช่วยเหลือกันในยามยาก จากผลสำรวจที่ระบุว่า กว่า 1 ใน 3 ของคนไทย รวมถึงพนักงานของเราในประเทศไทยได้ร่วมบริจาคเงิน อาหาร หรือสิ่งของเพื่อช่วยเหลือคนไทยด้วยกันในช่วงการระบาด ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทยทั้งในชุมชนและในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ การจะผ่านพ้นมหาวิกฤตโควิด-19 ได้นั้น เราทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทยแต่รวมถึงทุกประเทศทั่วโลกด้วย

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ประเทศบ้านพี่เมืองน้องของเราทั่วอาเซียนก็มีการประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง พร้อมกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ข้อมูลจากการใช้วัคซีนล่าสุดจากประเทศแคนาดาแสดงให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อรุนแรงในระดับที่ต้องเข้านอนรับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้มากถึง 87% ดังนั้นวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งกับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

พวกเราทุกคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้ ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในทุกที่ เชื้อไวรัสแพร่ระบาดไปอย่างไร้พรมแดน ดังนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านยังคงทวีความรุนแรงก็ถือเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน หนทางเดียวที่จะยุติการแพร่ระบาดนี้ได้คือ ความร่วมมือร่วมใจกันของพวกเราทุกคน

24 ก.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์