ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดวิกฤตด่านหน้า “พยาบาลแอดมิด 500 ติดเชื้อ 54%” จิตใจย่ำแย่ ฆ่าตัวตายสูง!!  (อ่าน 375 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ทำงานเหนื่อย-เครียดเหมือนกัน!! เสียงสะท้อนจาก “เจ้าหน้าที่พยาบาล” ยอดติดเชื้อพุ่ง-บุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ ต้องหมุนเวียนคนแทบไม่ได้พัก หลังโควิดระบาดหนัก มืดแปดด้านกับการแก้ปัญหาไม่ตก สภาพจิตใจย่ำแย่ เครียดสูงจนคนในอาชีพทำร้ายกันเอง

คนวงการแพทย์ไม่ไหว!! ติดเชื้อพุ่ง “54%”

“ถ้าจะดูในสภาพปัจจุบันนี้ ที่เราเจอกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราจะเห็นได้เลยว่า เราต้องการสัดส่วนของพยาบาลต่อผู้ป่วยมากขึ้น เพราะว่าผู้ติดเชื้อเทียบกับช่วงปีที่แล้ว มันมากขึ้นกว่าเดิม 10 เท่า เพราะวันหนึ่ง 10,000 คน แต่ก่อนเราดูจำนวนที่วันละประมาณ 100 คน เรายังรู้สึกตื่นตระหนก

แต่ตอนนี้วันละประมาณหมื่นคน แปลว่า คนที่เข้าไปอยู่ในระบบเรื่องการรักษาจริงๆ มีประมาณ 30,000-40,000 คน เพราะจำนวนคนที่หายจากโรคมันไม่ได้สัดส่วนกันกับคนที่ป่วยเป็นโรค ดังนั้น พยาบาลจึงทำงานหนักมากเลย”

รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ ประชาสัมพันธ์สภาการพยาบาล รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดใจกับ ทีมข่าว MGR Live ด้วยเสียงสั่นเครือ พร้อมฉายภาพ ความเครียด-แรงกดดัน ของอาชีพผู้ที่เปรียบเสมือนเสาหลักในการดูแลสุขภาพประชาชน ที่ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่นับวันจะทวีความรุนแรง และพรากชีวิตคนไทยไปเป็นจำนวนมาก

“การทำงานหนักของพยาบาลก็จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ ทำงานเชิงรุก เป็นการทำงานออกภาคสนาม ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค เพื่อที่จะให้ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น และตรวจคัดกรองเชิงรุก พยาบาลส่วนนี้ก็เสี่ยงมาก เพราะว่าไม่รู้ว่าใครเป็นโรคบ้าง เขาใส่ชุด PPE ก็จริง แต่ว่าเขาไม่รู้บ้างว่าใครเป็นโรค

พยาบาลส่วนที่ 2 คือ พยาบาลส่วนที่ทำงานในโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลที่รับคนไข้ แต่จะเป็นคนไข้ไม่หนักมาก ก็จะมีกลุ่มหนึ่ง กลุ่มนี้เสี่ยงมากเช่นเดียวกัน จริงๆ ไม่ว่าทำงานจุดไหนก็เสี่ยงทั้งนั้น เพราะว่าจุดนี้เป็นจุดที่เวลาที่เขาใส่ชุด PPE มันจะไม่ใช่ชุด PPE แบบที่เห็นในคลิป ที่ต้องใส่ออกซิเจนด้วย อันนั้นเป็นชุด PPE แบบในห้องความดันลบ สำหรับคนไข้ที่วิกฤตจริงๆ ดังนั้น กลุ่มนี้ก็จะใส่ PPE อีกลักษณะหนึ่ง

หรือกลุ่มฉีดวัคซีนก็เช่นเดียวกัน ใส่ PPE อีกลักษณะหนึ่ง กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งนั้นเลย แล้วก็จำนวนบุคลากรสายสุขภาพที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคัดกรอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแล และให้การช่วยเหลือ ให้ยาตามแผนการรักษา เป็นพยาบาลทั้งนั้น”

แน่นอนว่า การทำงานหนักที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยโควิด-19 ในทุกวัน ทางตัวแทนพยาบาลรายนี้ ยังสะท้อนให้เห็นอีกกับเหตุการณ์พยาบาลกระโดดตึกกลางโรงพยาบาล โดยมีการคาดการณ์ว่ามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดลูก 3 เดือน อีกทั้งแบกรับงานหนัก คนไข้โควิดล้น ไม่ได้กลับบ้านไปหาครอบครัว หรือแม้กระทั้งเสียชีวิต เพราะติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงาน

“นั่นคือความเครียดค่ะ คือ มันคงหลายอย่างด้วย อย่างหนึ่ง คือ ส่วนหนึ่งเพราะภาวะหลังคลอด แต่จะใช่หรือไม่ใช่ก็ไม่ทราบ แต่สิ่งที่เห็นชัดๆ ความเครียดจากการทำงานแน่นอน”

นอกจากปัญหาสุขภาพจิตแล้ว ยังบอกเล่าผ่านปลายสายอีกว่า ปัจจุบันยังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ เพราะมีการติดเชื้อโควิดในจำนวน 54% ของพยาบาลทั้งหมด

“ในการอยู่เวรเพื่อที่จะดูแลคนไข้โควิด คือ ส่วนใหญ่แล้วจะต้องอยู่เวรอย่างต่อเนื่อง หัวหน้าพยาบาลทุกแห่งก็พยายามจัดสรรแล้ว ไม่ให้น้องๆ อยู่เวรต่อเนื่องนานเกินไป เพื่อสุขภาพของน้อง แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ เพราะว่าบุคลากรไม่พอ เพราะว่าตอนนี้คนไข้ล้น และบุคลากรที่ติดเชื้อมี 880 ราย ซึ่งใน 880 ราย 54% เป็นพยาบาล เท่ากับประมาณ 500 คน เป็นพยาบาลที่ติดเชื้อ

พยาบาลที่ติดเชื้อ 500 คน คือ แอดมิด 500 คน แต่คุณต้องคิดว่าพยาบาลที่ contact กับพยาบาลที่ติดเชื้อก็ต้องถูกกักตัว และหยุดงานมันเหมือนโดมิโน ดังนั้น คนที่อยู่คนที่ยังไม่ติดเชื้อ คนที่ยังมีกำลังทำงานอยู่ ก็แบกรับโหลดงานของคนเหล่านี้ที่ต้องติดเชื้อไป”

เครียด-กดดัน แต่ต้องเคารพในอาชีพ!!

ไม่ใช่เพียงเป็นด่านหน้าสำคัญที่เผชิญกับภาวะวิกฤต ล่าสุด ยังมีประเด็นดรามาร้อนๆ ขึ้นมาอีก เมื่อโซเชียลฯ แชร์คลิปพยาบาลรายหนึ่งถูกหมอทำร้ายร่างกายพยาบาลขณะสวมชุด PPE ปฏิบัติหน้าที่ทำหัตถการร่วมกันในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล โดยแพทย์ใช้มือฟาดพยาบาลอย่างแรงถึง 2 ครั้ง และด่าด้วยคำหยาบ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้พยาบาลคนดังกล่าวเกิดภาวะเครียด จึงมีการย้ายพยาบาลคนนี้ออกไป และทางสภาการพยาบาลมีการสืบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น

“เขาเครียดมาก เขาผวาเลย คือ ถูกตีแบบนั้นมันขวัญเสีย และไม่ใช่ถูกตีอย่างเดียว ถูกด่าด้วยคำหยาบคายด้วย ถ้าฟังในคลิปจะเห็นว่าเขามีผรุสวาท ซึ่งมันไม่น่าจะเกิดในคนที่เป็นผู้เจริญแล้ว คือ ไม่ควรพูดกับผู้ร่วมงานเช่นนั้น

อย่างที่เราเห็นในภาพ ที่เพิ่งแพร่ภาพไปในเมื่อ 2 วันก่อน คือ ภาพที่พยาบาลถูกตีมือ ขณะนั้นเขาทำหัตถการอย่างหนึ่ง คือ การใส่สายเข้าไปที่หลอดเลือดดำส่วนกลาง เป็นหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ที่มันจะเข้าไปในบริเวณหัวใจ เพื่อที่จะให้ยาคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะว่าคนไข้มีภาวะช็อก หาเส้นเลือดที่อื่นไม่ได้แล้ว หาที่จุดนั้นจุดเดียว

จริงๆ เขาก็ถือนิ่ง แต่จะเห็นได้ว่ามันไม่ได้นิ่งได้ใจหมอ และคนไข้น่าจะขยับตัว มันก็เลยทำให้เหมือนกับเขาดึง แต่จริงๆ เขาไม่ได้ดึง เพราะว่าเราก็มีการคุยกับหัวหน้าพยาบาล คุยกับหัวหน้า ICU เอง เขาก็บอกว่าน้องไม่ได้ดึง และน้องก็มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยหนักมามากแล้ว และเขาประจำอยู่ที่นั่น

หัตถการแบบนี้เขาทำมาเยอะแล้ว ดังนั้น เขาไม่ได้ดึง แต่ด้วยความที่อารมณ์เสียของคุณหมอ เขาก็ตีและไม่ใช่ตีหนเดียว ตี 2 ครั้ง แต่สิ่งๆ หนึ่งที่ดิฉันชื่นชมน้องพยาบาลท่านนั้น พูดแล้วก็อยากร้องไห้ คือ เขานิ่ง เขาทน มือเขานิ่งมาก

ถ้าคุณดู เขานิ่งเพราะอะไร เพราะเขาขยับไม่ได้ เขาขยับไม่ได้เพราะอะไร เพราะถ้าเขาขยับแล้วอาจจะเกิดอันตรายต่อคนไข้ ดังนั้น นั่นคือ ความอดทนถึงขีดสุด เพื่อให้คนไข้ไม่เกิดอันตราย

พยาบาลกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่เครียดมาก ในขณะที่แพทย์ยังออกไปไหน หัตถการเสร็จยังออกจากห้องได้ แต่พยาบาลต้องดูแลต่อเนื่อง ต้องใส่ชุด PPE อยู่กับคนไข้ บางทีต่อเนื่อง 4-5 ชั่วโมง แล้วถึงออกมาถอดชุด เพราะว่าเราใช้ชุดทีหนึ่งพยาบาลก็จะพยายามใช้ชุดให้คุ้มที่สุด บางคนอยู่นานกว่านั้นอีก”

ถึงเรื่องนี้ ทางด้านมุมมองของ รศ.ดร.อรพรรณ ให้ความคิดเห็นว่าอยากมีความเห็นใจ และควรมีเคารพ ให้เกียรติในวิชาชีพเดียวกัน เนื่องจากตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เจ้าหน้าที่พยาบาลได้ปฏิบัติงานเหน็ดเหนื่อยตลอด ภายใต้ชุด PPE ซึ่งถึงแม้จะเหนื่อย แต่พยาบาลไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์ของใคร

“สิ่งที่คุณเห็นก็เป็นสิ่งที่เป็นความกดดันของพยาบาล มีคนก็พยายามมองอีกมุมหนึ่ง ใจร่มๆ และพยายามมองอีกมุมหนึ่งว่าคุณหมอก็เครียดเหมือนกัน คือ คนก็เครียดกันหมดในภาวะนี้ แต่อย่างหนึ่งที่ควรระลึกถึง คือ การเคารพซึ่งกันและกันในระหว่างทีมการทำงาน พยาบาลก็ถูกกดดันแบบนี้ และในเรื่องของการอยู่เวรพยาบาลก็เช่นเดียวกัน

สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยจะได้ คือ การ respect จากคนที่ทำงานร่วมกันกับเรา อย่างเช่น ในภาพที่เห็น ไม่ใช่ครั้งแรกที่เห็น ที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ มันเกิดเหตุแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว หมอที่ทำงานคู่กับพยาบาล

หมอดีๆ ก็มี ที่เขามองเราเป็นเพื่อนร่วมงาน แต่หมอที่ไม่ได้มองเราเป็นเพื่อนร่วมงานแบบนี้ นานๆ มี แต่นานๆ มี มันก็บั่นทอน ตอนนี้น้องพยาบาลคนนั้นเขาต้องย้ายไปทำงานที่อื่น

เราทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร เราต้องแบบเกร็งมือ ตาเราจะต้องเพ่ง แต่ที่เราจะทำแบบนี้เพราะว่าเราต้องการให้ครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุด เหนื่อยไม่เป็นไร แต่สิ่งที่เราจะต้องทำ พอเปิดคลิปนี้ พวกเราโกรธกันมากจริงๆ คือว่าเหนื่อยไม่เป็นไร แต่เราต้องการอย่างหนึ่ง คือ ต้องการ respect ต้องการความเคารพซึ่งกันและกันในระหว่างผู้ทำงาน”

แน่นอนว่า นับเป็นห้วงเวลาที่โควิด-19 เป็นเรื่องใกล้ตัว และกำลังสร้างความโกลาหลในระบบสาธารณสุขไทย ยอดผู้ติดเชื้อจำนวนมาก วิกฤตเตียงเต็ม ประชาชนแห่จองวัคซีน โรงพยาบาลหลายแห่งหยุดให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด และงดรับผู้ป่วย รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์เอง ต่างออกมาสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นรัวๆ

สุดท้ายเธอยังมองว่า การดูแลสภาพจิตใจในปัจจุบันเป็นเรื่องที่สำคัญ พร้อมทั้งฝากให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังเผชิญต่อสู้วิกฤตการแพร่ระบาดของโรค

“ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่เรามองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่พี่อยากจะพูดว่าพยาบาลไทยทุกคน คือ พยาบาลของประชาชน ดังนั้น เราจะเป็นแสงสว่างให้กับประชาชนเอง เราไม่ต้องรอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ตัวเราเป็นแสงสว่าง พี่เองอายุ 63 ปี แล้ว แต่พี่มั่นใจว่า พี่มีพลังพอจะเดินเคียงคู่กับน้องๆ พยาบาลทุกๆ คน และเคียงคู่ไปกับประชาชนชาวไทย แล้วก้าวข้ามภาวะวิกฤตนี้ของประเทศชาติไปได้ดี”

20 ก.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์