ผู้เขียน หัวข้อ: เสียงจาก “พยาบาลไทย” เหนื่อย...เสี่ยงเพียงใด คนไข้สำคัญเสมอ  (อ่าน 2912 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
  ประเทศไทยผ่านช่วงเวลาแสนบอบช้ำ ทั้งจากภัยคุกคามทางธรรมชาติ และปัญหาการเมืองที่ร้อนระอุ ทำให้หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ยังคงมีข่าวสะเทือนใจอยู่เสมอ
       หนึ่งในอาชีพที่ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงของเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งต้องเผชิญกับผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ไม่เว้นแต่ละวัน ก็คือ อาชีพพยาบาล ซึ่งนับวันพยาบาลในชนบทยิ่งขาดแคลนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
       
       กระนั้น สีตีฮายา วาหลง พยาบาลสาว ก็ยังยืนหยัดที่จะอยู่กับชุมชนในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างเต็มใจ โดยเธอเล่าว่า เธอก้าวเข้าสู่สายการศึกษาพยาบาลวิชาชีพจากทุนการศึกษาในโครงการ “จีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน” รุ่นที่ 4 ในวิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนนี นราธิวาส แล้วประจำการที่โรงพยาบาล (รพ.) เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โดยปัจจุบันมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มกำลัง เพื่อรับใช้สังคมที่กำลังขาดแคลน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพียงแค่ดำรงอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยนับร้อยนับพัน ที่เผชิญกับโรคร้ายและอาการป่วยอีกหลายสาเหตุ ซึ่งเธอเองภูมิใจกับภาระงานอันหนักหน่วงอย่างมาก

       “ตลอดชีวิตของการเป็นพยาบาลมาจนปัจจุบัน รู้สึกว่า การได้ช่วยเหลือชีวิตคนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก แม้ว่าชีวิตการทำงานในช่วงแรกๆ จะมีอันตรายรอบด้าน ต้องอยู่ในความเสี่ยง ก็ต้องอดทนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ เพราะตระหนักว่าเราคือ พยาบาลที่มีหน้าที่ให้บริการด้านสาธารณสุขให้กับคนในชุมชน โดยมีแนวคิดในการทำงาน ว่า เราไม่จำเป็นต้องให้การพยาบาลอยู่ในเฉพาะสถานบริการเท่านั้น เราเป็นพยาบาลทั้งกายและใจ พร้อมให้การดูแล ช่วยเหลือทุกเมื่อกับคนทุกชนชั้น แม้แต่ในเหตุการณ์ฉุกเฉินทุกสถานการณ์ ก็เพื่อการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย” พยาบาลสาว เท้าความ
       
       ขณะที่นักศึกษาพยาบาลทุนรุ่นที่ 12 อย่าง ขวัญนภา รัตนะ หรือ ฟาร่า นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา เผยถึงโอกาสและความหวังหลังจากที่ได้รับทุนว่า ภูมิใจที่ได้รู้ว่าตนได้รับเลือกให้ได้ทุน เพราะอยากเป็นพยาบาล และคิดว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาก็จะปฏิบัติหน้าที่ในโรง พยาบาลบ้านเกิดที่ยะลา เพราะเห็นว่าไม่ค่อยมีพยาบาลมากเท่าไร ส่วนในเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบยอมรับว่าหวั่นใจเล็กน้อย
       
       “ถ้าพูดถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นก็กังวล แต่ยิ่งมีความรุนแรง ก็ยิ่งมีผู้ป่วยที่ต้องการใช้บริการโรงพยาบาลมากขึ้น เมื่อจบมากก็อยากจะมาทำงานที่ยะลา และคิดว่าพยาบาลที่จะมาทำงานที่จังหวัดนี้คงน้อยเพราะข่าวของความไม่ปลอดภัย และด้วยความที่ตนเองเป็นคนในพื้นที่อยู่แล้วจึงรู้ว่าสถานการณ์ปลอดภัยระดับไหน หรือต่อให้ไม่ปลอดภัยจริงๆ แต่ด้วยวิชาชีพแล้วเราควรจะต้องทำหน้าที่ของเราเพื่อช่วยชีวิตคน ถ้าคิดในมุมของผู้ป่วยเมื่อเขามาถึงโรงพยาบาลเขาต้องการการรักษาต้องการกำลังใจ เราซึ่งเป็นพยาบาลก็ต้องทำหน้าที่ให้เต็มที่” ขวัญนภา กล่าวอย่างภาคภูมิ

       ขณะที่ นพ.สมควร หาญพัฒนชัยกูร ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์พยาบาลวิชาชีพในไทย ว่า ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านพยาบาลเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน โดยหากเทียบอัตราพยาบาลกับผู้ป่วยแล้ว ขณะนี้พบว่า พยาบาล 1 คน ต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเฉลี่ย 400 คน ซึ่งเป็นอัตราค่อนข้างมาก จึงเป็นที่มาของการเดินหน้าผลิตพยาบาลเพื่อชุมชน จากอดีตจนถึงปัจจุบันมี 11รุ่น จำนวน 512 คน และได้ออกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.)และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) กว่า 120 แห่ง ในพื้นที่ 52 จังหวัดทั่วประเทศ โดยพยาบาลทุกรุ่นต้องศึกษาในหลักสูตรเวชปฏิบัติทั่วไปที่ให้นักศึกษาทุนพยาบาลได้ศึกษา ซึ่งเป็นสาขาที่สอนให้พยาบาลสามารถตรวจรักษาโรคเบื้องต้น สั่งจ่ายยารักษาโรคทั่วไปได้เหมือนแพทย์
       
       ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี และประเทศไทยจะอยู่ในสถานะใด อาชีพพยาบาลยังถือเป็นบทบาทสำคัญที่จะขับเคลื่อนระบบบริการสาธารณสุข เพื่อพยุงซึ่งชีวิตของผู้ป่วยทุกคนเสมอ และจากความทุ่มเทของพยาบาลวิชาชีพในทุกรุ่น ซึ่งต้องประจำอยู่ในชนบท อาจเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนถึงปัญหาภาระงานอันหนักของบุคลากรสาธารณสุขอย่างชัดเจน ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่กระทรวงสาธารณสุข จะต้องหาทางพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรเหล่านี้อย่างจริงจัง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 มกราคม 2555